Advance search

บ้านเก็ต

บ้านเก็ต

บ้านเก็ตเป็นแหล่งทอและจำหน่ายผ้าทอไทลื้อที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น นอกจากนี้ ยังมี "วัดภูเก็ต" เป็นสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน เดิมตั้งชื่อตามชื่อหมู่ของบ้านที่ชื่อว่าหมู่บ้านเก็ต แต่ด้วยวัดตั้งอยู่บนเนินเขา ซึ่งคนภาคเหนือเรียกว่า ดอยหรือภู จึงได้ตั้งชื่อตามลักษณะที่ตั้งว่า "วัดภูเก็ต" หมายถึง วัดบ้านเก็ตที่อยู่บนภูหรือดอย

หมู่ที่ 2
บ้านเก็ต
วรนคร
ปัว
น่าน
นารากร จิณะเสน
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านเก็ต
บ้านเก็ต

บ้านเก็ต เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีอายุหลายร้อยปี เกิดจากการย้ายถิ่นฐานของคนไทลื้อมาจากเชียงรุ้งหรือเจียงฮุ่งในพื้นที่สิบสองปันนา ประเทศจีน ครั้งที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวใช้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านเคล็ด" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "บ้านเกล็ด" หมายถึง ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้เกล็ด (ภาษาเหนือ) หรือไม้ชิงชัน (ภาษากลาง) ต่อมาได้มีการเปลี่ยนการสะกดคำเป็นคำว่า "บ้านเก็จ" และเปลี่ยนเป็น "บ้านเก็ต" ในปัจจุบัน


บ้านเก็ตเป็นแหล่งทอและจำหน่ายผ้าทอไทลื้อที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น นอกจากนี้ ยังมี "วัดภูเก็ต" เป็นสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน เดิมตั้งชื่อตามชื่อหมู่ของบ้านที่ชื่อว่าหมู่บ้านเก็ต แต่ด้วยวัดตั้งอยู่บนเนินเขา ซึ่งคนภาคเหนือเรียกว่า ดอยหรือภู จึงได้ตั้งชื่อตามลักษณะที่ตั้งว่า "วัดภูเก็ต" หมายถึง วัดบ้านเก็ตที่อยู่บนภูหรือดอย

บ้านเก็ต
หมู่ที่ 2
วรนคร
ปัว
น่าน
55120
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-7070-4183, อบต.วรนคร โทร. 0-5468-8161
19.16645
100.93413
องค์การบริหารส่วนตำบลวรนคร

การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวไทลื้อในอำเภอปัว จังหวัดน่าน

ชาวไทลื้ออพยพมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอปัว เมื่อราว 200 ปีมาแล้ว ในช่วงเวลาที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ภายหลังจากการ “ฟื้นม่าน” กองกำลังหัวเมืองล้านนาในขณะนั้นได้เข้าไปตีเมืองสำคัญทั้งหลาย ในเขตดินแดนสิบสองปันนา มีทั้งที่โดนกวาดต้อนและสมัครใจย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในหัวเมืองสำคัญของล้านนา

ตามพงศาวดารเมืองน่าน ชาวไทลื้อถูกกวาดต้อนและอพยพมาด้วยความสมัครใจเข้ามาอาศัยอยูในเมืองน่านเป็นจำนวนมาก มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตอำเภอปัวถือว่าเป็นเขตที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน อำเภอปัวมีชาวไทลื้ออาศัยอยู่ใน 6 ตำบล รวม 25 หมู่บ้าน ประกอบด้วย

  • ตำบลปัว จำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอน และบ้านป่าลาน
  • ตำบลศิลาแลง จำนวน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเฮี้ย บ้านดอนไชย บ้านตีนตก บ้านหัวน้ำ บ้านฝาย และบ้านหัวดอย
  • ตำบลศิลาเพชร จำนวน 8 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาคำ บ้านทุ่งศรีบุญยืน บ้านป่าตอง บ้านดอนแก้ว บ้านดอนไชย บ้านทุ่งรัตนา บ้านป่าตองดอนทรายทอง
  • ตำบลวรนคร จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเก็ต บ้านมอน บ้านร้องแง บ้านดอนแก้ว
  • ตำบลสถาน จำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาป่าน และบ้านสันติสุข
  • ตำบลเจดีย์ชัย จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสบปัว บ้านศาลา บ้านวังม่วง และบ้านทุ่งชัย

