หมู่บ้านท่าพิกุลมีผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปที่มีชื่อเสียง คือ ลูกตาลโตนดอ่อน น้ำตาลโตนด และกะปิ ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติอร่อยและคุณภาพดี
คําว่า "ท่าพิกุล" นั้นมาจากพื้นที่บริเวณท่าเรือในหมู่บ้านมีต้นพิกุลขนาดใหญ่ขึ้นอยู่หนึ่งต้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร เมื่อผู้คนภายในหมู่บ้านและผู้คนทั่วไปผ่านมาในพื้นที่บริเวณนี้ ก็จะเรียกกันติดปากว่า “บ้านท่าพิกุล” ปัจจุบันต้นพิกุลได้ตายไปแล้ว
หมู่บ้านท่าพิกุลมีผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปที่มีชื่อเสียง คือ ลูกตาลโตนดอ่อน น้ำตาลโตนด และกะปิ ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติอร่อยและคุณภาพดี
บ้านท่าพิกุล มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดปากทะเลทางฝั่งอ่าวไทย นายเนื่อง ปานชนะพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าพิกุล เล่าว่า เดิมพื้นที่จากหลังวัดจันทารามไปจนถึงบางทองดี เป็นที่ของนายทวย อวบท่าฉาง ซึ่งมีอาชีพทําการประมง มีเรือประมงมากมาย แต่การคมนาคมในสมัยนั้นไม่ค่อยสะดวก ไม่มีถนนในหมู่บ้าน มีการขนส่งสินค้าทางเรือ นายทวยจึงได้สร้างท่าเรือขึ้นเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าไปขายในตลาด ห่างจากปากคลองประมาณ 2 กิโลเมตร และชาวบ้านใกล้เคียงบริเวณนั้นก็อาศัยท่าเรือดังกล่าว สำหรับขนส่งข้าวเปลือก มะพร้าว กุ้ง หอย ปู ปลา ด้วย จึงได้กลายมาเป็นท่าเรือประจําหมู่บ้านในเวลาต่อมา คําว่า ท่าพิกุล นั้นมาจากพื้นที่บริเวณท่าเรือนี้ มีต้นพิกุลขนาดใหญ่ขึ้นอยู่หนึ่งต้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร เมื่อผู้คนภายในหมู่บ้านและผู้คนทั่วไปผ่านมาในพื้นที่บริเวณนี้ ก็จะเรียกกันติดปากว่า “บ้านท่าพิกุล” จนกระทั่งทุกวันนี้ ปัจจุบันต้นพิกุลได้ตายไปแล้ว
เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นคลองท่าฉางเนื่องจากการกัดเซาะของตลิ่งบ้านท่าพิกุล จะแบ่งเรียกเป็น 3 โซนด้วยกัน คือ เขตแนวริมคลองตั้งแต่ริมทางรถไฟ ไปถึงสามแยกบริเวณศาลากลางหมู่บ้าน จะเรียก “บ้านท่าพิกุล” ส่วนจากศาลาประจําหมู่บ้านแยกทางขวามือ จะเรียกว่า “บ้านเกาะเบี้ย” และแยกไปทางซ้ายจะเรียกว่า “บางทองดี” ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นมีลักษณะเป็นบางล้อมรอบ การสัญจรไปมาของทั้ง 3 บ้านในอดีต จะใช้สะพานเชือกสัญจรไปมาระหว่างเกาะเบี้ยไปบางทองดี และบางทองดีไปท่าพิกุล สําหรับบ้านบางทองดีในอดีตประมาณ พ.ศ. 2481 พื้นที่บางทองดี บางส่วนได้มีการขุดคลองลัดตัดผ่านเพื่อให้สะดวกในการสัญจรไปมา ทําให้พื้นที่โดนแบ่งเป็นสองส่วน ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองกับบางทองดี และชาวบ้านเรียกพื้นที่ในบริเวณนั้นว่า “เกาะน้ำรอบ” ซึ่งในอดีตมีบ้านเรือนตั้งอยู่บนเกาะน้ำรอบประมาณ 5 ครัวเรือน แต่ปัจจุบันหมู่บ้านกลางเกาะไม่มีแล้วเนื่องจากพื้นที่กลายเป็นนากุ้ง บ้านเรือนจึงตั้งอยู่บริเวณริมชายฝั่งโดยรอบ ส่วนพื้นที่คลองเดิมยังคงมีอยู่แต่มีความตื้นเขินมากขึ้นเนื่องจากไม่ค่อยได้ใช้งาน ปัจจุบันสามารถสัญจรผ่านได้เฉพาะเรือขนาดเล็กเท่านั้น เพราะมีป่าจากและป่าชายเลนงอกใหม่ขึ้นแทนที่พื้นที่คลองเดิม (มนูญ คุ้มรักษ์ และคณะ, 2553: 11)
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ จด คลองท่าฉาง
