Advance search

หาดทรายแก้ว

หาดทรายแก้ว ชุมชนชาวประมงริมอ่าวท่าชนะ พื้นที่ที่ยังคงรักษารูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมไว้ได้ ภายใต้พลวัตความเปลี่ยนแปลงและอิทธิพลทางวัฒนธรรมสมัยนิยมที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนในชุมชน

หาดทรายแก้ว
ตะกรบ
ไชยา
สุราษฎร์ธานี
อบต.ตะกรบ โทร. 0-7765-0023-4
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
หาดทรายแก้ว
หาดทรายแก้ว

เดิมชื่อบางผักหราด แต่เนื่องจากหาดทรายบริเวณนี้มีความขาวสะอาด นายวินัย มณีโชติ นายอำเภอเมืองไชยา จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกจากบางผักหราด เป็นหาดทรายแก้ว


ชุมชนชนบท

หาดทรายแก้ว ชุมชนชาวประมงริมอ่าวท่าชนะ พื้นที่ที่ยังคงรักษารูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมไว้ได้ ภายใต้พลวัตความเปลี่ยนแปลงและอิทธิพลทางวัฒนธรรมสมัยนิยมที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนในชุมชน

หาดทรายแก้ว
ตะกรบ
ไชยา
สุราษฎร์ธานี
84110
9.462398
99.253052
องค์การบริหารส่วนตำบลตะกรบ

ชุมชนหาดทรายแก้วตั้งอยู่ในตำบลตะกรบ ริมชายทะเลบริเวณอ่าวท่าชนะ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนหาดทรายแก้วครอบคลุมพื้นที่ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 2 บ้านตะกรบ และหมู่ 5 บ้านบ่อคา ตำบลตะกรบ ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกัน

บ้านตะกรบ เดิมมีชื่อเรียกว่า บ้านดอนขรบ คําว่า ขรบ หมายถึง ต้นไม้ ชนิดหนึ่งซึ่งมีหนามทั้งต้น ผลกินได้ หรือเรียกอีกชื่อคือ ต้นตะขรบ บริเวณพื้นที่นี้ส่วนใหญ่มีต้นไม้ชนิดนี้ชุกชุม จึงเรียกบริเวณนี้ว่า ดอนขรบ และได้ถูกเปลี่ยนเป็นบ้านดอนตะขบและต่อมาก็เพี้ยนไปเป็น บ้านตะกรบ จนถึงทุกปัจจุบัน

บ้านบ่อคา มีเรื่องเล่าว่า มีชายคนหนึ่งสร้างบ่อน้ำที่สวยงามมาก แต่ระหว่างที่สร้างยังไม่เสร็จ ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เนื่องจากชายคนนี้มีลูกสาวสองคน และลูกสาวทั้งสองคนเกิดไปรักผู้ชายคนเดียวกัน ในวันหนึ่งลูกสาวทั้งสองไปอาบน้ำบ่อน้ำที่พ่อได้สร้างไว้แต่ยังไม่เสร็จ ขณะที่อาบน้ำยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อยก็ได้ทราบว่าชายคนรักมาเยี่ยมที่บ้าน ทําให้ลูกสาวคนน้องได้ยินก็เลยรีบร้อนอาบน้ำ ทําให้พลาดพลัดตกลงไปในบ่อน้ำ ฝ่ายพี่สาวเมื่อเห็นเหตุการณ์ก็ตกใจ จึงกระโดดลงไปช่วยน้องสาว เลยทําให้ต้องจมน้ำตายทั้งคู่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทําให้ผู้เป็นพ่อเสียใจมาก จนไม่สามารถสร้างบ่อน้ำนี้ต่อให้เสร็จได้ จึงปล่อยทิ้งไว้ ทําให้คนเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า บ่อคา มาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านหาดทรายแก้ว เป็นชุมชนที่ครอบคลุมพื้นที่บ้านตะกรบและบ้านบ่อคา ซึ่งเดิมมีชื่อเรียกว่า บ้านบางผักคราด เพราะมีผักบุ้งทะเลมาก แต่ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2513 ถึงปี พ.ศ. 2515 นายวินัย มณีโชติ ซึ่งเป็นนายอําเภอไชยา ได้เดินทางมาพักผ่อนที่ชายหาดบริเวณนี้ และพบเห็นว่าเป็นหาดทรายที่สวยงามมาก เนื่องจากโดนมรสุมน้ำทะเลซัด ทําให้ทรายขาวสะอาด จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกจากบางผักคราดเป็น หาดทรายแก้ว จนถึงปัจจุบันนี้

