บ้านแม่เหียะ หย่อมบ้านหนึ่งในเขตบ้านป่าจี้ หมู่บ้านชาวลัวะที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวยาวนานมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ถิ่นกำเนิดตำนานปู่แสะย่าแสะ จุดเริ่มต้นแห่งการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงดง
ชื่อเรียกชุมชนเหียะยังไม่สามารถอธิบายได้แน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่มีข้อสันนิษฐานด้วยกันสองกรณี
- หนึ่ง คาดว่าพื้นที่นี้ในอดีตเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำกลางหุบเขา ทำให้มีตัวเหี้ยอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า "แม่เหี้ย" ต่อมาจึงกร่อนคำลงไปเป็น "แม่เหียะ"
- สอง คาดว่ามาจากชื่อของสายน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ซึ่งมีไม้เหียะอันเป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่เคยมีอยู่จำนวนมากในบริเวณนี้ เมื่อมีการก่อตั้งชุมชนจึงเรียกชื่อชุมชนว่า "บ้านแม่เหียะ"
บ้านแม่เหียะ หย่อมบ้านหนึ่งในเขตบ้านป่าจี้ หมู่บ้านชาวลัวะที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวยาวนานมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ถิ่นกำเนิดตำนานปู่แสะย่าแสะ จุดเริ่มต้นแห่งการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงดง
บ้านแม่เหียะ เป็นหย่อมบ้านหนึ่งที่ขึ้นกับบ้านป่าจี้ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำอ้างในเอกสารตำนานปู่แสะย่าแสะที่กำนันสุวรรณสิงห์โทราชได้บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2486 กล่าวว่า “ณ พื้นที่ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำตั้งอยู่ในหุบเขา นั้นมีตัวเหี้ยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สายน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่แห่งนี้จึงเรียกว่า แม่เหี้ย ต่อมาจึงกร่อนคำลงไปเรียกว่า แม่เหียะ อย่างไรก็ตามชาวบ้านแม่เหียะได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าชื่อเรียก “แม่เหียะ” ไม่น่าจะมาจากชื่อเรียกตัวเหี้ยซึ่งเป็นคำไทยภาคกลาง เนื่องจากคำเมืองของชาวเชียงใหม่และล้านนาไทยเรียกตัวเหี้ยว่า “ตัวแลน” ชื่อบ้านแม่เหียะจึงน่าจะมีที่มาจากชื่อของสายน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ซึ่งมีไม้เหียะอันเป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่เคยมีอยู่ในพื้นที่มากกว่า ที่มาของคำว่า แม่เหียะ จึงยังหาข้อสรุปไม่ได้และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันมาถึงปัจจุบัน” อาณาบริเวณที่ตั้งตามเขตการปกครอง เรียกว่า ตำบลแม่เหียะ ส่วนหมู่บ้านที่ตั้งอยู่กลางป่าเรียกว่าบ้านแม่เหียะใน กระนั้นสายน้ำแม่เหียะยังไหลหล่อเลี้ยงชาวบ้านลงสู่น้ำแม่ปิงจวบจนทุกวันนี้ หลักฐานที่ยืนยันว่าเคยมีการตั้งถิ่นฐานของชาวลัวะมาก่อน คือ ซากเจดีย์และกำแพงอิฐบริเวณที่ตั้งวิหารของวัดสวนพริกในปัจจุบัน ซึ่งชี้ให้เห็นได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เคยมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 100 ปี
