Advance search

บ้านผาหมี

บ้านผาหมีได้นำเอาต้นทุนทัศนียภาพโดยรอบหมู่บ้านและวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ามาประยุกต์ร่วมกับนโยบายการกระจายความเจริญของภาครัฐ พัฒนาปรับเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนบ้านผาหมีเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ กระทั่งกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาท่องเที่ยวในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

ผาหมี
เวียงพางคำ
แม่สาย
เชียงราย
วิไลวรรณ เดชดอนบม
27 ก.พ. 2023
สุธาสินี บุญเกิด
1 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
27 ก.พ. 2023
บ้านผาหมี

ในอดีตบริเวณที่ตั้งบ้านผาหมี ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง มีหมีควายอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อว่า “บ้านผาหมี”


บ้านผาหมีได้นำเอาต้นทุนทัศนียภาพโดยรอบหมู่บ้านและวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ามาประยุกต์ร่วมกับนโยบายการกระจายความเจริญของภาครัฐ พัฒนาปรับเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนบ้านผาหมีเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ กระทั่งกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาท่องเที่ยวในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

ผาหมี
เวียงพางคำ
แม่สาย
เชียงราย
57130
เทศบาลเวียงพางคำ โทร. 0-5364-6569
20.3995599
99.8512367
เทศบาลตำบลเวียงพางคำ

สำหรับชาวอาข่าบ้านผาหมี มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่หมู่บ้านโฮะอา มณฑลจูก๋อ ประเทศจีน เมื่อประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ทางการจีนได้มีนโยบายในการกดทับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และดำเนินการส่งกองกำลังออกปราบปรามชนกลุ่มน้อย ชาวอาข่าที่ไม่สามารถอดทนต่อการกดขี่ข่มเหงของรัฐบาลจึงได้อพยพหนีสงครามเข้ามาอยู่ที่เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา ก่อนเคลื่อนย้ายต่อมายังประเทศไทย

ชาวอาข่าบ้านผาหมี เริ่มอพยพเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกราว พ.ศ. 2488 โดยเดินทางผ่านแถบเทือกเขานางนอน เขตสันเขาแดนลาว ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา เข้ามาบริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ภายใต้การนำของ นายแสนพรม เซอหมึกู่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกบริเวณหมู่บ้านผาแตก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ห่างจากหมู่บ้านผาหมีประมาณ 10 กิโลเมตร) กระทั่ง ปี พ.ศ. 2501 คนพื้นเมืองเดิมได้เข้ามาแย่งพื้นที่ทำกิน และขับไล่ชาวอาข่าให้ย้ายไปอาศัยและทำกินบนภูเขาสูง ชาวอาข่าผาหมีจึงจำเป็นต้องอพยพย้ายออกจากบ้านผาแตก แล้วไปบุกเบิกพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ ซึ่งก็คือบริเวณบ้านผาหมีในปัจจุบัน ต่อมา นายเคอฉ่ะ หม่อโป๊กู่ ได้นำชาวอาข่าจำนวนหนึ่งจากแคว้นสิบสองปันนาเข้ามาร่วมสมทบกับกลุ่มชาวอาข่าที่อาศัยอยู่ที่บ้านผาหมี และในปี พ.ศ. 2503 บริเวณพื้นที่นี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทว่ายังอนุญาตให้ชาวอาข่าอาศัยพื้นที่ทำกินเดิมได้ แต่ไม่สามารถบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพิ่มอีก

อาข่าผาหมี หรือ อูบย่าอาข่า เป็นกลุ่มที่ยังคงธำรงรักษาวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่างเข้มแข็ง กระทั่งปี พ.ศ. 2557 มีชาวอาข่าจากประเทศพม่าอพยพเข้ามาประกอบอาชีพทางการเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงกับดอยผาหมี กอปรกับนโยบายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมธรรมของจังหวัด และการควบคุมสอดส่องวิถีชีวิตของชาวอาข่าผาหมีให้เข้ากับสังคมไทยจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้อาข่าผาหมีต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม เพื่อให้สอดรับกับสภาพสังคม และนโยบายการท่องเที่ยวจากภาครัฐที่พยายามผลักดันให้ชุมชนชาวอาข่าบ้านผาหมีเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 

สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านผาหมีตั้งอยู่บนยอดเขา ถูกล้อมรอบไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ ป่าไม้หนาทึบ มีสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะหมีควายซึ่งมีจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านผาหมี

ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ชาวอาข่าผาหมีเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องผูกพันกับธรรมชาติ ใช้กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิต ชาวอาข่าจึงมีการสร้างมโนคติความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เชื่อว่าทุกถิ่นที่สิ่งอย่างล้วนมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ ชาวอาข่าต้องให้ความเคารพยำเกรงกฎเกณฑ์ธรรมชาติอันถือเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ในการปกครองหมู่บ้านอย่างเป็นระบบ

ความเชื่อเรื่องการจับจองที่ดินทำกิน : จะผ่าไม้ขนาดเล็กออกเป็น 4 ซีก เพื่อทำเป็นรูปกากบาทปักลงที่ดินที่ต้องการจับจอง พร้อมบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อว่าหลังปักไม้จับจองพื้นที่ หากนอนหลับแล้วเกิดฝันร้าย หมายความว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณนี้ จะต้องไปหาพื้นที่ทำกินใหม่

ความเชื่อในการอาบน้ำหลังเผาไร่เสร็จ : อาข่าผาหมีมีความเชื่อว่าหลังการเผาไร่ ห้ามไม่ให้ผู้ที่ทำหน้าที่เผาไร่อาบน้ำ เพราะจะทำให้ไร่ไหม้ไม่หมด

ความเชื่อในการปลูกข้าว : มีการฆ่าไก่เพื่อเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม

ความเชื่อในการไว้อาลัยให้แมลง : อาข่าผาหมีเชื่อว่าในการในการขุดหรือไถพรวนหน้าดินเพื่อทำเกษตรในแต่ละครั้งอาจแทงถูกแมลงที่อยู่ในดินเสียชีวิต ฉะนั้นจึงมีการหยุดทำงาน 1 วัน เพื่อเป็นการไว้อาลัย และขอขมาแมลงที่ตายไม่ให้เกิดความอาฆาต พยาบาท หรือมาทำลายพืชผลให้เกิดความเสียหาย

ความเชื่อในการกำจัดศัตรูพืช :

(1) การกำจัดด้วง โดยจะจับด้วงมา 1 ตัว ห่อด้วยใบเผือก นำมาเสียบกับปลายไม้ปักไว้หน้าประตูทางเข้าหมู่บ้าน ถือเป็นการไว้อาลัยให้ด้วงที่กำลังจะออกมาตายบนดิน ไม่ให้มากัดกินรากข้าว

(2) การกำจัดตั๊กแตน โดยจับตั๊กแตนมา 2 ตัว ห่อด้วยใบเผือก นำมานึ่ง แล้วตำกับข้าวเหนียวสำหรับทำข้าวปุ๊ก อาข่าผาหมีมีความเชื่อว่าการนำตั๊กแตนมาตำจะทำให้ตั๊กแตนตาบอด ไม่สามารถมองเห็นและทำลายรวงข้าวได้

ความเชื่อในการล่าสัตว์ : อาข่าผาหมีจะไม่ออกไปล่าสัตว์ป่าในฤดูผสมพันธุ์ เพราะเชื่อว่าหากยิงโดนสัตว์ที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีลูกเล็กจะเกิดโชคร้ายแก่ผู้กระทำ และเป็นบาปแก่สมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามว่าไม่สามารถล่าสัตว์ป่า 2 ชนิด ภายในวันเดียว และห้ามล่าสัตว์ใหญ่ที่ถือเป็นสมบัติของป่าแล้วนำเข้ามาภายในหมู่บ้านโดยเด็ดขาด เพราะจะนำความโชคร้ายมาสู่ครอบครัวและคนในหมู่บ้าน

ความเชื่อในการอนุรักษ์ป่า : ชาวอาข่าจะไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ในบริเวณโดยรอบหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งภยันอันตราย และความโชคร้ายมาสู่หมู่บ้าน 

