สภาพพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายภูเขาไฟระเบิด มีธารน้ำร้อนเป็นบริเวณหลายสิบไร่ และมีบ่อน้ำร้อนที่สามารถใช้อาบเพื่อรักษาโรคได้ ทำให้บ้านธารน้ำร้อนมีบทบาทเป็นทั้งชุมชนประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งศึกษาทางธรณีวิทยา
คาดว่ามาจากการที่บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีธารน้ำร้อนธรรมชาติอยู่ในพื้นทื่ เมื่อมีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “ธารน้ำร้อน” ตามสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ก่อน
สภาพพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายภูเขาไฟระเบิด มีธารน้ำร้อนเป็นบริเวณหลายสิบไร่ และมีบ่อน้ำร้อนที่สามารถใช้อาบเพื่อรักษาโรคได้ ทำให้บ้านธารน้ำร้อนมีบทบาทเป็นทั้งชุมชนประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งศึกษาทางธรณีวิทยา
จากการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนบ้านธารน้ำร้อน คาดว่า ชุมชนแห่งนี้น่าจะมีการก่อตั้งเป็นชุมชนครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2260 หรือประมาณ 300 ปีมาแล้ว ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบที่ไม่มีประชากรอยู่อาศัย จนกระทั่งนายเจียม ยังเตง พ่อค้าที่เดินเรือมาจอดเทียบท่า เห็นว่าสภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์จึงได้เข้ามาจับจองพื้นที่เป็นเจ้าของ
ขณะเดียวกันยังมีประวัติศาสตร์อีกสำนวนหนึ่งที่ลำดับว่าบ้านธารน้ำร้อนได้มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนราษฎร์ตำบลเขาถ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 ซึ่งขณะนั้นบ้านธารน้ำร้อนยังนับว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดาร การคมนาคมจากหมู่บ้านไปยังอำเภอไชยาหรือต่างจังหวัดยังต้องอาศัยการเดินเท้า เรือ และรถไฟ เนื่องจากยังไม่มีถนนหนทางตัดผ่าน หรือยานพาหนะดังเช่นรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ที่จะสัญจรได้ ต่อมาปี พ.ศ. 2508 ถึงปัจจุบัน ชุมชนบ้านธารน้ำร้อนมีความเจริญและมีการพัฒนาตามลําดับ ชาวบ้านบางส่วนโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านอื่น และเริ่มมีชาวบ้านต่างถิ่นอพยพมาอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านธารน้ำร้อน ในปี พ.ศ. 2518 ท่านพระครูปลัดแพร้ว ได้เข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน จัดสร้างสำนักสงฆ์ธารน้ำร้อนขึ้น และมีสถานศึกษาโรงเรียนวัดธารน้ำร้อน มีการจัดกิจกรรมในหมู่บ้านมากมาย ตั้งแต่งานประเพณีทางศาสนา กิจกรรมลูกเสือชาวบ้าน มีโรงปั้นดินเผาในวัด จนทําให้ชุมชนวัดธารน้ำร้อนเริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาทางธรณีวิทยา เนื่องจากเป็นพื้นที่ลักษณะคล้ายภูเขาไฟระเบิดมาหลายพันปี มีธารน้ำร้อนเป็นบริเวณหลายสิบไร่ และมีบ่อน้ำร้อนที่สามารถใช้อาบเพื่อรักษาโรคได้ แต่เมื่อท่านพระครูปลัดแพร้วมรณภาพไปในปี พ.ศ. 2540 ทั้งสํานักสงฆ์ และโรงเรียน เริ่มเสื่อมโทรม ไม่มีนักพัฒนาและผู้สานงานต่อ ประกอบกับผู้นําชุมชนไม่เล็งเห็นความสําคัญของศาสนาและการศึกษา ทําให้ประชากรในพื้นที่เริ่มหันไปเข้ารับการศึกษาจากสถานศึกษานอกพื้นที่ และย้ายไปทํางานในตัวเมืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหมู่บ้านมีความเจริญขึ้น การเดินทางสะดวก กอปรกับสภาพแวดล้อมในหมู่บ้านถูกบุกรุกทําลาย ทําเป็นธุรกิจขายดิน ทําให้พื้นที่หมู่บ้านไม่มีสัตว์ป่าหรือสัตว์ทะเลเพื่อเป็นแหล่งอาหารอย่างเดิม
