Advance search

บ้านป่าเหียง

ภายในชุมชนบ้านป่าเหียงมีเฮือนไทลื้อโบราณอายุกว่า 70 ปี ซึ่งเป็นเฮือนไทลื้อหลังสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในตำบลบ้านธิ 

บ้านป่าเหียง
บ้านธิ
บ้านธิ
ลำพูน
เทศบาลบ้านธิ โทร. 0-5203-9561-3
ปนัดดา แก้วอูป
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านป่าเหียง
บ้านป่าเหียง

บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีป่าเหียงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีชาวบ้านเข้ามาก่อตั้งหมู่บ้าน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามลักษณะสภาพแวดล้อมว่า บ้านป่าเหียง


ภายในชุมชนบ้านป่าเหียงมีเฮือนไทลื้อโบราณอายุกว่า 70 ปี ซึ่งเป็นเฮือนไทลื้อหลังสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในตำบลบ้านธิ 

บ้านป่าเหียง
บ้านธิ
บ้านธิ
ลำพูน
51180
18.64451
99.14386
เทศบาลตำบลบ้านธิ

บ้านป่าเหียง หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน จากคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ที่สืบทอดกันมาว่าสถานที่ตั้งของหมู่บ้านมีป่าไม้เหียงมาก เมื่อมีการก่อตั้งหมู่บ้านจึงเป็นที่มาของชื่อเรียก บ้านป่าเหียง

ตำบลบ้านธิ เป็นพื้นที่ที่มีตำนานการอพยพของชาวไทลื้อจากสิบสองปันนาเข้ามาอยู่อาศัย คาดว่าตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ในดินแดนแถบนี้ เห็นได้จากนามสกุลของชาวไทลื้อบ้านธิส่วนใหญ่จะเกิดจากชื่อของบรรพบุรุษ แล้วลงท้ายด้วยคำว่า ใหญ่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวไทลื้อ เช่น ปัญโญใหญ่ และสิทธิใหญ่ ฯลฯ

ปัจจุบันตำบลบ้านธิยังคงเป็นพื้นที่ที่ปรากฏร่องรอยกลิ่นไอทางอารยธรรมของชาวไทยลื้ออยู่อย่างเข้มข้น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวไทลื้อที่มีอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในหมู่บ้านต่าง ๆ ของตำบลบ้านธิ เช่นเดียวกับบ้านป่าเหียง หนึ่งหมู่บ้านในปกครองของตำบลบ้านธิ หมู่บ้านที่ปรากฏเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวไทลื้อมาอย่างยาวนาน ซึ่งหากอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และตำนานการอพยพของชาวไทลื้อจากดินแดนสิบสองปันนาสู่เมืองเชียงรุ้ง ก่อนที่บางส่วนจะมาลงหลักปักฐานที่บ้านป่าเหียง คาดว่าอาจเป็นเวลายาวนานมากกว่า 200 ปีมาแล้ว 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จรด หมู่ 1 และหมู่ 2 ต.ห้วยยาบ
  • ทิศใต้ จรด หมู่ที่ 1 บ้านเตาปูน
  • ทิศตะวันออก จรด หมู่ที่ 9 บ้านดอยเวียง และเขตป่าสงวน
  • ทิศตะวันตก จรด หมู่ที่ 1 บ้านเตาปูน

สภาพที่ตั้ง

สภาพทั่วไปของหมู่บ้านเป็นที่ราบลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่ทำการเกษตร สวนลำไย และเทือกเขา มีคลองชลประทานแม่กวงสายใหญ่ไหลผ่านจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกจะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน

ทรัพยากรทางธรรมชาติ

ทรัพยากรน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของชุมชนบ้านป่าเหียงยังพบว่ามีคุณภาพต่ำ เพราะมีการปนเปื้อนของสนิมเหล็กในปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐาน และแห้งแล้งในฤดูแล้ง ส่วนน้ำสำหรับการเกษตรนั้นมีปริมาณน้ำมาก กระทั่งบางปีบ้านป่าเหียงต้องประสบกับปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร

ทรัพยากรป่าไม้ในชุมชนบ้านป่าเหียง เป็นป่าไม้ประเภทป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ตระกูลยาง เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง ไม้ตึง ไม้พลง ไม้แดง เป็นต้น จากอดีตในชุมชนมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมากทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ลดลงเหลือแต่ต้นไม้ขนาดเล็กเป็นไม้ผลัดใบในฤดูร้อน ใบไม้แห้งกรอบทำให้เกิดไฟป่า ประกอบกับพื้นที่แห้งแล้งทำให้ต้นไม้ขนาดเล็กไม่สามารถเติบโตได้ 

