Advance search

บ้านป่าบง

ชุมชนที่มีต้นไผ่บงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่มีลักษณะเป็นป่าไม้ไผ่ ก่อให้เกิดภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไม้ไผ่ คือ การจักสาน

หมู่ที่ 4
ป่าบงหลวง
ป่าบง
สารภี
เชียงใหม่
กานต์สิรี ปันทะนุ
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านป่าบง

ชื่อเรียกหมู่บ้าน "ป่าบง" มีที่มาจากชื่อ "ป่าไผ่" เนื่องจากพื้นที่ตั้งหมู่บ้านเดิมทีเป็นป่าไผ่ ชาวบ้านที่เข้ามาอาศัยอยู่ล้วนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่าไผ่ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านป่าไผ่" แล้วเปลี่ยนเป็น "บ้านป่าบง" ในเวลาต่อมา


ชุมชนที่มีต้นไผ่บงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่มีลักษณะเป็นป่าไม้ไผ่ ก่อให้เกิดภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไม้ไผ่ คือ การจักสาน

ป่าบงหลวง
หมู่ที่ 4
ป่าบง
สารภี
เชียงใหม่
50140
เทศบาลป่าบง โทร. 0-5310-3155
18.7372544
99.0570690
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าบง

บ้านป่าบงเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตามคำบอกเล่าของชาวป่าบง ในอดีตหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ไผ่ ซึ่งคนพื้นเมืองเรียกไม้นี้ว่า “ไม้บง” จึงเรียกตำบลนี้ว่า “ตำบลป่าบง” ต่อมาได้ยกฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เรียกว่า “องค์การบริหารส่วนตำบลป่าบง ตำบลป่าบงไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เชื่อว่าตำบลป่าบงตั้งพร้อมกับเมื่อมีการตั้งอำเภอสารภีในปี พ.ศ. 2434 ซึ่งเดิมชื่อว่า “อำเภอยางเนิ้ง” มาจากภาษาพื้นเมือง 2 คำ คือคำว่า “ยาง” ซึ่งหมายถึง ต้นยาง และคำว่า “เนิ้ง” ซึ่งหมายถึง “โน้มเอน” จึงเรียกชื่ออำเภอตามสภาพ “ยางเนิ้ง” ที่เด่นชัด เดิมทีหมู่บ้านในตำบลป่าบง และหมู่บ้านใกล้เคียงเต็มไปด้วยไม้ไผ่ ชาวบ้านในละแวกนั้น จึงได้นำไม้ไผ่ที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเองมาจักสานเป็นกระบุง ตะกร้า แล้วนำไปขายยังหมู่บ้านอื่น ผู้ที่ริเริ่มการค้าผลิตภัณฑ์จักสานอย่างจริงจังเป็นคนแรก คือ นายถา นารินทร์ อดีตกำนันตำบลป่าบง ซึ่งสืบทอดการผลิตและการค้าขายผลิตภัณฑ์จักสานมาจากบิดา เมื่อสมัยหนุ่ม นายถา เคยช่วยบิดาของตนทำการค้าขายงานจักสาน พอแต่งงานแยกครอบครัวออกไปแล้ว ก็ได้ดำเนินกิจการเยี่ยงบิดา โดยทำทั้งการผลิตและการจำหน่าย ในขณะเดียวกันก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไปด้วย พอเสร็จจากการทำนาแล้ว จะพากันหาบงาน จักสานไปเร่ขายตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในท้องถิ่นอื่น ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2505 เริ่มมีพ่อค้าจากในเมืองนำเอากระบุง ตะกร้าเป็นชุดจำนวนชุดละ 3 ใบ มีขนาดใหญ่ลดหลั่นกันไปจากใหญ่ไปหาเล็ก สามารถวางซ้อนกันได้ ไปให้คนในหมู่บ้านป่าบงดูเพื่อเป็นตัวอย่างในการสั่งผลิตจำนวนมาก การที่มีคนมาว่าจ้างให้ผลิตเช่นนี้เป็นแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านมีกำลังใจ และมองเห็นช่องทางการหารายได้เพิ่ม มีจำนวนชาวบ้านที่หันมาประกอบอาชีพนี้มากขึ้น จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป

ผู้อาวุโสในหมู่บ้านต่างก็กล่าวถึงชีวิตที่ผูกพันกับอดีตว่าไม้ไผ่มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านตำบลป่าบง อำเภอสารภี มาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนในหมู่บ้าน สมัยที่เทคโนโลยียังไม่เจริญ เครื่องมือเครื่องใช้เกือบทุกอย่างล้วนแต่จักสานจากไม้ไผ่แทบทั้งสิ้น ในยามว่างจากทำไร่ไถนา ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยนั้นเหลาตอก สานกระด้ง กระบุง และตะกร้าไว้ใช้เอง บรรดาลูกหลานได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านจักสานสืบต่อกันมา จากอดีตที่ทำไว้ใช้เองในแต่ละครัวเรือน ต่อมามีการทำเพื่อขายในชุมชน หรือนำไปแลกสิ่งของต่างบ้าน (วัชรา ทองหยอด, 2550)

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านป่าบง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลป่าบง เป็นเทศบาลตำบล มีฐานะเป็นทบวงการเมือง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 โดยกำหนดให้เขตเทศบาลตำบลป่าบง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าบง ทั้งตำบล 2 เขต ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน ดังนี้

  • เขต 1 ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านไชยสถาน, หมู่ที่ 2 บ้านศรีคำชมภู และหมู่ที่ 6 บ้านสุพรรณ
  • เขต 2 ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านร้องดอนไชย, หมู่ที่ 4 บ้านป่าบงหลวง และหมู่ที่ 5 บ้านเทพาราม

บ้านป่าบง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านป่าหลวง ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งของเทศบาลตำบลป่าบง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอสารภี และห่างจาก ที่ว่าการอำเภอสารภีประมาณ 7 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 5.528 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 3,455 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง
  • ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลชมภู อำเภอสารภี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี

ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เมื่อเดือนมกราคม 2566 พบว่า พื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านป่าหลวง ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรรวมทั้งสิ้น 934 คน เป็นเพศชาย 457 คน และเพศหญิง 477 คน โดยประชากรกลุ่มหลักเป็นชาวไทยพื้นถิ่นภาคเหนือ

ไทยวน

กลุ่มอาชีพในชุมชนบ้านป่าบง คือ กลุ่มจักสานที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำโคมไฟ การจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือน จักสานสิ่งสวยงาม เป็นกลุ่มวิสาหกิจที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น

กลุ่มจักสานเพื่อการผลิตบ้านป่าบงหลวง

  • ประธานกลุ่ม: นายสิงห์แก้ว จันทร์น้อย
  • ที่ตั้งสถานประกอบการ: บ้านเลขที่ 93 หมู่ที่ 4 บ้านป่าบงหลวง ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

  • ประวัติการจัดตั้ง: กลุ่มจักสานเพื่อการผลิตบ้านป่าบงหลวง เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยเป็นการตั้งกลุ่ม ฯ อย่างไม่เป็นทางการ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม ฯ โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในช่วงแรก ได้แก่ กระเป๋า ตะกร้า และกระบุง เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2543 จึงเริ่มมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์มาผลิตเป็นโคมไฟที่ทำจากไม้ไผ่และหวายมากขึ้น โดยแบ่งเป็นโคมไฟชนิดต่าง ๆ หลายชนิดด้วยกัน และในปัจจุบันกลุ่ม ฯ ได้ทำการจักสานผลิตภัณฑ์โคมไฟจากไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมของลูกค้า

กลุ่มจักสานบ้านป่าบงหลวง (แม่เขียวข้องหลวง)

กลุ่มจักสานแม่เขียวข้องหลวง เกิดจากคุณยายเขียว แก้วสมุทร์ ได้ดำเนินการเพิ่มขนาดการสานข้องขนาดปกติที่มีอยู่เดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหลายเท่าและเป็นทั้งที่สังเกต จดจำได้ในทันที ผลงานดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านแห่งนี้เป็นอย่างมาก ที่ได้เปลี่ยนแปลงจากข้องทรงเดิม ๆ ได้กลายเป็นข้องหลวงที่เป็นเอกลักษณ์แบบเฉพาะของตำบลป่าบง จึงเป็นที่มาของชื่อ แม่เขียวข้องหลวง

