Advance search

บ้านสันจอยเป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ อย่าง ลีซู ที่อพยพเข้ามาอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 30 ปีแล้ว ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมทั้งการแต่งกายและพิธีกรรมอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ลาหู่ และเย้า รวมทั้งคนพื้นเมืองภาคเหนืออีกด้วย

หมู่ที่ 13
สันลมจอย
สุเทพ
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1980-9650, เทศบาลสุเทพ โทร. 0-5332-9251
เมธินี ศรีบุญเรือง
15 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านสันลมจอย

ชุมชนสันลมจอยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ อยู่ใกล้กับตัวเมือง ที่มาของชื่อชุมชน มาจากตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงเขาและที่ราบ และคำว่า "จอย" ในภาษาถิ่นแปลว่า ลมที่โชยมาเบา ๆ 


บ้านสันจอยเป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ อย่าง ลีซู ที่อพยพเข้ามาอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 30 ปีแล้ว ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมทั้งการแต่งกายและพิธีกรรมอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ลาหู่ และเย้า รวมทั้งคนพื้นเมืองภาคเหนืออีกด้วย

สันลมจอย
หมู่ที่ 13
สุเทพ
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
50200
18.774828868260258
98.94188178715008
เทศบาลตำบลสุเทพ

ประวัติศาสตร์ชุมชนลีซูบ้านสันลมจอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 

กลุ่มชาติพันธุ์ลีซู เดิมมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ต้นแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง ต่อมาได้อพยพไปอยู่ที่ยูนนานในจีน และได้อพยพเข้าไปในพม่าตลอดจนทางแถบตอนเหนือของประเทศไทย เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว ชาติพันธุ์ลีซูจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ลีซูดำและลีซูลาย กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นลีซูลาย ส่วนลีซูดำนั้นอาศัยอยู่ในจีน พม่า อินเดีย และไทยเป็นบางส่วน ในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วชาติพันธุ์ลีซูจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดเพชรบูรณ์

ปัจจุบันมีชาวลีซูจำนวนหนึ่ง ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านสันลมจอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มลีซูดำทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก แต่ละครัวเรือนอพยพมาตามความเจริญทางเศรษฐกิจโดยไม่ได้เป็นลักษณะการเชิญชวนให้มาอยู่ด้วยกัน แต่เป็นลักษณะที่แต่ละครอบครัวอพยพมาอยู่ตามความพึงพอใจของตัวเอง โดยก่อนตัดสินใจจะย้ายมาอยู่ก็จะมีการลงพื้นที่ดูสภาพแวดล้อม และเยี่ยมหาชาวลีซูกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ก่อน สอบถามความเป็นอยู่ ความเจริญของหมู่บ้าน การอพยพย้ายถิ่นฐานนั้น บางกลุ่มก็มากันเป็นแซ่หรือตระกูล บางครอบครัวก็มาอยู่แค่แซ่เดียว ไม่มีญาติพี่น้อง แต่ถึงแม้จะไม่มีญาติพี่น้องหรือแซ่เดียวกัน เวลามีงานหรือทำพิธี ชาวลีซูบ้านสันลมจอยก็ยังมีความสามัคคี ช่วยเหลือกันและกันเสมือนเป็นญาติพี่น้องกัน

ประวัติความเป็นมาของชาวลีซูบ้านสันลมจอย

ประวัติของชาวลีซูที่อพยพมาอยู่ที่บ้านสันลมจอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่านายอนันต์ สีวลี เป็นคนแรกที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านสันลมจอย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2532 โดยย้ายมาจากอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาหางานทำในเมืองเชียงใหม่ ในช่วงแรกได้ซื้อที่ดินจากคนเมือง สมัยก่อนบ้านสันลมจอยยังและบ้านโป่งน้อยยังไม่ได้แยกออกจากกัน ชาวลีซูเมื่อมาทำงานในพื้นที่ราบก็เริ่มซื้อที่ดินที่ราคาไม่แพงเกินไป หลังจากที่ย้ายมาอยู่ก็เริ่มมีชาวลีซู ทั้งที่เป็นญาติพี่น้อง และไม่ได้เป็นญาติพี่น้องเริ่มย้ายมาอยู่ตาม มีการอพยพมาจากหลายจังหวัด มีทั้งแม่ฮ่องสอน เชียงราย แม่แตง แม่สอด และก็เริ่มมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น อาข่า และเย้าบ้าง โดยลีซูจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด

