Advance search

บ้านบ่อแร่

แหล่งเรียนร่องรอยรู้ทางประวัติศาสตร์ชาติตั้งแต่สมัยสงครามโลก และชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ที่ก่อรูปตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านกว่า 30 ปี 

หมู่ที่ 6 ถนนฝาง-แม่สรวย
บ้านเหมืองแร่
แม่คะ
ฝาง
เชียงใหม่
อบต.แม่คะ โทร. 0-5396-9067
แสงสุรีย์ พลอยคีรี
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านเหมืองแร่
บ้านบ่อแร่

บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านในอดีตเคยเป็นเหมืองแร่ที่ถูกขุดโดยทหารญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลก ต่อมาเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง มีการอพยพเข้ามาก่อตั้งหมู่บ้าน จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะทางกายภาพเดิมว่า "บ้านเหมืองแร่"


แหล่งเรียนร่องรอยรู้ทางประวัติศาสตร์ชาติตั้งแต่สมัยสงครามโลก และชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ที่ก่อรูปตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านกว่า 30 ปี 

บ้านเหมืองแร่
หมู่ที่ 6 ถนนฝาง-แม่สรวย
แม่คะ
ฝาง
เชียงใหม่
50110
19.8038195
99.2491793
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบ่อแร่

หมู่บ้านเหมืองแร่ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ที่ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานและก่อรูปเป็นหมู่บ้านเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี โดยการอพยพของชาวอาข่าสู่บ้านเหมืองแร่นั้นแบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

  • ยุคแรกเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2520 - 2530 ชาวอาข่ากลุ่มแรกที่เข้ามาสร้างบ้านเรือน เป็นกลุ่มที่มีถิ่นฐานเดิมจากอำเภอแม่สลอง และอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย วัตถุประสงค์แท้จริงที่เป็นสาเหตุให้ย้ายถิ่นฐานจากที่เดิมนั้นไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด โดยผู้อาวุโสรุ่นแรกที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานจำนวน 4 ครอบครัว ได้แก่ ตระกูลซื้อหมือ เซอหมอ มาเยอะ และเบียร ได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ปลูกพืชสวน พืชไร่ จนสามารถยึดเป็นอาชีพหลักสืบทอดให้ลูกหลาน

  • ยุคที่สองราว พ.ศ. 2531 - 2540 ชาวอาข่ากลุ่มที่สองที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่นับถือศาสนาคริสต์จำนวน 57 ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครือญาติเดียวกันกับกลุ่มแรกที่ย้ายถิ่นฐานมาก่อน ดังนั้นกลุ่มนี้จึงมีถิ่นฐานเดิมจากจังหวัดเชียงรายเป็นส่วนใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลืองานในไร่ที่ขยายมากขึ้น กระทั่งช่วงหลังของยุคที่สองประมาณปี พ.ศ. 2535 กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านเหมืองแร่ได้เริ่มออกไปรับจ้างขายแรงงานในเมือง เช่น กรรมกรก่อสร้าง

  • ยุคที่สาม พ.ศ. 2541 - 2550 ชาวอาข่ากลุ่มที่สามจำนวน 75 ครอบครัว จากอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางเคลื่อนย้ายเข้ามาสมทบกับชาวอาข่าในชุมชนบ้านเหมืองแร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความสะดวกสบาย และระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น กอปรกับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่บ้านเหมืองแร่ ทำให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ดี จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายรกรากถิ่นฐาน ในระยะนี้ลูกหลานชาติพันธุ์อาข่าเริ่มเข้าถึงสิทธิ สวัสดิภาพ และสวัสดิการทางสังคม เยาวชนชาวอาข่าสามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทยได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเศรษฐกิจของบางครัวเรือนนั้นดีขึ้นมาก สามารถสนับสนุนบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาอย่างเต็มกำลัง ทําให้ลักษณะการประกอบอาชีพของลูกหลานชาวอาข่าในยุคนี้เริ่มมีความหลากหลายนอกเหนือจากภาคเกษตรกรรม เช่น ทำงานโรงงาน ค้าขาย และรับราชการ เป็นต้น

  • ยุคที่สี่ พ.ศ. 2551 - 2553 การอพยพของชาวอาข่ากลุ่มสุดท้าย 8 ครอบครัว เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนและบุกเบิกที่ดินทำกินในบริเวณบ้านเหมืองแร่ ถือเป็นการสิ้นสุดยุคสุดท้ายแห่งพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวอาข่าในชุมชนบ้านเหมืองแร่ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดกับ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
  • ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงราย

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่บ้านเหมืองแร่มีสภาพเป็นเนินเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาผีปันน้ำ หมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตร่องเขา มีลำธารธรรมชาติที่ถูกปรับสภาพเป็นลำเหมืองไหลหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน ด้านหลังหมู่บ้านเป็นที่ลาดเนินเขา ปัจจุปันถูกใช้เป็นพื้นที่เกษตรรม นอกจากนี่ยังมีป่าไผ่ และทุ่งหญ้าคาขึ้นกระจายอยู่ สำหรับไม้ยืนต้นจะพบเห็นเฉพาะเขตป่าชุมชนและเทือกเขา 

จำนวนประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบ้านเหมืองแร่ หมู่ 6 ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 310 ครัวเรือน โดยจำแนกเป็นครอบครัวชาวพื้นเมือง 77 ครัวเรือน ครอบครัวชาวอาข่ามีทะเบียน 130 ครัวเรือน อาข่าพุทธ 15 ครัวเรือน อาข่าไม่มีทะเบียน 23 ครัวเรือน ไทยใหญ่ 58 ครัวเรือน ชาวจีนมีทะเบียน 3 ครัวเรือน ไม่มีทะเบียน 1 ครัวเรือน และชาติพันธุ์ลาหู่มีทะเบียน 4 ครัวเรือนหลัง

จากการสำรวจประชากรพบว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานนั้นเป็นกลุ่มเครือญาติ มีนามสกุลเดียวกัน มี 160 ครัวเรือน เป็นคริสศาสนิกชน 95% และพุทธศาสนิกชน 5% 

จีน, ไทใหญ่, ลาหู่, อ่าข่า

ปัจจุบันชาวอาข่าบ้านเหมืองแร่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูกและรับจ้าง โดยที่ทํากินส่วนใหญ่เป็นการเช่าที่กับนายทุน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวเจ้า ถั่วแดง ถั่วลิสง และผักต่าง ๆ วัตถุดิบส่วนใหญ่มีพ่อค้าคนกลางเดินทางเข้ามารับซื้อถึงหน้าไร่ สําหรับหนุ่มสาวนิยมออกไปทํางานในเมืองมากขึ้น เช่น รับจ้างส่งของ พนักงานประจําร้านขายของ และแม่บ้านทําความสะอาด

เนื่องจากลักษณะการประกอบอาชีพที่หลากหลายของชาวอาข่าบ้านเหมืองแร่ จึงจะจำแนกรายได้ที่ได้จากการประกอบอาชีพในภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้

  • รายได้จากผลผลิตทางการเกษตร ชาวบ้านจะเพาะปลูกพืชเพื่อการยังชีพ เช่น ข้าว ส่วนพืชเพื่อการแลกเปลี่ยน เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด มะเขือเทศ และมันฝรั่ง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการเกษตรมีความไม่แน่นอนเพราะมีปัญหาหลายประการ เช่น พื้นที่ทําการเกษตรไม่เพียงพอ ไม่มีเงินทุนในการปลูกพืชเสริมเพื่อเสริมรายได้ ราคาและตลาดของสินค้าการเกษตรไม่แน่นอน

  • รายได้จากการขายของป่า ในฤดูฝนมีการเก็บหน่อไม้และเห็ด ส่วนฤดูหนาว ชาวบ้านมีรายได้จากการเก็บดอกไม้กวาด (ดอกกุ้ง) โดยเฉลี่ยแล้วชาวบ้านมีรายได้จากการของป่าครอบครัวละ 1,000-4,000 บาท ต่อปี

  • ชาวบ้านมีรายได้จากการรับจ้างขายแรงงานนอกหมู่บ้าน โดยชาวบ้านในวัยแรงงาน เมื่อว่างจากงานในไร่จะเดินทางเข้าเมือง เริ่มแรกออกไปทํางานหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อหารายได้เสริมให้แก่ครอบครัว เนื่องจากการทําไร่อย่างเดียวไม่พอเลี้ยงครอบครัว ภายหลังเมื่อมีงานประจําและรายได้สม่ำเสมอ ทําให้ชาวบ้านบางคนหันมาทํางานประจํา รายได้จากการรับจ้างที่นํามาช่วยเหลือครอบครัวได้อย่างมาก