สภาพแวดล้อม
พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านธารน้ำร้อนมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา เชิงเขาด้านทิศตะวันตกเป็นเศษเสี้ยวของเขาถ่าน ความลาดชันไม่ เกิน 30 องศา เหมาะแก่การเพาะปลูกและทําการเกษตร บ้านธารน้ำร้อนจัดเป็นชุมชนขนาดกลาง และเป็นที่ตั้งของวัดธารน้ำร้อน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลเขาถ่าน บ้านธารน้ำร้อนนับว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความเจริญ และเพียบพร้อมด้วยสาธารณูปโภคมากกว่าหมู่บ้านอื่น ทั้งนี้ตัวอย่างของการจัดการสาธารณูปโภคและความเจริญในบ้านธารน้ำร้อน ได้แก่ การมีถนนลาดยางจากถนนใหญ่ มีไฟฟ้า ประปา บ่อบาดาล ร้านค้าของชํา และหอกระจายข่าว เป็นต้น
การคมนาคม
ในชุมชนมีถนนสายบ้านดอน-ไชยา ตัดผ่านหมู่บ้าน และมีถนนสายเล็ก ๆ หลายสายในชุมชน ซึ่งเป็นถนนดินแดงที่ใช้สัญจรไปมาของคนในชุมชน สมัยก่อนชุมชนบ้านธารน้ำร้อนมีรถประจําทางสายบ้านดอน-ไชยา วิ่งผ่านไปมา มีลักษณะเป็นรถสองแถวทําด้วยไม้ ซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นเป็นรถเมล์โครงเหล็ก
ประชากรในหมู่บ้านธารน้ำร้อนมีจำนวนทั้งสิ้น 705 คน โดยผู้คนในหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันประดุจเครือญาติ แม้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายโลหิต ทว่า ชาวบ้านในชุมชนธารน้ำร้อนยังคงให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน ในวาระที่มีการประกอบกิจกรรม พิธีกรรม หรือศาสนกิจทางศาสนาของครัวเรือน เช่น งานบวช งานศพ ชาวบ้านก็มักจะมาช่วยเหลือแบ่งเบาแรงของเจ้าภาพ และจะมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง ในการณ์นี้นอกจากจะป็นการแสดงความให้เกียรติแก่เจ้าภาพแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชนอีกด้วย
ชาวบ้านในชุมชนบ้านธารน้ำร้อนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทําสวน (ยางพารา ปาล์มน้ำมัน) ส่วนรองลงมา คือ การทําอาชีพประมง ซึ่งมักจะทําควบคู่กับการทําสวน ถือได้ว่าเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน ในบางฤดูกาลจะมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น คอกหอยแครง อวนปลา ลอบปู เบ็ดราว เลี้ยงปลา ปู กุ้ง ในบ่อที่ขุดขึ้น เพื่อนำออกไปขาย หรือบางครั้งก็มักจะมีคนที่เดินทางเข้ามาซื้อถึงหมู่บ้าน
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวบ้านธารน้ำร้อนมีพื้นฐานชุมชนที่ก่อรูปมาจากสังคมพุทธ ทําให้ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันและให้ความสําคัญกับวัดกันมาก นอกจากการนับถือศาสนาพุทธแล้ว ชาวบ้านธารน้ำร้อนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณ สิ่งเร้นลับ และอภินิหารต่าง ๆ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากศาสนาผีของสังคมโบราณกาล เช่น พระภูมิเจ้าที่ เจ้าห้วย เจ้าหนอง เจ้าคลอง เจ้าบึง ผีปราบ ผีปง ครูหมอต่าง ๆ และลางร้ายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน คนชุมชนจึงต้องมีการเซ่นไหว้บวงสรวงความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นประจำ ความเชื่อของคนในชุมชนบ้านธารน้ำร้อน ที่ยังคงสืบทอดต่ออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ความเชื่อเรื่องพระภูมิ เจ้าที่ ครูหมอ และความเชื่อเรื่องพระมาลัย
