อนุเสาวรีย์พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว
ชื่อของชุมชนมีที่มาจากชื่อบุคคล ซึ่งเป็นชื่อของชายาของเจ้าเมือง คือ "พระนางสามผิว" เป็นบุตรีของเจ้าเมืองล้านช้าง (เวียงจันทน์) มีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศว่าพระองค์มีผิวพระวรกายถึงสามผิวในแต่ละวัน คือ ตอนเช้าจะมีผิวขาวดังปุยฝ้าย ในตอนบ่ายจะมีสีแดงดังลูกตำลึงสุก และในตอนเย็นผิวพระวรกายของพระนางจะเป็นสีชมพูดุจดอกปุณฑริก (ดอกบัวขาบ)
อนุเสาวรีย์พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว
ตามตำนานกล่าวถึงพระเจ้าฝางอุดมสิน ซึ่งมีพระนามเดิมชื่อ “พระยาเชียงแสน” เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าเมืองเชียงแสน ได้มาปกครองเมืองฝาง ในปี พ.ศ. 2172 ศักราชได้ 99 ตั๋ว เดือนแปดแรม 13 ค่ำ พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระชายาซึ่งมีพระนามว่า “พระนางสามผิว” ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าเมืองล้านช้าง (เวียงจันทร์)ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศว่าพระองค์มีผิวพระวรกายถึงสามผิวในแต่ละวันคือตอนเช้าจะมีผิวขาวดังปุยฝ้าย ในตอนบ่ายจะมีสีแดงดังลูกตำลึงสุก และในตอนเย็นผิวพระวรกายของพระนางจะเป็นสีชมพูดุจดอกปุณฑริก (ดอกบัวขาบ)
พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว มีพระราชธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า “พระนางมัลลิกา” ในขณะที่พระองค์มาปกครองเมืองฝางนั้น เมืองฝางยังคงเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าฝางจึงทรงมีความคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพให้แก่เมืองฝาง โดยให้ส้องสุมผู้คนและได้ตระเตรียมอาวุธเสบียงกรัง โดยไม่ยอมส่งส่วยและขัดขืนคำสั่งของพม่า ซึ่งทางพม่าได้ล่วงรู้ว่าเมืองฝางคิดจะแข็งข้อต่อตน จึงได้ยกกองทัพมาปราบ โดยกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะพระนามว่า “พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา” เป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพเข้าตีเมืองฝางในปี พ.ศ. 2176 ศักราชได้ 955 ตั๋ว พระเจ้าฝางนำกองทัพป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ทำให้พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาเข้าตีเมืองไม่ได้
พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้เปลี่ยนแผนการรบใหม่โดยนำกำลังทหารล้อมเมืองไว้ พร้อมทั้งตั้งค่ายอยู่บนเนินด้านทิศเหนือของเมืองฝาง คือที่ตั้งศาลจังหวัดฝาง เรือนจำจังหวัดฝาง สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง หรือที่เราเรียกว่า “เวียงสุทโธ” ในปัจจุบันนี้ แล้วสั่งให้ทหารระดมยิงธนูไฟ (ปืนใหญ่) เข้าใส่เมืองฝางทำให้บ้านเมืองฝางเกิดระส่ำระส่าย ประชาชนเสียขวัญและทหารล้มตายลงเป็นจำนวนมาก
พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ทั้งสองพระองค์ทรงคิดว่าสาเหตุของการเกิดศึกในครั้งนี้ ต้นเหตุนั้นเกิดจากพระองค์ทั้งสองแท้ ๆ ที่คิดจะกอบกู้อิสรภาพ ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนและการกระทำครั้งนี้ก็ไม่สำเร็จ ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องผู้คนเมืองฝางให้พ้นจากความอดอยากและการถูกเข่นฆ่าจากกองทัพของพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา และในคืนนั้นคือวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 เหนือปี พ.ศ. 2180 ศักราชได้ 999 ตั๋ว พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระนางสามผิว จึงได้สละพระชนม์ชีพ ด้วยการกระโดดบ่อน้ำซาววา และในตอนรุ่งสางของวันนั้น กองทัพพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาก็ตีและบุกเข้าทางกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของเมืองฝางได้สำเร็จ เมื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ที่ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้ออกคำสั่งมิให้ทหารของพระองค์ ทำร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองฝางอีก และได้ยกกองทัพกลับไปกรุงอังวะ ประเทศพม่า โดยมิได้ยึดครองเมืองฝางแต่ประการใด
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะลูกเสือชาวบ้านพร้อมด้วยผู้ที่เคารพนับถือในสองพระองค์ท่าน จึงได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าฝาง-พระนางสามผิวขึ้น ณ ด้านหน้าบ่อน้ำซาววา ในปี พ.ศ. 2522 โดยก่อสร้างด้วยปูน ต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่โดยให้ทำการหล่อด้วยโหละ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2540 เพื่อจะได้เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนตลอดปี
พงศาวดารโยนกฉบับ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) กล่าวว่า “ลุศักราช 994 (พ.ศ.2175) ปีวอก จัตวาศก เมืองฝางแข็งเมือง พระเจ้าสุทโธธรรมราชา ยกกองทัพไปเอาเมืองฝาง ตั้งล้อมเมืองอู่ถึง 3 ปี ที่ค่ายหลวงซึ่งตั้งล้อมเมืองฝางนั้นยังปรากฏเชิงเทินเนินดินอยู่ทุกวันนี้...”