ประชากรในชุมชนมีจำนวนทั้งหมด 507 คน แยกเป็น ประชากรชาย 241 คน ประชากรหญิง 266 คน ครัวเรือนในหมู่บ้านมีจำนวน 202 ครัวเรือน (แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 25612565 เทศบาลตำบลบ้านธิ) ประชากรในหมู่บ้านเป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของชาวไทลื้อซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ร่วมกับชาวพื้นเมือง ไทยอง และไทยวน 

ไทยวน, ยอง, ไทลื้อ

การประกอบอาชีพ

การประกอบอาชีพของชาวบ้านป่าเหียงมีทั้งอาชีพในภาคการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงงานหัตกรรมจักสานในครัวเรือน งานช่างไม้ ช่างปูน ช่างเหล็ก การแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตร เป็นแรงงานอุตสาหกรรรม และรับจ้างทั่วไป โดยประชากรส่วนใหญ่มีรายได้จากการประกอบอาชีพในภาคการเกษตร เช่น ทำนา และสวนลำไย ซึ่งสามารถสร้างรายได้ประมาณปีละ 60,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของรายได้ในภาคการเกษตรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ ปัจจัยการผลิตที่มีราคาแพง เช่น สารเคมี ปุ๋ยเคมี ฯลฯ และราคาผลผลิตเป็นตัวกําหนด ส่วนรายได้นอกภาคเกษตรกรรมเฉลี่ยประมาณ 45,000 บาท/ครัวเรือน/ปี

บ้านป่าเหียงมีผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปประจำชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากเทศบาลตำบลบ้านธิ คือ การผลิตน้ำพริกตาแดงลื้อ โดยกลุ่มแม่บ้านชาวไทลื้อ

กลุ่มชุมชน

  • กลุ่มผู้ผลิตน้ำถุ้งบ้านธิ เป็นสินค้าที่มีการผลิตกันมากได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้นของคนในชุมชนเพื่อผลิตน้ำถุ้งให้มีมาตรฐานเดียวกัน น้ำถุ้งบ้านธิได้รับการยกระดับมาตรฐานขึ้นเป็นสินค้า OTOP ระดับสามดาว และภายหลังมีการออกแบบตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ทำให้มีผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงขึ้นอีก

  • กลุ่มผู้ผลิตข้าวแคบ กลุ่มแม่บ้านได้รวมกลุ่มกันทำข้าวแคบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตกันเพื่อยึดเป็นอาชีพกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ซึ่งในปัจจุบันข้าวแคบได้ถูกจัดเป็นสินค้า OTOP ระดับหนึ่งดาว ข้าวแคบได้รับการปรับปรุงรสชาติและสีสันใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น สีอัญชัน สีขมิ้น สีใบเตย รสฟักทอง รสกล้วยหอม และรสลำไย เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย ตัวผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ข้าวแคบเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

  • กลุ่มสิ่งประดิษฐ์เศษไม้เก่า คือ การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการด้านผลิตเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องตกแต่งอาคารบ้านเรือน เช่น ตู้ โต๊ะ โคมไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากไม้เก่า โดยการนำเอาเศษไม้ที่เหลือใช้มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ไหข้าว หีบเก็บใส่เครื่องมือ/ใส่มีด ใส่หมากพลู ใส่เกลือ พริก เป็นต้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดมาจนถึงลูกหลาน และต่อมาได้มีการพัฒนาผลิตเป็นสินค้าในชุมชนมากมาย เช่น กล่องนามบัตร กรอบรูป บ้านทรงไทย เฟอร์นิเจอร์จำพวก โต๊ะ เก้าอี้ เตียง เป็นต้น 

ประเพณีชุมชน

แม้ว่าชาวไทลื้อได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในล้านนามายาวนาน ทำให้เกิดการผสมผสานด้านวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน แต่ชาวไทลื้อยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น ประเพณีพิธีกรรมของชาวไทลื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผีอารักษ์ เรียกว่า เข้าก๋ำหรือเข้ากรรม มีตั้งแต่ก๋ำเฮือนหรือกรรมเรือน ไปจนถึงก๋ำเมืองหรือกรรมเมือง ชาวไทลื้อให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สืบสานงานประเพณีในแต่ละพื้นที่ เช่น งานจุลกฐิน ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ การรวบรวมเครือข่ายไทลื้อจาก 12 อำเภอในจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ น่าน และเชียงราย ในงานสืบสานประเพณีไทลื้อของอำเภอแม่สาย เป็นต้น

