ชุมชนมอญใจกลางเมืองเชียงใหม่ ที่ยังคงรักษาและสืบทอดประเพณีพิธีกรรมของกลุ่มเม็งหรือมอญ
ที่มาของชุมชนชัยมงคลบ้านเม็ง มาจากชื่อของสถานที่สำคัญ คือ โบราณสถานพระเจดีย์ของวัดชัยมงคล ซึ่งเป็นพระเจดีย์ศิลปะมอญ อายุ 600 ปี และมีที่มาจากชื่อของกลุ่มคนเม็งหรือมอญที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ชุมชนมอญใจกลางเมืองเชียงใหม่ ที่ยังคงรักษาและสืบทอดประเพณีพิธีกรรมของกลุ่มเม็งหรือมอญ
ชุมชนชัยมงคลบ้านเม็ง เป็นกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง ชาวเม็งหรือกลุ่มมอญสมัยก่อนที่ได้อพยพมาจากทางน้ำของมาตั้งถิ่นที่อยู่ที่นี้ และเป็นกลุ่มชาวเม็งหรือมอญที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบแม่น้ำปิงเขตเชียงใหม่ลำพูน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบเป็นหลักฐานโบราณสถานพระเจดีย์ของวัดชัยมงคล ชื่อเดิม วัดอุปปาเม็งนอก ภาษามอญเรียกวัด มะเลิ่ง เป็นพระเจดีย์ศิลปะมอญ อายุ 600 ปี
ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระราชชายาดารารัศมีขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดชัยมงคล (ริมปิง) เพราะเหตุที่ว่าท่าน้ำเป็นท่าลงเรือเจ้านายฝ่ายเหนือจะล่องไปกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาบางคนก็เรียกว่า อุปาเม็ง หรือ อุปานอก เพราะถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดบุพพาราม (อุปมาใน) แต่เดิมอุโบสถของวัดตั้งอยู่ในลำน้ำริมปิงติดกับกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พอถึงฤดูน้ำหลากมีซุงไหลมาชนโบสถ์เสียทำให้สังฆกรรมไม่ได้ ในปี พ.ศ. 2478 ครูบา ดวงแก้ว จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และปลูกสีมาฝังลูกนิมิตเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2479 จึงทำให้อุโบสถ์ซ้อนวิหารเป็นหลังเดียวกันในปัจจุบันนี้
กลุ่มเม็งหรือมอญที่อาศัยอยู่บริเวณช้างคลาน อพยพมาจากเมืองพะโคแห่งอาณาจักรพุกาม ซึ่งเป็นอาณาจักรมอญโบราณ ชาวเม็งหรือมอญบ้านชัยมงคลเป็นหรือมอญของเมืองเชียงใหม่ ที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงมาเป็นเวลานาน
ชุมชนชัยมงคลบ้านเม็ง ตั้งอยู่ในเขตตำบลช้างคลาน อาณาเขตติดต่อ มีดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลวัดเกด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลสุเทพ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา ลักษณะลาดเอียงจากทางตะวันตกไปตะวันออก และจากเหนือไปสู่ใต้ ระดับความลาดเทน้อยกว่าร้อยละ 2 เมืองเชียงใหม่อยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 310 เมตร มีทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ด้านทิศตะวันออกของเชิงดอยสุเทพมีแม่น้ำปิงไหลผ่านกลางเมืองในแนวเหนือ-ใต้ ทำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วไปสู่ที่ราบด้านทิศใต้
ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่มีความอุดมสมบูรณ์ จากทั้งแม่น้ำปิงและลำห้วยจากดอยสุเทพ โดยพื้นที่ทางด้านตะวันตกอยู่ในเขตส่งน้ำของชลประทานแม่แตง ซึ่งฤดูฝนได้รับน้ำจากน้ำฝน และในหน้าแล้งใช้น้ำจากแม่น้ำปิงและชลประทาน เพื่อใช้สำหรับการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
ประชากรในชุมชนเป็นชาวเม็งหรือชาวมอญ
