Advance search

ปู่ม่านย่าม่าน หรือตำนานกระซิบรักบรรลือโลก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์ ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดย หนานบัวผัน ช่างวาดชาวไทลื้อผู้โด่งดังแห่งดินแดนล้านนา 

ถนนสุริยพงษ์
บ้านผากอง
ในเวียง
เมืองน่าน
น่าน
เทศบาลเมืองน่าน โทร. 0-5471-0234
ชิตะวัน ตันสุข
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านภูมินทร์-ท่าลี่


ปู่ม่านย่าม่าน หรือตำนานกระซิบรักบรรลือโลก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์ ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดย หนานบัวผัน ช่างวาดชาวไทลื้อผู้โด่งดังแห่งดินแดนล้านนา 

บ้านผากอง
ถนนสุริยพงษ์
ในเวียง
เมืองน่าน
น่าน
55000
18.7745150073
100.771694003
เทศบาลเมืองน่าน

ชุมชนภูมินทร์-ท่าลี่ เป็นหนึ่งหย่อมชุมชนในพื้นที่ที่เรียกว่า หัวแหวนเมืองน่าน หรือชุมชนชาวไทลื้อบริเวณโดยรอบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน (หอคำ) ที่ประทับของเจ้านครเมืองน่านในอดีต สำหรับประวัติความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อพญาผากอง เจ้าผู้ครองนครภูเพียงแช่แห้ง มีความประสงค์ที่จะสร้างเมืองใหม่เพื่อย้ายศูนย์กลางการปกครอง เนื่องจากลักษณะที่ตั้งนครภูเพียงแช่แห้งเดิมที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำน่านนั้นเป็นที่เนินสูง ส่งผลให้ชาวเมืองขัดสนน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค กอปรกับพญาผากองพิจารณาเห็นว่าบริเวณที่ราบริมแม่น้ำน่านทางทิศตะวันตกนั้นทำเลดี น้ำท่าบริบูรณ์ เหมาะแก่การสร้างเมืองใหม่ จึงได้อพยพผู้คนจากภูเพียงแช่แห้งมาตั้งเมืองใหม่ที่บริเวณบ้านห้วยไคร้ (ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในขณะนั้น) ซึ่งอยู่บริเวณที่ตั้งหัวแหวนเมืองน่านในปัจจุบัน โดยภายหลังอพยพชาวราษฎรจากภูเพียงแช่แห้งมาสร้างบ้านเมืองหลวงแห่งใหม่แล้ว ได้มีการสร้างวัดขึ้นกลางเวียง (วัง) บริเวณหน้าหอคำ ปัจจุบันคือ วัดช้างค้ำวรวิหาร รวมถึงวัดพญาภู และวัดภูมินทร์ที่สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2139 ซึ่งหากอ้างอิงจากปีที่ก่อสร้างวัดภูมินทร์แล้ว จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าชุมชนภูมินทร์-ท่าลี่ อาจก่อตั้งขึ้นในปีเดียวกัน หรือก่อนหน้า หรือหลังจากสร้างวัดภูมินทร์ไม่นานนัก 

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศชุมชนภูมินทร์-ท่าลี่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำน่าน บริเวณโดยรอบนอกจากจะมีบ้านเรือนของผู้คนในชุมชนแล้ว ยังมีทั้งวัดช้างค้ำ วัดพญาภู และวัดไผ่เหลือง ตั้งเรียงรายล้อมรอบหอคำ หรือที่ประทับของเจ้าเมืองน่านในอดีต ซึ่งปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เหล่านี้ล้วนเป็นปูชนียสถานที่ถูกสร้างขึ้นภายหลังพญาผากองย้ายเมืองหลวงจากภูเพียงแช่แข็งมาสร้างเวียงทางฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำน่าน

