หมู่บ้านถวายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี แต่ก่อนนั้นชาวบ้านในพื้นที่นี้ทราบว่าพระนางจามเทวีจะเสด็จโดยเกวียนจากนครลำพูนจะผ่านมายังหมู่บ้าน เพื่อเดินทางไปสร้างวัดละโว้
ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าต่อกันมาว่า หมู่บ้านถวายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี แต่ก่อนนั้นชาวบ้านในพื้นที่นี้ทราบว่าพระนางจามเทวีจะเสด็จโดยเกวียนจากนครลำพูนจะผ่านมายังหมู่บ้าน เพื่อเดินทางไปสร้างวัดละโว้ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ชาวบ้านจึงได้นัดแนะกันเพื่อนำเอาผลไม้และเครื่องบรรณการต่าง ๆ ใส่พานโตกไม้ (พานแบบล้านนา) มาถวายแด่พระนางจามเทวี เพื่อแสดงความเคารพและเป็นเครื่องสักการะแก่พระนาง จึงทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่า “หมู่บ้านถวาย”
หมู่บ้านถวายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี แต่ก่อนนั้นชาวบ้านในพื้นที่นี้ทราบว่าพระนางจามเทวีจะเสด็จโดยเกวียนจากนครลำพูนจะผ่านมายังหมู่บ้าน เพื่อเดินทางไปสร้างวัดละโว้
ประวัติบ้านถวาย
เมื่อประมาณพันกว่าปีที่ผ่านมา ดินแดนบ้านถวายแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเคยเป็นชุมชนโบราณที่เป็นส่วนหนึ่งของเวียงละโว้ (ปัจจุบันคือบ้านละโว้ ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของนครหริภุญไชย (จังหวัดลำพูน) ต่อมา พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ได้ยึดครองนครหริภุญไชย เวียงละโว้จึงมีความสำคัญน้อยลงและล่มสลายไปในที่สุด ปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นโบราณสถาน คือ ซากวัดร้างในบริเวณวัดถวาย และวัดต้นแก้วตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
การก่อกำเนิดของชุมชน
ในสมัยโบราณโดยทั่วไปการก่อกำเนิดของชุมชนมักมีจุดเริ่มต้นจากการบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำมาหากินของผู้คน เมื่อผู้คนมีมากขึ้นก็รวมกันจัดตั้งเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน การก่อตั้งชุมชนบ้านถวายก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการเกษตรกรรม ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาทำมาหากินในบริเวณนี้และตั้งเป็นชุมชนเล็ก ๆ อยู่กันเป็นหย่อมบ้าน คือ บ้านถวายใน และบ้านถวายนอก ต่อมาเมื่อจำนวนผู้คนเพิ่มมากขึ้นจึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ดังเช่น ปัจจุบัน คำว่า “บ้านถวาย” มีที่มาจากหลายแหล่ง คือ จากคำบอกเล่า และจากหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ จากคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่นประเด็นแรกสรุปได้ว่า แต่เดิมในหมู่บ้านมีต้นหวายเป็นจำนวนมาก คนในชุมชนจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ต้าหวาย” อีกประเด็นหนึ่งมาจากชื่อของเศรษฐีที่ชื่อ “วาย” ซึ่งเป็นผู้สร้างหรือบูรณะวัดในหมู่บ้าน และจากหนังสือ “รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณในเมืองเชียงใหม่” พบว่ามีวัดหนึ่งชื่อ “ธวาย” ตั้งอยู่หมู่บ้าน “ธวาย” สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาเป็น “ถวาย” อันเป็นชื่อของวัดถวายและบ้านถวายในปัจจุบัน
จากวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านถวายที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ต่อมาได้มีผู้นำเอางานแกะสลักไม้เข้ามาสู่หมู่บ้านและเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้าน มีการถ่ายทอดงานศิลปะการแกะสลักไม้และงานศิลปะแขนงอื่นที่เกี่ยวข้องสืบต่อ กันมาอย่างแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น จนกลายเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ทำให้งานศิลปหัตกรรมของหมู่บ้านถวายได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ จนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นธุรกิจการค้าที่สำคัญของตำบล (OTOP) ที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง
สภาพทั่วไปบ้านถวาย
บ้านถวายมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 450 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับอาศัยประมาณ 190 ไร่ และอีก 260 ไร่ เป็นพื้นที่ในการทำการเกษตรกรรม ในอดีตประชากรส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยได้ผลคุ้มค่ากับการลงทุนเนื่องจากหารขาดแคลนน้ำ ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ต่อมาปี พ.ศ. 2512 กรมชลประทานได้ทำการขุดคลองชลประทานตัดผ่านหมู่บ้านถวายทำให้บ้านถวายมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอมากขึ้น หลังจากหมดฤดูทำนาประชาชนเริ่มมีการปลูกถั่วเหลือง ทำสวน ผักต่าง ๆ ปลูกข้าวโพด มี 220 ครัวเรือน ลักษณะบ้านเรือนของประชาชนมีทั้งบ้านไม้ใต้ถุนสูง ซึ่งบริเวณใต้ถุนมักใช้เป็นที่ทำงานไม้แกะสลัก ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย บางบ้านมีลักษณะเป็นบ้านปูนชั้นเดียวมีบริเวณบ้านหรือลานบ้านใช้เป็นที่ทำงานไม้แกะสลัก บางบ้านมีลักษณะครึ่งไม้ครึ่งปูน ชั้นล่างของบ้านใช้เป็นที่ทำงานเช่นกัน การจัดทำรั้วบ้าน ส่วนมากมีการสร้างรั้วบ้านทำให้มองเห็นการแบ่งเขตแดนของแต่ละบ้านชัดเจนแต่การจัดทำประตูบ้านแบบถาวรคงทนส่วนมากจะจัดทำเฉพาะบ้านที่อยู่ตืดกับถนนสายหลักของหมู่บ้านและเป็นผู้มีฐานะดี
อาชีพหลัก ปัจจุบันชาวบ้านบ้านถวายประกอบอาชีพแกะสลักไม้เป็นอาชีพหลักเพื่อร่วมสืบสานภูมิปัญญาอันมีคุณค่า
ลักษณะเฉพาะของงานแกะสลักไม้
- งานไม้แกะสลัก รูปแบบงานไม้แกะสลักของช่างฝีมือหมู่บ้านถวายเป็นในลักษณะของการแกะลวดลายโบราณ เช่น เรื่องราวตัวละครหรือสัตว์ในวรรณคดีลายรดน้ำ หรือลวดลาย ที่อ่อนช้อย อาศัยฝีมือความชำนาญของช่างฝีมือหมู่บ้านถวายที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น
- งานตกแต่งเส้นเดินลาย งานตกแต่งเส้นเดินลายของช่างฝีมือหมู่บ้านถวาย รูปแบบของลวดลายการแต่งเส้นที่มีความเป็นเอกลักษณ์เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นประกอบกับการทำชิ้นงานเลียนแบบของเก่าเพิ่มมูลค่าให้กับตัวชิ้นงานมากยิ่งขึ้น
- งานลงรักปิดทอง วัสดุอุปกรณ์ในการผลิต เส้นมุก สีน้ำมัน สีน้ำพลาสติก กระจกสี ยางรัก ทองคำเปลว
ขั้นตอนการผลิต ทาสีน้ำพลาสติกรองพื้น และทาสีน้ำมันทับเริ่มแต่งเส้นเดินลวดลายลงไปให้ได้ลวดลายตามแบบของช่างฝีมือ จนเสร็จก็ทายางรักลงไปให้ทั่วชิ้นงาน จึงติดแผ่นทองคำเปลวลงไป ใช้แปรงปัดให้แผ่นทองคำเปลวตืดกับชิ้นงาน ติดกระจกสีลงไปเป็นขั้นตอนสุดท้าย ลักษณะเฉพาะ งานลงรักปิดทองของหมู่บ้านถวายเป็นการผสมผสานระหว่างงานแกะสลัก งานแต่งเส้นเดินลายและงานลงรักปิดทองเข้าด้วยกันจึงได้ลวดลายที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนและเทคนิคการปิดทอง มีการติดกระจกสีเพิ่มความล้ำค่าของชิ้นงาน