สำหรับประเพณีสำคัญที่ชาวไทลื้อ ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในชุมชนบ้านป่าเหียงปฏิบัติสืบทอดร่วมกันเป็นประจำ ได้แก่

  • ประเพณีทำบุญตานข้าวใหม่ คือ ทำบุญทานข้าวใหม่ ในเดือนมกราคม

  • ประเพณีทำบุญปอยหลวง คือ ทำบุญสิ่งปลุกสร้างใหม่ของวัด เช่น ศาลาวิหาร อาคารเปรียญในวัดกุฏิ  

  • ประเพณีทำบุญวันมาฆบูชา

  • ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ในเทศกาลสงกรานต์

  • ประเพณีแห่ไม้ค้าสะหลี (ไม้ค้าโพธิ์) ในเทศกาลสงกรานต์

  • ประเพณีขนทรายเข้าวัดในเทศกาลสงกรานต์

  • ประเพณีทำบุญสืบชะตาหมู่บ้าน (การสะเดาะเคราะห์)

  • ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ

  • ประเพณีทำบุญในวันเข้าพรรษา

  • ประเพณีทำบุญวันออกพรรษา

  • ประเพณียี่เป็ง ทำบุญตักบาตร ฟังธรรมมหาชาติ และการแห่งพระพุทธรูปรอบหมู่บ้าน (ในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี)

  • ประเพณีทำบุญสลากภัตร คือการทำบุญไปหาผู้ล่วงลับ ทำบุญไปภายหน้า และการจัดหาเงินทุนสำหรับพระเณรไว้เป็นปัจจัยใช้สอย

  • ประเพณีการเลี้ยงพ่อบ้าน (ช่วงเดือนมิถุนายน หรือแรม 9 ค่ำ เดือน 9)

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวไทลื้อนับถือพุทธศาสนาร่วมกับความเชื่อเรื่องผีโดยเฉพาะผีบ้านผีเรือน ผีเจ้านาย ผีอารักษ์ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมก่อนการนับถือพุทธศาสนา ต่อมาได้ผสมผสานความเชื่อระหว่างพุทธศาสนาและการนับถือผีเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในล้านนา ดังปรากฏประเพณีพิธีกรรมสำคัญในท้องถิ่นทั้งพุทธศาสนาและการเลี้ยงผี

พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน การแต่งกาย

ชาวไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่น ๆ อาหารที่นิยมรับประทานมักจะเป็นแกงกินคู่กับผักหรือพืชพรรณธรรมชาติ หรืออาหารชนิดอื่นที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น เห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง สาหร่ายน้ำจืด ใช้พริกแกงเป็นเครื่องปรุงหลัก ประกอบด้วย พริก ตะไคร้ หอม กระเทียม ปลาร้า หากเป็นอาหารประเภทหน่อไม้จะใส่น้ำปู๋ลงไปด้วย เช่น ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ เป็นต้น อาหารของชาวไทลื้อจะไม่ค่อยมีส่วนผสมของไขมัน

การทำงานส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และทำงานในภาคเกษตรที่เป็นพื้นที่ของตัวเอง และพื้นที่ที่เป็นของสมาชิกชุมชน บางส่วนออกไปรับจ้างภายนอกชุมชนในบางช่วงเวลา

ในส่วนของการแต่งกาย เด็กและเยาวชนจะแต่งกาย ผู้สูงอายุจะนุ่งผ้าซิ่นกับเสื้อ สำหรับผู้สูงอายุบางคนมักจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาติพันธุ์เมื่อมีงานประเพณีหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ทั้งนี้ การแต่งกายแบบคนไทลื้อ ผู้ชายจะสวมเสื้อคล้ายเสื้อหม้อฮ้อม ลักษณะเป็นเสื้อแขนยาวสีดำหรือสีคราม แขนเสื้อขลิบด้วยแถบผ้าสีต่าง ๆ มีผืนผ้าต่อจากสายหน้าป้ายมาติดกระดุมเงินบริเวณใกล้รักแร้และเอว กางเกงเป็นกางเกงก้นลึก เรียกว่า “เต่ว 3 ดูก” สีเสื้อผ้าของผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะเป็นสีเทาและสีดำ ถ้ามีงานบุญจะใส่สีขาว หรือสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดพุง โพกศีรษะด้วยผ้าสีน้ำตาล สีขาว สีดำ ในส่วนของผู้หญิงจะสวมเสื้อที่มีลักษณะเฉพาะเรียกว่าเสื้อปั๊ด แขนยาวตัดเสื้อเข้ารูป เอวลอย มีสายหน้าเฉียงผูกติดกันด้วยด้ายฟั่นหรือแถบผ้าเล็ก ๆ ที่มุมซ้ายหรือขวาของลำตัว  ชายเสื้อนิยมยกลอยขึ้นทั้งสองข้าง สาบเสื้อขลิบด้วยแถบผ้าสีต่าง ๆ ประดับด้วยกระดุมเม็ดเล็กเรียงกัน สวมซิ่นไทลื้อที่มีลวดลายกลางตัวซิ่น ส่วนหัวซิ่นเป็นผ้าฝ้ายสีดำ สีน้ำตาล หรือสีขาว ตีนซิ่นเป็นผ้าพื้นสีดำ สีเสื้อผ้าของผู้หญิงไทลื้อจะใช้ในโอกาสที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้ามีงานบุญจะใส่เสื้อปั๊ดสีขาว โพกหัวด้วยผ้าสีขาว ส่วนเสื้อผ้าสีดำจะสวมใส่ในงานประเพณีหรืองานแต่งงาน    

