ชุมชนบ้านนาข่า พื้นที่แรกเริ่มในการตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย พื้นที่ทับซ้อนช่วงการตั้งเมืองและความขัดแย้งของเมืองพยัคฆภูมิพิสัยและเมืองวาปีปทุม
ทรัพยากรในพื้นที่บ้านนาข่าในช่วงแรกตั้งบ้านมีลำห้วยไหลผ่านอีกทั้งยังมีป่าทึบ ริมฝั่งห้วยทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยต้นข่าและต้นแคน(ตะเคียน) ในช่วงหน้าแล้งต้นแคนจะออกดอกห้อยสะพรั่งจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านนาข่าแคนย้อย
ชุมชนบ้านนาข่า พื้นที่แรกเริ่มในการตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย พื้นที่ทับซ้อนช่วงการตั้งเมืองและความขัดแย้งของเมืองพยัคฆภูมิพิสัยและเมืองวาปีปทุม
บ้านนาข่าตั้งอยู่ที่หมู่ที่1 ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เดิมเรียกว่า บ้านาข่าแคนย้อย บ้านนาข่าแคนย้อยก่อนการอพยพเข้ามาของกลุ่มคนจากเมืองสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่อดีต จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนเล่าว่าเคยขุดพบพระพิมพ์ดินเผา เทวรูปสำริดและภาชนะดินเผาจำพวก หม้อ ไห บริเวณโคกเหล่าตอง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏในพื้นที่ชุมชนบ้านนาข่าเคยเป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ในอดีต
ปีพ.ศ. 2422 มีกลุ่มคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านนาข่า ซึ่งเป็นกลุ่มเครือญาติของเจ้าเมืองจากเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงศา (คำสิงห์) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้มีแนวคิดที่จะขยายการปกครองของเมืองสุวรรณภูมิ จึงได้สั่งให้ท้าวเทศและท้าวเดชสองพี่น้องซึ่งเป็นบุตรของพระรัตนวงศาให้นำใบบอกไปกราบขอตั้งบ้านเมืองเสือเป็นเมือง จากกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่5 จึงได้รับสารตราตั้งให้ตั้งบ้านเมืองเสือเป็นเมืองพยัคฆภูมิสัย และได้แต่งตั้งให้ท้าวขัติยะวงศา(เทศ)เป็นพระศรีสุวรรณวงษา เป็นเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัย พระศรีสุวรรณวงษา(เทศ) ได้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองสุวรรณภูมิมาตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยแต่มิได้เลือกพื้นที่บ้านเมืองเสือตามใบบอกและได้เลือกพื้นที่บ้านนาข่าซึ่งขึ้นต่อเมืองวาปีปทุม เนื่องด้วยบ้านนาข่ามีชัยภูมิที่ดีกว่าในการตั้งบ้าน ต่อมาเกิดข้อพิพาทด้านพื้นที่ระหว่างพระศรีสุวรรณวงศาเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยและพระพิทักษ์นรากร(อุ่น) เจ้าเมืองวาปีปทุม ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นพระเจริญราชเดช(อุ่น) เจ้าเมืองมหาสารคาม พระเจ้าบรมวงเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ตำแหน่งข้าหลวงมณฑลอุบลราชธานีได้ตัดสินให้ พระศรีสุวรรณวงศาเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยย้ายเมืองออกจากพื้นที่บ้านนาข่าเพื่อไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านเมืองเสือตามใบบอก หากแต่พระศรีสุวรรณวงศา(เดช)ขึ้นเป็นเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยเนื่องจากพระศรีสุวรรณวงศา(เทศ)ถึงแก่กรรม พระศรีสุวรรณวงศา(เดช)ได้อพยพผู้คนไปตั้งเมืองแห่งใหม่โดยบางครอบครัวยังคงอาศัยพื้นที่บ้านนาข่าไม่ได้อพยพไปด้วย เจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยได้เลือกพื้นที่บ้านปะหลานในการตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยซึ่งใกล้กับบ้านเมืองเสือจากนั้นก็ได้ปกครองบ้านเมืองเรื่อยมา ในช่วงที่เมืองพยัคฆภูมิพิสัยตั้งอยู่พื้นที่บ้านนาข่ามีสถานที่สำคัญเกิดขึ้นและบางแห่งยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน คือ ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณคุ้มจอมใจเจ้าหลักเมือง ลักษณะของหลักเมืองเป็นหินศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเป็นที่เคารพของผู้คนจนถึงปัจจุบันอาชีพของผู้คนในชุมชนบ้านนาข่าส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม อาศัยแหล่งน้ำของชุมชน
ชุมชนบ้านนาข่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอวาปีปทุม ที่ตั้งของบ้านนาข่า
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านาเมือง ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านโพนทอง,บ้านโนนทับม้าตำบลหนองคู อำเภอนาดูน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านดงยาง ตำบลนาข่า
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านประชาพิทักษ์ , บ้านลอมคอม ตำบลนาข่า
ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนบ้านนาข่า พื้นที่เป็นที่เนินเตี้ยๆ สลับกับที่ราบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและเป็นเนินดินสูงสลับเตี้ย เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่ และไม้ยืนต้น ส่วนที่ราบลุ่มเมาะสำหรับการทำนา มีพื้นที่ป่าดอนปู่ตา 4 ไร่ พื้นที่ป่าช้าชุมชน 8 ไร่ ป่าในพื้นที่วัด 2 ไร่ แหล่งน้ำธรรมชาติที่ปรากฏคือ หนองเลิงตาลและลำห้วยข่าและลำห้วยยาง
กลุ่มคนในพื้นที่บ้านนาข่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาพร้อมกับพระศรีสุวรรณวงศา สมัยตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยและได้อพยพออกจากพื้นที่ตามข้อพิพาท ดังนั้นผู้คนในชุมชนยังเป็นเครือญาติกับบ้านปะหลานที่ย้ายออกไปตั้งบ้านใหม่และมีการไปมาหาสู่กันจนถึงปัจจุบัน
ผู้คนในชุมชนบ้านนาข่ายึดถือปฏิบัติตามฮีต12 ของชาวอีสานโดยจะมีงานบุญของชุมชนในทุกเดือน
ชุมชนโบราณที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองพยัคฆภูมิพิสัย รวมทั้งยังมีเครือข่ายหรือญาติที่เป็นลูกหลานเจ้าเมืองที่ยังคงเกาะกลุ่มกันอย่างแน่นเหนียว รวมทั้งมีการจัดงานรำลึกถึงพระศรีสุวรรณวงศาผู้เป็นบรรพบุรุษของคนในชุมชน
ภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้ในราชการและใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ข้อพิพาทระหว่างเมืองวาปีปทุมและเมืองพยัคฆภูมิพิสัยหากมองในลักษณะของพื้นที่การปกครองแล้วมีความน่าสนใจเนื่องจากการขัดแย้งของหัวเมืองในภาคอีสานโดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ดซึ่งปรากฏว่ามีข้อขัดแย้งกันในเครือญาติและการสืบทอดอำนาจ ส่งผลให้มีการแยกเมืองจากสุวรรณภูมิขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด จากนั้นเมืองทั้งสองได้ขยายอำนาจการปกครองของตนเองโดยการส่งผู้คนไปตั้งเมืองฝั่งเมืองร้อยเอ็ดตั้งเมืองมหาสารคาม เมืองโกสุมพิสัยและเมืองวาปีปทุมส่วนใหญ่เป็นเมืองในแถบลุ่มน้ำชี ส่วนฝั่งเมืองสุวรรณภูมิขยายการปกครองและตั้งเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองเกษตรวิสัย เมืองจตุรพักตร์พิมาน และพยัคฆภูมิพิสัย ดังนั้นการที่เมืองพยัคฆภูมิพิสัยขอตั้งบ้านเมืองเสือแต่เดินทางไปตั้งเมืองที่บ้านนาข่าซึ่งเป็นเขตพื้นที่ปกครองของเมืองวาปีปทุมที่อยู่ใต้การปกครองของเมืองร้อยเอ็ดอีกระดับหนึ่ง เป็นรูปแบบของการขยายอำนาจเพื่อแข่งขันกันระหว่างสองเมืองใหญ่ในอีสานตอนกลาง เมื่อเกิดข้อพิพาทดังกล่าวแล้วนั้น หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นรูปแบบเทศาภิบาลตั้งแต่พ.ศ.2444 ส่งผลให้การแบ่งเขตการปกครองเปลี่ยนแปลงจากเดิม เมืองสุวรรณภูมิจากเป็นเมืองใหญ่ได้ถูกลดบทบางลงเป็นอำเภอใต้การปกครองของจังหวัดร้อยเอ็ด เมืองพยัคฆภูมิพิสัยซึ่งเคยอยู่ใต้การปกครองของเมืองสุวรรณภูมิก็ถูกลดบทบาทลงเป็นอำเภอใต้การปกครองของจังหวัดมหาสารคาม
ซึ่งในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองนายอำเภอของอำเภอต่างๆยังคงเป็นเจ้าเมืองคนเดิม ดังนั้นเมื่อเมืองมหาสารคามเป็นจังหวัดมหาสารคามพระเจริญราชเดช(อุ่น)ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามและพระศรีสุวรรณวงศา(เดช)เป็นนายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ผู้ปกครองทั้งสองท่านเคยมีข้อพิพาทด้านพื้นที่กันในสมัยที่พระเจริญราชเดช(อุ่น)ยังดำรงตำแหน่งเป็นพระพิทักษ์นรากร(อุ่น) เจ้าเมืองวาปีปทุม ดังนั้นเมื่อพระศรีสุวรรณวงศา(เดช) อยู่ใต้การปกครองของมหาสารคามจึงส่งผลให้อำเภอพยัคฆภูมิพิสัยขาดการเหลียวแลจากราชการส่วนกลางคือจังหวัดมหาสารคาม อำเภอสุวรรณภูมิก็เช่นเดียวกัน จะสังเกตได้ว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงพ.ศ. 2444 เมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองสุวรรณภูมิถูกลดบทบาทเป็นอำเภอเท่านั้น และกลุ่มอำนาจของเมืองใหญ่ในอีสานถูกลดบทบาทลงในที่สุด
ประชุมพงศาวดารภาค4 และประวัติท้องที่จังหวัดมหาสารคาม.พิมพ์ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระสารคามมุนี เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม.วันที่8 มีนาคม 2506
วุฒิกร กะตะสีลา.(2561).ประวัติศาสตร์การขยายตัวเมืองพยัคฆภูมิพิสัย พ.ศ.2436-2560 ฉบับประวัติศาสตร์สร้างคนเยาวชนสร้างชาติ.ที่ระลึกงาน125ปี พยัคฆ์รำลึก,9 เมษายน 2561
สิทธิศักดิ์ จำปาแดง.(2555).ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคม วัฒนธรรม บ้านนาข่า ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม.มหาสารคาม คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,2555
อุดมศักดิ์ บุญชาติ.(2545).การศึกษาวิเคราะห์ชุมชนบ้านนาข่า หมู่ที่1 ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,2545