Advance search

ตลาดดอนหวาย

ชุมชนทางการค้าริมน้ำที่มีอายุกว่า 100 ปี โดยเป็นชุมชนตลาดที่มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกสินค้าบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ชุมชนโดดเด่นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปและสินค้าอาหาร โดยภายในตลาดมีร้านค้าชื่อดังหลายร้านที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ทั้งนี้ชุมชนตลาดดอนหวายได้ตั้งอยู่ภายในเขตวัดคงคารามดอนหวาย ซึ่งวัดแห่งนี้ถือเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญที่อยู่เคียงคู่กับจังหวัดนครปฐมมาอย่างยาวนาน

หมู่ 5 ถนนดอนหวาย-ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3414
โคกหวาย
บางกระทึก
สามพราน
นครปฐม
วีรวรรณ สาคร
16 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
วีรวรรณ สาคร
29 เม.ย. 2023
ตลาดดอนหวาย

ตลาดดอนหวายตั้งตามชื่อวัดดอนหวายที่มีมาก่อนหน้านี้เนื่องจากตลาดดอนหวายแห่งนี้อยู่ติดกับวัด โดยคำว่าดอนวายมาจากพื้นที่ที่ตั้งวัดที่เป็นดอนสูงและบริเวณพื้นที่ที่มีต้นหวายอยู่จำนวนมาก


ชุมชนทางการค้าริมน้ำที่มีอายุกว่า 100 ปี โดยเป็นชุมชนตลาดที่มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกสินค้าบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ชุมชนโดดเด่นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปและสินค้าอาหาร โดยภายในตลาดมีร้านค้าชื่อดังหลายร้านที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ทั้งนี้ชุมชนตลาดดอนหวายได้ตั้งอยู่ภายในเขตวัดคงคารามดอนหวาย ซึ่งวัดแห่งนี้ถือเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญที่อยู่เคียงคู่กับจังหวัดนครปฐมมาอย่างยาวนาน

โคกหวาย
หมู่ 5 ถนนดอนหวาย-ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3414
บางกระทึก
สามพราน
นครปฐม
73210
ตลาดดอนหวาย โทร. 0-3432-1038, เทศบาลบางกระทึก โทร. 0-2482-7215
13.769531285121689
100.28436008018102
องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระทึก

ชุมชนตลาดดอนหวาย เป็นพื้นที่ชุมชนการค้าที่มีอายุมากกว่า 100 ปี โดยคำว่า "ดอนหวาย" คาดว่าถูกเรียกตามชื่อของวัดดอนหวาย (วัดคงคาดอนหวาย) ที่ตั้งอยู่ติดกันซึ่งวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2394 อย่างไรก็ตามวัดแห่งนี้เดิมเรียกโคกหวาย โดยคาดว่าเรียกตามพื้นที่บริเวณสร้างวัดที่เป็นโคกสูงและมีต้นหวายขึ้น ต่อมาท่านเจ้าคุณธรรมราชานุวัตร (ผู้สร้างวัดคนที่ 2) เห็นว่าชื่อไม่เหมาะสมและไม่มงคลจึงเปลี่ยนชื่อว่าวัดคงคารามดอนหวาย ซึ่งประชาชนในพื้นที่มักเรียกดอนหวายจุดนี้ทำให้บริเวณพื้นที่ชุมชนรอบวัดจึงมักเรียกดอนหวาย ทั้งนี้บริเวณ “ตำบลกระทึก” อันเป็นที่ตั้งของชุมชนตลาดดอนหวาย โดยแต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่ชุมนุมของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อร่วมกิจการระหว่างกัน มีงานบุญ งานรื่นเริง มีมหรสพ การละเล่นพื้นบ้านสนุกสนานอึกกระทึกครึกโครมในบริเวณนี้ตลอดปีจึงทำให้เรียกพื้นที่นี้ว่าตำบลกระทึกมาจนถึงปัจจุบัน