เมืองฝางถูกล้อมอยู่ 3 ปี ทั้งทหารและราษฎรต่างก็ขาดแคลนอาหาร ขณะเดียวกันพระเจ้าสุทโธธรรมราชาก็เกณฑ์ทัพเมืองต่าง ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของพม่ามาเพิ่มกำลังอีก จนเมืองฝางเห็นทีว่าจะรับทัพพม่าไม่ไหวแล้ว พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวดำริว่า ความพินาศของเมืองฝางในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ราษฎรต้องตกอยู่ในอันตรายและลำบากยากเข็ญ เนื่องมาจากตนเป็นต้นเหตุ อีกทั้งพระนางสามผิวก็ไม่อาจที่จะรับสภาพเป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์พม่าได้ ทั้งสองพระองค์จึงจะขอรับผิดชอบที่จะปลิดชีพด้วยการกระโดดลง “บ่อน้ำซาววา” ที่ลึกถึง 20 วาด้วยกัน
แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ข้าราชบริพารทั้งหลายได้แสดงความจงรักภักดี โดยรับจะตีฝ่าข้าศึกนำทั้งสองพระองค์หนีออกไปให้ได้ และนางข้าหลวงคนหนึ่งจะถวายชีวิตโดยกระโดดลงบ่อซาววาไปเอง เพื่อให้ข้าศึกเชื่อว่าพระนางเสียชีวิตจริง จะได้ไม่ติดตามทั้งสองพระองค์ต่อไป
แต่ทั้ง 2 กรณี ไม่ว่าพระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวจะกระโดดลงบ่อหรือหนีไปได้ เมืองฝางก็ต้องเสียแก่พม่า กรณีนี้น่าจะคล้ายกับกรณีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ช้างเผือกมาสู่บุญบารมีถึง 7 เชือก ได้รับสมญาว่าเป็น “พระเจ้าช้างเผือก” ทำให้เป็นที่อิจฉาของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองของพม่า ครั้งพระเจ้าจะเบงชะเวตี้อ้างว่าจะขอแบ่งช้างเผือก ก็ทำให้ต้องสูญเสียพระมเหสี คือ พระศรีสุริโยทัย และเมื่อครั้งพระเจ้าบุเรงนองอิจฉา ก็ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ก็อ้างเรื่องขอช้างเผือกเหมือนกันก็เพราะมีบุญมากไป เช่นเดียวกับพระนางสามผิวสวยเกินไปนั่นเอง (โรมบุนนาค, 2563)
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนพระนางสามผิว มีการตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นกลุ่มก้อนอย่างหนาแน่น ตามเส้นทางคมนาคมสายหลักและสายรองรวมทั้งถนนและซอยภายในชุมชนศูนย์กลางของชุมชนจะอยู่บริเวณตอนกลางของชุมชน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ สถานศึกษารวมทั้งตลาดสด ซึ่งมีอาคารพาณิชย์กระจาย ตัวอย่างต่อเนื่องบริเวณสองฝั่งถนนสายหลักภายในชุมชนไปจนสุดเขตเทศบาล โดยมีพื้นที่พักอาศัยกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ตอนใน ซึ่งเป็นถนนซอยของชุมชน การขยายตัวของชุมชนจะกระจายตัวไปตามเส้นทางคมนาคมส่วนใหญ่บริเวณตอนกลางและตอนเหนือจะมีการเกาะตัวของชุมชนต่อเนื่องออกไปถึงบริเวณของเขตเทศบาล ส่วนตอนใต้จะมีการขยายตัวเฉพาะบริเวณสองฝั่งถนนของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 เนื่องจากยังไม่มีโครงข่ายระบบถนนเกิดขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นกิจการค้าขาย การพาณิชย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมการบริการให้กับชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ชุมชนเทศบาลตำบลเวียงฝางมีการขยายตัวของพื้นที่พักอาศัยในลักษณะบ้านจัดสรรเกิดขึ้นในหลายพื้นที่เพื่อรองรับรับความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนเขตเทศบาลตำบลเวียงฝางในอนาคต
สถานพื้นที่กายภาพ
ชุมชนพระนางสามผิว ตั้งอยู่ภายในหมู่ที่ 3 บ้านหนองอึ่ง
- ทิศเหนือ ติดกับแนวเขตเทศบาล (ช่วงหนึ่งของหลักเขตที่ 1 ถึงหลักเขตที่ 2)
- ทิศใต้ ติดกับ ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 107
- ทิศตะวันออก ติดกับ แนวกําแพงโบราณ และสนามกีฬา
- ทิศตะวันตก ติดกับ ลำนํ้าใจ