ประชากร

ประชากรบ้านผาหมี อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย คือกลุ่มชาติพันธุ์ “อาข่า” หรือ “อีก้อ” ที่อพยพมาจากประเทศเมียนมา มีสายตระกูลใหญ่ 2 ตระกูล คือ หม่อโป๊ะ และเหม่อก๊ะ ทว่าปัจจุบันชาวอาข่าบ้านผาหมีได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลไทยทั้งหมด

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและระบบเครือญาติ

การอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันของกลุ่มอาข่าผาหมี ทำให้เกิดความเข้าใจ ความใกล้ชิดประดุจญาติสนิทร่วมตระกูลบรรพบุรุษเดียวกัน ชาวอาข่าผาหมีจึงมีระบอบการเคารพผู้อาวุโส ทั้งอาบ๊อ (ปู่, ตา) และอาพี (ย่า, ยาย) ครอบครัวของชาวอาข่าผาหมีมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายทางบิดา โดยมีการสืบสายกุลจากทางฝ่ายชาย ลูกชายที่แต่งงานแล้วจะต้องพาภรรยาเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมหลังคาเรือนเดียวกับพ่อแม่ อาข่าจึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการสืบสายโลหิตจากฝ่ายบิดาเป็นสำคัญ การสืบเชื้อสายลักษณะนี้ เรียกว่า “อิจี” หมายถึงตระกูลชาติกำเนิด ชาวอาข่าทุกคนจะมีอิจีหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นชื่อเรียกสกุลตน

ในระบบครอบครัวอาข่า ผู้ชายมีหน้าที่รับผิดชอบการถางไร่ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงรับผิดชอบจารีต ประเพณี พิธีกรรมของชาวอาข่า ส่วนผู้หญิงจะมีหน้าที่รับผิดชอบงานภายในบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยงและพืชผลในไร่ ครอบครัวชาวอาข่าผาหมีมีทรรศนะว่า การมีลูกผู้หญิงนั้นเปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มแรงงานให้แก่ครอบครัว ทว่าเมื่อลูกสาวแต่งงานออกไปอยู่บ้านสามี ครอบครัวนั้นจะต้องสูญเสียแรงงานในครัวเรือน ชาวอาข่าผาหมีจึงมีคติว่าจำเป็นจะต้องมีลูกชายให้ได้ เพื่อที่จะได้ลูกสะใภ้มาเพิ่มแรงงานให้แก่ครอบครัว 

อ่าข่า

อาชีพหลัก

ปัจจุบันชาวอาข่าผาหมียังคงมีอาชีพหลักคือการเพาะปลูกเช่นเดียวกับในอดีต ทว่าพืชเศรษฐกิจของชาวอาข่าหาใช่ฝิ่นดังเดิม แต่เปลี่ยนเป็นการปลูกกาแฟ ลิ้นจี่ และแมคคาเดเมีย ที่ได้รับเมล็ดพันธุ์มาจากโครงการหลวงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2513

ต่อมาชาวอาข่าผาหมีได้รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมท่องเที่ยวผาหมี ตั้งแต่การดื่มกาแฟ โล้ชิงช้า ชมบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นและตก สร้างโฮมสเตย์ ไปจนถึงกิจกรรมการเดินป่าเพื่อพิชิตยอดเขาขุนน้ำนางนอน กระทั่ง พ.ศ. 2561 เกิดเหตุการณ์ 13 หมูป่าติดอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับพื้นที่หมู่บ้าผาหมี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้หมู่บ้านผาหมีซึ่งเป็นสถานที่ใกล้เคียงได้รับความสนใจร่วมด้วย กิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด หมู่บ้านผาหมีได้รับความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ และวัฒนธรรมของหมู่บ้านผาหมีเกิดความคึกคัก สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านผาหมีเป็นจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันหมู่บ้านผาหมีกลายเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอำเภอแม่สายของกลุ่มนักท่องเที่ยวอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ 

