Advance search

หนองเดิ่นใหญ่ ปลาชุม ลุ่มน้ำเสียว วัฒนธรรมงามเลิศ แหล่งกำเนิดเกลือสินเธาว์ เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องการผลิตเกลือสินเธาว์ตั้งแต่อดีต

หนองเดิ่น,เดิ่นคำ
หนองแสง
วาปีปทุม
มหาสารคาม
อบต.หนองแสง โทร. 0-4379-9525
วุฒิกร กะตะสีลา
10 ก.พ. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 เม.ย. 2023
บ้านหนองเดิ่น

ลักษณะทางกายภาพของชุมชนเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ชาวอีสานเรียกว่าเดิ่นและมีหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อว่าหนองเดิ่นจึงตั้งชื่อตามหนองน้ำว่า “บ้านหนองเดิ่น”


ชุมชนชนบท

หนองเดิ่นใหญ่ ปลาชุม ลุ่มน้ำเสียว วัฒนธรรมงามเลิศ แหล่งกำเนิดเกลือสินเธาว์ เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องการผลิตเกลือสินเธาว์ตั้งแต่อดีต

หนองเดิ่น,เดิ่นคำ
หนองแสง
วาปีปทุม
มหาสารคาม
44120
15.82256865
103.3484115
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสง

ที่ตั้งของบ้านหนองเดิ่นเป็นป่าทึบและมีหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อว่าหนองเดิ่น ต่อมาในปี พ.ศ.2317 ได้มี นายจันดาและนายโค้ง อุปมัย ได้โยกย้ายและอพยพออกมาจากบ้านจอกขวางและบ้านหนองคู ทั้งสองได้ย้ายเข้ามาอยู่ใกล้ๆกับหนองน้ำชื่อว่าหนองเดิ่น และอาศัยต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2322 ได้มีพระภิกษุหนึ่งรูปนามว่า หลวงพ่อหิน หลวงพ่อหินจึงได้พาชาวบ้านจัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นหนึ่งหลังมีพระภิกษุหนึ่งรูป อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 ทางการได้มีกฎหมายใหม่ว่า ชุมชนที่มีผู้คนอยู่เกิน25หลังคาเรือนขึ้นไปให้มีผู้ใหญ่บ้านได้หนึ่งคน ต่อมานายอำเภอและเจ้าอาวาสได้แต่งตั้งให้ นายตา แก้วภา เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองเดิ่นหมู่ที่30 รวมกับหมู่บ้านรอบๆวาปีปทุม  ต่อมาในปี พ.ศ.2498 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างและมีการแบ่งแยกหมู่บ้านและตำบล บ้านหนองเดิ่นจึงได้ถูกจัดตั้งให้เป็นหมู่ที่21 ผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายลี แก้วภา เป็นผู้ใหญ่บ้าน  ปัจจุบันบ้านหนองเดิ่นได้เป็นหมู่ที่16 และในพ.ศ. 2541ได้รับการแบ่งแยกออกเป็น2 หมู่บ้านโดยมีบ้านหนองเดิ่น หมู่ที่16 และบ้านเดิ่นคำ หมู่ที่27

วัดบ้านหนองเดิ่น ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเดิ่นหมู่ที่16 ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่5 ไร่ บ้านหนองเดิ่น เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ราบ ลุ่ม พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านส่วนมากจะเป็นพื้นที่ลุ่ม สภาพอากาศดี สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในหมู่บ้านไม่แออัด ไม่มีเสียงรบกวนซึ่งกันละกัน ลักษณะของดินส่วนใหญ่ของบ้านหนองเดิ่นจะเป็นดินทรายและมีความเค็มมากจึงเป็นปัญหาต่อการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวได้ผลผลิตต่ำ แหล่งน้ำที่มีอยู่ในบ้านหนองเดิ่น ที่ชุมชนอาศัยอุปโภคบริโภคและใช้ในการเกษตร

ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองเดิ่นในช่วงเริ่มตั้งหมู่บ้านนั้นส่วนใหญ่ทำนาข้าวซึ่งสภาพภูมิประเทศของหมู่บ้านหนองเดิ่นเป็นที่ลุ่มจึงเหมาะแก่การทำนาเป็นอย่างมาก การทำนาของชาวบ้านหนองเดิ่นจะเป็นการพึ่งพาอาศัยแรงงานของคนในหมู่บ้านหรือเรียกว่า “การลงแขก” พืชชนิดอื่นมีการปลูกอยู่เล็กน้อยอาทิเช่น ผักสวนครัวต่างๆแต่ก็มีจำนวนน้อย(ส่วนมากปลูกตามรั้วบ้านเรือนที่อาศัย) แต่สภาพของดินที่บ้านหนองเดิ่นนั้นมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่นๆนั้นคือดินมีความเค็มมาก(ขี้ทา)ดังนั้นผลผลิตข้าวจึงมีปริมาณน้อย นอกจากนี้ชาวบ้านหนองเดิ่นยังมีการเลี้ยงสัตว์เพื่อการใช้งานในด้านการเกษตร เช่นการเลี้ยงวัว ควาย เพื่อไถนา หลังจากที่หมดช่วงฤดูกาลการทำนาชาวบ้านบ้านหนองเดิ่นก็จะมีการผลิตเกลือขึ้น โดยจากคำขวัญของหมู่บ้านที่ว่า “หนองเดิ่น ใหญ่ปลาชุม ลุ่มน้ำเสียว วัฒนธรรมงามเลิศ แหล่งกำเนิดเกลือสินเธาว์” จึงพอจะมองเห็นภาพว่าบ้านหนองเดิ่นนั้นมีการผลิตเกลือสินเธาว์ตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะในคำขวัญที่ว่า “ลุ่มน้ำเสียว” จึงกล่าวได้ว่าบ้านหนองเดิ่นเป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำเสียวที่สำคัญมากในทุ่งกุลาร้องไห้และมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ตามลุ่มน้ำเสียวอีกหลายชุมชนรวมไปถึงวัฒนธรรมเกลืออีกด้วย การทำเกลือในช่วงก่อน พ.ศ.2510 นั้นเป็นที่นิยมของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะสภาพพื้นที่นาที่มีดินเค็มทั่วทั้งบริเวณท้องไร่ท้องนาของชาวบ้านนั้นเป็นเกลือแทบจะทั้งหมด อีกทั้งการที่ชาวบ้านว่างจากการทำไร่นาก็ไม่มีอะไรจะทำจึงใช้ประโยชน์จากพื้นที่นาที่มาความเค็มสูงนั้นมาผลิตเกลือเพื่อใช้ในครัวเรือนต่างๆ การผลิตเกลือที่บ้านหนองเดิ่นนั้นเริ่มต้นปี พ.ศ. ใดไม่สามารถระบุได้เนื่องจากการมีดินเค็มในบริเวณนี้นั้นน่าจะมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ อาจจะเป็นไปได้ว่ามีการทำเกลือในบริเวณนี้ก่อน พ.ศ.2317 ซึ่งเป็นปีที่ผู้คนจากบ้านจอกขวางอพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ นอกจากการผลิตเกลือของคนในชาวบ้านหนองเดิ่นเองแล้วยังปรากฏผู้คนจากชุมชนอื่นใกล้เคียงที่ได้เข้ามาเช่าที่นาในหมู่บ้านหนองเดิ่นเพื่อผลิตเกลือไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือนของตน ซึ่งผู้คนที่นิยมมาเช่าที่นานั้นมาจากบ้านหนองแสง ค่าเช่าที่นานั้นประมาณไร่ 1-2บาท แต่หากเป็นคนรู้จักกันหรือเป็นญาติพี่น้องกันก็ให้เข้ามาทโดยไม่คิดค่าเช่าที่  จากการเข้ามาของคนภายนอกที่เข้ามาเช่าที่ผลิตเกลือนั้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเกลือต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในแถบนี้มาก และเกลือก็เป็นสิ่งที่ทำให้บ้านหนองเดิ่นมีการติดต่อกับผู้คนภายนอกหมู่บ้านอย่างเด่นชัด

