ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน แหล่งถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ อารยธรรม และวัฒนธรรมไทลื้อผู้สืบเชื้อสายจากดินแดนสิบสองปันนา
ชาวไทลื้อบ้านหย่วน เป็นชาวไทลื้อที่สืบเชื้อสายจากชาวไทลื้อจากเมืองหย่วนในสิบสองปันนา เมื่อได้อพยพลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำลาว จึงเรียกหมู่บ้านของตนว่า “บ้านหย่วน” ตามชื่อบ้านเมืองเดิม
ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน แหล่งถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ อารยธรรม และวัฒนธรรมไทลื้อผู้สืบเชื้อสายจากดินแดนสิบสองปันนา
บ้านหย่วน ชุมชนชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน และได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของประเทศไทยนานกว่า 200 ปี ตําบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีชาวไทลื้อเข้ามาตั้งรกรากอยู่เป็นจํานวนมาก เช่น บ้านหย่วน บ้านมาง เชียงบาน บ้านแวน โดยชาวไทลื้อที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในตำบลหย่วนสืบเชื้อสายมาจากเมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน เมืองบาน เมืองแพด และเมืองล้า จึงสามารถสังเกตได้จากการตั้งชื่อตำบลและหมู่บ้านที่ตั้งตามชื่อถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมที่ตนจากมา ในช่วงแรกของการก่อตั้งหมู่บ้านชาวนั้น ชาวไทลื้อได้รวมตัวกันอยู่ที่บ้านหย่วนเพียงหมู่บ้านเดียว แต่ต่อมามีการเพิ่มขึ้นของประชากรจึงได้แยกหมู่บ้านออกจากกันตามระเบียบของกรมการปกครอง อย่างไรก็ตามปัจจุบันในเมืองสิบสองปันนา ก็ยังมีหมู่บ้านหย่วนอยู่ที่นั่น เพราะยังมีการติดต่อระหว่างชาวบ้านหย่วนในอําเภอเชียงคํากับชาวบ้านหย่วนในเมืองสิบสองปันนาอยู่
สภาพแวดล้อม
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของชุมชนบ้านหย่วนมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลาวและลำน้ำหย่วนที่ไหลจากทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอเชียงคำบริเวณเทือกเขาแดนลาวผ่านหลายตำบลในอำเภอเชียงคำ แล้วไหลลงแม่น้ำลาวในอำเภอดอนหัน ลำน้ำเหล่านี้เป็นลำน้ำสำคัญที่ใช้ในการอุปโภค และใช้ในการเกษตรกรรมที่ของชาวบ้านที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณรอบ ๆ ชุมชน
สภาพภูมิอากาศ
สภาพดินฟ้าอากาศโดยทั่วไปของชุมชนบ้านหย่วนมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ฤดูฝน จะมีฝนตกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์
ลักษณะบ้านเรือน
เนื่องจากลักษณะครอบครัวของชาวไทลื้อบ้านหย่วนมีลักษณะเป็นครอบครัวแบบขยาย หรือครอบครัวใหญ่ที่มีการอยู่อาศัยร่วมกันหลายคน จึงจำเป็นต้องสร้างบ้านหลังใหญ่ หลังคาสูงมุงด้วยหญ้าคาหรือไม้แป้นเกล็ด ยกใต้ถุนสูงเพื่อใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น แขวนเปลเด็ก ตั้งกี่ทอผ้า เก็บฟืน หรือมีแคร่สําหรับพักผ่อน หรือทํากิจกรรมภายในครัวเรือนอื่น ๆ ภายในบ้านมีการแบ่งสัดส่วนการใช้อย่างชัดเจน คือ ส่วนห้องนอน และยุ้งฉาง ซึ่งกั้นด้วยชาน (เดิน) ลักษณะการก่อสร้างบ้านเรือนใช้วิธีเจาะรูแล้วใช้ลิ่มประกอบเป็นโครงสร้างไม้ เสาก็ต้องเจาะรูใส่แวง (คาน) การสร้างบ้านลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชาวไทลื้อ แต่ปัจจุบันภายในชุมชนบ้านหย่วนมีปรากฏบ้านลักษณะนี้เหลืออยู่เพียงหลังเดียว เนื่องจากชาวบ้านนิยมหันไปสร้างบ้านตามแบบสมัยนิยมด้วยปูนซีเมนต์และอิฐบล็อก ด้วยเป็นวัสดุที่มีความคงทนมากกว่าการสร้างด้วยไม้ และยังทันสมัยมากกว่าด้วย