อาชีพเสริม

อาชีพเสริมของชาวอาข่าบ้านผาหมีส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างติดตั้งสายไฟภายในบ้าน รับจ้างเพาะปลูก รับจ้างในศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รับจ้าก่อสร้าง พนักงานเติมน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งกลุ่มคนที่ออกมาประกอบอาชีพรับจ้างส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย

การติดต่อค้าขายภายนอกชุมชน

ชาวอาข่าผาหมีจะนำผลผลิตจำพวกผัก เช่น พริก ขิง มะเขือ ชะอม หน่อไม้เบตง รวมถึงของป่าไปขายที่ตลาดสดแม่สาย

หมู่บ้านอาข่าผาหมีในปัจจุบันถือเป็นชุมชนที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ชาวอาข่าผาหมีมีโอกาสพบเจอสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกอยู่ตลอด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาภายในชุมชน ทั้งยังมีชาวอาข่าบางส่วนที่ออกไปศึกษาและประกอบอาชีพนอกชุมชน ทำให้มีโอกาสพบเจอผู้คนหลากหลายและสร้างโอกาสในการเลือกคู่ครอง ขณะเดียวกัน “ลานสาวกอด” ซึ่งเป็นสถานที่ในการเลือกคู่ครองของชาวอาข่าผาหมีจึงลดบทบาทความสำคัญลง

ด้านศาสนาและความเชื่อของชาวอาข่าหมู่บ้านผาหมี สามารถจำแนกความเชื่อในการนับถือศาสนาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยังคงนับถือความเชื่อดั้งเดิมหรือศาสนาผี เป็นประชากรส่วนใหญ่ของชุมชน และกลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ยังคงความเชื่อดั้งเดิมควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาใหม่ (ศาสนาคริสต์) หรือเปลี่ยนความเชื่อจากศาสนาดั้งเดิมไปโดยสิ้นเชิง ทว่ายังคงร่วมกิจกรรมบางอย่าตามประเพณีของชาวอาข่าที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาใหม่

อาข่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการดำรงชีวิตด้วยการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงมีความเชื่อที่มีความผูกพันกับธรรมชาติ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวได้สะท้อนผ่านประเพณีและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ เช่น ประเพณีกินข้าวใหม่ การจับตั๊กแตน โล้ชิงช้า โดยประเพณีดังที่กล่าวมานี้จะปรากฏพบในกลุ่มอาข่าผาหมีที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในขณะเดียวกันอาข่าบางกลุ่มที่เริ่มมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบหรือคนนอกชุมชนก็ได้เปิดรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของอาข่าเปลี่ยนแปลง

ในอดีตชาวอาข่าผาหมีมีประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอถึง 23 ประเพณี แต่ภายหลังการอพยพเข้ามาในหมู่บ้านผาหมีของชาวอาข่าจากประเทศเมียนมา กอปรกับการถูกหน่วยงานภายนอกเข้ามาควบคุมสอดส่องวิถีชีวิต การเปิดชุมชนผาหมีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้อาข่าผาหมีต้องปรับลดวัฒนธรรมบางประการเพื่อให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชุมชน ในปัจจุบันประเพณีอาข่าผาหมีที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา จาก 23 ประเพณี ถูกลดเหลือเพียง 3 ประเพณีหลักเท่านั้น ได้แก่ งานชนไข่แดง ประเพณีโล้ชิงช้า และประเพณีฉลองการเริ่มต้นใหม่

1. งานชนไข่แดง ภาษาอาข่าเรียก “ขึ่มซึ อ่าโผ่ว จาแบ” จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เป็นประเพณีแห่งการฟื้นฟูซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ มีการไหว้ผีบรรพบุรุษ โดยแต่ละครอบครัวจะต้มไข่แล้วย้อมสีแดงแจกจ่ายให้กับลูกหลาน ในอดีตพิธีชนไข่แดงจะจัดตลอดทั้งเดือนเมษายน เพราะถือว่าเป็นเดือนแห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของชุมชน แต่ปัจจุบันลดเวลาเหลือเพียง 4 วันเท่านั้น ทั้งยังไม่เน้นการถ่ายทอดความรู้ในการประกอบพิธีกรรมดังเช่นอดีต

