Advance search

บ้านแม่ปั๋ง

บ้านดอยแม่ปั๋ง

“บ้านแม่ปั๋ง” เป็นหมู่บ้านชนบทที่ตั้งอยู่บนเนินดอย มีวัดดอยแม่ปั๋ง หรือวัดหลวงปู่แหวน ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอพร้าว ภายในวัดเงียบสงบ มีพื้นที่พักผ่อนจิตใจเหมาะสำหรับการมาปฏิบัติธรรม

หมู่ที่ 5
บ้านแม่ปั๋ง
แม่ปั๋ง
พร้าว
เชียงใหม่
ชลธิชา วันดี
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านแม่ปั๋ง
บ้านดอยแม่ปั๋ง

คำว่า "ปั๋ง" มาจากสีม่วง (สีม่วงของเมล็ดผักปลัง) เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ติดกับดอยถ้ามองไกล ๆ จะเห็นเป็นดอยสีม่วงคล้ายกับสีของเมล็ดผักปั๋งหรือผักปลัง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่นี้ว่า "บ้านดอยแม่ปั๋ง"


“บ้านแม่ปั๋ง” เป็นหมู่บ้านชนบทที่ตั้งอยู่บนเนินดอย มีวัดดอยแม่ปั๋ง หรือวัดหลวงปู่แหวน ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอพร้าว ภายในวัดเงียบสงบ มีพื้นที่พักผ่อนจิตใจเหมาะสำหรับการมาปฏิบัติธรรม

บ้านแม่ปั๋ง
หมู่ที่ 5
แม่ปั๋ง
พร้าว
เชียงใหม่
50190
เทศบาลแม่ปั๋ง โทร. 0-5325-7182
19.123662
99.114488
เทศบาลตำบลแม่ปั๋ง

บ้านแม่ปั๋ง ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติชุมชนยาวนานมากกว่าหนึ่งศตวรรษ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อ การอพยพของชาวไทลื้อเข้าสู่บ้านแม่ปั๋งนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีถิ่นฐานเดิมหรืออพยพย้ายมาจากที่ใด แต่สันนิษฐานว่าอาจเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งแต่ช่วงแรกตั้งหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว

สำหรับความเป็นมาของชื่อเรียกหมู่บ้านนั้น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เนื่องจากบ้านแม่ปั๋งตั้งอยู่ในพื้นที่ดอย บริเวณโดยรอบถูกล้อมรอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่มากมาย และเมื่อมองจากระยะไกลจะเห็นเป็นดอยสีม่วงคล้ายกับสีของเม็ดผักปั๋ง (ผักปลัง) ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ว่า “บ้านแม่ปั๋ง” มาจนปัจจุบัน

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านแม่ปั๋งตั้งมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่ มีเนินเขาขนาดเล็ก และแหล่งน้ำไหลผ่าน ภายในหมู่บ้านมีพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกข้าวและพืชผักนานาชนิด ไกลออกไปเป็นที่นาและที่ราบสูงเนินเขา พื้นที่บริเวณนี้ชาวบ้านจะใช้สำหรับทำไร่ข้าวโพดและทำสวนผลไม้ ด้านสภาพภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว อากาศจะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน และหนาวเย็นมากในฤดูหนาว เดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุด คือ เดือนเมษายน และหนาวเย็นที่สุด คือ เดือนมกราคม

ลักษณะของดิน

ดินในพื้นที่บ้านแม่ปั๋งมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ในบริเวณราบจะมีความอุดมสมบูรณ์มากเหมาะสำหรับการเกษตรและบริเวณที่ราบสูงเหมาะแก่การปลูกพืชไร่

สถานที่สำคัญ

  • วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ 150 ไร่ ปัจจุบันมีพระครูสุจิณณานุวัตร (พระหนูพิน) ฐุนุตตโม เป็นเจ้าอาวาส วัดดอยแม่ปั๋ง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นวัดที่หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เคยจำพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จนถึงมรณภาพในปี พ.ศ. 2528 ภายในวัดมีโบราณวัตถุและโบราณสถานเกี่ยวข้องกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังท่านนี้ ได้แก่ วิหารไม้ กุฏิหลวงปู่แหวน กุฏิไม้ที่เรียกว่า โรงย่างกิเลส หรือโรงไฟ และวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือน หลวงปู่แหวนเท่าองค์จริง อาคารและเสนาเสนะประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎิสงฆ์จำนวน 39 หลัง วิหาร ศาลาอเนกประสงค์ ศาลาบำเพ็ญบุญ พิพิธภัณฑ์มณฑปประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนและอัฐิ รวมทั้งอัฐบริขารของหลวงปู่แหวน พลับพลา ศาลา 9 ห้อง และศาลาจันทโรจน์วงค์ ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปเนื้อโลหะ และเจดีย์