สภาพภูมิประเทศของหมู่ที่ 13 บ้านสันลมจอย มีลักษณะเป็นเชิงเขาและที่ราบ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองเชียงใหม่ ภายในตำบลสุเทพ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และเขตเทศบาลตำบลช้างเผือก
  • ทิศใต้ ติดกับเขตเทศบาลตำบลแม่เหียะ และเขตเทศบาลตำบลป่าแดด
  • ทิศตะวันออก ติดกับเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดกับ เขตตำบลบ้านปง อำเภอหางดง

ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ในบ้านสันลมจอย ที่เป็นชาวลีซูมีทั้งสิ้น 36 หลังคาเรือน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวอาข่า 10 หลังคาเรือน และเย้า 2-3 ครัวเรือน ช่วงแรกที่เข้ามาอยู่สภาพโดยรอบยังเป็นป่าไม่มีน้ำและไฟฟ้า เมื่อเริ่มมีการพัฒนา ก็มีไฟ มีน้ำใช้ เพราะหมู่บ้านอยู่ใกล้พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาถึงหมู่บ้านร่ำเปิง และบ้านโป่งน้อย เมื่อคนมาอยู่มากขึ้นก็มีการแยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านสันลมจอยและบ้านโป่งน้อย ในปี พ.ศ. 2536 ต่อมาก็เริ่มมีบ้านเลขที่ และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่างจากชาวสันลมจอยที่เป็นคนเมืองเช่นกัน

การประกอบอาชีพ

เดิมชาวลีซูอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง อาชีพของชาวลีซู คือ เกษตรกรรม เพราะภูมิศาสตร์โดยรอบล้อมรอบด้วยป่า เหมาะแก่การปลูกพืชต่าง ๆ เกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวลีซู การปลูกพืชต่าง ๆ ในสมัยก่อนจะเป็นการปลูกเพื่อนำมาทำอาหารและนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันเท่านั้น เช่น การปลูกข้าวโพดเป็นอาหารแก่สัตว์เลี้ยง หมู ไก่ เป็ด เป็นต้น 

ลีซูถือว่า การเกษตรนั้นเป็นอาชีพหลักของชนเผ่าลีซู เปรียบเสมือนกับหัวใจของชาวลีซู ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับทำเลที่จะเลือกสำหรับการทำไร่ค่อนข้างจะเลือกที่ดินดี เพื่อจะให้ได้ผลผลิตสูง จึงมีการเลือกหาทำเลที่ดี ๆ โดยดูจากแหล่งที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ดินดำร่วน อุ้มน้ำ อยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำลำธารมากนัก หากเลือกได้ก็จะเลือกสถานที่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากนัก เพื่อความสะดวกในการเดินทางเมื่อพบสถานที่ที่ถูกใจแล้ว จะลงมือถางไร่ ถางไร่เสร็จทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วเผาจากนั้นเก็บเศษที่เผาไม่หมด จากนั้น 2-3 วัน ก็ทำพิธีเซ่นไหว้บอกกล่าวของอนุญาตผีป่า ผีดอย ผีเจ้าที่เจ้าทาง ว่าขอให้ผลผลิตดีและปลูกอะไรก็ขอให้ได้ดีได้กิน แล้วค่อยไปถางหญ้าถางเสร็จ แล้วลงมือทำขุนดินให้ละเอียด จากนั้นเตรียมพร้อมสำหรับการเพาะปลูก พื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้ในการปลูกข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวโพด รองลงมาก็เป็นพืชผลอย่างอื่น เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี พริก งา ขิง มันฝรั่งและถั่วชนิดต่าง ๆ

อาชีพเปลี่ยนแปลงจากเดิมทุกอย่าง เพราะเวลาอยู่ที่สูงอาชีพที่สำคัญของชาวลีซู คือ การทำการเกษตร ปลูกข้าว ซึ่งในไร่ข้าวจะมี พริก ทานตะวัน ถั่ว แตง บวก และผักต่าง ๆ การทำไร่ข้าวเพียงเพื่อบริโภคภายในครอบครัวตลอดปีมากกว่าขายเป็นสินค้า ข้าวโพด เผือก กระเทียมและอื่น ๆ ตามที่ตัวเองพอใจ แต่เมื่อย้ายมาอยู่ในพื้นที่ราบก็มีอาชีพเปลี่ยนจากเดิม เพราะเมื่อย้ายมาอยู่ที่ราบก็ไม่มีที่สำหรับการทำเกษตร การทำอาชีพหลังจากย้ายถิ่นฐานแล้วก็มีอาชีพที่หลากหลายตามความสามารถของตัวเอง เช่น ทำงานตามร้านอาหาร ขายปิ้งย่าง ขายเสื้อผ้าที่ระลึกของลีซูไปขายถนนคนเดิน เป็นต้น

