Advance search

ประติมากรรมงานปั้นพระพุทธชนะมาร ปางมารวิชัยทรงเครื่ององค์ใหญ่ ภายในวัดม่วงสระน้อย สลักโดยฝีมือช่างพื้นบ้าน ตั้งตระหง่านเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คนบริเวณริมลำน้ำคลองพระเพลิง  

บ้านสระน้อย
นกออก
ปักธงชัย
นครราชสีมา
เทศบาลนกออก โทร. 0-4444-2597
วิไลวรรณ เดชดอนบม
6 ธ.ค. 2022
สุธาสินี บุญเกิด
14 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
23 ก.พ. 2023
บ้านสระน้อย


ประติมากรรมงานปั้นพระพุทธชนะมาร ปางมารวิชัยทรงเครื่ององค์ใหญ่ ภายในวัดม่วงสระน้อย สลักโดยฝีมือช่างพื้นบ้าน ตั้งตระหง่านเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คนบริเวณริมลำน้ำคลองพระเพลิง  

บ้านสระน้อย
นกออก
ปักธงชัย
นครราชสีมา
30150
14.723379
102.037616
องค์การบริหารส่วนตำบลนกออก

บ้านสระน้อยเป็นหนึ่งในชุมชนที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่ซึ่งปรากฏหลักฐานการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทยเบิ้งหรือชาวไทยโคราช พื้นเพเดิมของชาวไทยเบิ้งก่อนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้นไม่ปรากฏแหล่งที่มาชัดเจน คาดว่าอาจอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองโปรดฯ ให้รวบรวมดินแดนแถบนครราชสีมาผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยา โดยโปรดฯ ให้ตั้งค่ายทหารเป็นหน้าด่าน และให้ชาวอยุธยามาสร้างบ้านเรือนและวัดวาอารามในจังหวัดนครราชสีมาเป็นจำนวนมาก ต่อมามีชาวไทยภาคกลางอพยพมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท้ายที่สุดเกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวไทยภาคกลางอีกครั้งหนึ่งเมื่อเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 โดยในครั้งนี้มีชาวไทยริมฝั่งทะเลภาคตะวันออกร่วมมาด้วย ซึ่งต่อมาชาวไทยกลุ่มนี้และชาวไทยพื้นเมืองเดิมได้สืบเชื้อสายเป็นชาวไทยเบิ้งหรือไทยโคราชในปัจจุบัน 

เอกสารทางวิชาการกล่าวถึงชาวไทยเบิ้งไว้ว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานและมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดลพบุรีมานานกว่าสองทศวรรษ ซึ่งพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มไทยเบิ้งนั้น อยู่ระหว่างรอยต่อของภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่แถบนี้จึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์พื้นถิ่นของทั้งสองภูมิภาคเข้าด้วยกัน  

คำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้ง หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช สันนิษฐานว่าเป็นการเรียกชนพื้นถิ่นกลุ่มหนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตอำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล อำเภอโคกสำโรง และอำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี และยังตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายในจังหวัดอื่น ๆ เช่น อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี อำเภอศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชัยภูมิ บางตำราก็ว่าชาวไทยเบิ้งหรือไทยโคราชนี้เดิมที่คือชาวละว้า ชนพื้นเมืองลาวที่อาศัยอยู่ในล้านนา ทำการอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในทุกพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ยกเว้นอำเภอสูงเนิน และอำเภอบัวใหญ่ เนื่องจากมีชาวลาวมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าชาวไทยเบิ้งเดิมทีมีภูมิลำเนามาจากที่ใด จะเป็นชาวอยุธยา ชาวลพบุรี ชาวไทยภาคกลาง ชาวละว้า หรือทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไม่อาจทราบได้ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่เข้าใจร่วมกันคือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้ง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อชาวไทยโคราช หมายความถึงกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอพยพย้ายถิ่นฐานมาก่อร่างสร้างที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงชุมชนบ้านสระน้อยด้วย  

ลักษณะภูมิประเทศ

ชุมชนบ้านสระน้อยพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ แต่พื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ ถูกจัดสรรให้เป็นที่ดินสำหรับทำการเกษตร โดยเฉพาะที่นา ฉะนั้นแล้วสภาพแวดล้อมของชุมชนบ้านสระน้อยจึงถูกล้อมรอบไปด้วยที่ราบสำหรับทำเกษตรกรรม มีพื้นที่ป่าแซมอยู่ทั่วอาณาบริเวณ นอกจากนี้ทางตอนเหนือของหมู่บ้านยังติดกับลำน้ำพระเพลิง ซึ่งเอื้อต่อการทำเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลักของผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก  

ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านสระน้อย ตำบลนกออก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้ง ชุมชนแบ่งการปกครองเป็น 2 หมู่ ได้แก่ บ้านสระน้อย หมู่ที่ 4 และบ้านสระน้อย หมู่ที่ 5 ข้อมูลจากการรายงานของเทศบาลตำบลนกออกระบุว่าบ้านสระน้อย หมู่ที่ 4 มีประชากรทั้งสิ้น 192 ครัวเรือน ชาย 312 คน หญิง 360 คน รวมประชากรบ้านสระน้อยหมู่ที่ 4 จำนวน 672 คน ส่วนบ้านสระน้อย หมู่ที่ 5 มีประชากรทั้งสิ้น 184 ครัวเรือน ชาย 276 หญิง 310 รวมประชากรบ้านสระน้อย หมู่ที่ 5 จำนวน 576 คน  

ไทเบิ้ง

การประกอบอาชีพ

ชาวชุมชนบ้านสระน้อย ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยส่วนมากแล้วประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เนื่องจากเป็นอาชีพที่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ประกอบกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของชุมชนที่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม ด้วยพื้นที่ชุมชนเป็นที่ราบลุ่มทั้งยังอยู่ติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างคลองพระเพลิง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสายหลักของชาวตำบลนกออก นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้ว บางครัวเรือนในชุมชนบ้านสระน้อยยังมีการทำปศุสัตว์สร้างรายได้ โดยสัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ โค กระบือ ไก่บ้าน และสุกร  

สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 20 กลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนเริ่มขวนขวายหาแนวทางในการประกอบอาชีพใหม่ โดยการเข้าไปหาหนทางในการประกอบอาชีพในชุมชนเมือง ด้วยไม่พึงใจกับการทำเกษตรกรรม บางครอบครัวที่มีฐานะดีก็ใช้การศึกษาเป็นใบเบิกทาง ส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนประจำอำเภอหรือโรงเรียนประจำจังหวัด เมื่อสำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่เลือกที่จะสอบบรรจุเป็นข้าราชการ แต่สำหรับครอบครัวที่ฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนัก ส่วนมากจะเดินทางไปทำงานโรงงานในพื้นที่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้นอาชีพเกษตรกรและการทำปศุสัตว์จึงมีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเท่านั้นที่ยังคงประกอบอาชีพนี้อยู่   

โครงสร้างทางสังคม 

ชุมชนบ้านสระน้อยมีโครงสร้างทางอำนาจปกครองโดยผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการคัดเลือกของประชาชนในหมู่บ้าน ทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก ดูแลสวัสดิการ ความเป็นอยู่ และช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ด้านความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากวัยรุ่นหนุ่มสาวยุคใหม่นี้ เลือกเดินทางไปทำงานในชุมชนเมืองแทนการประกอบอาชีพเกษตรกร อีกทั้งบางส่วนยังเลือกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในชุมชนอื่น ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในชุมชนและครอบครัวเกิดความห่างเหินออกไปเรื่อย ๆ ตามค่านิยม และการเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนของสังคมตามกระแสโลกาภิวัตน์ 

ชีวิตประจำวัน

การดำเนินวิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้งบ้านสระน้อยนั้นเป็นไปด้วยความเรียบง่าย ผู้คนในชุมชนใช้ชีวิตอย่างชาวชนบททั่วไป เลี้ยงชีพด้วยการทำนา ทำไร่ ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน  

ชาวไทยเบิ้งบ้านสระน้อยนิยมบริโภคข้าวจ้าว อาหารหลักคือน้ำพริกจิ้มกับพืชผักพื้นเมืองที่หาได้ในท้องถิ่น เนื้อสัตว์ เช่น ไก่บ้าน ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ฯลฯ และอาหารอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับอาหารของชาวไทยภาคกลาง อีกทั้งยังมีการถนอมอาหารด้วยวิธีธรรมชาติที่ทำให้สามารถเก็บอาหารไว้กินได้เป็นเวลานาน เช่น การตากแห้ง การหมัก การดอง เป็นต้น 