บ้านแม่ปั๋งมีประชากรทั้งหมด 450 คน โดยจำแนกเป็นประชากรชาย 233 คน และประชากรหญิง 217 คน ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยลื้อซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับชาวพื้นเมืองเดิม ที่ได้ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้มาก่อนแล้ว

ไทลื้อ

การประกอบอาชีพ

ปัจจุบันชาวบ้านแม่ปั๋งยังคงมีรายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพในภาคการเกษตร ส่วนใหญ่มาจากการทำไร่ข้าวโพด การทำนา และการเกษตรอื่น ๆ โดยข้าวโพดที่ปลูกจะเป็นข้าวโพดลูกผสม ซึ่งไม่ได้ปลูกเพื่อบริโภค แต่ปลูกเพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปเป็นอาหารสัตว์ เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมีบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการรับซื้อเมล็ดข้าวโพดถึงในไร่ของเกษตรกร

สำหรับการทำนาจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน ช่วงนี้ชาวบ้านจะเริ่มเพาะกล้า ไถนา และปักดำเมื่อถึงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป การทำนาของชาวบ้นแม่ปั๋งมีลักษณะการขอแรงงาน หรือเอามื้อเอาวันกันในหมู่ญาติพี่น้องและคนสนิท ส่วนมากนาของแต่ละคนจะใช้เวลาในการปักดำเพียงวันเดียวก็เสร็จ แล้วในวันถัด ๆ ไป เจ้าของนาก็จะเวียนเข้าไปช่วยเหลือปักดำนาให้คนอื่น ๆ จนกว่าจะแล้วเสร็จครบทุกคน เมื่อถึงประมาณเดือนพฤศจิกายนเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งก็ใช้แรงงานจากการขอแรงอีกเช่นเดิม เมื่อเกี่ยวข้าว ตาดแดด และสีเรียบร้อย จึงจะขนข้าวเข้ามาไว้ในยุ้งฉาง โดยจะแบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับเก็บไว้บริโภค เป็นเมล็ดพันธุ์ เป็นค่าจ้าง และส่วนหนึ่งแบ่งขายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่เดินทางเข้ามารับซื้อผลผลิตจากชาวนาถึงในหมู่บ้าน

การรวมกลุ่มชุมชน

บ้านแม่ปั๋งมีการดำเนินการกลุ่มกิจกรรมภายในชุมชนหลากหลายกลุ่ม อันเกิดจากการรวมตัวของสมาชิกภายในกลุ่มที่ประกอบอาชีพเดียวกัน หรือมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการดำเนินการกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มธนาคารข้าวบ้านแม่ปั๋ง กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มสตรีแม่บ้าน

ประเพณีสำคัญประจำชุมชนบ้านแม่ปั๋ง

  • ประเพณีสลากภัต สลากภัตหรือตานก๋วยสลากเป็นการทําบุญด้วยการถวายอาหารและปัจจัยแด่พระสงฆ์โดยวิธีจับสลาก เมื่อพระจับสลากได้ของผู้ใดก็จะมารับถวายทานจากผู้นั้น งานสลากภัตจะจัดให้มีขึ้นในทุก ๆ ปี ประมาณเดือน 12 เหนือ หรือเดือนกันยายน เรื่อยไปจนถึงเดือนเลี้ยงหรือเดือนตุลาคม โดยเริ่มจากวัดประจําตําบลก่อน และวัดอื่น ๆ ต่อมาตามตกลงกัน โดยแต่ละหมู่บ้านในตำบลแม่ปั๋งจะตกลงกำหนดวันให้ไม่ซ้ำกับหมู่บ้านอื่นในตำบลเดียวกัน เพราะพระและชาวบ้านจะต้องไปรับถวายทานและทำบุญกับวัดในหมู่บ้านอื่น ๆ ด้วย