- ลวดลายตัวหนอน : ลักษณะเฉพาะของลวดลายตัวหนอน จะเป็นการม้วนปลายเส้นมุกเข้าหาตัวเส้นประมาณ 2-3ร อบ ซึ่งเป็นการลักษณะกลม ๆ และปล่อยปลายเส้นให้โค้งลงไปตามพื้นที่ ๆ จะแต่งเส้นต่อไป แล้วก็ตัดเส้นออก จากนั้นทำรูปแบบเดียวกันวางทับลงไปเรื่อย ๆ ต่อกันไปเป็นทางยาวคล้ายตัวหนอน
- ลวดลายดอกเครือ : ลักษณะเฉพาะของลวดลายดอกเครือ จะเป็นลักษณะของการม้วนเส้นมุกให้คล้ายรูปกลม ๆ เหมือนเกสรดอกไม้ซ้อมทับกันไป 2-3 ชั้นสลับกันแบบสลับฟันปลา บนและล่างโดยมีเส้นกลางทำเป็นแบบคลื่นน้ำเพื่อกั้นทั้ง 2 ข้างของลวดลายให้ออกมาเป็นแบบคล้ายดอกไม้
อาชีพเสริม ชาวบ้านถวายประกอบอาชีพเสริมโดยเป็นเกษตรกร
งานสำคัญในชุมชน
บริเวณสองฝั่งคลอง บ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าเยี่ยมชมและซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อชุมชนมีการจัดงานครั้งสำคัญ เช่น “บ้านถวาย หมู่บ้านหัตถกรรมสร้างสรรค์ ครั้งที่ 9” เมื่อปี พ.ศ. 2561 ก็มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก กิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ภายในงาน คือ นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำไม้แกะสลัก การแต่งเส้นเดินลาย การท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนาเชิงหัตถกรรม การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ของประดับตกแต่งบ้านในรูปแบบล้านนา ที่เกิดจากการค้นคว้าหาส่วนผสมใหม่ ๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย จนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 7 อัศจรรย์แห่งล้านนา โดยบ้านถวายได้ถูกบรรจุในหมวด “Creative Crafts หรือหัตถกรรมสร้างสรรค์” ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากบ้านถวาย ได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งที่นำมาจัดแสดงภายในงานต่าง ๆ ทั้ง เฟอร์นิเจอร์ สำหรับการตกแต่งที่อยู่อาศัยระดับ ผลงานชิ้นเอก ที่ถูกนำมาจัดแสดงภายใต้รูปแบบ Living Lifestyle Gallery และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้เข้าชมงานที่ต่างพูดถึงความสวยงามร่วมสมัย ทั้งในส่วนของการเลือกใช้วัสดุ ตลอดจนการดีไซน์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ได้อย่างลงตัวและมีเสน่ห์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถปั่นจักรยานเที่ยวชมวิถีชีวิตคนภายในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
ปฏิทินของชุมชม
ประเพณีท้องถิ่นของชาวเชียงใหม่ที่สำคัญและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกที่หมู่บ้านถวายมีการจัดงานเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่
เดือนเมษายน
เมื่อล่วงเลยเข้าสู่เดือน 7 (เหนือ) เป็นช่วงเวลาของงานประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรืองานเทศกาลสงกรานต์ของไทย งานประเพณีปี๋ใหม่เมืองเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวล้านนาเนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 18 เมษายน บางแห่งอาจจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ก็ได้
