Advance search

บ้านยาง

บ้านยาง

บ้านยาง เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางศาสนา-วัฒนธรรม โดยประชากรกลุ่มหลักที่มีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม คือ "จีนยูนนาน" มีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงภายในชุมชน และมีแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกบ้านยาง

หมู่ที่ 12
บ้านยาง
แม่งอน
ฝาง
เชียงใหม่
ปรีชา เป็งศรี
28 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านยาง
บ้านยาง

ในช่วงแรกเริ่มกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ซึ่งในภาษาไทยถิ่นเหนือมักเรียกว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้ว่า "ยาง" จึงตั้งชื่อชุมชนตามกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงเเรก หลังจากนั้นจึงมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาอาศัยเพิ่ม แต่ชื่อนี้ก็ยังคงเป็นชื่อเรียกสืบมา สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของคนกลุ่มเดิมในพื้นที่


ชุมชนชนบท

บ้านยาง เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางศาสนา-วัฒนธรรม โดยประชากรกลุ่มหลักที่มีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม คือ "จีนยูนนาน" มีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงภายในชุมชน และมีแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกบ้านยาง

บ้านยาง
หมู่ที่ 12
แม่งอน
ฝาง
เชียงใหม่
50320
อบต.แม่งอน โทร. 0-5334-6295
19.80469
99.09984
เทศบาลตำบลแม่งอน

เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2496 ทหารจีน (กองพล 93-95) และประชาชนได้อพยพเข้ามายังประเทศไทยในช่องทางดอยอ่างขาง (ปัจจุบันคือบ้านหลวง) และจากนั้นได้ย้ายถิ่นฐานลงมาที่บ้านยาง ย้อนอดีตไปไม่นาน ได้เกิดเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมและดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ในตำบลแม่งอน และตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอย่างมาก ซึ่งรวมถึงโรงงานในพื้นที่แห่งนี้ที่ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด แต่หลังจากนั้นก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่

ในวันที่ 18 ม.ค. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) มีพระราชดําริเรื่องฟื้นฟูสภาพพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) และชุมชนอีกทั้ง พัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน โดยมอบหมายให้สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้วางแผนแม่บทในการพัฒนาฟื้นฟู และเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จเปิด โรงงานแปรรูปอาหารสําเร็จรูปของโครงการหลวง

ภายในโครงการหลวงนั้นมีกิจกรรมที่น่าสนใจให้เยี่ยมชมมากมาย เช่น นิทรรศการที่จัดแสดงวัตถุสะสม อันเป็นสิ่งของจากชาวบ้านชุมชนบ้านยาง ที่บริจาคให้นำมาจัดแสดงภายในผ่านพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) นิทรรศการซึ่งจัดแสดงภาพถ่าย ขั้นตอนกระบวนการผลิตของโรงงานหลวง และภาพถ่ายสมัยที่ในหลวงเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์จะ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” และทรงต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารให้อยู่ดีกินดี จึงเกิดเป็น “โครงการหลวง” ที่ส่งเสริมให้ราษฎรเพาะปลูกทำการเกษตร จำพวกผักและผลไม้เมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม หลังน้ำป่าจากเทือกเขาสูง มาพร้อมก้อนหินขนาดยักษ์ ซากต้นไม้นับไม่ถ้วน ไหลถล่มหมู่บ้านยาง

จากวิกฤติครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อชาวบ้านยางร่วมแรงร่วมใจฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น พัฒนาชุมชนสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำเสนอวัฒนธรรมงดงาม และอาหารท้องถิ่นแบบ “จีนยูนนาน” ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง ปลุกการค้าขายกลับมาคึกคักและคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น คืนรอยยิ้มสู่ชาวบ้านยางอีกครั้ง

