Advance search

ชุมชนบ้านห้วยหลวงมีเอกลักษณ์ทางเครื่องดนตรีที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันจากบรรพบุรุษ

หมู่ที่ 13
บ้านห้วยหลวง
แม่นาวาง
แม่อาย
เชียงใหม่
อบต.แม่นาวาง โทร. 0-5311-4705
หทัยชนก จอมดิษ
3 ก.พ. 2023
หทัยชนก จอมดิษ
27 ก.พ. 2023
บ้านห้วยหลวง


ชุมชนบ้านห้วยหลวงมีเอกลักษณ์ทางเครื่องดนตรีที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันจากบรรพบุรุษ

บ้านห้วยหลวง
หมู่ที่ 13
แม่นาวาง
แม่อาย
เชียงใหม่
50280
19.989670748346793
99.38375656831295
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาวาง

ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านห้วยหลวง เป็นชุมชนขนาดเล็กมีชาวลาหู่ได้อพยพมาจากบ้านห้วยตาก ตำบลบ้านโป่ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยหลวงมีเพียงประมาณ 9 ครัวเรือน โดยอพยพเพื่อมาตั้งหลักที่อยู่อาศัยแบบถาวร ซึ่งมีนายปอเอะ จะลอ และ นายจะมู แสงฟู เป็นผู้นำชาวบ้านอพยพเข้าที่บ้านห้วยหลวง ต่อมาได้มีชาวลาหู่อีกหลายครอบครัวได้อพยพเข้ามาสมทบ จึงทำให้หมู่บ้านมีขนาดใหญ่มากขึ้น

หมู่บ้านห้วยหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะหมู่บ้านห้วยหลวง นิยมตั้งบ้านเรือนตามที่ราบบนสันเขา ผังของหมู่บ้านสร้างรวมกันเป็นกระจุกและจะสร้างไว้เป็นของสาธารณะหลายแห่ง และมียุ้งข้าวซึ่งจะอยู่รวมกันในหมู่บ้าน บ้านแบบดั้งเดิมของลาหู่บ้านห้วยหลวงจะสร้างด้วยวัสดุที่หาได้จากป่าใกล้ ๆ หมู่บ้าน แบบยกสูงประมาณ 1 เมตร ใช้ไม้ไผ่สำหรับทำพื้นฟาก กั้นบ้านและทำโครงหลังคา มีหลังคาทำด้วยแฝกคลุม ปัจจุบันใช้วัสดุก่ออิฐถือปูนอย่างสมัยใหม่

โครงสร้างระบบเครือญาติบ้านห้วยหลวง โดยทั่วไปเป็นครอบครัวเดี่ยว และมีบางส่วนที่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย กล่าวคือ ตามประเพณีเมื่อสมรสแล้ว ผู้ชายจะต้องย้ายไปอยู่ในครอบครัวของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นแรงงานของครอบครัวฝ่ายหญิงประมาณ 2-3 ปี จึงจะสามารถแยกออกไปสร้างบ้านเรือน ซึ่งระบบครอบครัวของลาหู่บ้านห้วยหลวง ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยวตั้งบ้านเรือนรวมกับเป็นกลุ่มตระกูล ลักษณะครอบครัวจึงเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีการติดต่อสัมพันธ์กัน

ลาหู่

โครงสร้างทางสังคม หมู่บ้านห้วยหลวงอยู่กันอย่างเรียบง่าย มีโครงสร้างพื้นฐานของสังคมคือ ระบบครัวเรือน รวมกลุ่มกันเป็นหมู่บ้านซึ่งเชื่อมโยงไว้ด้วยระบบเครือญาติ การแต่งงาน หรือการติดต่อสัมพันธ์กันมาก่อน ปัจจุบันประชากรที่เพิ่มขึ้นและที่ดินมีจำกัด ลักษณะการดำรงชีวิตที่ต้องอาศัยแรงงาน เก็บของป่า และการเพาะปลูก ทำให้ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชายในการหาอาหาร ผู้หญิงมีหน้าที่เลี้ยงลูกและต้องทำงานบ้าน ดูแลสมาชิกในครอบครัว ลักษณะการดำรงชีวิตที่ต้องอาศัยพึ่งพากัน ทำให้เกิดความรักความสามัคคีกันในเครือญาติ สังคมบ้านห้วยหลวงมีความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน และระบบผู้ชายเป็นใหญ่ มีการสืบทอดตระกูลฝ่ายชาย ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านจะมีหัวหน้าหมู่บ้าน หรือคะแชป่า เป็นผู้รักษากฎระเบียบจารีตประเพณีต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน รวมทั้งผู้ที่มีบทบาททางสังคมและมีความสำคัญในการสืบทอดระบบผู้อาวุโส และผู้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ

โครงสร้างการปกครองของบ้านห้วยหลวง จะมีการใช้ระบบผู้นำอาวุโสในหมู่บ้านซึ่งเป็นระบบการปกครองภายใต้ประเพณีของชุมชน หน้าที่หลักของผู้อาวุโส เช่น เมื่อมีกรณีพิพาทผู้อาวุโสจะเป็นคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ย เพื่อหาข้อยุติของปัญหา ต่อมาทางราชการไทยได้นำระบบการปกครองท้องถิ่นมาใช้ในชุมชน โดยให้มีผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านห้วยหลวง ซึ่งการปกครองแบบท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทในการปกครองของสังคมบ้านห้วยหลวง แต่ชาวบ้านก็ยังยึดถือกฎของชุมชนตามจารีตประเพณีดั้งเดิมที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด โดยเคารพนับถือผู้อาวุโสมากกว่าผู้นำหรือปกครองของทางรัฐ ทำให้บทบาทของผู้นำการปกครองจะไม่ดำเนินการปกครองแต่จะอิงตามผู้อาวุโสในหมู่บ้าน

พิธีกรรม

พิธีกรรมของบ้านห้วยหลวง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ในหมู่บ้านมีโบสถ์เป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรม พิธีกรรมส่วนใหญ่เป็นการบูชาขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักจัดในทุกวันพระของเดือน เรียกว่า “วันชียี” ส่วนพิธีกรรมที่สำคัญอีกอย่างคือ การฉลองวันขึ้นปีใหม่

พิธีกรรมฉลองเทศกาลปีใหม่ เรียกว่า “เขาะจาเลอ” เป็นการฉลองวันหยุดในรอบปี ที่สมาชิกทุกคนในหมู่บ้านจะมาร่วมพิธีนี้ พิธีปีใหม่จะเริ่มประมาณเดือนมกราคม - มีนาคมของทุกปี การกำหนดวันของแต่ละหมู่บ้านไม่ตรงกันขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้นำทางศาสนา ขึ้นอยู่กับความพร้อมในหมู่บ้านการประกอบพิธีเป็นการบวงสรวงเทพเจ้างือซาที่เคารพนับถือ ในพิธีนี้ทุกคนร่วมทำบุญ และงานรื่นเริง ซึ่งการกำหนดวันพิธีกินปีใหม่ แบ่งเวลาประกอบพิธีออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงส่งท้ายปีเก่าและช่วงขึ้นปีใหม่ ช่วงส่งท้ายปีเก่ามี 2 วัน คือวันแรม 14 ค่ำและ 15 ค่ำ การเริ่มวันประกอบพิธีกินปีใหม่นั้นจะต้องเป็นวันดี เป็นวันมงคลตามความเชื่อ โดยที่การนับวันมีกำหนด 7-12 วัน

การแต่งกาย 

ลักษณะการแต่งกาย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของผู้หญิง จะถูกกำหนดด้วยผ้าฝ้ายทอมือสีดำ อันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วย

  • เสื้อ เป็นเสื้อคอกลม ตัวใหญ่ผ่าอกตลอดมีความยาวถึงเอว แขนเสื้อเป็นทรงกระบอก ตกแต่งริ้วแดง เหลือง ฟ้าเล็กน้อยบริเวณตัวเสื้อ โดยสีพื้นจะเน้นสีดำเป็นหลัก
  • ผ้าถุง เป็นผ้าถุงสีดำล้วนความยาวประมาณถึงข้อเท้า เชิงผ้าถุงกระชับเข้ากับตัวผู้สวมใส่
  • เครื่องประดับ โดยปกติผู้หญิงจะใส่เครื่องประดับเฉพาะในงานที่มีพิธีกรรมสำคัญ เช่น พิธีฉลองขึ้นปีใหม่หรือพิธีแต่งงานเท่านั้น เครื่องประดับของหญิง ได้แก่ โลหะเงินหรือเหรียญเงินที่ประดับกระดุมเงินเล็ก ๆ เป็นกระดุมเสื้อ เสื้อบางตัว มีเหรียญเงินรูปี ซ้อนอยู่ที่กระดุมด้วย เครื่องประดับอื่น ๆ ได้แก่ ต่างหู แหวน และสร้อยเงิน

เสื้อผ้าแต่งกายและเครื่องประดับผู้ชาย เสื้อผ้าของผู้ชายจะถูกกำหนดด้วยผ้าฝ้ายทอมือสีดำ เช่นเดียวกันกับเสื้อผ้าผู้หญิง