สถานที่สำคัญ
- วัดหย่วน ตั้งอยู่ ณ บ้านหย่วนหมู่ที่ 3 อําเภอเชียงคํา มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างจะคลุมเครือ แต่ตามเอกสารของวัดบันทึกไว้ว่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2330 เหตุที่เรียกว่าวัดหย่วนนั้น แต่เดิมชาวไทลื้อจากเมืองหย่วนในสิบสองปันนา ได้อพยพลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำลาว เรียกหมู่บ้านของตนว่า บ้านหย่วน ตามชื่อบ้านเมืองเดิม เมื่อได้สร้างวัดขึ้นมาก็ตั้งชื่อว่า วัดหย่วน วัดนี้มีวิหารโบราณศิลปไทลื้อ ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ และโรงเรียนปริยัติธรรมสายสามัญ ซึ่งกรมการศาสนาได้ประกาศเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ประจําปี 2534
ปัจจุบันชุมชนบ้านหน่วนมีประชากรทั้งสิ้น 517 คน โดยประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นเป็นการอยู่อาศัยร่วมกันของชาวไทลื้อและชาวพื้นเมืองเดิม
ครอบครัวไทลื้ออยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่มีปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลุงป้า น้าอา ลูก หลาน อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น เคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสกว่า โดยเฉพาะผู้หญิงจะเคารพยกย่องผู้ชายมากเป็นพิเศษ ด้วยความเชื่อว่าผู้ชายเป็นเพศพระ ศรัทธาคาถาอาคมซึ่งถือเป็นของสูง จะเห็นได้จากเวลาไปทําบุญที่วัดผู้ชายกับผู้หญิงจะนั่งแยกกัน โดยผู้ชายจะได้นั่งบริเวณด้านหน้า ส่วนผู้หญิงนั่งถัดมาด้านหลัง เมื่อถึงเวลาลุกขึ้นมาตักบาตร ผู้ชายก็จะได้รับสิทธิพิเศษก่อนผู้หญิง และจะต้องเรียงตามลําดับอาวุโส โดยผู้อาวุโสกว่าจะได้อยู่หัวแถวได้ลุกขึ้นไปตักบาตรก่อน จนผู้ชายตักบาตรครบจึงจะมาเริ่มที่ผู้หญิง ซึ่งต้องเรียงตามลําดับอาวุโสเช่นกัน ถ้าเป็นผู้หญิงที่ปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาว จะได้นั่งแถวหน้าสุดและได้ลุกไปตักบาตรก่อนผู้ชาย ภาพที่สะท้อนออกมาอาจตีความได้ว่า ชาวไทลื้อให้ความยกย่องผู้ชายและยึดถือระบบเคารพผู้อาวุโส แต่ก็ให้ความสําคัญกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมมากกว่า และสิ่งหนึ่งที่คงอยู่ในวิถีไทลื้อสืบมาก็คือความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ไทลื้อแต่เดิมชุมชนบ้านหย่วน เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการผลิตผลผลิตทางการเกษตรเพื่อยังชีพเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันวิถีการดํารงชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ทําให้การผลิตแบบยังชีพต้องเปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำผลผลิตที่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด เมื่อรายได้กลายเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต จึงได้เกิดอาชีพใหม่มากมายขึ้นในชุมชน ได้แก่ อาชีพในภาคงานเกษตรกรรม งานหัตถกรรม ค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ
