Advance search

บ้านป๋าหลาน , ป๋ะหลาน

ชุมชนโบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะตอนปลาย เป็นชุมชนที่ตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) 

หมู่ที่1 หมู่ที่2 หมู่ที่13 หมู่ที่14
ปะหลาน
ปะหลาน
พยัคฆภูมิพิสัย
มหาสารคาม
อบต.ปะหลาน โทร. 0-4329-2717
วุฒิกร กะตะสีลา
1 ก.พ. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 เม.ย. 2023
บ้านปะหลาน
บ้านป๋าหลาน , ป๋ะหลาน

ชื่อของชุมชนได้มาจากวรรณกรรมท้องถิ่นหรือนิทานท้องถิ่นในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เกี่ยวกับเรื่องราวของปู่กับหลานพลัดหลงกันในทุ่งกุลาปู่จึงร้องไห้แบกจอบตามหาหลาน (ป๋าหลานหรือปะหลานหมายถึงทิ้งหลาน)


ชุมชนชนบท

ชุมชนโบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะตอนปลาย เป็นชุมชนที่ตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) 

ปะหลาน
หมู่ที่1 หมู่ที่2 หมู่ที่13 หมู่ที่14
ปะหลาน
พยัคฆภูมิพิสัย
มหาสารคาม
44110
15.51620507
103.1932618
องค์การบริหารส่วนตำบลปะหลาน

บ้านปะหลานเป็นพื้นที่แรกเริ่มในการตั้งเมืองพยัคภูมิพิสัย โดยพื้นที่บ้านปะหลานเป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้หรืออยู่ในช่วงยุคโลหะตอนปลาย ลักษณะพื้นที่พบคูน้ำของเมืองโบราณรอบพื้นที่ หลักฐานทางโบราณคดีได้แสดงถึงร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์  ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 4,000 - 1,500 ปีมาแล้ว หลักฐานที่เด่นชัดคือโคกเนินที่เป็นชุมชนโบราณหลายร้อยแห่ง และมีการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบชุมชน ปรากฏทั้งสิ้น 17 สระประกอบด้วย สระจาน สระยาว สระเพ สระสิม(สระวัด,สระบัว) สระอ่างเกลือ สระปู่ตา สระจันทร์ สระอาทิตย์ สระแก สระจอก สระยาง สระแสง สระหมู สระหว้า สระเกาะ(สระผือ) สระหญ้าคา และ สระกะลก มีกลุ่มคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ คือ กลุ่มคนกุยหรือกลุ่มคนส่วย คนกลุ่มนี้ดำเนินวิถีชีวิตตามธรรมชาติ เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยทวารวดี ก่อนการตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยในพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะตัวเมืองเป็นเนินสูงมีคูน้ำล้อมรอบและมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเมืองทวารวดี ซึ่งร่องรอยของเมืองทวารวดีนั้นพบกระจายอยู่หลายภูมิภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นแบ่งเป็นลุ่มน้ำใหญ่ๆ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำโขงแต่ละลุ่มน้ำก็จะสามารถพบอารยธรรมทวารวดีอยู่อย่างหนาแน่น  โดยเมืองพยัคฆภูมิพิสัยนั้นอยู่ใกล้บริเวณลุ่มน้ำชี เช่น เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองโบราณคันธาระวิชัย เมืองโบราณจัมปาศรี จังหวัดมหาสารคาม โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดมหาสารคามมีการค้นพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและการขุดค้นพบพระพิมพ์ดินเผาตลอดจนใบเสมาจำนวนมากในเขตเมืองนครจัมปาศรีครอบคลุมเมืองพยัคฆภูมิพิสัยด้วย อำเภอพยัคฆภูมิพิสัยมีการพบใบเสมาหินจำนวน 4 ใบ (ปัจจุบันเหลือแค่ 2ใบ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเกาะสวนพุทธ) และลักษณะมีบ้านเมืองที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมแบบทวารวดีคือเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มืองสุวรรณภูมิได้มีเจ้าเมืองปกครองกันมาจนถึงคนที่ 12 คือ พระรัตนวงศา (ท้าวคำสิงห์) ได้พิจารณาเห็นว่า พื้นที่เมืองสุวรรณภูมิมีอาณาเขตกว้างขวาง ครอบคลุมไปทั้งพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง ดูแลไม่ทั่วถึง ยากแก่การปกครอง จึงมีความคิดที่จะขยายเมืองออกจากสุวรรณภูมิเพื่อที่จะไปตั้งเมืองใหม่ เพราะจะได้สะดวกต่อการควบคุมดูแลและปกครองจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ขอยกบ้านเมืองเสือ ขึ้นเป็นเมืองโดยท้าวเทศและท้าวเดช ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และเป็นหลานของพระยาขัติยวงศา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด เป็นผู้ถือใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อขอตั้งเมือง ท้าวขัตติยะ (เทศ) ในขณะนั้นทำราชการที่เมืองสุวรรณภูมิ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเจ้าเมืองว่า พระศรีสุวรรณวงศาและพระราชทานนามบ้านเมืองเสือว่า “เมืองพยัคฆภูมิพิสัย” โดยให้ท้าวขัตติยะ (เทศ) เป็นพระศรีสุวรรณวงศา เป็นเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยคนแรกโดยมีสารตราตั้ง เวรนายรักดังต่อไปนี้ สารตรา มา ณ วันศุกร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ เอกศก 1240