มอญการฟ้อนผีเม็ง คือการฟ้อนรำเพื่อเป็นการสังเวย หรือแก้บนผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือนับถือกัน แต่ปัจจุบันได้เลือนหายไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีปฏิบัติกันอยู่บ้างในชนบทของภาคเหนือ ประเพณีนี้สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีมาจากมอญ เพราะสังเกตได้จาก การแต่งตัวในเวลาเข้าทรงจะเป็นแบบการแต่งตัวของพวกมอญโบราณ และพวกมอญนี้เองที่คนไทยภาคเหนือเรียกว่าเม็ง การฟ้อนผีเม็งนี้เป็นการสังเวยบรรพบุรุษ ซึ่งจะจัดอยู่ในวงศาคณาญาติ หรือที่เรียกว่าตระกูลเดียวกัน ในวันครบรอบปี และการฟ้อนผีเม็งนั้น ไม่ใช่การฟ้อนเซ่นสังเวยพวกภูตผีปีศาจแบบเดียวกับพวกคนป่าในเกาะทะเลใต้ทำพิธีเต้นรำรอบกองเพลิงเพื่อสังเวยพวกผีปีศาจ
บทบาทของการฟ้อนผีเม็งถือว่าสำคัญในตระกูลของคนเม็งจำเป็นต้องมี ถือเป็นการรวมญาติพี่รวมน้องคนที่เชื่อถือรวมให้เกิดความสามัคคีไม่ให้แตกแยกออกจาก เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานภายในตระกูล นอกจากนั้นการฟ้อนผีเม็งยังถือเป็นการแก้บนในโอกาสที่คนในครอบครัวหายจากการเจ็บป่วย การฟ้อนผีเม็งเมื่อฟ้อนทรงเข้ามาไม่เหมือนการทรงเจ้า ลงทรงมาจะเป็นผีปู่ย่า หรือบรรพบุรุษในตระกูลเท่านั้น จะถามถึงสาเหตุการเจ็บป่วยครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุใด หรือการรำการฟ้อนครั้งนี้ออกไปจะเป็นอย่างไร นับว่าการฟ้อนผีเม็งก็ถือเป็นหลักจิตวิทยาอย่างหนึ่ง
ความหมายของผีเม็งน้ำฮ้า
ผีเม็งน้ำฮ้า หมายถึง ผีเม็งที่ต้องใช้ปลาในพิธีกรรม ซึ่งถูกจำแนกแตกต่างออกไปจากผีเม็งอีกประการหนึ่ง คือ ผีปาน หรือ ผีตุงครู่ ที่ใช้แผ่นทองเหลืองเป็นฝาหม้อ ใช้ไม้ตีเป็นเครื่องดนตรี
ผีเม็งน้ำฮ้า เป็นลักษณะของผีบรรพบุรุษของชาวมอญในพม่าตอนใต้ พบได้ทั่วไปแถบริมแม่น้ำปิงในเขตจังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูน ผีเม็งน้ำฮ้า คือผีบรรพบุรุษของชาวมอญที่อพยพเข้ามาในเขตเชียงใหม่ – ลำพูนในสมัยสงครามลองพญา จะปะปนอยู่กับผีเม็งประเภทผีปานหรือ ผีตุงครู่ ซึ่งแตกต่างกันด้วยการสร้างผามที่ใช้ฟ้อน ผีตุงครู่จะไม่ยกพื้นชั้นในสุดแบบผีเม็งน้ำฮ้า หิ้งที่ใช้ว่าเครื่องเวยจึงยาว ที่สำคัญคือความแตกต่างในเรื่องเครื่องดนตรีและหม้อน้ำฮ้า กระบวนท่าที่ใช้ในการฟ้อนมีลักษณะคล้ายกัน โดยเฉพาะการสับหัวกล้วย ก็มีปรากฏในผีตุงครู่เหมือนกัน ทั้งผีเม็งน้ำฮ้าและผีตุงครู่มีการสืบตระกูลจากผีทางฝ่ายหญิงและรักษาสืบต่อตามประเพณีดั้งเดิมของตนเอง
พิธีกรรมที่สำคัญ
1) พิธีไหว้ปู่ย่า เชิญถ้วยขึ้นหิ้ง และต้มน้ำปลาร้า (น้ำฮ้า)
อาหารที่ใช้ในการจัดถ้วยผีของชาวเม็ง มีการประกอบอาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้ ดังนี้ ข้าวเหนียวนึ่งสุก ปลาแดดเดียวโขลก ไก่คั่วเม็ง ขนมแดง ขนมขาว ขนมเทียน ข้าวตอกเต็ก กล้วยหยึก (กล้วยน้ำว้าเชื่อมด้วยน้ำอ้อย ขนมเต่าเงิน และขนมเต่าคำ ขนมลูกหลาน มะม่วงสุก เนื้อมะพร้าว ขนุนสุก กล้วยน้ำว้าสุก สับปะรด นำอาหารที่กล่าวมาในขั้นตอน จัดลงในถ้วยแกงขนาดกลาง จัดเรียงให้เป็นระเบียบ พร้อมทั้งใส่กรวยขนาดเล็ก บรรจุใบเฉียงพร้ามอญ 40 ถ้วย เพื่อเข้าพิธีเชิญถ้วยผีขึ้นหิ้งและจะจุดไฟเพื่อต้มปลาแห้งกับปลาร้า แล้วต่อด้วยการฟ้อนปู่กับย่า หรือฟ้อนสองคนโดยฟ้อนที่หน้าหิ้ง แล้วฟ้อนที่ต้นดอกแก้ว เมื่อฟ้อนเสร็จจึงรับประทานอาหารเช้า
2) พิธีฟ้อนปู่ยา หรือฟ้อน 2 คน
3) พิธีรับประทานอาหารเช้า
4) พิธีไหว้หัวกล้วยและยำหัวควาย
พิธีสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ลูกหลานทุกคนต้องเข้าร่วม คือ การไหว้หัวกล้วยหรือที่ในอดีตเรียกว่า “ล้างหัวควาย” การนำควายมาฆ่าเพื่อประกอบพิธีการฟ้อนผีเม็งนั้น ได้มีการยกเลิกไปนานหลายปี ซึ่งสาเหตุนั้นอาจเกิดจากควายมีราคาแพงและการฆ่าควายดูโหดร้ายต่อผู้พบเห็นจึงมีมติยกเลิกและหันมาใช้ต้นกล้วยแทนควายจริง สำหรับวิธีการไหว้หัวกล้วยของชาวเม็ง มีข้อปฏิบัติดังนี้ ลูกหลานทุกคนนำต้นกล้วยมาผูกไว้หน้าหิ้งบูชาคล้ายการผูกควายลูกหลานทุกคนกราบและขอขมาต้นกล้วยด้วยข้าวตอกและน้ำขมิ้นส้มป่อยก่อนการตัดการตัดต้นกล้วยนั้นจะตัดกลางปะรำพิธีโดยใช้มีดที่คม ตัดครั้งเดียวให้ขาดและตัดเป็นท่อน ๆ จำนวน 7 ท่อน