ลีซู, อ่าข่า, อิ้วเมี่ยน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สังคมดั้งเดิมของชาวลีซูมีวิถีชีวิตที่อิสระ ไม่ชอบความวุ่นวาย รู้จักช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว คืออาชีพเกษตรกรรม ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงจะทำอาชีพเดียวกัน เพราะเวลาอยู่บนพื้นที่สูงจะไม่มีอาชีพที่หลากหลายเหมือนกับในพื้นที่ราบ จะไม่มีการไปทำงานต่างถิ่น ทุกคนล้วนทำงานของตัวเอง คือทำไร่ โดยจะทำไร่จนกว่าผลผลิตโตขึ้นและนำไปขาย ลีซูจะมีช่วงเวลาพักผ่อนจริงจัง คือช่วง ปลายเดือนมีนาคมถึงเมษายน และเวลามีงานประเพณีปีใหม่ทุกคนจะไม่ออกไปทำไร่ จะอยู่บ้านฉลองกันทุกคน 

วิถีชีวิตของชาวลีซู

ในสังคมดั้งเดิม ครอบครัวของชาวลีซู เป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องคนอื่น ๆ เข้ามาอยู่อาศัยรวมกัน เช่นมี พี่ ป้า น้า อา หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น ชาวลีซูผู้ชายจะเป็นผู้นำครอบครัว เมื่อผู้หญิงลีซูแต่งงานแล้วจะต้องใช้นามสกุลหรือแซ่ของสามี ลีซูที่มีสกุลหรือแซ่เดียวกันถือว่าเป็นญาติกันโดยปริยาย จะแต่งงานกันไม่ได้เด็ดขาด ปกติแล้วลีซูจะเป็นกลุ่มคนที่มีอัธยาศัยดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านเสมอ หรือแม้แต่แขกผู้ไปเยือน ชาวลีซูมักจะไปมาหาสู่กันทุก ๆ ปีหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชไร่แล้ว แม้ว่าบ้านจะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม 

เดิมมีธรรมเนียมว่า ชาวลีซูจะตั้งหมู่บ้านได้ ต้องมีลีซูอยู่รวมกันอย่างน้อย 3 สกุลขึ้นไปเพราะเนื่องจากการแต่งงานของชาวลีซูจะแต่งกับคนสกุลเดียวกันไม่ได้ ถือเป็นเรื่องอัปมงคล ดังนั้นการที่ลีซูอยู่รวมกันในหมู่บ้านหลาย ๆ สกุลก็จะช่วยให้หาคู่ครองได้ง่าย อีกประการหนึ่ง การทำพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การเรียกขวัญ จะต้องเชิญผู้อาวุโสทั้ง 3 สกุลมาทำพิธีให้จึงจะถือว่าสมบูรณ์ หรือแม้แต่การตัดสินคดีความเมื่อมีการขัดแย้งกระทำผิดใด ๆ ในหมู่บ้านก็จะต้องประกอบไปด้วยผู้อาวุโสตั้งแต่ 3 สกุลขึ้นไปจึงจะมีความยุติธรรม 

ชาวลีซูมีอุปนิสัยเป็นคนขยันในการทำมาหากิน โดยเฉพาะผู้หญิงมักจะทำงานมากกว่าชาย เมื่อเข้าไปเยือนหมู่บ้านลีซูมักจะพบเห็นเด็กและผู้หญิงสะพายน้องเล็ก ๆ เอาไว้ข้างหลังขณะวิ่งเล่นในหมู่บ้าน เวลาที่พ่อแม่ออกไปทำงานในไร่ ส่วนเด็กผู้ชายก็จะหัดใช้อาวุธและเครื่องมือล่าสัตว์ เป็นต้น ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายชาวลีซูเมื่อโตขึ้นจะเริ่มฝึกหัดให้ทำอาหารช่วยงานบ้านและงานในไร่ เช่น ถางหญ้า เก็บผัก ปลูกข้าวโพด เมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่มก็จะสามารถหักร้างถางพง หาฟืนและทำไร่หรือไปล่าสัตว์ได้ส่วนเด็กผู้หญิงเมื่อโตเป็นสาว ก็มีหน้าที่หุงหาอาหาร ตักน้ำ ตำข้าว เกี่ยวหญ้า หรือเย็บปักถักร้อย แม้กระทั่งปลูกข้าวในไร่เป็นต้น สำหรับคนชราในหมู่บ้านลีซู ก็มีหน้าที่เฝ้าดูแลบ้าน เลี้ยงดูลูกหลาน ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ทำพิธีกรรม บูชาผี และเย็บเสื้อผ้า ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน หรือนั่งสนทนา เล่านิทานกันตามลานบ้านในตอนกลางคืน