พื้นที่ชุมชนอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ประชากรมีทั้งชาวไทยพื้นราบและชาวไทยภูเขา อำเภอฝางเป็นอำเภอศูนย์กลางความเจริญในเขตเชียงใหม่ตอนบน มีอำเภอบริวาร คือ อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ มีประชากรหนาแน่น เป็นอำเภอที่มีศักยภาพในการรองรับความเจริญจากตัวเมืองเชียงใหม่ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปจังหวัดเชียงรายได้อย่างสะดวกหลายช่องทาง ทำให้อำเภอฝางได้รับความเจริญจากจังหวัดเชียงรายจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจีนตอนใต้-อินโดจีนในอนาคต
ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีลําน้ำไหลผ่าน เช่น ลําน้ำมาว ลําน้ำใจ ซึ่งลําน้ำทุกสายไหลไป รวมกันกับแม่น้ำฝางและลงสู่แม่น้ำกกท่าตอนโดยแม่น้ำฝางเป็นแม่น้ำหลักสายสําคัญในทางการเกษตร พื้นที่บริเวณเทศบาลตาบลเวียงฝางจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนพื้นที่ในเขตเทศบาลตาบลเวียงฝาง จะเป็นที่ราบ และเป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจของอําเภอฝาง
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอฝางตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด รหัสทางภูมิศาสตร์ 5009 รหัสไปรษณีย์ 50110 ชุมชนตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตําบลเวียงฝาง ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 4 หมู่ที่ 14 ตําบลเวียง อําเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1089 (ฝาง-ท่าตอน) โดยมีระยะห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 152 กิโลเมตร พื้นที่ในชุมชนเวียงฝางมีเส้นทางคมนาคมสายหลักคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่ – ฝาง) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1089 (ฝาง - ท่าตอน) ใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับชุมชนใกล้เคียงภายในจังหวัด ได้แก่ อําเภอไชยปราการ และอําเภอแม่อาย โดยมีเส้นทาง รพช. หมายเลข 11017 สายตําบลเวียงไปตําบลม่อนปิ่น เป็นถนนสายหลักระดับตําบลที่ใช้ในการติดต่อกับพื้นที่ ชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้จะมีถนนโครงข่ายแยกเข้าสู่ทุกหมู่บ้านของตําบลเวียงได้สะดวก นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเสี่ยง เมืองฝาง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 ท่าตอนทางเลี่ยงเมืองฝาง) เป็นเส้นทางระบายการจราจรของตัวเมือง อําเภอฝางอีกเส้นทางหนึ่ง มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 470 เมตร เทศบาลตําบลเวียงฝาง มีพื้นที่การปกครอง 2.714 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,693,75 ไร่ประกอบด้วย 5 หมู่บ้านแยกเป็น 12 ชุมชน
เทศบาลตําบลเวียงฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปลี่ยนแปลงฐานะจากสุขาภิบาลเวียงฝาง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 เทศบาล ตําบลเวียงฝาง ตั้งอยู่ เลขที่ 4 หมู่ 14 ตําบลเวียง อําเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศ เหนือระยะทาง 152 กิโลเมตร มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 470 เมตร มีพื้นที่การปกครอง 2.714 ตารางกิโลเมตร
ในปี พ.ศ. 2552-2553 อำเภอฝาง ได้รับการเสนอเพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็น จังหวัดฝาง โดยการรวมเอาอำเภอใกล้เคียงเข้าด้วยกันแต่ไม่ผ่านการพิจารณา
สภาพภูมิอากาศ
อําเภอฝางเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียง ใต้ จึงทําให้โดยทั่วไปมีฝนตกชุกสภาพอากาศเย็นชื้นตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 25 องศา อุณหภูมิสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ประมาณ 39 องศา แต่อุณหภูมิค่อนข้างสูงในฤดูแล้งซึ่งเคยวัดได้ถึง 41 องศาเซลเซียส และหนาวเย็นในฤดูหนาวยอดดอย มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 10-19 องศา มีอากาศหนาวจัดเฉพาะในเดือนธันวาคม - มกราคม แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ
อำเภอฝาง ถือว่าเป็นอำเภอที่มีความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากมาย เช่น ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก โป่งน้ำร้อน เป็นต้น อำเภอฝางยังเป็นอำเภอที่ปลูกส้มมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และยังเป็นต้นกำเนิดของ ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มพันธุ์ใหม่ที่มีรสชาติดี จนทำให้ส้มกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของอำเภอฝาง และสวนส้มยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อำเภอฝางยังเป็นแหล่งที่ค้นพบบ่อน้ำมันดิบแห่งแรกของประเทศไทย มีการขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาใช้เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ มีการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และพิพิธภัณฑ์ปิโตรเลียม ของกรมการพลังงานทหาร ณ ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ อำเภอฝาง
- น้ำมันดิบ ปิโตรเลียม มีการสำรวจขุดเจาะและเก็บกลั่นน้ำมันได้วันละ 1,200 บาเรล โดยกรมการพลังงานทหารกระทรวงกลาโหม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลแม่คะ สำหรับแหล่งน้ำมันที่ขุดได้อยู่ในเขตตำบลสันทราย ตำบลแม่สูน และตำบลแม่คะ อำเภอฝาง
- ป่าไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ดอยผ้าห่มปก ป่าสงวนแห่งชาติแม่หลักหมื่น และป่าสงวนแห่งชาติแม่สูน ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ซึ่งมีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ลำดวนดง ประดู่ ทะโล้ จำปีป่า ฯลฯ
- บ่อน้ำพุร้อนฝาง ตั้งอยู่ ณ ตำบลโป่งน้ำร้อน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ นอกจากนี้แล้วยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่น่าท่องเที่ยวได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ
- น้ำรู แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ตำบลม่อนปิ่น ต้นน้ำเกิดจากธารน้ำที่ดอยอ่างขาง เป็นน้ำที่ผุดขึ้นมาตามธรรมชาติเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
- น้ำตกโป่งน้ำดัง ตำบลแม่สูน ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติโป่งน้ำดัง มีธารน้ำที่สวยงามมาก
- อุทยานแห่งชาติแม่เผอะ ห้วยรักษาต้นน้ำดอยอ่างขาง มีพรรณไม้หลากหลายเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิทยาเป็นอย่างมาก ป่าไม้มีความสมบูรณ์สูง
ลักษณะของแหล่งน้ำ
ลักษณะของแหล่งน้ำในเขตเทศบาลตําบลเวียงฝาง มีลําน้ำไหลผ่านลําน้ำ ได้แก่ ลําน้ำมาว ลําน้ำใจ ส่วนลําน้ำใจ ไหลไปสู่แอ่งน้ำร่องข่า และลําน้ำมาวไหลไปรวมกันกับแม่น้ำฝางและลงสู่แม่นํ้ากกท่าตอน
ชื่อแหล่งน้ำที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำฝาง ห้วยแม่ใจ ลำน้ำแม่มาว ลำน้ำแม่เผอะ เขื่อนแม่มาว เขื่อนบ้านห้วยบอน ห้วยแม่งอน ฯ
จำนวนประชากร ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2566 จากส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียนสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่า มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 811 คน แบ่งเป็นเพศชาย 411 คน และเพศหญิง 400 คน ส่วนมากเป็นชาวไทยพื้นราบและชาวไทยภูเขา
ไทใหญ่เกษตรกรรม : องค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพส่วนมากทำอาชีพเกษตรกรและค้าขาย ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง ลิ้นจี่ หอมหัวใหญ่ ข้าว บ๊วย ท้อ สาลี่ องุ่น สตรอเบอรี่ ฯลฯ
อุตสาหกรรม : ภายในชุมชนมีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 3 แห่ง คือ โรงชาทําใบชาเชียงมิ่ง มีแรงงานจำนวน 30 คน, โรงชาทําใบชา มีแรงงานจำนวน 20 คน และโรงงานทําขนมปังใหม่ท่าแพ มีแรงงานจำนวน 10 คน
