ชุมชนชนบทที่ประกอบอาชีพทอผ้าและมีกลุ่มทอผ้าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
การตั้งถิ่นฐานช่วงแรกนายพรานโว้ เข้ามาในพื้นที่เจอกับวัวป่ามีลักษณะพิเศษต่างจากวัวบ้านคือ หน้าด่าง (บริเวณกลางหน้ามีสีขาว) ลำตัวลาย ดังนั้นจึงตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านหนองงัวบา” ตามลักษณะของวัวที่พบ
ชุมชนชนบทที่ประกอบอาชีพทอผ้าและมีกลุ่มทอผ้าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2406 มีนายพรานโว้ บาริศรี หรือ นายพรานแสน เป็นชาวบ้านโนน ได้มาหาล่าเนื้อในป่าแล้วมาพบหนองน้ำขึ้นโดยบังเอิญ แต่ก่อนพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่บริเวณนี้มากมาย และสัตว์ป่าที่มาอยู่บริเวณนี้ได้อาศัยอยู่กลางป่าที่มีน้ำตลอดปี ในระหว่างการสร้างบ้าน นายพรานโว้ได้ออกหาอาหารรอบๆ หนอง แล้วบังเอิญได้พบวัวป่าตายอยู่ใกล้หนองน้ำ ซึ่งวัวป่าที่พบนี้มีลักษณะพิเศษต่างจากวัวบ้านคือ หน้าด่าง (บริเวณกลางหน้ามีสีขาว) ลำตัวลาย ดังนั้นจึงตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านหนองงัวบา” ตามลักษณะของวัวที่พบ
เวลาต่อมามีชาวบ้านจากบ้านหนองหงส์ เมืองทอง บ้านหนองบัวบุดมาศ บ้านเอียดเชียงเหียน บ้านพันแย บ้านชี บ้านโป่ง บ้านขอม บ้านน้ำดำ ได้อพยพเข้ามาอยู่จึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีผู้ใหญ่บ้านสมัยแรก คือ หมู่ที่ 1 หลวงพิบูรณ์ บาริศรี (พระจันทร์ บาริศรี) เป็นบุตรนายพรานโว้ ต่อมาบ้านก็ใหญ่ขึ้นแยกเป็นหมู่ที่ 2 มีหลวงศรี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก หมู่ที่ 3 มีนายเมืองเทพ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก บ้านโนนหน่อง คุ้มคูขาดและคุ้มโนนทัน ก็มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นสาขาของบ้านหนองงัวบา
จากการสัมภาษณ์นายบุญเวช ไหลหาโคตร เล่าว่า สาเหตุที่ทำให้นายพรานโว้ ชาวบ้านโนน และหมู่บ้านอื่นๆ เลือกเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านงัวบา พอสรุปได้ว่า ในบริเวณบ้านงัวบาถือได้ว่าเป็นบริเวณที่มีพื้นที่ใกล้หนองน้ำ มีดินอุดมสมบูรณ์ดีกว่าที่บ้านโนน อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่มีพื้นที่กว้างขวางและมีพื้นที่ว่างเปล่า ถ้าขยายหมู่บ้านก็ทำได้สะดวก และยังเป็นที่เนินสูง น้ำไม่ท่วมในยามฤดูน้ำหลาก สามารถติดต่อกับชุมชนอื่นได้อีกด้วย นอกจากนี้ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ยังมีพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้อย่างกว้างขวาง และสภาพดินดี และในบริเวณบ้านงัวบาก็ยังมีพื้นที่เพียงพอสำหรับเลี้ยงวัว ควาย และถึงแม้ว่าบ้านงัวบาจะไม่ติดลำน้ำชี แต่ก็ไม่ขาดแคลนน้ำในยามฤดูแล้ง เพราะว่ามีหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อ “หนองงัวบา” ซึ่งจะมีน้ำให้ใช้ตลอดทั้งปีและยังถือเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลานานาชนิดให้ชาวบ้านได้กินตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงเป็นเหตุที่ชาวบ้านพากันมาตั้งบ้านใหม่ใกล้ๆ หนองน้ำ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2418 ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันก่อสร้างวัดเพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา จากการเล่าของนายคำมี เกตุมาลา พอสรุปได้ว่า แต่ก่อนนั้นยังคงเป็นเพียงแค่สำนักสงฆ์ โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ห่างจากสระหนองงัวบาประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันกลายเป็นที่ของชาวบ้านไปแล้ว เนื่องจากว่าบริเวณที่ตั้งวัดบ้านงัวบาได้ตั้งอยู่ในที่รกเป็นป่าละเมาะและมีหญ้าคาขึ้นอยู่เยอะมาก เวลาที่ทายกทายิกาหรือชาวบ้านที่อยากจะไปทำบุญฟังเทศน์ก็เกิดความไม่สะดวก ดังนั้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2418 จึงได้ย้ายวัดมาทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ของวัดบ้านงัวบาในปัจจุบัน หลวงพ่อแอ่น อินทสโร ได้นำพาชาวบ้านทำการบุกร้างถางพงสร้างศาลาและกุฏิขึ้นไว้ชั่วคราวในบริเวณพื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา เจ้าอาวาสคนต่อมาท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2480 ได้มีแถลงการณ์ของคณะสงฆ์ที่ประกาศทั่วราชอาณาจักรให้ทุกคนได้รับทราบโดยทั่วกัน กระทั่งได้ตั้งนามวัดว่า “วัดงัวบา” ต่อมาเจ้าอาวาสหลายรูปก็ขึ้นเป็นผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลวัดและภิกษุสามเณร วัดก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ช่วงปี พ.