ระบบความเชื่อ

ชาวลีซูนับถือผีบรรพบุรุษเป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกับชนเผ่าอื่น ๆ จะมีอยู่บ้างที่หันมานับถือพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา การนับถือผีบรรพบุรุษยังคงพบเห็นในหมู่บ้านโดยทั่วไป เช่นจะมีผีประจำหมู่บ้าน ผีบ้าน ผีเรือน ผีหลวง ผีป่า ผีน้ำ ผีลำห้วย ผีต่าง ๆ อาจแบ่งออกเป็นผีดีและผีร้ายผีดีเป็นผีที่ให้คุณแก่ชาวบ้าน เช่น ผีประจำหมู่บ้าน ผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเรือน ส่วนผีร้าย ได้แก่ ผีป่า ผีคนตายไม่ดี เช่น ถูกยิงตาย หรือคลอดลูกตาย ปัจจุบันคนภายในชุมชนยังมีกิจกรรม วัฒนธรรมและพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมอยู่และปฏิบัติกันอยู่

ในระบบความเชื่อของชาวลีซูในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ จะต้องมี “หมอมื้อผะ” หรือคนดูแลศาลผีประจำหมู่บ้าน หรือ “อา ปา โหม่ ฮี” หมอมื้อผะ จะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการทำพิธีต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบภายในหมู่บ้าน หรือผู้ปกครองหมู่บ้านได้แก่ “ขัว ทู ผะ” ประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะสามารถจัดการกับผู้กระทำผิด เช่น ลักเล็กขโมน้อยต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ในหมู่บ้านเผ่าลีซูแต่ละแห่งจะมีกลุ่มผู้อาวุโสที่ชาวบ้านนับถือคอยให้คำปรึกษาหรือทำพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ด้วย ส่วนหมอผีหรือ “หนี่ผะ” จะเป็นร่างทรงให้ แต่บางหมู่บ้านอาจจะไม่มี หนี่ผะ หากมีความจำเป็นจะต้องไปตามหมอผีหนี่ผะมาจากหมู่บ้านอื่น

ปฏิทินชุมชน

วิถีชีวิตของชาวลีซู จะมีการทำการเกษตร ต่างกันออกไปตามแต่ละฤดูกาล เช่น ฤดูฝนจะมีการปลูกข้าว ข้าวโพด และพืชผักต่าง ๆ ฤดูหนาวจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น สังคมของลีซูจึงเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำไร่ทำสวนอยู่ที่บนดอย พิธีกรรมจะมีหลายพิธีกรรม แต่ละพิธีกรรมก็มีเป็นช่วง ๆ ชาวลีซูเวลามีพิธีกรรมจะช่วยกันทำและเป็นวันที่สำคัญอีกหนึ่งวัน ชาวลีซูค่อนข้างให้ความสำคัญกับในงานพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น มีงานศพ พิธีแต่งงาน พิธีเรียกขวัญ หรือการประกอบพิธีกรรมของแต่ละครัวเรือน คือ อยู่ที่แต่ละครอบเรือนว่าจะจัดวันไหนไม่สามารถที่จะกำหนดได้ ส่วนการเกษตรนั้นสามรถ กำหนดเวลาได้ เพราะรู้ว่าช่วงเวลาการทำไร่ทำสวน ไร่ข้าว ข้าวโพด พืชผักต่าง ๆ เป็นต้น และปัจจุบันนี้ชาวลีซู เริ่มมีการเกษตรผสมผสานมากขึ้น สวนผลไม้และสวนกาแฟ ตลอดจนประกอบอาชีพอื่นมาเสริมด้วย 

ตารางแสดงวิถีชีวิตในรอบปีของชาวลีซู

เดือนกิจกรรมประเพณีพิธีกรรม
มกราคม - กุมภาพันธ์ถางไร่ เผาไร่ เก็บเศษไม้ หญ้าประเพณีปีใหม่ (โข่เซยี่ย)
มีนาคม - เมษายนเผาไร่ เก็บเศษไม้ เริ่มลงมือทำไร่ทำสวนพิธีกรรมซ่อมแซมศาลเจ้า (เฮ้อยี่ปา)
พฤษภาคม - มิถุนายนปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว พืชผักต่าง ๆ เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต พืชผักต่างๆพิธีทำบุญ (หลี่ฮีฉัว)
กรกฎาคม - สิงหาคมดูแลถางหญ้าในไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตพิธีขอบคุณเทพ (ฉวือแป๊ะกั๊วะ)
กันยายน - ตุลาคมเริ่มถางหญ้าในไร่ เผ่าไร่ ทำไร่ทำสวนรอบที่สองต่อ-
ตุลาคม-พฤศจิกายนเก็บเกี่ยวข้าวไร่ และเก็บผลผลิต พืชผักต่าง ๆ ต่อ-
ธันวาคม - มกราคมเก็บเกี่ยวพืชต่างๆและไปสำรวจหาพื้นที่ทำไร่ที่ใหม่ และเริ่มประดับทองผ้า ปักผ้า เย็บผ้า เตรียมชุดใหม่ เตรียมอุปกรณ์ใช้ในงานฉลองเทศกาลปีใหม่-

