Advance search

บ้านศรีบุญยืน สถานที่ตั้งวัดศรีบุญยืน ภายในวัดแห่งนี้มีศาลาการเปรียญแต่งยอดจั่วช่อฟ้าปั้นลม และพระอุโบสถที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมศิลปะแบบล้านนา ทั้งรูปทรง ตลอดจนหน้าบันวิหารที่แกะสลักรูปราศรีเกิดทั้ง 12 ราศรี สร้างสรรค์โดยฝีมือสล่าพื้นบ้าน

บ้านศรีบุญยืน
เหมืองง่า
เมืองลำพูน
ลำพูน
เทศบาลเหมืองง่า โทร. 0-5300-1503
นภัทร นะวะปุก
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านศรีบุญยืน


บ้านศรีบุญยืน สถานที่ตั้งวัดศรีบุญยืน ภายในวัดแห่งนี้มีศาลาการเปรียญแต่งยอดจั่วช่อฟ้าปั้นลม และพระอุโบสถที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมศิลปะแบบล้านนา ทั้งรูปทรง ตลอดจนหน้าบันวิหารที่แกะสลักรูปราศรีเกิดทั้ง 12 ราศรี สร้างสรรค์โดยฝีมือสล่าพื้นบ้าน

บ้านศรีบุญยืน
เหมืองง่า
เมืองลำพูน
ลำพูน
51000
18.59952231
99.03019041
เทศบาลตำบลเหมืองง่า

หากจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของบ้านศรีบุญยืน ตำบลเหมืองง่า นั้นต้องเริ่มเล่าตั้งแต่ประวัติเมืองลำพูนเมื่อครั้งยังเป็น นครหริภุญชัย ถูกปกครองโดยเชื้อพระวงศ์ที่สืบเชื้อสายจากพระนางจามเทวี กระทั่งถึงยุคสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช ในรัชกาลนี้นครหริภุญชัยรุ่งเรืองถึงขีดสุดจนกลายเป็นที่หมายปองของแว่นแคว้นต่าง ๆ เกิดสงครามพุ่งรบกับเมืองอื่น ๆ อยู่เนือง ๆ จนถึงสมัยของพ่อขุนมังรายมหาราชทรงกรีฑาทัพมาตีเมืองหริภุญชัยจนแตกพ่าย จากนั้นทรงครองหริภุญชัยอยู่เพียง 2 ปี ก็ทรงมอบให้ ขุนฟ้า ขุนนางคนสนิท ส่วนพระองค์เสด็จไปสร้างเมืองกุมกามและนครเชียงใหม่ นครหริภุญชัยจึงตกเป็นเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่โดยปริยาย กระทั่ง พ.ศ. 2506 พม่าได้ยกทัพมาตีอาณาจักรล้านนา ตีได้นครเชียงใหม่ ทำให้หริภุญชัยต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพม่า

ครั้นถึง พ.ศ. 2347 พระเจ้ากาวิละและพญาจ่าบ้านได้ช่วยกันรวบรวมแกล้วทหารขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักร กอบกู้เอกราชหวนคืนสู่ล้านนาอีกคำรบ แล้วรวบรวมคนไทกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ เมืองยอง เชียงของ และเชียงแสน ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทที่มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกันมาสร้างบ้านเมืองอยู่ที่เมืองเชียงใหม่และลำพูน โดยมอบหมายให้เจ้าหลวงคำฝั้นและอุปราชบุญมาพระอนุชา พร้อมด้วยเจ้าเมืองยองกับไพร่พลชาวยองทั้งหมดไปบูรณะเมืองลำพูนที่ผุพังทรุดโทรมจากสภาวะสงครามให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง นับแต่นั้นเมืองลำพูนจึงมีผู้คนชาวยองแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตามที่ต่าง ๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำกวง แม่น้ำทา แม่น้ำปิง และแม่น้ำลี้ มาจนปัจจุบัน

