Advance search

บ้านขุนช่างเคี่ยน

บ้านช่างเคี่ยน

ในฤดูหนาวของทุกปี บ้านขุนช่างเคี่ยนทั่วทุกสารทิศจะถูกปกคลุมด้วยสีชมพูขาวของดอกพญาเสือโคร่ง หรือที่เรียกกันว่าซากุระเมืองไทย ที่บานสะพรั่งอวดความงามไปทั่วบริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน 

หมู่ที่ 1 ถนนห้วยแก้ว
ช่างเคี่ยน
ช้างเผือก
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
วิภาวรรณ์ ทาสิงห์คำ
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านขุนช่างเคี่ยน
บ้านช่างเคี่ยน

ขุนช่างเคี่ยน มาจากคำว่า "ขุน" ที่แปลว่า ขุนน้ำลําธาร และช่างเคี่ยน ที่แปลว่า ช่างไม้ ในอดีตคนเมืองในหมู่บ้านช่างเคี่ยนจะให้ช้างมาขนไม้บนหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน จึงทําให้เกิดคําว่า "ขุนช่างเคี่ยน" มีความหมายว่า ช้างที่มาขนไม้ให้กับช่างไม้ในหมู่บ้านช่างเคี่ยน


ในฤดูหนาวของทุกปี บ้านขุนช่างเคี่ยนทั่วทุกสารทิศจะถูกปกคลุมด้วยสีชมพูขาวของดอกพญาเสือโคร่ง หรือที่เรียกกันว่าซากุระเมืองไทย ที่บานสะพรั่งอวดความงามไปทั่วบริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน 

ช่างเคี่ยน
หมู่ที่ 1 ถนนห้วยแก้ว
ช้างเผือก
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
50300
เทศบาลช้างเผือก โทร. 0-5321-7923
18.8078966
98.9556167
เทศบาลตำบลช้างเผือก

หมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน เป็นหมู่บ้านที่กลุ่มชาติพันธุ์ม้งอาศัยอยู่ มีประวัติความเป็นมาเล่าขานยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนเป็นชาวม้งที่อพยพย้ายมาจากหมู่บ้านดอยปุย และได้มาอาศัยบริเวณโดยรอบของหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนเพื่อทําการเกษตรเลี้ยงชีพ

ในปี พ.ศ. 2509 นายจู๋ยี แซ่ลี และนายสายหลือ แซ่ลี ได้มาสํารวจพื้นที่ในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน และมีความเห็นตรงกันว่าจะรวมพลญาติพี่น้องที่ทําการเกษตรบริเวณหมู่บ้านมาอยู่รวมกันเพื่อให้เกิดความมั่นคง และสามารถช่วยเหลือกันได้ในยามมีเหตุฉุกเฉิน หรือเวลาที่มีพิธีกรรมต่าง ๆ จึงได้มีการเรียกประชุมกับหัวหน้าครอบครัวของกลุ่มคนที่ทําการเกษตรบริเวณรอบหมู่บ้าน ให้อพยพกันมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แต่ยังไปทําสวนอยู่ที่เดิมเพราะหมู่บ้านกับสวนระยะทางไม่ได้อยู่ไกลกันมากนัก แรกเริ่มมีชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 25 หลังคาเรือน ซึ่งก็ยังไม่สามารถตั้งเป็นหมู่บ้านของตัวเองได้ ทางอําเภอจึงได้ให้อยู่รวมกับหมู่บ้านช่างเคี่ยน หมู่ 1 ตําบลช้างเผือก อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถก่อตั้งเป็นหมู่บ้านได้

ต่อมาญาติพี่น้องชาวม้งดอยปุยที่นับถือผีบรรพบุรุษตนเดียวกัน ค่อย ๆ ทยอยย้ายมาอยู่บริเวณขุนช่างเคี่ยน ซึ่งในขณะนั้นหมู่บ้านดอยปุยจะมีทั้งม้งเขียวและม้งขาวอยู่รวมกัน แต่พอนายยี ที่เป็นม้งขาว ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านที่หมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน จึงทําให้ม้งขาวในหมู่บ้านดอยปุยแยกตัวออกมาจากหมู่บ้านดอยปุยเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา

ต่อมาอีกประมาณ 2-3 ปี นับจากที่เริ่มอพยพมา มีชาวบ้านต่างหมู่บ้านอื่นได้ข่าวคราวว่าหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนทําการเกษตรได้ผลเจริญงอกงาม และอยู่ใกล้กับตัวเมืองในอีกไม่นานคงจะเจริญมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ จึงทําให้มีญาติพี่น้องชาวม้งจากถิ่นอื่นเคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเริ่มมีประชากรเพิ่มมากขึ้นทางการจึงได้เข้ามาดำเนินการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเพื่อเป็นตัวแทนปกครองหมู่บ้านของตัวเอง ทําให้หมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนย้ายจากหมู่ 1 มาเป็น หมู่ 6 บ้านขุนช่างเคี่ยน ตําบลช้างเผือก อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นหมู่ 4 ตำบลช้างเผือกมาจนปัจจุบัน

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอแม่ริม และอำเภอหางดง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 1 ตำบลช้างเผือก

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านขุนช่างเคี่ยน เป็นชุมชนที่มีอาณาเขตที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ลักษณะภูมิประเทศมีลักษณะเป็นเนินเขาและหุบเขา นิยมปลูกบ้านอยู่ใกล้ชิดกันในกลุ่มเครือญาติ โดยมีเรือนใหญ่ของคนสําคัญ คือ ผู้อาวุโสอยู่ตรงกลาง หน้าบ้านหันไปตามทิศความลาดลงของภูเขาหมู่บ้าน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่ จะปลูกบ้านเรือนติดพื้นดิน นิยมสร้างเป็นแบบชั้นเดียว เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ด้านสภาพภูมิอากาศ โดยปกติแล้วจะมีสภาพหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำ มี 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และฤดูหนาว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน

บ้านขุนช่างเคี่ยนเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางเดียวกับพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์และบ้านม้งดอยปุย สถานีเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนเป็นสถานีเกษตรฯ ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถานีวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์กาแฟ ไม้ผลเมืองหนาว เช่น ท้อ พลับ บ๊วย พลัม อะโวคาโด มะคาเดเมีย และไม้ผลกึ่งร้อน นอกจากนี้ในฤดูหนาวของทุกปีพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวป่าต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือที่เรียกกันว่าซากุระเมืองไทย ที่บานสะพรั่งอวดความงามไปทั่วบริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ฤดูนี้บ้านขุนช่างเคี่ยนจะเต็มไปด้วยดอกนางพญาเสือโคร่งรายล้อมอยู่ทั่วทั้งดอย

ลักษณะบ้านเรือน

ลักษณะบ้านเรือนของชาวม้งบ้านขุนช่างเคี่ยนส่วนใหญ่ทําด้วยไม้ที่ดูเรียบง่าย พื้นบ้านเป็นพื้นดินหลังคามุงกระเบื้องหรือสังกะสี ตั้งครัวไว้กลางบ้าน การตั้งห้องครัวจะขึ้นอยู่กับแต่ละตระกูล เมื่อก่อนรุ่นปู่ย่าตายายมักจะมีการเปลี่ยนที่ตั้งเตาไฟเพื่อให้การทํามาหากินดีขึ้น เพราะชาวม้งเชื่อว่าเตาไฟของบ้านเป็นส่วนที่สําคัญที่สุด โดยจะมีสองขนาด คือ เตาเล็กกับเตาใหญ่ที่ใช้ปรุงอาหารมื้อเช้าและอาหารมื้ออื่น ๆ ในบ้านของม้งจะมีเสาใหญ่รูปสี่เหลี่ยมหรือกลมตั้งตรงกลางบ้าน ซึ่งถือเป็นเสาเอกของทุกบ้าน เมื่อมีงานสําคัญต่าง ๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ งานแต่งงาน งานบุญข้าวใหม่ ก็จะต้องจุดธูปไหว้บนหิ้งบูชาที่เสาเอกบ้านเพื่อเป็นการรายงานต่อผีบ้าน 

รายงานสถิติจำนวนประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านขุนช่างเคี่ยนจำนวน 114 ครัวเรือน 1,149 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 567 คน และประชากรหญิง 582 คน โดยประชากรในชุมชนคือกลุ่มชาติม้งที่อพยพมาจากหมู่บ้านม้งดอยปุย 

ม้ง

ในอดีตชาวม้งบ้านช่างเคี่ยนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร มีฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ แต่ในปัจจุบันนี้จะปลูกไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่ พืชหลักของคนในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน อาทิ ลิ้นจี่ นางพญาเสือโคร่ง กาแฟ สตอเบอรี่ เป็นต้น

ปี พ.ศ. 2516 สถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนได้ขึ้นมาทําการวิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวในหมู่บ้าน จึงได้นําต้นกาแฟมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านนําไปปลูกรวมกับลิ้นจี่ ต่อมาคนในหมู่บ้านเริ่มมีการพัฒนาการทําเกษตรมากยิ่งขึ้น เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่ไร่นามาปลูกหัวไชเท้าและปลูกผักเพิ่มมากขึ้น

ภายหลังการเข้ามาดำเนินการวิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวของสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาพาขุนช่างเคี่ยนไปสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยว ชาวบ้านในหมู่บ้านมีการรวมตัวกันในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ เช่น เปิดร้านเช่าชุดม้งเพื่อถ่ายรูปให้สมกับบรรยากาศความเป็นชุมชนชาติพันธุ์ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ศาลาพักรถ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ม้งและดอกพญาเสือโคร่งบาน โดยเข้าไปตั้งหน้าร้านที่เขตสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน เนื่องจากเป็นแหล่งรวมพลนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

ร้านกาแฟ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ที่เป็นที่นิยมในชุมชนบ้านช่างเคี่ยน กาแฟที่นำมาขายนั้นเป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่ได้ต้นกล้าจากสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ที่ชาวบ้านนํามาปลูกเองและรับซื้อของเพื่อนบ้านและได้นํามาแปรรูปคัด เมล็ดกาแฟที่สมบูรณ์ที่สุด นํามาคั่วเมล็ดกาแฟด้วยเครื่อง แล้วบรรจุลงในซองเพื่อนําไปขายหน้าร้าน บางครอบครัวที่ทุนทรัพย์มากพอก็จะพัฒนาเปิดร้านกาแฟเป็นของตนเอง 

วิถีชีวิต

วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งขุนช่างเคี่ยนมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายอาศัยอยู่ด้วยกันแบบพี่น้องและญาติ มิตรไม่มีอะไรซับซ้อน เช่น อาหารการกินที่ไม่ได้มีเครื่องปรุงมากมาย มีแค่เกลือกับผงชูรสก็สามารถทําเมนูอาหารที่พิเศษให้คนในครอบครัวรับประทาน และส่วนประกอบหลักของอาหารก็จะมีสมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ มื้ออาหารที่ธรรมดาจะมีต้มผักกับน้ำพริกผักชี และถ้าเป็นอาหารมื้อพิเศษก็จะเป็นต้มไก่ดําสมุนไพร

ทุกวันนี้ชาวม้งขุนช่างเคี่ยน ยังมีวิธีชีวิตที่คล้ายคลึงกับอดีต ยังมีหัตกรรมแบบเดิมที่สามารถใช้งานได้จริงในขณะที่หมู่บ้านม้งที่อื่นไม่มีแล้ว เช่น การประกอบอาชีพ อาทิ การทอผ้าปักผ้า การตีดาบ ตีเครื่องเงิน งานจักรสาร เป็นต้น