ชาวไทลื้ออำเภอปัว อพยพมาจากหลายเมืองในเขตสิบสองปันนาและบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองเลน เมืองเงิน เมืองพวน เชียงลาบ เมืองขอน เชียงแขง เมืองล้า ชาวไทลื้อจากเมืองเหล่านี้ได้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยูตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอปัว จากดินแดนสิบสองปันนา มาตั้งรกรากอยู่เขตในอำเภอปัว ชาวไทลื้อยังคงรักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้อย่างน่าชื่นชม แม้ว่าบางอย่างถูกเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรม การผสมผสานกับวัฒนธรรมคนไทยวนท้องถิ่นและความเจริญตามยุคสมัย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้ออำเภอปัว จังหวัดน่าน ที่มีความสำคัญและแสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ มรดกภูมิปัญญาการทอผ้าไทลื้อ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านเก็ต อำเภอปัว จังหวัดน่าน

บ้านเก็ตเป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ก่อตั้งเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2270 - 2310 เดิมชาวบ้านมีถิ่นฐานอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา เป็นชาวไทลื้อ โดยอพยพย้ายถิ่นฐานลงมาเรื่อย ๆ และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้ โดยการนำของท้าวแสนคำมูล (ปัจจุบัน เป็นต้นสกุล มูลคำ) และท้าวแสนหลวงหาญ (ปัจจุบันเป็นต้นสกุล หาญยุทธ ) โดยได้อพยพผ่านลงมาทางเมืองยอง ประเทศพม่า เมืองหลวงน้ำทา เมืองสิงห์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จนกระทั่งมาพบชัยภูมิที่เหมาะสม คือ ที่ตั้งบ้านเก็ตปัจจุบัน เนื่องจากมีภูมิประเทศได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ แม่น้ำไหลผ่านโดยรอบและใจกลางหมู่บ้าน อีกทั้งยังเป็นที่ราบพอที่จะแป๋งบ้านแป๋งเฮิน (สร้างที่อยู่อาศัย) และวัดวาอารม (แป๋งวัด) ตลอดจนเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมกสิกรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้สร้างวัดกับเสาหลักบ้าน อยู่ใจกลางหมู่บ้าน และสร้างจุดรวมพล (โข่งสลี๋) ให้ประชาชนแป๋งเฮิน (สร้างที่อยู่อาศัย) กระจัดกระจายไปตามที่ ราบลุ่มติดลำน้ำ (เหมืองหลวง) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ประกอบด้วยชุมชนย่อย ๆ 4 กลุ่ม ๆ ละ 5-6 หลัง ประกอบด้วย กลุ่มบ้านผึ้ง กลุ่มบ้านป่ากล้วย ปกครองโดยท้าวแสนคำมูล กลุ่มบ้านยางน้อย และกลุ่มบ้านยางหลวง ปกครองโดยท้าวแสนหลวงหาญ นับถือพระพุทธศาสนาและแป๋ง (สร้าง) วัดศรัทธาเดียวกัน ชื่อว่า "วัดบ้านเคล็ด" ที่เรียกว่า "บ้านเคล็ด" เหตุเพราะมีเคล็ดไม้และโค่ไม้ (เศษไม้รกทึบ) มากมาย อีกทั้งช่าง (สล่าแป๋ง วัด วิหาร แบบไทลื้อ) ในอดีตก็ได้มีการนำไม้เกล็ด (พยุง) มาทำแป้นเกล็ด (แผ่นแทนกระเบื้อง) เพื่อใช้มุงหลังคา วิหาร กุฏิ และยังได้ทำการขุด “คูบ้านคูเมิง” ลึกประมาณ 150 เซนติเมตร กว้าง 2 เมตร ไว้ป้องกันสัตว์และข้าศึก ตั้งแต่วัดภูเก็ต ปัจจุบันตามสันดอยถึงบ้านสวนดอกอีกด้วย

หลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานจากเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา คือ ชื่อหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านยังคงยึดใช้ชื่อเดิม หรือแม้มีการเปลี่ยนแปลงจากการกัดกร่อนทางภาษา ก็ยังคงใช้ชื่อที่ใกล้ใกล้เคียงกับชื่อเดิม กล่าวคือ ครั้งที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวใช้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านเคล็ด" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "บ้านเกล็ด" หมายถึงตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้เกล็ด (ภาษาเหนือ) หรือไม้ชิงชัน (ภาษากลาง) ต่อมาได้มีการเปลี่ยนการสะกดคำเป็นคำว่า "บ้านเก็จ" และเปลี่ยนเป็น "บ้านเก็ต"ในปัจจุบัน

ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำสลับภูเขา แม่น้ำไหลผ่านตลอดฤดู มีทางเชื่อมต่อและทางผ่านไปมาสะดวก มีเนื้อที่ 3,125 ไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนา ทำสวน โดยใช้เนื้อที่ 2,010 ไร่ ผลผลิตที่จำหน่ายสู่ตลาดภายในและภายนอกชุมชนได้แก่ ข้าว พืชผัก พืชตระกูลถั่ว ผ้าทอ เครื่องดนตรีไทย เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ ของละเล่น 

