โบราณสถานที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของชุมชน คือ วัดช้างค้ำ หรือที่เรียกกันว่า วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์ แหล่งกำเหนิดการค้นพบเมืองโบราณเวียงกุมกาม
ในอดีตชาวบ้านในหมู่บ้านมีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก หรือในภาษาล้านนาเรียกว่า “ช่างคำ” จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านช่างคำ” ก่อนพี้ยนเป็น “บ้านช้างค้ำ” ในเวลาต่อมา ส่วนอีกนัยหนึ่งสันนิษฐานว่าอาจตั้งตามชื่อเรียก วัดช้างค้ำ ปูชนียสถานสำคัญที่สร้างมาตั้งแต่ก่อนการก่อตั้งชุมชน
โบราณสถานที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของชุมชน คือ วัดช้างค้ำ หรือที่เรียกกันว่า วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์ แหล่งกำเหนิดการค้นพบเมืองโบราณเวียงกุมกาม
บ้านช้างค้ำ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิม คือ บ้านช่างคำ อันมีที่มาจากการที่ชาวบ้านในขณะนั้นส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก ซึ่งปัจจุบันยังมีโบราณวัตถุเครื่องมือในการตีทอง คือ เตาหลอม เป็นหลักฐานยืนยันว่าชาวบ้านช้างคำในอดีตมีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก อีกทั้งยังมีอีกหลายครอบครัวที่มีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก ประดิษฐ์ทองคำรูปพรรณอยู่ในปัจจุบัน เช่น ทำสร้อยคอ สร้อยแขน ต่างหู เข็มขัดเงิน ดังนั้นชื่อเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านช่างคำ” ซึ่งในภาษาล้านนา หมายถึง “ทองคำ” แล้วจึงเพี้ยนเป็น “ช้างค้ำ” ในเวลาต่อมา
ในอดีตหมู่บ้านช่างคำมีวัดอยู่ 1 แห่ง คือ วัดช่างคำ มีพระภิกษุอยู่ 2 รูป คือ พระปัญญาหลวง และพระปัญญาน้อย ทั้งสองมีความสามารถในการปั้นตกแต่งประดิษฐ์กรรมต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ในครั้งหนึ่งได้แข่งขันกันปั้นพระพุทธรูปว่าใครจะปั้นได้สวยกว่ากัน ผลการตัดสินปรากฏว่ามีความสวยพอ ๆ กัน แต่พระปัญญาน้อยสร้างเสร็จในภายหลัง ทำให้พระพุทธรูปที่ปั้นโดยพระปัญญาหลวงได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในวัดช่างคำหลวง ต่อมาเมื่อมีการปลูกสร้างบ้านเรือนมากขึ้นจึงได้สร้างวัดอีก 1 แห่ง คือ "วัดช่างคำน้อย" ขึ้นทางทิศตะวันตก มีเจ้าอาวาส คือ พระปัญญาน้อย พร้อมกันนี้จึงตั้งหมู่บ้านขึ้นและเรียกชื่อหมู่บ้านตามวัดว่าบ้านช่างคำน้อยจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ เป็นเขตที่อยู่อาศัยที่มีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ปกติแล้วพื้นที่บริเวณนี้จะใช้สำหรับการทำนามาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันนี้เนื่องจากชุมชนมีการขยายตัวของประชากรค่อนข้างสูง ชาวบ้านบางส่วนจึงเริ่มเข้าไปบุกเบิกพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อสร้างบ้านเรือนทับที่นา ทำให้พื้นที่สำหรับทำการเกษตรลดน้อยลง
สถานที่สำคัญ
วัดช้างค้ำ
วัดช้างค้ำหรือวัดกานโถม ศาสนสถานประจำชุมชนบ้านช้างค้ำที่พญามังรายได้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1833 ประกอบด้วยฐานเจดีย์ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 18 เมตร มีซุ้มคูหาสี่ทิศ มีการใช้พระพุทธรูปซ้อนเป็น 2 ชั้น วิหารและเจดีย์ทรงมณฑปบนฐานลานประทักษิณเตี้ย บริเวณฐานวิหารพบพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชยฝังไว้โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อีก 1 องค์ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดระฆัง ในบริเวณวัดกานโถมยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญเมล็ดจากเมืองลังกามาไว้ด้วย
