Advance search

บ้านเหมืองกุง

บ้านสันดอกคำใต้

“ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน” ชุมชนเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่เลื่องชื่อ ด้วยมีลวดลายและลักษณะการปั้นที่มีความแตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาชุมชนอื่น อันนำมาซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง

หมู่ที่ 7
บ้านเหมืองกุง
หนองควาย
หางดง
เชียงใหม่
อารีรัตน์ สิงห์ทร
3 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านเหมืองกุง
บ้านสันดอกคำใต้

"เหมืองกุง" มาจากคำว่า "เหมือง" แปลว่า ลำเหมือง รวมกับคำว่า "กุง" แปลว่า สุด ในสมัยก่อนบ้านเหมืองกุงมีการขุดดินจากข้างลำเหมืองค่อนข้างมาก เวลาน้ำหลาก น้ำไปถมอยู่ที่ขุดดิน เลยทำให้น้ำมาสุดอยู่ตรงนี้ค่อนข้างเป็นเวลานานกว่าจะผ่านไปได้ จึงเรียกว่า "เหมืองกุง"


“ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน” ชุมชนเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่เลื่องชื่อ ด้วยมีลวดลายและลักษณะการปั้นที่มีความแตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาชุมชนอื่น อันนำมาซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง

บ้านเหมืองกุง
หมู่ที่ 7
หนองควาย
หางดง
เชียงใหม่
50230
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-9552-7082, เทศบาลหนองควาย โทร. 0-5312-5070
18.72346
98.94596
เทศบาลตำบลหนองควาย

หมู่บ้านเหมืองกุงเดิมมีชื่อว่า “บ้านสันดอกคำใต้” เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของเชียงใหม่ ชาวบ้านส่วนหนึ่งเป็นชาวไทที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปุ เมืองสาด รัฐเชียงตุง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยาม แต่หลังจากที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รัฐเชียงตุงที่มีอาณาเขตติดกับพม่าก็ถูกบุกยึดให้อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ แต่ภายหลังอังกฤษคืนเอกราชให้แก่พม่า พม่าก็นำเอารัฐเชียงตุงกลับไปเป็นดินแดนของตน ซึ่งปัจจุบันรัฐเชียงตุงอยู่ในเขตรัฐฉานของประเทศพม่า

เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่แบ่งเป็น 2 ยุค ยุคแรกคือ “ยุคสร้างบ้านแปงเมือง” เป็นยุคที่ริเริ่มฟื้นฟูอาณาจักรสร้างบ้านสร้างเมืองหลังจากตกอยู่ใต้อำนาจของพม่ามาเป็นเวลานาน หลังจากสร้างเมืองเสร็จ ยุคต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ คือ “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่ต้องเกณฑ์กำลังคนจากพื้นที่อื่นโดยการยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ แล้วแบ่งคนออกไปให้ทั่วเมืองเชียงใหม่ สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการเกณฑ์กำลังคนมาสู่อาณาจักรล้านช้าง ในช่วงปี พ.ศ. 2325 - 2356 ชาวบ้านเหมืองกุง อพยพมาตั้งหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เพียง 5 ครัวเรือน จากการจัดเรียงนามสกุล ได้แก่ ฟักทอง สืบคำเปียง ศรีจันทร์ (สีจันทร์) สืบสุริยะ และกาวิโรจน์

บรรพบุรุษที่มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านเหมืองกุงนั้นต้องทำนาเพื่อนำข้าวเปลือกไปส่งให้เจ้ากาวิโรรส สุริยวงค์ (โอรสของพระเจ้ากาวิละ) พอเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งชาวบ้านจะขุดดินจากที่นาใกล้หมู่บ้านนำมาทำน้ำหม้อ (ภาษาถิ่นหมายถึงหม้อน้ำดื่ม) และน้ำต้น (ภาษาถิ่นหมายถึงคนโท) ไว้สำหรับใส่น้ำดื่ม อีกทั้งยังใช้น้ำต้นในการรับแขกหรือใช้เป็นสังฆทานถวายวัดในพิธีทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบต่อกันมาจนถึงลูกถึงหลาน หากมีเหลือจึงนำไปขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว ทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นกิจกรรมที่สำคัญของหมู่บ้านตั้งแต่นั้น (สมโชติ อ๋องสกุล, ม.ป.ป. อ้างถึงใน Museum Thailand, ม.ป.ป.: ออนไลน์)