ที่ตั้ง

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านสวนดอก หมู่ที่ 6 ตำบลวรนคร
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านหัวดอย หมู่ที่ 6 ตำบลศิลาแลง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ลำน้ำกูนและบ้านศาลา หมู่ที่ 2 ตำบลศิลาแลง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านจูน หมู่ที่ 4 ตำบลปุากลาง 

ลักษณะภูมิอากาศ มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว 

สภาพทางสังคม สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร มีการจัดระเบียบถูกสุขลักษณะ ครอบครัวมีความอบอุ่น ประชาชนส่วนใหญ่มีสุขภาพดี ครัวเรือนในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มที่ตั้งขึ้นในหมู่บ้าน ครัวเรือนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือแบ่งปัน มีการร่วมกิจกรรมในหมู่บ้าน

ชาวบ้านส่วนมากเป็นชาวกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ โดยข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เมื่อเดือนมกราคม 2566 พบว่า พื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านเก็ต ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน มีประชากรรวมทั้งสิ้น 811 คน เป็นเพศชาย 401 คน และเพศหญิง 410 คน

ไทลื้อ

จากการสำรวจข้อมูลอาชีพเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่า ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม 60% รองลงมา ค้าขายประกอบธุรกิจส่วนตัว 20% รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ 10% และอื่น ๆ 10% ตามลำดับ

ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนา ทำสวน โดยใช้เนื้อที่ 2,010 ไร่ จากเนื้อที่ 3,125 ไร่ ผลผลิตที่จำหน่ายสู่ตลาดภายในและภายนอกชุมชน ได้แก่ ข้าว พืชผัก พืชตระกูลถั่ว ผ้าทอ เครื่องดนตรีไทย เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ ของเล่น

ชุมชนบ้านเก็ต เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่มีประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้แก่

  • ตานโก๊ะข้าว เป็นการถวายสำรับกับข้าว หรือถวายถาดใส่ข้าวและอาหารคาวหวานที่ชาวบ้านเก็ตนิยมทำกันมาช้านานแล้ว โดยความมุ่งหมาย คือ เพื่อส่งต่ออาหารที่ทำขึ้นเองอุทิศไปถึงยังเทพยดา พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติ และบุคคลที่เคารพนับถือ ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่ แสดงออกถึงความความกตัญญูกตเวที และความเป็นคนมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

  • ตานก๋องทราย/ตานกรรม เป็นพิธีกรรมตามขนมธรรมเนียมของคนบ้านเก็ต เป็นพิธีถวายมหาสังฆทานใหญ่ มีการจัดหาข้าวของเครื่องใช้ตามประเพณีดั้งเดิม อันได้แก่ การก่อพระเจดีย์ทราย มีของใช้ในพิธี ประกอบด้วยของถวายพระสงฆ์และปูชนียสถาน ของถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครู บาอาจารย์ ของทิ้งลงหลุม (เพื่อตัด/ทิ้งสิ่งไม่ดีออกจากตัว) ต้นทาน (กั๋น) เป็นต้น

  • บายศรีสู่ขวัญเมือง เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของคนบ้านเก็ต ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนามธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “ขวัญ” ซึ่งมีหน้าที่รักษาคุ้มครองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง การทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้กลับมาอยู่กับเจ้าของ และเชื่อว่า เป็นการส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติและไม่ประมาท

  • สู่ขวัญควาย เป็นพิธีที่ทำกันเมื่อเสร็จจากการปลูกข้าวแล้ว เป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงบุญคุณของควายที่ได้ให้แรงงานไถนาให้คนสามารถปลูกข้าวได้ ซึ่งบางครั้งอาจมีการเฆี่ยนตี ดุด่า จึงต้องทำพิธีนี้เพื่อเป็นการขอขมาที่ได้ล่วงเกิน เป็นการสอนให้คนรู้จักความกตัญญูรู้คุณ มีเมตตากรุณา สำนึกในความผิดของตน โดยมีผู้นำทางจิตวิญญาณ (ปู่จ๋าน) เป็นผู้ทำพิธีโดยมีเจ้าของควาย คนภายในครอบครัว ญาติพี่น้อง และเจ้าของควายตัวอื่น ๆ ที่มาร่วมลงแขกนานำควายมาร่วมในพิธีกรรมนี้ด้วย