ประวัติวัดช้างค้ำนั้นมีปรากฏในตำนาน-พงศาวดาร และเรื่องเล่าขานในท้องถิ่น ว่าสร้างขึ้นในสมัยที่พญามังรายประทับและปกครองแคว้นล้านนาอยู่ที่เวียงกุมกาม โดยโปรดให้นายช่างประจำราชสำนักที่ชื่อกานโถมไปปรุงเครื่องไม้จากเมืองเชียงแสนมาสร้างวิหารไว้ที่วัดแห่งนี้ หลักฐานสิ่งก่อสร้างฐานอาคาร วิหาร เจดีย์ ที่พบฝังตัวอยู่ใต้ดิน (สนามโรงเรียนวัดช้างค้ำเดิม) ที่กรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินงานขุดแต่งบูรณะในปี พ.ศ. 2527 สามารถยืนยันถึงความเก่าแก่ของชุมชนในเขตพื้นที่นี้ว่าอยู่ร่วมสมัยเดียวกับเมืองหริภุญไชย จากหลักฐานพระพิมพ์ ภาชนะดินเผา จารึกอักษรมอญ ฯลฯ อีกทั้งลักษณะรูปแบบพิเศษของการสร้างวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการก่อสร้างของวัดอื่น ๆ ในเขตเวียงกุมกาม ที่ส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามคติการก่อสร้างเดิม หรือหันหน้าไปทางทิศเหนือเข้าสู่แม่น้ำปิงที่เคยไหลผ่านในแนวทิศเหนือตัวเวียง ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่าวัดช้างค้ำน่าจะเป็นวัดที่สร้างหรือได้รับการซ่อมบูรณะในระยะหลัง
สถิติประชากรจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังตาล รายงานจำนวนประชากรหมู่ 11 บ้านช้างค้ำ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 545 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 1,070 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 505 คน และประชากรหญิง 565 คน
ไทยวนประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรและรับจ้างทั่วไป เช่น เป็นมัคคุเทศก์ เป็นคนขับรถนำเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว บางส่วนนำสินค้าพื้นเมืองล้านนา และของที่ระลึกซึ่งสร้างสรรค์จากฝีมือคนในชุมชนไปจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวในวัดช้างค้ำและเวียงกุมกาม
ชาวบ้านช้างค้ำเป็นชาวพื้นเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากชาวล้านนาเดิม ภายในชุมชนจึงปรากฏวัฒนธรรม ความเชื่อ การประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงประเพณีพิธีกรรมตามแบบแผนของชาวล้านนา เช่น ประเพณียี่เป็ง และประเพณีการประกอบศาสนพิธีสำคัญทางศาสนาตามวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา-ออกพรรษา และประเพณีลอยกระทง ฯลฯ
อนึ่ง ภายในวัดช้างค้ำยังเป็นที่สถิตต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พญามังรายได้อัญเชิญเมล็ดมาจากเมืองลังกาแต่ครั้งโบราณกาล ชาวบ้านเชื่อว่าต้นศรีมหาโพธิ์ต้นนี้มีอิทธิปาฏิหาริย์ดลบันดาลความมุ่งหวังแด่ทุกผู้ทุกคนที่เข้าไปอ้อนวอนบนบานศาลกล่าว โดยเฉพาะการขอลูกและการขอความรัก ซึ่งไม่เพียงแต่ชาวบ้านช้างค้ำและคนในชุมชนแถบเวียงกุมกามเท่านั้นที่มักจะมาขอพรกับต้นศรีมหาโพธิ์วัดช้างค้ำ แต่ยังลือเลื่องไปจนเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่มักจะมาแวะขอพรกับต้นโพธิ์ อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันต้นศรีมหาโพธิ์ต้นนี้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดแลนด์มาร์กสำคัญของชุมชนโบราณเวียงกุมกามไปเสียแล้ว
ทุนทางวัฒนธรรม: วัดช้างค้ำ ต้นกำเนิดแห่งการขุดค้นเวียงกุมกาม
วัดช้างค้ำเป็นแหล่งวัฒนธรรมทางศาสนา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทางโบราณสถาน จุดกำเนิดแห่งการขุดค้นชุมชนเมืองโบราณเวียงกุมกาม ศูนย์กลางการนำเที่ยวแหล่งโบราณสถานเวียงกุมกาม วัดช้างค้ำ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดนั่งที่หล่อโดยพญามังราย และยังเป็นที่สถิตของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พญามังรายได้อัญเชิญเมล็ดมาจากเมืองลังกาแต่ครั้งโบราณกาล