การตั้งถิ่นฐานของประชากรบ้านแม่เหียะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อบรรพบุรุษของบ้านแม่เหียะ ได้แก่ ชาวขมุ และชาวลัวะ ได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ป่าในหมู่บ้านแม่เหียะ และได้ตั้งรกรากอยู่กลางหุบเขาดอยสุเทพ การเข้ามาจับจองพื้นที่ในช่วงแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและบุกเบิกพื้นที่ทำกิน โดยครอบครัวแรกที่เข้ามาจับจองพื้นที่ ได้แก่ ครอบครัวของนายแสวง โตเทียน พร้อมชาวลัวะอีก 5 ครอบครัว ก่อนจะมีชาวลัวะและชาวพื้นเมืองกลุ่มอื่นเริ่มทยอยอพยพเข้ามาอศัยอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้บ้านแม่เหียะเริ่มมีการขยายตัวของจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชุมชนชาวลัวะบ้านแม่เหียะในปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศบ้านแม่เหียะ มีการลาดตัวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีเทือกเขาดอยสุเทพทอดตัวเป็นแนวยาวทางทิศเหนือถึงทิศตะวันตก ส่วนทิศใต้มีดอยคาสลับกับเทือกเขาดอยสุเทพล้อมรอบ มีที่ราบระหว่างหุบเขาขนานไปกับลำห้วยแม่เหียะจากทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดงดิบ โดยภาพรวมแล้วพื้นที่บ้านแม่เหียะส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาที่มีความลาดชัน สลับกับที่ราบระหว่างหุบเขาเล็กน้อย สิ่งนี้จึงเป็นปัจจัยจำกัดให้พื้นที่ตั้งบ้านเรือนของบ้านแม่เหียะในกระจายเป็นกลุ่ม ๆ ตามขอบพื้นที่ราบ ซึ่งอาจแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ บริเวณที่ราบทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน จำนวน 2 กลุ่มบ้าน และบริเวณขนานกับลำห้วยแม่เหียะกับถนนในหมู่บ้านอีก 1 กลุ่ม
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของบ้านแม่เหียะมีลักษณะแบบมรสุมเขตร้อน มีความชื้นในฤดูฝนสลับกับแห้งแล้งในฤดูหนาว การที่มีอากาศเย็นและแห้งในช่วงฤดูหนาวทำให้พื้นที่มีลักษณะอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี โดยปกติแล้วสามารถแบ่งสภาพภูมิอากาศในพื้นที่บ้านแม่เหียะได้เป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน เริ่มประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนไปจนถึงประมาณปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย มิลลิเมตร/ปี ช่วงฤดูหนาวได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนจะมีฝนตกลงมาบ้าง ส่วนฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่แต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ทรัพยากรป่าไม้
พื้นที่ป่าไม้บ้านแม่เหียะเป็นทรัพยากรธรรมชาติสาธารณะที่ชาวบ้านตำบลแม่เหียะหมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 5 ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต เช่น มีการสร้างระบบเหมืองฝายเพื่อใช้ในการเกษตร เป็นแหล่งอาหาร แหล่งไม้ใช้สอย เป็นพื้นที่ป่าพิธีกรรมของคนทั้งตำบลแม่เหียะ เป็นที่เลี้ยงควาย เรียกว่า ป๋างควาย เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่น น้ำตกผาลาดตาดหมาไห้ และเป็นที่อยู่อาศัยของคนท้องถิ่นเดิม ใน พ.ศ. 2507 พื้นที่ป่าแม่เหียะถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ กระทั่งปี พ.ศ. 2524 ได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นเหตุให้ในปัจจุบันบ้านแม่เหียะเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ทับซื้อนอยู่กับเขตอุทยานแห่งชาติ สำหรับป่าไม้ที่พบในพื้นที่ป่าบ้านแม่เหียะมี 3 ประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบ
- ป่าเต็งรัง หรือป่าแพะ หรือป่าแดง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่ คือ ไม้วงศ์ยาง ได้แก่ ยางเหียง ยางพลวง หรือไม้ตึงเต็ง (แงะ) รัง พะยอม ก่อ และแพะ เป็นต้น
- ป่าเต็งรัง ครอบคลุมพื้นที่ราวร้อยละ 15 ของพื้นที่ป่าชุมชน พรรณไม้ที่พบ ประกอบด้วย สัก มะค่าโมง ชิงชัน ประดู่ป่า กาสามปีก สมอไทย กระบก ตะแบก และไผ่ประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
- ป่าดงดิบแล้ง พบกระจายเป็นหย่อมบริเวณลำห้วยตอนล่างของหมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ราวร้อยละ 5 ของพื้นที่ป่า พรรณไม้ที่พบประกอบด้วย ไม้แดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อ เดือย มะไฟป่า เสี้ยวป่า และไม้สัก เป็นต้น
แหล่งน้ำ
บ้านแม่เหียะ มีลำน้ำแม่เหียะซึ่งแตกแขนงแยกออกหลายสาขาไหลผ่านกลางหมู่บ้านลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำ ได้แก่ ห้วยแม่เหียะหลวง ไหลจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านพื้นที่ตอนกลางหมู่บ้าน ห้วยแม่เหียะน้อย ไหลจากทิศเหนือของหมู่บ้านลงไปบรรจบห้วยแม่เหียะหลวงเป็นลำน้ำสายเดียวกัน และห้วยปะหนาด ไหลขนานกับลำห้วยแม่เหียหลวง แล้วไปบรรจบเป็นลำน้ำสายเดียวกัน
พื้นที่พักอาศัย
บ้านแม่เหียะมีการแบ่งสรรพื้นที่สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย 2 แบบด้วยกัน คือ 1) ประเภทเรือนที่ผนวกกิจกรรมร้านค้า เช่น เรือนร้านค้า และเรือนแถว มักจะตั้งอยู่ขนาบทั้งสองข้างของถนน ซึ่งเป็นพื้นที่แกนหลักของชุมชน เนื่องด้วยสะดวกต่อการทำกิจการสินค้าและบริการต่าง ๆ เรือนลักษณะนี้ส่วนมากแล้วมักจะสร้างเป็นเรือนร้านค้าคล้ายห้องแถว (ทาวน์โฮม) เรียงรายตามแนวเหนือ-ใต้ 2) เรือนพักอาศัยที่ไม่มีกิจกรรมการค้า มักจะตั้งอยู่ด้านในของพื้นที่ชุมชนทั้งสองฟาก ไม่ติดถนนสายหลัก กระจายไปตามแนวตะวันออก-ตะวันตกของชุมชน ลักษณะเป็นกลุ่มเรือนที่มีข่วงหรือพื้นที่ใช้ร่วมกันของเครือญาติ
พื้นที่สุสาน
ตามประเพณีของชาวลัวะเกี่ยวกับการประกอบพิธีศพ เมื่อมีคนตายลูกหลานจะตั้งศพ ทำบุญที่บ้าน เมื่อจะเผาศพก็จะไม่ไปเผาที่วัดแต่จะมีสุสานหรือป่าช้าไว้สำหรับเป็นการเฉพาะเป็นพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน ชุมชนบ้านเหียะซึ่งเป็นชุมชนชาวลัวะจึงได้มีการแบ่งพื้นที่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านสำหรับสร้างเป็นสุสานเผาศพเป็นการเฉพาะ โดยพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่นอกเขตชุมชนตามแบบแผนเกี่ยวกับการประกอบพิธีศพดั้งเดิมของชาวล้านนา
บ้านแม่เหียะเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยร่วมกันของชาวพื้นเมืองเดิมและชาวลัวะที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากในพื้นที่ตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ครอบครัวชาวบ้านแม่เหียะมีลักษณะเป็นครอบครัวขนาดเล็ก มีสมาชิกภายในครัวเรือนประมาณ 3-5 คนต่อหนึ่งครัวเรือน สำหรับความสัมพันธ์เครือญาติของคนในชุมชนนั้นพบว่า ปัจจุบันความเป็นเครือญาติของชาวบ้านแม่เหียะค่อนข้างที่นับวันจะห่างเหินออกไปเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการหารายได้เข้ามาส่งเสียหล่อเลี้ยงชีพ ชาวบ้านจำนวนมากจึงได้เดินทางย้ายออกจากหมู่บ้านเพื่อไปประกอบอาชีพในพื้นที่อื่น เป็นเหตุให้เริ่มมีบุคคลภายนอกเข้ามาซื้อที่ดินจากชาวบ้านแม่เหียะเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันมีบ้านที่ถูกสร้าง แต่ไม่มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 20 หลังคาเรือน