- ทิศใต้ จด บ้านท่าเคย หมู่ที่ 2 ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง
- ทิศตะวันตก จด ทางรถไฟ
- ทิศตะวันออก จด ทะเลอ่าวบ้านดอน
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทิศใต้ของหมู่บ้านมีลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะการทํานาข้าว ส่วนทางทิศตะวันออกติดฝั่งอ่าวไทย มีลักษณะเป็นป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์
ความสัมพันธ์ของชาวบ้านท่าพิกุลเป็นไปแบบระบบเครือญาติ กล่าวคือ ชาวบ้านในหมู่บ้านทุกครัวเรือนจะอยู่อาศัยร่วมกันโดยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เปรียบเสมือนว่าเป็นเครือญาติ แม้ว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายโลหิต
อาชีพ
- อาชีพหลัก : ทำการประมงเช่น การเพาะเลี้ยงปลากระพงในกระชัง ออกรุนกุ้งเคย ฯลฯ และเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา และสวนปาล์มน้ำมัน
- อาชีพเสริม : ทำตาลโตนด ทำกะปิ เคย ค้าขาย แปรรูปอาหารทะเล และรับจ้างทั่วไป
กลุ่มชุมชน
- กลุ่มออมทรัพย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่บ้านสร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็ง และให้สมาชิกได้รับการศึกษาอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตรแบบยั่งยืนรวมไปถึงการเก็บออมเงินฝาก ปัจจุบันดําเนินงานในเรื่องของการฝากออมเงิน และจ่ายเงินกู้ให้แก่สมาชิกเพื่อนําไปประกอบอาชีพ
- กลุ่มเลี้ยงปลากะพง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงบ้านท่าพิกุล ปัจจุบันได้ดําเนินงานในเรื่องของการฝากออมทรัพย์รายเดือน และประชุมประจําเดือนทุกวันที่ 7 ของเดือน และมีการจัดหาพันธุ์ปลากะพงให้แก่สมาชิกในกลุ่ม นอกจากนี้กลุ่มยังได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551
วิถีชีวิต
ในอดีตวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท่าพิกุลไม่มีสิ่งอํานวยความสะดวก แต่ชีวิตก็ดําเนินต่อไปได้อย่างเรียบง่าย ส่วนใหญ่จะทํานาโดยใช้น้ำฝนตามฤดูกาลเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก การทําประมงก็เช่นเดียวกัน ไม่มีการแก่งแย่งทรัพยากรกัน เมื่อเหลือกินเหลือใช้จึงจะนําไปขายหรือแลกเปลี่ยนกัน ใช้น้ำมันก๊าซและขี้ไต้ในการให้แสงสว่าง ใช้ไม้ฟืนและถ่านในการหุงข้าว จนเมื่อความเจริญจากสังคมเมืองเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาภายในชุมชน วิถีชีวิตที่เคยเรียบง่ายเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านการคมนาคม รวมถึงเครื่องมือการประกอบอาชีพที่ทันสมัยขึ้น มีการรับรู้ข่าวสารจากภายนอก ทำให้ลักษณะการประกอบอาชีพและระบบเศรษฐกิจของชุมชนต้องผกผันก้าวเข้าสู่รับบทุนนิยม มีการแข่งขันและแย่งชิงทรัพยากรในการประกอบอาชีพ ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรบางอย่างเริ่มสูญหายไปจากพื้นที่ เนื่องจากการใช้ประโยชน์แบบสิ้นเปลือง เกิดมลพิษขึ้นกับแหล่งน้ำ น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ดังเดิม ชาวบ้านต้องขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อต่อน้ำจากใต้ดินมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสำหรับการเกษตร อนึ่ง พื้นที่นาจำนวนมากซึ่งเคยเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน ปัจจุบันได้ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสวนปาล์มน้ำมันทั้งที่ดินของชาวบ้านเอง และบางส่วนเป็นที่ดินของเหล่านายทุนที่มากว้านซื้อไปจากชาวบ้าน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนวิถีชีวิตที่เคยเรียบง่ายของชาวบ้านถูกเบียดบังให้สูญหายไปด้วยอำนาจของระบบทุนนิยม