การยำหยวกกล้วย (ยำหัวควาย) หลังจากประกอบพิธีไหว้หัวกล้วยแล้ว มีพิธียำหยวกกล้วย (ยำหัวควาย) เพื่อประกอบอาหารถวายผีปู่ย่า และเลี้ยงลูกหลาน ซึ่งวิธีการเตรียมส่วนผสมยำหยวกกล้วยนำเครื่องปรุงจากหม้อน้ำฮ้า (ปลาร้า) 1 ทัพพี โดยมีส่วนประกอบด้วย ปลาแห้ง 1 ตัว พริกแห้ง
5) พิธีเชิญผีปู่ย่า
เริ่มจากขั้นตอนการรับผี ซึ่งใช้ลูกสาวคนโต หรือลูกสาวคนรองเป็นผู้รับผี การรับผี คือ การเชิญผีปู่ย่ามาเข้าทรง ชาวเม็งเชื่อว่าผีปู่ย่าจะประทับร่างผู้ฟ้อน เพื่อให้ลูกหลานแสดง ความกตัญญู โดยที่ลูกหลานทุกคนช่วยกันล้างมือล้างเท้าให้ผีปู่ย่าของตน นอกจากพิธีรับผีแล้วใน การฟ้อนเชิญผีปู่ย่ามีพิธีหลายอย่าง เช่น การไหว้ผี 3 ควัก หรือแม้แต่การฟ้อนผีปู่ย่ากุมบาตร (ใส่บาตร) การไหว้ผี 3 ควัก คือ การนำยำหยวกกล้วยที่เตรียมไว้จากพิธีไหว้หัวกล้วยมาประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า การประกอบพิธีเริ่มจากการนำกระทง จำนวน 3 กระทง มาจัดเรียงใต้หิ้งบูชา จากนั้นจุดจองแหลง โรยใบพลู และตักน้ำขมิ้นส้มป่อย รดรอบ ๆ บริเวณควักทั้ง 3 จำนวน 3 ครั้ง จากนั้นจึงดับเทียนด้วยใบตอง แล้วผลักควักทั้ง 3 ควัก ลงใต้หิ้งบูชาเป็นอันเสร็จพิธี
6) พิธีฟ้อนถ้วย
การนำถ้วยผีบนหิ้งที่เชิญขึ้นไว้ตอนเช้า จำนวน 38 ถ้วย นำมาฟ้อนเป็นรอบ ๆ เริ่มจาก รอบที่หนึ่งให้ลูกหลานและเครือญาติเป็นผู้ฟ้อนจำนวน 6 คน ส่วนรอบที่สอง สาม สี่ และห้า เจ้าภาพเชิญแขกที่มาร่วมงานช่วยฟ้อนถ้วย ด้วยวิธีการนำผ้าคล้องคอ และโสร่ง ไปเชิญแขกผู้มาร่วมงานเพื่อแต่งตัวและฟ้อนกินถ้วยร่วมกัน จนครบ 32 ถ้วย ส่วนวิธีการฟ้อนผีเม็งกินถ้วยนั้น ไม่มีการรับประทานอาหารจริง แต่ละครั้งใช้เพียงการดมกลิ่นอาหารในถ้วย ถือว่ารับประทานแล้ว จากนั้นจึงนำอาหารทิ้งลงบริเวณใต้ต้นดอกแก้ว (พิกุล) ทีละอย่างโดยเริ่มจากสวย (กรวย) ใบเกี๋ยงพะเม็ง ข้าวเหนียวจิ้มปลาแดดเดียว ไก่คั่วเม็ง ขนมแดง ขนมขาว ขนมเทียนเม็ง ขาวตอกเต็ก เนื้อมะพร้าว ขนุนสุก มะม่วงสุก และกล้วยน้ำว้า จากนั้นทางเจ้าภาพเสิร์ฟมะพร้าวน้ำหอมทั้งลูกโดยเฉพาะมะพร้าวแจกให้ผู้ฟ้อนคนละลูกดื่ม ก่อนดื่มต้องเทน้ำมะพร้าวลงต้นดอกแก้วเล็กน้อย การฟ้อนผีเม็งกินถ้วยจบลงโดยที่ผู้เป็นตั้ง (หัวหน้าประกอบพิธี) นำดาบ 2 เล่ม ไม้พอง 2 ด้าม และใบดอกแก้ว 2 กำ จากบนหิ้งผีปู่ย่า ออกมาให้ผู้ฟ้อนผีเม็งกินถ้วยได้ฟ้อน ถือเป็นการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีที่ผีปู่ย่าบ้านเจ้าภาพได้รับประทานถ้วยผีและได้ฟ้อนรำ
7) พิธีเล่นน้ำปีใหม่
พิธีเล่นน้ำปีใหม่ใช้ผู้ฟ้อนจำนวน 2 คน เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ แต่ที่นิยมปฏิบัติก็คือ การให้ผู้หญิงสูงอายุเป็นผู้ฟ้อนโดยที่สมมุติว่าตนเองเป็นผีปู่กับผีย่า จะใส่โสร่งมีผ้าคล้องคอ โดยคนแรกจะใส่กุบ และสะพายเขาควายเพื่อเล่นน้ำปีใหม่ และคนที่สองจะถือสลุงและกระบวยเพื่อตักน้ำส้มป่อย โดยจะฟ้อนรอบต้นดอกแก้ว 3 รอบก่อน แล้วจึงรดน้ำที่ผู้ร่วมงาน หอปู่ย่า และบริเวณหิ้งปู่ย่า แล้วเข้าผามเพื่อฟ้อนผีปู่ย่ากินข้าว
8) พิธีปู่ย่ากินข้าว