2. ประเพณีโล้ชิงช้า หรือในภาษาอาข่าเรียกว่า “แยะขู่ อ่าโผ่ว จาแบ” จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี ใช้เวลา 4 วัน ประเพณีโล้ชิงช้าเป็นการบูชาบรรพบุรุษ เรียกขวัญข้าวที่กำลังออกรวง การโล้ชิงช้า เป็นประเพณีที่หญิงสาวชาวอาข่าทุกคนต้องเข้าร่วม เนื่องจากประเพณีโล้ชิงช้ามีนัยในการเฉลิมฉลองให้หญิงสาวในชนเผ่ามีความสุข ความรุ่งเรือง แต่ภายหลังการปรับเปลี่ยนบ้านผาหมีให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อาข่าผาหมีจะจัดประเพณีโล้ชิงช้าโดยให้ความสำคัญเรื่องความสนุกสนานเป็นสำคัญ และอำนวยอวยพรสร้างความโชคดีให้ผู้เข้าร่วมประเพณีโล้ชิงช้าทุกคน

3. ประเพณีฉลองการเริ่มต้นใหม่ เรียกในภาษาอาข่าว่า “คะท้อง อ่าโผ่ว ล้อดะ” จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นประเพณีที่มีนัยการแสดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลทำมาหากินภายหลังการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์จากท้องไร่ท้องนา เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน หากประเพณีการโล้ชิงช้าเปรียบเป็นประเพณีของผู้หญิง ประเพณีฉลองการเริ่มต้นใหม่ก็เปรียบเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อผู้ชาย โดยผู้ชายทุกช่วงวัยในชุมชนจะมีการเล่น “ลูกข่าง” หรือ “ฉ่อง” เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่ช่วงวัยที่มากขึ้น มีการร่วมดื่มเหล้า เริ่มต้นกินข้าวใหม่ ส่วนผู้หญิงจะเล่นสะบ้า ทว่าปัจจุบันหมู่บ้ายนผาหมีไม่มีการเล่นลูกข่างและสะบ้าแล้ว มีเพียงการร่วมดื่มกินเฉลิมฉลองของคนในชุมชนเท่านั้น

สำหรับประเพณีอื่น ๆ อาข่าผาหมีจะไม่จัดในรูปแบบของประเพณีชุมชน แต่จะจัดภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ละครอบครัวจะมีจำนวนประเพณีที่จัดไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดของการนับถือศาสนาดั้งเดิมของสมาชิกในแต่ละครอบครัว ในอดีตจะมีวันหยุดเป็นการเฉพาะในช่วงของการประกอบกิจกรรมแต่ละประเพณี แต่เมื่อชุมชนผาหมีตอบรับการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ชาวอาข่าบางส่วนติดภารกิจเนื่องจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมชุมชนในช่วงเทศกาลไม่สามารถหยุดงานตามวัฒนธรรมได้ ซึ่งขัดต่อหลักความเชื่อและวัฒนธรรมของอาข่า เป็นเหตุให้ความเคร่งครัดของศาสนาดั้งเดิมหรือการนับถือผีบรรพบุรุษของชาวอาข่าผาหมีถูกลดบทบาทลงเรื่อย ๆ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางกายภาพ

จากลักษณะพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านผาหมี ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ถูกล้อมรอบไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ ป่าไม้หนาทึบ เมื่อมองไปโดยรอบจะพบกับทัศนียภาพที่งดงามของทรัพยากรธรรมชาติและแสงอาทิตย์อุทัยในยามเช้าตรู่และพลบค่ำ อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ปัจจัยดังที่กล่าวมาคือต้นทุนที่ชาวอาข่าผาหมีได้รับมาจากธรรมชาติ ซึ่งชาวอาข่าผาหมีได้นำมาพัฒนาต่อยอดปรับเปลี่ยนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชาวอาข่าในชุมชน 