การเกิดชุมชนตลาดดอนหวายพบว่าชาวจีนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดชุมชนนี้ โดยแต่เดิมในอดีตก่อนการเกิดขึ้นของตลาดดอนหวายพบว่าการเข้ามาของคนจีนในพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีมีประวัติมาอย่างยาวนานในเรื่องของการตั้งชุมชน ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 1 - 2 บริเวณนครปฐมหรือเมืองนครชัยศรีขณะนั้นมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาก เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ริมน้ำนครชัยศรีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ใกล้ทะเล อีกทั้งยังอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เมืองหลวงทำให้เหมาะต่อการเข้ามาตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพของชาวจีน ทั้งนี้ประกอบกับปัจจัยการที่พื้นที่นี้เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลในช่วง พ.ศ. 2398 ทำให้ชาวจีนอพยพเข้ามารับจ้างเป็นแรงงานในโรงงานน้ำตาลและแรงงานไร่อ้อยในพื้นที่ กระทั่งเมื่อกิจการน้ำตาลได้ลดความสำคัญลงชาวจีนเลิกเป็นแรงงานหันไปหาทำอาชีพอื่นในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวจีนส่วนหนึ่งที่สามารถสะสมทุนได้หันไปมีบทบาทในการค้า ผู้มีทุนมากผันตัวเป็นพ่อค้าคนกลางค้าข้าว ผู้มีทุนรองลงมาเป็นพ่อค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ด บทบาทชาวจีนต่อการค้าจึงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้พบว่าการค้าขายของชาวจีนยังขยายตัวไปในพื้นที่ท้องถิ่นชุมชน เนื่องด้วยการคมนาคมที่สะดวกที่ได้พัฒนาในช่วงรัชกาลที่ 5 เช่น การขุดคลองมากมายจนเกิดเป็นเครือข่ายเชื่อมต่อ โดยในเขตนครชัยศรีมีมากกว่า 200 คลอง ทำให้ตลาดตามพื้นที่ท้องถิ่นโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในนครชัยศรีที่มีตลาดใหญ่ ๆ ที่เหมาะแก่การค้า มักมีชาวจีนตั้งร้านขายสินค้าและแทรกตัวอยู่อาศัย ในที่นี้รวมถึงพื้นที่ชุมชนตลาดดอนหวาย

ชุมชนตลาดดอนหวายตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน โดยเกิดมาจากการค้าของพ่อค้าชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก แต่เดิมในพื้นที่ได้มีชาวจีนเก่าอยู่อาศัยก่อนแล้วแต่ไม่มากเห็นได้จากการมีวัดคงคารามดอนหวาย ซึ่งเป็นวัดที่ชาวจีนถวายที่ดินสร้าง ต่อมาชาวจีนที่อพยพเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะหลังช่วงการซบเซาของกิจการโรงงานน้ำตาลปลายรัชกาลที่ 5 ช่วงเวลานี้ชาวจีนได้ยึดเอาพื้นที่ติดกับวัดดอนหวายในการอยู่อาศัยและทำการค้าเพราะบริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่มีคนอยู่อาศัยมากและเส้นทางติดต่อกับชุมชนก็สะดวกมีคลองทำให้การค้าเจริญได้ โดยสินค้าส่วนมากที่คนจีนขายมักเป็นเครื่องอุปโภค - บริโภค เช่น เครื่องมือสำหรับชาวนา ชาวสวน อาหารคาว - หวาน อาหารจีน เป็นต้น ทั้งนี้ชาวจีนได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มากขึ้นจนกระทั่งสามารถกลายเป็นชุมชนตลาดดอนหวายในช่วงรัชกาลที่ 6

ลักษณะการตั้งของชุมชนในช่วงนี้จะเป็นการปลูกบ้านเป็นไม้สร้างเป็นหลัง ๆ ติดต่อกันยาวเป็นห้องแถวยาวตามแนวของตลิ่งแม่น้ำท่าจีน มักสร้างโดยให้หันหน้าเข้าหากันเพื่อให้มีพื้นที่ตรงกลางในการจับจ่ายใช้สอยพื้นที่ที่อยู่ริมน้ำจะหันหลังให้แม่น้ำ บางช่วงเว้นช่องว่าเพื่อทำสะพานท่าน้ำให้ชาวพายเรือมาซื้อของและผูกเรือไว้ด้านหน้า จากการค้าที่เจริญส่งผลให้ไม่นานนักตลาดชุมชนดอนหวายถือเป็นศูนย์กลางตลาดที่ให้บริการแก่ประชาชนในย่านนี้ ทั้งนี้การที่พื้นที่ชุมชนมีชาวจีนอาศัยอยู่มากทำให้เกิดการสร้างศาลเจ้าในชุมชนมีไว้เพื่อกราบไหว้และเซ่นไหว้ตามประเพณี นอกจากนี้ยังมีการตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีน มีโรงฝิ่น โรงฆ่าสัตว์และโรงปั่นไฟฟ้าในชุมชน

