Advance search

บ้านบ่อสร้าง

หมู่บ้านหัตถกรรมร่มบ่อสร้าง ศูนย์อุตสาหกรรมแหล่งผลิต “ร่มบ่อสร้าง” สินค้าที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะต้องแวะเวียนไปที่อำเภอสันกำแพง เพื่อชมและเลือกซื้อร่มบ่อสร้างที่ “บ้านบ่อสร้าง” เป็นที่ระลึก

หมู่ที่ 3
บ่อสร้าง
ต้นเปา
สันกำแพง
เชียงใหม่
ก้องเกียรติ แสงศาลา
17 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านบ่อสร้าง

เดิมชื่อ "บ้านบ่อซาง" เนื่องจากพื้นที่บริเวณมีต้นไผ่ซางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วงแรกตั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ขุดบ่อน้ำบริเวณใกล้กับป่าไผ่ซางแห่งนี้เพื่อนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ จึงเรียกว่า "บ้านบ่อซาง" แล้วค่อย ๆ เพี้ยนเป็น "บ้านบ่อสร้าง" ในเวลาต่อมา


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านหัตถกรรมร่มบ่อสร้าง ศูนย์อุตสาหกรรมแหล่งผลิต “ร่มบ่อสร้าง” สินค้าที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะต้องแวะเวียนไปที่อำเภอสันกำแพง เพื่อชมและเลือกซื้อร่มบ่อสร้างที่ “บ้านบ่อสร้าง” เป็นที่ระลึก

บ่อสร้าง
หมู่ที่ 3
ต้นเปา
สันกำแพง
เชียงใหม่
50130
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-9951-1882, เทศบาลต้นเปา โทร. 0-5333-8078-9
18.77153917
99.08607826
เทศบาลเมืองต้นเปา

หมู่บ้านบ่อสร้าง เป็นหมู่บ้านมีอาชีพหัตถกรรมขึ้นชื่อด้านการทำร่มในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชื่อ บ้านบ่อซาง เนื่องจากชาวบ้านได้ขุดบ่อน้ำใกล้กับต้นไผ่ซาง ต่อมาเพี้ยนมาเป็น บ่อสร้าง ชาวบ้านบ่อสร้างเป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนา เพื่อเข้ามาปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและบุกเบิกพื้นที่ทำกิน มีตำนานเล่าว่า ในสมัยโบราณมีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดที่บ้านบ่อสร้าง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฎว่าขณะนั้นมีลมแรงพัดกลดเสียหายใช้การไม่ได้ ชายชราชื่อนายเผือกชาวบ้านบ่อสร้างได้ซ่อมให้ แล้วก็เกิดความคิดว่าถ้ากลดมีคันยาวก็จะใช้ถือไปไหนมาไหนได้สะดวก จึงคิดดัดแปลงจากกลดโดยใส่คันร่มเข้าไปจนกลายเป็นร่ม ในช่วงแรกของการทำร่มจะใช้สีของเปลือกไม้ทาสีพื้นสีเดียวคือสีแดง ครั้นต่อมาได้วิวัฒนาการเขียนลวดเป็นดอกไม้โดยทาพื้นเป็นสีต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันหมู่บ้านบ่อสร้างก็ยังคงทำร่มกันทุกครัวเรือนและเป็นหมู่บ้านเดียวในประเทศไทยที่ยังรักษาเอกลักษณ์ในการทำร่มนี้ไว้

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบวกเป็ด หมู่ที่ 4
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 6
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหนองโค้ง หมู่ที่ 2
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านต้นเปา หมู่ที่ 1

