Advance search

บ้านไผ่แพะ

บ้านแพะ

บ้านข้าบ้านไม้ บ้านไป่บ้านสาน บ้านป่าไม้ซาง บ้านสานก่องข้าว

หมู่ 5
ไผ่แพะ
เมืองมาย
แจ้ห่ม
ลำปาง
จิราวรณ์ ดีมาก
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
26 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านไผ่แพะ
บ้านแพะ

จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านไผ่แพะได้ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้แต่ดั้งเดิมรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย อพยพมาจากบ้านเอิบ (ปัจจุบันคือ บ้านทรายมูล ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง) เนื่องจากต้องการหาที่ทำกินและที่อยู่ใหม่เพราะ “กั้นข้าวอยากน้ำ” จึงมาหาที่ทำไร่ทำสวน โดยการเข้าจับจองพื้นที่ทำกินบริเวณที่ราบในหุบเขา ซึ่งมีลำน้ำไหลผ่านและอุดมไปด้วยป่าไม้สัตว์ป่า ตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งขึ้นที่บ้านไผ่ปง (ปัจจุบันคือบ้านไผ่งามหมู่ 4) จากนั้นชุมชนขยายเติบโตขึ้น จึงมีชาวบ้าน 7 หลังคาเรือน แยกออกมาตั้งเป็นชุมชนในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านไผ่แพะ


ชุมชนชนบท

บ้านข้าบ้านไม้ บ้านไป่บ้านสาน บ้านป่าไม้ซาง บ้านสานก่องข้าว

ไผ่แพะ
หมู่ 5
เมืองมาย
แจ้ห่ม
ลำปาง
52120
วิสาหกิจชุมชน โทร. 085-706-6109, อบต.เมืองมาย โทร. 0-5401-9895
18.61256
99.62691
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย

จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านไผ่แพะได้ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้แต่ดั้งเดิมรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย อพยพมาจากบ้านเอิบ (ปัจจุบัน คือ บ้านทรายมูล ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง) เนื่องจากต้องการหาที่ทำกินและที่อยู่ใหม่เพราะ “กั้นข้าวอยากน้ำ” จึงมาหาที่ทำไร่ทำสวน โดยการเข้าจับจองพื้นที่ทำกินบริเวณที่ราบในหุบเขา ซึ่งมีลำน้ำไหลผ่านและอุดมไปด้วยป่าไม้สัตว์ป่า โดยตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งขึ้นที่บ้านไผ่ปง (ปัจจุบันคือบ้านไผ่งามหมู่ 4) จากนั้นชุมชนขยายเติบโตขึ้น จึงมีชาวบ้าน 7 หลังคาเรือน แยกออกมาตั้งเป็นชุมชนในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านไผ่แพะในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างกันตรงข้ามกับที่ตั้งหมู่บ้านไผ่งามเพียงแค่ลำน้ำแม่ต๋ากั้น จากนั้นให้กำเนิดลูกหลานออกมากลายเป็นชุมชนใหญ่ (อารยะ ภูสาหัส และศักดิ์ รัตนชัย, 2540, น. 8)

สมัยก่อนนั้นสภาพทั่วไปของชุมชนอุดมไปด้วยป่าไม้ สัตว์ป่า (เช้า ๆ จะเห็นกระรอกวิ่งไต่ไปตามต้นไม้) มีนกเขา นกกา นกเงือก บินให้เห็น มีฟาน (เก้ง) หมูป่า เดินลัดบ้านลัดช่อง (ได้ยินเสียงร้องของเก้ง กวาง หมูป่า เสือ ช้างป่า วัวป่า หมี) ส่วนในลำห้วยแม่ต๋าก็อุดมไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา แต่ก่อนนั้นชาวบ้านต้องช่วยเจ้า (เจ้าขุนมูลนายจากในเมืองซึ่งน่าจะเป็นช่วงปี พ.ศ. 2416 - 2465 ซึ่งเป็นช่วงปีก่อนสิ้นสุดยุคเจ้าหลวงปกครองลำปาง) มีอะไรก็ต้องช่วย สมัยนั้นยังมีข้าทาส เจ้านายได้กันที่ราชพัสดุไว้ในหมู่บ้าน 2 ไร่ ให้พ่อหลวงปลูกข้าวไว้สำหรับเจ้านายเวลามาตรวจเยี่ยมหมู่บ้าน และต้องส่งส่วยผลผลิตข้าวให้ทุกปี (อารยะ ภูสาหัส และศักดิ์ รัตนชัย, 2540, น. 8)

สภาพของชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปนับแต่ปี พ.ศ. 2475-2480 เมื่อเริ่มมีนายทุนและฝรั่งค้าไม้เข้ามา ทำสัมปทานป่าไม้บริเวณรอบ ๆ ชุมชน โดยใช้แรงงานจากภายนอกหมู่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนรับจ้างตัด/เลื่อยไม้ ใช้ช้างชักลากล่องไปตามลำน้ำแม่ต๋า ไปออกที่แม่น้ำวังหน้าเขื่อนกิ่วลมปัจจุบัน จากนั้นก็ล่องลงไปตามลำน้ำแม่วังเข้าสู่ตัวเมืองลำปาง ขณะนั้นชุมชนเริ่มขยายตัว คนมากขึ้น ที่ทำมาหากินมีน้อย คนมากขึ้น กินมากขึ้นชาวบ้านทำนาเพียงอย่างเดียวผลผลิตข้าวไม่พอกินตลอดปี ชาวบ้านต้องสานก่องข้าว โดยใช้วัสดุที่มีอยู่อย่างมาก ในชุมชนไปแลกซื้อข้าวที่อำเภอแจ้ห่ม โดยการเดินเท้า ออกเดินทางตี 2-3 ถึงตัวอำเภอ 7 โมงเช้า กลับมาถึงหมู่บ้านประมาณ 6 โมงเย็น การตัดไม้ทำให้ป่ารอบ ๆ ชุมชนเริ่มหมดไป สัตว์ป่าหนีหายเข้าไปในป่าลึก กุ้ง หอย ปู ปลา ในลำน้ำลดน้อยลงจากการระเบิดและจากการใช้ยาเบื่อ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เริ่มหมดไปภายหลังจากที่มีคนต่างถิ่นเข้ามาพร้อมกับถนนที่สร้างขึ้น ตั้งแต่เริ่มสร้างทางลำลองจากเขื่อนกิ่วลมเข้าหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2505 (อารยะ ภูสาหัส และศักดิ์ รัตนชัย, 2540, น. 8-9)

อย่างไรก็ตาม การตัดไม้ได้เปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้กับชาวบ้านได้รุกเข้าไปจับจองเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ เพิ่มเติมจากการปลูกข้าวนาเพียงอย่างเดียว ทำให้ชาวบ้านมีข้าวกินมากขึ้น ขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็ตัดไม้จากป่ามาปลูกสร้างบ้านเรือนมากขึ้น ตามการขยายตัวของชุมชน ประมาณปี พ.ศ. 2490-2500 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มาทำรังวัดและประกาศห้ามชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย แต่ชาวบ้านก็ยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าและตัดไม้มาปลูกบ้านหลังที่ 2-3 เพื่อเก็บไม้ไว้ขาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2586 เจ้าหน้าที่ก็มารังวัดอีกครั้งพร้อมกับประกาศห้ามในการทำไร่เลื่อนลอยเด็ดขาด (อารยะ ภูสาหัส และศักดิ์ รัตนชัย, 2540, น. 9)

ชุมชนบ้านไผ่แพะแยกตัวจากบ้านไผ่งาม (หมู่ 4) มาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ (หมู่ 5) ในปี พ.ศ. 2529 จากเดิมมี 73 หลังคาเรือน ปัจจุบันปี พ.ศ. 2566 มีทั้งหมด 237 หลังคาเรือน โดยตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง (องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย, 2564, น. 3)

ชุมชนบ้านไผ่แพะมีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นตามลำดับเวลา ดังนี้

พ.ศ.เหตุการณ์สำคัญ
2500 - 2501- สร้างโรงเรียนมุงหญ้าคา/พื้นดิน สอน ป.1-4
2505- รถลากชุงผ่านหมู่บ้านเข้าสู่เมือง (ทางลากซุง) ออกทางเขื่อนกิ่วลม
2507 - 2508

- สร้างโรงเรียนมุงสังกะสีอาคารใหม่

- สร้างเขื่อนกิ่วลม

2515 - 2517- สร้างปรับปรุงถนนจากบ้านเมืองมายถึงหมู่บ้าน ระยะทาง 15 ก.ม. (เดินเท้า 4-5  ชั่วโมง) จากเส้นทางลำลองเดิม
2521 - 2522- สร้างถนนจากอำเภอแจ้ห่มถึงหมู่บ้านระยะทาง 16 ก.ม. (เดินเท้า 5-6 ชั่วโมง)
2524 - 2525- โรงเรียนเปิดเรียนชั้น ป.5-6
2527 - 2528- ทางการประกาศเขตป่าสงวนทับพื้นที่หมู่บ้าน
2529

