บ้านควนยูงมีพื้นที่ป่าชุมชนขนาดใหญ่กว่า 52 ไร่ สถานที่ซึ่งเปรียบเสมือนลมหายใจของลูกหลานชาวควนยูง
สภาพโดยรวมของพื้นที่เป็นเนินสูงหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ควน” บนควนนั้นมีต้นนกยูงขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากจนกลายเป็นชื่อประจําหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านควนยูง”
บ้านควนยูงมีพื้นที่ป่าชุมชนขนาดใหญ่กว่า 52 ไร่ สถานที่ซึ่งเปรียบเสมือนลมหายใจของลูกหลานชาวควนยูง
บ้านควนยูง ตําบลขุนทะเล อําเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งขึ้นตามระเบียบของกรมประชาสงเคราะห์โดยใน พ.ศ. 2500 นิคมสร้างตนเองได้ดําเนินจัดสรรที่ดินทํากินให้กับราษฎรที่ไม่มีที่ดินทํากินเข้ามาจับจอง ประชากรส่วนใหญ่ที่เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองมาจากอําเภอเมือง อําเภอเกาะสมุย อําเภอเกาะพงัน อําเภอกาญจนดิษฐ์และพื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่ส่วนใหญ่ที่กรมประชาสงเคราะห์จัดสรรให้แก่ประชาชนนั้นถูกพัฒนาจากพื้นที่ป่าดิบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนทุเรียน สวนมังคุด
แรกตั้งนิคมฯ พื้นที่แห่งนี้ยังไม่มีชื่อเรียกหมู่บ้าน แต่เนื่องจากสภาพโดยรวมของพื้นที่เป็นเนินสูงหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ควน” บนควนนั้นมีต้นนกยูงขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากจนกลายเป็นชื่อประจําหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านควนยูง” จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนบ้านควนยูง หมู่ที่ 4 ตําบลขุนทะเล อําเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอําเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูงสลับกับพื้นพื้นที่ราบทั่วไป พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านควนยูงจะถูกแปรสภาพจากป่าดงดิบไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
อาณาเขตทางด้านทิศตะวันออกติดกับพื้นที่ตําบลทุ่งรัง อําเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทิศตะวันตก ติดกับหมู่ที่ 8 ตําบลขุนทะเล อําเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางทิศเหนือบริเวณหมู่ที่ 4 บ้านควนยูงจะเป็นบ้านหนองปลด เดิมเป็นพื้นที่ติดกับบริเวณอื่น แต่เมื่อมีโครงการถนนเซาว์เทิร์นตัดผ่านจึงทําให้เป็นพื้นที่ที่ถูกตัดออกจากพื้นที่เดิม อาณาเขตบริเวณนั้นจึงใช้ถนนที่ตัดเข้าไปในบ้านหนองปลดเป็นพื้นที่แบ่งเขต โดยซีกฝั่งทิศใต้ของถนนจะเป็นพื้นที่บ้านควนยูง ส่วนซีกฝั่งทิศเหนือของถนนจะเป็นบ้านดอนเกลี้ยง
ภูมิอากาศมีลักษณะแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม-มกราคม และฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
บ้านควนยูงมีสถานที่สำคัญ 2 แห่ง คือ วัดศานติไมตรี และวัดควนยูง ศาสนสถานทั้งสองแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านควนยูงและหมู่บ้านใกล้เคียง
วัดศานติไมตรี เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านสถานที่ปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่ที่สงบร่มรื่น เหมาะในการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา
บ้านควนยูงมีสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการระดับตําบล ประกอบด้วย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี สถานีตํารวจภูธรตําบลขุนทะเล เทศบาลตําบลขุนทะเล มีโรงเรียนจำนวน 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนอนุบาลยูงทอง โรงเรียนมัธยมพัชรกิตติยาภา 3 โรงเรียนบ้านควนยูง และโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้
ข้อมูลจากเทศบาลตำบลขุนทะเลได้ระบุถึงจำนวนประชากรบ้านควรยูงว่า ปัจจุบันบ้านควนยูงมีประชากรทั้งสิ้น 1,648 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ
ชาวบ้านควนยูงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทําสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน ชาวบ้านจะมีการกรีดยางโดยแบ่งเป็นกรีด 3 วันติดกัน เว้น 1 วัน และกรีดในวันที่ฝนไม่ตก อาชีพรองลงมาก็คือ การทําสวนผลไม้ ได้แก่ สวนทุเรียน สวนมังคุด สวนมะม่วง ชาวบ้านบางรายที่ไม่มีพื้นที่ทางการเกษตรเป็นของตนเองโดยปกติจะออกมารับจ้างกรีดยาง เก็บผลไม้ หรือดูและสวนผลไม้ให้กับเจ้าของสวน นอกจากอาชีพในภาคการเกษตรกรรมแล้วยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น ค้าขาย รับราชการ และรับจ้างทั่วไป ฯลฯ
ปฏิทินชุมชน
ชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านควนยูง จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินชีวิต เพื่อที่จะช่วยให้สมาชิก ในหมู่บ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในแต่ละเดือน ชาวบ้านควรยูงจะมีพันธกิจการดำเนินกิจกรรมของชุมชน ดังนี้
