บ้านโคกล่ามชุมชนทอผ้าที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ผ้าย้อมสีธรรมชาติจากไม้มงคลได้รับรางวัลพระราชทาน จากวิถีชีวิตประจำของผู้หญิงอีสานสู่ผ้าทอที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
โคกล่ามมาจากพื้นที่บริเวณตั้งหมู่บ้านเป็นป่าโคกขนาดใหญ่และยาวไปตลอด อีกทั้งพื้นที่เป็นที่ราบลงที่ต่ำ โคกล่าม จึงหมายถึงป่าโคกที่มีลักษณะราบต่ำและทอดตัวยาว
บ้านโคกล่ามชุมชนทอผ้าที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ผ้าย้อมสีธรรมชาติจากไม้มงคลได้รับรางวัลพระราชทาน จากวิถีชีวิตประจำของผู้หญิงอีสานสู่ผ้าทอที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
ชุมชนบ้านโคกล่ามเป็นชุมชนชนบทที่มีการตั้งบ้านมาตั้งแต่พ.ศ. 2435 โดยมีการตั้งที่อยู่อาศัยประมาณ 4-5 หลังคาเรือน พื้นที่บริเวณรอบชุมชนเป็นพื้นที่ป่าโคกที่มีเห็ดเป็นจำนวนมาก ป่าโคกบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่มีไม้จิก ไม้รัง ไม้พะยอม บ้านชาด ไม่ประดู่ ทรัพยากรของชุมชน เช่น ลำพังชู หนองละคร หนองขามเรียนซึ่งเป็นที่ตั้งศาลปู่ตาของชุมชน คนกลุ่มแรกที่เข้ามาใช้พื้นดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยคือ นายสมบัติ นายอ้น ยายหอย นายลี มูลไธสง ซึ่งเป็นกลุ่มคนจากบ้านเป่ง บ้านมะฮุ่ง พื้นที่ในการตั้งชุมชนแรกเริ่มอยู่บริเวณคุ้มไผ่เงินในปัจจุบัน ผู้คนในชุมชนทำนาเป็นอาชีพหลักและมีการทอผ้า จักสานในยามว่างจากงานเกษตรกรรมผู้คนเริ่มอพยพเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นรวมทั้งมีชาวญวณเข้ามาทำงานชุมชนคือ นายบุญ ปัตสานะ เป็นช่างในชุมชนทั้งสร้างวัดและซ่อมอุปกรณ์ในครัวเรือน คนในหมู่บ้านโคกล่ามต้องว่าจ้างนายบุญเป็นประจำเนื่องจากมีฝีมืองานช่าง ชีวิตผู้คนตั้งแต่พ.ศ. 2435-2503 เป็นไปอย่างเรียบง่ายพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลักและอยู่กันเป็นคุ้มพื้นที่อยู่อาศัยยังไม่มีการขยายตัวเท่าใดนัก ส่วนใหญ่กระจุกตัวกันอยู่บริเวณคุ้มไผ่เงินหรือพื้นที่ตั้งชุมชนในช่วงแรกเริ่ม
ปีพ.ศ. 2503-2537 ช่วงการตั้งชุมชนในระบบราชการ ช่วงก่อนหน้า 2503 ถึงแม้บ้านโคกล่ามจะมีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนแล้วแต่ยังไม่มีการตั้งชุมชนตามระบบราชการ จนกระทั่งในปีพ.ศ.2503 มีการตั้งชุมชนบ้านโคกล่ามขึ้น โดยมี นายคง แสนแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีการสร้างโรงเรียนบ้านโคกล่ามขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2506 ซึ่งแต่เดิมผู้คนในชุมชนใช้วัดเป็นโรงเรียนและเรียนกับพระสงฆ์ ในช่วงปีพ.ศ.2510 มีการตัดถนนสายเม็กดำ-ยางสีสุราช ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงเส้นทางเกวียนส่งผลให้ผู้คนในชุมชนบ้านโคกล่ามเริ่มขยายตัวและตั้งที่อยู่อาศัยออกไปทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเนื่องจากมีถนนตัดผ่าน พ.ศ.2522 ชุมชนบ้านโคกล่ามมีรถโดยสารจากบ้านโคกล่ามเข้าไปตัวอำเภอพยัคฆ์คันแรกของหมู่บ้านเป็นของนายบุญจันทร์ ซึ่งเป็นพ่อค้าและร้านค้าร้านแรกของหมู่บ้านโคกล่าม อีกทั้งในช่วงปีพ.ศ. 2526 ไฟฟ้าเข้ามาในชุมชนส่งผลให้ผู้คนเริ่มมีเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น พ.ศ.2531 บ้านโคกล่ามได้ย้ายการปกครองจากแต่เดิมสังกัด ตำบลเม็กดำ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ไปขึ้นกับตำบลขามเรียน อำเภอยางสีสุราช แต่ในปีพ.ศ. 2535 มีการเรียกร้องให้บ้านโคกล่ามกลับมาสังกัดอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยอีกครั้งเนื่องจากการติดต่อราชการและการค้าขายสะดวกกว่าจึงได้ย้ายมาสังกัดตำบลหนองบัว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ชีวิตของผู้คนบ้านโคกล่ามในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2503-2537 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในชุมชนซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการส่วนใหญ่เป็นนโยบายรัฐที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่เช่นการตั้งชุมชนตามระบบราชการทำให้มีการติดต่อราชการอีกทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนบ้านโคกล่ามที่สุดคือการตัดถนนทางฝั่งทิศตะวันออกของชุมชนคือถนนสายเม็กดำ-ยางสีสุราช ทำให้ชุมชนขยายตัวและตั้งที่อยู่อาศัยออกมาทางฝั่งทิศตะวันออกมาขึ้น มีโรงเรียนบ้านโคกตั้งขึ้นติดถนนแห่งใหม่นี้และมีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า การขนส่งคมนาคมที่ดีขึ้น
