บ้านออนกลางเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยผาตั้ง วัดคู่บ้านคู่เมืองอำเภอแม่ออน สถานที่บรรจุพระเกศาธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
บ้านออนกลางเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยผาตั้ง วัดคู่บ้านคู่เมืองอำเภอแม่ออน สถานที่บรรจุพระเกศาธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
บ้านออนกลางเป็นหมู่บ้านหนึ่งในปกครองของตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน ซึ่งแยกตัวออกมาจากอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 มีพื้นที่ 442.3 ตารางกิโลเมตร ประชากร 21,669 คน ความหนาแน่นประชากรเฉลี่ย 49 คน/1 ตารางกิโลเมตร (ข้อมูล 2549 พฤษภาคม) โดยมีนายชุมพร แสงมณี ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอแม่ออนคนแรก ใช้อาคารเรียนแบบ 017 โรงเรียนบ้านออนหลวย ตำบลออนเหนือ เป็นที่ว่าการกิ่งอำเภอแม่ออน (ชั่วคราว) และใช้ศาลาวัดออนหลวยเป็นสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอแม่ออนนานถึง 4 ปี ต่อมาได้รับงบประมาณจากทางราชการสร้างที่ว่าการอำเภอแม่ออน (ปัจจุบัน) ณ หมู่ที่ 9 ตำบลออนกลาง เมื่อปี พ.ศ.2539 และได้ยกระดับเป็นอำเภอแม่ออน ตามพระราชกฤษฏีกา วันที่ 24 สิงหาคม 2550 จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (สนั่น บุญมี, 2556: ออนไลน์)
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศบ้านออนกลางมีลักษณะเป็นที่ราบและพื้นที่ภูเขา ลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในบริเวณลำแม่น้ำออน ลักษณะของดินเป็นดินทราย มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม มีการปลูกข้าวและพืชผักหลายชนิด
สถานที่ท่องเที่ยว
วัดพระธาตุดอยผาตั้ง ตั้งอยู่บ้านออนกลางใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลออนกลาง ตรงข้ามที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอำเภอแม่ออน พระธาตุองค์เดิมเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2472 ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะปฏิสังขรณ์เพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้สักการะบูชาจนปัจจุบัน
ครอบครัวของชาวบ้านออนกลาง ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว คือ จะมีสมาชิกในครอบครัวเพียง 2-5 คน ได้แก่ พ่อ แม่ และลูก เนื่องจากภายหลังแต่งงานชาวบ้านออนกลางมักจะพาคู่แต่งงานของออกมาสร้างบ้านเรือนแยกต่างหากจากบ้านของพ่อแม่ ซึ่งส่วนมากมักจะสร้างบนที่ดินที่ได้รับเป็นมรดกจากพ่อแม่ และบ้านที่สร้างใหม่นั้นก็มักจะอยู่ละแวกเดียวกับบ้านพ่อแม่และเครือญาติ
อาชีพ ชาวบ้านออนกลางส่วนใหญ่ยังคงมีอาชีพหลักเป็นการประกอบอาชีพในภาคการเกษตร การปลูกข้าว และพืชผักต่าง ๆ เพื่อนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร ไข่ไก่ ผักสด ยารักษาโรค ผ่านร้านขายของชำภายในชุมชนหรือตลาดนัดรอบนอกชุมชน
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ข้าว มะเขือเทศ อ้อย ผักกาด หรือในบางช่วงที่มีสินค้าชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด และซื้อสินค้าจากรถกับข้าวที่เข้ามาขายในชุมชน
การออกไปทำงานนอกชุมชน รับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น เก็บลำไย โดยนิยมรับจ้างทำงานไม่ไกลจากหมู่บ้านมาก มีการทำงานนอกชุมชนในลักษณะงานประจำเป็นส่วนน้อย
การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายภายในชุมชน โดยปกติเป็นการรวมกลุ่มกันของสมาชิกในตระกูลหรือครอบครัวเดียวกัน และกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมหนึ่ง ๆ ร่วมกัน เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ช่วยกันถือแรงในกลุ่มตัวเอง กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนในด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กเยาวชน กลุ่มทางศาสนา กลุ่มภูมิปัญญาและความรู้พื้นบ้าน และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและชาติพันธุ์ ฯลฯ
