วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี
ชื่อ "แขวงจอมทอง" ใช้ชื่อเรียกตามตำนานวัดพระศรีจอมทอง (ปัจจุบันยกระดับเป็น วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร) แขวงจอมทอง มีพื้นที่ปกครอง 4 แคว้น คือ แคว้นบ้านหลวง แคว้นสองแคว แคว้นเตี๊ยะ แคว้นบ้านแปะ ต่อมากระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศยกฐานะสภาตำบลบ้านหลวงเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี
การเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเทศราชเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลทำให้นครเชียงใหม่ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ถูกลดบทบาทลงมาเป็นหัวเมืองหนึ่งในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ตั้งชุมชนที่อยู่โดยรอบวัดพระธาตุศรีจอมทอง ให้เป็นเมืองหนึ่ง โดยใช้ชื่อ "แขวงจอมทอง" และให้ใช้ชื่อเรียกตามตำนานวัดพระศรีจอมทอง (ปัจจุบันยกระดับเป็นวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร) แขวงจอมทอง มีพื้นที่ปกครอง 4 แคว้น คือ แคว้นบ้านหลวง แคว้นสองแคว แคว้นเตี๊ยะ แคว้นบ้านแปะ ต่อมากระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศยกฐานะสภาตำบลบ้านหลวงเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 52 ง ประกาศ 25 ธันวาคม 2539 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป ต่อมาได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลบ้านหลวง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศ ณ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 17ง ประกาศ 11 กุมภาพันธ์ 2554 และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตโดยแยกพื้นที่ หมู่ที่ 1 ถึง หมู่ที่ 4 ของตำบลบ้านหลวงไปรวมกับเทศบาลตำบลจอมทอง ตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 128 ตอนพิเศษ ง ประกาศ 16 ธันวาคม 2554 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
ที่ตั้ง เทศบาลตำบลบ้านหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอจอมทองประมาณ 10 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 65 กิโลเมตร เนื้อที่โดยประมาณ 364 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น ร้อยละ36.4 ของเนื้อที่ทั้งอำเภอ (อำเภอจอมทองมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,055.2 ตารางกิโลเมตร)
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลดอยแก้ว ตำบลสบเตี๊ยะ และเทศบาลตำบลจอมทอง อำเภอจอมทอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง และตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลช่างเคิ่ง ตำบลท่าผา และตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม
สภาพภูมิประเทศ เทศบาลตำบลบ้านหลวงมีที่ราบสำหรับการเพาะปลูกน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาสูงพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ มีน้ำตกที่สวยงามอยู่หลายแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอจอมทอง
อาชีพหลัก ประชากรส่วนมากทำเกษตรกรรมแบบไร่เชิงเดี่ยวและไร่หมุนเวียน มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังรับจ้างเป็นแรงงานเกษรตรกรรมภายในและนอกชุมชน
1. นางลัดดา วงค์วิริยะ
- วัน เดือน ปีเกิด : 20 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2512 อายุ: 51 ปี
- ภูมิลำเนา : บ้านหลวง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- บทบาทและความสำคัญต่อชุมชน : นางลัดดา วงค์วิริยะ เป็นบุคคลสำคัญทางด้านความเชื่อในพื้นที่ชุมชนบ้านหลวง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการจัดประเพณีไหว้เจดีย์สามครั้งในรอบปี โดยจะมีชาวบ้านบริเวณโดยรอบที่นับถือมาเข้าร่วม
2. นายจรัญ ใจวะกะ (ยง)
- วัน เดือน ปีเกิด : 12 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 อายุ: 65 ปี