ปีพ.ศ. 2538-2549 ช่วงการพัฒนาหมู่บ้านโดยการกำกับของรัฐ ปีพ.ศ. 2538 ชุมชนบ้านโคกล่ามมีความหนาแน่นขึ้นและยากต่อการปกครองจึงได้แยกชุมชนออกเป็น2 หมู่ คือหมู่ที่10 หมู่ที่12 เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารราชการ ผู้คนขยายตัวออกไปทางทิศตะวันออกอย่างต่อเนื่องตามปัจจัยคือถนนเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ พ.ศ. 2540 มีการสร้างถนนคอนกรีตในชุมชนและถนนเส้นเม็กดำ-ยางสีสุราชได้ถูกพัฒนาเป็นถนนลาดยาง ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่ในช่วงดังกล่าวนี้ผู้คนในชุมชนเริ่มออกไปทำงานในกรุงเทพฯทั้งเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมและส่วนใหญ่เป็นแรงงานก่อสร้าง มีการชักชวนกันของชาวบ้านในการเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ จนปัจจุบันสภาพของชุมชนบ้านโคกล่ามเป็นชุมชนที่ขาดแคลนแรงงานหรือคนวัยทำงาน การทำเกษตรกรรมในช่วงหลังของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปผู้คนหาเงินส่งกลับมาบ้านเพื่อจ้างแรงงานในภาคเกษตรกร ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในชุมชนจะเป็นผู้สูงอายุและเด็ก ประมาณปีพ.ศ. 2533 มีการตั้งกลุ่มทอผ้าของชุมชนบ้านโคกล่ามและเป็นอาชีพหลักอีกอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุในชุมชนบ้านโคกล่ามและผ้าไหมยังเป็นของดีของชุมนบ้านโคกล่ามจนถึงปัจจุบัน
ปีพ.ศ. 2550-2565 การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนผ่านการทอผ้า กลุ่มทอผ้าตั้งมาตั้งแต่พ.ศ.2533 เป็นต้นมามีการสร้างรูปแบบการจัดการและการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างมีระบบ แต่ผ้าทอในชุมชนยังไม่มีความโดดเด่นเท่าใดนัก จนกระทั่งพ.ศ. 2550 การทอผ้าของชุมชนบ้านโคกล่ามเริ่มมีชื่อเสียงจากการย้อมศรีธรรมชาติ โดยการนำของนางสมเพียร จรรยาศิริ ประธานกลุ่มทอผ้าไหมไม้มงคล และต่อมาได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดลายผ้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวรรณวรีฯ และสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่ม ผู้คนในชุมชนบ้านโคกล่ามที่ทอผ้ากันเป็นอาชีพหลักอยู่แล้วจักปรับเปลี่ยนรูปแบบการย้อมสีเป็นสีธรรมชาติมากขึ้น
ชุมชนบ้านโคกล่ามเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณเขตแดนของจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดบุรีรัมย์มีลำพังชูเป็นลำน้ำสายสำคัญทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน มีทรัพยากรป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีเห็ดป่าจำนวนมาก แหล่งน้ำสำคัญของชุมชนนอกจากลำพังชูยังมีหนองละครและหนองขามเรียน
ประชากรของหมู่บ้านโคกล่าม มีทั้งหมด 447 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 88 ครัวเรือน แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ ระบบเครือญาติส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมู่บ้านซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากบ้านเป่ง บ้านมะฮุ่ง
กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านโคกล่ามมีทั้งหมด 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มทอผ้าไหมไม้มงคล
- กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโคกล่าม
ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีการจัดการกลุ่มอย่างมีระบบ เช่นมีการแบ่งหน้าที่ของแต่ละขั้นตอนการทอผ้าตามความถนัดและสภาพร่างกายรวมทั้งสุขภาพของสมาชิกในกลุ่ม ทั้งนี้แบ่งหน้าที่ต่างๆออกเป็น ผู้เลี้ยงไหม ผู้สาวไหม ผู้กวักไหม ผู้ย้อมไหม ผู้มัดหมี่ ผู้ทอ และส่งมายังกลุ่มเพื่อจำหน่าย สมาชิกทุกคนจะเป็นการใช้แรงงานและรับจ้างจากกลุ่มหรือการทำเส้นไหมขายให้กับกลุ่มก็ได้ กลุ่มทอผ้าสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุในชุมชนต่อเดือนเฉลี่ยคนละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับผลผลิตที่ได้