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวลีซูมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สร้างบ้านจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายจากท้องถิ่น การประกอบอาหารจะใช้พืชผักที่ปลูกเอง ไม่มีการซื้อขายให้กัน จะเป็นการแบ่งปันกัน และประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรเป็นหลัก 

อาหารการกิน 

ชาวลีซูทำอาหารกันอย่างง่าย ๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก เพราะย้ายมาอยู่สังคมที่ต้องใช้เงินทอง เพราะไม่มีที่เป็นของตัวเองเหมือนอยู่พื้นที่สูง ไม่สามารถปลูกพืชผักไว้เองของทุกอย่างก็ซื้อจากตลาด ชาวลีซูไม่ชอบทานอาหารรสหวาน หรือเวลาทำกับข้าวจะไม่นิยมใส่น้ำตาล ทำให้วิธีการกินยังคงทำแบบเดิมเพียงแต่ต้องซื้อผักจากตลาดมาทำ และอาจจะมีซื้ออาหารสำเร็จมาจากตลาดบ้างในบางครั้ง

บ้านเรือนที่อยู่อาศัย 

ลีซูบ้านสันลมจอยจะสร้างบ้านอย่างเรียบง่ายเหมือนตอนอยู่บนที่สูง จะอยู่กันเป็นครอบครัว บ้านเรือน ลีซูนิยมสร้างบ้านเรือน 2 แบบคือแบบปลูกคร่อมติดพื้นดินกับแบบปลูกยกพื้น ทั้งนี้แล้วแต่ความนิยมของแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่เป็นบ้านปลูกคร่อมดิน เพราะให้ความอบอุ่นกับผู้อยู่อาศัย วัสดุที่ใช้จะหาได้ในท้องถิ่น เช่น เสาบ้านใช้เสาไม้เนื้อแข็งหรือไม้เนื้ออ่อน หลังคาสังกะสีจะซื้อเอา และลีซูที่มีฐานะดีอาจจะปลูกบ้านแบบคนพื้นราบทั้งแบบชั้นเดียวและสองชั้น

ลีซูจะมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีการสอนให้เด็กพูดเขียนภาษาให้กับเด็ก การพูดภาษา ในช่วงแรก ๆ ที่ย้ายเข้ามาอยู่ จะมีบางคำที่ไม่เข้าใจ บางคนอาจจะสื่อสารได้ไม่เข้าใจกัน เพราะไม่ได้เรียนรู้มาแต่เดิม การเรียนรู้การพูดภาษาก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปกับคนในชุมชนที่เป็นคนเมือง ในปัจจุบันในด้านของภาษาสามารถพูดคุยกับคนพื้นราบได้ดี แต่เด็กรุ่นลูกหลาน จะไม่ค่อยมีคนพูดภาษาลีซู เพราะเด็กซึมซับภาษาไทยมากกว่า เวลาไปเรียนไม่ได้พูดภาษาชาติพันธุ์แต่เวลาพ่อแม่พูดอะไรเด็กก็ฟังเข้าใจแต่ไม่สามารถพูดได้เหมือนเด็กที่อยู่บนที่สูง


การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาติพันธุ์ลีซูบ้านสันลมจอย 

เมื่อชาวลีซูย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในพื้นที่ราบก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ตามมา เพราะพื้นที่ราบกับบนพื้นที่สูง สังคมวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน เพราะบนที่สูงแม้จะมีผู้คนเยอะ แต่ก็อยู่กันแบบญาติพี่น้อง แต่เมื่อมาอยู่ในพื้นที่ราบก็มีการเปลี่ยนแปลง ต่างคนต่างอยู่แทบไม่มีการยุ่งเกี่ยวกัน 

สังคมวัฒนธรรม

สังคมวัฒนธรรมของชาวลีซู เดิมจะอยู่รวมกันเป็นชุมชนขนาดกลาง มีภาษาประจำเป็นของตัวเอง การแต่งกายบ่งบอกถึงความเป็นชาติพันธุ์ นับถือผีและเชื่อว่าผีมีทั้งผีดีและผีร้าย ซึ่งประจำอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น บ้านเรือน ห้วยหนอง และไร่นา เป็นต้น ดังนั้นด้วยความเกรงกลัวต่อผีและวิญญาณภูตผี ชาวลีซูจึงต้องสร้างศาลผีไว้สำหรับบูชาเซ่นไหว้เป็นศาลผีประจำหมู่บ้านมีประเพณีที่ทำร่วมกันในชุมชนปีละครั้ง ลีซูนับถือ ผี บรรพบุรุษ เจ้าป่าเจ้าเขา เมื่อย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในพื้นที่ราบก็เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ขึ้นดังนี้ 