  • ประเพณีลอยกระทง ในหมู่บ้านแม่ปั๋งจะมี 2 วัน วันแรก คือ วันขึ้น 15 ค่ำ และวันที่สอง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ก่อนจะมีงานลอยกระทงในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะไปร่วมงานลอยกระทงของอําเภอซึ่งจะมีการจุดไฟตามประทีป ประกวดกระทงใหญ่ของแต่ละตําบลและหน่วยราชการ การประกวดนางนพมาศและการแสดง แสง สีต่าง ๆ ในคืน 15 ค่ำ ชาวบ้านจะมีการประกวดกระทงใหญ่ของแต่ละหมวด ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันประดิษฐ์ตามความคิดและความสามารถ โดยใช้วัสดุที่สามารถหาได้มีในท้องถิ่นและมีราคาไม่แพง ส่วนวันแรม 1 ค่ำ ชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่งกระทง ทั้งกระทงใหญ่ของหมู่บ้าน และกระทงส่วนตัว เตรียมพร้อมสำหรับนำไปลอยลงลำน้ำคงคา 

1. หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ  เดิมชื่อญาณหรือยาน รามศิริ เกิดวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2430 วันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน ณ บ้านนาโป่งบ้างก็ว่า บ้านหนองบอน ตำบลหนองใน (ปัจจุบันเป็น ตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย ท่านเกิดในตระกูลช่างตีเหล็ก เป็นบุตรคนที่ 2 (คนสุดท้อง) ของนายใส กับนางแก้ว รามศิริ มีพี่สาวร่วมท้องเดียวกัน 1 คน เมื่อหลวงปู่แหวน เมื่ออายุได้เพียง 5 ขวบ มารดาได้ถึงแก่กรรมลง ท่านจึงอยู่ในความดูแลของตากับยายขุนแก้ว

เมื่ออายุได้ 9 ขวบ หลวงปู่แหวนได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพธิ์ชัย บ้านนาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย  เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นแหวน อยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์ชัย แต่เนื่องจากวัดโพธิ์ชัยไม่มีการศึกษาเล่าเรียน ท่านจึงได้ถูกส่งไปเรียนมูลกัจจายน์ที่วัดสร้างก่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนที่สำนักนี้หลายปี จนอายุครบบวชพระ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกายที่ วัดสร้างก่อนอก อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระอาจารย์แว่น เป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่มาวันหนึ่งท่านพึงระลึกได้ว่าเหล่าครูบาอาจารย์ที่สึกออกไปนั้น ล้วนแต่ปราชัยแก่อำนาจแห่งกามารมณ์ทั้งสิ้น ท่านจึงได้ตั้งสัจจาธิษฐานขออุทิศชีวิตพรหมจรรย์แด่ พระพุทธ พระธรรม แลพระสงฆ์ ออกเดินทางธุดงด์ทั่วภาคอีสาน ได้พบปะเล่าเรียนวิชาความรู้จากเหล่าพระเกจิอาจารย์ชื่อดังมากมาย

ประมาณ พ.ศ. 2464 ท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพำนักและศึกษาธรรม กับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ซึ่งหลวงปู่มั่นยกย่องอยู่เสมอว่าเชี่ยวชาญทั้งทางการเทศน์และการปฏิบัติธรรม หลังจากที่ท่านได้รับฟังธรรมและเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย พม่า และเชียงตุง จากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ แล้ว ก็ได้จาริกไปพม่า อินเดีย โดยผ่านทาง แม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก ข้ามแม่น้ำเมย ขึ้นฝั่งพม่าต่อไปยังขลุกขลิกมะละแหม่ง ข้ามฟากไปถึงเมาะตะมะ ขึ้นไปพักที่ดอยศรีกุตระ กลับมามะละแหม่ง แล้วโดยสารเรือไปเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วต่อรถไฟไปเมืองพาราณสี เที่ยวนมัสการปูชนียสถานต่าง ๆ แล้วจึงกลับโดยเส้นทางเดิม ถึงฝั่งไทยที่อำเภอแม่สอด เดินเที่ยวอำเภอสามเงา

ปีต่อมาท่านได้จาริกธุดงค์ไปเชียงตุง และเชียงรุ้งในเขตพม่า โดยออกเดินทางไปด่านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่านหมู่บ้านชาวเขา พักตามป่าเขา จาริกผ่านเชียงตุง แล้วต่อไปทางเหนือ อันเป็นถิ่นชาวเขา เช่น จีนฮ่อ ซึ่งอยู่ตามเมืองแสนทวี ฝีฝ่า หนองแส บางเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง พอฝนตกชุกจวนเข้าพรรษาก็กลับเข้าเขตไทย นับได้ว่าท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่งในและนอกประเทศส่วนใหญ่จะพำนักอยู่ในเขตจังหวัดอุบลฯ อุดรฯ และตั้งใจจะไปให้ถึงสิบสองปันนาสิบสองจุไท แต่ทหารฝรังเศสห้ามเอาไว้ จึงไปถึงวัดใต้หลวงพระบาง แล้วก็กลับพร้อมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

