Advance search

บ้านวังมุย

บ้านวังมุย สถานที่ตั้งวัดชัยมงคลหรือวัดวังมุย สถานที่ประดิษฐานรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงของครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย และหลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก

บ้านวังมุย
ประตูป่า
เมืองลำพูน
ลำพูน
ภัณฑิรา สุรุจิธรรม
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านวังมุย


บ้านวังมุย สถานที่ตั้งวัดชัยมงคลหรือวัดวังมุย สถานที่ประดิษฐานรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงของครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย และหลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก

บ้านวังมุย
ประตูป่า
เมืองลำพูน
ลำพูน
51000
เทศบาลป่าประตู โทร. 0-5300-0798
18.62827
98.97581
เทศบาลตำบลประตูป่า

บ้านวังมุย ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ปรากกฏเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวไทยองเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นในตำบลประตูป่า

ไทยอง หรือคนยอง เป็นชื่อเรียก “กลุ่มคนเชื้อสายไทลื้อ” ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยอง หรือ “มหิยังคนคร” ในภาษาบาลี สำหรับคนไทลื้อเมืองยองที่อยู่ในประเทศไทย เรียกตนเองว่า “คุนยอง” หรือที่คนไทยเรียกว่า “ไทยอง” เป็นชื่อที่รู้จักกันในล้านนา เมื่อหลัง พ.ศ. 2348 เมื่อครั้งที่กลุ่มไทลื้อเมืองยองได้อพยพเข้าตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ รวมถึงหัวเมืองอื่น ๆ ในล้านนา เนื่องด้วยพระเจ้ากาวิละเจ้านครเมืองเชียงใหม่รวบรวมไพร่ฟ้าราษฎรแถบดินแดนล้านนาต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากการครอบงำของพม่า แล้วโปรดฯให้นำชาวยองที่กวาดต้อนมาไปเป็นแรงงานเมื่อครั้งก่อตั้งเมืองลำพูน ชาวยองจึงได้เข้ามาสร้างถิ่นฐานบ้านเรือนในจังหวัดลำพูนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ที่ตั้ง

บ้านวังมุย มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย มีลำน้ำแม่ปิง และคลองลำพูนไหลผ่านหมู่บ้าน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านใช้สำหรับการเกษตร มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลและหมู่บ้านอื่น ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 2 บ้านล้องเดื่อ และตำบลช้างคืน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 6 บ้านศรีสุพรรณ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลช้างคืน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 2 บ้านล้องเดื่อ

สถานที่สำคัญ

วัดชัยมงคล (วังมุย) สร้างขึ้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาววังมุย โดยมีครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก เป็นองค์ประธาน มูลเหตุของการดำริสร้างวัดมาจาการที่วัดเก่า คือ วัดศรีสองเมืองประจำบ้านวังมุยประสบอุทกภัยอยู่เนืองนิจ ชาววังมุยจึงได้สร้างวัดใหม่ คือ วัดชัยมงคลขึ้น สถานที่ตั้งของวัดใหม่ อยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดเก่า สิ่งก่อสร้างแรกเริ่มที่สร้าง คือ พระวิหาร ซึ่งยังคงเค้าเดิมอยู่ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงของครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ที่ปั้นขึ้นในสมัยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังดำรงขันธ์อยู่ และยังมีพระรูปเหมือนของหลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก ในท่านั่งสมาธิให้กราบสักการะอีกด้วย

สถิติประชากรเทศบาลตำบลประตูป่าปี พ.ศ. 2566 รายงานจำนวนประชากรหมู่ 1 บ้านวังมุยมีประชากร 269 ครัวเรือน จำนวน 601 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 278คน และประชากรหญิง 323 คน 

ยอง

ชาวบ้านวังมุยส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก พืชเศรษฐกิจของบ้านวังมุย คือ กระเทียม แต่ปัจจุบันความนิยมในการปลูกกระเทียมลดน้อยลงเนื่องจากชาวบ้านได้เปลี่ยนพื้นที่ปลูกกระเทียมไปปลูกสวนลำไยแทน โดยสวนลำไยในชุมชนบ้านวังมุยมีจำนวนมากถึง 308 ไร่ และชาวบ้านในชุมชนก็ยึดอาชีพทำสวนลำไยมากถึง 156 ครัวเรือน ซึ่งหากเทียบจากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้านวังมุยแล้ว สามารถกล่าวได้ว่าชาวบ้านวังมุยเกือบทั้งหมู่บ้านประกอบอาชีพทำสวนลำไย