ชาวล้านนาถือว่าวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่และในช่วงเวลา 6 วันนี้ก็จะมีการประกอบพิธีหลายอย่าง เช่น วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันสังขารล่อง (วันสิ้นสุดปีเก่า) ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะยิงปืน จุดประทัด เพื่อขับไล่เสนียดจัญไรแล้วทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันเนา" หรือ "วันเน่า" วันนี้ชาวเชียงใหม่จะทำแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล พร้อมทั้งตระเตรียมอาหารคาวหวาน เครื่องไทยทานเพื่อไปทำบุญที่วัด วันที่ 15 เมษายน เป็น "วันพญาวัน" ถือเป็นวันเริ่มศักราชใหม่ ชาวเชียงใหม่จะไปทำบุญตักบาตรที่วัดและถวายอาหารแด่พระสงฆ์เรียกว่า "ทานขันข้าว" เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับและสงฆ์น้ำพระ หลังจากนั้นจึงนำขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย หมากพลู เมี่ยงไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ส่วนวันที่ 16 - 18 เมษายน เรียกว่า "วันปากปี ปากเดือน ปากวัน" จะเป็นวันประกอบพิธีกรรมสักการะต่อวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป
ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเม็ดเงินหมุนเวียนในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 20 ล้านบาท
เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน
หลังจากผ่านเดือน 7 เข้าสู่เดือน 8 (เหนือ) เป็นช่วงเวลาของการจัดงานประเพณีเข้าอินทขีล ซึ่งเป็นชื่อของเสาหลักเมืองเชียงใหม่ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดสะดือเมือง หรือ วัดอินทขีลกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันย้ายไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวงและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นเสาปูน การจัดงานประเพณีอินทขีล จะจัดขึ้นในปลายเดือน 8 ต่อต้นเดือน 9 (พฤษภาคม - มิถุนายน) ชาวบ้านเรียกประเพณีนี้ว่า "เดือนแปดเข้าเดือนเก้าออก" แต่เดิมการจัดประเพณีเข้าอินทขีลนี้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะจัดขึ้นเพื่อสังเวยเทพยดาอารักษ์ บูชากุมภัณฑ์ และมีพิธีเข้าทรงผีเจ้านายเพื่อสอบถามว่าฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์และชะตาบ้านเมืองจะดีหรือไม่ หากชะตาของเมืองไม่ดีก็จะจัดพิธีสืบชะตาเมืองเพิ่มขึ้นด้วย
ปัจจุบันการจัดงานประเพณีเข้าอินทขีลของจังหวัดเชียงใหม่ได้เพิ่มการทำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง โดยการแห่พระพุทธรูปคันธารราษฏร์ (พระเจ้าฝนแสนห่า) ไปรอบเมืองจากนั้นจะนำมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวงเพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้สรงน้ำพระสงฆ์ 9 รูปจะเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขีลซึ่งฝังอยู่ใต้ดิน การจัดประเพณีเข้าอินทขีลนี้ก็เพื่อมุ่งสร้างขวัญและกำลังใจของชาวเชียงใหม่ก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกต่อไป
เดือนพฤศจิกายน
ประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ยังมีอีกหลายประเพณี ล้วนแล้วแต่เป็นประเพณีที่สำคัญเกี่ยวข้องกับศาสนาทั้งสิ้น โดยเริ่มตั้งแต่ในเดือนพฤศจิกายนหรือ "เดือนยี่" อันนับเป็นเดือนที่สองของปฏิทินล้านนา ในเดือนนี้จะมีการจัดงานประเพณีลอยโคมและโขมด เป็นประเพณีการทำบุญหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับการทำไร่ทำนา ชาวล้านนาจะจัดให้มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่ หรือเรียกอีกอย่างว่า "วันยี่เป็ง" โดยจะมีการลอยโคมในเวลากลางวันและกลางคืน ตามวัดวาอารามและบ้านเรือนต่าง ๆ จะประดับตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อย โคมไฟและดอกไม้นานาชนิด มีการสร้างเป็น "ประตูป่า" เพื่อเตรียมในการตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) นอกจากนั้นในวันดังกล่าวชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรและฟังเทศน์แบบพื้นบ้านที่วัด