- ตั้งกฎเกณฑ์ป่าชุมชนของหมู่บ้าน บริเวณหล่มอางเหนือหมู่บ้าน

- แยกหมู่บ้านไผ่แพะ (หมู่ 5) ออกจากหมู่บ้านไผ่งาม (หมู่ 4)

2531- ไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน
2533

- โรงเรียนเปิดเรียนชั้น ม. 1-2-3

- มีประปาหมู่บ้านใช้

2535- มีประปาของสาธารณสุข
2536- โรงเรียนเปิดสอนจักสานแก่นักเรียน โดยวิทยากรชาวบ้าน
2537- ปตท. ร่วมกับชาวบ้านและป่าไม้เขต จัดทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 1,225 ไร่ ปลูกไปแล้ว 118 ไร่ บริเวณต้นน้ำแม่ต๋า (หนองหล่มอาง)
2538- สร้างถนนลาดยาวในหมู่บ้าน
2539- องค์การโทรศัพท์ฯ ติดตั้งตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญสาธารณะ 1 เครื่องในหมู่บ้าน
2540- เปลี่ยนแปลงจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล
2543 - 2545          

- โรงเรียนและชุมชนร่วมมือกันในการอนุรักษ์ สืบทอดความรู้ภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ท้องถิ่นของก่องข้าว

- โรงเรียนและชุมชนร่วมมือกันในการส่งเสริม และพัฒนากระบวนการผลิตก่องข้าว

2557- จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกไผ่รวกบ้านไผ่แพะ
2561- สภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอแนวทางให้ประชาชนอยู่ร่วมกันกับป่าโดยใช้ไผ่ เป็นพืช สร้างป่าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยใช้พื้นที่บ้านไผ่แพะเป็นกรณีตัวอย่าง
2564- อบต.เมืองมาย รวมกับ กศน. อำเภอแจ้ห่ม จัดโครงการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอาชีพ ผลิตภัณฑ์จักสานแบบผสมผสาน
2565 - 2566- จัดตั้งกลุ่มจักสานขึ้นที่บ้านไผ่แพะ มีการผลิตสินค้า เช่น กระเป๋า ก่องข้าว ที่มีลวดลาย ดั้งเดิมเป็นเอกลักษณ์ของคนในชุมชน

สภาพพื้นที่กายภาพ มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ที่ราบส่วนมากอยู่ตามริมฝั่งลำห้วยแม่ต๋า และลำห้วยแม่คิ สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์

ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2564 พบว่า ชุมชนมีจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 237 ครัวเรือน จำนวนประชากร 837 คน แบ่งเป็นชาย 408 คน หญิง 429 คน ปัจจุบันนอกจากคนในชุมชนดั้งเดิมแล้วยังมีคนต่างจังหวัดแต่งงานและย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนอีกเป็นจำนวนมาก

อาชีพหลัก : ทำไร่ (ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิสง)

อาชีพเสริม : ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ จักสานก่องข้าว

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน : ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนบ้านไผ่แพะ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ทุกคนในชุมชนจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะชุมชนในชนบทจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเป็นกันเองและพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ

โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน : ปัจจุบันบ้านไผ่แพะมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำในการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย ในการดูแลและรักษาความเรียบร้อยภายในชุมชน รวมถึงจัดโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาชุมชน

การรวมกลุ่ม : ส่วนใหญ่จะมีการรวมกลุ่มต่าง ๆ ภายในชุมชน โดยแบ่งเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพจักสาน ก่องข้าว กลุ่มเยาวชน รวมถึงชมรมผู้สูงอายุ ชมรมลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มอสม.ประจำหมู่บ้าน โดยเป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันตามเป้าหมายของการจัดตั้งกลุ่ม มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เป็นต้น

วิถีชีวิตของคนในชุมชน บ้านไผ่แพะเป็นชุมชนที่มีความงามทางด้านภูมิประเทศตามธรรมชาติ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสมบูรณ์ ภูเขาสลับซับซ้อน มีแม่น้ำลำห้วยน้อยใหญ่ไหลผ่าน ชาวชุมชนส่วนมากอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มและตามริมน้ำ ชาวบ้านดำเนินชีวิตโดยการทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ยังชีพ เชื่อมโยงไปกับธรรมชาติ มีงานหัตถกรรมจากไม้ไผ่ที่ศูนย์จักสานบ้านไผ่แพะ ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้านประดิษฐ์ เครื่องจักสานในรูปแบบต่างๆ เช่น ก่องข้าว ตะกร้า เป็นต้น