พิธีปู่ย่ากินข้าวใช้ผู้ฟ้อนจำนวน 2 คน เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ แต่ที่นิยมปฏิบัติก็คือ การให้ผู้หญิงสูงอายุเป็นผู้ฟ้อนโดยที่สมมุติว่าตนเองเป็นผีปู่กับผีย่า จุดประสงค์ของการฟ้อนผีปู่ย่ากินข้าว คือ การที่ลูกหลานทุกคนถวายอาหารให้แก่ ผีปู่ย่า ก่อนการรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาหารที่ใช้ประกอบการฟ้อนผีปู่ย่ากินข้าวนั้น จะต้องประกอบไปด้วยอาหารสำคัญ คือ อาหารคาว คือ แกงขี้เหล็ก คั่วตับหมู คั่วหมี่เม็ง ยำสะนัด (ยำผักนึ่ง) คั่วหมี่กะทิ แกงฮังเลเม็ง ยำผักกาดดอง ลาบเม็ง (ลาบดิบและลาบสุก) แกงอ่อมไก่ ผัดฟักทอง (คั่วบะฟักแก้ว) แกงฟักเขียวใส่ไก่ (บะฟักหม่นใส่จิ้นไก่) น้ำพริกปลาร้า (น้ำพริกฮ้า) คั่วน้ำจิ้มส้ม แกงส้มตูนใส่ปลา แกงขนุนใส่ยอดสะเดา แกงมะรุม ยำแตงโมใส่ปลาช่อนแดดเดียวโขลก ยำมะกรุก (มะกอก) ยำมะม่วง และข้าวเหนียวนึ่งสุก อาหารทั้งหมดนี้จัดลงในขันข้าว (สำรับอาหาร) ส่วนการรับประทานใช้การแลกเปลี่ยนกันดมกลิ่นอาหาร เริ่มจาก ผู้ฟ้อนคนที่ 1 การนำช้อนตักแกงขี้เหล็กให้ผู้ฟ้อนคนที่ 2 ดมกลิ่น จากนั้นจึงเทลงในจานเปล่าที่วางไว้ข้างขันข้าว แล้วจึงนำข้าวเหนียวจิ้มอาหารและแลกเปลี่ยนกันดมกลิ่นจนครบอาหารทุกชนิด ถือว่าผีปู่ย่าได้กินแล้ว ผู้เป็นตั้งยกขันข้าวออกไปจากปะรำพิธี ผู้ช่วยตั้งเตรียมอาหารที่ใช้ประกอบการฟ้อนปัดฤกษ์ (ปัดเคราะห์) ผู้ฟ้อนจะฟ้อนออกนอกปะรำเพื่อเตรียมฟ้อนปัดฤกษ์ (ปัดเคราะห์) ต่อไป
9) พิธีปัดฤกษ์ (ปัดเคราะห์)
การฟ้อนปัดฤกษ์ใช้ผู้ฟ้อนชุดเดิมจากการฟ้อนผีปู่ย่ากินข้าว การฟ้อนนี้มีความเชื่อว่า เมื่อผีปู่ย่ากินอิ่มแล้ว จะคอยดูแลรักษาลูกหลานให้หายจากเคราะห์ภัยต่างๆ ด้วยการฟ้อนนี้มีอาหารที่ใช้ประกอบการฟ้อน ดังนี้ อาหารคาว ได้แก่ ข้าวเหนียวนึ่งสุก ซึ่งเหลือจากการจัดถ้วยผีในตอนเช้า นำมาปั้นขนาดพอคำ และจัดวางในถาดตามจำนวนลูกหลานที่เข้าร่วมในพิธี คนละ 1 ปั้น อาหารหวาน มีขนมแดง ขนมขาว และขนมเทียนเม็ง ขนมทั้ง 3 ชนิดนี้จัดเป็นชุด ส่วนวิธีการนำอาหารไปใช้มีวิธีการดังนี้ ผู้ฟ้อนปัดฤกษ์ คนที่ 1 ถือดาบ 2 เล่ม ส่วนคนที่ 2 ถือใบดอกแก้ว 2 กำ ผู้ช่วยตั้งนำอาหารใส่ลงในกระด้ง ลูกหลานเข้าร่วมพิธี ทีละ 1 คน โดยนั่งเหยียดขาตรงหันขาออกนอกปะรำพิธี ผู้ช่วยตั้งนำกระด้งที่บรรจุอาหารเตรียมให้คนละ 1 ชุด วางบริเวณปลายเท้า จากนั้นผู้ฟ้อนทั้ง 2 คน นำอุปกรณ์การฟ้อนจุ่มลงในขันน้ำขมิ้นส้มป่อย และลูบไปตามศีรษะ แขน และขา จากนั้นผู้ฟ้อนตวัดดาบและใบดอกแก้วลงในกระด้ง ซึ่งถือว่าเป็นการนำเคราะห์ออกจากตัวลูกหลาน ทำเช่นนี้จำนวน 3 ครั้ง จากนั้นผู้ช่วยตั้งจึงนำอาหารในกระด้งไปทิ้งบริเวณต้นดอกแก้ว พิธีจะสิ้นสุดที่การฟ้อนรอบต้นดอกแก้วด้วยดาบ และใบดอกแก้ว
10) พิธีทำนายไก่
การทำนายไก่ หรือที่ชาวเม็งเรียกว่า ตายไก่ (ทำนายไก่) คือ การนำอาหารประเภทไก่นึ่งมาประกอบพิธีทำนายทายทัก ส่วนไก่ที่ใช้ทำไก่นึ่งมีจำนวน 8 ตัว ก่อนนำมานึ่งนั้นต้องนำไก่มาผ่าท้องให้เห็นเครื่องในไก่ จากนั้นพับขาและปีกไก่ให้ไขว้ไปด้านหลัง ชาวเม็งเรียกขั้นตอนนี้ว่า แบไก่ พิธีการทำนายไก่เริ่มต้นขึ้น ผู้เป็นตั้ง (หัวหน้าผู้ประกอบพิธี) และผู้ช่วยนำไก่นึ่งทั้งหมดมาวางเรียงในถาด ให้เจ้าภาพเลือกไก่ที่จะประกอบพิธีทำนาย 1 ตัว จากนั้นจึงนำใบตองมาห่อไก่นึ่งเม็งที่เหลืออีก 7 ตัวเพื่อใช้ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การจัดถ้วยผีเรือน จัดถ้วยผีนางน้อย และมอบให้ผู้เป็นตั้งผู้ช่วยและหัวหน้าคณะกลอง การทำนายไก่นั้น จะเริ่มจากการจัดถาดไก่ ซึ่งภายในถาดประกอบไปด้วยไก่นึ่งเม็ง 1 ตัว มะพร้าวน้ำหอม 1 ลูก เฉาะมะพร้าวให้เรียบร้อย และแก้ว 1 ใบ ก่อนเริ่มพิธีทำนายไก่ ลูกหลานทุกคนเข้ามานั่งกลางปะรำพิธี ผู้เป็นตั้งยกถาดไก่เข้ามาวางกลางปะรำพิธี จากนั้นจึงเชิญหัวหน้าคณะกลองนั่งกลางปะรำพิธี เจ้าภาพเทน้ำมะพร้าวใส่แก้วให้ผู้ทำนายดื่ม จากนั้นจึงเริ่มการทำนาย
11) พิธีไหว้ผีกุลา