- พระภูมิ : บ้านเรือนหมู่บ้านทุกหลังคาเรือนจะต้องมีศาลพระภูมิ เพราะทุกคนเชื่อว่า พระภูมิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเรือน จะมีการเซ่นไหว้พระภูมิปีละครั้งหรืออาจจะมากกว่านั้น ส่วนมากจะเชิญหมอภูมิมาทําพิธีในช่วงเดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า หรือก่อนมีงานพิธีต่าง ๆ
- เจ้าที่ : ได้แก่ เจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าห้วย เจ้าหนอง เจ้าคลอง และเจ้าบึง ความเชื่อในส่วนนี้จะมาจากผู้ประกอบอาชีพเกษตร ที่ต่างเชื่อกันว่าถ้าจะประกอบอาชีพไม่ว่าทําสวน ทํานา ทําไร่ ประมง จะต้องไหว้เจ้าที่ เพื่อให้ผลผลิตออกมาสมบูรณ์พูนผลไม่ได้รับความเสียหาย เพราะเชื่อว่าเจ้าที่จะเป็นผู้คุ้มครองดูแล
- ครูหมอ : คนในชุมชนบ้านธารน้ำร้อนมีความเชื่อว่า อาชีพบางอาชีพจะมีครูหมอคอยช่วยคุ้มครองดูแลให้ผู้ประกอบอาชีพนั้น มีความเจริญในหน้าที่การงานไม่มีอุปสรรค เช่น ผู้ประกอบอาชีพช่างตีเหล็ก จะไหว้บูชาครูหมอตีเหล็กทุกปีในวันพฤหัสบดีแรกของ เดือนสี่ เป็นต้น
- พระมาลัย : บทสวดที่มีการกล่าวเป็นบทกลอน (คล้ายลําตัดของภาคกลาง) สำหรับสวดในพิธีศพ โดยชาวบ้านผู้ที่มีความชํานาญจะตั้งวงนั่งสวด ถือเป็นการอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพ และสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้มาร่วมงาน ปัจจุบันบ้านธารน้ำร้อนยังมีนายเวียน เพชรนวล นายสมนึก จันทร์แก้ว และคนหมู่บ้านใกล้เคียง ยังคงสืบทอดบทสวดพระมาลัยอยู่
ประเพณี และวัฒนธรรม บ้านธารน้ำร้อนมีประเพณีรอบปีที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นประจำทุกปี ดังนี้
- เดือนมกราคม : ทําบุญประเพณีวันขึ้นปีใหม่
- เดือนเมษายน : ทําบุญประเพณีสงกรานต์ (จบปีจบเดือน)
- เดือนกรกฎาคม : ทําบุญประเพณีเข้าพรรษา
- เดือนกันยายน : ทําบุญประเพณีวันสาร์ทเดือนสิบ
- เดือนตุลาคม : ทําบุญประเพณีชักพระทอดผ้าป่า
- เดือนพฤศจิกายน : ทําบุญประเพณีชักพระ ลอยกระทง
นอกจากนี้ คนในชุมชนบ้านธารน้ำร้อนยังมีประเพณีที่ดีงามสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต เช่น ประเพณีโกนจุก ประเพณีงานแต่งงาน และยังยึดถือประเพณีเหล่านี้เรื่อยมา
การสร้างบ้านเรือน
บ้านธารน้ำร้อนตั้งบ้านเรือนแบบกระจายอยู่ตามที่ดินทํากินของตนเอง ตามสวน ไร่ นา ริมถนนและริมแหล่งน้ำ ซึ่งบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวแบบสมัยใหม่ สร้างด้วยวัสดุปูนซีเมนต์ และยังมีบ้านที่ก่อสร้างด้วยไม้จํานวนหนึ่งด้วย บ้านที่สร้างด้วยไม้เหล่านี้จะเป็นบ้านโบราณยกพื้นที่สูงป้องกันน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านในฤดูฝน เพราะส่วนใหญ่บ้านลักษณะนี้จะอยู่บริเวณริมน้ำ นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนที่ยังมุงหลังคาด้วยจากอยู่ประมาณ 10 ครัวเรือน และในชุมชนยังมีขนําไว้สําหรับพักผ่อนในยามประกอบอาชีพ เช่น ขนํานากุ้ง ขนําในสวนยางพารา เป็นต้น