การค้าขายแลกเปลี่ยนเกลือของชาวบ้านหนองเดิ่นนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวส่วนมากใช้การแลกเปลี่ยนสิ่งของกันโดยชาวบ้านหนองเดิ่นจะนำเกลือไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของชนิดอื่นเช่น ข้าว มะละกอ ฝ้าย ผักดอง หรือแม้กระทั่งแลกเป็นเงินตราด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะแลกเปลี่ยนสิ้นค้ากันกับผู้คนในหมู่บ้าน และชุมชนอื่นรอบนอกโดยการหาบ หรือใส่เกวียน พื้นที่ที่ชาวบ้านนิยมไปแลกเปลี่ยนสิ่งของนั้นคือ นาดูน เมืองสารคาม วาปีปทุม โดยจะจับกลุ่มกันออกไปมากบ้างน้อยบ้าง  และบางครั้งที่ยังมีพ่อค้าที่รับเกลือจากบ้านหนองเดิ่นไปจำหน่ายต่อยังที่ต่างๆหรือที่เรียกกันว่านายฮ้อย    พ่อค้าท้องถิ่นอีสานที่รู้จักกันในนามนายฮ้อย ก็จะรวบรวมทุนรอนออกหาซื้อสินค้าตามหมู่บ้านต่างๆทั้งที่เป็นระยะใกล้และระยะไกล สินค้าที่ซื้อขายได้แก่ ผลเร่ว(หมากแหน่ง) หนังสัตว์ เขาสัตว์ ครั่ง ฝ้ายไหม หมู วัว ควาย ข้าวเปลือก เกลือสินเธาว์ เป็นต้น นายฮ้อยบางคนจะค้าขายโดยซื้อสินค้าเฉพาะอย่างเท่านั้น นายฮ้อยที่รับซื้อสินค้าชนิดใดก็จะถูกเรียกชื่อตามชนิดของสินค้านั้นๆ เช่น นายฮ้อยหมู นายฮ้อยควาย นายฮ้อยไหม นายฮ้อยข้าวเป็นต้น   ฤดุกาลที่นิยมการค้าขายแบบนายฮ้อยจะเป็นฤดูแล้งเพราะการเดินทางเป็นทางบกฤดูแล้งจึงเดินทางสะดวกกว่ารวมไปถึงการที่หมดฤดูกาลทำนาหน้าแล้งจึงเป็นเวลาว่างสำหรับการเดินทางค้าขายอีกด้วย