ปฏิทินกิจกรรมของชุมชน ใน 1 รอบปี ชุมชนบ้านไผ่แพะจะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณีดั้งเดิมต่าง ๆ ดังนี้

  • พิธีบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อพญาคำลือ เป็นประเพณีสืบทอดดั้งเดิม เจ้าพ่อพญาคำลือเป็นโอรสของท้าวพญาคำแดง ในราชวงศ์โยนกนาคนคร เป็นราชนัดดาในของพญางำเมือง (ปู่) แห่งเมืองพะเยา มีพระมารดาชื่อพระนางอินเหลาแห่งเวียงเปียงดาว (เชียงดาว) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เจ้าแสนภูผู้ครองเวียงระมิงค์ สืบเชื้อสายราชวงศ์เชียงแสน เป็นผู้สร้างเมืองสยมภูนครินทร์ (คือแจ้ซ้อน, เมืองปาน, และห้างฉัตรในปัจจุบัน) ได้มอบให้ท่านท้าวพญาคำแดงครองเมืองสยมภูนครินทร์ภายหลังพญาคำแดงทรงเลี่ยงเมืองติดตามพระนางอินเหลาไปยังเชียงดาว และมอบให้ขุนเจื่องครองเมืองสยมภูนครินทร์แทน ส่วนเจ้าพ่อพญาคำลือราชนัดดาซึ่งเป็นอุปราชใหญ่ครองเมืองวิเชตนครสืบมา เจ้าพ่อพญาคำลือผู้เป็นอุปราชใหญ่ได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองวิเชตนคร เมื่อประมาณ พ.ศ. 1861 (คือแจ้ห่มปัจจุบัน) ท่านมีสายเลือกนักรบเต็มตัวอันสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เชียงแสน เจ้าพ่อพญาคำลือนั้นมีเจ้าสุดใจเป็นคู่ชีวิตแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาในปี พ.ศ.1881 พวกเงี้ยวตั้งตนเป็นใหญ่ในดินแดนภาคเหนือโดยมีเจ้าคำฟู พญากาวน่าน ยกทัพมาตีขนาบเมืองใหญ่น้อย ได้แผ่อำนาจมาถึงเมืองพะเยา เจ้าพ่อพญาคำลือจึงต้องยกทัพไปช่วยปราบปราม โดยมีเจ้านายฝ่ายเหนือมาร่วมรบในครั้งนั้นอาทิเช่น พญาวัง (อำเภอวังเหนือ) เมืองลานช้าง เวียงระมิงค์ เขลางค์นคร เวียงโกศัย (เมืองแพร่) พิษณุโลก (เมืองโอฆะบุรี) อุตรดิตถ์ (เมืองทุ่งยั้ง) เมืองพิชัย เป็นต้น รบกันนานถึง 2 เดือน จึงได้ชัยชนะในที่สุดพวกเงี้ยวต้องถอยร่นกลับไปแค้วนสิบสองปันนา กาลต่อมาศึกพม่ากับเวียงพิงค์ได้อุบัติขึ้นอีก พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองสยมภูนครินท์เมืองนี้จึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานถึง 10 ปี พม่าได้พยายามที่จะยกทัพมาตีเอา วิเชตนครซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของหัวเมืองสยามภูนครินทร์ แต่ก็ไม่สามารถตีเอาเมืองนี้ไปได้ ทั้งนี้เพราะพระปรีชาสามารถของเจ้าพ่อพญาคำลือที่ต่อสู้รักษาเมืองไว้อย่างแข็งขัน ประกอบกับเมืองวิเชตนครเป็นเมืองที่ราบลุ่มมีภูเขาล้อมรอบ นับว่าเป็นชัยภูมิที่ดีเมื่อข้าศึกยกทัพมาก็จะทราบล่วงหน้าก่อนทุกครั้งไป จึงสามารถเตรียมกำลังให้พร้อมรบอยู่ตลอดเวลา พวกพม่าจึงไม่อาจตีเอาเมืองวิเชตนครได้ ต่อมาเจ้าพ่อพญาคำลือได้ร่วมกับเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ ยกทัพไปตีพม่า กองทัพพม่าแตกกระจาย ถอยร่นกลับไปจึงได้ชิงเอาเมืองสยมภูนครินทร์คืนมาได้ ในชีวิตเจ้าพ่อพญาคำลือต้องรบเพื่อปกป้องเมือง ให้พ้นจากอิทธิพลการแย่งชิงของข้าศึก ยามรบก็รบด้วยความแกล้วกล้าสุดชีวิต ยามสงบก็ปกครองเมืองให้เป็นสุขด้วยความรักและเมตตา เจ้าพ่อพญาคำลือจึงเป็นที่เคารพรักบูชาของชาวเมืองดุจพ่อเจ้า เจ้าพ่อพญาคำลือใฝ่ใจในธรรมยิ่งนักยามสงบก็ทำนุบำรุงวัดวาอารามหลายแห่งโดยเฉพาะวัดพระธาตุ ดอยภูซาง วัดผาแดงหลวงและวัดอักโขชัยคีรีที่ประดิษฐานพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์เจ้าพ่อจะบูรณะให้ดูเด่นเป็นสง่าคู่เมืองวิเชตนครตลอดมา เมื่อท่านได้สิ้นชีพตักษัยไปแล้ว ชาวเมืองจึงได้ร่วมใจกันสร้างศาลไว้ ณ ที่คุ้มเก่าและดั้งเดิมที่สถานีตำรวจภูธรแจ้ห่ม และสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือไว้ที่เชิงดอยวัดอักโขคีรี ให้อยู่คู่วิเชตนคร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและเป็นที่เคารพสักการบูชา เพื่อแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน เพราะท่าน ก็เป็นองค์หนึ่งในสยามเทวาธิราชเหมือนกัน (ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแจ้ห่ม, 2560)
  • ประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่ปรากฏในเดือนเมษายน หรือเดือน 7 เหนือ ประเพณีปีใหม่เมืองเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ การเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนศักราชใหม่ และเป็นโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่รวมกันเพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ดำหัว เล่นน้ำ และขอพรจากผู้ใหญ่
  • ประเพณีตานข้าวใหม่ พิธีตานข้าวใหม่ของชาวล้านนาจะเริ่มในวันสี่เป็ง หรือวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสี่เหนือหรือเดือนยี่ ของภาคกลาง ในวันดังกล่าวชาวล้านนาจะแต่งดาข้าวตอกดอกไม้ไปใส่ขันแก้วตังสาม พร้อมกับนำเอาข้าวเปลือกข้าวสารไปทำบุญถวายพระด้วย พิธีทำบุญตักบาตรจะเหมือนกับการทำบุญในวันพระใหญ่หลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา เริ่มจากการตานขันข้าวไปหาบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นก็จะมาใส่ขันดอกหรือขันแก้วตังสาม บูชาท้าวทั้งสี่ประจำวัด และหอเสื้อวัดตามลำดับ จากนั้นก็จะนำเอาข้าวสาร ข้าวเปลือกที่นำมาไปใส่บาตรหน้าพระประธาน บางแห่งจัดภาชนะไว้กลางวิหาร เป็นถังหรือกะละมังใบใหญ่ พร้อมทั้งบาตรพระหนึ่งใบ แต่ละคนจะนำข้าวสารไปใส่ในบาตร