ชุมชนหาดทรายแก้วมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบริมชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวท่าชนะ มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและนกน้ำจำนวนมาก พืชพรรณที่พบมากในป่าชายเลนบริเวณหาดทรายแก้ว ได้แก่ ไม้โกงกาง ไม้ตะบูน ไม้ถั่ว และไม้ตาตุ่ม สภาพภูมิอากาศเป็นเขตร้อนชื้น ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกฉียงเหนือพัดผ่าน และมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี 

ชุมชนหาดทรายแก้วมีจำนวนประชากรรวมจากทั้งหมู่บ้านตะกรบและบ้านบ่อคา มีจำนวนทั้งสิ้น 1,999 คน โดยแยกเป็นประชากรจากบ้านตะกรบ 951 คน และประชากรบ้านบ่อคา จำนวน 1,048 คน 

การประกอบอาชีพ

ประชากรในชุมชนหาดทรายแก้วประมาณร้อยละ 30 มีอาชีพทำประมงชายฝั่งขนาดเล็ก และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนประชากรอีกที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 70 ทําการเพาะปลูกเป็นหลัก และจะเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม  นอกจากนี้ยังมีการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น การนำเปลือกหอยมาแปรรูปเป็นโมบายประดับตกแต่ง เพื่อนำออกไปวางจำหน่ายแก่กลุ่มนักท่องเที่ยว 

พืชที่เพาะปลูก ได้แก่ ข้าว มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ แตงโม ปาล์มน้ำมัน

การเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โค กระบือ สุกร เป็ด และไก่

งานหัตถกรรมในครัวเรือนเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้อีกทางหนึ่ง ได้แก่ การทําเครื่องจักสาน ทอผ้า ทําพวงหรีด ดอกไม้จัน ทําผ้าบาติก การทําน้ำปลา และยาหนม

การออกอวนลอยปู อวนปูในชุมชนหาดทรายแก้วมีลักษณะแบบอวนเดินลอย ที่ชาวบ้านออกจะเป็นอวน 30 ตา เพื่อจับปูม้า และกั้งตั๊กแตน (ราคาขายกิโลกรัมละประมาณ 600 บาท )

การออกอวนปลา ส่วนใหญ่จะทำในช่วงน้ำตาย ปลาที่ได้จากการออกอวนส่วนใหญ่จะเป็นปลาจำพวกปลาทู ปลาตะเพียนน้ำเค็ม ปลาจวด ปลาอินทรีย์ ปลากุเหรา ปลายทราย ปลาโคบ และปลาหนมโกรย

กลุ่มชุมชน

  • กลุ่มน้ำปลา : ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านตะกรบ โดยกลุ่มจะดำเนินการซื้อปลาไส้ตัน จากชาวประมงในพื้นที่ไปผลิตเป็นน้ำปลา โดยจะมีการส่งขายตามร้านทั่วไป โดยมีชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “น้ำปลาบ้านตะกรบ”

  • กลุ่มเห็ดฟาง : ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่บ้านตะกรบ มีกิจกรรมที่ได้ดําเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือ การปล่อยกู้เงินแก่สมาชิก และเพาะเห็ดฟางในโรงเพาะเห็ดของสมาชิกแต่ละคน โดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อตามบ้านของสมาชิก

  • กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ : มีการดำเนินกิจกรรมทำธนาคารปูม้าปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยรับบริจาคแม่พันธุ์ปูไข่ฝานอกกระดองให้ละลายไข่ แล้วนําแม่ปูไปขายเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก เช่น การนําเงินกองทุนมาสร้าง ห้องน้ำสาธารณะ

  • กลุ่มเกษตรกร : ปล่อยกู้เงินแก่สมาชิกเพื่อเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพภาคเกษตรกรรมแก่สมาชิก เช่น เลี้ยงปลาดุก ปลูกผัก

  • กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน : ถือเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำคัญของสมาชิกในชุมชนหาดทรายแก้ว โดยมีวงเงินหมุนเวียนสำหรับปล่อยกู้ถึง 62 ล้านบาท