แม้ว่าความสัมพันธ์เครือญาติจะเริ่มห่างเหิน แต่สายใยความสัมพันธ์ของคนในชุมชนยังคงเป็นไปในลักษณะพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือ ไปมาหาสู่เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมของหมู่บ้าน หรืองานบุญของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน เช่น งานศพ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
ลัวะ (ละเวือะ)สภาพเศรษฐกิจ
ชาวบ้านแม่เหียะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 86,102.51 บาท/คน/ปี โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมา คือ ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างมีจำนวนน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนแม่เหียะมีแนวโน้มประกอบอาชีพเหมือนคนในเมืองมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ไม่มีรายได้หรือกลุ่มที่ไม่ได้ประกอบอาชีพใด ๆ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เยาวชน และแม่บ้าน มีจำนวนมากหรือราวหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดของชุมชน ซึ่งหมายความว่า ภาระการเลี้ยงดูจะตกเป็นของประชากรวัยทำงานที่เหลืออีกราวสองในสาม ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้คนในวัยทำงานเหล่านั้นต้องเดินทางไปประกอบอาชีพในเมืองเพื่อหารายได้ให้มากขึ้น
อาชีพในภาคการเกษตร เป็นอาชีพที่มีมาแต่ดั้งเดิมของคนในชุมชนแห่งนี้ โดยแยกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ การทำนา และการทำสวนผลไม้ เนื่องด้วยทางภูมิศาสตร์ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณพื้นที่ราบและพื้นที่ดอนที่มีความลาดชัน ซึ่งมีจานวนพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการขยายอาชีพทางภาคเกษตรกรรม จึงมีการทำนาตามแนวลำน้ำห้วยแม่เหียะหลวงทางตอนกลางของหม่บู้าน สำหรับการทำสวนไม้ผลมีที่นิยมปลูกได้แก่ กล้วย ขนุน มะขาม มะพร้าว มะไฟ มะม่วง ลิ้นจี่ และลำไย เป็นต้น
นอกจากการทำนาและทำสวนผลไม้แล้ว ชาวบ้านหลายครัวเรือนยังนิยมเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อจำหน่ายและเป็นอาหาร เช่น ไก่ ม้า วัวและควาย ทั้งยังมีการรับจ้างเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะม้าที่ส่วนหนึ่งเป็นการเลี้ยงไว้เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ตามแต่จะมีผู้ว่าจ้างเป็นครั้ง ๆ ไป
กลุ่มชุมชน
ชาวบ้านแม่เหียะได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเพื่อเพื่อทำกิจกรรมชั่วคราว เช่น รวมกลุ่มเก็บตองกงทำไม้กวาด รวมกลุ่มทำความสะอาดฝายต้นน้ำ รวมกลุ่มสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นต้น ในอดีตบ้านแม่เหียะเคยมีการส่งเสริมจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจทำไม้กวาดของชุมชนเมื่อราว พ.ศ. 2546 แต่ได้ยุติลงไปในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา พบว่ามีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์และผลิตผลการเกษตรบ้านแม่เหียะ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และข่าวสารที่เกี่ยวข้องให้แก่เกษตรกรในชุมชน
ประเพณีและพิธีกรรม
- ประเพณีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ หรือประเพณีเลี้ยงดง ประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านแม่เหียะได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ตามตำนานของชาวลัวะเชื่อว่าปู่แสะย่าแส คือ ยักษ์ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวลัวะ เป็นยักษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก ซึ่งภายหลังได้หันหน้าเข้ารับพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังช่วยดูแลชาวลัวะให้อยู่เย็นเป็นสุข ชาวลัวะจึงได้มีการประกอบพิธีกรรมเซ่นดวงวิญญาณปู่แสะย่าแสะราวเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยนำควายหนุ่มที่มีกีบเท้าสีเหลือง เขาควายยาวเท่าหู จำนวน 1 ตัว หรือที่เรียกว่า ควายกีบเผิ้ง เป็นเครื่องพลีกรรมปู่แสะย่าแสะ รวมถึงกล้วย อ้อย ของหวาน ไปไหว้ปู่แสะย่าแสะบริเวณดงหลวงใกล้ ๆ กับตีนดอยคำทางทิศใต้ของดอยสุเทพ การจัดพิธีเลี้ยงดงหรือไกว้ปู่แสะย่าแสะนี้มีนัยว่าจะก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ป่าไม้ แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำการเกษตรได้ผลดี และชาวบ้านไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
- ประเพณีเลี้ยงผีฝายหรือผีขุนน้ำ เป็นพิธีกรรมความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่นในภาคเหนือหรือล้านนาไทย ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อว่าแหล่งน้ำหรือแม่น้ำในแต่ละแห่งนั้นมีผู้ปกปักรักษา บันดาลความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องมีการเซ่นไหว้เกิดขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง การทำบุญเลี้ยงผีฝายเป็นการแสดงถึงการสำนึกในบุญคุณของสายน้ำ ซึ่งชาวนา ชาวไร่ เกษตรกร และผู้ใช้น้ำได้อาศัยประโยชน์ในการเพาะปลูก อุปโภคบริโภคมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากนี้การเลี้ยงผีฝายยังถือว่าเป็นการขอขมาผีป่า ผีขุนน้ำ ทดแทนบุญคุณแม่น้ำ ที่ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้ โดยใช้เครื่องเช่นเครื่องเซ่นสำหรับประกอบพิธีกรรม ได้แก่ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป 9 ดอก เทียน 3 เล่ม หัวหมู 1 หัว หรือไก่ 1 ตัว รวมทั้งข้าวปลาอาหาร ของคาวหวาน ผักผลไม้ตามสมควร โดยจะนำข้าวปลาอาหารดังกล่าวมาเซ่นไหว้บริเวณหัวฝายหรือต้นน้ำที่จะทำพิธี แล้วจุดธูปเทียนเริ่มทำพิธีเลี้ยงผีฝายโดยมีปู่จารย์กล่าวคำเชิญผีขุนน้ำลงมาบริเวณพิธีซึ่งใช้เวลาไม่นาน เพียงแต่ต้องรอให้ก้านธูปหมดจึงจะถือว่าผีมารับของเซ่นสังเวยเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นชาวบ้านจะนำอาหารมาแบ่งกันก็ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีการเลี้ยงผีฝาย
- ประเพณีทานข้าวสลาก ทานข้าวสลาก หรือกิ๋นก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่ชาวพื้นเมืองภาคเหนือปฏิบัติสืบเนื่องมาช้านาน ประเพณีดังกล่าวนี้ มีนัยถึงการถวายทานอุทิศส่วนกุศลไว้สำหรับตนเอง เมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปก็จะได้นำเครื่องไทยทานเหล่านั้นไปเสวยอานิสงส์ผลบุญในโลกหน้า ทั้งยังเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับอีกด้วย
- ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีลอยกระทง ถือเป็นประเพณีเก่าแก่อย่างหนึ่งของชาวล้านนาไทย ในช่วงประเพณียี่เป็งนี้จะมีการตกแต่งโคมประทีปตามวัดและบ้าน มีกิจกรรมการลอยกระทงล่องสะเปาและปล่อยโคม ทั้งโคมไฟ และโคมควันขึ้นฟ้า โดยมีคติความเชื่อเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ บ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ ให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต
ทุนทางภูมิปัญญา
ไม้กวาดตองกง
ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปี ชาวบ้านจะนำเอาวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีในหมู่บ้าน คือ ดอกตองกง เพื่อนำมาทำไม้กวาด เรียกว่า “ไม้กวาดตองกง” โดยจะเลือกตัดเอาเฉพาะต้นที่ค่อนข้างยาว แล้วนำไปตากแดดประมาณ 3 วัน จากนั้นนำมาทุบให้ดอกหลุดออกจนหมด หลังจากนั้นก็เอาด้ามไม้ไผ่ที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว 1 คืน มาบากให้เป็น 3 คัน (แฉก) บากให้ไปถึงเปลือกไม้ไผ่อีกฝั่งหนึ่ง พอได้ด้ามไม้กวาดที่บากไว้แล้ว จึงจะนำเอาดอกตองกงมามัดเข้ากับด้ามไม้กวาดด้วยเชือกฟาง ก่อนนำด้ามไม้กวาดไปทาด้วยสีแดง เป็นอันว่าได้ไม้กวาดตองกงที่สมบูรณ์
บ้านแม่เหียะเป็นเพียงหย่อมบ้านแห่งหนึ่งที่ขึ้นกับบ้านป่าจี้ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันพื้นที่หมู่บ้านอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของเทศบาลตำบลแม่เหียะ เขต 1 จึงไม่มีผู้นำชุมชนแบบเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ได้มีการแต่งตั้งประธานชุมชน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้นำชุมชนและมีคณะกรรมการชุมชนอีก 5 คน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานและองค์กรภายนอก
ตำนานปู่แสะย่าแสะ
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ในระมิงค์นคร มียักษ์ 3 ตน พ่อ แม่ ลูก สืบเชื้อสายจากชนเผ่าลัวะ อาศัยอยู่บริเวณหลังดอยคำ ชอบกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร ชาวเมืองแถบนั้นเรียกว่า ปู่แสะ ย่าแสะ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเทศนาสั่งสอนจนยักษ์พ่อแม่ยอมหันมากินเนื้อสัตว์แทนมนุษย์ ส่วนยักษ์ผู้บุตรขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จไปยังสถานที่อื่น พระองค์ได้ประทานเกศาแก่ยักษ์ปู่แสะย่าแสะ ยักษ์ทั้งสองรับเอาแล้วนำไปบรรจุไว้ในผอบแก้วมรกตและบูชากราบไหว้เป็นนิจ จึงเกิดศุภนิมิตรมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน น้ำฝนได้หลั่งไหลชะล้างพัดพาแร่ทองคำจากหุบเขาราวห้วยลงสู่ปากถ้ำจำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกถ้ำนี้ว่า “ถ้ำคำ” และ “ดอยคำ” จากนั้นยักษ์ผู้บุตรอยู่ในสมณเพศไม่นานก็ขอลสิกขาไปบวชเป็นฤาษี ชื่อ “สุเทวฤาษี” ถือศีลอยู่ที่หุบเขาอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) ส่วนยักษ์ผู้พ่อ (ปู่แสะ) ก็ได้ไปถือศีลดำรงชีวิตอยู่บริเวณใกล้กับวัดฝายหินเชิงดอยสุเทพ ส่วนยักษ์ผู้แม่ (ย่าแสะ) ได้อยู่ดูแลรักษาถ้ำดอยคำ และพระเกศาของพระพุทธเจ้าจวบจนสิ้นชีวิต (วัดพระธาตุดอยคำ, 2553 อ้างถึงใน ชญาน์รัฏฐ์ จันทร์คำ, 2556: 47)
ชญาน์รัฏฐ์ จันทร์คำ. (2556). ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย อำเภอเมืองเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ศนันท์ เศรษฐพันธ์. (2536). การใช้เรื่องเล่าผีปู่แสะย่าแสะ: ศึกษาเฉพาะกรณีชาวบ้านป่าจี้. วิทยานิพนธ์ปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
CMHY. (ม.ป.ป.). ฌาปณสถานบ้านป่าจี้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566. จาก: https://www.cmhy.city/