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน
ในช่วงที่มีการทำเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการทำนา เช่น การใส่น้ำ การตัดหญ้า การปลูกข้าวหรือพืชผัก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีทั้งการจ้างสมาชิกในชุมชนให้ไปช่วยกันเก็บเกี่ยว หรือบางกลุ่มอาจใช้ระบบถือแรง (ขอแรง)
ส่วนเด็กและเยาวชนจะใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเรียนในโรงเรียนภายนอกชุมชน (ระบบเดียวกันกับโรงเรียนทั่วไป) เด็กเล็กจะอยู่ในชุมชน ช่วงเลิกเรียนจะกลับมายังหมู่บ้านและรวมตัวกันเล่น ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะมีการเรียนเสริม สำหรับเด็กโต (มัธยม) ที่ออกไปเรียนไกลจากชุมชนจะนอนหอพักใกล้กับโรงเรียน และจะกลับบ้านแค่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดยาว ถ้าระดับอุดมศึกษาจะออกจากบ้านไปเรียนนานกว่าปกติและกลับบ้านหนึ่งครั้งต่อเดือน
ปฏิทินกิจกรรมของชุมชน
ในรอบ 1 ปี ได้ปรากฏกิจกรรมของชุมชนบ้านออนกลาง ดังนี้
- ประเพณีปีใหม่เมือง การทานเจดีย์ทราย หรือประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย
- ประเพณีดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีรดน้ำไหว้ผู้ใหญ่ เป็นประเพณีอันสืบเนื่องมาจากประเพณีงานสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่แสดงออกถึงความเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือ และผู้มีพระคุณ เพื่อแสดงความกตัญญูพร้อมกับการขอขมา และขอรับพรเพื่อเป็นสิริมงคล แก่ตัวเองเนื่องในวันสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์ของไทยในเดือนเมษายน
- ประเพณีสืบชะตา เป็นพิธีกรรมที่ชาวล้านนานิยมทำในโอกาสต่าง ๆ เพื่อต่อดวงชะตาหรือต่ออายุให้ยืนยาว มุ่งหวังมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความเจริญรุ่งเรือง และเพื่อความเป็นสิริมงคล
- ประเพณีตานก๋วยสลาก ประเพณีตานก๋วยสลากมักทำกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านหยุดพักจากทำนา พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่ในวัดเพราะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา และยังเป็นช่วงที่ข้าวเปลือกหรือข้าวสารใกล้หมดยุ้งฉาง จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสม โดยมีความเชื่อว่าการตานก๋วยสลากนอกจากจะเป็นการทำบุญแก่ญาติผู้ล่วงลับแล้วยังเป็นการทำทานสงเคราะห์แก่คนยากไร้ ซึ่งถือว่ามีกุศลแรง
- ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ทุกวันแรม 8 ค่ำ เดือน 8 เหนือ พุทธศาสนิกชนในตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จะร่วมกันจัดตกแต่งขบวนแห่เครื่องสักการะตามความเชื่อของชาวล้านนา เพื่อเข้าสู่พิธีสรงน้ำพระบรมธาตุดอยผาตั้ง ซึ่งเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ขณะเดียวกันได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนออกมาให้ประชาชนได้สักการบูชาปีละครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล
- ประเพณีปอยหลวง ประเพณีปอยหลวง คือ งานฉลองถาวรวัตถุ หรือสิ่งก่อสร้างที่ประชาชนช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อถวายวัดและเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะชน เช่น วิหาร ศาลา โรงเรียน หอประชุม เป็นต้น นิยมทำการฉลองครั้งใหญ่หลังจากการก่อสร้างสำเร็จแล้ว ทำเป็นงานใหญ่โตเรียกว่า ปอยหลวง อุทิศสิ่งก่อสร้างเป็นของสงฆ์ และอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชนด้วย ถ้าทำส่วนตัวเรียกว่า อุทิศกุศลไว้ภายหน้า หากอุทิศแก่คนตายไปแล้ว เรียกว่าอุทิศไปหาผู้ที่ถึงแก่กรรม
การพักผ่อนและงานอดิเรก
การพักผ่อนผู้คนมักจะรวมตัวกันพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกันหรือในเรื่องของการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ประชุมเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านว่าปรับเปลี่ยนหรือมีวิธีแก้ไขปัญหาแบบใด ประชุมวางแผนการจัดเตรียมงานที่จะจัดขึ้น หรือบางคนก็จะมารวมตัวกันที่วัด หรือตามบ้านที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพื่อใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรือไปมาหาสู่กันตามบ้านต่าง ๆ