นอกจากการทำสวนลำไยและปลูกกระเทียมแล้ว ยังมีการปลูกพริก ผักกาด คะน้า ผักบุ้ง และพืชผักสวนครัวอีกหลายชนิดเพื่อนำออกไปจำหน่ายแลกเปลี่ยนทั้งกับชาวบ้านภายในและภายนอกชุมชน สำหรับการปลูกข้าวนั้น เป็นการปลูกเพื่อเพื่อบริโภคเป็นหลัก เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงจะนำออกไปจำหน่าย และแบ่งบางส่วนไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับทำนาในปีถัดไป 

ประเพณีประจำปีที่สำคัญของชาวบ้านวังมุย คือ ประเพณีกินสลากหรือทำบุญสลากภัต นิยมทำในเดือนสิบสองเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์ตามคติความเชื่อว่าเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้อง พ่อแม่ บุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งประเพณีกินสลากของตำบลประตูป่านี้จะเป็นการทำบุญร่วมกันของวัดและหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบล วัดทั้ง 7 วัดจะหารือเพื่อตกลงวันที่จะทำบุญในหมู่บ้านไม่ให้ซ้ำกับหมู่บ้านอื่นในตำบล เนื่องจากพระสงฆ์และชาวบ้านต้องไปรับทานและถวายร่วมกับวัดอื่น โดยจะเวียนเช่นนี้จนกว่าจะครบทั้ง 78 วัดในตำบลประตูป่า 

1. หลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก  มีนามเดิมว่า ชุ่ม ปลาวิน เกิดเมื่อวันอังคารที่ 7 ก.พ. พ.ศ.2442 ที่บ้านวังมุย จังหวัดลำพูน ครั้นเมื่อเติบโตได้ระยะหนึ่ง ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนการอ่านการเขียนหนังสือกับเจ้าอาวาสวัดศรีสองเมือง พร้อมกับเรียนวิธีการอ่านบทสวดมนต์และธรรมะเบื้องต้นจากท่านเจ้าอาวาส เมื่ออายุ 12 ปี ท่านได้เข้าพิธีบรรพชฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูบาอินตา แห่งวัดพระธาตุขาว เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและอักษรสมัย จนอายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่บ้านวังมุย โดยมีพระครูบาอินตา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่าโพธิโก ด้วยใจฝักใฝ่ในพระธรรมคำสั่งสอน ออกเดินทางศึกษาหาความรู้ในด้านพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระ ซึ่งเป็นการศึกษาอีกประการหนึ่งที่ควบคู่กับด้านคันถธุระ เพื่อชำระจิตใจตัวเองให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลส อันจะยังให้เกิดสมาธิเบื้องสูง ซึ่งเป็นภาระหนักมากในการเพียรพยายาม นอกจากนี้ยังศึกษาศาสตร์ทางวิทยาคมและการพิชัยสงครามอีกด้วย เมื่อสำเร็จวิชาะรรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงตัดสินใจออกธุดงค์ โดยจาริกไปยังอำเภอลี้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวลัวะ ยาง และปกาเกอะญอ อบรมธรรมเทศนาธรรมโปรดชาวบ้าน จนมีลูกศิษย์มากมาย เมื่อมีการสร้างทางขึ้นพระบรมธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ.2478 ด้วยการริเริ่มและนำโดยครูบาศรีวิชัย ครูบาชุ่มในวัย 37 ปี จึงได้เข้าร่วมช่วยเหลือการสร้างด้วย โดยสมัครเข้าเป็นสานุศิษย์ของท่าน ในการณ์นี้ทำให้ท่านได้มีโอกาสศึกษาและรับข้อปฏิบัติจากครูบาศรีวิชัยมากมายจนเกิดความชำนาญเป็นพระเถระที่รอบรู้และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีความวิริยอุตสาหะปฏิบัติเพื่อมรรคผลสูงสุด ตลอดช่วงชีวิตของหลวงปู่ครูบาชุ่ม ท่านได้สร้างคุณความดีไว้มากมาย และดำรงตำแหน่งสำคัญทางศาสนาอย่างยาวนาน กระทั่งถึงแก่มรณภาพเข้าสู่แดนบรมสุขเมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2519 สิริอายุได้ 78 ปี 65 พรรษา คงเหลือไว้แต่คุณงามความดีและวัตถุมงคลของท่าน ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้ที่ครอบครองวัตถุมงคลหลวงปู่ครุบาชุ่มล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ที่เล่าขานกันไม่รู้จบ

