Advance search

วัดมหาวัน สถานที่ประดิษฐานพระรอดหลวงคู่เมืองลำพูนมานานนับ 1,400 ปี ต้นตำนานแห่งพระรอดเมืองลำพูน พระเครื่องชื่อดังที่นักสะสมพระเครื่องต่างต้องการมีไว้ครอบครอง 

ถนนรอบในเมือง
มหาวัน
เหมืองง่า
เมืองลำพูน
ลำพูน
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-4452-9492, เทศบาลเหมืองง่า โทร. 0-5300-1500-3
จิรพงษ์ เสวิกะ
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
ชุมชนมหาวัน

ตั้งขึ้นตามชื่อวัดมหาวันนารามที่ตั้งอยู่ก่อน เมื่อมีการก่อตั้งชุมชนขึ้นบริเวณรอบวัด จึงตั้งชื่อชุมชนตามชื่อวัดว่า "ชุมชนมหาวัน" 


วัดมหาวัน สถานที่ประดิษฐานพระรอดหลวงคู่เมืองลำพูนมานานนับ 1,400 ปี ต้นตำนานแห่งพระรอดเมืองลำพูน พระเครื่องชื่อดังที่นักสะสมพระเครื่องต่างต้องการมีไว้ครอบครอง 

มหาวัน
ถนนรอบในเมือง
เหมืองง่า
เมืองลำพูน
ลำพูน
51000
18.5788683
99.0034357
เทศบาลเมืองลำพูน

บ้านมหาวัน ชุมชนชาวไทยองจังหวัดลพูน ชุมชนที่ซึ่งปรากฏประวัติการก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีเป็นปฐมกษัตริย์เจ้านครปกครองเมืองลำพูน (ขณะนั้นยังเป็นนครหริภุญชัย) สำหรับความเป็นมาการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวไทยองเข้าสู่บ้านมหาวันนั้น เริ่มขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้ากาวิละและพญาจ่าบ้าน (บุญมา) ได้รวบรวมแกล้วทหารไพร่พลชาวล้านนาต่อสู้แย่งชิงเอกราชของอาณาจักรล้านนาคืนจากพม่าได้สำเร็จ พร้อมกันนั้นพระองค์ได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงของ เชียงแสน และเมืองยองในรัฐฉานของพม่ากลับมาด้วย กอปรกับในขณะนั้นพระองค์ทรงเห็นว่าเมืองเชียงใหม่และลำพูนมีผู้คนอาศัยอยู่บางเบา สภาพบ้านเมืองชำรุดทรุดโทรมไม่เจริญรุ่งเรืองดังเช่นในอดีต จึงรับสั่งให้เจ้าหลวงคำฝั้นพร้อมด้วยอุปราชผู้อนุชานำไพร่พลเมืองยองที่กวาดต้อนมาไปบูรณะก่อสร้างเมืองลำพูนให้กลับมางดงามอีกครั้ง ชาวเมืองยองจึงได้ตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ที่เมืองเมืองลำพูนบริเวณริมแม่น้ำปิง แม่น้ำกวง แม่น้ำทา และแม่น้ำลี้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งหากพิจารณาจากตำนานเมืองลำพูน รวมถึงเอกสารวิชาการต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างถึงประวัติการอพยพของชาวยองเข้าสู่เมืองลำพูน คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2347 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 200 ปี

บ้านมหาวันได้รับการยกฐานะเป็นหมู่บ้านเมื่อปี พศ. 2457 โดยให้ขึ้นกับตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน แล้วตั้งชื่อชุมชนตามชื่อวัดมหาวันวนารามที่สร้างขึ้นมาก่อนตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีปกครองเมืองลำพูน หรือนครหริภุญชัยในขณะนั้น โดนการเปลี่ยนที่ดินทำกินบริเวณรอบวัดเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และเมื่อมีประชากรอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น จึงได้รับการจัดตั้งเป็นชุมชนตามชื่อวัดแต่นั้นมา 

ลักษณะภูมิประเทศ

ชุมชนมหาวัน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำกวงซึ่งแยกแตกลำน้ำสาขาไหลผ่านชุมชนมหาวัน เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชาวบ้านใช้สำหรับการเกษตร ดินในพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นดินเหนียว มีเพียงบางบริเวณเท่านั้นที่มีสภาพเป็นดินร่วนหรือดินทราย ซึ่งส่งผลให้ชุมชนมหาวันเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร ทว่าพื้นที่ทางการเกษตรของชุมชนกลับเหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงจำต้องแปรสภาพพื้นที่ทางการเกษตรให้เป็นที่อยู่อาศัย กอปรกับอิทธิพลจากวัตถุนิยมและค่านิยมจากสังคมเมืองที่แผ่ขยายเข้ามาสู่ชุมชนมหาวัน ทำให้ปัจจุบันนี้การใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรของชาวชุมชนมหาวันเหลือเพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น