  • สืบจะต๋าข้าว (ชะตาข้าว) หลังปักดำนาเสร็จสิ้น ชาวบ้านจะนำกล้าข้าว น้ำส้มป่อย ภาชนะใส่หินทราย ไม้ค้ำสลี (ไม้ยาวประมาณ 1.20 เมตร ด้านปลายมีง่ามไม้ 1 มัด จำนวน 3 อัน) มารวมกันหน้าพระประธานที่วัด เพื่อทำการสืบชะตาข้าว เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวนาให้ ข้าวเติบโตสมบูรณ์ ปราศจากแมลงศัตรูพืชมารบกวน ฝนฟ้าบริบูรณ์ ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อเสร็จ พิธีจะนำไม้ค้ำสืบชะตาไปปักบนผืนนาข้าวของตน พร้อมปักดำกล้าข้าวที่เอาเข้าพิธีและนำน้ำส้มป่อยประพรมไปตามผืนนา ซึ่งหลังจากนี้เมื่อได้ผลผลิตข้าวก็จะนำไปกองรวมกันหน้าพระประธานในพระวิหารวัดอีกครั้ง เรียกว่า "พิธีถวายตานข้าวใหม่"

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งเห็นได้จากการที่ยังมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การส่งกำเนิด ส่งเคราะห์ส่งภัย การแฮกปุงยำ (ไล่ภูตผี) การเลี้ยงผี เกิดจากความเชื่อของคนบ้านเก็ต เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นกับตนเอง หรือผู้ใกล้ชิด ต่างก็เชื่อกันว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้ใกล้ชิดนั้น เกิดจากเคราะห์ได้เข้ามาสู่ผู้นั้น จึงได้หาวิธีการที่จะขจัดปัดเป่าเคราะห์นั้นให้หมดสิ้นไป ซึ่งเป็นการขจัดความวิตกกังวลที่เกิดในจิตใจได้ในระดับหนึ่ง เคราะห์ที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อว่าเกิดจากภูติผีปีศาจหรือรุกขเทวดาที่โน่นที่นี่ไม่พอใจหรือไปทำอะไร เป็นการลบหลู่ จึงต้องทำการส่งเครื่องเซ่นไปไหว้เพื่อให้เคราะห์นั้นหมดสิ้นหรือเบาบางลงไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนมนุษย์ ชุมชนมีปราชญ์หลากหลายสาขาที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากภูมิปัญญาให้กับผู้สนใจได้ เช่น

  1. นางศดานันท์ เนตรทิพย์ การทอผ้าไทลื้อ และการย้อมสีธรรมชาติ
  2. นายสอน อุ่นเรือน การจักสาน
  3. นายสุข พลจร การทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง
  4. นางพรทิพย์ สุทธหลวง การทำกะละแมไทลื้อ และมะขามแก้ว

ทุนกายภาพ ได้แก่ การทอผ้า และการย้อมสีธรรมชาติ ณ กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเก็ต การจักสาน บ้านตาสุข การทำเครื่องดนตรีพื้นเมืองบ้านตาสุข และการทำกะละแมไทลื้อ

ทุนทางธรรมชาติ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งมรดกทางธรรมชาติทุ่งหน้าภายในชุมชนและวัดภูเก็ต

ทุนทางวัฒนธรรม

  1. อาหารพื้นถิ่น ได้แก่ คั่วไก่ผง ซ้าเขือแจ้ แกงแค ยำหญ้าหมอน้อย และน้ำพริกน้ำปู๋
  2. การแต่งกาย ได้แก่ เอกลักษณ์ในการสวมใส่ผ้าซิ่นตีนจก ซิ่นม่าน ซิ่นก่าน สวมเสื้อไทลื้อแขนยาว และสวมผ้าโพกศีรษะ
  3. ที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านไทลื้อดั้งเดิมยกใต้ถุนสูงและมีหลังคาสูง
  4. ศิลปะพื้นถิ่น ได้แก่ การฟ้อนเล็บ การฟ้อนมองเซิง

ชาวบ้านเก็ตใช้ภาษาไทลื้อในการสื่อสารเป็นหลัก ภาษาไทลื้อเป็นภาษาในตระกูลภาษาไทกะได มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง มีวรรณยุกต์ 6 เสียง โดยบางเสียงจะแตกต่างไปจากภาษาไทยวน ตัวอย่าง สระเอียเป็นสระเอ เช่น เมียเป็นเม สระอัวเป็นสระโอ เช่น ผัวเป็นโผ สระเอือเป็นสระเออ เช่น เกลือเป็นเกอ


ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน หมู่บ้านมีผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้าชุมชน ที่มีรูปแบบ มีมาตรฐานบรรจุภัณฑ์มีคุณภาพปลอดภัย ได้แก่