อาชีพเกษตรกรรม
โดยทั่วไปชาวไทลื้อบ้านหย่วน มีอาชีพทํานาเป็นอาชีพหลัก โดยเป้าหมายของการทำนา คือ เก็บข้าวไว้บริโภคในครัวเรือนตลอดหนึ่งปี ที่เหลือจึงจะนําไปขายหรือแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของบริโภคและอุปโภคต่าง ๆ โดยรูปแบบการทำนาของชาวไทลื้อบ้านหย่วน คือ การทำนาดำ ทั้งการปลูกข้าวปีในนาลุ่ม และข้าวเบาในนาดอน การปลูกข้าวปีนั้นจะใช้ระยะเวลามากกว่าการปลูกข้าวเบา ดังนั้น หนึ่งที่นาดอนสามารถปลูกพืชผลได้ถึง 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกทํานาข้าวเบา ครั้งที่สองและสามปลูกผัก เช่น ผักเขียวปลี 2 เดือน และกะหล่ำปลี 3 เดือน เป็นต้น ขณะที่ การปลูกข้าวปีนั้นสามารถปลูกผักได้ครั้งเดียว พันธุ์ข้าวส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็ว ทนทานต่อโรค และให้ผลผลิตมาก ในสมัยก่อนการทํานาทําไร่ของชาวไทลื้อจะมุ่งให้เป็นพื้นที่ทํากิน ดังนั้น ในนาข้าวจะต้องมีพืชอย่างอื่นปะปนอยู่รอบ ๆ เช่น พริก ถั่วฝักยาว บวบ แตง หากเมื่อใดชาวไทลือ้เดินทางไปสวนหรือไปนาแล้ว จะต้องได้พืชผักกลับมาประกอบอาหารที่บ้าน
หัตถกรรมทอผ้า
การทอผ้าลายไทลื้อนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อบ้านหย่วน และเป็นแหล่งรายได้สำคัญชาวไทลื้อ ซึ่งมักจะทำในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา แต่บางรายก็ยึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ผ้าที่มีชื่อ เสียง คือ ผ้าซิ่นลายดื้อหรือลายน้ำไหล
อาชีพค้าขาย
การค้าขายในชุมชนบ้านหย่วนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นร้านขายของชํา เพื่อสําหรับบริการคนในชุมชน ประเภทสินค้าก็จะมีทุกอย่างคละกันไป ร้านขายอาหาร ขายผักและผลไม้ในตลาด ชาวไทลื้อจะชอบปลูกพืชผักสวนครัวไว้ทานเองในครอบครัว และผลผลิตที่เหลือจากการก็บไว้รับประทานแล้วก็จะเอามาขายในตลาด ซึ่งเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง
ศาสนา
ชุมชนไทลื้อบ้านหย่วนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ วัดในชุมชนมีจํานวน 3 วัด คือ วัด พระธาตุสบแวน วัดหย่วน วัดแสนเมืองมา ชาวไทลื้อมีความเชื่อในกฎแห่งกรรม โดยมิได้ละเว้นการปฏิบัติทางศาสนา เมื่อมีประเพณีเกี่ยวกับพุทธศาสนาก็จะเข้าร่วมในกิจกรรม ทุกเช้ามีการทําบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม แต่ก็ยังคงความเชื่อพิธีกรรม ประเพณีของชาวไทลื้อที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะความเชื่อเรืองผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษ
ประเพณีสำคัญ
ประเพณีตานข้าวใหม่ ตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่ชาวไทลื้อปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวมาไว้ในยุ้งฉางแล้ว ก่อนจะนําข้าวไปดําหรือนําไปสีต้องหาฤกษ์ยามวันดีโดยดูจากตําราซึ่งจารึกลงบนแผ่นไม้ขนาดกว้างราว 4 นิ้ว ยาวราว 1 ศอก ซึ่งจะมีอยู่ประจําที่ยุ้งข้าว การตานข้าวใหม่ จะเริ่มในตอนเช้า