Advance search

บ้านเมืองเสือที่มาของชื่ออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เป็นชุมชนโบราณในยุคโลหะตอนปลายในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรและเริ่มใช้ลดลงหลังจากวัฒนธรรมลาวเข้ามาในพื้นที่ 

หมู่ที่2
เมืองเสือ
เมืองเสือ
พยัคฆภูมิพิสัย
มหาสารคาม
อบต.เมืองเสือ โทร. 0-4379-0799
วุฒิกร กะตะสีลา
17 ก.พ. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 เม.ย. 2023
บ้านเมืองเสือ

ชุมชนบ้านเมืองเสือที่มาของชื่อบ้านนามเมืองมีแนวคิดอยู่ 2 แนวคิดคือ  แนวคิดที่ เมืองเสือมาจากสภาพทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนในอดีตที่มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของเสือที่มีอย่างชุกชุมในพื้นที่เมื่อมีผู้คนมาตั้งบ้านจึงตั้งชื่อว่า บ้านเมืองเสือ  แนวคิดที่ 2  เมืองเสือมาจากการที่ชุมชนในอดีตมีโจรผู้ร้ายชุกชุมและดักปล้นผู้อื่นบริเวณนี้เป็นประจำเสือในที่นี้หมายถึงโจรผู้ร้าย ดังนั้นจึงตั้งชื่อว่าบ้านเมืองเสือ


ชุมชนชนบท

บ้านเมืองเสือที่มาของชื่ออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เป็นชุมชนโบราณในยุคโลหะตอนปลายในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรและเริ่มใช้ลดลงหลังจากวัฒนธรรมลาวเข้ามาในพื้นที่ 

เมืองเสือ
หมู่ที่2
เมืองเสือ
พยัคฆภูมิพิสัย
มหาสารคาม
44110
15.45635851
103.2250164
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเสือ

ชุมชนบ้านเมืองเสือเป็นชุมชนที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยโบราณในยุคโลหะตอนปลาย นักวิชาการเรียกวัฒนธรรมโบราณนี้ว่า วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ ประมาณ4,000-1,500ปีมาแล้ว พื้นที่บ้านเมืองเสือปรากฏร่องรอยคูน้ำคันดินล้อมรอบหมู่บ้าน พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่น เครื่องปั้นดินเผา หินดุ เครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ พื้นที่ของชุมชนบ้านเมืองเสือมีลักษณะเป็นเนินดิน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาเขมรและดำรงชีวิตสัมพันธ์กับธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ เช่นคูน้ำรอบชุมชนเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการอุปโภคบริโภครวมถึงการทำการเกษตร ลำพลับพลาที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญใกล้ชุมชน