สถานที่สำคัญ: วัดมหาวัน

วัดมหาวัน หรือวัดมหาวันวนาราม วัดเก่าแก่อายุกว่า 1,400 ปี พระอารามหลวงของพระนางจามเทวีเมื่อครั้งยังเป็นกษัตรีย์ปกครองนครหริภุญชัย เจดีย์วัดมหาวันเป็นที่บรรจุพระรอดลำพูน 1 ใน 5 พระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เชื่อกันว่าพระรอดมีความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังในด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตรายและความวิบัติต่าง ๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผลและคงกระพันชาตรี หากใครได้มากราบไหว้บูชาพระรอดก็จะพ้นภัยอันตรายทุกสิ่งปวง มีพระพุทธรูปปางนาคปรกที่อัญเชิญมาจากเมืองละโว้ กรุพระเครื่องชื่อดัง คือ พระรอดมหาวัน ถือเป็นแบบพิมพ์องค์พระรอดที่มีชื่อเสียง อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง หอไตร ปูชนียวัตถุ พระพุทธรูปพระประธานสร้างด้วยอิฐถือปูนศิลปะล้านนา 

ชุมชนมหาวันเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยร่วมกันของกลุ่มชาวไทยองและชาวพื้นเมืองหรือล้านนาเดิม ปัจจุบันมีประชากรทั้งสิ้นจำนวน 1,558 คน โดยจำแนกเป็นประชากรชาย 663 คน และประชากรหญิง 895 คน จำนวนครัวเรือน 933 ครัวเรือน

ชาวไทยองมีระบบครอบครัวแบบครอบครัวขยาย สมาชิกครอบครัวหลายรุ่นอาศัยอยู่ร่วมหลังคาเรือนเดียวกัน หรือสร้างบ้านรือนในพื้นที่อาณาบริเวณเดียวกัน ตั้งแต่ปู่ย่า ตายาย สามีภรรยา ลูก และหลาน เมื่อแต่งงานแล้วสามีภรรยามักจะสร้างบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกับบ้านของพ่อแม่ แต่ลูกสาวคนเล็กมักจะอาศัยอยุ่กับพ่อแม่แม้ว่าจะแต่งงานแล้วก็ตาม เนื่องจากจะต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน โดยสมาชิกในครอบครัวทุกคนที่อยู่ในวัยทำงานจะช่วยกันทำงานเพื่อหาเงินมาสมทบกันใช้จ่ายภายในครอบครัว หรือหากจำเป็นต้องออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านหรือนอกชุมชน เมื่อได้เงินมาก็มักจะฝากให้พ่อแม่เป็นผู้เก็บรักษาให้ และเมื่อแต่งงานพ่อแม่ก็จะคืนให้เพื่อนำไปเป็นทุนสร้างฐานะของครอบครัวต่อไป 

ยอง

ในอดีตชาวชุมชนมหาวันส่วนใหญ่นิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวไทยองได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่ครั้งอาศัยอยู่ที่เมืองยอง  สภาพที่ตั้งชุมชนมหาวันเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวซึ่งมีความสามารถในการดูดซับน้ำได้ดี อีกทั้งยังมีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย ส่งผลให้อาชีพของชาวไทยองในอดีตส่วนใหญ่เป็นอาชีพในภาคเกษตรกรรม ทั้งการทำนา ทำไร่ ทำสวน ปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมของชุมชนมหาวันมีความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้นก็จำต้องแปรสภาพที่ดินทำกินที่อยู่รอบชุมชนให้เป็นที่อยู่อาศัย กระทั่งปัจจุบันนี้พื้นที่ทางการเกษตรของชุมชนมหาวันเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ชาวบ้านในชุมชนไม่ได้ยึดการเกษตรเป็นอาชีพหลักอีกต่อไป เยาวชนคนรุ่นใหม่เริ่มหันเหหาลู่ทางการประกอบอาชีพใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว รับจ้าง ข้าราชการ ลูกจ้างเอกชน และลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ พลวัตที่เกิดขึ้นนี้ล้วนเป็นผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ได้พัดพาเอาความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยนิยมเข้ามาในชุมชน ชุมชนมหาวันก้าวเข้าสุ่ความเป็นสังคมเมือง ซึ่งหากจะมองถึงข้อดีนั้นก็ถือว่าชุมชนได้พัฒนา ประชาชนในชุมชนสามารถเข้าถึงความสะดวกสบาย แต่ในขณะเดียวกันกระแสพายุวิทยาการเหล่านั้นก็ได้พัดพาเอาอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่วิถีชีวิตของชาวไทยองมายาวนานให้ค่อย ๆ เลือนหายไปเช่นกัน 