หมู่บ้านยางมีประมาณ 200 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,200 คน เป็นชุมชนเล็ก ๆ รู้จักคุ้นหน้าคุ้นตากันแทบทุกคน ใช้ชีวิตแบบเงียบสงบ มีรายได้จากการทำเกษตร จากการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านยาง พวกเขาเลือกจะนำเสนอจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมจีนยูนนาน โดยเฉพาะอาหารแบบพื้นถิ่นด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านที่มีความพร้อมและมีฝีมือปลายจวัก ทำอาหารต้นตำรับต่าง ๆ มาขายนักท่องเที่ยว เมื่อเดินเที่ยวชมในหมู่บ้านจะได้เห็นวิถีชีวิต การทำขนมข้าวซอยตัด เส้นบะหมี่ ฯลฯ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ มาเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้นโดยลำดับ

ลักษณะภูมิประเทศ 

บ้านยางอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอฝาง เป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร และห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่งอน เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตรเส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ปากทางเข้าหมู่บ้านเลยตลาดแม่ข่า ประมาณ 200-300 กิโลเมตร จากปากทางเข้าหมู่บ้านยาง ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ขนาดของพื้นที่ บ้านยางมีเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้งหมด 1,750 ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขามีแม่น้ำไหลผ่านทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เรียกว่า “แม่น้ำฝาง” บ้านยางมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านปางควาย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านใหม่หลวง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสันมะกอกหวาน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยขาน

ลักษณะทางกายภาพ

ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีแม่น้ำไหลผ่านเพื่อทำการเกษตร มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 19 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ จะมีอากาศหนาวเย็น โดยอุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม ประมาณ 8 อาศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน ประมาณ 35 องศาเซลเซียส เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

จำนวนประชากร ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2566 จากส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 330 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,169 คน แบ่งเป็นเพศชาย 577 คน และเพศหญิง 592 คน

กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหลักในพื้นที่ คือ ชาวจีนยูนนาน

กลุ่มชาติพันธุ์จีนยูนนาน เรียกตนเองว่าจีนยูนนาน, จีนมุสลิม, จีนยูนนานมุสลิม ผู้อื่นเรียกจะเรียกว่า ฮ่อ, จีนฮ่อ, จีนมุสลิม ที่มาของคำว่า "ฮ่อ" สันนิษฐานว่ามาจากชื่อเรียกอาณาจักรน่านเจ้าซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง "ต้าหลี่" ริมทะเลสาบหนองแส (หรือ "ซีเอ้อห่อ") ชาวจีนเรียกชาวป่าที่อยู่ทะเลสาบหนองแสนี้ ว่า "ฮ่อ/ห้อ" ซึ่งชื่อเต็มคือ "ซีเอ้อห่อหมาน" แต่เมื่อฮ่อ/ห้อ ย้ายจากทะเลสาบไปคุนหมิง ชาวไทลื้อยังเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ฮ่อ ที่หมายถึง ชาวจีน เช่น ฮ่อปักกิ่ง หมายถึง "จีนปักกิ่ง" ต่อมาชาวฮ่อ ได้เดินทางเข้ามาสู่อาณาจักรล้านนาและล้านช้าง ชาวไทย ชาวลาว ได้เรียกชาวจีนที่มาจากมณฑลยูนนานและบริเวณใกล้เคียงว่า "ฮ่อ" มีหลักฐานในประวัติศาสตร์ล้านนา ระบุว่า ขุนเจือง วีรกษัตริย์แห่งพะเยา สิ้นพระชนม์ในขณะทำสงครามกับ "พญาฮ่อ" ประวัติศาสตร์ล้านนาและหลวงพระบาง ได้บันทึกประวัติศาสตร์การทำสงครามกับฮ่อที่อยู่ทางเหนือเช่นกัน