บ้านศรีบุญยืน ตำบลเหมืองง่า หมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดลำพูนที่ปรากฏชาวยองเข้ามาอาศัยอยู่ ซึ่งหากสันนิษฐานเปรียบเทียบจากตำนานเมืองลำพูนตั้งแต่ครั้งยังเป็นนครหริภุญชัย ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า กระทั่งพระเจ้ากาวิละทวงคืนเอกราชสู่ล้านนาแล้วบูรณะเมืองลำพูนอีกครั้ง โดยให้ไพร่พลชาวยองที่กวาดต้อนมาได้ตั้งแต่ครั้งทำสงครามกับพม่าเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองวางถิ่นฐานรกรากในเมืองลำพูน ตั้งแต่ พ.ศ. 2347 มาถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 200 ปี แล้วเรียกตนเองว่า คนยอง หรือ ไทยอง ตามชื่อเมืองภูมิลำเนาเดิมเพื่อเป็นการระลึกถึงถิ่นฐานบ้านเกิด และรากเหง้าบรรพบุรุษที่เดินทางอพยพมาจากเมืองยอง 

ลักษณะภูมิประเทศ

ตำบลเหมืองง่า มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มลำน้ำแม่ปิง ซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญที่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเหมืองง่า เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ในตำบลเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่ปลูกลำไย และทำสวนผักแบบผสมผสานเป็นอาชีพหลัก เช่น ผักกาด ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักชี ต้นหอม กระเทียม ฯลฯ เช่นเดียวกับบ้านศรีบุยยืน ที่ครั้งหนึ่งชาวบ้านเคยประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก การที่ชุมชนมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มริมลำน้ำแม่ปิง อีกทั้งยังมีแม่น้ำกวงไหลผ่าน นับว่าเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ชาวบ้านมีน้ำสำหรับใช้ในภาคการเกษตร และอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี

สถานที่สำคัญ: วัดศรีบุญยืน

  • วัดศรีบุญยืน ปูชนียสถานอันเนื่องด้วยศรัทธาของชาวบ้านชุมชนบ้านศรีบุญยืน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 โดยท่านครูบาปันแก้ว ปุณฺณวํโส หรือปุณฺณวํโส ภิกฺขุ (ต่อมาได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามว่า พระครูศรีบุญสถิต) วัดศรีบุญยืน ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง ห่างบริเวณที่ตั้งวัดเป็นเนินสูงและลาดต่ำมาทางทิศตะวันตก บริเวณที่เป็นเนินสูงนั้นชาวบ้านเรียกว่า ดอน เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งวัดบริเวณนั้นชาวบ้านจึงเรียกวัดศรีบุญยืนว่า วัดหัวดอนภายในวัศรีบุญยืนแห่งนี้มีศาสนสถานศาลาการเปรียญแต่งยอดจั่วช่อฟ้าปั้นลม และพระอุโบสถที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมศิลปะแบบล้านนา ทั้งรูปทรง ตลอดจนหน้าบันวิหารที่แกะสลักรูปราศรีเกิดทั้ง 12 ราศรี โดยฝีมือช่างสล่าพื้นบ้าน

  • วังมัจฉา ตั้งอยู่ตรงข้ามหน้าวัดศรีบุญยืนในบริเวณที่มีแม่น้ำกวงไหลผ่าน และมีปลาชุกชุม บริเวณนี้ในอดีตกาลเคยเป็นแม่น้ำที่ใสสะอาดหล่อเลี้ยงผู้คนชาวเหมืองง่ามาช้านาน ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างศาลาริมน้ำสำหรับต้อนรับ และจำหน่ายอาหารปลาแก่นักท่องเที่ยวด้วย

บ้านศรีบุญยืน หมู่ที่ 3 ตำบลเหมืองง่า หมู่บ้านที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยองสืบเชื้อสายมาจากรัฐฉานของพม่า และกระจายตัวอยู่ทั่วไปในพื้นที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งรายงานสถิติจำนวนประชากรตำบลเหมืองง่าจากกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2566 ระบุจำนวนประชากร หมู่ที่ 3 ตำบลเหมืองง่า 1,421 คน 

