หมู่บ้านวัฒนธรรมชาวไทยอง ที่ตั้งหอไตรวัดล่ามช้าง 1 ใน 10 หอไตรที่ได้รับขนานนามว่าวิจิตรงดงามมากที่สุดในจังหวัดลำพูน
หมู่บ้านวัฒนธรรมชาวไทยอง ที่ตั้งหอไตรวัดล่ามช้าง 1 ใน 10 หอไตรที่ได้รับขนานนามว่าวิจิตรงดงามมากที่สุดในจังหวัดลำพูน
“ไทยอง” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคนในกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ที่ตั้งบ้านเมืองอยู่ที่เมืองยอง ประเทศเมียนมาร์ ก่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2348 เมื่อครั้งที่พระยากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ กวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองร่วมฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา โดยให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองลำพูน ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ได้เรียกตนเองว่า "คนยอง" และชาวไทยเรียกว่า “ไทยอง” ในการตั้งถิ่นฐานของไทยองในลำพูน พระเจ้ากาวิละได้สถาปนาให้ผู้นำของชาวยองขึ้นเป็นเจ้าเมือง และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ราบลุ่มฝั่งแม่น้ำกวง ตรงข้ามกับตัวเมืองลำพูน ปัจจุบันคือบ้านเวียงยอง ส่วนไทยองกลุ่มอื่น ๆ ถูกตั้งให้กระจัดกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของลำพูน
บ้านล่ามช้าง เป็นอีกหนึ่งชุมชนในตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ที่ปรากฏว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีชาวไทยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน และบุกเบิกที่ดินทำกินมาตั้งแต่อดีต ซึ่งหากอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาในเมืองลำพูนของชาวไทยอง คาดว่าชาวไทยองอาจเข้ามาบุกเบิกแผ้วถางพื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และอยู่อาศัยมาจนปัจจุบัน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 2 บ้านล้องเดื่อ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 4 บ้านหนองมูล (บ้านประตูป่า)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านท่ากว้าง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลท่ากว้าง
สถานที่สำคัญ
วัดล่ามช้าง
จากบันทึกประวัติของวัดล่ามช้าง ระบุว่า วัดแห่งนี้เดิมทีเคยเป็นวัดร้างมาก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2395 วัดแห่งนี้ได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่โดยชาวยองที่อพยพมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ แล้วพร้อมใจกันนิมนต์ครูบาญาวิชัย ญาณวิชโย มาเป็นผู้สร้างวัด
ลวดลายบนหน้าแหนบของวิหารวัดล่ามช้าง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนวัสดุใหม่ แต่ยังคงหลงเหลือเค้าความงามผ่านลวดลายกระหนกก้นขอดแบบล้านนา แทรกลาย “ดอกกาลกัป” โดยที่หน้าแหนบตอนล่างในส่วนที่เรียกว่า “โก่งคิ้ว มีการตกแต่งเศียรพญานาคและตัวมังกร (กิเลน) อย่างอ่อนช้อยแต่ทรงพลัง ภายในพระวิหารมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจหลายชิ้น อาทิ กลุ่มพระพุทธรูปประธาน ทั้งประทับนั่ง และประทับยืน ปัจจุบันได้รับการทาด้วยสีทองเหมือนกันหมด แต่ในอดีตนั้นบางองค์หล่อด้วยสำริด และบางองค์ทำด้วยปูนปั้นระบายสี นอกจากนี้ยังมีสัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียน และธรรมมาสน์หรือธรรมปราสาท (ธรรมาสน์ยอดปราสาท) ชิ้นเยี่ยมอีกด้วย