ประเพณี 

การทำพิธีต่าง ๆ จากที่มีพิธีกรรมมาก ก็ลดจำนวนน้อยลง บางอย่างไม่สามารถทำในเมืองได้ก็เลยทำการตัดทิ้งเพราะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ที่เป็นที่เฉพาะ เช่นประเพณีกินข้าวใหม่ไม่สามารถทำได้เนื่องจาก เมื่อมาอยู่ในพื้นที่บ้านสันลมจอยแล้ว ไม่มีที่สำหรับปลูกข้าว เพราะเดิมชาวบ้านอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงมีที่ดินที่จะทำการปลูกข้าวตามไร่ของตัวเอง ปลูกข้าวไว้ทานเองแต่พอลงมาอยู่ในเมืองก็ไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกก็ทำให้ประเพณีสูญหายและไม่สามารถทำพิธีไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาที่ดูแลไร่ได้ 

พิธีเรียกขวัญ ยังคงมีอยู่ แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมคือ เดิมพิธีเรียกขวัญ มีขั้นตอนมาก และการประกอบพิธีนั้นต้องใช้หมอผีที่เก่งและชำนาญ ซึ่งหมอผีที่ชำนาญนั้นจะหายากเพราะต้องเป็นผู้ที่มีอายุมาก มีความรู้เกี่ยวกับพิธี และเป็นผู้ชายเท่านั้น เมื่อการทำพิธีเรียกขวัญนั้นหากเป็นหมอผีที่ชำนาญและเป็นหมอผีที่ชาวบ้านยอมรับนั้นการทำพิธีจะมีขั้นตอนเยอะ แต่เมื่อลงมาอยู่ในพื้นที่ราบก็ตัดขั้นตอนที่ไม่สามารถทำได้ออกไป แต่มีการปรับเปลี่ยนโดยการหาหมอผีที่สามารถทำพิธีที่พอทำได้ ไม่จำเป็นต้องทำพิธีเต็มทุกขั้นตอนเพราะเป็นความเชื่อของลีซูว่าการเรียกขวัญจะทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่หากเป็นพิธีที่สำคัญที่จำเป็นต้องทำอย่างเต็มรูปแบบ ก็จะกลับไปทำพิธีที่บ้านเดิม เพราะยังเก็บบ้านเดิมไว้อยู่ เมื่อมีประเพณีสำคัญ เช่น ประเพณีปีใหม่ก็จะกลับไปร่วมงานที่บ้านเดิม

ศาสนา

กลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ส่วนใหญ่นับถือผี (เหน่) ผีที่สำคัญมาก คือ ผีปู่ ตา ย่า ยาย ผีที่นับถือหรือเกรงกลัว คือ ผีที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น ผีดอย ผีดิน ผีน้ำ ผีไร่ เป็นต้น การเรียกขวัญ เป็นความเชื่อด้วยด้านจิต วิญญาณ เพื่อความสุขสบายกายและใจ ทำต่อเมื่อคนในครอบครัวเจ็บป่วยบาดเจ็บ การนับถือศาสนามีการเปลี่ยนแปลงหลังจากอพยพมาบ้านสันลมจอย เริ่มมีการนับถือผีควบคู่กับศาสนาคริสต์หรือศาสนาพุทธ ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดเพียงแต่เพิ่มความเชื่อและนับถือพุทธเพิ่มเข้ามา และได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยเข้าวัด โดยมีชาวบ้านในพื้นราบชักชวนให้ทำบุญด้วยกัน เข้าวัด เข้าโบสถ์ มีการนับถือศาสนาตามความพอใจของตัวเอง อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการนับถือศาสนาพุทธ ก็ยังไม่ละทิ้งการนับถือผีบรรพบุรุษ ยังมีการทำพิธีให้กับผีบรรพบุรุษอยู่ เพราะเป็นการทำพิธีกรรมตั้งแต่อดีต อย่างไรก็ตามหากใครที่ไม่ได้นับถือพุทธแต่หันไปนับถือศาสนาคริสต์หรือศาสนาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ต้องละทิ้งศาสนาดั้งเดิมที่เคยนับถือและหันไปปฏิบัติตามศาสนาที่ตนเองนับถือ ปัจจุบันที่บ้าน สันลมจอย มีบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์เพียงแค่หลังเดียว นอกจากนั้นนับถือผีและศาสนาพุทธรวมกัน