การสร้างบ้านของชาวไทยเบิ้งบ้านสระน้อย นิยมสร้างตามแบบฉบับเรือนไทยทรงอีสาน ยกเสาสูงให้มีพื้นที่ใต้ถุนเพื่อให้มีเนื้อที่ว่างสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อให้มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรของชาวบ้านสระน้อย โดยใช้เป็นพื้นที่เก็บเครื่องมือทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม ฯลฯ หรือทำเป็นคอกสัตว์ จำพวก วัว ควาย เป็นต้น  

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม 

ชุมชนบ้านสระน้อย ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมชนที่มีการนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก มีวัดม่วงสระน้อยเป็นศาสนสถานสำคัญในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีคติความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมดังเช่นพุทธศาสนิกชนชาวอีสานทั่วไป เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์รูปเคารพ เวรกรรม นรกสวรรค์ นับถือบรรพบุรุษ มีการทำบุญวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและประเพณีสำคัญต่าง ๆ เกือบตลอดทั้งปี เช่น เดือนพฤษภาคม ทำบุญวันวิสาขบูชา ทำบุญกลางบ้านไหว้ศาลปู่ตา เดือนตุลาคม ทำบุญวันสารทไทย เดือนพฤศจิกายน กวนข้าวทิพย์ ออกพรรษา ตักบาตรเทโว ทอดกฐิน ลอยกระทง และธันวาคม ประเพณีไหว้ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ เป็นต้น  

เนื่องมาจากชาวไทยเบิ้งชุมชนบ้านสระน้อยมีอาชีพหลักคือการทำนา ชาวไทยเบิ้งชุมชนบ้านสระน้อยจึงมีประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำนาโดยเฉพาะ ได้แก่ ประเพณีรับท้องข้าว และประเพณีเรียกขวัญข้าว ประเพณีรับท้องข้าว เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวไทยเบิ้งปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยประเพณีนี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงเข้าพรรษา หรือในระยะเวลาที่ต้นข้าวกำลังเริ่มตั้งท้องหรือออกรวง เพื่ออ้อนวอนต่อพระแม่โพสพผู้เป็นเทพธิดาประจำต้นข้าวให้ช่วยดูแลปกปัก คุ้มครองต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ส่วนประเพณีเรียกขวัญข้าวจะถูกจัดขึ้นหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ก่อนนำข้าวไปเก็บยังยุ้งข้าว เป็นประเพณีที่จัดขึ้นภายในครอบครัว โดยให้หญิงที่แต่งงานแล้วคอนข้าวใส่คานหาบไปยังลาน จุดธูปกล่าวเชิญพระแม่โพสพ พร้อมทั้งเอ่ยคำกล่าวว่า “มาเด้อ มาอยู่เล้า อยู่เยีย ขวัญข้าวจ้าว ข้าวเหนียว และข้าวที่นกจิบนกจอกจิกหนีก็มาเด้อ” แล้วนำเอาฟางมาผูกเป็นหุ่นลักษณะคล้ายคน ซึ่งเชื่อว่าหุ่นนี้คือตัวแทนของพระแม่โพสพ จากนั้นให้ผู้หญิงคนเดิมคอนกระบุงข้าวจากนาเดินไปที่ยุ้งข้าวโดยระหว่างทางห้ามพูดคุยกับใคร เมื่อคอนกระบุงข้าวเข้ายุ้งแล้ว ให้นำหุ่นฟางไปตั้งไว้ในยุ้ง เสมือนว่าให้พระแม่โพสพเดินทางจากนามาดูแลคุ้มครองข้าวในยุ้งดังที่ดูแลคุ้มครองข้าวในนา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

1. ซงเหวียน ซังเหวียน ทองเหวียน หรือเสวียน คือยุ้งข้าวขนาดเล็กของชาวไทยเบิ้ง มีความสูงประมาณ 1.50 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.50 เมตร สานด้วยไม้ไผ่ทรงกลม ยาด้วยขี้วัวขี้ควาย ซงเหวียนไม่มีคร่าว ฝายุ้ง และประตู แต่ลักษณะพิเศษของซงเหวียนคือสามารถยกเคลื่อนย้ายได้หากต้องการเปลี่ยนที่ตั้ง สามารถสร้างโดยกำลังคนเพียงคนเดียวดังการสานภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน อีกทั้งวัสดุในการจักสานก็สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ชุมชน เช่น ไม้ไผ่ มูลสัตว์ แกลบ และดินปลวก เป็นต้น เนื่องจากซงเหวียนเป็นเพียงยุ้งเก็บข้าวชั่วคราวและมีขนาดเล็ก สามารถเก็บข้าวได้เพียง 35 กระสอบ จึงเหมาะสำหรับชาวนาที่มีผลผลิตจากการทำนาต่อปีในปริมาณไม่มากนัก หากแม้ว่าได้รับผลผลิตจากการทำนาที่มากขึ้น ก็จะยกยุ้งข้าวให้มีขนาดใหญ่สามารถเก็บข้าวได้มากขึ้น โดยการสร้างยุ้งเก็บข้าวที่ทำจากไม้จริงแบบมีฝาคร่าวยุ้ง 