1. นางอารี บัวทอง ชาวบ้านธารน้ำร้อนที่ยังมีความชำนาญการสานกระจูดอยู่ในปัจจุบัน
2. นางจ้วน ลอยใหม่ ชาวบ้านธารน้ำร้อนที่ยังมีความชำนาญการสานกระจูดอยู่ในปัจจุบัน
3. นางช่วง จันทร์แก้ ชาวบ้านธารน้ำร้อนที่ยังมีความชำนาญการสานกระจูดอยู่ในปัจจุบัน
4. นายพวง ชูคง หมอภูมิประจำหมู่บ้านธารน้ำร้อน
5. นายลิขิต ดิษยนาม หมอภูมิประจำหมู่บ้านธารน้ำร้อน
6. นายเวียน หนูเที่ยง หมอภูมิประจำหมู่บ้านธารน้ำร้อน
7. นายเวียน เพชรนวล คณะสวดพระมาลัยประจำหมู่บ้านธารน้ำร้อน
8. นายสมนึก จันทร์แก้ว คณะสวดพระมาลัยประจำหมู่บ้านธารน้ำร้อน
ทุนทางภูมิปัญญา
- การสานเสื่อกระจูด (สาดจูด) การสานเสื่อกระจูด (สานสาดจูด) เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน อันเกิดจากการที่บ้านธารน้ำร้อนมีพื้นที่เป็นป่าพรุ มีต้นกระจูดขึ้นอย่างหนาแน่น ชาวบ้านจึงได้นำเอาต้นกระจูดมาสร้างสรรค์เป็นงานหัตถกรรม ในช่วงแรกเป็นการสร้างสรรค์เพื่อใช้ภายในครัวเรือนเท่านั้น แต่ต่อมาเสื่อกระจูดได้กลายเป็นสินค้าพื้นเมืองที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน สําหรับขั้นตอนการเตรียมกระจูด เริ่มจากการหาต้นจูดมา แล้วนําไปคลุกกับดินเหนียวประมาณ 1 วัน เพื่อให้ต้นเหนียวง่ายต่อการสาน ป้องกันการขึ้นรา และเพื่อเพิ่มความคงทน จากนั้นนําไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนําต้นจูดไปตําหรือทุบให้แบนเก็บไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทได้สะดวก พร้อมที่จะใช้ในการจักสานต่อไป
- การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ คนในชุมชนบ้านธารน้ำร้อนในอดีตนิยมผลิตเครื่องมือเครื่องใช้โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น มีด จอบ เสียม กรรไกร ขวาน หรือมีดสั้น ดาบ ตามสภาพทรัพยากรที่อยู่ในชุมชน บางส่วนก็ผลิตจากไม้ เช่น มีการขุดเรือจากต้นไม้เพื่อนําไปใช้เป็นพาหนะออกจับปลาในลําคลองหรือปากอ่าว มีการจัดทําอุปกรณ์การหาสัตว์น้ำสัตว์ทะเล เช่น เบ็ด ไซ ซ่อนดักปลา แก้วจับปู แห หรืออื่น ๆ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
บ้านธารน้ำร้อนไม่มีสถานศึกษาในหมู่บ้าน เยาวชนธารน้ำร้อนส่วนใหญ่จึงจะเดินทางไปเรียนหนังสือในชุมชนข้างเคียง คือ ประถมศึกษาเรียนที่ โรงเรียนวัดบางน้ำจืด ตําบลเขาถ่าน อําเภอท่าฉาง และโรงเรียนบ้านไทรงาม ตําบลเสม็ด อําเภอไชยา ส่วนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาจะไปเรียนที่โรงเรียนท่าฉางวิทยาคาร
ข่าวสดออนไลน์. (2565). ททท.สุราษฎร์ฯ ชวนนักเที่ยวสายสุขภาพแช่น้ำร้อนเค็ม หมักสปาโคลนดำ-รักษาโรค. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.khaosod.co.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566].
นงลักษณ์ ทองเสม็ด. (2553). แนวทางจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบ้านธารน้ำร้อน ตำบลเขาถ่าน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สำนักสงฆ์ธารน้ำร้อน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566].