สถานที่สำคัญ

วัดภูมินทร์ เดิมมีชื่อว่า วัดพรหมมินทร์ ปูชนียสถานประจำชุมชนภูมินทร์-ท่าลี่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดภูมินทร์แห่งนี้ คือ สถาปัตยกรรมอันงดงาม โดยมีอาคารหลักที่ใช้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธาน อาคารด้านทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นพระวิหาร อาคารทิศเหนือและทิสใต้ เป็นพระอุโบสถมีประตูเปิดได้ทั้ง 4 ทิศ และมีพระประธานองค์ใหญ่แบบสุโขทัย 4 องค์ มีชื่อเรียกว่า พระพุทธมหาพรหมอุดมศักยมุนีซึ่งหันพระพักต์ไปยังประตูในแต่ละด้าน มีเจดีย์อยู่ตรงกลางเป็นหลักของเขาพระสุเมรุ แสดงถึงทั้ง 4 ทวีปตามความเชื่อพระไตรปิฎก นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือ ฮูปแต้ม”' ที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่รอบพระอุโบสถ ภาพเขียนบอกเล่าเรื่องราวนิทานชาดกตามพระพุทธศาสนา เกี่ยวข้องกับเรื่องนรก สวรรค์ บาป บุญ ซ้ำยังสะท้อนเรื่องราวของความเป็นอยู่ท้องถิ่นของชาวน่าน วิถีชีวิต การเลือกคู่ครองของชาวไทลื้อในสมัยอดีตกาล โดยภาพที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามมากที่สุดในทั้งหมดนั้นคือภาพของ ปู่ม่าน ย่าม่านหรือที่รู้จักกันในชื่อภาพ กระซิบรักบันลือโลก อนึ่ง บริเวณรอบวัดมีสถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก ลักษณะอาคารเป็นทรงกลม ภายในมีรูปปั้นจำลองเมืองนรก รวมถึงพิพิธภัณฑ์วัดภูมินทร์ซึ่งมีโบราณวัตถุจัดแสดงอยู่มากมาย

ไทลื้อ

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ชาวบ้านภูมินทร์-ท่าลี่ เคยทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ด้วยลักษณะที่ตั้งเป็นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำน่าน ส่งผลให้พื้นที่หมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีแหล่งน้ำสำคัญให้ชาวบ้านได้ใช้ดื่มกินและใช้สำหรับทำการเกษตร ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป ชุมชนเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จำนวนประชากรก็เพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องบุกเบิกที่ดินทำกินเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย กอปรกับวัดภูมินทร์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดน่าน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมแหล่งปูชนียสถานแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันรายได้หลักของชาวบ้านภูมินทร์-ท่าลี่ มาจากการธุรกิจบริการการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทั้งมัคคุเทศก์นำเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม เกสต์เฮาส์ รถสามล้อนำเที่ยว รถรางนำเที่ยว จักรยานยนต์ให้เช่า รวมถึงตลาดชุมชน ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน ที่มีขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลาประมาณห้าโมงเย็นไปจนถึงสี่ทุ่ม ในบริเวณถนนด้านหน้าวัดภูมินทร์ ตลาดแห่งนี้อยู่ในโครงการตลาดต้องชม เอกลักษณ์ชุมชนน่าน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน ภายในถนนคนเดินมีแผงขายสินค้า อาหาร และของที่ระลึกหลากหลายประเภท โดยสามารถซื้ออาหารมานั่งรับประทานที่ลานวัดที่มีการจัดพื้นที่โดยมีเสื่อปูและขันโตกวางแทนโต๊ะให้นั่งทานอาหาร พร้อมชมวัดและการแสดงดนตรีและการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนภูมินทร์-ท่าลี่ รวมถึงชาวบ้านชุมชนอื่นในเขตหัวแหวนเมืองน่านอย่างมหาศาล

งานประเพณีสำคัญที่น่าสนใจ : ถวายสลากภัต, แข่งเรือ, สงกรานต์, รดน้ำดำหัว, สรงน้ำพระธาตุ, สรงน้ำพระพุทธรูป, พระสงฆ์, ผ้าป่า, กฐินหลวง, สืบชะตา (บ้าน คน), ถวายทานข้าวเปลือกข้าวสาร, ตีฆ้องล่องน่าน, ตีปานแข่งเรือ

งานหัตถกรรมที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น : สานก๋วยสลาก, แกะเรือแข่ง, พระพุทธรูปไม้, ตัดตุง, สานตะแหล๋วคาเขียว

อาหารหรือเครื่องดื่มประจำถิ่น : แกงฮังเล, แกงแค, แกงสะนัด, ข้าวเกรียบปากหม้อ, น้ำพริกน้ำปู, ข้าวหลาม, ขนมเหนียบ, ขนมอั่ว, ขนมปาด, ขนมอีตู, น้ำสมุนไพร, น้ำตะไคร้, น้ำมะไฟจีน, น้ำใบเตย, น้ำมะขาม, น้ำมะตูม, น้ำมะนาว, น้ำเสาวรส, น้ำอัญชัญใบเตย, น้ำขิง, น้ำลำใย, น้ำเก็กฮวย, น้ำกระเจี๊ยบ, มะไฟจีนเชื่อม, กระท้อนเชื่อม, มะยมเชื่อม, มะยมดอง, มะเฟืองเชื่อม, มะกรูดเชื่อม