ลักษะภูมิประเทศ

ลักษณะพื้นที่บ้านเหมืองกุงมีรูปร่างแบบแนวยาว บริเวณกว้างจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการเพาะปลูก ในอดีตพื้นที่ราบรุ่มของหมู่บ้านถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรสำหรับปลูกข้าว แต่ในปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นที่ดินของกลุ่มนายทุนสร้างบ้านจัดสรร ทำให้บ้านเหมืองกุงมีลักษณะความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จรด ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่
  • ทิศใต้ จรด ตำบลบ้านแหวน และตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง
  • ทิศตะวันออก จรด ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง
  • ทิศตะวันตก จรด ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง

นอกจากประชากรที่เป็นชาวพื้นเมืองแล้ว ภายในบ้านเหมืองกุงยังมีประชากรบางส่วนเป็นชาวไทใหญ่ หรือชาวพม่าในรัฐฉานที่อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในหมู่บ้านเหมืองกุงเมื่อครั้งพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ เรียกตนเองว่าไต คนไต ไตโหลง ไตหลวง ไตใหญ่ ไทหลวง และมักถูกผู้อื่นเรียกว่า ไทใหญ่ เงี้ยว ฉาน ชาน ชาวไต ไทเหนือ ไทมาว แต่การจะนิยามตัวเองว่าอะไรนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ แม้โดยภาพรวมพวกเขาจะเรียกตัวเองว่า “คนไต” และรับรู้ว่าคนอื่นเรียกตนเองว่าอะไร แต่บางครั้งพวกเขาเองก็เลือกใช้คำเรียกตัวเองเหล่านั้นอย่างยืดหยุ่น เช่น เมื่อสื่อสารระหว่างคนไตด้วยกันพวกเขานิยามตัวเองว่า “คนไต” ที่อาจต่อท้ายด้วยชื่อเมืองหรือถิ่นที่อยู่ของอีกกลุ่ม เช่น ไต-เมืองมาว ไต-เมืองยาง ไต-เกงตุง (เชียงตุง) หากต้องการสื่อสารกับคนไทยหรือสยาม พวกเขาก็พร้อมจะนิยามตัวเองว่า “ไทใหญ่” เพื่อสื่อถึงความเป็น “พี่น้อง” ร่วมชาติพันธุ์ หรือในกรณีที่หากต้องการสื่อสารในระดับนานาชาติและประเด็นการต่อสู้ในทางการเมืองของรัฐฉานในพม่า พวกเขามักจะนิยามตัวเองว่า “Shan” หรือฉาน เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกภาพในดินแดนของตนเอง (สมคิด แสงจันทร์, 2563: ออนไลน์)

ไทใหญ่

ในอดีตชาวบ้านเหมืองกุงส่วนใหญ่ยึดอาชีพช่างปั้นเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลัก ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวบ้านได้รับสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น แต่ปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาเลื่องชื่อของหมู่บ้าน ได้แก่ น้ำหม้อ (หม้อใส่น้ำดื่ม) และน้ำต้น (คนโฑ) ไม่ได้รับความนิยมเทียบเท่าอดีต เนื่องจากผู้คนหันไปใช้ภาชนะที่ทำจากแก้ว พลาสติก และอลูมิเนียม ทำให้การสั่งผลิตน้ำต้นเริ่มน้อยลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเข้าไปทำงานรับจ้างในตัวเมือง ชาวบ้านที่ทำงานเครื่องปั้นดินเผาเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่หลังจากที่หมู่บ้านมีการตั้งกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงในปี พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2548 ได้รับเลือกจากองค์กรพัฒนาชุมชน อำเภอหางดง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว จึงทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและรวมตัวกันเข้าร่วมกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุงมากถึง 22 ครัวเรือน และยึดอาชีพช่างปั้นเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลักอย่างจริงจัง