กรณีศึกษาเกี่ยวกับคำว่า จีนฮ่อนั้น เจีย แยนจอง (2537) (อ้างถึงใน จีริจันทร์ วงศ์ลือเกียรติ ประทีปะเสน, 2548) มองว่า คำว่า "ฮ่อ" มาจากการที่ชาวไทลื้อสิบสองปันนา ไทยวนล้านนา ชาวลาวหลวงพระบาง ได้เรียกขานผู้ปกครองชาวจีนยูนนานเป็น "เจ้าว้องฮ่อ" และเรียกชาวจีนยูนนานว่า "ฮ่อ" ซึ่งคำเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องท้าวฮุ่งพระบางที่มีการกล่าวถึงคำว่า "เจ้าว้องฮ่อ" ในหลาย ๆ ครั้ง หรือแม้กระทั่งการเรียกชาวจีนฮ่อว่าเป็น ฮ่อผาสี ซึ่งหมายถึง ชาวจีนยูนนานที่เป็นมุสลิม โดยเจีย แยนจองได้สันนิษฐานว่า คำว่า "ผาสี" ได้เพี้ยนมาจากคำว่า "เปอร์เซีย" และคำว่า "ฮ่อผาห้า" หมายถึง ชาวจีนยูนนานที่นับถือศาสนาพุทธ

จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)

ภายในชุมชนบ้านยางคนในชุมชนมีการทำการเกษตร ทำงานที่โรงงานหลวงที่ 1 ค้าขาย และเปิดร้านอาหารเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว

ชาวจีนยูนนานยังคงยึดถือประเพณีปฏิบัติตามแนวทางของบรรพบุรุษ โดยความเชื่อที่เด่นชัด คือ ความเชื่อเรื่องการเตรียมพร้อมทั้งก่อนและหลังความตาย

ชาวจีนในยุคทหารจีนกองพล 93 อพยพเข้ามาช่องทางดอยอ่าง และตั้งรกรากยังบ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านในหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณและสายน้ำ แม้กาลเวลาจะผ่านเลย แต่วิถีชีวิตที่เป็นรากเหง้าความเป็นจีนยูนนานของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แม้ว่าศาสนามีทั้งจีนพุทธ จีนคริสต์ และจีนมุสลิม ซึ่งมีความแตกต่างกัน แต่คนที่นี่อยู่ร่วมกันได้ฉันท์พี่น้องบังรอฮาบ บุญเทียม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านยาง ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม เล่าถึงความเกื้อกูลกันของคนต่างศาสนาว่า "ที่นี่มีตลาดแห่งเดียวจับจ่ายทุกศาสนาหรือในงานบุญไม่ว่าศาสนาใดศาสนิกต่างศาสนาจะเข้าไปช่วยกัน เพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน" ที่หมู่บ้านแห่งนี้ วิถีชีวิตชาวจีนยูนนานซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ยังยึดมั่นและสืบทอดกันมา คือการเตรียมพร้อมทั้งก่อนและหลังความตาย คือ มีการเตรียมโลงศพเอาไว้ เพราะเชื่อว่าเป็นการต่ออายุให้ยืนยาวโดย ยิ่งอ๋ายชิง หรือกฤษณา ยิ่งเจริญกิจ อายุ 49 ปีเล่าว่าซื้อโลงศพเก็บไว้ให้อาม่ามานาน เก็บไว้อย่างมิดชิด ตอนนี้อาม่าอายุ 90 ปี ส่วนครอบอากงเหวินคั่ว แซ่เฉ่ว อายุ 84 ปีมีโลงศพในบ้านถึง 4 โลง อากงเล่าด้วยความภูมิใจเพราะ ลูก ๆ พาไปเลือกซื้อตั้งแต่อายุ 50 ปี และเก็บไว้ใน 30 ปีกว่าแล้ว เฮียพงษ์เทพฉัตรฐาปนา (อายุ 58 ปี) ลูกชายของอากงเหวินคั่วเล่าว่า การซื้อโลงศพเตรียมไว้เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ที่สืบทอดกันมาในวิถีชีวิตของชาวจีนยูนนานช่างที่ทำโลงศพนั้น คือ ช่างชิงเหล่ย แซ่ม้า ซึ่งอยู่ที่บ้านใหม่หนองบัว อำเภอไชยปราการ ห่างจากบ้านยาง 20 กิโลเมตร ตัวช่างผู้ที่จะทำโลงศพได้นั้น เชื่อกันว่าต้องได้รับการถ่ายทอดมาวิชาโดยตรงจากผู้เป็นพ่อเท่านั้น