การค้าภายในบริเวณใกล้เคียงพบว่า การคมนาคมสมัยก่อนชาวบ้านจะใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลักได้เป็นส่วนหนึ่งให้การค้าเจริญ โดยสมัยก่อนหากเดินทางไปกรุงเทพฯ จะต้องคมนาคมทางน้ำผ่านบริเวณนี้ ยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการคมนาคมเรือเมย์ผ่านจากสุพรรณมาในบริเวณพื้นที่ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น ผู้คนที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ออกกรุงเทพต้องผ่านย่านพื้นที่ตลาดนี้ เพราะเส้นทางเรือเมย์นี้สามารถเชื่อมไปถึงสถานีรถไฟงิ้วรายที่อยู่ตอนเหนือของแม่น้ำและทางตอนใต้พื้นที่ถนนเพรชเกษมซึ่งเป็นส่วนที่สามารถเดินทางต่อถึงกรุงเทพฯ จุดนี้ทำให้ชุมชนและตลาดเจริญอย่างมาก การค้าจึงคึกคักด้วยผู้คนส่งผลให้ชุมชนและตลาดขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นตลาดที่สำคัญในเขตตำบลบางกระทึกและตำบลใกล้เคียง อีกทั้งพื้นที่ตลาดยังได้กลายเป็นสถานที่ขนถ่ายสินค้าที่สำคัญพบร่องรอยความเจริญเป็นโกดังสินค้าริมฝั่งแม่น้ำ

การค้าบริเวณตลาดดอนหวายเจริญคึกคักเรื่อยมาจนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาความเจริญขยายไปทุกแห่ง มีการสร้างถนนหนทางเพิ่มขึ้น เช่น ถนนเลียบแม่น้ำนครชัยศรี (ไร่ขิง - ทรงคนอง) ถนนพุมทธมณฑลสาย 4 ถนนพุทธมณฑลสาย 5 ถนนสายปิ่นเกล้า - นครชัยศรี การสร้างถนนทำให้การติดต่อคมนาคมทางรถยนต์เข้าออกพื้นที่กรุงเทพฯ สะดวกขึ้น ส่วนการคมนาคมทางน้ำได้ลดบทบาทลง ทำให้คนที่สัญจรผ่านตลาดอันเป็นการสัญจรทางน้ำเป็นหลักมีการสัญจรน้อยลง นอกจากนี้การที่ถนนสามารถเชื่อมต่อทั่วถึงยังทำให้ผู้คนเข้าถึงสถานที่ในเขตใหญ่ ๆ โดยเฉพาะตลาดในเมืองที่มีสินค้าหลากหลายทำให้ผู้คนจึงจับจ่ายซื้อของลดน้อยลง อีกทั้งประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินการทำนาทำสวนลดลงในพื้นที่ชุมชน ทำให้แรงงานภาคเกษตรกรรมก็ลดน้อยลงตามไปด้วย จากสาเหตุเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้ชุมชนและตลาดดอนหวายที่เคยเจริญค่อย ๆ ซบเซามีผู้มาใช้บริการน้อยลง พ่อค้าและแม่ค้าที่เคยค้าขายในตลาดจำนวนมากอพยพออกนอกพื้นที่จนเหลือร้านค้าแค่เพียงไม่กี่ร้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าเล็ก ๆ ห้องแถวส่วนมากถูกปิดตายเกือบหมดเหลือไม่กี่ห้องสำหรับอยู่อาศัย

จนในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ตลาดดอนหวายได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง โดยนายบัญชา วุฒิสังคะ กำนันแห่งตำบลบางกระทึก มีแนวคิดที่จะฟื้นฟูตลาดดอนหวายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงรวมกลุ่มคนที่มีพื้นเพอาศัยอยู่ในชุมชนตลาดดอนหวายและคนที่มีความสำคัญในพื้นที่ประมาณ 20 คน รวมตัวก่อตั้งเป็นกลุ่ม คณะกรรมการตลาดริมน้ำดอนหวาย มีนายบัญชา วุฒิสังคะ เป็นประธาน กลุ่มนี้จะคอยทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวตลาดดอนหวาย ดูแลพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ดูแลความปลอดภัยต่าง ๆ รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพสินค้าในตลาด จุดนี้ทำให้ตลาดและชุมชนจึงเริ่มได้รับการฟื้นฟู

อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้มีการตีพิมพ์คอลัมน์ “เที่ยวไป กินไป” ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเกี่ยวกับการแนะนำอาหารภายในตลาดดอนหวาย คือ เป็ดพะโล้นายหนับ ขนมไทยแม่สุนีย์ ห่อหมกแม่ประทิน ก๋วยเตี๋ยวเรือ โดยหลังการตีพิมพ์ของคอลัมน์นี้ได้ทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาชิมอาหารในตลาดเพิ่มมากขึ้นอันส่งผลต่อปริมาณของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นในพื้นที่ ยิ่งในเวลาต่อมามีสื่อต่าง ๆ เข้ามาประชาสัมพันธ์มากขึ้น อีกทั้งภาครัฐก็ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2541 ตลาดดอนหวายเริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงอย่างมาก จุดนี้จึงทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระทึกมีแนวคิดที่ว่าจะส่งเสริม พร้อมทั้งสนับสนุนชาวชุมชนตลาดดอนหวายหันกลับมาประกอบอาชีพค้าขายอีกครั้งโดยการใช้ฝีมือการประกอบอาหารดั้งเดิมให้แก่นักท่องเที่ยว ทำให้ปัจจุบันชุมชนและตลาดดอนหวายกลายเป็นพื้นที่ค้าขายสินค้าโดยเฉพาะอาหาร ขนม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย

ชุมชนตลาดดอนหวายเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้เขตปกครองขององค์การส่วนตำบลกระทึก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอสามพราน ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามพรานประมาณ 15 กิโลเมตร มีทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บริเวณวัดคงคงรามดอนหวาย โดยในปัจจุบันเส้นทางในการคมนาคมของตำบลบางกระทึกได้เปลี่ยนไปจากทางน้ำเป็นทางบก ประกอบด้วยถนนสายสำคัญ 2 สาย ดังนี้

  1. ถนนพุทธมณฑลสาย 5 จากแยกถนนปิ่นเกล้า - นครชัยศรี ผ่านตำบลบางกระทึก ตำบลไร่ขิง และตำบลอ้อมใหญ่ เชื่อมถนนเพชรเกษม
  2. ถนนไร่ขิง - ทรงคะนอง (สาย 6) จากแยกถนนปั่นเกล้า - นครชัยศรี ผ่านตำบลทรงคะนอง ตำบลบางกระ ทึก ตำบลไร่ขิง และตำบลท่าตลาด เชื่อมถนนเพชรเกษม

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ วัดคงคารามดอนหวาย
  • ทิศใต้ ติดกับ ที่ดินเอกชน
  • ทิศตะวันออก ติดกับ แม่น้ำท่าจีน
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ถนนสายเลียบแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นถนนที่แยกมาจากถนนเพรชเกษม ผ่านวัดไร่ขิงและทะลุไปออกถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนตลาดดอนหวายตั้งอยู่ที่ตำบลกระทึก โดยรอบชุมชนมีวัดและโรงเรียนคงคาดอนหวายและสถานที่ราชการ ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณชุมชนเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้ในอดีตพื้นที่บริเวณใกล้เคียงชุมชนจะมีการทำการเกษตรโดยมาก ทั้งทำนาและทำสวน ซึ่งสวนปัจจุบันยังคงทำอยู่บ้างแต่มีจำนวนน้อยลง ทั้งนี้ภายในพื้นที่ไม่มีภูเขาและป่าไม้แต่มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน โดยในตำบลกระทึกจะไหลผ่านหมู่ 2, 4, 5 และ 7 ภายในมีลำคลองธรรมชาติและลำคลองชลประทานที่ส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่โดยรอบอยู่สูงกว่าน้ำทะเลเฉลี่ย 2 - 4 เมตร ในฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำมีระดับน้ำสูง ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรประจำทุกปี

เนื่องด้วยชุมชนตลาดดอนหวายเป็นการรวมตัวทางเครือข่ายการค้าของชาวบ้านโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลบางกระทึก ทำให้สามารถคำนวณประชากรโดยประมาณของการเข้ามาทำการค้าที่ชุมชนตลาดดอนหวายได้จากผู้อยู่อาศัยในตำบลบางกระทึก โดยประชากรตำบลบางกระทึกจากข้อมูลประชากรในปี พ.ศ. 2565 พบว่ามีประชากร ทั้งหมด 14,626 คน เป็นชาย 6,804 คน เป็นหญิง 7,822 คน โดยประชากรในพื้นที่บางกระทึกจะมีการประกอบอาชีพการค้าขายร้อยละ 20 นอกนั้นจะเป็นการประกอบอาชีพเกษตรกรรมร้อยละ 60 อุตสาหกรรมร้อยละ 12 รับจ้างทั่วไปร้อยละ 5 รับราชการร้อยละ 3

จีน

คณะกรรมการตลาดน้ำดอนหวาย กล่าวคือในช่วงของการฟื้นฟูของชุมชนตลาดดอนหวายมีการรวมตัวของกลุ่มของคนในชุมชน พ.ศ. 2540 เพื่อทำการฟื้นฟู ดูแลชุมชนให้กลับมาเป็นแหล่งการค้าและการท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยผู้ริเริ่มคือ กำนันบัญชา วุฒิสังคะ ผู้คนมักเรียกว่า กำนันใหญ่ มีการชักชวนพ่อค้าแม่ค้าที่แยกย้ายไปอยู่ภายนอกให้กลับเข้ามาค้าขายในตลาดริมน้ำดอนหวาย โดยเริ่มแรกของกลุ่มมีประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านและบุคคลสำคัญในพื้นที่ โดยกลุ่มนี้จะมีหน้าที่หลัก คือ การจัดการตลาดริมน้ำดอนหวายให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ควบคุมและกำหนดราคาสินค้าทุกประเภทที่จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว คอยส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน คอยกำหนดคุณและโทษของพ่อค้า แม่ค้าให้อยู่ในระเบียบของชุมชน คอยปรับปรุงและพัฒนาภายในตลาดดอนหวาย

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่พบภายในชุมชนตลาดดอนหวายจะพบว่าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ชาวไทยในพื้นที่นี้จะเหมือนกับพื้นที่อื่นๆในประเทศไทยคือจะมีการทำบุญตามประเพณีเมื่อถึงวันสำคัญของศาสนาและวันปีใหม่ไทย เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันสงกรานต์ วันอาสาฬบูชา เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่สองคือ ชาวไทยเชื้อสายจีน กลุ่มนี้จะเป็นลูกหลานชาวจีนที่เคยอยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม โดยชาวไทยเชื้อสายจีนที่นี่จะนับถือพุทธศาสนาเช่นกันแต่จะมีเทศกาลแบบของชาวจีน เช่น เทศกาลสารทจีน เทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นต้น โดยเมื่อถึงเทศกาลเหล่านี้ชาวจีนในชุมชนจะไปปฏิบัติกันบริเวณศาลเจ้าใกล้ชุมชนคือศาลเจ้าแม่เซ่งเนี่ย

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ภายในชุมชนตลาดดอนหวายมักจะมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยพบว่าชีวิตประจำวันของชาวบ้านในชุมชนตลาดดอนหวายจะมีการนำสินค้าที่ผลิตในครัวเรือมาขาย โดยส่วนมากสินค้าที่เป็นสินค้าสำหรับบริโภคจำพวกอาหารจีน ไทยและขนม เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมตาล ขนมทองเอก ขนมช่อม่วง ขนมจ่ามงกุฎ เป็ดพะโล้ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ อีกทั้งยังมีสินค้าทางการเกษตรท่องถิ่นขายในตลาดนี้ ภายในตลาดแม่ค้าพ่อค้าจะตะโกนหรือสร้างเอกลักษณ์ให้แก่ร้านค้าและสินค้าของตนเพื่อดึงดูดลูกค้า นักท่องเที่ยวให้มีการจับจ่ายซื้อสินค้า ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นเป็นวิถีของคนภายในชุมชนตลาดดอนหวาย