1. นาย อำพล สายปัน  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 บ้านป่าเหียง ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

มีหน้ารับผิดชอบและหน้าที่ต่าง ๆ ดูแล และดำเนินงานต่าง ๆ ให้กับชุมชนและคนในชุมชน เวลามีงานในชุมชนนายอำพลจะเป็นตัวแทนติดต่อและเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้กับชาวบ้านได้ทราบถึงประเด็นสำคัญ อนึ่ง ปัจจุบันบ้านป่าเหียงได้มีการร่วมประชุมหารือกันในเรื่องของแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศชุมชนดีเด่น ในการบริหารจัดการ ซึ่งมีประธานการบริหารจัดการ คือ นายอำพล สายปัน

2. นายวิชาญ สายวังจิตต์  อายุ 58 ปี ปราชญ์ชาวบ้านที่มีเฮือนไทลื้อเป็นของตัวเอง และเฮือนไทลื้อที่กล่าวถึงเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน นายวิชาญ เป็นผู้ดูแลเฮือนไทลื้อและเป็นผู้ที่สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับเฮือนไทลื้อให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมและนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาดูงานว่าเฮือนไทลื้อเป็นแบบไหนมีวิธีการดูแลรักษาอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่ชุมชนอย่างไร รวมถึงเป็นผู้รู้จักและเชียวชาญเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวไทลื้อ ที่แม้บางอย่างสูญหายไปแล้ว แต่นายวิชาญยังสามารถอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งของหรือเรื่องนั้น ๆ ได้

3. นางอำนวย ปัญโญใหญ่  เป็นผู้ประกอบการชุมชนที่เชี่ยวชาญด้านการทำโคมล้านนาไทลื้อมากว่า 10 ปี นางอำนวย ปัญโญใหญ่ เป็นหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจการทำโคมล้านนา หากใครอยากจะเข้ามาเรียนรู้หรือฝึกทำโคมจะมีค่าบริการ 200 บาท/คน ทั้งนี้ยังมีบริการอาหารว่างและเครื่องดื่มให้ตลอดทั้งวัน

4. นางกมลวรรณ กลิ่นใหญ่  เป็นผู้ประกอบการชุมชน (Champ) เจ้าของผลิตภัณฑ์ เห็ดนางฟ้าสามรส ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอดเห็ดปรุงมายาวนานกว่า 5 ปี  

มรดกทางภูมิปัญญา

การสานน้ำถุ้ง

น้ำถุ้งเป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ ยาด้วยชันและน้ำมันยาง (ปัจจุบันใช้ขี้ย้าและน้ำมันก๊าดแทน เพราะหาง่าย) ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำ มีลักษณะคล้ายกรวยป้อม มีส่วนกันเป็นรูปมนแหลม ปากจะมีไม้ไขว้กัน สำหรับผูกเชือกที่ใช้สาวน้ำขึ้นจากบ่อ โดยความมนของน้ำถุ้งจะช่วยให้น้ำถุ้งคว่ำลงให้น้ำเข้าเมื่อโยนลงไปในบ่อ เมื่อตึงเชือกขึ้นมาน้ำก็จะเต็มถุ้งพอดี