การแต่งกาย

การแต่งกาย มีการเปลี่ยนแปลงจากอยู่พื้นที่สูง เพราะเวลาอยู่บ้านจะใส่ชุด ชาติพันธุ์ไม่ว่าจะไปทำงาน หรืออยู่บ้านก็จะใส่ชุดชาติพันธุ์ แต่เมื่อย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ราบก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงการแต่งกาย ในช่วงแรก ๆ ที่ย้ายมาอยู่ยังคงมีการแต่งกายแบบชุดชาติพันธุ์ แต่เมื่อย้ายมาอยู่ในพื้นราบก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับคนในพื้นที่ และบางคนไม่กล้าแต่งเพราะเมื่อแต่งแล้วดูแตกต่างจากคนอื่นและมีคนมองเหมือนดูถูก ทำให้เริ่มไม่อยากเป็นที่แปลกตาในสายตาผู้คน แต่เวลามีงานหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ยังมีการแต่งกายด้วยชุดชาติพันธุ์และแม้ว่าจะแต่งกายตามคนพื้นราบ ผู้หญิงก็ยังคงใส่กางเกงลีซูอยู่ และบรรพบุรุษในสมัยก่อนก็มีสุภาษิตเหมือนกันคนพื้นราบคือ เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ซึ่งก็ซึมซับมาถึงทุกวันนี้  

การปรับตัวของชาวลีซูบ้านสันลมจอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 

เมื่อย้ายถิ่นฐานมาอยู่ร่วมกับคนเมืองการใช้ชีวิตต่าง ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม เกิดปัญหาต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการรบกวนชาวบ้าน ทำให้ชาวลีซูต้องปรับตัว ในด้านต่าง ๆ เช่น พิธีกรรมที่ต้องใช้สถานที่เฉพาะ เช่น การทำบุญสร้างศาลา เนื่องจาก ต้องใช้พื้นที่ในการสร้างค่อนข้างมาก ทำให้ไม่สะดวกต่อการทำพิธีในพื้นที่ราบ และภาษาที่ใช้ต้องปรับไปใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับคนในพื้นที่ เป็นต้น 

การปรับตัวด้านประเพณี

ประเพณีลีซู มีพิธีการและขั้นตอนหลายขั้นตอนเมื่อเข้ามาอยู่ในพื้นที่ราบ ก็มีการปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ทำให้บางประเพณีต้องลดขั้นตอนลง เพื่อความสะดวกและไม่ทำให้เกิดปัญหากับคนในพื้นที่ ต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพราะการทำพิธีกรรมบางอย่างต้องใช้สถานที่ที่ใหญ่ และจะมีญาติพี่น้องคนรู้จักมาร่วมงานเยอะ เช่น พิธีกรรมสร้างศาลา ถือเป็นพิธีที่ใหญ่ของบ้านที่จะทำพิธีนี้ ซึ่งจะใช้สถานที่ในการสร้างพอสมควร ก็ต้องปรับให้เป็นการทำพิธีเล็ก ๆ หากเป็นพิธีที่ใหญ่ก็ต้องกลับไปทำพิธีที่บ้านเดิม เพราะลีซูไม่ได้ย้ายถิ่นฐานแบบถาวร ยังมีบ้านอยู่ที่บ้านเดิม เวลามีงานพิธีกรรมที่สำคัญก็กลับไปร่วมงานที่บ้านเดิม และการทำพิธีกรรม เช่นเรียกขวัญก็ปรับขั้นตอนให้น้อยลงเพราะสามารถปรับได้ ลูกหลานคนรุ่นหลังก็สามารถทำเองได้ ไม่ต้องหาคนทำพิธีที่เก่ง 