2. เพลงโคราช  เป็นเพลงพื้นเมืองของชาวโคราชในจังหวัดนครราชสีมา อัตลักษณ์ของเพลงไทยโคราชคือการนำเอาภาษาของชาวโคราชมาใส่เป็นเนื้อร้อง เพลงโคราชไม่มีดนตรีประกอบ และไม่มีเนื้อร้องให้ท่องจำ แต่จะอาศัยปฏิภาณไหวพริบของหมอเพลงในการขับร้อง ซึ่งนับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวโคราชอย่างแท้จริง  

สถานที่สำคัญ

วัดม่วงสระน้อย เป็นวัดสังกัดมหานิกาย หรือนิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ฝ่ายคันถธุระ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2423 วัดม่วงสระน้อยเดิมทีชื่อวัดใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดม่วงในภายหลัง เนื่องจากในวัดมีต้นมะม่วงเป็นจำนวนมาก ในเวลาต่อมาพระครูโสภณประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้นำเอาชื่อ บ้านสระน้อย มาต่อท้าย จึงกลายเป็นวัดม่วงสระน้อยจนปัจจุบัน 

ภายในวัดม่วงสระน้อยมีพระอุโบสถหลังหนึ่ง เดิมทีเป็นเรือนไม้ฝากระดานมุงสังกะสี แต่ด้วยสภาพชำรุดทรุดโทรมจนไม่อาจซ่อมแซมได้ จึงได้รื้อถอนพระอุโบสถหลังเก่าออก เพื่อปลูกสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในพื้นที่เดิม พระอุโบสถหลังใหม่นี้เป็นอาคารทรงโรง ก่ออิฐถือปูน หน้าบันจำหลักเป็นภาพพุทธประวัติ เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ และเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ซุ้มประตู หน้าต่าง เป็นซุ้มเรือนแก้ว บันไดทางขึ้นอุโบสถปั้นเป็นพญานาค หน้าพระอุโบสถมีรูปปั้นช้างคู่ 2 เชือก จารึกนามพลายอุดมและพลายร่มเย็น ให้ผู้คนได้ลอดท้องช้างสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อ นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังปรากฏประติมากรรมงานปั้นพระพุทธชนะมาร ปางมารวิชัยทรงเครื่ององค์ใหญ่ สลักโดยฝีมือช่างพื้นบ้าน ตั้งตระหง่านอยู่ภายในวัดริมลำน้ำคลองพระเพลิง  

ภาษาพูด : ภาษาไทยสำเนียงโคราช (ภาษาโคราช) และภาษาไทยกลาง 

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง


ภาษาโคราชเป็นการผสมผสานระหว่างภาษาโคราชภาคกลาง กับภาษาของคนพื้นเมืองเดิมในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ภาษาโคราชเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งด้านสำเนียง สำนวน โดยพูดเป็นภาษาไทยกลางแต่มีการปรับเสียงวรรณยุกต์สำเนียงแบบโคราช และคำศัพท์บางคำที่เป็นภาษาถิ่นเข้าใจกันเฉพาะชาวไทยเบิ้งหรือชาวไทยโคราชจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น แต่ปัจจุบันภาษาไทยโคราชกำลังตกอยู่ในสภาวการณ์สูญภาษา เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษากลางมากกว่าภาษาไทยโคราชซึ่งเป็นภาษาถิ่น กอปรกับการอพยพย้ายเข้ามาของคนจากนอกพื้นที่ ส่งผลให้การรับรู้และเข้าใจภาษาโคราช อันเป็นภาษาเก่าแก่ของชาวโคราชลดน้อยลง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จรุงศรี โพธิ์กลาง และคณะ. (2560). วัฒนธรรมท้องถิ่นในอุทยานธรณีโคราช. นครราชสีมา: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. 

จารุวัฒน์ นนทชัย. (2556). ยุ้งข้าว: รูปแบบและสื่อสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

เทศบาลนกออก โทร. 0-4444-2597