ศูนย์อุตสาหกรรมการทำร่มบ้านบ่อสร้าง

ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม เป็นสถานที่สาธิตวิธีการทำร่ม การทำกระดาษสา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์วิธีการทำร่มตามแบบอย่างที่บรรพบุรุษของหมู่บ้านเคยทำมามิให้สูญหาย พัฒนาคุณภาพ ขยายตลาด และส่งเสริมกิจการด้านธุรกิจท่องเที่ยว ช่วยฟื้นฟูและสนับสนุนผู้ที่เคยประกอบอาชีพนี้มาก่อนและได้เลิกราไป ให้หันมาประกอบอาชีพนี้อีกครั้ง มีการวางจำหน่ายของฝาก ของที่ระลึก สินค้าพื้นเมือง เช่น ร่ม โคมไฟ พัด ภาพวาด กระเป๋า สินค้าประเภทงานไม้ ซึ่งสามารถสร้างให้ชาวบ้านมีรายได้เพียงพอกับสภาพการครองชีพในปัจจุบัน

บ้านบ่อสร้างเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวการเดินทางอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาสร้างถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวไทลื้อ ส่งผลให้ภายในหมู่บ้านบ่อสร้าง นอกจากชาวพื้นเมืองเดิมแล้ว ยังมีชาวไทลื้ออาศัยปะปนอยู่ร่วมด้วยจำนวนมาก โดยปัจจุบันบ้านบ่อสร้างมีประชากรทั้งสิ้น 2,566 คน แยกเป็นประชากรชาย 1,146 คน และประชากรหญิง 1,420 คน 

ไทลื้อ

ชาวบ้านบ่อสร้างส่วนใหญ่ยังคงมีอาชีพหลัก คือ การทำงานในภาคการเกษตร ทำไร่ ทำนา ทำสวน ทว่าก็เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านหัตถกรรมการทำร่ม หลายครอบครัวยึดอาชีพในการสร้างร่มบ่อสร้างเป็นหลัก ซึ่งครอบครัวเหล่านี้ส่วนมากจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหัตถกรรมร่มบ่อสร้างที่เปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เข้ามาชมการทำร่มบ่อสร้างแบบเห็นทุกขั้นตอน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ประจำจังหวัดเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลายคนที่ตั้งใจเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาดูวิธีการทำร่มบ่อสร้างเป็นการณ์เฉพาะ และซื้อสินค้านี้กลับไปยังประเทศของตนเอง ทำให้ร่มบ่อสร้างของไทยนั้นเป็นสินค้าที่โด่งดังและมีชื่อเสียงอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลก แต่เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบ่อสร้างซบเซาลงอย่างมาก ชาวบ้านขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว ต่างจากก่อนหน้าที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชุมและอุดหนุนผลิตภัณฑ์สินค้างานหัตถกรรมของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก 

เทศกาลร่มบ่อสร้าง

เทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง เป็นเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ บ้านบ่อสร้าง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเทศกาลแห่งการอวดโฉมงานและยกย่องช่างฝีมือท้องถิ่นแห่งอำเภอสันกำแพง ในช่วงนี้จะมีการนำร่มมาประดับตามบ้านเรือนและท้องถนน เนรมิตชุมชนให้มีสีสันสดใสตระกาลตาไปด้วยร่มหลากสี มีกิจกรรมการประกวดงานหัตถกรรม และขบวนแห่วัฒนธรรมรถประดับร่ม การจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองนั้นจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ถึง 3 วัน ในช่วงกลางเดือนมกราคมของทุกปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หัตถกรรมทำร่ม บ้านบ่อสร้าง

ร่มบ่อสร้างนั้นเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดเชียงใหม่มาช้านานหลายชั่วอายุคนแล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะต้องแบ่งเวลาแวะเวียนไปที่อำเภอสันกำแพง เพื่อชมและเลือกซื้อร่มบ่อสร้างที่ “บ้านบ่อสร้าง” เป็นที่ระลึกติดมือกลับมา ถือเป็นสินค้าพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สาเหตุที่เรียกว่าร่มบ่อสร้างเพราะร่มนี้ผลิตกันที่บ้านบ่อสร้าง สมัยก่อนชาวบ้านจะทำร่มกันใต้ถุนบ้าน แล้วนำออกมาวางเรียงรายเต็มกลางลานบ้านเพื่อผึ่งแดดให้แห้ง สีสันและลวดลายบนร่มนั้นสะดุดตาผู้พบเห็น มีทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน คือ ร่มที่ทำด้วยผ้าแพร ผ้าฝ้าย และกระดาษสา แต่ละชนิดมีวิธีทำอย่างเดียวกัน หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะชมขั้นตอนการผลิต ก็สามารถไปชมได้ที่ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ่อสร้าง   