1. นายยรรยงค์ คำยวง เริ่มสนใจเรื่องการแกะสลักไม้เมื่อมีอายุได้ 18 ปี โดยมีแรงบันดาลใจมาจากญาติพี่น้องที่ทำงานแกะสลักไม้ที่มีรูปแบบและลวดลายต่าง ๆ จึงได้ขอไปเป็นลูกมือ ต่อมาได้เรียนรู้การแกะสลักไม้จากช่างฝีมือท้องถิ่นรุ่นแรก ๆ ของหมู่บ้านถวายได้ไปซ่อมของเก่าในตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น หลังคา ซ่อฟ้า ใบระกา หน้าบันและประตูโบสถ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปะล้านนาก่อนที่จะนำความรู้มาถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านถวายจนทำให้ช่างชุมชนมีทักษะและฝีมือมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างสรรค์ผลงานไม้แกะสลักจนกลายเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนชาวบ้านถวายจนถึงทุกวันนี้
นายยรรยงค์ คำยวง เป็นหนึ่งในช่างฝีมือแกะสลัก ผู้สืบต่องานแกะสลักไม้ของหมู่บ้านถวายมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ได้เรียนรู้การแกะสลักแผ่นไม้ให้เป็นลวดลายต่าง ๆ รับซ่อมแซมของเก่าที่มีผู้นำซ่อมแซมและพร้อมที่จะพัฒนาออกแบบลวดลายและแกะสลักไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อได้เรียนรู้ ฝึกฝน และสั่งสมประสบการณ์มาในระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่อายุได้ 23 ปีได้เข้าร่วมการแข่งขันแกะสลักไม้ ในงานศิลปหัตถกรรมแกะสลักไม้บ้านถวายเป็นครั้งแรก ปรากฏว่างานแกะสลักไม้รูปเทวดาทรงไม้ที่สรรค์สร้างขึ้นได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้นายยรรยงเป็นที่รู้จักและมีผู้ชื่นชอบงานไม้แกะสลักและเริ่มมีการสั่งทำผลงานทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขี้น นับจากนั้นนายยรรยงค์จึงมีชื่อเสียงมากขี้น
- สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญางานแกะสลักไม้มีทักษะ ความเชี่ยวชาญในการ “แกะสลักสามมิติ” ที่มีลวดลายละเอียด วิจิตร ซับซ้อนมีเอกลักษณ์โดดเด่นทุกชิ้นงาน งานแกะสลักเป็นงานฝีมือประเภทหนึ่งที่ต้องใช้ความละเอียด อดทน มานะสูง และที่สำคัญผู้แกะสลักจะต้องมีความคิดสติปัญญาที่จินตนาการกว้างไกล การแกะสลักกว่าจะได้มาซึ่งผลงานแต่ละชิ้นจึงเป็นงานที่มีคุณค่ายิ่งเพราะต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก งานแกะสลักจึงเป็นการฝีมืออีกรูปแบบหนึ่งที่ช่างฝีมือจะใส่ตัวตนและจิตวิญญาณลงสู่ชิ้นงาน อย่างงานแกะสลักไม้ของครูยรรยงค์ คำยวง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี พ.ศ. 2562 ประเภทเครื่องไม้ (แกะสลักไม้) จังหวัดเชียงใหม่
- สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญางาน “แกะสลักไม้” แบบดั้งเดิมที่สะท้อนทักษะฝีมือเชิงช่างมากว่า 38 ปี มีทักษะ ความเชี่ยวชาญในการ “แกะสลักไม้” ในทุกรูปแบบพัฒนาทักษะฝีมือตนเองจนมีทักษะที่เชี่ยวชาญมากในการ “แกะสลักแนวสามมิติ” ที่มีลวดลายละเอียดวิจิตร ซับซ้อน ผลงานชิ้นเอกที่สำคัญ ๆ คือ การแกะสลักเรื่องราว รามเกียรติหรือผลงานที่สะท้อนลวดลายที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราววรรณคดี และจินตนาการเข้าด้วยกัน ปัจจุบันครูยรรยงค์ ยังคงพัฒนางาน “แกะสลักไม้” ควบคุมการท่างานของช่างภายในกลุ่มให้สร้างสรรค์ผลงานตามวิธีการดั้งเดิม และมีเอกลักษณ์โดดเด่นทุกชิ้นงาน