กิจกรรมประจําเดือน
- ทุกวันที่ 2 ของทุกเดือน ประชุมชมรมผู้สูงอายุ
- ทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน ทําธุรกรรมการเงินกลุ่มสัจจะออมทรัพย์
- ทุกวันที่ 13 ของทุกเดือน ทําธุรกรรมการเงินกลุ่มกองทุนหมู่บ้านและกลุ่มสตรีพัฒนา
- ทุกวันที่ 26 ของทุกเดือน ประชุม ชมรม อสม.เฉลิมพระเกียรติบ้านควนยูง
- ทุกวันที่ 29 ของทุกเดือน ทําธุรกรรมการเงินของศูนย์พัฒนาสังคมแบบมีส่วนร่วม
ประเพณีประจำปี
- ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ จัดขึ้นในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี มีการทําบุญตักบาตร กราบขอพรจากผู้ใหญ่ อวยพรกันและกัน มอบของขวัญหรือส่งบัตรอวยพรให้แก่กัน มีการจัดงานรื่นเริงเลี้ยงกันในหมู่เพื่อน ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่าง ๆ
- ประเพณีวันสงกรานต์ ในวันที่ 13 จะมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเพื่อขอพรผู้ใหญ่ มีการทําบุญเลี้ยงพระในวันที่ 14 และรดน้ำพ่อตาควนยูงเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนในวันที่ 15 ถือเป็นวันครอบครัว ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกในครัวเรือนได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
- ประเพณีวันสารทเดือนสิบ จัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี ในวันนี้มีการไปทําบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มีการเชิญผีบรรพบุรุษ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เสียชีวิตไปแล้ว มารับของเซ่นไหว้ ปัจจุบันนี้มีประเพณีชิงเปรตในเทศกาลวันสารทเดือนสิบ เรียกว่า “การจัดหมับ” คือ จะมีสํารับข้าวไปวางเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตที่หมายถึงผีบรรพบุรุษ เมื่อเซ่นไหว้จนเสร็จพิธีแล้วจะมีผู้คนทั้งหลายไปแย่งสิ่งของเหล่านั้น จึงเรียกว่า พิธีชิงเปรต
- ประเพณีตรุษจีน จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน จะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน วันแรกเรียกว่า วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันแห่งการจับจ่ายซื้อของเซ่นไหว้ต่าง ๆ วันไหว้ คือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ในตอนเช้า มีการเผากระดาษเงินกระดาษทองและจุดประทัดเพื่อความเป็นสิริมงคล
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติบ้านควนยูง
ป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติบ้านควนยูง ป่าขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 52 ไร่ เป็นผืนป่าที่ชุมชนร่วมกันดูแลอนุรักษ์ โดยการจัดสรรกันพื้นที่ป่าไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ชุมชนนิคมสร้างตนเองขุนทะเล ภายในป่ามีระบบนิเวศหลากหลายทั้งพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ และพืชสมุนไพร ซึ่งพันธุ์ไม้ที่พบมีทั้งไม้หายากและไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้หลุมพอ ไม้ยางนา ไม้ตะเคียน ไม้พะยูง บางต้นมีขนาดใหญ่ประมาณ 3-4 คนโอบ สัตว์ที่พบในผืนป่ามีทั้ง งู ผึ้ง กระรอก และนกอีกหลายสายพันธ์ นอกจากนี้ยังพบพืชสมุนไพรหายากอีกกว่า 50 ชนิด ผืนป่าแห่งนี้ถือเป็นแหล่งผลิตและกักเก็บน้ำที่สําคัญของชุมชน เพราะน้ำจากป่าได้ไหลลงสู่สระนํ้าขนาดใหญ่ของหมู่บ้านซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ ด้วยความสมบูรณ์ของผืนป่า ทำให้ป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติบ้านควนยูงมีบทบาทเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ แหล่งสร้างอาชีพ แหล่งอนุรักษ์เรียนรู้ ตลอดจนเป็นป่าตู้ยาชุมชน ให้คนในชุมชนบ้านควนยูงได้ใช้ประโยชน์จากผืนป่าอนุรักษ์แห่งนี้ร่วมกัน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
เทศบาลตำบลขุนทะเล. (ม.ป.ป.). แผนที่สังเขป หมู่ที่ 4 บ้านควนยูง ต.ขุนทะเล อ .เมือง จ.สุราษฎร์ธานี. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.khuntalae.go.th [สืบค้นเมื่อวันทื่ 26 เมษายน 566].
ป่าชุมชนบ้านควนยูง ‘ลมหายใจ’ ของลูกหลาน. (2558). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thaihealth.or.th [สืบค้นเมื่อวันทื่ 26 เมษายน 566].
โรงเรียนบ้านควนยูง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://map.longdo.com [สืบค้นเมื่อวันทื่ 26 เมษายน 566].
วิภาดา วาสินธุ์ และคณะ. (2557). แนวทางการอนุรักษ์ป่าชุมชนโดยการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มเยาวชน วัด และชุมชนบ้านควนยูง ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.