คนในชุมชนบ้านโคกล่ามส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรแต่การเปลี่ยนแปลงของการทำนาในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตซึ่งแต่ก่อนการทำนาจะทำในช่วง เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม การดำรงชีวิตส่วนใหญ่เป็นการทำนา แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตการทำนาเปลี่ยนแปลงไปหลังพ.ศ. 2541 เป็นต้นมาคนในชุมชนเดินทางไปทำงานกรุงเทพฯส่งเงินกลับบ้านเพื่อว่าจ้างทำนา การทำนาจึงสะดวกขึ้นและมีเวลาประกอบอาชีพอย่างอื่นโดยเฉพาะทอผ้า ทำให้การทอผ้าของคนในชุมชนบ้านโคกล่ามสามารถทำได้ตลอดทั้งปีเพราะไม่ต้องไปลงแรงการกับการทำนาเท่าใดนัก
นางสมเพียร จรรยาศิริ ปราชญ์ชาวบ้านในการทอผ้าและย้อมสีธรรมชาตินางสมเพียรได้รับการสั่งสอนจากแม่ให้รู้จักการทอผ้าเช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไปในชุมชนเนื่องจากการทอผ้านับว่าเป็นวิถีชีวิตหลักของผู้หญิงทั้งในอีสานและชุมชนบ้านโคกล่าม ได้เรียนรู้วิธีการต่างๆตั้งแต่การเลี้ยงไหม การกวักไหม การมัดหมี่ การย้อมสีจนกระทั่งการทอ
ในปีพ.ศ. 2533 นางสมเพียรได้เป็นประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านโคกล่ามซึ่งในช่วงนั้นการย้อมสีผ้าใช้รูปแบบของสีจากเคมี จนกระทั่งนางสมเพียรมีอาการป่วยและไม่สามารถสัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้นได้จึงได้ลาออกจากกลุ่มทอผ้าไป แต่ด้วยความสัมพันธ์กับอาชีพทอผ้านางสมเพียรจึงเริ่มค้นหาวิธีในการย้อมสีจากธรรมชาติโดยการใช้ความรู้ของบรรพบุรุษตั้งแต่ปู่ย่าตายายส่งต่อมาถึงรุ่นแม่ ได้สอบถามการย้อมสีผ้ากับผู้เฒ่าผู้แก่จนได้ทดลองย้อมสีธรรมชาติจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน เช่น การย้อมด้วยเปลือกไม้ ครั่ง ใบไม้ และนางสมเพียร สามารถกลับมาทอผ้าได้อีกครั้ง และได้ตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นใหม่ชื่อว่า กลุ่มทอผ้าไหมไม้มงคล ผลงานผ้าทอของกลุ่มเริ่มมีชื่อเสียงเนื่องจากการผสมผสานระหว่างฝีมือการทอผ้าของคนในชุมชนและสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ มีการนำผลิตภัณฑ์ผ้าทอไม้มงคลไปแสดงจัดจำหน่ายและออกร้านตามงานต่างทั้งในจังหวัดมหาสารคามและที่อื่น คนในกลุ่มมีรายได้จากกิจการทอผ้ามากขึ้น และผ้าของกลุ่มทอผ้าได้รับรางวัลพระราชทานในการประกวดผ้าทอในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศการประกวดลายผ้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวรรณวรีฯ รวมทั้งกลุ่มทอผ้าบ้านโคกล่ามยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของครูและนักเรียนโรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคารโรงเรียงประจำอำเภอพยัคฆภูมิอีกด้วย นางสมเพียร จรรยาศิริ เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่นำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษมาต่อยอดให้เกิดรายได้ในชุมชนและสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนบ้านโคกล่ามในปัจจุบัน
- ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติจากไม้มงคล
- ป่าโคกที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน
คนในชุมชนบ้านโคกล่ามใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานในการสื่อสาร
นางสมเพียร จรรยาศิริ.(2565).นางสมเพียร จรรยาศิริ.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก :https://web.facebook.com/photo.php?fbid=3062595224001585&set=pb.100007534110487.-2207520000.&type=3
กิจกรรมของกลุ่มทอผ้าไหมไม้มงคลบ้านโคกล่าม.(2564).กิจกรรมของกลุ่มทอผ้าไหมไม้มงคลบ้านโคกล่าม.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.เข้าถึงได้จาก: https://web.facebook.com/photo/?fbid=2837952279799215&set=pb.100007534110487.-2207520000