อุปกรณ์การทำร่ม

  • หัวร่ม ตุ้มร่ม ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้โมกมัน ไม้สมเห็ด ไม้ซ้อ ไม้ตะแบก และไม้เนื้ออ่อนชนิดอื่น ๆ การที่เลือกเอาไม้เนื้ออ่อนเป็นหัวร่มหรืออตุ้มร่มนั้น เพราะไม้เนื้ออ่อนง่ายแก่การกลึงและผ่าร่องซี่

  • ซี่ร่ม ทำด้วยไม่ไผ่ที่มีลักษณะปล้อง ยาวถึง 1 ฟุตขึ้นไป เนื้อไม้ไม่หนาน้อยกว่า 1 นิ้ว และเป็นไม้ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ไม้อ่อนใช้ไม่ได้ เพราะไม้อ่อนเวลาแห้งแล้วไม้จะหดตัวมาก และตัวมอดยังชอบกินอีกด้วย

  • กระดาษปิดร่ม ใช้กระดาษที่มีเนื้อนิ่มไม่แข็งกระด้าง และมีความหนาพอสมควร แต่ที่นิยมมาก ได้แก่ กระดาษสา และกระดาษห่อของสีน้ำตาล

  • น้ำมันทาร่ม ใช้ทาด้วยน้ำมันมะมื่อ หรือน้ำมันทัง

  • สีทาร่ม ใช้ทาด้วยสีน้ำมัน

  • น้ำยางปิดร่ม ใช้ปิดด้วนน้ำยางตะโก หรือน้ำยางมะค่า

  • ด้าย ที่ใช้ในการร้อยประกอบส่วนต่าง ๆ ของร่ม ใช้ด้ายดิบหรือด้ายมันนำมากรอเป็นเส้นและตีควบเป็นเกลียวตามขนาดที่ต้องการ

  • คันร่ม ใช้ไม้เนื้ออ่อนกลึงหรือทำด้วยไม้ไผ่ถ้าเป็นไม้ไผ่ต้องใช้ปลายไม้ขนาดเล็ก หรือต้นไผ่ขนาดเล็กก็ได้ วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นไม่เกิน 7-8 นิ้ว และต้องมีรูข้างในด้วยเพื่อสะดวกในการติดสปริงดันร่ม

  • หวายสำหรับพันด้ามร่ม ถ้าคันร่มทำด้วยไม้ไผ่ ตรงส่วนที่เป็นด้ามถือจะต้องพันด้วยเส้นหวายผ่าซีกขนาดเล็ก (หวายเลียด) หรือจะใช้เส้นพลาสติกพันแทนก็ได้

  • ปลอกสวมหัวร่ม ใช้ใบลาน ใบตาล หรือกระดาษหนา ที่มีความหนาใกล้เคียงกัน

  • น้ำมันสำหรับผสมกับสี ใช้น้ำมันก๊าด

  • ห่วงร่ม ทำจากเส้นตอกไม้ไผ่ ขดเป็นวงกลม พันด้วยกระดาษสาให้รอบ ชุบน้ำยางตะโกและตากแดดให้แห้ง

