
เจ้าพ่อศรีนคร เตาศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนในทุ่งกุลาร้องไห้ ชุมชนโบราณยุคโลหะตอนปลายแหล่งผลิตเหล็กโบราณในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้
ชุมชนบ้านเมืองเตาเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำเตาอีกทั้งยังมีผีของชุมชนที่เป็นตำนานเกี่ยวกับเจ้าพ่อศรีนครเตาและมีหลักฐานเกี่ยวกับเตาหลอมเหล็กหรืออุตสาหกรรมเหล็กในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีขี้เหล็กกระจัดกระจาย(ตะกรันเหล็ก)เรียกว่าหนองเตาเหล็ก
เจ้าพ่อศรีนคร เตาศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนในทุ่งกุลาร้องไห้ ชุมชนโบราณยุคโลหะตอนปลายแหล่งผลิตเหล็กโบราณในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้
ชุมชนบ้านเมืองเตาตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่คือ หมู่ที่1 หมู่ที่11 หมู่ที่12 บ้านเมืองเตาห่างจากอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยประมาณ 20 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 15,940 ไร่
บ้านเมืองเตาเป็นชุมชนที่มีอายุเก่าแก่มีการบอกเล่าเรื่องราวตำนานและประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านสืบต่อกันมาความว่า บ้านเมืองเตาตั้งก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก 8 ปี คือพ.ศ.2302 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นพวกส่วยมาจากเมืองอัตปือแสนปาง ในครั้งนั้นมีผู้อพยพมา 5 คน คือ ขุนปูม ขุนมะ ขุนกะจะ เชียงศรี เชียงขันธ์ แต่ละคนแยกย้ายไปตั้งบ้านเมืองตามหัวเมืองต่างๆ เช่น ขุนปูมตั้งเมืองแสงสงฆ์ปัจจุบันคือเมืองพุทไธสง ขุนมะตั้งเมืองแปะปัจจุบันคือเมืองบุรีรัมย์ ขุนกะจะตั้งเมืองปะทายปัจจุบันคือเมืองสุรินทร์ เชียงศรีตั้งเมืองเตา และเชียงขันธ์ตั้งเมืองคูขันธ์ปัจจุบันคืออำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีษะเกษ บ้านเมืองเตาก่อนเชียงศรีเข้ามาตั้งถิ่นฐานเดิมชื่อว่าบ้านกุดหวายซึ่งเป็นภาษาเขมร กุดแปลว่าหนองน้ำและหวายแปลว่ามะม่วง เชื่อกันว่าพื้นที่บ้านเมืองเตาเป็นที่อยู่ของกลุ่มคนในวัฒนธรรมเขมร ต่อมากลายเป็นเมืองร้าง เชียงศรีได้เข้ามาตั้งบ้านได้ทำการขุดคลองและสระน้ำรอบบ้านเพื่อป้องกันข้าศึกและเป็นแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ในกาลต่อมามีช้างเผือกของพระเจ้าเอกทัศตกมันมาจากอยุธยาเข้ามากินพืชผักของเชียงศรีที่ปลูกไว้ เสนาอำมาตย์เดินทางตามช้างเผือกจากอยุธยาจึงได้หยุดถามเชียงศรีจึงได้บอกพวกอำมาตย์และติดตามไปกับคณะด้วย พอถึงบริเวณห้วยทับทันเชียงศรีจึงจับช้างได้และเหล่าคณะจึงเดินทางกลับมาที่บ้านของเชียงศรีจึงได้ขอให้เชียงศรีเดินทางไปส่งช้างด้วย เชียงศรีได้นำสิ่งของไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน มี ตะกุบตะกับ2(เต่า) ละลองละแอง4(กวาง) ละวีละวอนบั้ง5(น้ำผึ้ง) โค้ง3หวายกระบอง3ลืม(ไต้) และได้ผูกเสี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินได้แต่งตั้งให้เชียงศรีเป็นพระศรีนครเตาปกครองบ้านเมืองเตา ตลอดจนหัวเมืองน้อยใหญ่บริเวณใกล้เคียง เชียงศรีได้กลับอยู่ที่ดงแสนตอปลูกพริกและมะเขือ และตีดาบ โดยใช้เหล็ก60 เล่มเกวียนได้ดาบ1 เล่ม โดยตีดาบที่เตาเหล็กบ้านเมืองเตา