นอกจากความเชื่อทางศาสนา ความเป็นอยู่ของคนจีนยูนนานที่นี่ยังเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ และมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ซาลาเปาไส้มะพร้าว ขนมจีบ เส้นหมี่ที่ยังใช้การนวดเส้นแบบโบราณ นอกจากนั้นยังมีอาหารที่สุดพิเศษซึ่งจะทำได้เฉพาะในหน้าหนาวเท่านั้น คือ "เนื้อน้ำค้าง" หรือที่คนที่นี่เรียกว่า "กังปา" ความพิเศษก็คือ ต้องอาศัยลมเย็นและน้ำค้างของฤดูหนาวในการตาก เพราะจะมีน้ำค้างตกใส่ ทำให้เกิดความนุ่ม โดยจะตาก 7 - 10 แดด วิธีการตาก ต้องเอาแขวนกับยอดไม้ไผ่ ที่มีความยาวประมาณ 4 - 5 เมตร หลังจากนั้นก็ตั้งขึ้น ให้เนื้อโดนแดดมากที่สุด เมื่อเนื้อแห้งก็สามารถเอาลงมาทอดกิน บางคนก็ทำเยอะ เก็บไว้กินได้เป็นปีเนื้อน้ำค้างนี้เป็นอาหารที่พิเศษสำหรับคนที่นี่ด้วย เพราะหากมีญาติหรือคนรู้จักก็มักจะเอาเป็นของฝาก เพราะเนื้อน้ำค้างทำได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น ความเป็นจีนยูนนานของคนที่นี่ ถูกปลูกฝังและผูกพันอยู่ในวิถีชีวิต ทั้งคำสอน ความเชื่อ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย แต่ในด้านคุณค่าโดยเฉพาะความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษนั้นมิได้เสื่อมคลายลงตามกาลเวลา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางกายภาพ

  1. ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนเนื่องจากชุมชนบ้านอย่างอยู่บนพื้นที่สูงมีภูเขาล้อมรอบจึงค่อนข้างมีอากาศที่เย็นจึงสามารถปลูกพืชเมืองหนาวได้ดี
  2. น้ำตกบ้านยางเป็นน้ำตกที่สำคัญภายในชุมชนบ้านยางเพราะเป็นแหล่งน้ำในการทำการเกษตรภายในชุมชนและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของชุมชน

ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

  1. ประเพณีวัฒนธรรม ชุมชนบ้านยางมีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นส่วนมากทำให้ยังคงมีการรักษาประเพณีวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจีนอยู่ในด้านเทศกาลประเพณี เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์
  2. บ้านดิน สามารถเข้าไปชมเรียนรู้เทคโนโลยีท้องถิ่นในการสร้างที่อยู่อาศัยของชาวจีนยูนาน ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยาก โดยผู้เยี่ยมชมควรตระหนักว่าที่นี่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล จึงต้องให้เกียรติเจ้าของบ้านด้วย บ้านดินเล่าจางปัจจุบันนั้นเปิดเป็นร้านอาหารสุกี้ยูนนานให้บริการทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
  3. ข้าวซอยในชุมชนบ้านยางมีการเปิดร้านข้าวซอยในชุมชน ซึ่งเส้นข้าวซอยนั้นเป็นเส้นที่ทำเองภายในชุมชน

ภาษาพูด : ภาษาไทย ภาษาไทยท้องถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ภาษาจีนยูนนาน

ภาษาเขียน : ภาษาไทย ภาษาจีนยูนนาน


ปัจจุบันภายในชุมชนบ้านยาง มีการวาดรูปบนกำแพงผนังอาคารหลากหลายพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน เพื่อสร้างจุดถ่ายรูปและสร้างแรงดึงดูดใจให้กับนักท่องเที่ยว