ปัจจุบันวัดช้างค้ำเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวบ้านในชุมชน ชาวบ้านสามารถนำสินค้า อาหาร ของที่ระลึกมาวางจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมแหล่งโบราณสถาน อีกทั้งบางรายยังทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวและขับรถรับจ้างพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมแหล่งอารยธรรมมรดกเก่าแก่ของชาวล้านนา
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง และภาษาไทยถิ่น (กำเมือง) เป็นภาษาที่ในชุมชนใช้กันโดยทั่วไป
ภายหลังกรมศิลปากรได้เข้าไปดำเนินการขุดแต่งศึกษาแหล่งโบราณสถานวัดช้างค้ำในปี พ.ศ. 2537 ทำให้ได้ค้นพบพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบชั้นดินทางโบราณคดีพบว่ากลุ่มพระพิมพ์ดินเผาดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อน และไม่มีความสัมพันธ์กับการก่อสร้างกานโถม นอกจากนี้ยังพบคนโทดินเผาเนื้อหยาบ มีลายขูดขีดแบบหริภุญชัย ซึ่งภายในมีอัฐิบรรจุอยู่ นอกจากนี้ยังค้นพบพระพุทธรูปบุทองคำทรงเทริดแบบหริภุญชัย ส่วนโบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น หม้อดินเผาสีน้ำตาลเนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาลจากแหล่งเตาสันกำแพง ภายในบรรจุแหวนทองคำประดับอัญมณี และเงินขาคีมหรือเงินเจียง ซึ่งเป็นเงินโบราณล้านนา ประทับอักษร “หม” หมายถึง “เชียงใหม่” ทุกก้อน
นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนศิลาจารึกจำนวน 5 ชิ้น จารึกเป็นอักษรมอญ อักษรฝักขาม และอักษรรูปแบบผสมระหว่างอักษรไทยและมอญ ทั้งนี้ ดร.ฮันส์ เพนธ์ วิเคราะห์ว่าน่าจะอยู่ในหลักเดียวกัน แต่จารึกคนละสมัย โดยมีจารึกอักษรมอญเป็นการจารึกที่เก่าที่สุด กำหนดอายุราว พ.ศ. 1750 - 1850 จารึกอักษรรูปแบบผสมระหว่างอักษรไทย–มอญ กำหนดอายุราว พ.ศ. 1750 - 1850 ส่วนจารึกอักษรฝักขามกำหนดอายุราว พ.ศ. 1940
จากหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบกับศิลาจารึก แสดงให้เห็นว่าก่อนที่พญามังรายจะทรงสร้างวัดกานโถมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 บริเวณนี้เดิมทีมีชุมชนในวัฒนธรรมแบบหริภุญชัยมาก่อนแล้ว ซึ่งพญามังรายคงสร้างวิหารวัดกานโถมทับบนวัดโบราณ หลังจากนั้นวัดกานโถมก็ได้รับการทำนุบำรุงโดยกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายมาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏหลักฐานในตำนานโบราณล้านนาหลายฉบับ
เทศบาลตำบลท่าวังตาล. (2561). งานทะเบียนราษฎร อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2558. เชียงใหม่: สำนักปลัดเทศบาลตำบลท่าวังตาล.
บ้านช้างค้ำ. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566].
รุ่งทิวา สุวรรณยศ. เจ้าหน้าที่บริการข้อมูลทางวิชาการ ณ ศูนย์เวียงกุมกามสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ (11 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.วัดช้างค้ำ (กานโถม). (2564). ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/617 [สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566].
Reviewchiangmai. (2556). วัดช้างค้ำ : ต้นกำเนิดแห่งการขุดค้นพบเวียงกุมกาม. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.reviewchiangmai.com/wat-chang-kum/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566].