1. นายบัญชา วุฒิสังคะ  ที่ผู้คนมักเรียกว่า กำนันใหญ่ ถือเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูชุมชนตลาดดอนหวายที่ซบเซาลงไปในช่วงทศวรรษ 2500 โดยช่วงที่เข้ามาฟื้นฟูท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นกำนันในขณะนั้น โดยท่านได้เห็นถึงพื้นที่ตลาดที่ทรุดโทรมจึงมีความคิดที่จะฟื้นฟูตลาดดอนหวายให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกครั้งด้วยการจัดการกันเองของชุมชน ท่านได้รวมกลุ่มกับคนอีกประมาณ 20 คนซึ่งส่วนมากเป็นชาวบ้านและบุคคลสำคัญในพื้นที่ทำการเริ่มต้นปรึกษาหารือ พร้อมทั้งสร้างกลุ่มก่อตัวขึ้นเป็นคณะกรรมการตลาดริมน้ำดอนหวาย เพื่อการฟื้นฟูตลาดดอนหวายโดยตัวท่านเองดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ซึ่งจากการที่ท่าริเริ่มตั้งกลุ่มและปรับปรุงตลาดดอนหวายนี้ เป็นส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ทุนทางวัฒนธรรม

1. วัดคงคาดอนหวาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 5 บ้านโคกหวาย ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เดิมชื่อ วัดโคกหวาย วัดดอนหวายสร้างในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับวัดไร่ขิง บริเวณวัดเดิมเป็นที่ตั้งของโรงหีบอ้อยซึ่งมีชาวจีนเป็นเจ้าของ ภายหลังได้ยกที่ดินให้สร้างวัดผู้ริเริ่มสร้างวัดคือ สมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) โดยใช้ช่างจากอยุธยาและประชาชนท้องถิ่นร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2349 ต่อมาเจ้าคุณธรรมราชานุวัตร (อาจ) ดำเนินการสร้างวัดจนเสร็จ ที่นี่จุดเด่นคือหลวงพ่อวิไลเลิศซึ่งประดิษฐานเป็นองค์ประธานภายในอุโบสถ รวมถึงหลวงพ่อวิสาหาร พระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีค่อนข้างสูง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นพระประธานภายในวิหาร ด้านซ้ายและขวามีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรพระอัครสาวก ข้างวิหารมีเจดีย์รูปเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองอยู่ทางทิศตะวันออก และทางทิศใต้มีเจดีย์ทรงลังกาฐานสูงฐานมียักษ์แบก วัดยังมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ที่ศาลาด้านข้างตลาดริมน้ำ

2. ศาลเจ้าแม่เซ่งเนี่ย ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 80 ปีก่อนในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 โดยบรรพบุรุษชาวจีนโพ้นทะเล “เจ้าแม่เซ่งเนี้ย” เป็นปางหนึ่งของเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนตอนใต้ให้ความเคารพนับถือมาก จนได้รับการขนานนามว่า “เจ้าแม่ทะเลใต้” ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ทางด้านปกปักรักษาการเดินทางทางน้ำและท้องทะเล และด้านโชคลาภค้าขาย ศาลเจ้านี้อยู่บริเวณใกล้กับตลาดดอนหวายในทิศใต้ โดยศาลเจ้านี้เป็นที่สักการะอันสำคัญสำหรับชาวไทยเชื้อชายจีนที่อยู่ในชุมชน