และได้นำดาบไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเพื่อใช้ในการรบ พระเจ้าแผ่นดินเห็นดาบแล้วไม่พอใจจึงโยนดาบลงในสระบัวเกิดเหตุอัศจรรย์มีดอกบัวลอยขาดนับพันดอก มีปลาลอยตายขึ้นมาจากสระทหารที่ลงไปงมดาบได้รับบาดเจ็บจนเสียชีวิต จากนั้นพระศรีนครเตาได้ปกครองบ้านเมืองเรื่อยมา บั้นปลายชีวิตได้ถูกสั่งประหารชีวิตเนื่องจากมีพระราชสาร์นจากพระเจ้าแผ่นดินถึงเจ้าเมืองอุบลแต่ภรรยาของพระศรีนครเตาเปิดตราครั่งออกดู เมื่อไปถึงเจ้าเมืองอุบลไม่ยอมรับ ความถึงพระเจ้าแผ่นดินจึงมีรับสั่งให้ลงโทษประหารพระศรีนครเตา พระศรีนครเตาทราบข่าวจึงหนีไปซ่อนตัวอยู่บ้านไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และถูกตามจับตัวจึงถูกประหารโดยใช้แผ่กระดาษขนาบคอและใช้ดาบตัดศีรษะพระศรีนครเตาจึงสิ้นใจตายที่นั่น การตายของพระศรีนครเตาทำให้ประชาชนที่เคารพนับถือเสียใจมาก จึงได้สร้างศาลไว้เป็นที่ระลึก พระศรีนครเตาได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองเตาและพื้นที่ใกล้เคียง
จากตำนานเรื่องเชียงศรีเป็นเรื่องราวการตั้งชุมชนและความศักดิ์สิทธิ์ของพระศรีนครเตาซึ่งอธิบายพื้นที่และหลักฐานโบราณคดีที่ปรากฏในพื้นที่ชุมชน เช่น คูเมืองโบราณ แหล่งผลิตโลหะ อุโบสถร้าง รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นรอบข้าง ทั้งบ้านไพรขลา บ้านสตึก(อำเภอสตึก) เมืองพุทไธสง เมืองสุรินทร์ เมืองขุขันธ์รวมถึงกรุงศรีอยุธยาที่เป็นราชธานีอีกด้วย
บ้านเมืองเตาห่างจากอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยประมาณ 20 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 15,940 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับบริเวณพื้นที่ในเขตจังหวัดต่างๆได้แก่
- ทิศเหนือ ติดกับเขตอำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ทิศตะวันออกติดกับเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
- ทิศตะวันตก ติดกับตำบลราษฎร์เจริญ จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศใต้ ติดกับเขตอำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์
พื้นที่ตั้งบ้านเมืองเตาเป็นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณสุดเขตด้านทิศตะวันออกของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เป็นพื้นที่ราบชายทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่มีภูเขา ทั่วไปเป็นพื้นที่ทุ่งนาสลับป่าโปร่งและป่าละเมาะ พื้นที่เป็นดินปนทราย หน้าแล้งแล้งจัดเพาะปลูกไม่ได้ หน้าน้ำน้ำท่วมเออทั่วทั้งทุ่ง ลักษณะพื้นที่บริเวณหมู่บ้านปรากฏสระน้ำอยู่รอบชุมชนเป็นสระน้ำสมัยโบราณซึ่งมีผู้คนใช้พื้นที่ในการตั้งชุมชนมาแล้วในช่วงยุคโลหะตอนปลายในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ มีลำน้ำเตาไหลผ่านซึ่งห่างจากชุมชนประมาณ 2 กิโลเมตร
การตั้งถิ่นฐานและการแต่งงานของชาวบ้านเมืองเตาส่วนใหญ่เป็นการตั้งถิ่นฐานทางฝ่ายแม่ บุตรธิดาจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญาติฝ่ายแม่มากกว่าญาติฝ่ายพ่อ นามสกุลที่เก่าแก่และใช้แพร่หลายในหมู่บ้านได้แก่ ไชยสงคราม บุราณรมณ์ แก้วประเสริฐ อาษากิจ ประทุมทอง พลอามาตย์ และพงษ์หนองพอก