ปี พ.ศ. 2422 หลังจาก ท้าวเทศ และ ท้าวเดช สองพี่น้องได้รับสารตราตั้งเมืองแล้ว จึงได้เดินทางกลับ ไปสู่ เมืองสุวรรณภูมิ เพื่อกราบทูลขอ ไพร่พล ช้าง ม้าวัว ควายเสบียงอาหาร และยุทธปัจจัย ในการสร้างเมืองใหม่ จากพระรัตนวงศา (คำสิงห์) หลังจากที่ได้ตามที่ขอแล้ว ท้าวเดชและท้าวเทศได้นำกำลังพลเดินทางไปที่จุดก่อสร้างเมืองคือ บ้านเมืองเสือ และก่อนที่จะสร้างเมืองได้สำรวจชัยภูมิที่จะสร้างเมือง พบว่าชัยภูมิที่บ้านเมืองเสือนั้น ไม่สะดวกต่อการตั้งเมือง  เนื่องด้วยเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะหลากท่วมพื้นที่ทําการเกษตรและพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำก็จะแห้งขอดทําให้ชาวบ้าน วัว ควาย เดือดร้อน การเกษตรเสียหายเป็นประจํา เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นแล้ว พระศรีสุวรรณวงศา จึงย้ายขบวนไพร่พล ช้าง ม้า วัว ควาย เดินทางออกจากบ้านเมืองเสือ มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ จนมาถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง ถือว่าเป็นที่อันควรแก่การตั้งเมืองใหม่ ณที่ดังกล่าวนั้นก็คือบ้านนาข่า อําเภอวาปีปทุมหลังจากที่สำรวจชัยภูมิบ้านนาข่าแล้ว เห็นว่ามีชัยภูมิดีกว่า จึงตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยขึ้นที่บ้านนาข่า แต่ไม่ไปตั้งเมืองที่บ้านเมืองเสือตามที่โปรดเกล้าฯ

เรื่องที่พระศรีสุวรรณวงศา เจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านนาข่านั้น ทราบถึงพระพิทักษ์นรากร (ท้าวอุ่น) เจ้าเมืองวาปีปทุม เกิดความไม่พอใจ เพราะโดนบุกรุกเขตแดน ประกอบกับช่วงเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว โดยประทับที่เมืองอุบลราชธานี เจ้าเมืองวาปีปทุมก็ร้องเรียนไปถึงกรมหลวงพิชิตปรีชากร ว่า เจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยนั้น มาบุกรุกเขตแดนของเขตที่ตนปกครองอยู่ซึ่งก็คือบ้านนาข่าและไม่ไปตั้งเมืองที่บ้านเมืองเสือตามที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้รับพระราชโองการให้เสด็จกลับพระนครก่อนต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นสรรพสิทธิ์ประสงค์ได้เสด็จมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ที่หัวเมืองลาวกาวแทนก็ได้รับการร้องเรียนเรื่องเขตแดนอีกครั้ง พระองค์จึงมีรับสั่งให้พระศรีสุวรรณวงศา (ท้าวเดช) ให้ย้ายจากบ้านนาข่าไปตั้งเมืองบ้านเมืองเสือ ตามที่รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ไว้ได้รับสั่งให้ท้าวเดช หรือ พระศรีสุวรรณวงศา ให้ย้ายกลับไปตั้งเมือง ณ จุดที่ได้ กราบทูลขอต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อไม่มีปัญหาที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง ของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย กับ เมืองวาปีปทุม หลังจากที่ พระศรีสุวรรณวงศา (ท้าวเดช) ได้รับบัญชาจึง ยอมย้ายและได้นำไพร่พล ช้าง ม้า วัว ควาย มาตั้งเมืองใหม่อยู่ในเขตการปกครองของ ตน ณ บริเวณบ้านปะหลาน ตําบลปะหลาน อําเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน และได้ทําการก่อสร้างเมืองใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ได้ย้ายไปที่ใดอีก เมืองพยัคฆภูมิพิสัยภายหลังที่ย้ายมาอยู่ที่ทําการเมือง ณ บ้านปะหลาน ตําบลปะหลาน อําเภอพยัคฆภูมิพิสัย