แต่เดิมนั้นใช้ผู้ฟ้อนที่เป็นผู้หญิงชาวเม็งแท้ ๆ ชาวมอญที่มีตัวเล็กและผิวดำเป็นผู้ฟ้อนผีกุลา สวมชุดชาว ในการพิธีฟ้อนผีกุลามีอาหารประกอบการฟ้อน ดังนี้ ปลาแห้ง ข้าวเหนียวนึ่งสุก ข้าวตอกเต็ก กล้วยหยึก กล้วยน้ำว้า เนื้อมะพร้าวหั่นการจัดอาหารสำหรับถวายผีกุลานั้น ผู้เป็นตั้ง มีหน้าที่ในการจัดอาหารโดยนำอาหารทั้งหมดจัดลงในถ้วยแกงใบใหญ่ ซึ่งชาวเม็งเรียกถ้วยนี้ว่า ถ้วยผีกุลา ขั้นตอนสุดท้ายของการฟ้อนผีกุลาจบด้วยการคาบปลาแห้งนำไปไว้บนเรือน ชาวเม็ง เรียกขั้นตอนนี้ว่า แมวคาบปลาแห้ง ซึ่งขณะที่คาบปลาแห้งวิ่งขึ้นบนเรือน ห้ามมิให้ผู้ใดกล่าวทักทายหรือนั่งขวางทางขึ้นบันไดบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าโชคลาภ อาจจะหลุดลอยไป หรือแต่ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำปลาแห้งออกจากห้องนอน ก่อนพิธีการฟ้อนผีเม็งจะจบลงทุกอย่างในตอนค่ำ
12) พิธีฟ้อนผีเจ้าเชียงใหม่
การฟ้อนเพื่อรำลึกถึงผีปู่ย่าที่เป็นนักรบของชาวเม็งซึ่งเคยปกครองเชียงใหม่ ในครั้งที่พม่าปกครองเชียงใหม่อย่างยาวนาน สังเกตได้จากการแต่งกายแบบมอญโบราณด้วยการนุ่งโสร่ง มีผ้าโพกศีรษะ และสวมกูบ (หมวกนักรบโบราณ) เริ่มจากผู้ฟ้อนซึ่งเป็นชายหรือหญิงก็ได้ 1 คน แต่งตัวตามที่กล่าวในข้างต้น จากนั้นฟ้อนออกนอกปะรำพิธีไปฟ้อนรอบต้นดอกแก้ว 3 รอบ ผู้ช่วยตั้งแกะเมี่ยงออกจากห่อใบตอง นำไปถวายให้ผู้ฟ้อนผีเจ้าเจียงใหม่ ตามด้วยการจุดบุหรี่ขี้โย ถวายผู้ฟ้อนอีกครั้ง ผู้ฟ้อน ฟ้อนรอบต้นดอกแก้วอีก 3 รอบ ผู้เป็นตั้งนำดาบจำนวน 2 เล่ม บนหิ้งผีปู่ย่าออกมาให้ผีเจ้าเจียงใหม่ฟ้อน ซึ่งการฟ้อนดาบนี้จะแสดงถึงความยินดีที่ลูกหลานชาวเม็งทุกคนรำลึกถึงผีปู่ย่า ด้วยการจัดฟ้อนผีเม็งให้ในครั้งนี้ เมื่อฟ้อนเสร็จจะฟ้อนปล่อย โดยจะให้ลูกหลานมาโหนผ้าเพื่อให้ผีปู่ย่าเข้าทรง และรำรอบต้นดอกแก้ว ฟ้อนปล่อยจะไม่กำหนดเวลาแน่นอนจะฟ้อนไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะ ฟ้อนผีสามตัวต่อไป
13) พิธีฟ้อนปล่อยและเข้าผ้าห้อยผี
14) พิธีฟ้อนผีสามตัว (ผีสามพี่น้อง)
ฟ้อนผีสามตัว (ผีพี่ผีน้อง) การฟ้อนผี 3 ตัว หรือที่ชาวเม็งเรียกว่า ผีพี่น้อง เพราะมีความเชื่อว่า การฟ้อนผีพี่น้องนี้ประกอบไปด้วยผีพี่คนโต ผีน้องคนกลาง และผีน้องคนสุดท้อง หรือที่ชาวเม็งเรียกว่า ผีลูกหล้า การฟ้อนนี้ จะใช้ผู้ฟ้อนที่เป็นบุคคลในตระกูลเท่านั้น ซึ่งการฟ้อนจะแต่งกายแบบชาวเม็ง (มอญ) คือ นุ่งผ้าโสร่ง มีผ้าโพกศีรษะ และมีผ้าคล้องคอ ทัดดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม การฟ้อนผี 3 ตัวนี้ มีขั้นตอน 3 ขั้นตอน ดังนี้ การแลกเปลี่ยนดอกไม้ คือ การนำดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมซึ่งจัดเตรียมไว้บนหิ้งผีปู่ย่า เช่น ดอกมะลิ ดอกเก็ดถะวา (พุดซ้อน) หรือดอกสะบันงา (กระดังงา) เป็นต้น นำไปฟ้อนรอบต้นดอกแก้ว และแลกเปลี่ยนกับผู้มาร่วมงาน จากนั้นนำกลับมาบูชาบนหิ้งผีปู่ย่า
15) พิธีชนไก่
การชนไก่ เป็นการละเล่นของชาวเม็งซึ่งพบเห็นได้เฉพาะประเพณีฟ้อนผีเม็งเท่านั้น การฟ้อนชนไก่นั้น ใช้ผู้ฟ้อน 2 คน เป็นชายหรือหญิงก็ได้สมมุติตัวเองว่าเป็นไก่ชนซึ่งต้องเลียนท่าทางของไก่ชน โดยที่นำผ้ามาม้วนเป็นเกลียวขมวดปมคล้ายหัวไก่ บริเวณเอวของผู้ฟ้อนชนไก่มีเดือดไก่ที่ทำจากรากไม้ผูกไว้ ก่อนการชนไก่ ผู้ฟ้อนจะแต่งกายด้วย การนุ่งโสร่ง มีผ้าโพกศีรษะ และผ้าคล้องคอทัดดอกไม้บริเวณ ซึ่งการชนไก่นี้จะชนบริเวณต้นดอกแก้ว หากฝ่ายใดสามารถแย่งผ้าจากอีกฝ่ายได้ถือเป็นผู้ชนะ ไก่ชนตัวที่ชนะจะได้ดมกลิ่นอาหารเป็นรางวัล
16) พิธีแห่บอกไฟ หาบกล้วย
บอกไฟของชาวเม็งคล้ายกับบั้งไฟของทางภาคอีสานบอกไฟชาวเม็งทำมาจากก้านกล้วย นำมาผูกรวมกันและตกแต่งด้วยดอกไม้พื้นบ้านที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกเอื้องผึ้ง ดอกกระดังงา และดอกมะลิ เป็นต้น วัตถุประสงค์ของการจุดบอกไฟของชาวเม็งเพื่อสงเคราะห์ภัยต่าง ๆ ให้หายไปกับบอกไฟ การฟ้อนแห่บอกไฟ พิธีแห่บอกไฟต้องมีลักษณะดังนี้ กล้วย 1 หวี มีจำนวนผลกล้วยไม่น้อยกว่า 12 ลูก และผลอวบ อ้วน และใหญ่