ยอง

ปัจจุบันบ้านศรีบุญยืนเป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นสังคมเมืองค่อนข้างสูง ฉะนั้นอาชีพเก่าแก่ของบรรพบุรษดังเช่นการทำเกษตรกรรมจึงไม่เป็นที่นิยมมากนักในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ชาวบ้านที่ยังทำการเกษตรอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สุงอายุและวัยกลางคน พืชที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ ลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของตำบลเหมืองง่า พืชผักสวนผสมหลากชนิด และข้าวที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเก็บไว้บริโภค เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงจะนำออกจำหน่าย ส่วนเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนบางส่วนเริ่มทยอยออกไปประกอบอาชีพยังถิ่นที่อยู่อื่น เช่น รับราชการ ลูกจ้างเอกชน รับจ้าง และค้าขาย เป็นต้น 

บ้านศรีบุญยืนมีงานประเพณีประจำชุมชนที่ชาวบ้านให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ได้แก่ ประเพณีวัฒนธรรมการรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ในวันสงกรานต์ การเทศน์สืบชะตาหลวงในวันสงกรานต์ วันกตัญญูระลึกถึงอดีตเจ้าอาวาสทั้ง 3 ในวันมาฆบูชา และการถวายทานข้าวใหม่เดือน 4 ซึ่งในวันนั้นจะมีการทอดผ้าป่าเพื่อหาทุนสนับสนุนสำหรับใช้ทำบุญตลอดทั้งปีของวัดศรีบุญยืน (พระครูนิวิฐวิริยคุณ, 2566: สัมภาษณ์) 

1. พระครูศรีบุญสถิต (ครูบาปันแก้ว ปุณฺณวํโส)  เจ้าอาวาสรูปแรกแห่งวัดศรีบุญยืน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่แรกสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2442 จนถึงปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นช่วงชีวิตสุดท้ายของท่าน ซึ่งขณะได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรนั้น ท่านมีอายุเพียง 29 ปี ราชทินนามว่า พระครูศรีบุญสถิต พระครูศรีบุญสถิตเป็นพระสงฆ์ที่มีความสามารถเรื่องศาสตร์การทำนาย หรือโหราศาสตร์ และได้รับความยอมรับยกย่องจากชาวบ้านอย่างมาก ณ ช่วงเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

2. พระมหาศิลป์ สิกฺขาสโภ (พระศรีศิลป์สุนทรวาที)  พระยอดนักปราชญ์แห่งวัดศรีบุญยืน พระมหาศิลป์ สิกฺขาสโภ หรือพระศรีศิลป์สุนทรวาที เจ้าอาวาสรูปที่สองของวัดศรีบุญยืน ดำรงตำแหน่งต่อจากพระครูศรีบุญสถิต ตั้งแต่ พ.ศ. 2499-2506 เหตุที่เรียกว่าพระยอดนักปราชญ์นั้น เนื่องมาจากพระมหาศิลป์ สิกฺขาสโภนี้เป็นทั้งนักเขียน และนักเทศน์บรรยายธรรม 7 ประโยค ดังราชทินนาม พระศรีศิลป์สุนทรวาที ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคุณตั้งแต่อายุเพียง 33 ปี ครั้งหนึ่งท่านเคยดำรงสมณศักดิ์สำคัญมากมาย เลขานุการกรรมการสงฆ์ผู้ช่วยจังหวัดลำพูนครั้งหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะจังหวัดลำพูน รักษาการเจ้าคณะจังหวัดลำพูน รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระยืน และได้รับราชทานสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญ เมื่อปี พ.ศ. 2503 อาจนับว่าพระศรีศิลป์สุนทรวาทีเป็นยอดเพชรน้ำเอกของเมืองลำพูนก็ว่าได้ ทว่ากลับน่าเสียดายที่เมืองลำพูนและวัดศรีบุญยืนต้องสูญเสียยอดเพชรน้ำเอกไปตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากปัญหาสุขภาพที่ไม่แข็งแรงมาตั้งแต่กำเนิด เป็นเหตุให้พระศรีศิลป์สุนทรวาทีมรณภาพลงเมื่อ พ.ศ. 2507 สิริอายุเพียง 36 ปี