เฮือนไทลื้อโบราณ

เป็นเฮือนของพ่อน้อยเมืองอินทร์ สายวังจิตต์ (สร้างเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2494) ปัจจุบันมีนายวิชาญ สายวังจิตต์ หรือลุงชาญ เป็นผู้ให้ข้อมูลและพาเยี่ยมชม เฮือนไตลื้อหลังนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซม เมื่อปี พ.ศ. 2548 เพื่อรักษาสภาพเสาเรือนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเฮือนไทลื้อหลังนี้กลายเป้นแหล่ง้รียนรู้ทางวัฒนธรรมไทลื้อ เพื่อให้ลูกหลานเกิดความรู้สึกหวงแหน และเรียนรู้รากเหง้าทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เฮือนไทลื้อนี้จึงเปรียบเสมือนสมบัติของชุมชนที่ควรช่วยกันสนับสนุน อนุรักษ์ และสืบทอดเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้คงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป

เฮือนไตลื้อที่สร้างขึ้นเป็นการออกแบบผสมผสานระหว่างรูปแบบเรือนไทลื้อกับเรือนแบบไทย สร้างเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างถึง 2 เดือน ซึ่งการสร้างเรือนหลังนี้ใช้ช่างหรือคนในสมัยก่อนเรียกว่า "สล่า" ช่างที่สร้างบ้านหลังนี้จะใช้เต่ามือเป็นเครื่องมือในการปัดไม้เพื่อทำแผ่นไม่ให้เรียบเนียน ใช้สิ่ว สำหรับตอกเพื่อทำรู เฮือนไทลื้อหลังนี้สร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหลัง โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคาน เสาเรือนถากเป็นแปดเหลี่ยมและเจาะช่องเพื่อสอดแวง (รอด) เพื่อรับตงและพื้นเรือนที่ยกสูง หลังคาเดิมมุงด้วยดินขอ ปัจจุบันมุงด้วยแป้นเกล็ด ระหว่างเรือนมี ฮางริน ทำจากไม้ซุงขุดเป็นรางโครงสร้างรับน้ำหนักของหลังคา คือ เสาดั้ง และเสาเรือน ใต้หลังคาโล่งไม่มีฝ้าเพดาน มีเพดานในตัวเรือนบริเวณหน้าห้องนอนและหลังบ้านเพื่อใช้ขึ้นไปเดินซ่อมหลังคา หรือใช้เป็นที่เก็บของของคนสมัยก่อน ฝาผนังเป็นฝาแป้นหลั่น (ฝาตีตามแนวตั้ง) มีไม้ระแนงตีปิดแนวรอยต่อระหว่างแผ่นฝ้าไม้เหมือนเช่นเรือนกาแล มีป้อง (หน้าต่าง) จำนวนน้อย ติดตั้งชิดระดับพื้นเรือน พื้นบ้านจะมีแผ่นไม้ที่เปิดได้เรียกว่า ฮูล่อง เพื่อใช้สำหรับปัสสาวะ หรือใช้สำหรับสอดส่องผู้คนที่มาใต้ถุนบ้านในเวลากลางคืนได้

ภาษาที่ชาวบ้านป่าเหียงใช้ในการพูดคุยสื่อสารกัน ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาไทลื้อ และคำเมือง 


บ้านป่าเหียงมีการบริหารจัดการชุมชนโดยกลไกของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้าน กิจกรรม/โครงการต่าง ๆ จะผ่านเวทีประชาคมของหมู่บ้าน โดยมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรม/โครงการ ผ่านช่องทางกาประชาสัมพันธ์ เช่น การประกาศเสียงตามสาย/กลุ่มไลน์บ้านป่าเหียง/กลุ่ม Facebook “ป่าเหียงซิตี้ หมู่ที่ 13 บ้านธิ”/เพจชุมชนท่องเที่ยว OTOP   นวัตวิถี บ้านธิป่าเหียง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กศน. ตำบลบ้านธิ. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาบ้านธิ. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://sites.google.com/dei.ac.th/media-banthi

ชมรมสืบฮีตสานฮอยวัฒนธรรมบ้านธิ. (2563). ไตลื้อบ้านธิลำพูน. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: http://www.tailuebanthi.com/ 

เทศบาลตำบลบ้านธิ. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561-2565. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: http://www.oic.go.th/ 

แฟนเพจเฟซบุ๊กบ้านป่าเหียง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จากhttps://www.facebook.com/pages/

วิชาญ สายวังจิตต์. (ม.ป.ป.). เฮือนไทลื้อบ้านป่าเหียง. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: http://site.google.com/dei.ac.th/ 

วิชาญ สายวังจิตต์. (2566). เจ้าของเฮือนไทลื้อบ้านป่าเหียง. (11 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านธิจังหวัดลำพูน. (2563). หมู่บ้านสารสนเทศชุมชนดีเด่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://lamphun.cdd.go.th/

เทศบาลบ้านธิ โทร. 0-5203-9561-3