ทางภาคเหนือ ท่านได้มุ่งเดินทางไปแบบค่ำไหนนอนนั่น จากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลยออกไป อำเภอด่านซ้าย ผ่านอำเภอน้ำปาด อำเภอนครไทย อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ตัดไปอำเภอนาน้อย แพร่ หมู่บ้านชาวเย้า อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย ลำปาง แล้วต่อไปยังเชียงใหม่ เที่ยวดูภูมิประเทศโดยรอบเขาดอยสุเทพ และภายหลังออกจาริกแสวงบุญทางภาคเหนือแล้ว ท่านก็ไม่เคยออกไปแสวงบุญหรือจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกแลย

ปี พ.ศ. 2498 ขณะจำวัดที่วัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดอาพาธแผลที่ขาอักเสบทรมานมาก อีกทั้งท่านยังจำพรรษาอยู่รูปเดียว ท่านพระอาจารย์หนู สุจิตฺโต วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้พาหมอมาจี้มาทำการผ่าตัดโดยไม่ต้องฉีดยาชา จนสำเร็จและหายได้ในที่สุด หลายปีต่อมาพระอาจารย์หนูเห็นว่า หลวงปู่แหวนแก่มากแล้ว ไม่มีผู้อุปัฏฐาก จึงได้ชักชวนญาติโยมไปนิมนต์ให้ท่านมาจำพรรษาที่วัดดอยแม่ปั๋ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ในฐานะพระผู้เฒ่าทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมอย่างเดียวไม่ต้องเกี่ยงข้องกับภาระหน้าที่อื่นใด และท่านก็ได้ตั้งสัจจะว่าจะไม่รับนิมนต์ ไม่ขึ้นรถ ไม่ลงเรือ แม้ที่สุดจะเกิดอาพาธหนักเพียงใด ก็จะไม่ยอมเข้านอนโรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามที่ตั้งใจไว้ได้

นับตั้งแต่ท่านขึ้นไปภาคเหนือแล้ว ท่านก็ไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย ท่านเคยอยู่บนดอยสูงกับชาวเขาเกือบทุกเผ่า อยู่ในป่าเขาภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ส่วนภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ท่านเคยจาริกไปครั้งคราว จึงนับได้ว่า วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นสถานที่ซึ่ง หลวงปู่อยู่จำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จวบจนมรณภาพ

ตลอดชั่วชีวิต หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ได้ดำเนินชีวิตของท่านอยู่ในเพศของบรรพชิตมาตั้งแต่อายุเยาว์วัย เป็นพระนักศึกษาและนักปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร ทั้งที่เมื่อยังเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และ เป็นฝ่ายธรรมยุตแล้ว ดังที่ หลวงปู่มั่น เคยแสดงเหตุผลว่า "มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย" หลวงปู่แหวน เป็นผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม เป็นปูชนียบุคคล ชาวพุทธให้ความเคารพสักการะอย่างมาก เมตตาบารมีธรรมของท่าน ส่งให้กุลบุตรกุลธิดาใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรม สืบสร้างความมั่นคงให้แก่พระศาสนา ทำให้เกิดมีการก่อสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาล วัด อาคาร ท่านได้อำนวยคุณประโยชน์ต่าง ๆ แก่สังคมสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชีวิตร่างกายของท่านได้ดับสลายไป แต่คุณงามความดีของท่านยังตรึงแน่นอยู่ในจิตสำนึกของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่มี วันเสื่อมคลาย เพราะท่านเป็นพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบในฐานะพุทธชิโนรส เป็นเนื้อนาบุญของผู้ต้องการบุญในโลกนี้ (ทำเนียบพระเครื่อง, ม.ป.ป.: ออนไลน์)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ (ภาษาเมือง) และภาษาไทลื้อ


ศรีลานนา
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทำเนียบพระเครื่อง. (ม.ป.ป.). หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.web-pra.com/amulet/ 

น้ำฝน สุตาคำ. (2561). การประเมินความเสี่ยงการขาดน้ำเชิงพื้นที่ของระบบการผลิตลำไยโดยอาศัยน้ำใน ภายใต้ความเสื่อมโทรมทรัพยากรเกษตร ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญยาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

รัชนี ศรีวิชัย. ผู้ดูแลวัดดอยแม่ปั๋ง. (5 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

Unseen tour Thailand. (ม.ป.ป.). วัดดอยแม่ปั๋ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.facebook.com/UnseenThailand/photos/