การติดต่อกับชุมชนอื่นรอบข้างนั้นมีอยู่เรื่อยๆแต่การเดินทางไปยังที่อื่นไกลๆนั้นไม่นิยมกันนักเนื่องจากเส้นทางคมนาคมในบริเวณนี้ไม่สะดวก ส่วนมากจะเป็นทางเกวียนส่วนใหญ่ และทางวัว ควาย ด้วย แต่เส้นทางที่ตัดผ่านกับหมู่บ้านหนองเดิ่นนั้นเป็นเส้นทางเก่าซึ่งจะเห็นได้จากการเดินทางผ่านบ้านหนองเดิ่นของนายฮ้อยเพื่อจะนำสินค้าไปค้าขายยัง บ้านไผ่ โคราช ต่อไปอีก และยังมีหลักฐานที่บอกว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางคมนาคมเก่าของผู้คนโดยจากการบันทึกเรื่องราวของกรมพระยาดำรงราชานุภาพใน “เรื่องเที่ยวเมืองต่างๆภาคสี่”วันที่ 31มกราคม เวลาย่ำรุ่ง ออกจากที่พักแรมบ้านนาเลาข้ามห้วยจอกขวาง เข้าเขตเมืองมหาสารคาม เข้าถึงที่พักร้อนเมืองวาปีประทุมอันขึ้นต่อเมืองมหาสารคามเวลาเช้าโมงหนึ่ง ระยะ150เส้น เมืองวาปีประทุมตั้งในรัชกาลที่5ในทำเนียบว่าตั้งที่บ้านนาเลา แตเจ้าเมืองมาอยู่เสียที่นี่ พระพิทักษ์นรากร ข้าหลวงเมืองมหาสารคาม และกรมการมารับ แล้วมีบายศรีจานผู้เฒ่าได้กล่าวอัญเชิญขวัญและด้ายผูกข้อมือ เวลาเช้า 2โมง15นาที ออกจากที่พักเมืองวาปีปทุมเดินทาง ผ่านทุ่งหนองเดิน เข้าเขตบ้านหนองดินข้ามห้วยน้ำใส เข้าเขตบ้านปลาบู่ ข้ามห้วยเสียว เข้าเขตบ้านกุดอ้อ ถึงบ้านหนองผงที่พักแรมริมหนอง เวลาเช้า 3โมง45นาที ระยะทาง266 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 416 เส้น(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.เรื่องเที่ยวที่ต่างๆภาค4.หน้า63) นอกจากการรับซื้อเกลือแบบลักษณะของนายฮ้อยแล้วนั้น ช่วงก่อน พ.ศ.2510 นั้นยังมีการติดต่อค้าขายเกลือกับชาวจีนในอำเภอวาปีปทุมด้วย ซึ่งชาวจีนในอำเภอวาปีปทุมนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางด้านการค้าและเศรษฐกิจของวาปีปทุมมาก ชาวจีนนั้นได้รับซื้อเกลือจากชาวบ้านและนำมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง  การค้าขายในลักษณะนี้ได้เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวบ้านที่ผลิตเกลือแต่การรับซื้อเกลือของชาวจีนในวาปีปทุมนั้นมีจำนวนน้อยแต่เกลือที่ชาวบ้านผลิตมีจำนวนมากดังนั้นในช่วงก่อน พ.ศ.2510 การหาบเร่เกลือและการขนส่งแบบเกวียนจึงมีอยู่มาก

ในช่วงปี พ.ศ.2510 การทำเกลือของชาวบ้านหนองเดิ่นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน นั่นคือการเลิกนิยมการทำเกลือและมีการผลิตเกลือลดน้อยลงจากอดีตมาก ซึ่งการลดลงของผู้ผลิตเกลือมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลักๆ อยู่ 2ประการคือ การผลิตเกลือของชาวบ้านหนองเดิ่นนั้นเป็นการผลิตแบบครัวเรือนไม่ได้ผลิตในระบบอุตสาหกรรม การผลิตจึงเป็นไปอย่างราบเรียบและให้ผลตอบแทนที่ไม่มากนัก แต่คนในหมู่บ้านก็ยังนิยมอยู่ และในช่วงพ.ศ.2510 เป็นต้นมา เริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับการผลิตเกลือของคนในหมู่บ้านแบบใหม่ขึ้น นั้นคือการต้องการรายได้จากผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกล่าวคือชาวบ้านต้องการได้เงินมากกว่าสิ่งของอื่น เพราะชาวบ้านเริ่มเห็นว่าเงินเป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองขึ้น ดังนั้นชาวบ้านที่มีไร่นาก็เริ่มเลิกผลิตเกลือและมาปลูกข้าวกันอย่างจริงจัง และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเลิกผลิตเกลือเพราะว่าน้ำที่ต้มเกลือและไหลเข้ามายังไร่นานั้นจะทำให้ดินพัง และเป็นดินเกลือสุดท้ายก็ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ดังนั้นจึงทำให้ชาวบ้านเลิกนิยมการผลิตเกลือลงไป แต่ยังมีชาวบ้านบางรายที่ยังผลิตเกลืออยู่และต้องมีที่นาเป็นของตนเองถึงจะผลิตเกลือหรือต้มเกลือสินเธาว์ได้  จากการสอบถามกับชาวบ้านที่ผลิตเกลือนั้นพบว่าคนที่มีที่ดินเท่านั้นถึงจะต้มเกลือได้แต่คนที่ไม่มีที่ดินก็ไม่ได้ต้มเกลือต่างจากก่อน พ.ศ.2510 ซึ่งใครจะต้มเกลือก็สามารถต้มในที่ของใครก็ได้เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่เสียก่อน