17) พิธีคล้องช้างและถ่อเรือถ่อแพ (ส่งผี)
การคล้องช้างก็เป็นการละเล่น ของชาวเม็งโดยเจ้าภาพจัดหา ผู้ชายที่มีร่างกายอ้วน ตัวใหญ่เลียนท่าทางเป็นช้างป่า เพื่อให้ลูกหลานคล้องช้างให้ผีปู่ย่าไว้ใช้งาน การคล้องช้างจะประกอบพิธีบริเวณต้นดอกแก้ว โดยเชื่อว่าหากลูกหลานคนใดคล้องช้างได้จะได้โชคลาภก้อนใหญ่ ถือว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ในช่วงการคล้องช้างจะมีผู้ถือถ้วยช้างฟ้อนรอบต้นดอกแก้วเพื่อรอว่าลูกหลานคนใดสามารถคล้องช้างได้ เมื่อคนใดคล้องช้างได้ ผู้ถือถ้วยช้างจะนำถ้วยไปให้ลูกหลานคนนั้นดมกลิ่นอาหารเป็นรางวัลในการคล้องช้าง ให้ผีปู่ย่าได้ จากนั้นนำช้างเข้าปะรำพิธี ผู้คล้องช้างได้นำเงินที่ผูกด้วยด้ายสีแดงคล้องคอช้างและหยิบกล้วยน้ำว้าในถ้วยช้างปอกเปลือกให้ช้างกินเป็นอันเสร็จพิธี เมื่อคล้องช้างเรียบร้อยจะ “ถ่อแพ” เพื่อส่งผี แม่ตั้งจะนำกระด้งใส่ไม้พลอง ใบดอกแก้ว หลาวไม้ไผ่ หม้อน้ำร้า และเรือจำลองที่ทำจากกาบกล้วย ขณะเดียวกันดนตรีจะบรรเลงเพลง ผู้ชายสองคนจะสวมหมวก ใช้ไม้ถ่อแพหน้าผาม แม่ตั้งนำกระด้งคว่ำไว้ใต้ต้นดอกแก้ว คนถ่อแพหักไม้ไผ่โดยเหยียบ แล้วถอนต้นดอกแก้ว
18) พิธีฟ้อนผีเสือ หรือเล่นผีกุลา
ผีเสือเป็นผีที่ชาวเม็งให้ความนับถือและต้องประกอบพิธีตอนเย็นประมาณ 18.00 น. โดยผู้ฟ้อนเลียนแบบท่าทางของเสือ ซึ่งการฟ้อนผีเสือใช้อาหารประกอบการฟ้อน 1 อย่าง คือ ปลาแห้ง จำนวน 1 ตัว ส่วนวิธีการนำปลาแห้งไปใช้มีดังนี้ เริ่มจากผู้เป็นตั้งนั่งคุกเข่าใช้ผ้าคลุมศีรษะตัวเองไว้ ประปากคาบปลาแห้งไว้ ใช้มือตบพื้นไปมา 3 ครั้ง จากนั้นลูกชายคนโตของตระกูลเปิดผ้าคลุมศีรษะผู้เป็นตั้งใช้ปากคาบปลาแห้งแล้วใช้มือดึงผ้ามาคลุมศีรษะตัวเองหันหลังวิ่งออกนอกบริเวณปะรำพิธี แต่ไม่ต้องนำปลาแห้งขึ้นไปไว้บนเรือน ซึ่งปลาแห้งนี้จะนำไปประกอบอาหารคาว ประเภทแกง เช่น แกงถั่วฝักยาว หรือแกงมะรุม นำแกงไปถวายพระสงฆ์ตามวัดที่ตระกูลเป็นศรัทธาอยู่ จากนั้นจึงนำแกงมาแบ่งให้พี่น้องในตระกูลรับประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป
19) พิธีทำนายเทียน
หัวหน้าวงจะเป็นผู้ทำหน้าที่ ทำนายเทียนหลวง ซึ่งจุดมาตั้งแต่ตอนกลางวัน ถ้าหากเทียนไหม้ถึงรอยขีดของคน แสดงว่า เกิดสิริมงคล โชคลาภในตระกูล แต่ถ้าไหม้ถึงรอยของผี แสดงว่าเกิดความผิดพลาดบางอย่างต้องทำพิธีสุมา โดนปะพรมน้ำขมิ้นส้มปล่อยทั่วผาม
20) พิธีเลี้ยงผีนางน้อย
ผีนางน้อยเป็นผีของภรรยาน้อยของเจ้าเมืองเม็ง (มอญ) ซึ่งหากจะดูตามยศศักดิ์แล้วคงเทียบได้กับยศเจ้าจอมของเจ้าเมืองเม็ง ในสมัยโบราณซึ่งผีนางน้อยนี้มีลักษณะแตกต่างจากผีอื่น ๆ ที่ประกอบพิธีเลี้ยงผี ดังนี้ การถวายอาหารแก่ผีนางน้อยจะต้องถวายตอนกลางคืนประมาณ 2 ทุ่ม และผีนางน้อยมีนิสัยขี้อาย เวลาถวายอาหารแก่ผีนางน้อยต้องปิดไฟในบ้านให้หมด ช่วงเวลาที่ประกอบพิธีนั้น คนในบ้านจะต้องไปรวมกันอยู่ในบ้าน ห้ามส่งเสียงดัง ในขณะที่ถวายอาหารบริเวณหอผีห้ามไม่ให้ผู้ใดแอบดู เพราะมีความเชื่อว่า ผู้ที่แอบดูนั้นจะกลายไปเป็นผีกะ ส่วนวิธีการจัดอาหารสำหรับถวายผีนางน้อยนั้น นิยมจัดใส่กะละมังขนาดกลาง นำอาหารที่กล่าวมาข้างต้นจัดใส่กะละมัง ซึ่งชาวเม็งเรียกกะละมังนี้ว่า ถ้วยผีนางน้อยสำหรับวิธีการนำอาหารไปถวายผีนางน้อย มีขั้นตอนดังนี้จุดเทียนและเทน้ำมะพร้าว 2 ลูก บริเวณหน้าหอผีจนหมด ยกถ้วยผีนางน้อยวางบนหอผี ช่วงนี้ห้ามคนแอบดูอย่างเด็ดขาด จากนั้นนำถ้วยผีขึ้นบนเรือน ขณะนั้นภายในบ้านปิดไฟฟ้าทุกดวง