ภาษาพูด : ภาษาธิเบต-พม่า  

ภาษาเขียน : ไม่มีภาษาเขียน

ปัจจุบันมีชาวอาข่าผาหมีบางส่วนสามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้ อันมีสาเหตุมาจากการซึมซับวัฒนธรรม และอิทธิพลที่ได้รับจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบ รวมถึงการเปิดชุมชนหมู่บ้านผาหมีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการ ทำให้ชาวอาข่าบ้านผาหมีสามารถใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสารได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาข่าผาหมีที่เป็นเยาวชน


จากนโยบายของภาครัฐที่มีความต้องการกระจายความเจริญสู่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ชุมชนผาหมีมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของชุมชน จากแต่เดิมที่เป็นผู้เพาะปลูกเมล็ดกาแฟจำหน่ายแก่พ่อค้าคนกลาง มาเป็นเจ้าของร้านกาแฟ อันเป็นผลมาจากนโยบายการกระจายความเจริญสู่ชุมชน อีกทั้งกระแสความเจริญยังได้ผลักดันให้หมู่บ้านผาหมีกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนหันมารับจ้าง และประกอบอาชีพในภาคธุรกิจและงานบริการมากกว่าภาคเกษตร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุให้วัฒนธรรมและประเพณีของชาวอาข่าผาหมีเกิดความเปลี่ยนแปลงสูญหายตามกระแสสังคมภายใต้ภาวะสมัยใหม่ที่เข้ามาในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความทันสมัยและสามารถเปิดพื้นที่ทางสังคมของชาวอาข่าให้บุคคลภายนอกเข้ามาท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวอาข่าผาหมีได้ 

เป็นที่น่าสังเกตว่า อนาคตในอีก 10-20 ข้างหน้า ชาวอาข่าผาหมีอาจไม่สามารถต้านทานต่อกระแสความเจริญจากวัฒนธรรมภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามาในชุมชน อันจะนำมาสู่การลดการจัดประเพณีพิธีกรรมตามวัฒนธรรมของชาวอาข่า รวมถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประเพณีพิธีกรรมที่กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าเป็นการประกอบประเพณีพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในอดีต จนอาจเกิดภาวะ “สูญสิ้นวัฒนธรรม” ของตนเองในที่สุด วิกฤตการณ์การคงอยู่ของวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านการประกอบประเพณีพิธีกรรมของชาวอาข่าผาหมี จึงนับความเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งซึ่งตั้งคำถามต่อตัวชุมชนว่าจะสามารถดำเนินการสืบทอดวิถีชีวิตของตนเองอย่างไร จะมีรูปแบบหรือวิธีกาธำรงวัฒนธรรมผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนได้มากน้อยเพียงใด และกลุ่มใดจะทำหน้าที่รณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์ สืบทอดวัฒนธรรมของชาวอาข่าบ้านผาหมีให้ดำรงอยู่ต่อไป (ไกรสิทธิ์ จามรจันทร์สาขา และคณะ, 2564: 179-180)


ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ไกรสิทธิ์ จามรจันทร์สาขา และคณะ. (2564). การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมวัฒนธรรมของชาวอาข่าดอยผาหมี จังหวัดเชียงรายในรอบปี. วารสารนิติ รัฐกิจ และสังคมศาสตร์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงราย, 5(2), 179-180.

คุณาวรรณ ศรีตระกูล. (2564). อาข่ายูนนาน: ศึกษาเส้นทางการย้ายถิ่น รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน และการปรับตัวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าผาหมี จังหวัดเชียงราย. สารนิพนธ์ปริญญาอักษร ศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียศึกษา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

จิราวรรณ ชัยยะ. (2540). การเปลี่ยนแปลงและปรับตัวทางสังคมของชาวเขาเผ่าอีก้อ (อาข่า) บ้านผาหมี อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย. ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร.

วันเพ็ญ ชวรางกูร. (2539). ทัศนคติและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวเขาเผ่าอีก้อ หมู่บ้านผาหมี อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์ปปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อนันตา สุขวัฒน์ และคณะ. (2564). พลวัตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าผาหมี จังหวัดเชียงราย. วารสารสังคมศาสตร์วิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, 14(1), 45.