นอกจากการขาดที่ดินในการผลิตเกลือแล้ว สาเหตุอื่นที่เป็นปัจจัยภายอีกประการก็คือความต้องการเงินทองของชาวบ้าน กล่าวคือในช่วง พ.ศ.2510 เป็นต้นมานี้เริ่มมีการเข้าไปรับจ้างทำงานในกรุงเทพฯ โดยจากข้อมูลที่ชาวบ้านให้มานั้นบอกว่า วัยรุ่นหนุ่มสาวในหมู่บ้านต้องการที่จะเข้าไปทำงานกรุงเทพฯเพื่อหารายได้ให้กับครอบครัวของตน โดยการเข้าไปใช้แรงงานในกรุงเทพทำให้ผู้คนในหมู่บ้านมีจำนวนลดน้อยลงส่งผลไปยังการผลิตเกลืออีกด้วย การเข้าไปทำงานรับจ้างนั้นชาวบ้านเล่าว่าเคยมีการที่นายทุนหลอกคนในหมู่บ้านเพื่อไปตัดอ้อยแต่ไม่ให้เงินกลับมาแม้แต่บาทเดียว  นอกจากนี้ยังมีสาเหตุภายในที่ทำให้การผลิตเกลือของชาวบ้านหนองเดิ่นนั้นเปลี่ยนแปลงไปนั่นคือการที่หมู่บ้านแยกออกเป็น2หมู่บ้าน คือบ้านหนองเดิ่น และบ้านเดิ่นคำ ซึ่งเดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้ผู้คนแบ่งแยกที่ดินเป็นส่วนของใครของมันและแบ่งเขตการปกครองอย่างชัดเจน

รัฐบาลมีนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเกษตร อุตสาหกรรม การคมนาคม การสาธารณูปโภค จึงส่งผลให้การประกอบอาชีพของชาวบ้านหนองเดิ่นเปลี่ยนแปลงไปโดยการเน้นหนักไปยังการผลิตข้าว ซึ่งรัฐบาลต้องการข้าวเป็นจำนวนมากและยังมีการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งปอ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นคือบ้านหนองเดิ่นมีพื้นที่นาที่มีดินเค็มดินเกลือ(ขี้ทา) เป็นจำนวนมากจึงทำให้ไม่สามารถผลิตข้าวเป็นจำนวนมากๆได้ ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุงดินในการแก้ปัญหาดินเค็มโดยการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างจริงจัง ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ดินเค็ม(ขี้ทา)ที่มีอยู่ทั่วไปตามท้องไร่ท้องนาของบ้านหนองเดิ่นนั้นลดลง และยังส่งผลไปยังการทำนาที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย การลดลงของการผลิตเกลือในหมู่บ้านหนองเดิ่นนอกจากสาเหตุการปรับปรุงที่ดินแล้วยังมีสาเหตุคือการเกิดน้ำท่วมอีกด้วย  ต่อมาในปีพ.ศ.2518 สมัยของ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมท ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายด้านสาธารณูปโภคต่างๆ รวมไปถึงการขุดลอกหนองและอ่างเก็บน้ำต่างๆในสมัยนี้เองที่มีการเจาะน้ำบาดาล แต่ก็ไม่สามารถใช้น้ำจากการบาดาลได้เนื่องจากน้ำมีความเค็มสูง และต่อมาในปี พ.ศ.2538 มีนโยบายการวัดคุณภาพของเกลือว่ามีสารอาหารเพียงพอหรือไม่ ในช่วงนี้เองเริ่มมีการเสียภาษีในการผลิตเกลือขึ้นทำให้การผลิตเกลือของหมู่บ้านเริ่มมีความยุ่งยากขึ้น และจำนวนของผู้ผลิตเกลือในหมู่บ้านเริ่มลดน้อยลง ในช่วงปีพ.ศ.2538-2539 นี้เองเริ่มมีการเข้ามาของพ่อค้าเกลือจากอุดรธานีซึ่งเกลือจากอุดรธานีดังกล่าวนั้นแต่งต่างจากเกลือของชาวบ้านหนองเดิ่น กล่าวคือเกลือของชาวบ้านหนองเดิ่นนั้นเป็นการทำขึ้นโดยการต้มแต่เกลือที่มาจากอุดรธานีเป็นเกลือที่ใช้การตากให้แห่งแล้วตกผลึก ทั้งวิธีทำและรสชาติของเกลือจึงแตกต่างกันมาก  ถึงแม้จะมีการเข้ามาจำหน่ายเกลือในบริเวณอำเภอวาปีปทุมมากเพียงใดแต่ก็ไม่ค่อยส่งผลให้กับเกลือของชาวบ้านหนองเดิ่นนักเพราะรถชาติที่แตกต่างกันและกรรมวิธีที่พิถีพิถันกว่า

ปี พ.ศ.2555 เป็นการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่เป็นแบบพึ่งพาตนเองพออยู่พอกิน แต่ในช่วงระยะเวลานี้ต้องผลิตเพื่อค้าขายยังตลาดการค้าต่างๆ การทำเกลือซึ่งเป็นอาชีพเก่าของชาวบ้านก็ลดลงอย่างมาก จนในปี พ.ศ.2555 เหลือเพียงแค่4-5 ครัวเท่านั้นเองที่ยังผลิตอยู่  เพราะคนเริ่มนิยมรับประทานเกลือที่มีไอโอดีนอีกทั้งรัฐบาลยังสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคเกลือที่มีไอโอดีนเท่านั้นสาเหตุนี้จึงทำให้การผลิตเกลือลดลง อีกทั้งการขาดแคลน   วัตถุดิบในการผลิตเกลือนั่นคือ ดินเกลือ(ขี้ทา)ก็ลดลงมากจากการปรับปรุงสภาพดิน และยังขาดแคลนฟืนที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการต้มเกลือ  ชาวบ้านหนองเดิ่นทำนาข้าวกันเพิ่มขึ้นมากเพราะตลาดการค้ามีการต้องการข้าวเปลือกอย่างสูงเป็นผลมาจากการส่งออกข้าวของประเทศด้วย การเกษตรกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมีการนำเครื่องจักรต่างๆมาใช้ในการเกษตรมากมาย เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว รถนวดข้าว และยังเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรจากการลงแขกมาเป็นการจ้างวานอีกด้วย หากว่างจากการทำนาก็จะมีการเข้าไปรับจ้างทำงานในที่ต่างไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย หรือแม้กระทั่งการเข้าไปรับจ้างในกรุงเทพฯ  เพราะฉะนั้นในระยะเวลานี้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของหมู่บ้านจึงเป็นไปแบบทุนนิยม

บ้านหนองเดิ่นมีบ้านเลขที่ถึง 89 เลขที่ มีจำนวนครัวเรือน 91 ครัวเรือน มีพื้นที่ทั้งหมด 1,455 ไร่