โดยนึ่งข้าวใหม่พร้อมทั้งทําอาหารไปทําบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลของการกินข้าวใหม่ไปยังบุพการีผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ภายหลังกลับจากการทําบุญที่วัด ก็จะนําข้าวใหม่และอาหารไปให้บุพการีที่ยังมีชีวิตอยู่รับประทานก่อน เมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็จะให้พรแก่ลูกหลาน ประเพณีตานข้าวใหม่จึงถือเป็นประเพณีที่มีนัยแฝงถึงการแสดงความกตัญญูกตเวทีตอบแทนแก่ผู้มีพระคุณและบุพการี ทั้งผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว และผู้ที่มีชีวิตอยู่ เพราะท่านเหล่านี้ได้บุกเบิก สร้างไร่ไว้ให้ลูกหลานทํามาหากิน ดังนั้นเมื่อได้ผลผลิตจึงตอบแทนบุญคุณด้วยการตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่
ประเพณีปีใหม่ชาวไทลื้อ ตรงกับช่วงประเพณีสงกรานต์ของไทย โดยจะมีการประกอบพิธีทั้งหมดรวม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-18 เมษายนของทุกปี
- วันแรกคือวันที่ 13 เมษายน เรียกกันว่า “จังขารล่อง” หรือ “สังขารล่อง” ในตอนเช้าตรู่ชาวบ้านจะยิงปืน จุดพลุ ประทัด เสียงดังสนั่นไปทั้งหมู่บ้านเพื่อ ขับไล่ตัวจังขารซึ่งเป็นตัวอัปมงคล
- วันที่ 14 เมษายน เรียกกันว่า วันเน่า (วันเนาว์) เป็นวันสุกดิบ ชาวบ้านถือว่าเป็นวันนี้เป็นวันอัปมงคล ผู้ใหญ่จะวางตัวสงบเสงี่ยมไม่ด่าหรือเฆี่ยนตีลูกหลาน และห้ามลูกหลานไม่ให้ด่าหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน ในวันนี้ข่าวบ้านจะเตรียมทําขนมและอาหารไว้ทําบุญในวันรุ่งขึ้น ส่วนในช่วงเย็นชาวบ้านจะพาลูกหลานไปขนทรายเข้าวัดก่อเจดีย์ทราย เนื่องจากเชื่อกันว่าเมื่อเวลาที่ศาสนิกชนมาทําบุญที่วัดได้เหยียบย่ำเอาดินจากวัดติดออกไปด้วย ถือว่าเป็นบาปกรรม ดังนั้นจึงต้องขนทรายเข้าวัดเป็นการทดแทน
- วันที่ 15 เมษายน เรียกกันว่า “พญาวัน” (วันเถลิงศก) ตอนเช้าผู้ใหญ่ก็จะพาลูกหลานไปทําบุญ “ตานขันข้าว” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อถึงช่วงสายจะมีการรดน้ำดำหัวบุพการีและผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ส่วนตอนบ่ายผู้เฒ่าผู้แก่จะไปฟังเทศน์อานิสงฆ์ปีใหม่ที่วัด สําหรับหนุ่มสาวก็จะนัดกันไปยังจุดนัดพบที่บริเวณกลางหมู่บ้านเพื่อแข่งขันกีฬาพื้นเมือง เช่น เล่นหมากบ้า (สะบ้า) และเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
- วันที่ 16 เมษายน เรียกกันว่า “วันปากปี” (วันปากปี) เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของไทลื้อ ตอนเช้าชาวบ้านจะนําสะตวง พร้อมทั้งเครื่องบูชาพระรัตนตรัย และเสื้อผ้าของสมาชิกในครอบครัวไปประกอบพิธีบูชาข้าวหลีกเคราะห์ เพื่อให้เป็นสิริมงคลปราศจากเคราะห์ภัยทั้งปี ตอนสายก็จะเตรียมน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสรงน้ำพระร่วมกัน เรียกว่า ลงอุโบสถ
- วันที่ 17 เมษายน เรียกว่า “วันปากเดือน” ตอนสายชาวบ้านพร้อมในกันไปสรงน้ำพระพุทธรูปในวิหาร สรงน้ำเจ้าอาวาสที่วัด จากนั้นก็จะช่วยกันล้างกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ และทําความสะอาดวัด เรียกว่า “วันล้างวัด”
- วันที่ 18 เมษายน เรียกว่า “วันปากวัน” เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลปีใหม่ลื้อ ชาวบ้านบางส่วนยังสนุกสนานแต่ส่วนใหญ่จะเตรียมตัวสําหรับการประกอบอาชีพตามปกติ