- ภูมิลำเนา : บ้านหลวง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- บทบาทและความสำคัญต่อชุมชน : นายจรัญ ใจวะกะ เป็นบุคคลสำคัญในด้านการประกอบอาชีพการเพาะปลูก ลุงยงเล่าว่า ชาวบ้านมีความเคารพและความเชื่อในการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม โดยจะทำการกล่าวขออนุญาตและขอขมาแม่ธรณีด้วยน้ำดอกไม้และขมิ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมการเสี่ยงทายก่อนการเพาะปลูก โดยการนำเอาดินจากพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูกมานอนทับใต้หมอนจำนวน 1 คืน จากนั้นก็ดูว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย ถ้าฝันดีแสดงว่าพื้นที่ดินนี้เหมาะสำหรับตนเอง สามารถลงมือเพาะปลูกได้ แต่ถ้าฝันร้าย แสดงว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ดี เจ้าที่ไม่อนุญาตให้ทำกิน ก็ต้องจัดหาและจับจองพื้นที่ใหม่ ในนการเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก เริ่มต้นด้วยการตัด ฟัน และแผ้วถางพื้นที่ให้โล่ง จากนั้นจะเก็บเศษไม้เศษวัชพืชมากองรวมกันเพื่อทำการเผา โดยมีความเชื่อว่า การเผาดินจะช่วยให้ดินมีปริมาณที่สูงขึ้น ส่งผลให้พืชผลเจริญงอกงามโดยไม่ต้องใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องการปลูกตะไคร้เพื่อแก้เคล็ด หากพื้นที่ใดไม่ปลูกตะไคร้ หากมีฟ้าผ่าลงมายังพื้นที่การเกษตร พื้นที่นั้นจะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีก
ทุนทรัพยากรทางธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ : แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา ที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ 31 เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 ถนนจอมทอง-อินทนนท์ บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณโดยรอบมีอากาศหนาวเย็น และมีธรรมชาติที่สวยงาม และมีสนามหญ้าโล่งกว้าง เหมาะแก่การพักผ่อนกางเต็นท์
- ฤดูกาลท่องเที่ยว : ดอยอินทนนท์สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูร้อน เดือนมีนาคม–พฤษภาคม แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่บนยอดดอยยังมีอากาศเย็นสบาย มีน้ำตกน้อยใหญ่ที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว อาทิเช่น น้ำตกแม่ยะ น้ำตกแม่กลาง น้ำตกวชิรธาร น้ำตกสิริภูมิ เป็นต้น
- ฤดูฝน : เดือนมิถุนายน-กันยายน ฝนตกชุกเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่า ชมสายหมอกและละอองฝนที่ผสานความสวยงามกลมกลืนกัน
- ฤดูหนาว : เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ อากาศค่อนข้างหนาว ฝนเริ่มลดน้อยลง และมีอากาศหนาวจัดที่สุดในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวมากที่สุด ในตอนกลางคืนอุณหภูมิจะลดต่ำกว่า 0 ถึง -7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิอาจติดลบในบางปี ทำให้เกิดน้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง
- ฤดูร้อน : โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว ตามแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกบนยอดดอยอินทนนท์ เป็นที่ผ่อนคลายความร้อนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีโรงแรมและสถานพักตากอากาศจำนวนมากในเมืองจอมทอง มีสิ่งอำนวยสะดวกครบครัน รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อน
น้ำตกแม่กลาง : น้ำตกแม่กลางเป็นน้ำตกในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ รอบ ๆ บริเวณร่มรื่นน่าพักผ่อน การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตร แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางลาดยางตลอด
น้ำตกแม่ยะ : น้ำตกแม่ยะเป็นน้ำตกในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีขนาดใหญ่และสวยงามแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน 280 เมตร ลงมากระทบโขดหินเป็นชั้นๆ เหมือนม่าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย บริเวณน้ำตกสะอาด และจัดการพื้นที่ได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป 15 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 600 เมตร
น้ำตกวชิรธาร, น้ำตกสิริธาร : น้ำตกวชิรธาร, น้ำตกสิริธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อตาดฆ้องโยง ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 750 เมตร น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง การเดินทางจากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตก ลงไป 500 เมตร ถนนจะถึงที่ตัวน้ำตก อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางเดิมอยู่เลยจากทางแยกแรกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป้ายและเดินจากลานจอดรถ ลงไปอีก 351 เมตร หากใช้เส้นทางนี้จะได้สัมผัสกับงามของธรรมชาติรอบด้านตลอดทางเดิน
ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ น้ำ ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง การอุปโภค-บริโภค เป็นน้ำที่ได้จากน้ำประปา น้ำบาดาล และน้ำฝน ซึ่งจะต้องนำมาผ่านกระบวนการของระบบประปาหมู่บ้าน ป่าไม้ ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง ไม่มีป่าไม้ ภูเขา ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง ไม่มีภูเขา
คุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง ไม่มีป่าไม้ บ่อทราย ฯลฯ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม คือมีน้ำล้อมรอบตำบลเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ลักษณะของพื้นที่เป็นดินสีดำเข้มถึงดำมีจุดประสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเทา และจุดประสีเหลืองเทา การระบายน้ำช้า มีอินทรีย์วัตถุปานกลางปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชของดินชั้นบนปานกลางของดินชั้นล่างต่ำ ปริมาณโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชของดินชั้นบนสูงมาก HP 4.5 - 5 เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว
ทุนทรัพยากรทางวัฒนธรรม
- หมู่บ้านขุนกลาง : ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงอินทนนท์ รับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่ ผลิตผลหลักของโครงการ คือ ไม้ดอกเมืองหนาวต่าง ๆ เช่น คาร์เนชั่น เบญจมาศ สแตติส ยิบโซ เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชม แปลงปลูกดอกไม้ ห้องทดลองทำการเพาะขยายพันธุ์ และยังสามารถแวะชม แปลงปลูกดอกไม้ของชาวเขาในหมู่บ้านซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้าโครงการฯ ได้ด้วย
- วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร : เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 บริเวณที่ตั้ง เป็นเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
- งานหัตถกรรมผ้าทอ : อำเภอจอมทองจังหวัดเชียงใหม่เต็มไปด้วยงานหัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน ตัวอย่างเช่น การทอผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น ในอำเภอจอมทองมีกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย กลุ่มผ้าฝ้ายบ้านหนองอาบช้าง โดยการทำงานของกลุ่มชาวบ้านจะสนใจในการเรียนรู้และแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการทำงานและแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ธรรมชาตินำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
ภาษาม้ง เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน แต่คนรุ่นใหม่สามารถเขียนหรืออ่านได้ เนื่องจากเข้าโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลักและการเขียนไม่ใช่สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันของเด็ก ดังนั้น ภาษาม้งของชุมชนจึงคงอยู่ในลักษณะสองภาษาที่พูดใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนภาษาเขียนมีอยู่แค่ส่วนน้อย อย่างไรก็ตามทางชุมชนมีความพยายามผลักดันให้มีการอนุรักษ์ภาษาโดยการจัดห้องเรียนภาษา สอนภาษาเขียนม้งให้กับเยาวชนในชุมชนและผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนโดยผู้ที่ทำหน้าที่สอนเป็นผู้อาวุโสในชุมชน
จากการส่งพื้นที่สำรวจชุมชนบ้านหลวงพบว่าชุมชนแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และการมีส่วนร่วมที่น่าสนใจ โดยสะท้อนผ่านปัญหาในเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการการสูญหายของประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวม้งของชุมชนกลายเป็นชุมชนสมัยใหม่ มีวิถีชีวิตรวมถึงการเข้ามาของวิถีการผลิตแบบคนพื้นราบ นอกจากนี้ยังปรากฏให้เห็นผ่านภาษา การแต่งกาย การเข้าวัดและการนับถือศาสนาพุทธแบบไทย
ด้านการแต่งกาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการแต่งกายตามสมัยนิยมมากขึ้น ด้านการใช้ภาษาม้ง คนรุ่นใหม่ที่เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนตามระบบของราชการไทยไม่นิยมพูดภาษาม้ง เนื่องจากอายเพื่อนและมักจะถูกล้อเลียน ส่งผลให้ความนิยมของการใช้ภาษากลางเพื่อสื่อสารกับคนรอบข้างมากขึ้น มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่ยังคงนิยมพูดภาษาม้ง ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อและจิตวิญญาณกลุ่มชาติพันธุ์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป พระพุทธศาสนาและวัดมีบทบาทมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมในชุมชน
ก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์. (2565). เทศบาลตำบลบ้านหลวง. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566, จาก http://banloung.go.th/
เกวลิน หนูสุทธิ์. (2560). การจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนในหมู่บ้านแม่กลางหลวงตำบลบ้านหลวงอำเภอจอมทองเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566, จาก http://www.thaiexplore.net/
ลัดดา วงค์วิริยะ, สัมภาษณ์, 21 มกราคม 2566.