3. พระมหาคำปัน อนาลโย (พระครูสิริปุญญากร)  พระยอดนักพัฒนาแห่งวัดศรีบุญยืน เจ้าอาวาสรูปรูปที่สามแห่งวัดวัดศรีบุญยืน โดยดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีบุญยืนตั้งแต่ พ.ศ. 2505 และภายหลังการมรณภาพของพระศรีศิลป์สุนทรวาที ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสมาตั้งแต่นั้นจนกระทั่งมรณภาพในปี พ.ศ. 2562 เหตุที่เรียกว่าพระนักพัฒนา เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ถนนหนทางจากลูกรังสู่ลาดยาง ตลอดจนการสร้างโรงเรียนที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านศรีบุญยืน ล้วนแล้วแต่ได้พระครูสิริปุญญากรท่านเป็นคนดำเนินการทั้งสิ้น และนอกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีบุญยืนแล้ว ในปี พ.ศ. 2559 ท่านยังได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลเหมืองง่าอีกด้วย 

มรดกทางวัฒนธรรม

ศิลปะล้านนา หน้าบันวิหารวัดศรีบุญยืน ภายในวัดศรีบุญยืนมีพระอุโบสถที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมศิลปะแบบล้านนา ทั้งรูปทรง ตลอดจนหน้าบันวิหารที่แกะสลักรูปราศรีเกิดทั้ง 12 ราศรี โดยฝีมือช่างสล่าพื้นบ้าน (พระครูนิวิฐวิริยคุณ, 2566: สัมภาษณ์)

ชาวบ้านศรีบุญยืนส่วนใหญ่แล้วจะใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือคำเมือง และภาษายองเป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารพูดคุยกันภายในชุมชน สำหรับภาษายองนั้นเป็นภาษาหนึ่งของชาวไทลื้อ ในประเทศไทยมีผู้ใช้ภาษานี้ราวหนึ่งแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดลำพูน และบางพื้นที่ของเชียงใหม่และเชียงราย เนื่องจากคนในพื้นที่เหล่านี้ส่วนมากแล้วสืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อจากรัฐฉาน ประเทศพม่า และสิบสองปันนา ประเทศจีน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดศรีบุญยืน ถูกตั้งขึ้นมาเป็นโรงเรียนประชาบาล คนสมัยก่อนจะต้องมาเรียนที่วัดนี้ และในปี พ.ศ. 2499 ก็เปิดโรงเรียนปริยติธรรมสอนบาลีสอนนักธรรม จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2530 ในส่วนของสามัญได้เปิดสอนการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาผู้ใหญ่ ในปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2530 ได้มีการจัดตั้งทุนการศึกษาให้กับนักเรียน พระเณรในวัด ช่วยเหลือทางด้านการศึกษาตลอดจนเยาวชนที่อยู่ในหมู่บ้าน หากเกิดปัญญาด้านการเรียนทางวัดก็ให้การช่วยเหลือส่งเสริมทางด้านการศึกษาเต็มที่ (พระครูนิวิฐวิริยคุณ, สัมภาษณ์)

พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล. (2550). การยอมรับและการใช้ประโยชน์น้ำส้มควันไม้ในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์ปริญญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

พระครูนิวิฐวิริยคุณ. เจ้าอาวาสวัดศรีบุญยืน. (23 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

พระสังฆาธิการไทย. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566. จาก: https://sangkhatikan.com/ 

วัดศรีบุญยืน ลำพูน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566. จาก: https://www.facebook.com/sreeboonyuen

สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม. (2562). วัดศรีบุญยืน. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566. จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/

Bankaonews. (2566). “วังมัจฉา”แห่งเมืองง่า ณ วัดศรีบุญยืน จังหวัดลำพูน. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566. จาก: http://bankaonews.com/

Bloggang. (2563). คำภาษายอง (ไทยอง/ไทลื้อ) ที่ใกล้จะถูกลืม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566. จาก: https://www.bloggang.com/

เทศบาลเหมืองง่า โทร. 0-5300-1503