พระศรีสุวรรณวงศา(ท้าวเดช)จึงตัดสินใจสร้างเมืองโดยได้สร้างจวนเจ้าเมืองที่เกาะบ้านปะหลาน บริเวณต้นค้างคาว ด้วยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีชัยภูมิที่ดีเหมาะแก่การสร้างบ้านแปลงเมือง และบริเวณแห่งนี้มีทำเลที่ดี มีสระน้ำล้อมรอบ และยังอยู่ไม่ห่างไกลจากบ้านเมืองเสืออีกด้วย แต่พื้นที่บริเวณนี้ได้มีชาวเขมรอาศัยอยู่ก่อนแล้วพระศรีสุวรรณวงศา(ท้าวเดช)จึงได้เจรจาให้ชาวเขมรย้ายไปอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านปะหลาน(ซึ่งปัจจุบันคือ บ้านโนนสูง) ด้วยอำนาจของเจ้าเมืองและจำนวนผู้คนที่มากกว่า จึงทำให้ชาวเขมรนั้นต้องยอมย้ายไปอย่างขัดไม่ได้

ปีพ.ศ. 2452 พระศรีสุวรรณวงศา (ท้าวเดช) จึงได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายอำเภอ ในวัย 62 ปี โดยอ้างว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพ แต่ด้วยที่ท้าวเดชเป็นคนคุณธรรมและมีคุณงามความดีพอลาออกจากตำแหน่งก็ยังได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งให้เป็น “กรมการเมืองพิเศษ”หลังจากที่ลาออกจากราชการแล้ว ท้าวเดชก็ได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกและภรรยา(ญาแม่สุวรรณา) ที่พยัคฆภูมิพิสัยตามเดิม ในปี พ.ศ.2462 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ท้าวเดชได้มีใบบอกขอพระราชทานนามสกุล ไปยังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว โดยอ้างนามบิดา คือ พระรัตนวงษามหาขันติราชเจ้า (ท้าวคำสิงห์) ขอพระราชทานนามสกุลว่า “รัตนะวงศะวัต” (เป็นต้นตระกูลแรกของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย)ต่อมาในปีพ.ศ.2476 ท้าวเดชก็ได้ถึงแก่กรรม รวมอายุได้ 86 ปี และในช่วงปีพ.ศ.2452เดียวกันนี้ก็มีนายอำเภอคนที่2 คือ ร.อ.ท.หลวงไสยบัณฑิตย์ (ลิ วงกาไสย)ขึ้นเป็นนายอำเภอ และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปยังบริเวณต้นโพธิ์ (ปัจจุบันคือ ศาลหลักเมืองอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย)

นายฮวด แซ่ตั้ง เป็นคนจีนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย โดยอพยพมาจากเมืองพล มีแค่เสือผืนหมอนใบ มาเป็นลูกจ้างล้างขวดเหล้า ที่บริษัทสุราไทยเรื่องในเมืองมหาสารคาม ในอัตราค่าบริการรับจ้าง 3 ขวดต่อ 1สตางค์ ต่อมานายฮวดได้แต่งงานกับนางเภา พืชนอก และได้ย้ายมาทำมาหากินที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย โดยประกอบอาชีพ ขายของป่า มี นุ่น ปอ ครั่ง และได้สร้างครอบครัวเป็นปึกแผ่น มีคนจีนที่เป็นญาติตามมาอยู่ด้วย คือ นายชุน นายคิมฮอ นายเก็ย นายแหย่ และนายเซ่งงวน นายฮวดกับนางเภา มีบุตรด้วยกัน 6 คน แต่คนที่มีความสำสำคัญต่อการขยายตัวทางเศษฐกิจของอำเภพยัคฆภูมิพิสัยคือ นางทองใบ (แซ่ตัง) เฮงสวัสดิ์ และ นายสมบัติ (แซ่ตัง) ทองไกรรัตน์