พฤติกรรมการกินอยู่ การแต่งกาย
อาหารส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชน เช่น ผักพื้นบ้านที่ได้จากละแวกบ้านและในสวน พืชผักตามฤดูกาล ข้าว ส่วนเนื้อซื้อตามตลาดนัดหรือร้านขายของชำที่มีการรับสินค้าจากที่อื่นมาขายในชุมชน เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ผักบางชนิดที่ไม่ได้มีการปลูกในชุมชน รวมไปจนถึงเครื่องปรุงเครื่องปรุงเครื่องเทศต่าง ๆ
ในส่วนของการแต่งกาย เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะแต่งกายเหมือนเด็กทั่วไป และผู้ใหญ่ก็มีการแต่งกายแบบธรรมดาทั่วไป แต่หากมีกิจกรรมหรือประเพณีอะไรที่มีการจัดขึ้นที่วัด ก็จะมีการแต่งกายแบบสุภาพเรียบร้อยมากกว่าเดิม
“ภาษาเหนือ” เป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน ภาษาเหนือมีตัวอักษรเหมือนภาษากลางต่างแค่สำเนียงหรือบางคำที่ต่างออกไป คำเมืองล้านนาสมัยก่อนบางคำคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก เนื่องจากเข้าเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก
วัดพระธาตุดอยผาตั้งเดิมชื่อ วัดม่อนธาตุ พระบรมธาตุเจดีย์ องค์เดิมนั้นเป็นองค์เก่าแก่เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีตำนานว่า ครั้งหนึ่งมีนักบุญและนักพัฒนาแห่งล้านนาไทยชื่อว่า ครูบาศรีวิชัย หรือครูบาศีลธรรม ได้มาบำเพ็ญบารมีที่ถ้ำเมืองออน อำเภอสันกำแพง ศรัทธาสาธุชนทราบข่าวก็พากันไปอาราธนานิมนต์มาบูรณะวัดม่อนธาตุ ครูบาศรีวิชัยได้นำศรัทธาญาติโยมสร้างเจดีย์ครอบองค์เก่าให้ใหญ่โตขึ้นเท่าที่เห็นปัจจุบัน นอกจากจะสร้างเจดีย์แล้ว ท่านครูบายังได้สร้างวิหารขี้นอีกหลังหนึ่งข้างเจดีย์ทางด้านทิศเหนือ แต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จ ท่านก็เกิดอาพาธ จึงต้องกลับไปรักษาตัวในเมืองเชียงใหม่ แล้วมอบให้ลูกศิษย์ชื่อว่า พระอิ่นแก้ว และพระหนุน ทำการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ
พ.ศ. 2535 คณะศรัทธาวัดพระธาตุดอยผาตั้งได้อาราธนาพระมหาอำนาจ อภิปุณฺโณ จากวัดออนกลาง มาจำพรรษา และเจ้าคณะตำบลออนกลางในขณะนั้น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และได้ขอแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึง ปัจจุบันการที่วัดพระธาตุดอยผาตั้งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ พระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ดังนั้นทุก ๆ ปี ศรัทธาสาธุชนทุกหมู่บ้านในตำบลออนกลางจะร่วมแรงร่วมใจกันทำพิธีสรงน้ำพระธาตุ เป็นประจำทุกปีสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏในคำขวัญอำเภอแม่ออนว่า "ผาตั้งธาตุคู่เมือง รุ่งเรืองฟาร์มโคนม รื่นรมย์น้ำพุร้อน เมืองออนถ้ำแสนงาม"
จันทรรัศม์ พลอินตา. (2552). การใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านออนกลาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พระสมุดทวีวัฒน์ สิริวัฒโน. รองเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ (31 มกราคม 2566). สัมภาษณ์.
วัดพระธาตุดอยผาตั้ง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.google.com/maps/place/
สนั่น บุญมี. (2556). ประวัติอำเภอแม่ออน/บ้านออนหลวย/เมืองหลวยในอดีต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.gotoknow.org/posts/110743
ห้องสมุดประชาชนอำเภอแม่ออน. (2555). วัดพระธาตุดอยผาตั้ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: http://cmi.nfe.go.th/
Sara Mil. (2559). พระอุโบสถวัดพระธาตุดอยผาตั้ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://foursquare.com/
Nokey Dokey. (2556). รูปปั้นครูบาศรีวิชัย. [ออนไลน์]. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://foursquare.com/