หลังจากบ้านยางเริ่มพัฒนาการท่องเที่ยว มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวหลากหลายกิจกรรมในสถานที่ต่อไปนี้

1. พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ตั้งอยู่ที่บ้านยาง หมู่ที่ 12 ตําบลแม่งอน อําเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป และเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดําริในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมและโคลนถล่มในพื้นที่ตําบลแม่งอน และตําบลแม่ข่า อําเภอฝาง ทําให้โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ได้รับ ความเสียหายเกือบทั้งหมด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงได้มีดําริให้ฟื้นฟูโรงงานหลวงอาหาร สําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จึงได้มีการดําเนินการก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ขึ้น ภายในพิพิธภัณฑ์นําเสนอความรู้ผ่านนิทรรศการอันทันสมัย จัดแสดงไว้ในบรรยากาศจำลองของโรงงาน หลวง ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการหลัก เล่าเรื่องราวสําคัญ ๆ ของโครงการหลวง โรงงานหลวง อาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) และบริษัทดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนนิทรรศการภาพถ่ายชาติพันธุ์ นําเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างโรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) กับชุมชนบ้านยาง และชาวไทยภูเขา ผ่านมุมมองของช่างภาพมืออาชีพ ได้แก่ นพดล ขาวสําอางค์ ชํานิ ทิพย์มณี กรกฤช เจียรพินิจนันท์ นอกจากบ้านปูนแบบจีนแล้วยังมีบ้านดินเก่า และศาลเจ้าแม่กวนอิมและสถานี อนามัยพระราชทานให้ชมอีกด้วย

2. บ้านดิน บ้านดินเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่าย และใช้เวลาสร้างไม่นาน บ้านดินหลังนี้ใช้เทคนิคการสร้างแบบบ้านดินของชาวจีนยูนนาน คือใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นโครงสร้างหลัก ผนังใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างข้างใน แล้วใช้ดินเหนียวผสมฟางข้าวพาดลงบนโครงไม้ไผ่เป็นชั้น ๆ ชั้นนอกปิดทับด้วยดินเหนียว ส่วนหลังคามุงด้วยใบยางหลวง (คนภาคเหนือเรียกใบตองตึง) ปัจจุบันในหมู่บ้านบ้านยางเหลือบ้านดินอยู่น้อยมาก ถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

3. โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ โดยประมาณ ปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดําเนิน เยี่ยมเยียนราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านยาง และทรงมีพระราชดําริว่า ภูมิประเทศบริเวณนี้ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ตลอดปี จึงควรนํามาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงโปรดฯ ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย (กฟผ.) นําไปพิจารณาศึกษาความเหมาะสม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงได้ ทําการสํารวจภูมิประเทศและศึกษาความเหมาะสมตามพระราชดําริ และพบว่าสามารถพัฒนาได้ใน ระยะเวลาอันสั้น เพราะใช้เงินลงทุนต่ำ จึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยางขึ้น เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดําเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ราษฎรในหมู่บ้านยางและบริเวณใกล้เคียงจึงมีไฟฟ้าใช้ ส่งผลให้หมู่บ้านใน บริเวณนี้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

4. โรงหมออนามัยพระราชทาน เป็นสถานรักษาพยาบาลแห่งแรกของตําบลแม่งอน เปิดให้การรักษาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 และตั้งแต่นั้นคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนบริเวณนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยมา

5. ศาลเจ้าแม่กวนอิม (พระราชทาน) โบสถ์คริสต์ และมัสยิด สถานที่ท่องเที่ยวศาลเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่บนเนินเขาอันเป็นจุดชมวิวหมู่บ้านที่สวยที่สุด เป็นผืนดินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานให้เมื่อปี พ.ศ. 2524 ในช่วงเทศกาลสําคัญต่าง ๆ ของชาวจีน เช่น วันตรุษจีน ฯลฯ ชาวบ้านยางจะขึ้นมาประกอบพิธีกรรมกันอย่างหนาแน่น ที่นี่มีแม่ชีจําศีลอยู่ประมาณ 10 รูป เจ้าอาวาสกล่าวว่า เมื่อตัดสินใจบวชเป็นชีที่วัดแห่งนี้แล้ว ไม่สามารถสึกได้ไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ชุมชนบ้านยางยังมีโบสถ์คริสต์และมัสยิดตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ห่างจากศาลเจ้าแม่กวนอิมไม่ไกลกันนัก

6. โรงเรียนสอนภาษาจีน เปิดสอนวิชาต่าง ๆ ด้วยภาษาจีนกลาง ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เด็ก ๆ ที่นี่ในช่วงวันจันทร์ – ศุกร์ จะไปโรงเรียนตามปกติ แต่เมื่อกลับจากโรงเรียนแล้ว จะมาเรียนภาษาจีนกลางที่นี่ ทําให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านนี้สามารถพูดภาษาจีนได้เป็นอย่างดี

7. กิจกรรมการเที่ยวสวนผลไม้ อาชีพหลักของชุมชนจีนยูนนานก็จะเป็นการทํานาปลูกสวน สวนผลไม้ของบ้านยางเต็มไปด้วยผลไม้ที่หลากหลาย เช่น สตรอว์เบอร์รี ลูกพลับ ลิ้นจี่ ลูกสาลี่ ลูกท้อ โดยเฉพาะสวนลิ้นจี่ ซึ่งนับเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่ โดยเจ้าของสวนอนุญาตให้เด็ดทานจากต้นได้ นักท่องเที่ยวก็ได้สัมผัสถึงชีวิตของชาวบ้านยางที่ทํางานในสวนผลไม้ด้วย

8. กิจกรรมการเที่ยวชมวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมและประเพณีของชุมชน บรรยากาศบ้านยางถือเป็นชุมชนที่โดนเด่นในเรื่องวัฒนธรรมที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นชาวจีนยูนนานไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของทั้ง 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ที่อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ รวมถึงสถาปัตยกรรม บ้านเรือนรูปแบบจีน และอาหารการกิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางกรมการพัฒนาชุมชนเชื่อว่าจะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ด้านการท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP ให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

9. กิจกรรมการพักแรม แม้ว่าบ้านยางเป็นเพียงหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็ก ๆ แต่สถานที่แห่งนี้ก็มีที่พักรองรับ นักเดินทางผู้มาเยือนให้เลือกทั้งรูปแบบโฮมสเตย์และเกสต์เฮ้าส์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้อยู่กับเจ้าของบ้าน และรับประทานอาหารด้วยกัน สัมผัสกับวิถีชีวิตที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตามแบบวัฒนธรรมยูนนาน

เชียงใหม่นิวส์. (2560). ศึกษาวัฒนธรรมจีนยูนาน เที่ยวอำเภอฝาง เชียงใหม่ - Chiang Mai News. (ออนไลน์). จาก: https://www.chiangmainews.co.th/

เชียงใหม่เพรส. (2562). เที่ยว “บ้านยาง” สัมผัสวิถี “จีนยูนาน” และอิ่มท้องกับ “ข้าวซอย” รสเด็ด. (ออนไลน์). จาก: https://chiangmaipress.com/

บ้านยางเกสเฮ้าส์. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านยาง. (ออนไลน์). จาก: https://banyangguesthouse.wixsite.com/

ThaiPBS. (2564). ซีรีส์วิถีคน - วิถีหลากศาสนาของ “ชาวจีนยูนนาน” บ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่. (ออนไลน์). จาก: https://www.thaipbs.or.th/

Yang Fang Fei. (2555). ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวตามการรับรู้ของุมชนจีนยูนนาน ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

พรชนก ศิริมงคลวารี, สัมภาษณ์, 6 กุมภาพันธ์ 2566.