1. นายคล้าย วงค์ษา  ประธานกลุ่มจักสานบ้านไผ่แพะ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญด้านการจักสานมาอย่างยาวนาน และเป็นผู้สืบทอดและถ่ายทอดภูมิปัญญาการจักสานให้กับคนในชนชน พ่อคลายเป็นบุคคลสำคัญที่สืบสานการสานก่องข้าวดอกมาแต่ยุคบรรพบุรุษ “ชาวแจ๊ะ” ที่ถือเป็นชนพื้นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่ยุคก่อร่างประวัติศาสตร์ล้านนานับหลายร้อยปี พ่อคล้ายสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำก่องข้าวดอก จากแต่เดิมที่สานเพื่อแลกกับข้าว จากหมู่บ้านอื่น จนปัจจุบันเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันด้วยเงิน มีการพัฒนางานสานก่องข้าวดอกเป็นหัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อขายเป็นของใช้และของที่ระลึกอันเป็นเอกลักษณ์สู่การเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น เช่น เสื่อ กระเป๋า ของเล่นเด็ก เป็นการต่อยอดจากอดีตสู่ปัจจุบันผ่านภูมิปัญญาดั้งเดิมอันทรงค่า ก่องข้าวดอกไม่ได้เป็นเพียงภาชนะบรรจุข้าวเหนียวเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงวัฒนธรรมการบริโภคของชาวเหนือที่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าแห่งล้านนา