1. ประเภทอาหาร ได้แก่

1.1 น้ำพริกกากหมูคุณปุริม เป็นน้ำพริกที่ปรุงขึ้นโดย คุณปุริมพัฒน์ อภิรัฐไชยโย ซึ่งชาวบ้านเก็ตมีการปลูกกระเทียมและหอมแดงเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำไปขายให้ได้ราคาได้ คุณปุรุมพัฒน์ จึงได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ด้วยการแปรรูปกระเทียม และหอมแดงผสมกับกากหมู ปรุงจนได้น้ำพริกกากหมูที่มีชื่อเรียกว่า “น้ำพริกกาก หมูคุณปุริม” เป็นน้ำพริกกากหมูที่ ไร้น้้ามัน หอม กรอบ อร่อย 

1.2 กะละแมไทลื้อสูตรโบราณ ซึ่งทำมาจากแป้งข้าวเหนียว เส้นเหนียวหนึบ สีดำจากกากมะพร้าวเผา

2. ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ได้แก่ ผ้าถุง เสื้อผ้าสำเร็จรูปสตรี เสื้อสำเร็จรูปบุรุษ ผ้าขาวม้า ผ้าปูที่นอน ย่าม หมอนอิง ฯลฯ

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP 5 ดาว คือ “ผ้าทอไทลื้อ” ของ กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเก็ต โดยมี “ป้าหลอม” นางศดานันท์ เนตรทิพย์ ครูช่างศิลป์หัตถกรรม ปี 2555 เป็นประธานกลุ่ม จัดตั้งกลุ่มผ้าทอไทลื้อขึ้นเมื่อ วันที่ 16 มีนาคม 2537 มีสมาชิก จำนวน 35 ราย ในปี พ.ศ. 2562 มีสมาชิกทั้งสิ้น 78 ราย มีการสืบสานการทอผ้าในแบบโบราณต่าง ๆ ทุกลวดลาย เช่น ผ้าลายน้ำไหล ผ้าลายขิด ผ้าลายมัดก่าน ตุง และอีกหนึ่งชิ้นงานแห่งความภาคภูมิใจของชาวไทลื้อบ้านเก็ต คือการที่ได้รับพระกรุณาธิคุณทอตุง สำหรับงานพระราชพิธีพระราชเพลิงศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยทอเป็นตุง ปราสาท 5 ชั้น ลายน้ำไหล ช้าง ม้า นก หงส์ ผีเสื้อ สิงห์ และครุฑ 

ด้านการบริการและการท่องเที่ยว บ้านเก็ตมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเสน่ห์ชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติ เรียนรู้วิถีชีวิตของคน ชุมชนบ้านเก็ต ได้แก่ การทอผ้า การมัดย้อมผ้า การทำกะละแมไทลื้อ การทำน้ำปู การปั่นจักรยานชมบรรยากาศภายในหมู่บ้าน การทำสปากระบือ (อาบน้ำควาย) การตกปลาดั้งเดิม (ต๊กจ๋ำ) ฯลฯ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). บ้านเก็ต. จาก: https://www.thailandtourismdirectory.go.th/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเก็ต. จาก: https://thai.tourismthailand.org/

คณาธิป แสวงผล. (2562). สรุปผลการดำเนินงานหมู่บ้านสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านเก็ต หมู่ที่ 2 ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน. น่าน: ม.ป.ท.

งานส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลตำบลปัว. (2564). คู่มือท่องเที่ยว “เล่มเดียวเที่ยวได้ทั้ง (เทศบาลตำบล) ปัว”. น่าน: เทศบาลตำบลปัว.

เทศบาลตำบลปัว จังหวัดน่าน. (2561). แผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี พ.ศ. 2561–2564 เทศบาลตำบลปัว. น่าน: ฝ่ายแผนและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลตำบลปัว.

เทศบาลตำบลปัว. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของเทศบาล. จาก: https://www.tessabanpua.com/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอปัว จังหวัดน่าน. (2565). กิจกรรมพัฒนาชุมชน. จาก: https://district.cdd.go.th/

สุทธิพันธุ์ เหรา. (2556). การสื่อความหมายมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าทอชาวไทลื้อ อำเภอปัว จังหวัดน่าน ผ่านศิลปะการแสดง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อาร์พีที ทราเวล. (2564). ปัว…เมืองในอ้อมกอดของขุนเขา. จาก: https://www.rpttravel.in.th/

Rodjana. (2555). ประวัติหมู่บ้าน หมู่บ้านเก็ต อำเภอปัว. จาก: http://www.m-culture.in.th/