
“โอตารุเมืองไทย” คำขนานนามลำคลองสายประวัติศาสตร์คลองแม่ข่า แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมใจกลางเมืองเชียงใหม่
“โอตารุเมืองไทย” คำขนานนามลำคลองสายประวัติศาสตร์คลองแม่ข่า แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมใจกลางเมืองเชียงใหม่
คลองแม่ข่า หรือน้ำแม่ข่า หรือแม่น้ำข่า เป็นคลองโบราณสายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในชัยภูมิที่พญามังรายทรงเลือกสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อกว่า 700 ปีที่แล้ว จารึกตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ อธิบายถึงชัยภูมิ 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง อันเป็นเหตุผลที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1839 โดยชัยภูมิ 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง โดยปรากฏการกล่าวถึงน้ำแม่ข่าในบทบาทชัยมงคลประการที่ 5 ที่พญามังรายทรงเลือกสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ความว่า “...อันหนึ่งอยู่ที่นี่หันน้ำตกแต่อุชุปัตตาดอยสุเทพมาเป็นแม่น้ำไหลขึ้นไปหนเหนือ แล้วไหลดะไปหนวันออก แล้วไหลไปใต้ แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้เป็นชัยมงคลถ้วนห้า แม่น้ำอันนี้ไหลแต่ดอยมาที่ขุนน้ำ ได้ชื่อว่าแม่ข่า...”
คลองแม่ข่ามีแหล่งกำเนิดจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชาวเมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ในอดีตคลองแม่ข่าทำหน้าที่ทั้งเส้นทางสัญจร เป็นคูเมืองชั้นนอกโอบล้อมรอบเวียง และยังเป็นทางระบายน้ำ มวลน้ำบางส่วนจะไหลไปรวมกันที่หนองบัวเจ็ดกอ (บ้างเรียก หนองบัว หนองเขียว หรือหนองป่าแพ่ง) ซึ่งเป็นหนองน้ำโบราณที่มีมาตั้งแต่แรกสร้างเมืองเชียงใหม่ ก่อนไหลไปสู่แม่น้ำปิง แต่ปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวสิ้นสภาพไปแล้ว และถูกถนนอัษฎาธรตัดผ่านเพื่อไปบรรจบกับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ในอดีตหนองน้ำนี้จะทำหน้าที่รองรับมวลน้ำมหาศาลซึ่งถือเป็นการป้องกันอุทกภัย อันแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านการจัดการน้ำของชาวเชียงใหม่ในอดีต
ในอดีตคลองแม่ข่ามีความอุดมสมบูรณ์ น้ำใสสะอาด ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในลำคลอง รวมทั้งสามารถจับสัตว์น้ำในคลองมาบริโภคได้ แต่ด้วยความที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไร้ระบบในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีชุมชนแออัดผุดขึ้น อีกทั้งเกิดการบุกรุกคลองแม่ข่า ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น คลองมีขนาดแคบลงและทรุดโทรมอย่างยิ่ง คุณภาพน้ำในคลองเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และมีสีดำขุ่นจนไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้
ต่อมา พ.ศ. 2560 นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนวางแผนฟื้นฟูลำคลองสายประวัติศาสตร์คลองแม่ข่า โดยใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับการขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืช ติดตั้งเครื่องเติมอากาศ อันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ยูเนสโกพิจารณาเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก และถือเป็นมรดกที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เชียงใหม่ที่ควรได้รับการพัฒนาสำหรับเป็นจุดขายการท่องเที่ยวได้
คลองแม่ข่า เป็นทางน้ำธรรมชาติมีสภาพคดเคี้ยวไปมา และลาดไหลลงจากทางทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ อยู่ระหว่างกลางของบริเวณที่ดิน ต้นกำเนิดของคลองแม่ข่าเริ่มจากลำธารและลำเหมืองด้านทิศตะวันตก ซึ่งรับน้ำมาจากห้วยแม่หยวก ห้วยแม่ขัวมุง ห้วยช่างเคี่ยน และห้วยแก้วจากดอยสุเทพ จากนั้นไหลมารวมเป็นทางน้ำใหญ่ที่ หนองน้ำใหญ่บริเวณทุ่งป่าแพ่งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ด้านเหนือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง
ขอบเขตคลองแม่ข่า
- ช่วงต้นน้ำอยู่ในพื้นที่เขตตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร มีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 6 ชุมชน
- ช่วงกลางน้ำ อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านสุขิโต ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ไปจนสุดเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ บริเวณถนนมหิดลก่อนถึงเขตเทศบาลตำบลป่าแดด มีระยะทาง 10.2 กิโลเมตร มีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 26 ชุมชน
- ช่วงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่เขตเทศบาลตำบลป่าแดดไปจนถึงจุดที่น้ำแม่ข่าไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง มีระยะทาง 12 กิโลเมตร มีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 11 ชุมชนรวมมีชุมชนเกี่ยวข้องกับคลองแม่ข่า 43 ชุมชน
โดยสรุป คลองแม่ข่าในช่วงต้นจะมีลำน้ำสาขาย่อยซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำจำนวนหลายสาย ได้แก่ น้ำแม่หยวก ห้วยแม่ขัวมุง ห้วยช่างเคี่ยน น้ำแม่สา น้ำแม่ชะเยือง และมีลำน้ำสาขาย่อยที่ไหลมาบรรจบในช่วงกลางน้ำเช่น ล้าเหมืองกาง ร่องกระแจะ และล้าคูไหว ซึ่งน้ำแม่ข่าสายหลักจะไหลผ่านตำบลดอนแก้วเขตอำเภอแม่ริม ไหลผ่านเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลตำบลป่าแดด เทศบาลตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองจากนั้นไหลเรื่อยไปจนถึงเขตเทศบาลตำบลสันผักหวานและไหลลงสู่แม่น้ำปิงในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง ความยาวประมาณ 31 กิโลเมตร
กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน
ประชากรริมคลองแม่ข่าร้อยละ 72 มีสัญญาเช่าที่ดินกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน (ระยะสั้น 1-3 ปี) ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ และเทศบาลนครเชียงใหม่ และประชากรถึงร้อยละ 28 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองหรือเช่าซื้อที่ดิน
500-1,000 คน ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้จากการเปิดร้านขายของ ขายอาหาร จำนวนประมาณ 30 ร้าน ร้านสินค้าของที่ระลึก เช่น กระเป๋า เครื่องแต่งกายแบบชนเผ่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าอาข่า ลาหู่ และจีนฮ่อ สร้างเงินหมุนเวียนภายในชุมชนวันละกว่า 30,000-100,000 บาท ทว่าหากเฉลี่ยเป็นรายได้บุคคล และรายได้ครัวเรือนแล้ว ยังถือว่าประชากรในพื้นที่ชุมชนริมคลองแม่ข่ายังมีฐานะยากจนและมีรายได้น้อย สวนทางกับบทบาทการเป็นชุมชนแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่
Merry Christmas on Mae Kha Canal
Merry Christmas on Mae Kha Canal เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นช่วงเทศกาลคริสต์มาสเป็นประจำทุกปี โดยจะมีการล่องเรือตามลำน้ำแม่ข่า พร้อมขับร้องเพลงแห่งสันติสุขและความเบิกบานจากพี่น้องคริสตชน และเครือข่ายกลุ่มศาสนาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ณ ท่าน้ำแม่ข่าชัยศรีภูมิ (ถนนอัษฎาธร)-ท่าน้ำชุมชนช้างม่อย (สะพานประตูช้างม่อยเก่า) รวมระยะทางกว่า 700 เมตร เพื่อฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้เป็นสายน้ำแห่งพหุวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตล้านนา ประวัติศาสตร์ และมรดกธรรมชาติอันล้ำค่า
ประเพณียี่เป็ง
“ยี่เป็ง" เป็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนาของภาคเหนือไทยที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลหรือวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลางหรือวันงานลอยกระทง ในงานบุญ "ยี่เป็ง" ของเมืองเชียงใหม่ ยังมีการเทศน์มหาชาติ ผู้คนจะออกมาตกแต่งบ้านเรือน วัดวาอาราม และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย อ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุงช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา ประเพณียี่เป็งภาคเหนือจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา" หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เหล่าผู้มีจิตศรัทธาก็จะพากันไปถือศีล ฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ทั้งยังมีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาข้าวของเครื่องใช้ใด ๆ ก็ได้มาร่วมสมทบเพื่อเป็นทานแก่คนยากจน ครั้นถึงวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ที่มาพร้อมของส่วนตัวไปลอยลำน้ำต่อไป
ตกกลางคืนจะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทอง พร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะติ๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย การจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอยนี้ชาวบ้านมักมีความเชื่อกันว่าเพื่อให้ว่าวได้นำเอาเคราะห์ร้ายภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปถ้าไปตกในบ้านใครบ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป
ในระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน ที่บริเวณคลองแม่ข่าเป็นหนึ่งในสถานที่จัดงานเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ บนโค้งน้ำปิงที่ยาวที่สุด 6 ท่าน้ำ และอีก 1 สายน้ำชัยมงคล จะมีการประดับโคมไฟล้านนาทั้งสองฝั่งคลอง รวมถึงมีการแสดงต่าง ๆ จากชาวบ้าน
ทุนธรรมชาติ
“แม่ข่า” เป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญอันเป็นชัยมงคลของการสร้างเมืองเชียงใหม่ ในอดีตคลองแม่ข่าทำหน้าที่ทั้งเป็นคูเมืองชั้นนอกที่ช่วยปกป้องเมืองเชียงใหม่เป็นลำน้ำที่ช่วยระบายน้ำจากเขตตัวเมืองไปยังแม่น้ำปิง เป็นแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคและเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรทางน้ำที่สำคัญ
ทุนกายภาพ
เนื่องจากนโยบายการฟื้นฟูทัศนียภาพริมคลองแม่ข่าให้กลายเป็นชุมชนแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชากรสองฟากฝั่งคลองแม่ข่า มีการการสร้างอาคารบ้านเรือน และถมคลองบางส่วนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปัจจุบันคลองแม่ข่าได้ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม โดยได้ก่อสร้างสะพาน 2 จุด ปรับปรุงด้านหลังของบ้านในพื้นที่ และติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่มเติม จนเกิดความสวยงาม มีบรรยากาศคล้ายกับคลองโอตารุของประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นแลนด์มาร์จุดล่าสุดของเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประชากรชาวชุมชนริมคลองแม่ข่าอีกด้วย
ทุนมนุษย์/ทุนสังคม
เนื่องจากชุมชนริมคลองแม่ข่ามีการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เกิดเป็นประเพณีวัฒนธรรมมากมายเกี่ยวกับสายน้ำ มีการส่งต่อและผสมผสานทางวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตริมคลอง การทำประมงพื้นบ้าน เกิดการท่องเที่ยว เกิดเป็นเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชน ฯลฯ
ชุมชนริมคลองแม่ข่ามีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มคนและกลุ่มชาติพันธุ์ จึงทำให้ชุมชนมีความหลากหลายทางภาษา ได้แก่ ภาษาลีซอ หรือลีซู ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทใหญ่ ภาษาพม่า ภาษาม้ง และภาษาไทยกลาง
คลองแม่ข่า แหล่งน้ำสำคัญที่อยู่คู่วิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งยุทธศาสตร์การค้า ป้อมปราการ แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค เส้นทางสัญจร ตลอดจนเป็นแหล่งอารยธรรมของชาวเชียงใหม่มาอย่างช้านาน แต่ในช่วงระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมากกว่า 20 ชุมชน ส่งผลทำให้คลองแม่ข่าถูกบุกรุกทำลาย มีการทิ้งขยะ ระบายน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนและสถานประกอบการ ทำให้เกิดสภาวะเสื่อมโทรมทางด้านกายภาพและระบบนิเวศของแหล่งน้ำ สร้างความเสียหายและผลกระทบต่อเขตเมืองชั้นใน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยสำคัญ ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพน้ำที่เน่าเสียอย่างรุนแรง เป็นแหล่งมลพิษทางน้ำและมลทัศน์อยู่กลางเมืองโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่น้ำมีปริมาณน้อย ทำให้คุณค่าทางด้านสุนทรียภาพและประวัติศาสตร์ที่เคยมีอย่างสูงในอดีตได้สูญเสียไป