1. หนานบัวผัน  ช่างฝีมือชาวไทลื้อ ผู้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตำนานกระซิบรักบันลือโลก หนานบัวผัน ช่างฝีมือชาวไทลื้อผู้มีประสบการณ์ตรงกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของสังคมเมืองน่านในช่วงคาบเกี่ยวยุคสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช และพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชปกครองเมืองน่าน โดยอาจมีภูมิลำเนาในดินแดนเขตปกครองน่านและได้รับการเรียนรู้ การเขียนภาพจาก ครู ผู้เป็นช่างเขียนในเมือง กระทั่งมีความเชื่อมั่นตัวเอง และมีโอกาสได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ด้วยการรู้จักกับชาวไทลื้อบ้านหนองบัวในช่วงการเดินทางหรือเดินทัพ ก่อนที่จะได้ฝากความสามารถไว้ให้แผ่นดินเมืองน่านที่วัดภูมินทร์ และมีส่วนร่วมกับการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดช้างค้ำวรวิหารที่อยู่เยื้องวัดภูมินทร์ ก่อนจะจบชีวิตศิลปินเอกของตนไว้ที่เมืองน่านแห่งนี้ เพราะภายหลังจากหนานบัวผันได้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังปู่ม่านย่าม่า หรือตำนานกระซิบรักบันลือโลกที่สร้างชื่อให้กับตนเองและกลายเป็นตำนานแห่งวัดภูมินทร์ ก็ไม่ปรากฏผลงานศิลปะฝีมือหนานบัวผันที่ไหนอีกเลยในดินแดนล้านนา

2. พระเทพนันทาจารย์ (กานต์ สุปญฺโญ)  ผู้นำพาวัดภูมินทร์ และชุมชนภูมินทร์-ท่าลี่เข้าสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยว

 

มรดกทางวัฒนธรรม

จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดภูมินทร์

จิตรกรรมฝาผนังของวิหารวัดภูมินทร์ มีลักษณะเป็นภาพเขียนอุดมคติวิถีชีวิต ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวน่านในอดีต เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวอ้างถึงพระพุทธศาสนา ชาดก วัฒนธรรม และประเพณี ส่วนเนื้อภาพถ่ายทดถึงเรื่องราวของ คัทธนกุมารชาดก ผนังพระวิหารด้านเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระสาวกนั่งประนมมืออยู่ด้านข้าง เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาเล่าเรื่องคันธนกุมารชาดก ซึ่งเป็นชาดกว่าด้วยคุณค่าทางศีลธรรมของการกระทําความดี

จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์สามารถแบ่งออกได้ถึง 3 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) ภาพทศชาติตอนเนมิราชเสด็จโปรดนรกวรรค์ โดยมีภาพปู่ม่านย่าม่าน หรือที่รู้จักกันในชื่อเรียก กระซิบรักบันลือโลก 2) ภาพพุทธประวัติ และ 3) ภาพวาดชากดกเรื่อง คัทธนกุมารชาดก ที่มีเนื้อหามุ่งสอนให้คนทำความดี โดยชช่างวาดได้สอดแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวไทลื้อเมืองน่านในอดีต ซึ่งภาพวาดคัทธนกุมารชาดกถือเป็นภาพเนื้อหาหลักของจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดภูมินทร์แห่งนี้

นอกจากภาพวิถีชีวิตของชาวไทลื้อแล้ว ภายในวิหารวัดภูมินทร์ยังปรากฏภาพของผู้คนจากหลายกลุ่มชนบนฝาผนัง เช่น บนผนังด้านทิศตะวันตก มีภาพชาย 2 คน ใต้ภาพอธิบายไว้ว่า“ยาง” ซึ่งหมายถึงชาวกะเหรี่ยง ภาพนี้ชี้ให้เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงยุคนั้นสวมชุดสีแดงสลับขาวยาวถึงน่อง และยังมีภาพชาวจีนที่เข้ามาค้าขายทางเรืออยู่ที่ผนังด้านทิศเหนือ เป็นภาพเรือประดับด้วยธงเขียนตัวอักษรจีน มีภาพชาวจีนสวมหมวก แสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นน่าจะมีชาวจีนค้าขายอยู่ในเมืองน่านไม่น้อย และยังมีชาวลัวะในภาพเขียนบนผนังด้านทิศ ตะวันตกอีกด้วย