ทุนทางกายภาพ

พื้นที่ชุมชนตลาดดอนหวายแม้จะไม่มีภูเขา หรือ ป่าไม้ แต่พื้นที่นี้อยู่ในบริเวณใกล้แม่น้ำท่าจีน ซึ่งแม่น้ำท่าจีนเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่หล่อหลอมให้เกิดตลาด แม่น้ำท่าจีนเป็นส่วนทำให้พื้นที่โดยรอบแม่น้ำมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่งผลให้พื้นที่ริมฝั่งมักจะมีนา มีสวน ซึ่งผลิตผลเหล่านี้นี่เองกลายมาเป็นสินค้ามีชื่อที่ขายอยู่ในตลาดดอนหวาย เช่น ส้มโอ พืชผัก ต่าง ๆ นอกจากนี้แม่น้ำท่าจีนยังคงเป็นแม่น้ำที่ใสสะอาดทำให้มีปลาจำนวนมาก ซึ่งปลาเหล่านี้ผู้คนชาวบ้านมักจับเอามาแปรรูปทำเป็นสินค้าของฝากขายแก่นักท่องเที่ยว อันนำมาซึ่งรายได้ให้แก่ชาวชุมชน จึงเห็นได้ว่าการที่พื้นที่มีแม่น้ำท่าจีนนับเป็นทุนทางกายภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งของพื้นที่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ พบว่าชุมชนตลาดดอนหวายมีการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจภายในชุมชน โดยแต่เดิมก่อนมีการฟื้นฟูของตลาด การค้าของคนในพื้นที่จะเป็นการค้าที่พอขายได้ในแต่ละวันมักค้าขายให้แก่ผู้คนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงของพื้นที่ชุมชนตลาด แต่เมื่อมีการฟื้นฟูหลัง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การค้าขายในพื้นที่เจริญขึ้นมากร้านแต่ละร้านสามารถผลิตสินค้าเพื่อขายเพิ่มขึ้น โดยนอกจากขายให้คนในพื้นที่ช่วงเวลานี้ยังขายให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้คนที่มาซื้อสินค้าในตลาดไม่ใช่เพียงผู้อยู่โดยรอบบริเวณตลาดแต่จะเป็นผู้คนจากที่อื่นโดยเฉพาะผู้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะชุมชนตลาดดอนหวายนี้อยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ และการคมนาคมมาถึงบริเวณนี้ในปัจจุบันก็สามารถเดินทางได้ง่ายทำให้นักท่องเที่ยวจึงเดินทางเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นการค้าก็เจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้เศรษฐกิจภายในชุมชนยังเจริญขึ้นไปอีกเพราะนอกจากการขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีบริการท่องเที่ยวทริปสั้น ๆ ภายในชุมชน เช่น การจัดเรือท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนมากสนใจเพราะเป็นการพักผ่อนที่เหมาะกับคนเมืองที่ต้องการพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ การที่มีบริการเช่นนี้ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอันส่งผลให้ชุมชนตลาดดอนหวายจึงเจริญและครึกครื้นทางเศรษฐกิจอย่างมาก


การเปลี่ยนแปลงในด้านสังคม พบว่าชุมชนตลาดดอนหวายสภาพสังคมในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นการรวมตัวอยู่เพื่อค้าขายมากกว่าการอยู่อาศัย โดยแต่เดิมผู้คนที่มาค้าขายในชุมชนตลาดดอนหวายมักเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตั้งอาคารเป็นที่อยู่อาศัยและร้านค้า แต่หลังจากมีการฟื้นฟูตลาด พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การค้าที่เจริญมากขึ้นทำให้ชุมชนนี้อยู่ได้โดยการสร้างเครือข่ายทางการค้าส่วนมากไม่ได้อยู่อาศัยในตลาดโดยตรง กล่าวคือไม่ได้มีการสร้างร้านและอยู่อาศัยแต่จะเป็นการอยู่ในพื้นที่โดยรอบชุมชนคืออยู่ในตำบลกระทึกเป็นส่วนมาก รองลงมาเป็นคนในตำบลอื่น ๆ ใกล้เคียง นอกจากนี้ด้วยการค้าที่เจริญนี้ยังมีคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาตั้งร้านค้าเพื่อขายสินค้าในชุมชนอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงในด้านประชากร พบว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ภายในชุมชนที่เจริญมากขึ้นได้ทำให้ความต้องการแรงงานในการผลิตมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ลูกหลานของผู้คนในตลาดจึงพากันย้ายกลับมาทำการค้าของครอบครัว ส่วนหนึ่งเพราะรายได้จากการค้าขายของที่บ้านดีกว่างานประจำของตนในพื้นที่อื่น บางรายกลับมาเพื่อเปิดร้านขายสินค้าอื่น ๆ หลายทางทำให้ร้านค้าขยายมากขึ้นในชุมชน นอกจากนี้ผู้ค้ารายใหม่ที่มาจากพื้นที่อื่นเมื่อเห็นว่าชุมชนสามารถค้าขายได้ดีก็เข้ามาค้าขายในพื้นที่ อันนำมาซึ่งการเติบโตของประชากรในชุมชนตลาดดอนหวาย ทำให้จำนวนประชากรโดยเฉพาะแม่ค้าพ่อค้าในพื้นที่มีมากขึ้นกว่าช่วงก่อนที่จะมีการฟื้นฟูบริเวณนี้