2. นายติ๊บ บุญยืน (ติ๊บ)  สัญชาติ ไทย ภูมิลำเนา บ้านไผ่แพะ หมู่ 5 ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการจักสานก่องข้าว นายติ๊บ บุญยืน ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการจักสานก่องข้าว โดยให้ความรู้เรื่องการจักสานก่องข้าวให้กับคนในชุมชนและนอกชุมชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้กระบวนการจักสานก่องข้าว โดยกระบวนการจักสานกล่องข้าว มีดังนี้

แหล่งที่มาปริมาณวัตถุดิบ วัตถุดิบที่ใช้ในการสานกล่องข้าวได้แก่ไม้ไผ่ ซึ่งไม่ใช่ว่าไม้ไผ่ทุกชนิดจะสานก่องข้าวได้ ชาวบ้านได้บอกและจำแนกประเภทไม้ไผ่ที่มีอยู่ในเขตชุมชนบ้านไผ่แพะว่ามีด้วยกัน 10 ชนิด และแต่ละชนิดนั้นใช้งานแตกต่างกันในการนำไปจักสานเนื่องจากความหนา-บาง- ยืดหยุ่นของเนื้อไม้ และได้ลำดับปริมาณความมากน้อยของวัตถุดิบ ที่มีอยู่ในปัจจุบันไว้ด้วย ดังนี้

ลำดับที่ชื่อท้องถิ่นลักษณะประเภทของเครื่องจักสาน และอื่น ๆ
1ไม้ไผ่บงเป็นไม้เนื้ออ่อนเอาไว้ใช้สานก่องข้าว, เครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน
2ไม้ไผ่ป้างเป็นไม้เนื้อแข็งเอาไว้สานกระบุง ค้อง ซ้า หวด แอ๊บข้าว
3ไม้ไผ่ไร่ปล้องยาวผิวบางใช้ทำข้าวหลาม ทำกะลาตากข้าว ทำหมวก
4ไม้ไผ่ลอมีหนาม แขนงมากเอาไว้กินหน่อ
5ไม้ไผ่ฮก (หก)ปล้องยาว แกร่งเอาไว้ทำแอ่วตีข้าว
6ไม้ไผ่เฮี๊ยะไม้ขนาดใหญ่ ขึ้นตามเขาทำแอ๊บข้าว กะลาตากข้าว กระบุง ซ้า กระบอกน้ำ
7ไม้ไผ่ฮวกปล้องยาว เนื้ออ่อนไว้จักตอก ทำสาด หมวก
8ไม้ไผ่ชางคำ (ไผ่เหลือง/สีสุก)ขนาดเล็กเหนียว ข้อตรงไว้ทำด้ามมีด ด้ามเสียม รั้วบ้าน เครื่องมือหาปลา
9ไม้ไผ่บงหนามปล้องยาวใหญ่ ผิวสวยแกร่งใช้ทำกระบอกน้ำ และใช้จักสาน ได้ดี
10ไม้ไผ่ซางขนาดใหญ่มีหนามเอาไว้ล้อมรั้วสร้างบ้าน เครื่องดักปลา

วัสดุที่ใช้ประกอบในการสานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งได้แก่ หวาย แต่เดิมนั้นหาได้ไม่ยากนักแต่ปัจจุบันหายากต้องเข้าไปในป่าลึก เนื่องจากชาวบ้านเก็บหวายไปขายเป็นของป่าชนิดหนึ่ง ดังนั้นหากไม่หาเองก็ต้องไปหาซื้อ ซึ่งปัจจุบันไปซื้อหวายเส้นจากบ้านนางาม หมู่ 1 ราคา 100 ละ 40 บาท หรือใช้วัสดุประดิษฐ์ คือ เชือกฟาง ปอวิทยาศาสตร์ ซึ่งหาซื้อได้จากตลาดในอำเภอแจ้ห่มหรือในเมืองลำปาง โดยใช้จักเป็นเส้นแล้วผูกเข้าขอบภาชนะทำหูหิ้วผูกมุม เป็นต้น แต่เมื่อนำก่องข้าวซึ่งเข้าขอบด้วยเชือกฟาง ปอวิทยาศาสตร์ไปขายให้พ่อค้าคนกลาง ในหมู่บ้านจะได้ราคาไม่ดีนัก เพราะพ่อค้าในตลาดบอกว่าผู้บริโภคไม่ค่อยนิยมเท่ากับก่องข้าวที่สานด้วยวัสดุ พื้นบ้าน โดยเฉพาะต่างประเทศ