ปู่ม่านย่าม่าน ผลงานจิตรกรรมที่สร้างสรรค์โดยช่างวาดชาวไทลื้อ หนานบัวผัน เป็นภาพที่แปลกแยกจากรูปอื่น ๆ โดยวาดเหนือภาพเนมิราชชาดก แสดงให้เห็นรูปของชายหญิงคู่หนึ่ง โดยบุรุษใช้มือข้างหนึ่งเกาะไหล่สตรีแล้วมืออีกข้างหนึ่งป้องปากคล้ายกับกระซิบกระซาบที่ข้างหูสตรีผู้นั้นด้วยนัยน์ตาแฝงไปในเชิงรักใคร่ บุรุษในภาพสักลายตามตัว ขมวดผมไว้กลางกระหม่อมพร้อมผ้าพันผมแบบพม่า นุ่งผ้าลุนตะยา ส่วนสตรีในภาพแต่งกายไทลื้อเต็มยศ การแสดงท่าทางกระซิบหยอกล้อดังกล่าวมิใช่การเล้าโลมของคู่รักหนุ่มสาว หากแต่เป็นการแสดงความรักของคู่สามีภรรยา การแปลความหมายไปในทางกามารมณ์จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากเจตนารมณ์เดิมของศิลปิน

อย่างไรก็ตาม ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารวัดภูมินทร์นี้ เป็นมรดกที่มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ ของเมืองน่านในแต่ละยุคสมัย โดยส่วนใหญ่เขียนประดับบนผนังอาคารทางพุทธศาสนา ซึ่งสังคมไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีการนำภาพจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวมาปรับประยุกต์ผสมผสานให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยในยุคสมัยใหม่ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญาของชาวภูมินทร์-ท่าลี่ และชาวเมืองน่าน เช่น กระเป๋า โคมไฟ  ผ้าทอกี่กระตุก กล่องใส่ของอเนกประสงค์ นาฬิกาติดผนัง เคสโทรศัพท์มือถือ ที่ใส่ปากกาบนโต๊ะทำงาน และกล้องถ่ายรูป เป็นต้น

การนำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์ ถือเป็นแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนและจังหวัดได้อย่างดี การเชื่อมโยงวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิมเข้ากับบริบทของสังคมสมัยใหม่สามารถเชื่อมโยงอารมณ์ของผู้บริโภคได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ยังสามารถแสดงเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาจิตรกรรมฝาผนังสู่ผลงานออกแบบที่แสดงเอกลักษณ์พื้นถิ่นและคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เกิดเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่สื่อสารกับผู้บริโภคในสังคมวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดความเข้าใจภาพจิตรกรรมฝาผนังในบริบทใหม่บนช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างกัน

ภาษาที่ชาวภูมินทร์-ท่าลี่ ใช้ในการติดต่อสื่อสารพูดคุยกันในชุมชน คือ ภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือที่เรียกว่า คำเมือง ซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคเหนือตอนบน หรือภาษาในอาณาจักรล้านนาเดิม มักจะพูดกันมากในเชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา และยังมีการพูดและการผสมภาษากันในบางพื้นที่ของ จังหวัดตาก สุโขทัยและ เพชรบูรณ์อีกด้วย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดภูมินทร์ได้รับเกียรติให้ตีพิมพ์ลงในธนบัตรที่ใช้ในประเทศสมัยรัชกาลที่ 8 หรือประมาณ พ.ศ. 2485 โดยการออกแบบของพระอุโบสถ และพระวิหาร รวมอยู่ในอาคารเดียวกันเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามและแปลกตาซี่งนับเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษที่ฝากไว้ให้แก่ลูกหลานชาวไทลื้อชุมชนภูมินทร์-ท่าลี่จวบจนปัจจุบัน  

กรอุมา นุตะศรินทร์ และสมัคร ทองสันท์. (ม.ป.ป.). จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วัดภูมินทร์. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566. จาก: https://www.finearts.go.th/

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2566). ค้นตัวตน หนานบัวผัน ศิลปินที่เชื่อว่าวาด “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” ภาพ “กระซิบรัก” วัดภูมินทร์. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/

จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา. (ม.ป.ป.). จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน: การศึกษาครั้งล่าสุด. วารสารเมืองโบราณ, 29(6), 25. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://www.sarakadee.com/

นภสร ไชยคำภา. (ม.ป.ป.). เรื่องเล่าชาวล้านนาที่วัดภูมินทร์. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก  http://rsuartdesign.blogspot.com/

ไปด้วยกัน. (2565). ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน หน้าวัดภูมินทร์. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.paiduaykan.com/

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (ม.ป.ป.). ชุมชนเทศบาลเมืองน่านเขตใต้ กลุ่มหัวแหวนเมืองเก่าน่าน. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/

Google Earth. (2565). สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://earth.google.com/

GREENLAND. (2562). ปู่ม่านย่าม่าน กระซิบรัก ณ วัดภูมินทร์ น่าน. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.greenlandholidaytour.com/

ศุภนิดา วงศ์สว่าง. ผู้ดูแลวัดภูมินทร์. (7 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

เทศบาลเมืองน่าน โทร. 0-5471-0234