ชุมชนหาดทรายแก้วมีประเพณีประจำปีที่สำคัญ คือ ประเพณีทําบุญลอยแพประจําปี (การทําบุญสวดหาด) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เชื่อว่าเป็นประเพณีแห่งสะเดาะเคราะห์ และขอขมาที่ได้ทําล่วงเกินแก่แม่น้ำและทะเล เพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ โดยก่อนวันทําพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันทําแพจากหยวกกล้วย แผ่นโฟม หรือไม้ แต่ความสะดวก พร้อมด้วยการปั้นหุ่นดินเหนียวรูปเคารพพ่อตาขุนทะเล และมีการจัดตกแต่งแพด้วยดอกไม้ธูปเทียน ชุดบูชาสะเดาะเคราะห์ และตัดผม เล็บ พร้อมทั้งเงินทองใส่ลงบนแพให้ลอยไปกับน้ำ

1. นายชาญ ศรีสุวรรณ  เป็นหมอสมุนไพรผู้ได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้าน มีความสามารถในการรักษาแผลเน่าเปื่อย โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเลือด และโรคไต โดยวิธีการรักษาแผลเน่าเปื่อยของนายชาญ คือ การแทงรวด สร้างหุ่นแทนตัวผู้ป่วยด้วยใบน้ำข้าว (พืชยืนต้นชนิดหนึ่ง) จากนั้นใช้ไม้ไผ่ปลายแหลมแทงลงไปในหุ่นบริเวณที่ผู้ป่วยเป็นแผล แล้วนำสมุนไพรทาลงบนบาดแผล ลักษณะบ่งบอกว่าแผลจะหายหรือไม่หายสังเกตได้จาก ถ้าทายาลงไปที่แผลแล้วรู้สึกว่าปวดแสบปวดร้อนแสดงว่าจะไม่หาย แต่ถ้าทายาแล้วรู้สึกว่าเย็นบริเวณแผล จะสามารถรับประกันได้ว่าแผลนั้นหายเป็นปกติ หลังจากนั้นจะต้มยาสมุนไพรให้ผู้ป่วยไปกินที่บ้าน 1 หม้อ เรียกว่า “ยาตัดรากถอนโคน” เพื่อให้โรคหายขาด นอกจากนี้ทุกวันพฤหัสที่ 1 เดือน 4 ของทุกปี จะมีการทำพิธีไว้ครู ซึ่งผู้ที่เคยมารับการรักษาจนหายจากอาการเจ็บป่วยจะต้องมาเข้าร่วมพิธีด้วย เรียกว่า พิธีตักรากถอนโคน เพราะเชื่อว่าหากไม่มาร่วมพิธีตัดรากถอนโคน อาการของโรคจะกลับมาอีก 

ทุนทางภูมิปัญญา : ภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยสมุนไพร และการรักษาแผลเน่าเปื่อยด้วยวิธีการแทงรวด 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ชุมชนหาดทรายแก้วมีสถานศึกษาในพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 2 แห่ง โดยเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะระดับประถมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนตะกรบ ตั้งอยู่ที่บ้านตะกรบ และโรงเรียนวัดวิชิตธาราม บ้านบ่อคา 


ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติบริเวณริมหาดทรายแก้ว

ปัจจุบันชุมชนหาดทรายแก้วกำลังประสบปัญหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม โดยเฉพาะบริเวณริมหาดทรายแก้ว เนื่องจากการทําผิดกฎหมายด้านการประมง มีการลากหอย ซึ่งทําให้ระบบนิเวศน์ของดินเสียสมดุล ซึ่งส่งผลกระทบให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำหน้าดิน

นอกจากนี้ ลอบปูม้า (ไซพับ) ก็เป็นปัญหาที่สําคัญของชุมชนหาดทรายแก้ว เพราะส่วนใหญ่ปูม้าที่ติดไปกับลอบคือปูม้าขนาดเล็ก ทำให้ปูม้าเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้เจริญเติบโตเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ ขณะเดียวกันกลับยิ่งทำให้จำนวนปูม้าลดน้อยลง โดยลอบพับส่วนใหญ่จะเป็นของชาวประมงที่มาจากพื้นที่อื่น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วานิตย์ สุขอุบล และคณะ. (2553). แนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืนของชุมชนหาดทรายแก้ว ตำบลตะกรบ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

หาดทรายแก้ว ไชยา. (2563). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566].

องค์การบริหารส่วนตำบลตะกรบ. (2553). [ออนไลน์]. ได้จาก: http://takrob.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566].

อบต.ตะกรบ โทร. 0-7765-0023-4