พื้นที่ตั้งของตลาดนั้นจะตั้งอยู่ตรงบริเวณต้นโพธิ์ และร้านค้าก็จะตั้งเรียงรายอยู่ตามสองข้างทางของถนนสุวรรณวงศ์ลงมาถึงบริเวณที่ว่าการอำเภอ แต่ก่อนมีร้านค้าประมาณ 10 ร้าน เป็นร้านค้าเล็กๆ เป็นบ้านหลังคาไม้ บ้านไม้เตี้ยๆชั้นเดียว ร้านแรกจะเป็นบ้านหลังคาสีแดงสองชั้นสมัยโบราณ ส่วนมากก็จะขายของเบ็ดเตล็ด โดยที่ร้านค้านั้นเป็นของคนจีน ในช่วงนี้ก็มีแต่คนจีนที่รู้จักทำการค้าขาย คนจีนบางกลุ่มก็ทำการค้าขายแบบหาบเร่ จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงถาวร   ชาวบ้านบางคนที่ไม่มีเงิน ก็จะนำของกินมาแลกเปลี่ยนกับสิ่งของที่ชาวจีนนำมาขาย บางครั้งชาวบ้านก็จะนำผักที่ปลูกไว้ไปขายให้กับคนจีน เพราะความเป็นอยู่ของชาวบ้านยังไม่มีการค้าขายอย่างจริงจัง เป็นเพียงแต่การแลกเปลี่ยนสิ่งของกันเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าในช่วงนี้หลังจากที่ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งในที่ใหม่แล้ว บริเวณพื้นที่โดยรอบนั้นยังเป็นทุ่งนากว้างขวาง ไม่มีชาวบ้านมาสร้างที่อยู่อาศัยมากนัก จึงทำให้เริ่มเกิดการขยายตัวของชุมชน มาตามที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ โดยมีบ้านเรือนและร้านค้าของผู้คนเกิดขึ้นตามสองฝั่งของถนนสุวรรณวงศ์ลงมาทางทิศใต้จนถึงที่ว่าการอำเภอ มีการสร้างโรงเรียนประจำอำเภอขึ้นเป็นแห่งแรกที่วัดทองนพคุณ ในช่วงนี้ก็เริ่มมีคนจีนเข้ามาทำการค้าขาย แต่ก็ยังเป็นการค้าขายแบบแลกเปลี่ยน ไม่ใช่การค้าขายแบบจริงจังเหมือนกับในสมัยนี้ การค้าของคนจีนในสมัยนั้นจะเป็นการค้าขายในรูปแบบของการหาบเร่จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นได้  และได้สร้างร้านค้าขึ้นเป็นหลักเป็นแหล่งอย่างมั่นคงถาวร ชาวบ้านก็เริ่มรู้จักการแลกเปลี่ยนสิ่งของ เช่น ชาวบ้านที่ไม่มีเงินก็จะนำผักที่ตนเองปลูกไว้ มาแลกกับสินค้าที่คนจีนนำมาขาย นั่นก็แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของผู้คนในสมัยนั้นเริ่มจะรู้จักการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากัน เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับชาวจีน  แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านก็ยังทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าว ไว้กินเหมือนเดิม คนในสมัยนั้นจะไม่นิยมขายข้าว เพราะเชื่อกันว่าบ้านหลังไหนหรือครอบครัวไหนมีข้าวเก็บไว้ในยุ้งฉางนานถึงสามปีก็จะถือว่าเป็นคนมั่งคั่งมาก