งานสักการะใส่ขันดอกพระรอดหลวง วัดมหาวันจังหวัดลำพูน

สืบเนื่องจากวัดมหาวัน ชุมชนมหาวัน เป็นวัดต้นตำนานพระรอดเมืองลำพูน ที่นักสะสมพระเครื่องต่างต้องการมีไว้ครอบครอง และประชาชนชาวพุทธทั่วประเทศต่างเดินทางมากราบไหว้ และที่สำคัญวัดมหาวันยังเป็นที่ประดิษฐานพระรอดหลวงคู่เมืองลำพูนมานานนับ 1,400 ปี จึงกำเนิดงาน ประเพณีสักการะใส่ดอกพระรอดหลวง เพื่อแสดงออกถึงมหาศรัทธาต่อองค์พระรอดหลวง ซึ่งภายในงานจะมีการจุดประทีปหมื่นดวงถวายบูชาพระรอดพันปี มีการจัดนิทรรศการพระเครื่องสกุลลำพูน การแสดงศิลปวัฒนธรรม และกาดมั่วสินค้าอาหารพื้นเมือง ซึ่งงานประเพณีสักการะใส่ดอกพระรอดหลวงนี้ นอกจากจะเป็ๆนการแสดงมหาศรัทธาที่ชาวลำพูนมีต่อพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวล้านนา ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน และสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากที่ส่งผลต่อวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ของวัด ชุมชน และชาวจังหวัดลำพูนอีกด้วย (สุนทรี ทับมาโนช, 2566: ออนไลน์)

  • ครูก๋องแก้ว: อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวัน ผู้มีความชำนาญการปั้นพระรอด
  • พ่อจารย์ปั๋น: ผู้มีความชำนาญการปั้นพระรอด
  • พระประกอบบุญ สิริญาโณ: เจ้าอาวาสวัดมหาวัน
  • นายธวัช ต๊ะศรี: ผู้นำชุมชนมหาวัน

มรดกทางภูมิปัญญา: พระรอดวัดมหาวัน

ต้นกำเนิดแห่งการปั้นพระรอดวัดมหาวันนั้นต้องเล่าย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งพระนางจามเทวีผู้ปฐมกษัตริย์แห่งหนิภุญชัย หรือเมืองลำพูนในปัจจุบัน ขณะนั้นพระนางได้รับคำปรามาสจากฤาษี 2 ตน นามว่า วาสุเทพฤาษี และสุกกทันตฤาษี ว่าเมืองหริภุญชัยนครนี้มีสตรีเป็นเจ้าผู้ครองนคร ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีข้าศึกมารุกราน ทั้งสองจึงได้ปรึกษาหารือที่จะสร้างเครื่องลางของขลังไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชารักษาบ้านเมือง จึงได้ผูกอาถรรพ์ไว้ตรงใจกลางเมือง แล้วจัดหาดินลำพูนทั้ง 4 ทิศ พร้อมด้วยว่านอีกหนึ่งพันชนิดและเกสรดอกไม้มาผสมเข้าด้วยกันกับเวทย์มนต์คาถา จากนั้นคลุกเคล้ากันจนได้ที่ จัดสร้างพระพิมพ์ขึ้น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า พระคงเพื่อความมั่นคงของนครหริภุญชัย อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า พระรอดเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สุมไฟด้วยไม้มะฮกฟ้าหรือป่ารกฟ้า เป็นเวลานาน 7 วัน 7 คืน แล้วจึงนำพระคงที่เผาแล้วไปบรรจุไว้ที่วัดพระคงฤาษี นำพระรอดไปบรรจุไว้ที่วัดมหาวัน ซึ่งในเวลาต่อมาพระรอดวัดมหาวันกลายเป็นพระเครื่องชื่อดังที่มีราคาค่าเช่าสูงมาก ทั้งยังถูกบรรจุไว้เป็นพระกรุเก่าแก่หนึ่งในเบญจภาคีที่นักนิยมพระเครื่องต่างแสวงหา แม้ในระยะหลังจะมีการทำพระรอดขึ้นมาใหม่ ทว่าพระรอดเก่าที่ถูกขุดโดยชาวบ้านก็กระจายไปอยู่ในมือของนักสะสมพระทั่วไป ซึ่งหาชมได้ยาก แม้พระรอดรุ่นเก่าจะไม่มีให้คนรุ่นหลังได้คล้องคอแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีกลุ่มคนในชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาในการปั้นพระรอดมาจนถึงปัจจุบัน