  • เสื้อ ของผู้ชายเป็นเสื้อสีดำตัวใหญ่แขนยาวผ่าอกกลาง ตัวเสื้อสั้นคลุมเอวมีลวดลายติดอยู่เป็นแถบแคบ ๆ ตามแนวที่ผ่าลงมา ติดกระดุมเงินรูปกลม ๆ หรือกระดุมเปลือกหอยประดับเป็นแนวลงไปถึงชายเสื้อ
  • กางเกง เป็นกางเกงที่มีความยาวประมาณคลุมเข่าคล้ายกางเกงขาก๊วย แต่ส่วนบนบานแล้วลีบเล็กลงมาตามลำดับเป้ากางเกงกว้างเกือบเท่ากับความยาวของขากางเกง สีของผ้าที่นำมาตัดกางเกงของผู้ชายต้องเป็นสีดำเท่านั้น
  • ผ้าคาดเอว เป็นผ้าทอมีลักษณะเป็นผืนผ้ายาวใช้พันรอบเอวหรือใช้คาดเอวแล้วผูกเป็นปมด้านหน้าตัวเสื้อ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เครื่องดนตรี

สิ่งที่แสดงเอกลักษณ์ประจำกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันจากบรรพบุรุษ โดยการนำวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเครื่องดนตรีลาหู่ มีดั้งนี้

1.อาถ่า เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ ซึ่งมีนานับพันปี อาถ่า เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ลักษณะภายนอกเหมือน จองหน่อง หรือภาษาอีสาน เรียกว่า หุน, หืน อาถ่ามีลักษณะก่ำกึ่งระหว่างเครื่องเป่าและเครื่องดีด เนื่องจากเวลาที่บรรเลงจะต้องใช้อาการทั้งสองอย่าง อาถ่า จัดเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมเล่น เพื่อเกี๊ยวพาราสีกัน โดยเฉพาะเวลาเดินทางไปทำไร่ หรือใช้นัดหมาย เครื่องดนตรีชนิดนี้มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว

2.แคนน้ำเต้า เป็นเครื่องดนตรีประจำเผ่าและใช้ในพิธีกรรม คือ ชาวเขาเผ่าลาหู่ ชาวเขาลีซู ชาวเขาเผ่าลาฮู ชาวเขาเผ่าอาข่า และชาวเขาเผ่าม้ง โดยชาวเขาแต่ละเผ่าก็มีเรียกแตกต่างกันไป คือ ลาหู่ เรียกแคนว่า หน่อ มี 3 ขนาด คือ แคนขนาดเล็ก เรียกว่า หน่อเมออะตู่ ขนาดกลางเรียกว่า หน่อ ขนาดใหญ่ เรียกว่าหน่อกู่มา หรือหน่อกาโล้ แคนน้ำเต้า ส่วนใหญ่ใช้เป่าเกี๊ยวสาว หรือใช้ในงานแต่งงาน ขึ้นปีใหม่ หรืองงานศพ บางหมู่บ้านไม่นิยมใช้เพลงแคนประกอบงานศพ เหมือนชาวลาหู่บ้านห้วยหลวง

ภาษาที่ใช้สื่อสาร

ภาษาพูด : ภาษาลาหู่

ภาษาเขียน : ภาษาเขียนที่ไม่มีตัวอักษรมาก่อน แต่ต่อมาภายหลังมีมิชชันนารีสอนศาสนาได้ใช้อักษรโรมันสร้างระบบเขียน 

ภาษาลาหู่ เป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษรหรือระบบการเขียน ภาษาพูดของลาหู่ กล่าวกันว่า เป็นภาษากลางธิเบโตเบอมัน เป็นตระกูลคำโดด ออกเสียงพยางค์เดียว ชาวลาหู่ที่ประเทศไทยส่วนใหญ่พูดภาษาพื้นเมืองภาคเหนิอ และภาษาไทยได้เพราะจะต้องใช้ในการติดต่อกับสังคมภายนอกคือคนไทย แต่สำเนียงไม่ค่อยชัดเจน เนื่องจากโครงสร้างของพยางค์ในภาษาแตกต่างจากภาษาไทย กล่าวคือ ไม่มีตัวสะกด แต่ในภาษาไทยมีตัวสะกด จึงทำให้ชาวลาหู่ไม่คุ้นเคยกับภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เจตชรินทร์ จิรสันติธรรม. (2545). ดนตรีชาวเขาเผ่ามูเซอ : กรณีศึกษาหมู่บ้านห้วยหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่. ปริญญานิพนธ์ (ศป.ม. มานุษยดุริยางควิทยา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อบต.แม่นาวาง โทร. 0-5311-4705