- ประธานกลุ่มหัตถกรรมบ้านถวาย กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้หมู่บ้านถวายและร้านค้าสองฝั่งคลองเงียบเหงาลงไป เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงถนนและปรับภูมิทัศน์บางจุดภายในหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จึงทำให้ช่วงระยะ 1 - 2 เดือนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่เข้ามาในหมู่บ้านถวายลดลงไปประมาณ 50% และเมื่อทุกอย่างลงตัว ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่หายไปกลับคืนมาเหมือนเดิม และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างแน่นอน
บ้านถวายหมู่บ้านสร้างสรรค์ บ้านถวายหมู่บ้านสร้างสรรค์ หรือเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า ศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายสองฝั่งคลอง ตั้งอยู่บริเวณใจกลางหมู่บ้านถวายที่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของงานแกะสลักไม้ของที่นี่ ภายในแบ่งออกเป็นโซน ๆ มีร้านค้าหัตถกรรมอยู่บริเวณสองข้างคลองชลประทาน ตกแต่งพื้นที่ด้วยสถาปัตยกรรมล้านนา มีสินค้าหลายประเภทให้เลือกซื้อหาในราคาย่อมเยา ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักเป็นรูปสัตว์ รูปเทวดา รูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ พระพุทธรูป ของตกแต่งบ้านต่าง ๆ เฟอร์นิเจอร์ ฯ ต่อมาได้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่บ้านถวายโดยใช้ชื่องานว่า “บ้านถวายหมู่บ้านสร้างสรรค์” ขึ้น จึงเข้าใจว่าได้กลายเป็นชื่อเรียกใหม่ของศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายสองฝั่งคลองในที่สุด
บ้านทิพย์มณี บ้านทิพย์มณีตั้งอยู่ก่อนถึงทางเข้าบ้านถวายหมู่บ้านสร้างสรรค์บริเวณขาออก เป็นแหล่งรวมงานชิ้นเอกของสล่า (ช่าง) แกะสลักไม้ฝีมือเลิศชั้นครูของเชียงใหม่และบ้านถวาย ทั้งด้านนอกและดานในจะได้ชมงานแกะสลักนับพันชิ้น ไม่ว่าจะเป็นของศิลปะแบบนูนต่ำ แบบนูนสูง หรือแบบลอยตัวรวมถึงแบบ 3 มิติ บางชิ้นใช้เวลานับปีในการสร้างสรรค์ขึ้นมา มีความงดงามเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นด้านนอกยังมีองค์พระพิฆเนศวรปางเสวยสุขทำด้วยไม้สักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยให้ได้กราบไว้บูชา องค์พระพิฆเนศวรปางเสวยสุขนี้มีความสูง 298 เซนติเมตร ยาว 400 เซนติเมตร และกว้าง 220 เซนติเมตร มีการจัดบวงสรวงพระพิฆเนศวรทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
ศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย ตั้งอยู่ก่อนถึงบ้านถวายหมู่บ้านสร้างสรรค์ จะมีทางเลี้ยวเข้าไปบริเวณศูนย์ ภายในศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวายเป็นแนว SME แบ่งออกเป็นซอยต่าง ๆ แต่ละซอยจะมีร้านค้าจำนายสินค้าแนวหัตถกรรม บางร้านเป็นเชิงประยุกต์ สามารถเปรียบเทียบชมสินค้าได้ตามอัธยาศัย
วัดถวาย วัดถวายเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านถวายตั้งอยู่ระหว่าง บ้านถวายหมู่บ้านสร้างสรรค์ และศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย เป็นวัดที่เกิดจากการรวมแรงรวมใจของชุมชนและจิตศรัทธาในพุทธศาสนา ภายในวัดถวายจึงเต็มไปด้วยผลงานที่ชาวบ้านฝากฝีไม้ลายมือของตนไว้คู่กับวัด ดังเช่น ลวดลายการแกะสลักประตูหน้าต่างวิหาร ช่อฟ้าใบระกา (ป้านลม) ลวดลายการแกะสลัก และลงรัก ปิดทอง ของอุโบสถไม้สักอันงดงาม โขงโบราณอายุกว่า 200 ปี หอพระไตรปิฎกทรงล้านนา และมณฑปครูบาเจ้าโสภา (เบ้า) โสภโณ