และทุกคนไปรวมกันอยู่ในบ้าน ห้ามส่งเสียงดัง ผู้เป็นตั้งและผู้ช่วย นำถ้วยผีนางน้อยมายังหน้าประตูทางเข้าบ้าน และตะโกนเรียกหาเจ้าของบ้าน 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรก ห้ามเจ้าของบ้านตอบกลับให้ฟังเงียบ ๆ พอถึงครั้งที่ 3 จึงขานรับ ซึ่งคำพูดที่เรียกหาเจ้าของบ้านนั้น มีดังนี้ ครั้งที่ 1 “บ้านนี้มีใครอยู่ไหม” ครั้งที่ 2 “บ้านนี้มีใครอยู่บ้าง” ครั้งที่ 3 “บ้านนี้มีใครอยู่บ้าง ขอให้ออกมารับของดี ของกิน กรุณาช่วยเปิดประตูรับของหน่อย เพราะเดินทางมาไกลจากเมืองม่าน เมืองเม็ง ช่วยเปิดประตูด้วยเทอญ” (พูดเป็นคำเมือง) เจ้าของบ้านเปิดประตูรับถ้วยผีนางน้อยและนำไปเก็บไว้ในห้องนอน 3 วัน ซึ่งถือว่าเป็นของดีจะนำพาความสุข ความเจริญมาสู่ลูกหลานทุกคน
การสืบทอดการฟ้อนผีเม็งของพื้นที่ชุมชนชัยมงคลบ้านเม็ง มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยได้รับการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านเม็งมี ความเคารพนับถือผีเม็งหรือเรียกอีกอย่างว่าผีปู่ย่า เป็นอย่างมาก และยังมีการจัดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็ง ทั้งยังมีการจัดการเลี้ยงเซ่นไหว้ทุกปี การนับถือผีปู่ย่าของชาวบ้านเม็งมีความสำคัญถือเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นศูนย์รวมจิตใจ การฟ้อนผีเม็งนั้นถือเป็นที่เคารพบูชาเป็นที่ศรัทธากันมายังต่อเนื่องและยังถือเป็นการเคารพต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
บุคคลที่ทำหน้าที่สืบทอดพิธีกรรม
บุคคลที่ทำหน้าที่สืบทอดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งในที่นี้หมายถึงแม่ตั้ง คือ ผู้ประกอบพิธีกรรมฟ้อนผีเม็ง บุคคลที่ทำหน้าที่สืบทอดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งนั้น จะต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นลูกหลานที่มีเชื่อสายเม็งที่นับถือผีเม็ง ซึ่งจะต้องเป็นชาวบ้านของชุมชนชัยมงคลบ้านเม็งและการจะสืบทอดนั้นจะต้องมีการเรียนรู้ข้อปฎิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฟ้อนผีเม็งไม่ว่าจะเป็น เรื่องลำดับพิธีกรรม ของใช้ในพิธีกรรม อาหาร การแต่งกายในการเข้าร่วม ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติในพิธีกรรมให้เชี่ยวชาญ ชำนาญก่อนถึงจะสามารถสืบทอดได้
ความจำเป็นในการสืบทอดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็ง
ชาวบ้านมีการเห็นถึงความสำคัญในการฟ้อนผีเม็งเป็นอย่างมากโดยมีความเชื่อว่า เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานภายในตระกูล ถือเป็นการรวมญาติพี่รวมน้องคนที่เชื่อถือรวมให้เกิดความสามัคคีไม่ให้แตกแยกออกจากกัน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
การสืบทอดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งนั้น บุคคลที่ทำหน้าที่สืบทอดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งนั้น จะต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นลูกหลานที่มีเชื่อสายเม็งที่นับถือผีเม็ง ซึ่งจะต้องเป็นชาวบ้านของชุมชนชัยมงคลบ้านเม็งและการจะสืบทอดนั้นจะต้องมีการเรียนรู้ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฟ้อนผีเม็งไม่ว่าจะเป็น เรื่องลำดับพิธีกรรม ของใช้ในพิธีกรรม อาหาร การแต่งกายในการเข้าร่วม ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติในพิธีกรรมให้เชี่ยวชาญ ชำนาญก่อนถึงจะสามารถสืบทอด และความจำเป็นในการสืบทอดพิธีกรรมนั้น ชาวบ้านมีการเห็นถึงความสำคัญในการฟ้อนผีเม็งเป็นอย่างมากโดยมีความเชื่อว่า เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานภายในตระกูล ถือเป็นการรวมญาติพี่รวมน้องคนที่เชื่อถือรวมให้เกิดความสามัคคีไม่ให้แตกแยกออกจากกัน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งการรับการสืบทอดนั้น เป็นการสืบทอดกันต่อ ๆ มาจากรุ่นหนึ่งสู้รุ่นหนึ่ง การสืบทอดกันมาจากครอบครัวและการจัดพิธีกรรม ก็จะให้มีส่วนร่วมในพิธีกรรมซึ่งการรับการสืบทอดกันต่อๆ มาจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง โดยการสืบทอดนั้นจะมีการสืบทอดมาจากลูกผู้หญิงคนโตในตระกูล เนื่องจาก การดูแลเลี้ยงผีนั้น จะถือเป็นหน้าที่ของลูกผู้หญิงคนโตของตระกูลหรือที่เรียกว่า เก๊าผี ซึ่งจะนับถือผีตามตระกูลของฝ่ายหญิง หากผู้หญิงแต่งงานจะต้องให้ฝ่ายสามีมานับถือผีปู่ย่าของฝ่ายหญิงด้วย
การสืบทอดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งนั้น ชาวบ้านเม็งมีการนับถือผีปู่ย่าเป็นอย่างมาก จึงเคร่งครัดให้การปฏิบัติกันต่อมา เพื่อให้ครอบครัวอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพราะถือว่าผีปู่ย่าจะช่วยปกป้องคุ้มครอง ให้มีความสุขและปลอดภัย โดยจะมีการถ่ายทอดให้ลูกหลานในตระกูลที่จะสืบทอดต่อ คนนั้นจะต้องเป็นลูกสาวคนของโตเก๊าผีสืบการต่อไป หากผู้ที่เป็นเก๊าผี ไม่มีลูกผู้หญิงก็จะต้องส่งต่อการสืบทอดให้กับลูกผู้หญิงคนโตของคนในตระกูลลำดับต่อไป โดยจะมีการถ่ายทอดดังนี้
ผู้ที่เป็นบิดา มารดา เป็นผู้บอกเล่าให้ฟังเรื่องการนับถือผีว่ามีความสำคัญอย่างไร เครื่องเซ่นไหว้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งจะเรียนรู้ไปด้วยการซึมซับจากบิดา มารดา หรือญาติ ซึ่งจะถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือการที่ได้ไปเห็นพิธีกรรมจริงว่ามีการปฏิบัติการอย่างไร เมื่อเห็นว่าการจัดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งได้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการจัดพิธีกรรมเป็นอย่างไร จึงทำให้เกิด ความเชื่อและมีการสืบทอดกันต่อมาและเมื่อมีการเซ่นไหว้หรือมีการจัดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็ง ก็จะมีการรวมตัวของคนในครอบครัว ซึ่งจะทำให้มีความผูกพันกันในครอบครัวและมีความสามัคคีในชุมชน ซึ่งการสืบทอดพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งนั้น เป็นการสืบทอดเพื่อให้ลูกหลานได้ปฏิบัติสืบต่อกันไม่ให้เลือนหาย ซึ่งลูกหลานจะได้รับการสืบทอดกันมาจากครอบครัวที่คอยสั่งสอนให้มี ความเคารพนับถือและเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่อไป
เธียรชาย อักษรดิษฐ์. (2552). พิธีกรรมฟ้อนผี : ภาพสะท้อนปรากฏการต่อรองอำนาทางสังคม. เชียงใหม่ : ธารปัญญา.
นพรัตน์ กุมาลา. (2561). พิธีกรรมฟ้อนผีเม็ง กรณีศึกษาพื้นที่ชุมชนชัยมงคลบ้านเม็ง ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
วิธูร บัวแดง. (ม.ป.ป.). รายงานเรื่องการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์เม็ง. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
ศุภมิตร ปฤษณภาณุรังษี. (2560). การศึกษาความเชื่อและการเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมฟ้อนผีมดผีเม็ง กรณีศึกษาตระกูลนิ่มเจริญ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และคณะ. (2538). มอญ : บทบาทด้านสังคม วัฒนธรรม ความเป็นมาและเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี ของกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สหธรรมิก.
สุทธิพงค์ พัฒนวิบูลย์. (2549). อาหารที่ใช้ในการฟ้อนผีเม็ง. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาโภชนศาสตร์ศึกษา), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.