หากจะกล่าวถึงการปั้นพระรอดของคนมหาวันแล้ว เริ่มแรกเดิมทีเกิดขึ้นจากการปั้นพระในวัดก่อน โดยมีครูบาจารย์เป็นผู้ริเริ่มในการปั้นพระ จากนั้นจึงเกณฑ์ชาวบ้านในหมู่บ้านมาช่วยกันปั้น การปั้นพระส่วนใหญ่จะนิยมทำกันในเดือนเป็ง (วันเพ็ญ) โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ โดยจะทำให้เสร็จภายใน 1 วัน การปั้นพระในสมัยก่อนจะปั้นเนื่องในโอกาสที่จะออกรบทำเป็นเครื่องลางของขลัง โดยดินที่จะนำมาปั้นพระรอดนั้นส่วนใหญ่จะเอามาจากหนองบัวบริเวณข้างวัดพระยืนและดินหัวกวง ซึ่งเป็นดินหัวแม่น้ำกวงบริเวณสะพานดำใกล้กับสถานีรถไฟ ซึ่งคนโบราณถือว่าเป็นดินมงคล เป็นดินขาวเนื้อละเอียด เมื่อเผาแล้วจะได้พระรอดเนื้อสีครีมเหลืองเหมือนสีดอกจำปี เมื่อนำดินมาแล้วก็จะทำการตากดินให้แห้ง จากนั้นก็นำดินที่แห้งแล้วมาตำให้ละเอียดแล้วร่อนเอาตะกอนออก จนได้เนื้อดินที่ละเอียดนำไปผสมน้ำนวดให้ดินเหนียวจนได้ที่แล้วนำมากดลงบนปิมพระรอด (พิมพ์พระรอด)

จากการขุดค้นพระรอดวันมหาวันเมื่อราว 30 ปีก่อน ได้พบพิมพ์พระรอดถูกฝังไว้ใต้ฐานพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนนั้นมีพิมพ์พระรอดของครูก๋องแก้ว พิมพ์พระรอดของมหาสิงฆะ วรรณสัย และของเกจิอีกหลายท่าน ปัจจุบัน แม้ว่าพระรอดวัดมหาวันจะเป็นวัตถุมงคลมีค่าหายากมากเพียงใด แต่กระนั้นยังมีกลุ่มคนในชุมชนที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาในการปั้นพระรอดมาจนถึงปัจจุบัน อันถือเป็นการสานต่อจิตวิญญาณแห่งบรรพชนในอดีตเอาไว้มิให้สูญหาย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของคนลำพูน ที่ลมหายใจแห่งชีวิตยังคงดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางกระแสแห่งวัฒนธรรมตะวันตก จนอาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้คือวิถีแห่งมรดกโลกที่ยังมีลมหายใจ โดยไม่ต้องรอให้องค์การยูเนสโกมาประกาศแต่อย่างใด (สยามรัฐออนไลน์, 2565: ออนไลน์) 

ชาวชุมชนมหาวันมีภาษาที่ใช้สื่อสารพูดคุยกันภายในชุมชน ได้แก่ ภาษายอง ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) และภาษากลางสำหรับใช้ติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จังหวัดลำพูน. (2562). สถานที่ท่องเที่ยว: วัดมหาวัน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.lamphun.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566].

พระครูปลัดกฤศณัฏฐ์ กิตติณาโณ. (18 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์ 

พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล. (2550). การยอมรับและการใช้ประโยชน์น้ำส้มควันไม้ในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

สยามรัฐออนไลน์. (2565). ประชาชนไหว้สักการะขอพรพระรอดหลวงมหาวันลำพูนรุ่นดังสุดขลัง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://siamrath.co.th/n/310955 [สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566].

สุนทรี ทับมาโนช. (2566). พ่อเมืองลำพูน เปิดงานสักการะใส่ขันดอกพระรอดหลวง วัดมหาวัน ประจำปี 2566. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thainews.prd.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566].

Google Earth. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.lamphun.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566].

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-4452-9492, เทศบาลเหมืองง่า โทร. 0-5300-1500-3