ต่อมาเริ่มมีการพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ จากเดิมอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต คือ ครกกระเดื่อง ใช้ตำดินให้ร่วน แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนามาเป็นเครื่องโม่ดินไฟฟ้า รวมทั้งเครื่องร่อนดินหรือเครื่องกรองดิน ซึ่งในอดีตใช้เป็นตะแกรง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น เครื่องร่อนดินไฟฟ้าซึ่งมีความสะดวกกว่ามาก ในด้านของอุปกรณ์ในการปั้น คือ แป้นหมุนโดยใช้มือหมุน (จ๊าด) ซึ่งในอดีตทุกครัวเรือนจะปั้นโดยใช้แป้นมือหมุนนี้ ต่อมาจึงมีการนำเอาเครื่องจักรมาช่วย เช่น แป้นหมุนมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้กระบวนการผลิตมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าเดิม นอกจากนั้นชาวบ้านยังมีการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การสร้างลวดลายที่แปลกใหม่ และการแต่งสีสันให้ทันสมัย อีกทั้งยังมีการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าอีกด้วย เช่น โคมไฟ กระถาง อ่างบัว และแจกัน ฯลฯ ชาวบ้านเหมืองกุงที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผานับวันจะเริ่มมีแต่ผู้สูงวัยเท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานหัตถกรรมประเภทนี้มีจำนวนน้อยลงตามกระแสของ การออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน บ้านเหมืองกุงจึงคล้ายกับต้องนับถอยหลังสู่ยุคที่เครื่องปั้นดินเผาจะหายไปจากหมู่บ้านและอาจจะเหลือแต่เพียงอดีตที่ทิ้งไว้เป็นตำนาน ดั่งคำขวัญของหมู่บ้านที่ว่า "ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน" ซึ่งตำนานนี้จะยังคงสืบสานมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลังและการช่วยกันอนุรักษ์ส่งเสริมของผู้ที่ยังชื่นชมความงดงามของหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาอยู่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. นายวชิระ สีจันทร์  ผู้ใหญ่บ้านบ้านเหมืองกุง สล่าหรือช่างปั้น รุ่นที่ 3 ของครอบครัวสีจันทร์

ภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผา

น้ำต้น หรือคนโฑ ในอดีตมีน้ำต้นที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุงทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

1. น้ำต้นแก้วหรือน้ำต้นดอกหลวง มีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิม แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าน้ำหม้อธรรมดาทั่วไป และมีการใส่ลวดลายดอกไม้เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่น้ำต้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของน้ำต้นบ้านเหมืองกุงแห่งนี้อีกด้วย

2. น้ำต้นสังข์หรือน้ำต้นธรรมดา จะมีขนาดใหญ่กว่าน้ำต้นทั่วไป มีการวาดลวดลาย ดอกไม้คล้ายน้ำต้นดอกหลวงตามเอกลักษณ์ของน้ำต้นบ้านเหมืองกุง น้ำต้นประเภทนี้ส่วนใหญ่จะนำไปทำสังฆทานถวายวัด

3. น้ำต้นปอม มีลักษณะเหมือนน้ำต้นทั่วไป แต่ตรงคอของน้ำต้นจะมีลักษณะนูนออกมาเป็นลูก ๆ คล้ายกับลูกน้ำเต้า

4. น้ำต้นกลีบมะเฟือง ลำตัวจะมีการขึ้นรูปทรงคล้ายกลีบมะเฟือง มีประมาณ 5-6 กลีบ จึงตั้งชื่อน้ำต้นชนิดนี้ตามลักษณะของกลีบมะเฟือง