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวม้งขุนช่างเคี่ยนมีความเชื่อและนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผีมาแต่เดิม โดยเชื่อว่ามีทั้งผีดี และผีร้ายที่สิงสถิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ดั้งนั้นจึงมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผี เพราะเชื่อว่าบางครั้งผีอาจจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยแก่ผู้คนได้ การติดต่อกับผี จะติดต่อโดยวิธีการไหว้ด้วยอาหารผ่านการประกอบพีกรรม เช่น พิธีกรรม “ตัวเน้ง” หรือ “อั๊วเน้ง” อีกทั้งยังมีความเชื่อถึงเรื่องของการใส่เครื่องรางป้องกันภูติ ผี ปีศาจ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะต้องใส่สร้อยเงินที่ผ่านการปลุกเสกอยู่ตลอดเวลา เพราะชาวม้งเชื่อว่าภูตผีจะกลัวเงินหรือทองเหลืองเท่านั้น ครอบครัวชาวม้งแต่ละหลังคาเรือนจึงจะมีทองเหลืองติดบ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี

ในช่วงหลัง เริ่มมีกลุ่มบุคคลภายนอกเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน จึงทําให้คนในหมู่บ้านบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์และเลิกทําพิธีกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเลี้ยงผีบรรพบุรุษที่เป็นผีเดิมที่ม้งเคยนับถือ แต่ส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านก็ยังคงนับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผีเช่นเดิม

1. นายจุมพล ยั่งยืนกุล  ผู้นำชุมชนบ้านช่างเคี่ยน

ทุนทางธรรมชาติ: ต้นนางพญาเสือโคร่ง

ดอกนางพญาเสือโคร่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว และทําให้คนในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10–15 เมตร ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ลักษณะรูปรีแบบไข่ หรือไข่กลับออกสลับกัน ใบมีความกว้าง 3–5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบขอบจากปลาย หูใบแตกแขนงคล้ายเขากวางใบร่วงง่ายออกดอกเป็นสีขาว ชมพู หรือแดง ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ขอบริ้วประดับจัดไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีผลเป็นรูปไข่หรือกลม เมื่อสุกจะออกเป็นสีแดงระยะเวลาออกดอกระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์แล้วแต่สภาพอากาศของแต่ละปีด้วย โดยใบไม้จะร่วงก่อนออกดอก

ในสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนได้ใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบของสถานีปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยปลูกเป็นแนวเดียวกันและปลูกริมถนนตลอดเส้นทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งจะมีพนักงานที่ทํางานในสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนเป็นผู้ดูแล ต่อมาก็เริ่มมีชาวบ้านไปขอต้นกล้ามาปลูกในหมู่บ้านเรื่อย ๆ ปีละต้นสองต้น ตลอดจนปัจจุบันนี้ในหมู่บ้านจะมีต้นนางพญาเสือโคร่งอยู่เป็นตามริมถนน บริเวณโรงเรียน วัด ร้านกาแฟ รอบบ้านของชาวบ้าน จนกลายเป็นลักษณะเด่น ต้นทุนทางธรรมชาติซึ่งนำพาชุมชนชาวม้งบ้านขุนช่างเคี่ยนพัฒนาเข้าสู่การเป็นชุมชนแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ 

ภาษาพูด : ภาษาม้ง ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) และภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ท่องเที่ยวขุนช่างเคี่ยนเชียงใหม่. (2565). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566].

อภิสรา แซ่ลี กิตติทัช คุณยศยิ่ง ภัทร์นิธิ กาใจ และคณะ. (2562). การรวบรวมภูมิปัญญาหัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งชุมชนช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (รายงานการวิจัย). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

Sale Here Editor. (2565). ไปเที่ยวเหนือกันที่ ขุนช่างเคี่ยน พร้อมชมดอกพญาเสือโคร่งบานสะพรั่ง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://salehere.co.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566].

Tripsmagazine. (2565). ขุนช่างเคี่ยน เชียงใหม่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://tripsmagazine.co/khunchangkhian/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566].