ภาษาที่ใช้พูดคุยกันส่วนมากเป็นภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมือง แต่ก็มีการสื่อสารการลูกค้าเป็นภาษาไทยกลางและภาษาอังกฤษตามความเหมาะสม
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิดผลดีแก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก สามารถทำรายได้สูงสุดให้แก่ประเทศไทยมาโดยตลอดโดยเฉพาะส่วนที่ เป็นเงินตราต่างประเทศ การท่องเที่ยวยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่นที่เป็น แหล่งท่องเที่ยว โดยรายได้จากการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยว กระจายลงไปถึงประชาชนในระดับรากหญ้าที่เป็นแรงงานภาคการผลิต ภาคบริการ และ การยังก่อให้เกิดผลดีทางสังคมด้วย กล่าวคือ การท่องเที่ยวยังเป็นช่องทางการเผยแพร่แลกเปลี่ยน วัฒนธรรม นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวในชุมชนต่าง ๆ จะมีโอกาสได้สัมผัส และ เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และความเชื่อกับประชาชนในท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้นการท่องเที่ยวยังมีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนใน ท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของการรักษา อนุรักษ์ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาตัวเอง เช่น เรียน ภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม เป็นต้น เพื่อหาประโยชน์จากการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชนบท ทำให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนที่มีการศึกษาไม่ต้องอพยพไปหางานทำในเมือง ยังได้ร่วมพัฒนาท้องถิ่นด้วย จากผลดีของการท่องเที่ยวดังกล่าว รัฐบาลจึงมีนโยบาย ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศกําลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยกําหนดให้เป็นนโยบายหลักเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554)
บ้านถวาย เป็นหมู่บ้านไม้หัตถกรรมที่ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่อำเภอหางดง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ บ้านถวายเป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทยและต่างประเทศว่าเป็นแหล่งกำเนิดงานแกะสลักไม้ชั้นเลิศของจังหวัดมากว่า 50 ปี มีการสืบทอดฝีมือกันมารุ่นสู่รุ่น เริ่มต้นจากก่อกำเนิดของปูชนียบุคคลสามท่าน ได้แก่ พ่อหนานแดง พันธุสา, พ่อใจมา อิ่นแก้ว และพ่อเฮือน พันธุศาสตร์ ที่ได้เดินทางไปทำงานและเรียนการแกะสลักไม้ที่ร้านน้อมศิลป์ บ้านวัวลาย บริเวณประตูเชียงใหม่ จนนำมาเผยแพร่ในหมู่บ้านถวาย ในที่สุดก็กลายเป็นหมู่บ้านหัตกรรม และทำให้ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากงานแกะสลักไม้ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของบ้านถวายแล้ว บ้านถวายยังเป็นแหล่งหัตถศิลป์ที่โดดเด่น ได้แก่ งานเทคนิคสีเนื้อไม้ ที่โชว์ให้เห็นถึงความสวยงามของเนื้อไม้ตามธรรมชาติ งานเทคนิคสีแตกลายงา เป็นงานที่ตั้งใจให้สีเกิดการแตกแยกตัว เพื่อให้ดูคล้ายของเก่า และงานแอนติค เป็นงานที่ทำขึ้น โดยใช้เทคนิคสีต่าง ๆ ทำเลียนแบบของเก่า-โบราณ นอกจากนั้นยังมีงานลงรักปิดทอง เครื่องเขิน ผ้าทอ เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา ฯ