ลักษณะบ้านเรือน
ในอดีตลักษณะบ้านของชาวท่าพิกุลมีลักษณะเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงเพื่อให้พ้นจากน้ำท่วม มุงหลังคาจาก กั้นด้วยไม้ไผ่สาน ปูพื้นด้วยไม้ไผ่ ส่วนบ้านที่มีฐานะจะทําด้วยไม้เคี่ยม มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว ส่วนใหญ่การสร้างบ้านเรือนจะตั้งติดกับริมคลองและริมถนน ปัจจุบันการคมนาคมสะดวกถนนเข้าไปถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านมีการมีถมดินสูงให้พ้นจากน้ำท่วมและสร้างบ้านชั้นเดียวแบบสมัยใหม่
ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี
- งานสวดกลางบ้าน (สวดแม่ยายเจ้า) : เป็นประเพณีประจำปีที่มีความสำคัญมากของทุกหมู่บ้านในตําบลท่าฉาง เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน บ้านท่าพิกุลจะมีการสวดทําบุญหมู่บ้านประมาณ 3-5 คืน โดยจะอัญเชิญแม่ย่าเจ้าไปทําพิธีซึ่งจะมีขบวนแห่และมีการรำหน้าขบวน เมื่อทําพิธีเสร็จก็จะแห่มาคืนที่ศาล หลังจากนั้นหมู่บ้านอื่นก็จะอัญเชิญไปยังหมู่บ้านของตน ชาวบ้านอําเภอท่าฉางมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของแม่ยายเจ้าในเรื่องการบนบานศาลกล่าวให้ช่วยเหลือคุ้มครองป้องกันอันตรายต่าง ๆ เมื่อได้ดังขอก็จะนําของมาแก้บน ด้วย หมู เห็ด เป็ด ไก่ หมาก พลู พวงมาลัยดอกไม้สด ปะทัดและทองคำเปลว หรือตามคำกล่าวที่เคยสัญญาไว้กับแม่ยายเจ้า
- ประเพณีสงกรานต์ : ชาวบ้านมีการจัดกิจกรรมวันกตัญญู รดน้ำดำผู้ใหญ่ และสรงน้ำพระพุทธรูปที่ วัด
- ประเพณีชักพระทอดผ้าป่าสามัคคี : ประเพณีของการทําเรือพระบกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
ทุนทางเศรษฐกิจ : กลุ่มออมทรัพย์บ้านท่าพิกุล
ทุนภูมิปัญญา : การสังเกตสภาพอากาศ
เนื่องจากชาวบ้านท่าพิกุลวิถีชีวิตสัมพันธ์อยู่กับทะเล ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านท่าพิกุลมีมีภูมิปัญญาในการสังเกตลักษณะภูมิอากาศทางทะเล ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพิจารณาเลือกออกเรือของชาวบ้าน ด้วยการสังเกตลักษณะท้องฟ้าและทิศทางลม ดังนี้
- ท้องฟ้า ถ้าฟ้าเปลี่ยนสีเป็นสีแดงในตอนเย็นชาวประมงจะไม่ออกทะเล เพราะจะเกิดลมพายุ
- ลม ถ้าลมเงียบผิดปกติใบไม้ไม่เคลื่อนไหว เป็นเหตุกำลังจะเกิดลมพายุ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ภาษาขียน : ภาษาไทย
ชาวบ้านท่าพิกุลมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกครัวเรือน มีสถานพยาบาลอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ส่วนผู้สูงอายุและเด็กพิการได้รับเบี้ยยังชีพจากองค์การบริหารส่วนตําบล และอยู่ในโครงการสวัสดิการผู้สูงอายุของ อสม. ที่โรงพยาบาลท่าฉาง
มนูญ คุ้มรักษ์ และคณะ. (2553). แนวทางการจัดการทะเลชุมชน เพื่อการทำประมงกุ้งเคย และสร้างอาชีพเสริมอย่างยั่งยืน ชุมชนบ้านท่าพิกุล ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
บ้านท่าพิกุล ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. (ม.ป.ป.). https://www.google.com/maps/place/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].