2. นายนิคม สุธรรม  ผู้ใหญ่บ้านบ้านวังมุย ผู้ผลักดัน และพัฒนาให้บ้านวังมุยได้รับรางวัลมามากมาย ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด อาทิ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับอำเภอ รางวัลชนะเลิศหมู่บ้านดีเด่น (บ้านสวยเมืองสุข) ระดับอำเภอ ประจำปี 2560 และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารโพธิกเถรานุสรณ์ วัดชัยมงคล (วังมุย)

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารโพธิกเถรานุสรณ์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ครูบาชุ่ม โพธิโก พระสงฆ์เกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านวังมุยและลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วสารทิศเคารพนับถือ ภายในประดิษฐานรูปหล่อครูบาศรีวิชัย และครูบาชุ่มท่านั่งสมาธิขนาดเท่าจริง ซึ่งมีกระจกครอบทั้งสององค์ไว้อีกชั้นหนึ่ง วางไว้ขนาบด้านซ้ายและขวาของโลงศพไม้(เข้าใจว่าเป็นโลงของครูบาชุ่ม) โต๊ะหมู่บูชา และอัฐิธาตุของครูบาชุ่ม ส่วนด้านหน้าโต๊ะหมู่บูชา จัดวางรูปหล่อบูชาครูบาชุ่มขนาดเล็กจำนวนหลายสิบองค์ เหรียญครูบาชุ่ม ภาพถ่ายเก่าครูบาชุ่มในอิริยาบถต่าง ๆ บาตรน้ำมนต์  สร้อยประคำ ผ้ายันต์ และเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ที่เป็นของสะสมของวัดชัยมงคล  โดยเฉพาะยันต์สิบสองดอก ซึ่งเป็นเครื่องรางของขลังที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่เชื่อถือในความขลังในหมู่ทหารตำรวจ ตั้งแต่สมัยที่ครูบาชุ่มยังมีชีวิตอยู่ จนปัจจุบันยังมีคนมาขอเช่ากับลูกศิษย์ครูบาคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิต ที่ได้รับการสืบทอดวิชาการทำยันต์จากครูบาชุ่ม ส่วนด้านหน้าห้องกระจกมีป้ายคำนมัสการของทั้งครูบาศรีวิชัยและครูบาชุ่ม เป็นภาษาบาลี พร้อมพานดอกไม้ธูปเทียน ทั้งส่วนบริเวณด้านนอกห้องกระจกเป็นพื้นที่โล่งสำหรับกราบไหว้นมัสการรูปหล่อของครูบาศรีวิจัยและครูบาชุ่มที่อยู่ด้านใน มิได้จัดแสดงสิ่งของอย่างเป็นระบบระเบียบมากนัก มีเพียงอาสนะสงฆ์เก่าของวัด 2 ตัว และตู้ไม้เก่า 1 หลัง (ปณิตา สระวาสี, 2555: ออนไลน์) 

ภาษาที่ชาวบ้านวังมุยใช้ติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน ได้แก่ ภาษาคำเมือง ภาษายอง ภาษาลื้อ ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดลำพูนใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวยองเมืองลำพูน ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองชาวสยาม (ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5) การปรับตัวของชาวยองในแผ่นดินสยาม ในด้านสังคมและวัฒนธรรม กลุ่มชาวยองยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้อย่างยาวนาน อาทิ บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ภาษาพูด "ภาษายอง" ซึ่งเป็นภาษาพูดที่สามารถสื่อสารกันอย่างเข้าใจระหว่างชาวยองสิบสองปันนากับชาวยองลำพูน รวมทั้งการโฮมกลองหลวง การอุทิศบูชาพระธาตุ และประเพณีสลากสลากย้อม ล้วนคืออัตลักษณ์พิเศษของคนยอง

ก๋อง ปินโน. (2566). มัคทายกวัดชัยมงคล. (4 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

เทศบาลตำบลประตูป่า. (ม.ป.ป.). วัดชัยมงคล (วังมุย). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.pratupa.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].

ทำเนียบพระเครื่อง. (ม.ป.ป.). หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.web-pra.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].

บ้านวังมุย. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://earth.google.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].

ปณิตา สระวาสี. (2555). พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารโพธิกเถรานุสรณ์ วัดชัยมงคล (วัดวังมุย). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://db.sac.or.th/museum/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].

khaosod Online. (2562). ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย จ.ลำพูน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.khaosod.co.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].