มรดกทางภูมิปัญญา
ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุเครื่องใช้ทางพระพุทธศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวไทลื้อและชาวล้านนาในอดีต อีกทั้งยังเป็นศูนย์เรียนรู้กระบวนการทำเส้นฝ้าย การทอผ้าไทลื้อประจำชุมชน แสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรม และฝึกอาชีพของชาวไทยลื้อ โดยเฉพาะผ้าของชาวไทลื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส เช่น ลายดอกขอ ลายม้า ลายดอกตั้ง เป็นต้น
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวที่มีการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของล้านนาสู่เยาวชน จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แม้ว่าปัจุบัน อิทธิพลจากวัฒนธรรมสังคมเมืองจะเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยลื้อบ้านหย่วนเป็นอย่างมาก ทว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ภาษาไทลื้อยังคงเป็นภาษาหลักที่ชาวไทลื้อในชุมชนใช้สื่อสารกัน แม้ว่าวัฒนธรรทางภาษาของชาวไทยจะเข้าไปมีบทบาทกับคนในชุมชน ทั้งด้านการศึกษา หรือการติดต่อสื่อสารงานราชการที่จะต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร แต่สำหรับการสื่อสารภายในชุมชนนั้น อาจกล่าวได้ว่า ชาวไทลื้อบ้านหย่วนยังคงธำรงวัฒนธรรมทางภาษาของตนไว้ได้อย่างเข้มแข็ง อย่างที่อิทธิพลจากภาษาไทยไม่สามารถกลืนได้ นอกจากนี้ยังใช้คําเมืองในการติดต่อสื่อสารกันบ้าง โดยทั่วไปพบว่าชาวไทลื้อบ้านหย่วนมีการใช้ภาษาพูดอยู่ 3 ภาษา ดังนี้
- ภาษาไทลื้อ เป็นภาษาหลักที่พบมากที่สุดในหมู่บ้าน ใช้สื่อสารกันทั้งอยู่ในบ้านและออกนอกบ้าน
- ภาษาไทยกลาง จะพบได้ในกรณีที่คู่สนทนาเป็นคนต่างชาติพันธุ์กัน หรือคู่สนทนาไม่ใช่ชาวไทลื้อ โดยปกติจะใช้พูดกับคนเมือง
- ภาษาคําเมือง จะพบได้ในกลุ่มชาวบ้านที่เป็นคนเมือง
สำหรับภาษาเขียนของไทลื้อนั้นได้รูปแบบมาจากอักษรล้านนาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช มีรูปแบบการเขียนเหมือนกับภาษาล้านนา คือ เขียนสระ และตัวสะกดไว้ข้างบรรทัด จัดเป็นอักษรไทลื้อแบบดั้งเดิม ส่วนอักษรไทลื้อที่ใช้ในสิบสองปันนาได้มีการดัดแปลงใหม่ คือ ให้เขียนบรรทัดเดียวกันทั้งตัวพยัญชนะ สระ และตัวสะกด ส่วนไทลื้อบ้านหย่วนนั้นได้รับอักษรไทลื้อแบบดั้งเดิมมาใช้ แต่ปัจจุบันก็มีผู้เขียนได้ไม่มาก เนื่องจากมีการนำเอาภาษาไทยมาใช้ในการเขียน หรือติดต่อสื่อสารกันเป็นส่วนใหญ่
จารุวรรณ เพ็งศิริ. (ม.ป.ป.). ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ (วัดหย่วน) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.ar5ethnics.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].
บ้านหย่วน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://earth.google.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].
สุพรรณี สงวนพัฒน์. (2547). การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไทลื้อ ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร.
Nok. (ม.ป.ป.). วัดหย่วน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/travel/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].