ปีพ.ศ. 2436-2503 กลุ่มคนลาวเข้ามาอาศัยในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเมืองพยัคฆภูมิพิสัยต้องมาตั้งเมือง ณ บริเวณชุมชนบ้านเมืองเสือ เนื่องจากในใบบอกขอตั้งเมืองนั้นพระสุวรรณวงศา ได้ขอตั้งบ้านเมืองเสือขึ้นเป็นเมืองพยัคฆภูมิพิสัย เมื่อตั้งเมืองพระสุวรรณวงศากลับเลือกพื้นที่บ้านนาข่าซึ่งเป็นพื้นที่ในปกครองของเมืองวาปีปทุม เมื่อเกิดข้อพิพาทเรื่องพื้นที่พระสุวรรณวงศาจึงได้ย้ายผู้คนจากบ้านนาข่ามาตั้งเมืองตามใบบอกที่ส่งไปกรุงเทพฯ แต่แล้วขบวนที่อพยพไม่ได้ใช้บ้านเมืองเสือในการตั้งชุมชนแต่เลือกพื้นที่บ้านปะหลานซึ่งเป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้เช่นเดียวกับบ้านเมืองเสือ กลุ่มคนลาวของพระสุวรรณวงศาจึงตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยขึ้น โดยบ้านเมืองเสืออยู่ในการปกครองของเมืองพยัคฆภูมิพิสัยเช่นกัน กลุ่มคนลาวที่อพยพมาพร้อมกับเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยมีการเข้ามาจับจองพื้นที่ในบ้านเมืองเสือแต่ในระยะเวลาดังกล่าวกลุ่มคนในบ้านเมืองเสือยังไม่ยอมให้กลุ่มคนลาวที่เข้ามาใหม่นี้เข้ามาอาศัยในพื้นที่ กลุ่มคนลาวจึงเลือกพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านเมืองเสือโดยมีการให้ชื่อเรียกว่าบ้านบุ่งลาวหรือบุลาว(ปัจจุบันบ้านบุลาวเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านบุลานซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามที่ตั้งบ้านเมืองเสือ) เห็นได้ว่าชุมชนบ้านเมืองเสือในช่วงหลังปีพ.ศ.2436 ได้รับอิทธิพลทั้งการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมจากกลุ่มคนลาวที่อพยพมาพร้อมกับเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัย หากแต่กลุ่มคนในบ้านเมืองเสือยังคงรักษาขนบธรรมเนียมของกลุ่มวัฒนธรรมเขมรไว้ได้อย่างเหนียวแน่นอีกทั้งยังไม่ยอมรับกลุ่มคนลาวที่เข้ามาใหม่ในพื้นที่อีกด้วย

ปีพ.ศ. 2504-2517 เมื่อกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาวที่เข้ามาใหม่ในพื้นที่เริ่มมีอิทธิพลและเป็นที่ยอมรับจากคนในชุมชนบ้านเมืองเสือ กล่าวคือกลุ่มคนลาวเริ่มมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชนบ้านเมืองเสือเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านการติดต่อค้าขาย เริ่มมีการซื้อที่ดินหรือนำสิ่งของมาแลกกับที่ดิน เช่น ปืน ขี้ใต้ขี้กะบอง ข้าวและสิ่งของต่างๆ มีการแต่งงานระหว่างคนเขมรในพื้นที่บ้านเมืองเสือกับกลุ่มคนลาวอีกด้วย รวมทั้งการผูกเสี่ยวระหว่างกลุ่มคนลาวและชาวบ้านในชุมชนบ้านเมืองเสือ จนกระทั่งอิทธิพลของลาวเริ่มแผ่ขยายในชุมชนจนคนในชุมชนเริ่มใช้ภาษาลาวในการสื่อสาร

ปีพ.ศ. 2518-2539 เมื่อมีนโยบายของรัฐไทยในช่วงพ.ศ. 2518 ในสมัยของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการพัฒนาชนบทในด้านสาธารณูปโภคและการคมนาคม ชาวบ้านเรียกนโยบายดังกล่าวว่านโยบายเงินผัน ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ชุมชนบ้านเมืองเสือเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต มีการตัดถนนในชุมชนซึ่งแต่เดิมคนในชุมชนเล่าว่าถนนในหมู่บ้านเป็นทางโสก(ร่องน้ำ) ใช้สันจรกันโดยเป็นทางเกวียนกระทั่งในช่วงพ.ศ.2518 เริ่มมีการขุดถนนในหมู่บ้านลอกคูคลองในหมู่บ้านทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชุมชนจากที่เคยเป็นเนินสูงก็ถูกขุดให้ต่ำลง มีถนนหนทางในชุมชนที่เชื่อมถึงกันได้ ขุดลอกคลองและถมคลองน้ำรอบหมู่บ้านบางส่วนทำให้พื้นที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับช่วงทุ่งกุลาแตกที่พื้นที่ในทุ่งกุลาทั้งหมดเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งการปรับปรุงพื้นที่ทำนาที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตข้าวและส่งออก การขุดลอกคูคลองทั่วทั้งพื้นที่ทุ่งกุลาให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อการเกษตร ส่งผลให้พื้นที่ทั่วทั้งทุ่งกุลาร้องไห้เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาตั้งแต่พ.ศ.2518 เป็นต้นมาชุมชนบ้านเมืองเสือได้รับการพัฒนาจากนโยบายของรัฐที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัยและส่งผลให้ชุมชนบ้านเมืองเสือเปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน

ปีพ.ศ. 2540-2560 เป็นช่วงเวลาในการสร้างตัวตนของผู้คนในพื้นที่ชุมชนบ้านเมืองเสือ กล่าวคือคนในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดบุญประเพณีใหญ่ของชุมชนคือ บวงสรวงปู่อุดมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน แต่เดิมนั้นปู่อุดมมีความสำคัญในฐานะผีปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษของคนในชุมชนบ้านเมืองเสือ ในปีพ.ศ.2540 ได้จัดงานบุญให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างรูปเคารพของเจ้าปู่รวมทั้งการสังสรรค์รื่นเริงในงานบุญ นอกจากงานบุญบวงสรวงเจ้าปู่อุดมที่เป็นประเพณีใหญ่ของชุมชนแล้วยังมีประเพณีแซนโฏนตาที่จัดขึ้นในทุกๆปีและจัดงานไหว้เจ้าพ่อศรีนครเตาซึ่งเป็นผีใหญ่ของคนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อีกด้วย

พื้นที่ของชุมชนบ้านเมืองเสือเป็นชุมชนโบราณมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น พื้นที่รอบบริเวณชุมชนเป็นพื้นที่ราบ ติดกับเขตชุมชนฝั่งทางทิศใต้คือลำพลับพลาลำน้ำสำคัญของชุมชน ด้านทิศตะวันตกของชุมชนติดกับบ้านบุลาน

ผู้คนในพื้นที่ชุมชนบ้านเมืองเสือเป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมเขมรใช้ภาษาเขมรกันเป็นส่วนใหญ่จนกระทั่งกลุ่มคนลาวเข้ามาในพื้นที่ในช่วง หลังพ.ศ. 2436 อิทธิพลของวัฒนธรรมลาวภาษาลาวจึงเพิ่มขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • เดือนพฤษภาคม  ชุมชนจัดงานประเพณีบวงสรวงเจ้าปู่อุดมซึ่งเป็นงานใหญ่ของชุมชน

  • เดือนตุลาคม  ประเพณีแซนโฏนตาของชุมชนจะมีผู้คนกลับมาไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวเขมร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • ชุมชนโบราณในสมัยยุคโลหะตอนปลายที่ปรากฏหลักฐานเป็นคูน้ำคันดินและโบราณวัตถุต่างๆทั้งภาชนะดินเผา หินดุและเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ
  • ผ้าไหม การทอผ้าไหมเป็นจุดเด่นของคนในวัฒนธรรมเขมรที่มีลวดลายที่สวยงาม
  • ลำพลับพลา ชุมชนบ้านเมืองเสืออยู่ใกล้กับลำพลับพลาซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้สมารถใช้ในการเกษตรรวมทั้งมีปลาในแหล่งน้ำค่อนข้างมาก

ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและมีภาษาเขมรและภาษาลาวอีสานเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร


ด้านภาษาและวัฒนธรรม จากการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในช่วงหลังพ.ศ.2504 ผู้คนในชุมชนบ้านเมืองเสือที่เป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมเขมรที่ใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารเริ่มได้รับอิทธิพลของภาษาในวัฒนธรรมลาวที่ไหลบ่าเข้ามาพร้อมกับผู้คนที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ทำให้ภาษาเขมรเริ่มไม่มีผู้ใช้สื่อกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

-Google maps.(2566).พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านเมืองเสือ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566.

เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps

-รูปปั้นเสือสัญลักษณ์ของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย.(2562).รูปปั้นเสือสัญลักษณ์ของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566.

เข้าถึงได้จาก:https://web.facebook.com/photo?fbid=113643640548647&set=pcb.113644960548515

อบต.เมืองเสือ โทร. 0-4379-0799