เมื่อหลายหน่วยงานเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของคลองแม่ข่าและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนริมคลอง จึงเริ่มเกิดโครงการเพ่อฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้กลับมาสดใสดังเดิม โครงการล่าสุดคือโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าพร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ถนนระแกง–ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) เป็นโครงการต้นแบบที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าสามารถฟื้นฟูน้ำในคลองให้กลับมาสะอาด และปรับภูมิทัศน์ริมคลองให้ดีขึ้นได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นการอนุรักษ์คลองประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับการฟื้นฟูโบราณสถาน ฟื้นฟูคลอง ฟื้นฟูทรัพยากร ฟื้นฟูให้ผู้คนอยู่ได้ เกิดการสร้างชีวิตใหม่ สร้างระบบใหม่ เป็นการฟื้นฟูและพัฒนาที่ผสมความเก่าและใหม่ในโลกปัจจุบัน ทั้งยังมีมิติของการสร้างเศรษฐกิจเกิดขึ้นในชุมชนริมคลอง
แม้จะไม่มีภาพของการเล่นน้ำในคลองหรือการคมนาคมทางเรือแบบในอดีต แต่คลองแม่ข่ายุคใหม่ก็ได้ทำหน้าที่ในมิติใหม่ตามการพัฒนาของผู้คนและสังคม แม่ข่าโฉมใหม่ระยะทางประมาณ 750 เมตร ที่ถูกจัดการเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียและปรับภูมิทัศน์ใหม่ สวยงาม และปลอดภัย เป็นความสวยงามจากการผสมผสานของชีวิตเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดวิถีชีวิต ตลอดริมคลองสามารถปลูกผักปลูกต้นไม้ได้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีร้านอาหาร มีกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นผู้แสดง ไม่ได้เป็นเพียงตัวประกอบ นำเศรษฐกิจเข้ามาในชุมชน ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนจากความไม่มั่นคงสู่ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เกิดวิถีชีวิตใหม่ของชุมชนริมคลองแม่ข่าที่ปรับตัวไปตามการพัฒนาของสังคม
คลองแม่ข่ากลับมาเป็นคลองที่มีชีวิตจิตใจอีกครั้ง ไม่ใช่ชีวิตจากเส้นสายที่โค้งเว้าของแม่น้ำในคลอง หรือความลดหลั่นของหลังคาบ้านเรือน เพราะแม่ข่าไม่ใช่ไม่น้ำ แต่แม่ข่าคือชีวิตของชุมชน เพราะชุมชนทำให้วัฒนธรรมยังคงอยู่ มิติของวิถีชีวิตจึงมีความสำคัญ และเมื่อโครงการต้นแบบนี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ก็จะเป็นตัวอย่างที่สามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาชุมชนอื่น ๆ ในทิศทางที่ดี เพื่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ต่อไป
บัวหอม ภาสุวรรณ. ตัวแทนประสานงานดำเนินกิจกรรมชุมชน. (2 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.
ผู้จัดการออนไลน์. (2565). รู้จัก “คลองแม่ข่า” แลนด์มาร์กใหม่ถ่ายรูปสวยสุดฟิน ได้ฟีลเหมือนอยู่ญี่ปุ่น. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://mgronline.com/travel/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].
ผู้จัดการออนไลน์. (2565). "คลองแม่ข่า" ประดับตกแต่งสวยงามเตรียมพร้อมจัดงาน "ยี่เป็ง" หลังพลิกโฉมเป็นแลนด์มาร์กใหม่-คาด นทท.แน่น. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://mgronline.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].
Spark U Lanna. (2560). แม่ข่า..มาจากไหน?. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com/SparkULanna/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].
Where is toilets. (2565). คลองแม่ข่ากับความสวยงามในเดือนยี่เป็ง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://th.trip.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566].