  • รายได้จากการค้าขาย โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นงานหัตถกรรมประจํากลุ่มชาติพันธุ์ เช่น เสื้อผ้า ถุงย่าม เครื่องประดับต่าง ๆ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังออกไปค้าขายกับคนภายนอกด้วย ในอดีตเมื่อว่างงานจากไร่ หัวหน้าครอบครัวจะนําสินค้าออกไปขายกับคนต่างหมู่บ้าน สินค้าส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น แพะ วัว หมู เป็นต้น โดยบทบาทนี้จะผูกขาดอยู่ในกลุ่มผู้ชาย ปัจจุบันการค้าขาย เปลี่ยนจากการค้าขายระหว่างหมู่บ้าน เป็นการค้าระหว่างหมู่บ้านกับชุมชนเมือง ซึ่งกลับกัน ผู้หญิงมีบทบาทสําคัญมากที่สุด ขณะที่ผู้ชายมีหน้าที่แสวงหาสินค้าในหมู่บ้านเพื่อให้ผู้หญิงไปขายให้ลูกค้า

การค้าขายเริ่มปรากฏชัดและคึกคักมากขึ้น เมื่อศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ได้นํากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาแสดงศิลปวัฒนธรรมประจํากลุ่มชาติพันธุ์ให้นักท่องเที่ยวได้ชม สินค้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้รับความนิยม ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เมื่อเห็นช่องทางจึงออกมาเช่าแผงในไนท์บาร์ซาขายของ ในช่วงที่สินค้าเป็นที่นิยมของตลาด ก็มีญาติพี่น้องตามออกมาค้าขายด้วย กระทั่งต่อมาได้มีการขยายพื้นที่การจำหน่ายสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ไปถึงเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี สร้างหนทางในการประกอบอาชีพของชาวบ้านให้เพิ่มมากขึ้น 

วิถีชีวิต

ชาวบ้านเหมืองแร่มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ซึ่งอาจจะมีบ้างที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ แต่คนส่วนมากก็ยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ โดยคนที่ยังอยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นคนแก่และเด็ก ตื่นมาคนแก่ก็จะพาลูกหลานไปเรียน จากนั้นก็ไปสวนทำงาน เมื่อถึงเวลาประมาณ 3-4 โมงเย็น ก็จะไปรับเด็ก ๆ กลับจากโรงเรียน อาบน้ำ กินข้าวเย็น แล้วเข้านอน

ครอบครัวอาข่าเป็นแบบครอบครัวขยาย อยู่รวมกันหลายครอบครัว หนุ่มสาวอาข่ามีอิสระในการเกี้ยวพาราสีและการเลือกคู่ครอง หากแต่งงานแล้ว ผู้หญิงจะเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของผู้ชาย และมานับถือผีฝ่ายสามี ทุกหมู่บ้านจะมีลานโล่งกลางหมู่บ้านเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เป็นลานดินเรียกว่า “ลานสาวกอด” หรือ “แดห่อง” เป็นลานที่ดินที่หนุ่มสาวชาวอาข่ามาพลอดรักกัน และเด็ก ๆ จะมาร่วมร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน

ประเพณี และวัฒนธรรม

ชาวอาข่าบ้านเหมืองแร่มีวัฒนธรรมประเพณีที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ประเพณีการฉลองปีใหม่ การฉลองพืชผล (กินข้าวโพดใหม่) การกินข้าวใหม่ ประเพณีโล้ชิงช้า พิธีไข่แดง การไหว้ผีหลวง การไหว้ผีไร่ ผีนา และการไหว้ผีบรรพบุรุษ

  • ประเพณีโล้ชิงช้า ประเพณี โล้ชิงช้า” ที่คนทั่วไปเคยได้ยิน หรือ แยะ ขู่ อ่าโผ่ว” ในภาษาอ่าข่า พิธีนี้จะทำหลังจากพิธีปลูกข้าวครั้งแรก (ประมาณปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายนเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ระลึกถึงและยกย่องวีรบุรุษชาวอ่าข่าคือ แยะขู่” ผู้ซึ่งได้ยอมสละชีวิตเพื่อต่อสู้กับแมลงศัตรูพืชจนได้รับชัยชนะ นอกจากนี้ยังเพื่อขอพรให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลด้วย ซึ่งจะทำให้พืชผลต่างๆ ที่ชาวอ่าข่าปลูกเอาไว้เจริญออกงาม พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในเวลาไม่นานห้พืชผลต่างๆ ที่ชาวอ่าข่าปลูกเอาไว้เจริญออกงาม พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในเวลาไม่นาน