หอไตรวัดล่ามช้าง เป็น 1 ใน 10 หอไตรที่ได้รับการขนานนามว่างดงามที่สุดในจังหวัดลำพูน ด้านข้างของอาคาร ทั้งผนังด้านทิศใต้และทิศเหนือ ทาด้วยสีเขียวอ่อน ประกอบด้วยช่องหน้าต่างขนาดยาว จำนวนผนังด้านละ 5 ช่อง ระหว่างบานหน้าต่างคั่นด้วยเสาติดผนังบิดเป็นเกลียว เหนือเสาเกลียวขึ้นไปข้างบนเป็นบัวหัวเสาแท่งเหลี่ยมซ้อน 2 ชั้น เหนือหัวเสาชั้นล่าง หรือเหนือกรอบหน้าต่าง แกะสลักเป็นรูปปั้นบุคคล บางช่องที่มีกลิ่นอายแบบตะวันตก อาทิ ปูนปั้นรูปกามเทพ คนธรรพ์ นักดนตรี บุรุษไปรษณีย์ แต่บางช่องมีกลิ่นอายแบบตะวันออก เช่น ฤๅษี เทพนมบนดอกบัว ส่วนหัวเสาตอนบนสุดมีปูนปั้นรูปเศียรช้างในลักษณะคล้าย “นกงางวง” คือ ช้างผสมหงส์ ถอดแบบจาก “นกหัสดีลิงค์” รองรับผนังอาคารส่วนที่ยื่นของชั้นบน นอกจากนี้ ผนังระหว่างเสาด้านทิศตะวันตกมีการทำปูนปั้นรูปช้างเอราวัณสามเศียรประดับอยู่ 1 คู่ มีฐานที่เป็นริบบินยาว
บ้านล่ามช้างมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 213 ครัวเรือน จำนวนประชากร 550 คน แยกเป็นประชากรชาย 225 คน และประชากรหญิง 325 คน โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมีทั้งชาวไทยอง และชาวไทยพื้นเมืองเดิม
ยองอาชีพหลัก : ชาวบ้านล่ามช้างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ลำไย กระเทียม และพืชผักหลากชนิด โดยบ้านล่ามช้างมีชาวบ้านที่ทำสวนลำไยมากถึง 98 ครัวเรือน และมีพื้นที่ปลูกลำไยมากกว่า 300 ไร่
อาชีพรอง : รับจ้าง ลูกจ้างในโรงงาน ลูกจ้างเอกชน ค้าขาย และรับราชการ
ประเพณีแห่แค่หลวง เป็นงานประจำปีเฉพาะของจังหวัดลำพูน คำว่า "แค่” เป็นภาษาพื้นบ้านล้านนาไทย มีลักษณะเป็นไม้มัดกำทำมาจากไม้แห้งที่สามารถติดไฟได้ง่าย นำมามัดเป็นกำรวมกัน ขนาดใหญ่กว่ากำมือเล็กน้อยยาวไม่เกิน 1 เมตร ในสมัยล้านนาโบราณชาวบ้านนิยมทำต้นแค่พร้อมคบเพลิงในเทศกาลลอยกระทงหรือเดือนยี่เป็ง และจุดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในอดีตชาวบ้านนิยมทำต้นแค่พร้อมกับประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัด แม้ว่าปัจจุบันประเพณีแห่แค่ของชาวบ้านล่ามช้างจะไม่ได้จัดอย่างยิ่งใหญ่เท่าในอดีต เนื่องจากสภาพสังคมและวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป แต่ทั้งนี้ชาวบ้านทุกครัวเรือนก็ยังคงให้ความสำคัญกับประเพณีแห่แค่กันอยู่มาก โดยทุกปีจะมีการจัดประเพณีงานแห่แค่ในช่วงเทศกาลการลอยกระทง แล้วปล่อยแค่ก่อนที่จะปล่อยกระทงลงสู่ลำน้ำ
ประเพณีกินสลาก หรือทำบุญสลากภัต นิยมทำในเดือนสิบสองเหนือ หรือประมาณเดือนสิงหาคมโดยมีนัยเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้อง พ่อแม่ และบุพการีที่ได้ล่วงลับไปแล้ว
1. นายสมาน พิงทร ผู้นำชุมชนหมู่ 3 บ้านล่ามช้าง
ภาษาพูด : ภาษายอง คำเมือง ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
จุฑาทิพย์ วิจิตร์. (ม.ป.ป). วัดล่ามช้าง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://sites.google.com/dei.ac.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ 2566].
เทศบาลตำบลประตูป่า. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://pratupa.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ 2566].
พระธรรมะรม ฐานวุฑโฒ. พระลูกวัดวัดล่ามช้าง. (8 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.
แฟนเพจเฟซบุ๊กรักษ์ศิลป์ไทย..ออกแบบ ก่อสร้าง วัด วิหาร อุโบสถ เจดีย์ งานปูนปั้น. (2562). วัดล่ามช้าง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ 2566].
บ้านล่ามช้าง. (2565). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://earth.google.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ 2566].
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (2564). วิถีชาวยองบ้านดอนหลวง จ.ลำพูน ชุมชนที่รักษาอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้คงอยู่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.dasta.or.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ 2566].