5. น้ำต้นหน้อย (น้ำต้นน้อย) มีลักษณะเหมือนน้ำต้นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็ก น้ำต้นชนิดนี้เอาไว้ใช้สำหรับใส่เครื่องเซ่นไว้เจ้าที่เจ้าทาง เนื่องจากคนล้านนาสมัยก่อนมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา

ในปัจจุบันเหลือน้ำต้นที่ยังคงผลิตอยู่ คือ น้ำต้นดอกหลวง และน้ำต้นสังข์เท่านั้น

น้ำหม้อ ในอดีตมีน้ำหม้อที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุงทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

1. น้ำหม้อดอกหลวง มีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิม แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าน้ำหม้อธรรมดาทั่วไป และมีการใส่ลวดลายดอกไม้เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่น้ำหม้อ

2. น้ำหม้อดอกหน้อย (น้ำหม้อดอกน้อย) มีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิมและมีการใส่ลวดลายดอกไม้คล้ายน้ำหม้อดอกหลวง แต่มีขนาดที่เล็กกว่าน้ำหม้อธรรมดาทั่วไป

3. น้ำหม้อเกลี้ยง มีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิม แต่ผิวของน้ำหม้อจะเป็นผิวเรียบทั่วทั้งใบ ไม่มีการตกแต่งลายใด ๆ มีเพียงการเติมแต่งด้วยสีน้ำดินแดงเท่านั้น

4. น้ำหม้อกลีบมะเฟือง ตัวหม้อมีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง มีประมาณ 5-6 กลีบ คนสมัยก่อนจึงตั้งชื่อน้ำหม้อชนิดนี้จากลักษณะของกลีบมะเฟือง

5. น้ำหม้อก๊อก เป็นน้ำหม้อที่เจาะรูไว้สำหรับใส่ก๊อกน้ำ เวลาใช้ไม่ต้องเปิดฝาหม้อ ทำให้สะดวกเวลาใช้ดื่มกิน

ปัจจุบันบ้านเหมืองกุงยังเหลือน้ำหม้อที่ยังคงผลิตอยู่ คือ น้ำหม้อดอกหลวง น้ำหม้อดอกน้อย และน้ำหม้อเกลี้ยงเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีในปัจจุบัน คือ หม้อน้ำหวาน ซึ่งเป็นหม้อน้ำขนาดเล็กเท่ากับประมาณแก้วน้ำ ใช้สำหรับใส่น้ำหวานขายให้กับนักท่องเที่ยวที่ถนนคนเดิน นักท่องเที่ยวสามารถนำหม้อน้ำหวานติดตัวกลับไปได้ด้วย และยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย

เทคนิคและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์

หมู่บ้านเหมืองกุงขึ้นชื่อในเรื่องของการทำน้ำต้นที่ทนทาน เมื่อยกรินแล้วคอน้ำต้นไม่หักออกจากตัวน้ำต้น ซึ่งเคล็ดลับของการสร้างความทนทานนี้คือการขึ้นรูปน้ำต้น 3 ขั้นตอน โดยขั้นแรกจะขึ้นรูปเฉพาะตัวฐานที่เป็นภาชนะรองรับน้ำ ต่อมาขึ้นรูปในส่วนของคอน้ำต้นส่วนกลาง และขั้นสุดท้ายขึ้นรูปคอน้ำต้นส่วนบน ในแต่ละขั้นจะต้องตากน้ำต้นให้แห้งเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของดินที่จะต่อขึ้นไปด้านบนได้อีก หากไม่รอให้แห้งก่อนจะทำให้ส่วนฐานไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและทำให้แตกหักเสียหายได้ในที่สุด

ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง คือ ลายใบโพธิ์ หรือลายรูปหัวใจ ลักษณะของลวดลายคล้ายกับรูปหัวใจคว่ำ ใช้ประกอบการทำลวดลายบริเวณรอยต่อระหว่างตัวน้ำต้นและคอน้ำต้น รวมทั้งใช้เป็นลวดลายของน้ำหม้อด้วย ซึ่งเป็นลายหลักของงานปั้นเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเหมืองกุง และมีการกลิ้งลายขีด ลายเขี้ยวหมา และแกะลายตัววี เป็นลายเสริมในส่วนของพื้นภาพ หรือช่วยเชื่อมต่อลายหลักเข้าด้วยกัน บ้านเหมืองกุงมีเทคนิคในการขัดเงาเครื่องปั้นดินเผาซึ่งไม่สามารถทำได้ในหมู่บ้านอื่น เทคนิคนี้ใช้หินจากลำธารก้อนขนาดพอประมาณขัดบนเครื่องปั้นดินเผาด้วยการออกแรงเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้ผิวของเครื่องปั้นดินเผาขึ้นเงาได้อย่างรวดเร็ว แต่หากออกแรงมากเกินไปจะทำให้ผิวของเครื่องปั้นดินเผาถลอกเป็นรอยและไม่ขึ้นเงาแต่อย่างใด ดังนั้นการขัดเงาจึงขึ้นอยู่กับทั้งความเชี่ยวชาญของการคัดเลือกหินที่เหมาะสมจากลำธารมาใช้ และกับความชำนาญในการลงน้ำหนักมือด้วยน้ำหนักที่พอเหมาะพอดีของช่างขัดเงาอีกด้วย

ภาษาที่ใช้พูด ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง)


ปัจจุบันชาวบ้านเหมืองกุงที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผานับวันจะเริ่มมีแต่ผู้สูงวัยเท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานหัตถกรรมประเภทนี้มีจำนวนน้อยลงตามกระแสของการออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน บ้านเหมืองกุงจึงคล้ายกับต้องนับถอยหลังสู่ยุคที่เครื่องปั้นดินเผาจะหายไปจากหมู่บ้าน และอาจจะเหลือแต่เพียงอดีตที่ทิ้งไว้เป็นตำนาน ดั่งคำขวัญของหมู่บ้านที่ว่า “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน” ซึ่งตำนานนี้จะยังคงสืบสานมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลัง และการช่วยกันอนุรักษ์ส่งเสริมของผู้ที่ยังชื่นชมความงดงามของหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาอยู่อย่างมิเสื่อมคลาย

อนึ่ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้เข้าร่วมโครงการการพัฒนาศักยาภาพผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาสู่งานเฟอร์นิเจอร์ เพื่อพัฒนาให้เครื่องปั้นดินเผาสู่งานเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบเก้าอี้ดินเผาที่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม ทั้งนี้ มีการออกแบบเก้าอี้ และทดลองนำดินเหมืองกุงมาปั้นและทำการเผาเพื่อพัฒนาให้เครื่องปั้นดินเผาสามารถทำเก้าอี้ออกมาได้จริงตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชน ทั้งยังมีการวางแผนการพัฒนาร่วมกับสถานประกอบการให้สามารถออกแบบลวดลายเพิ่มเติมเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านเหมืองกุงและหาแนวทางการจำหน่ายภายในอนาคตได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านเหมืองกุง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.google.com/maps/

วชิระ สีจันทร์. ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านเหมืองกุง. (3 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

สมคิด แสงจันทร์. (2563). กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทใหญ่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/

Museum Thailand. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านเหมืองกุง กลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://www.museumthailand.com/

Natthida Wongpaeng. (2566). ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการ RUCL รอบ 4 เดือน ประจำปี 2565 และสำรวจโจทย์ความต้องการร่วมกับสถานประกอบการเพื่อต่อยอดงานวิจัย โครงการการพัฒนาศักยาภาพผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาสู่งานเฟอร์นิเจอร์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://spu.rmutl.ac.th/