กลุ่มนี้เกิดขึ้น ราวปี พ.ศ. 2523 ที่มาเกิดขึ้นจากมีชาวญี่ปุ่นมาชมการจักสานของคนในชุมชน จนกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘แม่เขียวข้องหลวง’ ที่ปัจจุบันได้รับการสานต่อ โดยนอกจากจะมีสินค้าจักสานที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีการต่อยอดโดยนำงานจักสานที่มีอยู่มาประยุกต์ให้ใช้งานได้หลากหลายขึ้น รวมทั้งที่นี่ยังเปิดสอนวิธีการจักสานในรูปแบบต่าง ๆ แก่ผู้สนใจด้วย

งานศึกษาของ มานพ สารสุข (2557) ได้ศึกษาและพัฒนางานหัตถกรรมชุมชนจักสาน โดยเลือกใช้พื้นที่บ้านป่าบง ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในกรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่า สภาพทั่วไปของชุมชนจักสานไม้ไผ่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชนบท มีฐานะทางครอบครัวอยู่ในระดับปานกลาง ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก การรวมกลุ่มเพื่อผลิตเครื่องจักสานอยู่ในกลุ่มคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 30-75 ปี ผลิตเครื่องจักสานประเภทของใช้ทั่วไป เครื่องประดับและของตกแต่ง หรือของที่ระลึก เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญที่ทำให้เครื่องจักสานเริ่มมีการสืบทอดการผลิตที่น้อยลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญต่ออาชีพการจักสานจึงทำให้องค์ความรู้ในด้านนี้เริ่มหายไป อีกทั้งยังมีรายได้ที่น้อยและใช้ระยะเวลาการผลิตและการจำหน่ายที่นานเมื่อเปรียบกับอาชีพอื่น ๆ

นอกจากนี้ การศึกษายังพบสภาพปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ คือ 1) ปัญหาด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม่ไผ่ ซึ่งบางส่วนไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงไม่สามารถเข้ารับการคัดสรรเป็นสินค้า OTOP ระดับดาวต่าง ๆ ได้ 2) ปัญหาด้านกระบวนการผลิตเครื่องจักสานของชุมชน พบว่า ชุมชนขาดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการจักสานให้มีคุณภาพ เครื่องมือพื้นฐานในการทำงาน ประเภทเครื่องจักสานที่สามารถคัดสรรเป็นสินค้า OTOP และชนิดของลายสาน อีกทั้งยังขาดการพัฒนาเทคนิควิธีการในการจักสาน ได้แก่ วิธีการเลือกใช้ไม้ไผ่หรือวัสดุที่เหมาะสม การเหลาตอกให้มีความประณีต การตกแต่งสีเส้นตอก เทคนิคการจักสาน การเคลือบผิวเครื่องจักสานและการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ การศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าเครื่องจักสานชุมชน ควรมีการศึกษาวิธีการประยุกต์ใช้วัสดุธรรมชาติอื่น ๆ มาพัฒนาเครื่องจักสานของชุมชนให้มีความหลากหลายสามารถเป็นสินค้าชุมชนที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มรดกทางภูมิปัญญาของชาวบ้านป่าบง คือ การสร้างงานศิลปหัตถกรรม ที่ถูกประดิษฐ์และสร้างสรรค์ขึ้นมาให้มีความงดงาม ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นจนกลายเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชน งานจักสานคืองานหัตถกรรมที่นำเอา วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชน ภูมิปัญญาของคนในชุมชน มาสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าแก่ชุมชน งานจักสานบ้านป่าบง ช่วยชาวบ้านให้มีรายได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเป็นหลัก

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านป่าบง คือ กระบุงหาบ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่ผลิตแห่งเดียว กระบุงหาบของหมู่บ้านป่าบง มี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ แตกต่างตามการใช้งาน เช่น การนำไปใส่ข้าว ใช้ใส่ของไปตลาด ใช้ใส่ของไปวัดเพื่อทำบุญ

ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ในการจักสาน ปัจจุบันเมื่อตลาดมีความต้องการสูง ไม้ไผ่ในหมู่บ้านไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงได้มีการสั่งซื้อในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ แม่ออน สันกำแพง ดอยสะเก็ด