ชุมชนบ้านเมืองเตามีวิถีชีวิตเหมือนชุมชนอีสานทั่วไปโดยมีงานบุญประเพณีตามฮีต12 เดือน และมีการดำรงชีวิตตามฤดูกาล การลงหน้านาจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนธันวาคม แต่ปัจจุบันผู้คนในชุมชนเป็นแรงงานในกรุงเทพฯและส่งเงินกลับไปบ้าน ชุมชนบ้านเมืองเตามีการจัดงานเลี้ยงเจ้าพ่อศรีนครเตาทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ในเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับเดือน 3 จะมีการเลี้ยงเจ้าปู่เมื่อเสร็จจากการเก็บเกี่ยว เลี้ยงเดือนมีนาคมตรงกับเดือน4 จะมีการเลี้ยงเจ้าปู่ครั้งใหญ่คืองานเฉลิมฉลองเจ้าพ่อศรีนครเตาและเลี้ยงเดือนพฤษภาคมตรงกับเดือน6 จะมีการเลี้ยงก่อนลงทำนา
- ชุมชนโบราณยุคโลหะตอนปลายในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ คูน้ำคันดินรอบชุมชน
- โบราณวัตถุเช่น ภาชนะดินเผา ตะกรันเหล็ก
- ศาลเจ้าพ่อศรีนครเตา
ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานในการสื่อสารและมีกลุ่มคนเขมรและส่วยอาศัยในชุมชนจึงมีการใช้ภาษาเขมรและส่วยร่วมอยู่ด้วย
ด้านความเชื่อเรื่องเจ้าพ่อศรีนครเตางานวิจัยของนราวิทย์ ดาวเรือง (2564) อธิบายการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าพ่อศรีนครเตาจากผีของชุมชนสู่การเป็นผีใหญ่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2500 เจ้าพ่อศรีนครเตามีฐานะเป็นผีบรรพบุรุษหรือปู่ตาของคนในชุมชนบ้านเมืองเตาจนกระทั่ง ช่วงหลังทศวรรษ 2500 ความเชื่อเรื่องผีจึงถูกเปลี่ยนแปลงเนื่องจากนโยบายการจัดการพื้นที่ของรัฐเข้ามาในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและการพัฒนาในช่วงพ.ศ. 2518 หรือช่วงทุ่งกุลาแตก ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรในพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและการเกษตรเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผีต่างๆลดบทบาทลง อีกทั้งภายใต้เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงความมั่นคงของการดำรงชีวิตของผู้คน ในช่วงพ.ศ. 2540 เกิดโครงการวิจัยชุดโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้ ได้ศึกษาเรื่องตำนานเจ้าพ่อศรีนครเตา ส่งผลให้ความเชื่อเรื่องเจ้าพ่อศรีนครเตากลายเป็นผีใหญ่ของผู้คนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยชุมชนบ้านเมืองเตาเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ความเชื่อ มีงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ในทุกปี เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในท้องถิ่นผ่านความเชื่อเจ้าพ่อศรีนครเตาจนถึงปัจจุบัน
นราวิทย์ ดาวเรือง.เจ้าพ่อศรีนครเตา: “ผีใหญ่”ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ-สังคมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ตั้งแต่หลังทศวรรษ2500-2560.วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2564
อมาวสี เถียรถาวร.เจ้าพ่อศรีนครเตา:บทบาทและความสำคัญของการถือผีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรณีศึกษา บ้านเมืองเตา ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร,2532
Earth google. (2566). ภาพถ่ายทางอากาศชุมชนบ้านเมืองเตาพิกัดชุมชนบ้านท่เมืองเตา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก: https://earth.google.com