ค้าขาย : สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก ได้แก่ น้ำพริกคั่วทราย น้ำพริกตาแดง ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ขนมจีนน้ำเงี้ยว แหนม มันกัลยา ชาดาวอินคา ชาเจียวกู่หลาน ข้าวซอยตัด พวงกุญแจฝักฝาง กาแฟ น้ำพริกเครื่องแกงต่าง ๆ ฯลฯ
ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 95.76 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 2.13 ศาสนาอิสลามร้อยละ 1.13 ศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.58 วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่น่าสนใจ มีดังนี้
- ประเพณีแห่โต แห่นางนกของชาวไทใหญ่ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์
- ประเพณีสงกรานต์ (การรดน้ําดําหัว) ประมาณเดือนเมษายน
- ประเพณีปอยบวชลูกแก้ว (บรรพชาสามเณร) ประมาณเดือนเมษายน
- ประเพณีงานวันลิ้นจี่ฝาง ประมาณเดือนพฤษภาคม
- ประเพณีบวงสรวงอนุสาวรีย์ พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ประมาณเดือนมิถุนายน
- ประเพณีสักการะศาลหลักเมือง ประมาณเดือนมิถุนายน
- ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประมาณเดือนกรกฎาคม
- ประเพณีลอยกระทง ประมาณเดือนพฤศจิกายน
ปราชญ์ชาวบ้านและผู้รู้ ปราชญ์/ผู้มีความรู้ในชุมชน ได้แก่
1.นายตาล เจตจง : มีความรู้ด้านหมอพื้นบ้าน (สมุนไพร) ประเพณี ท้องถิ่น (ฟ้อนเจิง) ดนตรีพื้นเมือง
2.นายทา สัมพันธ์ : มีความรู้ด้านหมอพื้นบ้าน (สมุนไพร)
3.นายจรัญ คํารินทร์ : มีความรู้ด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม, อาหาร การจัดแต่งดอกไม้, การบริหารจัดการกลุ่ม
4.นายตื้อ สุวรรณ์ : มีความรู้ด้านจักสาน, พิธีกรรมทางศาสนา
5.นายบุญมี พิจารณ์ : มีความรู้ด้านช่างเฟอร์นิเจอร์
6.นายณรงค์ จุลปิยะ : มีความรู้ด้านเทคโนโลยี การเกษตร
7.นายอ้าย แก่นปิน : มีความรู้ด้านการเกษตรเพาะปลูก
8.นายวิรัช ทินนา : มีความรู้ด้านการเกษตร เพาะกล้วยไม้
9.นางอัมพร แดงซอน : มีความรู้ด้านการจัดทําอาหาร, ฟ้องเล็บฟ้อนเจิง
10.นางวัชรี เชี่ยวนพรัตน์ : มีความรู้ด้านขนมไทย
11.นางบัวไข อินต๊ะมงคล : มีความรู้ด้านอาหารพื้นเมือง
12.นายมูล คําแดง : มีความรู้ด้านพิธีกรรมทางศาสนา
13.นายสม หน่อแก้ว : มีความรู้ด้านพิธีกรรมทางศาสนา การบริหารจัดการกลุ่ม
14.นายธนะ รัตนนิติกุล : มีความรู้ด้านพิธีกรรมทางศาสนา
15.นางบงกช ดรุณรัศมี : มีความรู้ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม
16.นางบัวรัตน์ ชัยเรื่อง : มีความรู้ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม
ภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมือง
สถานที่ท่องเที่ยวในเขตเทศบาลที่สำคัญ ได้แก่
- สวนสาธารณะอนุสาวรีย์พระเจ้าฝางพระนางสามผิว บ่อน้ำซาววา เป็นสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองฝางในอดีต ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับวัดต้นรุง (จองตก) และวัดจองแป้น (จองออก) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสํานักงานเทศบาลตําบลเวียงฝาง เพียง 1 กิโลเมตร
- วัดต้นรุง (จองตก) และวัดจองแป้น (จองออก) เป็นวัดที่มีรูปแบบของศิลปะไทใหญ่ซึ่งเป็นศิลปะดั้งเดิมในพื้นที่ ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภอฝางเพียง 1 กิโลเมตร
- วัดเจดีย์งาม เป็นวัดที่สวยงามรูปแบบศิลปะสมัยใหม่ มีความโดดเด่นที่อุโบสถซึ่งสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีเจดีย์ที่สวยงาม ตั้งอยู่ข้างสํานักงานสาธารณสุขอําเภอฝาง ตรงข้ามที่ว่าการอําเภอฝาง
เทศบาลตำบลเวียงฝาง. แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561-2565 ของเทศบาลตำบลเวียงฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : เทศบาลตำบลเวียงฝาง
โรมบุนนาค. (2563). “พระนางสามผิว” เช้า กลางวัน เย็น ผิวเปลี่ยนสีได้! สวยเกินเหตุจนทำให้เสียเมือง!!. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://mgronline.com/
ประนพร์ สุทธเสนา, สัมภาษณ์, 17 กุมภาพันธ์ 2566.