 ยกตัวอย่างกรณีศึกษาประเพณีปีใหม่ เดิมประเพณีปีใหม่ลีซู ซึ่งจะมีในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ช่วงแรกที่เข้ามาอยู่บ้านสันลมจอย ความสัมพันธ์ระหว่างคนลีซู อาข่าและเย้ากับคนเมืองยังไม่ดีเท่าไร่เมื่อเทียบกับปัจจุบัน เป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ มีการปรับตัวเข้าหากันหลายครั้งกว่าจะมาถึงจุดที่คนเมืองยอมรับก็ขัดแย้งกันมาหลายครั้ง เคยมีปัญหาทะเลาะกันด้วยเรื่องที่มาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม เนื่องจากคนลีซูเมื่อมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนขยายจากไม่กี่ครัวเรือน พอมาอยู่รวมกันหลายครอบครัวก็ทำให้เริ่มมีการจัดงานปีใหม่ของลีซูถือเป็นประเพณีที่สำคัญมากของลีซูและจุดประทัดเสียงดังทำให้คนเมืองเกิดความไม่พอใจ เริ่มมีการทะเลาะกัน แล้วพอถึงประเพณีลอยกระทงของคนเมือง คนเมืองก็จุดประทัดเสียงดัง ทำให้ลีซูเกิดความไม่พอใจเหมือนทำให้คนเมืองและลีซูเปิดใจเข้าหากัน ทำให้ลีซูเริ่มปรับตัวให้เข้ากับคนเมืองให้เข้าใจลีซูมากขึ้น เพราะเมื่ออพยพเข้ามาอยู่ช่วงแรก ๆ ก็ทำให้คนเมืองคิดว่าลีซูเป็นคนแปลกหน้า ซึ่งคนเมืองอาจจะไม่ค่อยชอบและหวาดระแวงว่าเป็นคนแบบใด สามารถไว้ใจกันได้หรือไม่ เป็นคนดีไหม เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ลีซูปรับตัวเข้าหาคนเมือง ไม่สร้างปัญหาให้ เมื่อปรับความเข้าใจกันแล้วก็อยู่ร่วมกันแบบสันติสุขถึงปัจจุบัน

การปรับตัวด้านอาหารการกิน 

การประกอบอาหารลีซูจะใช้ส่วนประกอบการทำอาหารจากพืชผักที่ปลูกไว้เอง และพืชผักที่หาได้ตามป่าหรือพื้นที่ใกล้เคียง การประกอบอาหารจะง่าย ใช้วัตถุดิบน้อย และนิยมทานน้ำพริกเกือบทุกมื้อ ลีซูจะนิยมปลูกผักทานเอง ไม่มีการซื้อขายผักผลไม้เหมือนพื้นที่ราบ ไม่ต้องเสียเงินในการซื้อผักต่าง ๆ เมื่อย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านสันลมจอยแล้วก็ต้องมาซื้อผักตามตลาดที่คนเมืองขาย เพราะไม่มีพื้นที่ให้ปลูกผักเหมือนบ้านเดิม ลีซูจะชอบทานผักเป็นส่วนมาก ลีซูไม่ชอบทานอาหารที่มีรสหวาน เวลาทำอาหารจะไม่น้ำตาลหรือกะทิ จะทำอาหารแบบเรียบง่าย แต่เมื่อลงมาอยู่ร่วมกับคนพื้นราบก็เริ่มปรับตัว ให้เขากับคนเมือง เพราะบางครั้งจำเป็นต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปมาทาน  

หมู่บ้านสันลมจอย ตั้งอยู่ที่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเดียวในอำเภอเมืองเชียงใหม่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ลีซูบ้านสันลมจอย ย้ายถิ่นฐานมา มาจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ คือ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตาก ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีชีวิต และสังคมวัฒนธรรม ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้านประเพณี ศาสนา ภาษา การแต่งกาย อาหาร อาชีพ บ้านเรือน และการเมืองการปกครอง ซึ่งส่งผลให้มีการปรับตัวตามมา มีการปรับตัวในด้าน ประเพณี อาชีพ และด้านอาหารการกิน  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2541). ชาวเขา. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์.

คณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2553). แนวความคิดพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 3). เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชมรมบริการวิชาการ สถาบันวิจัยชาวเขา. (2541). ชาวเขา ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่ : นันทกานต์ กราฟฟิค.

ทวีศักดิ์ โสภา (2550). การศึกษารูปแบบบ้านของชาวเขาเผ่าลีซอ. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2546). ชาวเขาในไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

เบญจา ศิลารักษ์. (2559). 'เขาก็คน เราก็คน' ลีซู และคนเมืองในเมืองเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561, จาก https://prachatai.com/journal/

เพ็ญศิริ แซ่จู่. (2561). การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการปรับตัวหลังการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูในพื้นที่บ้านสันลมจอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์. (2550). ชนเผ่าลีซู. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2561, จาก http://www.openbase.in.th/

มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์. (2552). ชนเผ่าลีซู - วิถีชีวิตในรอบปี. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2561, จาก http://www.openbase.in.th/

ลักขณา ดาวรัตนหงษ์. (2539). ลีซอ. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล. 

สมัย สุทธิธรรม. (2541). สารคดีชีวิตชนกลุ่มน้อยบนดอยสูง ลีซอ. กรุงเทพฯ : 2020 เวิลด์ มีเดีย.

สุธิดา ผู้ทรงเกียรติ. (2545). ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อการแต่งกายของลีซอ บ้านสันลม จอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. 

อมรา พงศาพิชญ์. (2542). ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกระบวนการทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1980-9650, เทศบาลสุเทพ โทร. 0-5332-9251