ดังนั้นในยุคนี้จึงมีการขยายตัวของชุมชนมาตามที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่และยังเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม คือ เริ่มรู้จักในเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะคนจีนเข้ามาทำการค้าขาย วิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้นก็เปลี่ยนไปตามสภาพของสังคมในช่วงนั้นแต่ก็ไม่แตกต่างจากเดิมมากนักเหมือนกับว่าอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยหรือพื้นที่ชุมชนบ้านปะหลานกำลังจะเจริญเติบโตในด้านของเศรษฐกิจและรอรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต“คนในท้องถิ่นอยู่กันอย่างเรียบง่าย ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา หาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง มีการแลกเปลี่ยนอาหารและสิ่งของกัน ยังไม่มีการทำการค้าขายที่จริงจังเหมือนในปัจจุบัน”

พื้นที่ของชุมชนบ้านปะหลานเป็นลักษณะเมืองโบราณที่ทีคูน้ำล้อมรอบ ลักษณะคล้ายเกาะ

  • ทิศเหนือ ติดคูน้ำโบราณและถนนสายพยัคฆภูมิพิสัย-ยางสีสุราช
  • ทิศใต้ ติดกับพื้นที่ของเทศบาลตำบลพยัคฆภูมิพิสัย
  • ทิศตะวันออก ติดกับชุมชนโนนสูง 

คนในชุมชนบ้านปะหลานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาวหากแต่พื้นที่ใกล้เคียงของชุมชนบ้านปะหลานคือชุมชนบ้านโนนสูงเป็นคนที่ในวัฒนธรรมเขมรหรือกูย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านปะหลานมีงานบุญใหญ่คืองานบวงสรวงพระศรีสุวรรณวงศาเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยจัดขึ้นทุกปีบริเวณศาลเจ้าเมือง ในช่วงเดือนเมษายน

  • พระสุวรรณวงศา(เดช)  เจ้าเมืองคนที่2 ของพยัคฆภูมิพิสัยเป็นคนที่เริ่มตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยบริเวณบ้านปะหลานในปีพ.ศ.2436 ปกครองบ้านเมืองสงบร่มเย็นและสร้างคุณูปการต่างๆให้กับเมือง จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2476 ปัจจุบันชาวพยัคฆภูมิพิสัยสร้างศาลและอนุสาวรีย์เพื่อสักการบูชา
  • อาจารย์ไพรัตน์ แย้มโกสุม อดีตคุณครูโรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคาร รวมทั้งเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัย เป็นปราชญ์ของเมืองด้านประวัติศาสตร์ได้เขียนประวัติของเมืองและเจ้าเมืองไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาจนถึงปัจจุบัน

  • ชุมชนโบราณยุคโลหะตอนปลาย
  • โบราณวัตถุในสมัยทวารวดี (ใบเสมาบริเวณสวนพุทธ)
  • ย่านชุมชนโบราณเมืองพยัคฆภูมิพิสัย
  • วัดทองนพคุณ

คนในชุมชนบ้านปะหลานใช้ภาษไทยเป็นภาษาราชการและใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารรวมทั้งชุมชนข้างเคียงมีการใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตำนานปู่ปะหลาน ประพันธ์โดย นายบรรหาญ สุวรรณพันธ์