  • พิธีกรรมฮ่มสึฮีมมิ พิธีเริ่มปลูกข้าว พิธีไข่แดง (วันเด็กอาข่า) บ้างก็ว่า "อิ่มสี ขม อาเผ่ว" มีขึ้นภายหลังจากที่มีการอยู่กรรมจากการเผาไฟในไร่ช่วงกลางเดือนเมษายน เป็นประเพณีการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีปีใหม่ชนไข่ สำหรับบ้านเหมืองแร่ ประเพณีไข่แดงนี้ ถือว่าเป็นวันเด็กของอาข่า เนื่องจากมีการ ย้อมสีไข่มาชนกันอย่างสนุกสนาน แสดงออกถึงการแบ่งปัน และมีน้ำใจ เพราะเมื่อต้มไข่สุกเสร็จก็ต้องแบ่งทุกคนในครอบครัว และยังมีการสร้างสัมพันธ์กับครอบครัวอื่น โดยการมอบไข่ให้ และเกิดความสามัคคีในระดับชุมชนจากการเล่นชนไข่แดงร่วมกัน การชนไข่แดงมีนัยสําคัญแฝงอยู่ คือ การเสียสละ รู้จักเอื้ออารี และการให้อภัย

การสร้างบ้านเรือน

ในการปลูกสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านเหมืองแร่ จะต้องมีหัวหน้าหมู่บ้าน ผู้นำทางพิธีกรรม ช่างตีเหล็ก และผู้อาวุโสเป็นผู้เลือกสถานที่ และเสี่ยงทายขอที่จากผีเจ้าที่ โดยใช้ไข่ 3 ฟอง โยนลงไปบนพื้น หากไข่แตกก็สร้างบ้านได้ ถ้าไข่ไม่แตก จะตั้งบ้านบริเวณนั้นไม่ได้ สำหรับที่ตั้งหมู่บ้านเป็นภูเขาลูกกลางที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข เลี้ยงสัตว์ดีพืชผลในไร่อุดมสมบูรณ์ หมู่บ้านจะต้องมีพื้นที่กว้างขวาง เพียงพอสำหรับเด็ก ๆ วิ่งเล่น และใช้เป็นที่ชุมนุมของชาวบ้านในพิธีกรรมหรืองานฉลองต่าง ๆ ได้ด้วย บ้านของชาวอาข่าจะยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีบันได 3–5 ขั้น บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่มีเสาเป็นไม้เนื้อแข็ง ฝาบ้านทำด้วยฟากไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาที่คลุมยาวลงมาจนเกือบถึงพื้นดิน ไม่มีหน้าต่าง มีเตาไฟ 2 เตา สำหรับปรุงอาหาร และสำหรับต้มน้ำชาไว้เลี้ยงแขก

การแต่งกาย

ชาวอาข่าจะใช้ผ้าฝ้ายทอเนื้อแน่นย้อมเป็นสีน้ำเงินเข้มและสีดำ ผู้หญิงสวมเสื้อตัวสั้น กระโปรงพลีทสั้น ผ้าคาดเอวและผ้าพันน่อง ห้อยคอด้วยลูกปัด มีจุดเด่นที่หมวก ประดับด้วยลูกปัดหลากสี หญิงวัยเด็กและวัยรุ่นจะสวมหมวกทรงกลม หากแต่งงานแล้วจะสวมหมวกทรงสูง ผู้ชายสวมเสื้อคอกลมแขนยาว กางเกงขาก๊วยสีเดียวกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาอาข่า

ภาษาเขียน : อาข่าไม่มีภาษาเขียน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พนาภรณ์ ศรีมูล. (2555). พลวัตทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า: กรณีศึกษาชุมชนอาข่าบ้านเหมืองแร่ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ร้านค้าชุมชนบ้านเหมืองแร่ ต.แม่คะ อ.ฝาง. (2562). ถุงผ้ารักษ์โลกฝีมือชาวอาข่า. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://web.facebook.com/ 

ร้านค้าชุมชนบ้านเหมืองแร่ ต.แม่คะ อ.ฝาง. (2564). ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับชนเผ่าอาข่า. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://web.facebook.com/

อาหมื่อ มาเยอะ. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่คะ. (19 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

อบต.แม่คะ โทร. 0-5396-9067