บ้านถวาย เป็นแหล่งศิลปะหัตถกรรมชั้นยอดของเมืองเชียงใหม่ ที่สร้างผลงานไม้แกะมากมาย ส่งออกขายทั้งไทยและต่างประเทศ อันเป็นสถานที่ที่นำมา ซึ่งชื่อเสียงของชาวบ้านถวาย และเมื่อกล่าวถึง “งานไม้ งานแกะสลักไม้ หรืองานประดิษฐ์จากไม้” บุคคลทั่วไปทุกคนจะต้องนึกถึง “บ้านถวาย” อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเหตุว่า งานไม้ งานแกะสลักไม้ หรืองานประดิษฐ์จากไม้ ของบ้านถวายนั้น เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียงเป็นระยะเวลานาน มีความสวยงาม ประณีต และเป็นงานที่ทำขึ้นด้วยมือ (Hand Made) ผสมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลก และด้วยเหตุผลนี้ ในปี พ.ศ.2547 จากนโยบายหนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลของรัฐบาล บ้านถวายได้รับเกียรติจากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็น “หมู่บ้าน OTOP ต้นแบบ” ของประเทศไทย และได้รับเกียรติจาก สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็น “หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP (OTOP Tourism Village)” แห่งแรกของประเทศไทย ๆ
ลักษณะสังคม วัฒนธรรม ประเพณี
ประชาชนบ้านถวายส่วนใหญ่ มีความเสียสละในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีของหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ ประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือประเพณีกิ๋นข้าวสลาก ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีไหว้ศาลพ่อบ้าน
ประวัติการลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล
- 2549 : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม
- 2552 : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ งานวิจัยการออกแบบผลิตภัณฑ์
- 2554 : มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- 2557 : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
- 2560 : มหาวิทยาลัยแม่โจ้ งานวิจัยศึกษาช่องทางการจัดจำหน่ายไม้แกะสลักชุมชนบ้านถวาย
เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา. (2554). ภูมิปัญญาท้องถิ่นคือรากฐานของชุมชน (เอกสารอัดสำเนา). กรุงเทพฯ : เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา.
นัทธ์หทัย ปัญเจริญ. (2548). ช่องทางการจัดจำหน่ายไม้แกะสลักชุมชนบ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
วินัย โสมดี. (2552). วิเคราะห์การออกแบบผลิตภัณฑ์ และศักยภาพของธุรกิจชุมชนตามโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” กรณีศึกษาผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
ศูนย์บริการข้อมูลการค้าการลงทุน จังหวัดเชียงใหม่. (2554). ฐานข้อมูลสินค้าหัตถกรรม ที่มีศักยภาพ: หัตถกรรมไม้. เชียงใหม่: ศูนย์บริการข้อมูลการค้า การลงทุน จังหวัดเชียงใหม่.
สมหวัง คงประยูร. (ม.ป.ป.). ลักษณะการแกะสลักไม้. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.
สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่. (2552). ข้อมูลจังหวัด (เอกสารอัดสำเนา). เชียงใหม่: สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่.
อุษณีษ์ ปัญจมาตย์. (2549). การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตงานหัตถกรรมไม้ของผู้ประกอบการในตำบลหนองควายอำเภอหางดงจังหวัดเชียงใหม่ [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ประพัฒน์ โพธิ์ธา, สัมภาษณ์, 16 กุมภาพันธ์ 2566.