  • โลหะครอบหัวร่ม ทำด้วยแผ่นปั๊มหรือพลาสติกปั๊มก็ได้

ภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ เป็นภาษาหลักหลักที่ใช้สื่อสารกันการพูดคุยในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การได้รับขนานนามว่าเป็นชุมชนอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงเรื่องการทำร่ม ทำให้ชาวบ้านบ่อสร้างได้ร่วมกันคิดค้นหาวิธีที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ออกสู่สายตานักท่องเที่ยวด้วยการนำร่มซึ่งเป็นมาห้อยแขวนประดับตกแต่งทั่วชุมชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลร่มบ่อสร้างที่จะมีการประดับตกแต่งร่มหลากสีสัน หลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มความสวยงามดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยว โดยลักษณะการแขวนร่มของชาวบ้านบ่อสร้างนั้นมีหลายรูปแบบ ดังนี้

  • แขวนร่มตามปกติ เป็นรูปแบบการแขวนร่มที่ได้รับความนิยมและพบมากที่สุด ซึ่งเรามักจะเห็นได้ตามพื้นที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยชาวบ้านมักจะใช้ร่มมาห้อยไว้เหนือทางเดิน ทำให้ทางเดินนั้นมีสีสันสุดสดใส ทั้งยังช่วยบดบังแสงแดดและฝนได้ในระดับหนึ่งด้วย

  • แขวนร่มติดหลอดไฟ การแขวนร่มติดหลอดไฟนอกจากจะได้สีสันสีสวยงามของร่วมแล้ว ในตอนกลางคืนในบริเวณที่แขวนร่มติดไปจะทำรู้สึกถึงบรรยากาศที่ดูโรแมติกมากชึ้น

  • วางร่มที่ติดผนังร้าน การวางร่มติดผนังเป็นการโชว์สีสันหรือลวดลายของร่มที่กำลังเป็นที่นิยม โดยนำร่มมาเรียงกันเป็นฉากหลังบริเวณฝาผนัง ทำให้สามารถชื่นสมสีสันและลวดลายของร่มได้ชัดเจนที่สุด

  • ห้อยร่มกลับหัว การห้อยร่มกลับหัว ปกติแล้วมักจะทำเพื่อโชว์ลวดลายบนตัวร่ม แต่การห้อยร่มกลับหัวก็มีข้อควรระวังคือ พื้นที่นั้นฝนตกบ่อยหรือไม่ เพราะร่มเวลาที่ห้อยกลับหัวจะเกิดน้ำขังได้ง่าย

กวินวุฒิ ฟองสมุทร์ . (2557). ร่มบ่อสร้าง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: http://bosangumbrella.blogspot.com/

กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th/

ธรรมชาติ แฟรเน็ทท์. (2553). พฤติกรรมการท่องเที่ยวและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยในปัจจัยส่วนผสมการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวบ้านบ่อร้าง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารการท่องเที่ยวและบันเทิง มหาวิทยาลัยดิเรก.

Museum Thailand. ร่มบ่อสร้าง หมู่บ้านหัตถกรรมร่มบ่อสร้าง สันกำแพง. (2562). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.museumthailand.com/

ร่มศิริบัวทอง. (2561). ร่มแต่งร้าน ร่มแต่งสวน “4 ไอเดีย” การนำร่มมาประยุกต์การตกแต่งสถานที่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.ร่มศิริบัวทอง.com/

ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม. (ม.ป.ป.). ร่มบ่อสร้าง โดย ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.navanurak.in.th/handmadeumbrella/

At-Chiangmai. (ม.ป.ป.). บ้านบ่อสร้าง หมู่บ้านทำร่ม ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.at-chiangmai.com/

Emagtravel. (ม.ป.ป.). ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ่อสร้าง เชียงใหม่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.emagtravel.com/

MGR Online. (2548). ย้อนตำนาน“ร่มบ่อสร้าง” สินค้าเลื่องชื่อแห่งเชียงใหม่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://mgronline.com/

Natthaphong Duangsit. (2561). รีวิว ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม .[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.wongnai.com/

SumerB. (2564). หมู่บ้านหัตถกรรมร่มบ่อสร้าง ที่เที่ยวเชียงใหม่ สีสันสดใส ภูมิปัญญาท้องถิ่น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://travel.trueid.net/