ลักษณะการผลิต

ความสามารถในเชิงจักสาน : คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ อายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป ในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีความสามารถในเชิงจักสาน กล่าวคือ สามารถนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นลำต้น ใช้ทำเครื่องจักสานได้สารพันชนิดตามแบบท้องถิ่น จากการสังเกตและสำรวจภายในครัวเรือนของครอบครัวหนึ่ง พบว่ามีเครื่องจักสานที่ชาวบ้านทำด้วยมือถึงกว่า 50 ชนิด ได้แก่

  • ใช้สานเป็นส่วนประกอบของบ้านเรือน เช่น ฝาบ้าน พื้นบ้าน ตอกมัด เล้าไก่ รั้วเพาะกล้าพริก
  • ใช้สานเป็นภาชนะ เช่น เปิ้ยด ซ้า ก๋วย ต๋าว (สัด) ด้ง (กระด้ง) เหิง (ตะแกรง) ซ้าหลอม (ชะลอม) ก่องข้าว แอ๊บข้าว แอ๊บหมาก-เมี้ยง เอิบ ซ้าหวด (ซาวข้าว) ทอใส่ข้าว
  • ใช้สานเป็นเครื่องจับดักสัตว์น้ำ เช่น สุ่ม ไซ หลีบ ลอม ซ้อง แชะ คันสวิง คันเป็ด หิงดักปลา จำดักปลา
  • ใช้สานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ฝักมีด บุ้งกี๋ ตะกร้อสอยผลไม้ สุ่มไก่ ซองต่างไก่ ซ้าหูตักดิน ก๊วกฝ้าย
  • ใช้สานเป็นเครื่องจักสานปูลาด หรือเป็นแผ่น เช่น สาด แผงตากยา ฝาชี ฝาปิด โอง กะลาตากข้าว
  • ใช้สานเป็นเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดทั่วไป เช่น กุ๊ง หมวก เครื่องเล่น กะละปัด (ใช้พัดปลายข้าว) แอ๋วตีข้าว บุงใส่ข้าว ที่ตั้งหม้อ แป้มใส่เมล็ดข้าว ยางหมาน้อย กุ๊บตาแหลว ฮับหมู อู่นอน

ทุนวัฒนธรรม

การจักสานก่องข้าว ก่องข้าว (กล่องข้าว) เป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง มีฝาปิดสอบเข้าไปยังศูนย์กลาง และมีขาตั้งเป็นรูปกากบาท ก่องข้าวจะมีฐานทำด้วยไม้รูปกากบาท ฝาก่องข้าวเป็นรูปกรวย

  • ตัวก่อง สานด้วยไม้ไผ่ลายขัด (ยกเส้นข่มเส้น) สานให้เป็นกล่องกลมขนาดใหญ่เล็กตามความต้องการ เป็นรูปคล้ายดอกบัว แต่ขอบสูงขึ้นไปเหมือนโถ ซ้อนกัน 2 ชั้น เพื่อให้เก็บความร้อนได้ดี ตอกตั้งให้วางถี่ เพื่อความแข็งแรงทนทาน ที่ปากก่องมีหูขนาดเล็กถักด้วยหวายสำหรับร้อยเชือก เพื่อหิ้วหรือแขวนได้สะดวก
  • ฝาก่อง สานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปคล้ายกรวย นิยมสานด้วยลายสามล้มออก (ลายสานที่ยกสามข่มสามถ่างออก) หุ้มปลายฝาก่องด้วยไม้เนื้ออ่อน นิยมใช้ไม้ข่อยหรือก้านของใบตาล ขนาดหน้ากว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ผูกไม้หุ้มติดกับฝาก่องด้วยหวาย ที่ฝาก่องทำหูขนาดเล็กถักด้วยหวายสำหรับร้อยเชือกเพื่อความสะดวกในการแขวนหรือหิ้ว
  • ตีนก่อง (ฐาน) หรือขาตั้ง ทำด้วยไม้เนื้อแข็งตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู 2 อันขนาดกว้างยาวพอประมาณกับตัวก่อง นำมาประกอบกันเข้าเป็นรูปกากบาท ผูกติดยึดกับตัวก่องด้วยหวาย ที่ฐานนี้บางที่ก็แกะเป็นลวดลายเพื่อความสวยงามไปด้วย