ขั้นตอนการผลิตกระบุง เริ่มต้นจากการจักไม้ไผ่ หรือการจักตอก เป็นการผ่าไม้ไผ่ให้แตก แยกออกเป็นเส้น เป็นซี่บาง ๆ แล้วเหลาเพื่อลดความคมของไม้ จากนั้นนำตอกมาขึ้นลายตามแม่แบบ โดยการนำเส้นตอกมาสานกัน ‘ยก’ ขึ้นเส้นหนึ่ง แล้ว ‘ข่ม’ ลงเส้นหนึ่ง ขัดกันสลับไปมา เรียกว่า ‘ลายขัด’ เมื่อสานเสร็จแล้วจึงนำไปทำสี เคลือบผิวไม้ ป้องกันไม่ให้แมลงกินไม้ ก่อให้เกิดความคงทนต่อการใช้งาน

งานจักสานที่บ้านป่าบง นอกจากลวดลายที่ไม่เหมือนใครแล้ว ความแข็งแรงทนทาน ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ลวดลายการพับการสานก็จะไม่เหมือนกัน คืออีกหนึ่งจุดเด่นงานของป่าบง

เอกลักษณ์ลวดลายของงานจักสานไม้ไผ่บ้านป่าบง แบ่งออกเป็น ลายสองมีดี ลายไพกิ๊ว และลายไพคัง ลักษณะที่โดดเด่น คือ การใช้เส้นตอกจำนวนสามเส้นเกี่ยวกันเพื่อความแข็งแรงโดยมีเส้นหวายช่วยประคองรับน้ำหนักอีกชั้นหนึ่ง สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษ ที่ต้องการเสริมความแข็งแรงให้กับเครื่องจักสาน โดยสามารถนำไปใช้ใส่ของ หาบข้าว ปัจจุบัน คนในชุมชนมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นลวดลายแบบโบราณเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม

ภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในชุมชน คือ ภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมือง


ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ผลิตภัณฑ์จักสานของบ้านป่าบงเป็นที่นิยมในท้องตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและประเพณีท้องถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งเทศกาลประจำปี โดยบริษัทห้างร้านจะมาสั่งทำกระเช้าเพื่อเอาไปจัดของขวัญ (ทองสุข แก้วสมุทร, สัมภาษณ์, 1 มีนาคม 2566)

ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีการประยุกต์และปรับรูปแบบให้มีความร่วมสมัย

  • พวงมาลัยไม้ไผ่ นิยมใช้เป็นเครื่องบูชาตามความเชื่อ และใช้ประดับตกแต่งในหลากหลายโอกาส โดยเฉพาะในโอกาสมงคล
  • ถังขยะไม้ไผ่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีรูปลักษณ์ที่ร่วมสมัยและสามารถนำไปประดับตกแต่งในสถานที่ต่าง ๆ เช่น บ้าน โรงแรม หรือสถานที่ที่เน้นความเรียบง่ายแบบธรรมชาติ

กลุ่มจักสานบ้านป่าบงหลวง (แม่เขียวข้องหลวง). กลุ่มจักสานบ้านป่าบงหลวง (แม่เขียวข้องหลวง). จาก: https://www.facebook.com/PARBONGVILLAGE.BAMBOOCRAFTS/

เทศบาลตำบลป่าบง. (2558). ประวัติและข้อมูลทั่วไปจาก: http://www.pabong-chiangmai.go.th/

มานพ สารสุข. (2557). การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมในงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่ชุมชน, วารสารวิทยาศาสตร์ คชสาส์น, 36(1), 22-34.

วัชรา ทองหยอด. (2550). การพัฒนาผลิตภัณฑ์งานจักสาน ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่. การศึกษาค้นคว้าอิสระศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวศึกษา. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สล่าเมด, อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2565). จักสานบ้านป่าบง. จาก: https://salahmade.com/artisan/จักสานบ้านป่าบง/

อินทิรา สุภาแสน. (2553). บทบาทผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ต่อการส่งเสริมวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง: กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ (รายงานการวิจัย)เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

HIP. (2562). ชุมชนบ้านป่าบง ย้อนอดีตในชุมชนจักสานเก่าแก่. จาก: https://www.facebook.com/hipevent/

ทองสุข แก้วสมุทร. สัมภาษณ์. 1 มีนาคม 2566.