“เมืองปะหลาน ย่านนี้ มีคนกล่าว      เป็นเรื่องเล่า สืบต่อ แต่หนหลัง
นิทานเก่า เก็บมาเล่น สู่กันฟัง      แต่ปางหลัง ก่อนกาล เนินนานมา
ยังมีชาย แก่หนึ่ง นามว่าเต่า      เป็นผู้เฒ่า ถิ่นนี้ นานหนักหนา
อาชีพนั้น ดักไซ ได้ปูปลา      เลี้ยงภรรยา กับหลาน จนผ่านวัย
มาวันหนึ่ง ยายกุลา ไม่อยู่บ้าน      ปู่จูงหลาน แบกจอบ หอบข้องใหญ่
มุ่งเดินหน้า ทุ่งกว้าง ทางคู่ใจ      ถึงดอนใหญ่ น้ำหลาก ล้วนมากมี
เหมอมองทุ่ง เห็นน้ำ จรดฟ้า      แล้วสั่งว่า หลานคอยปู่ อยู่อย่าหนี
กูจะไป ดักไซ ไม่รอรี      อยู่ที่นี่ ไม่นาน นะหลานนา
เมื่อดักไซ เสร็จสรรพ เดินกลับมา      ไม่เจอหลาน กู่ตะโกน เที่ยวค้นหา
ปู่ลากจอบ ตะโกนก้อง ท้องทุ่งนา      จนนภา ภพค่ำ ต่ำลงดิน
ตอนที่ปู่ ปะหลานทิ้ง ไว้ครานั้น      ได้แปลผัน เป็นหมู่บ้าน  ย่านแถวถิ่น
เรียกว่า บ้านปะหลาน เป็นอาจิณ      อยู่ ณ ถิ่น พยัคฆา มาช้านาน
รอยปู่ลาก จอบไป เป็นสายน้ำ      เรียกว่าลำ คลองจอบรอบสถาน
สายนที นี้ยัง เป็นฝั่งทาน      ให้ชาวบ้าน อาบกิน กันสืบมา
ตำนานเรื่อง เมืองปะหลาน ยังไม่จบ      โปรดคอยพบ กันใหม่ ในคราวหน้า
ว่าปะหลาน เปลี่ยนเป็น พยัคฆา      มีที่มา เรื่องเก่า เล่าอย่างไร
พักนิทาน คำกลอน ก่อนแค่นี้      โอกาสมี คราวหน้า มาเล่าใหม่
ปู่ชื่อเต่า ลากจอบไกล ให้เมื่อยล้า      เดินลัดป่า เข้าดงใหญ่ ไม่เห็นหลาน
พบแต่เสือ กินเนื้อ อีกเก้งฟาน      หรือกินหลาน ของปู่ หารู้ไม่
จึงตั้งบ้าน ย่านนี้ ว่าเมืองเสือ      ด้วยความเชื่อ แต่เก่ามา แดนป่าใหญ่
เป็นนามเรียก กันมา แต่คราใด      คนรุ่นใหม่ ไม่รู้ ปู่เล่ามา
ออกจากป่า ตะโกนร้อง ตามท้องทุ่ง      ด้วยหมายมุ่ง หาหลาน ดั้นด้นหา
เดินลัดเลาะ คูน้ำ ตามเรื่อยมา      แสนเมื่อยล้า ทั้งกายใจ ให้อาวรณ์
แต่นั้นมา ชื่อคูน้ำ ตั้งตามชื่อ      นั่นแหละคือ “ผู้ท้าวเต่า” ผู้เฒ่าสอน
คันครูใหญ่ กลางทุ่งนา ป่าสันดอน      แต่กาลก่อน ถึงเดี๋ยว นี้มีให้ดู
กล่าวถึง ยายกุลา มาถึงบ้าน      ไม่พบหลาน ล้มทรุด แสนหดหู่
ออกตามหา ทุ่งกว้าง ทางคันคู      ร้องสุดกู่ ไปอยู่ไหน ไม่พบหลาน
ยายกุลา เดินมา ถึงทุ่งกว้าง      แสนเวิ้งว้าง กว้างใหญ่ อันไพศาล
จึงเป็นลม ล้มไป ในเหตุการณ์      ร้องไห้หาหลาน “ทุ่งกุลา” มาเป็นนาม
อันนามว่า พยัคฆา นำมาตั้ง      เมื่อคราวครั้ง เสือใหญ่ ไม่เกรงขาม
ราชาศัพท์ ปรับตั้ง ดังคำนาม      ทั่วเขตคาม มีชื่อเมือง เลื่องลือมา
“ปู่ปะหลาน” จึงขอปลง ลงตรงนี้      นิทานมี เล่าไว้ ให้ศึกษา
จริงหรือเท็จ อย่างไร ให้พิจารณา      จึงขอลา จบลง ตรงนี้เลย”

เฉลียว อรรถโยโค.(2540). ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของสุขาภิบาลพยัคฆภูมิพิสัย. มหาสารคาม

วุฒิกร กะตะสีลา.(2561). ประวัติศาสตร์การขยายตัวเมืองพยัคฆภูมิพิสัย พ.ศ.2436-2560 ฉบับประวัติศาสตร์สร้างคนเยาวชนสร้างชาติ. ที่ระลึกงาน125ปี พยัคฆ์รำลึก, 9 เมษายน 2561

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. (2558). ทวารวดีในอีสาน. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน

เอกสารหอจดหมายเหตุสมัย ร.5 (ไมโครฟิล์ม) สารตรา ก.ร.5 มท (ล)/37 (เล่มที่ 37 หน้า 96 ลำดับที่ 45)

Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านปะหลาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps

อบต.ปะหลาน โทร. 0-4329-2717