ทุนสถานที่

  1. จุดชมวิวกิ่วดู่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านไผ่แพะ เป็นจุดชมวิวที่ตั้งอยู่บริเวณข้างทางลาดลงเขาที่จะเข้าสู่หมู่บ้าน เป็นจุดชมวิวที่จะเห็นพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ของชุมชนได้กว้างที่สุด และในฤดูหนาวจะเป็นสถานที่ที่เอาไว้ชมทะเลหมอกและชมพระอาทิตย์ที่กำลังขึ้นซึ่งเป็นภาพที่สวยงามและน่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา
  2. ถ้ำหล่มอาง เป็นถ้ำธรรมชาติที่สวยงาม ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านไผ่แพะ

ภาษาเหนือหรือภาษาล้านนา (คำเมือง) เป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน ภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือภาษาล้านนา หรือคำเมือง


การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

1. กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้นแบบชุมชนเชิงนิเวศ ECO CITY : เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และคนในชุมชนตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี SCG จึงได้ชักชวนชุมชนทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนเชิงนิเวศ สู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปเมื่อปี 2562 เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เป็นต้นแบบเมืองนิเวศ (ECO CITY)

2. กลุ่มอาชีพทำกล่องข้าว : เป็นการสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำก่องข้าวเหนียวมาจากบรรพบุรุษ คนในชุมชนส่วนใหญ่ จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรชาวบ้านก็ยังประกอบอาชีพการสานก่องข้าวจากไม้ไผ่ ซึ่งมีความพิเศษไม่เหมือนกับก่องข้าวจากที่อื่นก็ คือ หลังจากที่นำไม้ไผ่ซางที่จักตอกแช่น้ำเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มต้นจากการสานเส้นใหญ่ขึ้นมาก่อน โดยจะสานจากซ้ายไปขวาขึ้นเป็นฐานรูปทรงก่อนที่จะค่อย ๆ ฉีกเส้นไผ่ออกเป็นเส้นที่เล็กลงเรื่อย ๆ จนปรากฏเป็นลวดลายต่าง ๆ อาทิ ลายจันเกี้ยว ซึ่งเป็นลวดลายดั้งเดิมที่ทำกันมานานแล้ว และลายจันแปดกลีบที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาลวดลายจากเดิม นอกจากนั้นยังมีลายดอกแก้ว ลายประแจจีน ลายกัมเบ้อและลายกัมบี้ ลายสองตั้ง ลายสามตั้งที่เป็นพื้นฐานในการสาน ก่องข้าวบ้านไผ่แพะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่คนเมืองทั่วไปที่รับประทานข้าวเหนียว โดยเฉพาะเอกลักษณ์อันสวยงามของลวดลายที่ไม่เหมือนใครยังคงทำให้ก่องข้าวที่นี่ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย


ปัญหาขยะมูลฝอย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากความเจริญที่มาพร้อมกับการพัฒนาเข้าสู่พื้นที่ วิถีชีวิตชาวชุมชนก็ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกระแส ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่เรื่องขยะมูลฝอยไร้ที่ฝังกลบ อันเกิดจากการบริโภค ในชีวิตประจำวัน และไม่สามารถเผาทำลายเนื่องจากผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนจากมลภาวะทางกลิ่น และสุขอนามัยไปถ้วนหน้า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2561). สทภ.1 ลงพื้นที่ตรวจติดตามงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ต๋า บ้านนาไหม้ ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง. จาก : https://www.dwr.go.th/

กศน.ตำบลแจ้ห่ม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแจ้ห่ม. (2560). พลังแห่งศรัทธา เจ้าพ่อพญาคำลือ พิธีบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อพญาคำลือ วันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ลานอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ. จาก : http://www.nfechaehom.com/

เกษตรก้าวไกล. (2561). จดหมายเหตุรายเดือน ตุลาคม 2018. https://www.kasetkaoklai.com/

หนังสือพิมพ์แนวหน้า. (2563). เริ่มแล้ว! งาน ‘กินปู ดูนา พาฟิน’นั่งชมธรรมชาติ ณ ลำปาง. จาก : https://www.naewna.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย. (2561). จัดงานประเพณีสงกรานต์ปี๋ใหม่เมือง. จาก : https://www.muangmai.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี. สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองมาย. จาก : https://www.muangmai.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี. สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองมาย.

อารยะ ภูสาหัส และศักดิ์ รัตนชัย. (2540). วิถีชีวิตของชุมชนจักสานไม้ไผ่ : กระบวนการเรียนรู้ การปรับตัว และความสัมพันธ์แบบใหม่ในกระแสการเปลี่ยนแปลง กรณีศึกษาบ้านไผ่แพะ ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.

กุลธิดา ทำสุข, สัมภาษณ์, 8 กุมภาพันธ์ 2566.