  • พื้นที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ 1,220 ไร่

  • ที่อยู่อาศัย 35 ไร่

  • พื้นที่สาธารณะประโยชน์ 200 ไร่

  • ลำห้วยกุดน้ำใส อยู่ทางทิศเหนือ

  • ลำห้วยขี้หมู อยู่ทางตะวันออก

  • แหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ หนองเม็ก,หนองเดิ่น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านหนองเดิ่นในอดีตจะมีการลงผลิตเกลือสินเธาว์ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • หนองเดิ่น
  • เกลือสินเธาว์
  • ลำน้ำเสียว

ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและใช้ภาษาถิ่นอีสานในการสื่อสาร



การเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพ การผลิตเกลือสินเธาว์ในชุมชนลดลงและปัจจุบันไม่เหลืออยู่แล้วเนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการต้มเกลือทำให้การทำนาหรือที่ทำนาลดลงเพราะการต้มเกลือทำให้เกิดดินเค็มมากขึ้น อีกทั้งนโยบายของรัฐที่บังคับให้เกลือต้องมีไอโอดีนส่งผลให้ชุมชนเลิกผลิตเกลือ


ด้านทรัพยากร การต้มเกลือในอดีตจำเป็นต้องใช้ฟืนจำนวนมากในการต้มทำให้ป่าชุมชนลดปริมาณลงเนื่องจากนำมาใช้ต้มเกลือ

ขั้นตอนการผลิตเกลือ

  • ขั้นตอนที่1  จะใช้จอบขูดเอาดินที่อยู่ผิวหน้าดินของท้องนา ดินดังกล่าวจะมีรสเค็ม  มากองรวมกันไว้เป็นกองโต ๆ  

  • ขั้นตอนที่2  นำเอาดินที่ขูดมาเทลงในหลุมดินที่ขุดไว้ขนาดใหญ่พอประมาณ เอาน้ำที่ขุดจากใต้ดิน ซึ่งก็มีความเค็มเช่นเดียวกัน มาเทลงในรางหลุม  อัตราส่วนระหว่างน้ำเกลือกับดินเค็ม ที่ผสมกันนี้ ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้ทำแต่โดยปกติจะใช้อัตราส่วน 1:1 ถัง ใช้ไม้คาดทากวนให้เข้ากันทิ้งไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมงเพื่อให้ดินตกตะกอนจนน้ำใส

  • ขั้นตอนที่3 ปล่อยน้ำผ่านท่อไม้ไผ่ลงไปในภาชนะรองน้ำเกลือ ส่วนดินจืดที่เหลือจากการตกตะกอน จะถูกนำมาพอกกับคันลานเกลือ เพื่อให้มีความหนาขึ้นการต้มเกลือ

  • ขั้นตอนที่4 จะตักน้ำเกลือที่เก็บไว้ในภาชนะ มาเทลงในรางเหล็กให้เต็ม  ใส่ฟืนและคอยดูความร้อนให้สม่ำเสมอ ระยะเวลาที่ใช้ในการต้มเกลือแต่ละครั้งประมาณ 4 ชั่วโมง น้ำเกลือจะค่อย ๆ งวดลงจนเม็ดเกลือตกผลึกจากนั้นตักเกลือใส่ในวัสดุรองที่มีไม้สองท่อนพาดรับน้ำหนัก เพื่อให้น้ำเกลือที่ยังไม่เป็นเกล็ดลอดผ่านเม็ดเกลือลงไปในรางเหล็ก และต้มต่อไป เกลือที่ได้จะนำมาตากแดดไว้ให้แห้ง

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.(2512).เรื่องเที่ยวที่ต่างๆภาค4 ว่าด้วยเที่ยวมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลร้อยเอ็ด.พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขตย์(สีห์ จันทรสาขา) ณ เมรุวัดศิลาวิเวก อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2512

อบต.หนองแสง โทร. 0-4379-9525