ทั้งนี้ด้านสังคมในปัจจุบันยังพบว่าภายหลังการที่ชุมชนตลาดดอนหวายสามารถเจริญขึ้นจากการค้าได้ทำให้ภายในชุมชนประสบปัญหาหลายประการโดยเฉพาะปัญหาอันทำให้สภาพสังคมภายในเปลี่ยนไป โดยปัญหาแรก คือ ปัญหามิจฉาชีพภายในชุมชน เนื่องจากการที่ตลาดมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทำให้มิจฉาชีพจึงเข้ามาอยู่ร่วมในสังคมของชุมชนปะปนกับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ มักเข้ามาขโมยของนักท่องเที่ยวเป็นประจำทำให้ต้องมีการประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอยู่เสมอ ปัญหาต่อมาคือปัญหาความขัดแย้งภายในสังคมของชุมชน กล่าวว่า เหล่าแม่ค้าพ่อค้าในชุมชนมักมีความขัดแย้งระหว่างกันเนื่องด้วยการค้าขายสินค้าชนิดเดียวกันหรือการแอบอ้างชื่อร้านดัง ๆ หรือการแย่งพื้นที่ทางการค้าซึ่งปัญหานี้ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขได้ นอกจากนี้ยังมีการขัดแย้งของชาวบ้านและพระ เนื่องจากการที่วัดให้พื้นที่วัดเรียกเก็บเงินค่าเช่าจำนวนมากโดยไม่ผ่านกรรมการดูแล อีกทั้งยังมีการเปิดพื้นที่หน้าวัดให้เช่าอันทำให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่การค้ากับคนค้ารายเก่าบริเวณตลาดดอนหวาย ซึ่งปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับแนวทางการจัดการได้ดี

ภายในตลาดดอนหวายมีสินค้าขายมากมาย โดยสินค้าที่ขึ้นชื่อ เช่น เป็ดพะโล้นายหนับ ขนมตาลป้าไข่ ขนมเปี๊ยะเฮงกี่ไผ่เขียว ห่อหมกปลาแม่ประทิน ร้านขนมไทยอัศนี เป็นต้น

จันทร์เพรช แสงวงศ์และเสรี พิจิตรศิริ. (2554). กลยุทธ์การพัฒนาตลาดริมน้ำดอนหวาย. วารสารการบริหารท้องถิ่น, 4(2), 67-77.

จิราภรณ์ ใจเอื้อ. (2549). การสื่อสารการตลาดของธุรกิจชุมชนตลาดดอนหวาย จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์ธุรกิจ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

ชลธิชา ดิษฐเกษร. (2553). การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการร้านค้า ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กรณีศึกษา : ตลาดดอนหวาย จ.นครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ประหยัด ตะคอนรัมย์. (2544). แนวทางการบริหารและจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน : กรณีศึกษาตลาดริมน้ำดอนหวาย จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รุ้งตะวัน สินธุ์ลือนาม. (2558). การจัดการและกลยุทธ์การแข่งขันทางการตลาดของตลาดริมน้ำดอนหวายในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วิภานี กาญจนภิญโญกุล. (2545). ขนมไทยและวัฒนธรรมการบริโภค : กรณีศึกษาตลาดดอนหวาย. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมนุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สิริกมล ศรีเดช. (2545). ตลาดดอนหวาย : พื้นที่แห่งการท่องเที่ยวและการบริโภค. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมนุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สิริลักษณ์ ปรินรัมย์. (2548). การสื่อสารกับการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนตลาดริมน้ำดอนหวาย จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิเทศศาสตรพัฒนาการ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์.

หทัยกาญจน์ ชูตระกลและคณะ. (2557). การจัดการความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหารของชุมชนตลาด ดอนหวาย จังหวัดนครปฐม. (รายงานการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.