ศ. 2459 ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2459 โดยนายอำเภอวาปีปทุมเป็นผู้จัดตั้ง แต่เดิมนั้นได้อาศัยศาลาวัดบ้านงัวบาเป็นสถานที่เรียน โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนวัดบ้านงัวบา” ถือว่าเป็นโรงเรียนแห่งเดียวในตำบล มีครูเพียงสองคน คือ ครูเหลื่อม เอกโชติ เป็นครูใหญ่คนแรก และมีนายบุญ ปะจะเนย์ เป็นครูคนแรก ดำเนินการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สอนนักเรียนทั้งตำบลซึ่งมีอยู่ถึง 5-6 หมู่บ้าน ตัวอาคารโรงเรียนวัดบ้านงัวบา ก็คือ ศาลาวัด เพราะนั่นเป็นสถานที่ซึ่งเป็นทุกๆ อย่างของชาวบ้าน ทั้งที่บำเพ็ญกุศล โรงพยาบาลและเป็นทั้งสมาคมพบปะสังสรรค์ ซึ่งจำลอง ดาวเรือง ก็เคยได้รับการศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ เพราะเกิดที่ตำบลงัวบา ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2483 ได้แยกเป็นเอกเทศ ย้ายโรงเรียนออกจากศาลาวัดบ้านงัวบา มาเรียนที่อาคารหลังใหม่ซึ่งได้รับทุนสมทบจากรัฐบาล 800 บาท บนเนื้อที่ปัจจุบัน 10 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา และในปี พ.ศ. 2522 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนมาเป็น “โรงเรียนชุมชนบ้านงัวบา” ต่อมาในวันที่ 1กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ทางราชการได้ยุบรวมโรงเรียนบ้านโนนทันมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้
พ.ศ. 2483 บ้านงัวบาได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลงัวบา โดยมีหลวงพิบูรณ์ เป็นกำนันคนแรก เห็นว่าสภาพที่ตั้งของบ้านงัวบาเหมาะสมกับการขยายพื้นที่ทำสิ่งต่างๆได้ นอกจากนี้สมัยก่อนบรรดาหมู่บ้านอื่นๆ ยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับบ้านงัวบา ดังนั้นจึงลงความเห็นกันว่าบ้านงัวบาเหมาะสมที่สุดที่จะตั้งขึ้นเป็นตำบลจนกระทั่งถึง ปี พ.ศ.2540 ได้ย้ายองค์การบริหารส่วนตำบลจากบ้านงัวบาหมู่ที่ 1(ข้างสถานีอนามัย) มาไว้ที่บ้านงัวบาหมู่ที่ 3 สาเหตุที่ต้องย้ายเนื่องมาจากบริเวณพื้นที่เดิมมีเริ่มมีความคับแคบ
บ้านงัวบา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีความเก่าแก่ เพราะมีการก่อตั้งมานานนับร้อยกว่าปีมาแล้ว และยังคงมีสถานที่สำคัญ อาทิ วัด โรงเรียน หนองน้ำ หรือแม้แต่ที่สาธารณะที่เหล่าบรรพบุรุษได้สร้างขึ้นไว้ สภาพของหมู่บ้านเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2406 มีครัวเรือนประมาณ 20 กว่าครัวเรือน
บ้านงัวบามีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ บริเวณรอบหมู่บ้านปกคลุมไปด้วยป่าไม้ ซึ่งที่บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า “โคกอีหมู” ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นป่าโคก ที่ถือว่ามีความสำคัญกับชาวบ้าน ภายในโคกมีต้นไม้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่น ส่วนใหญ่จะเป็นต้นไม้รัง ไม้จิก รองลงมาเป็นต้นยาง มะค่า ไผ่ กระโดนนา นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ชุกชุมมาก ทั้ง หมู่ป่า ลิง ชะนี กวาง ส่วนจำพวกนกนั้นก็มีมากมายหลายชนิดเช่นเดียวกัน ชาวบ้านเองก็ได้ใช้ประโยชน์จากโคกอีหมูแห่งนี้เพื่อใช้เป็นแหล่งหาอาหาร หาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด และพืชผักที่กินได้ โดยในการเดินทางเข้าป่าโคกอีหมูนี้ ชาวบ้านจะต้องเดินทางออกไปเป็นหมู่คณะเพื่อป้องกันภัยจากสัตว์ป่า
กลุ่มอาชีพในชุมชนบ้านงัวบามีด้วยกันหลายกลุ่มดังนี้
- กลุ่มทอผ้าบ้านงัวบา 2 กลุ่ม
- กลุ่มผลิตเตา
- กลุ่มผลิตแคร่ไม้ไผ่
เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
เดือนตุลาคม บุญข้าวเม่า บุญทอดเทียน บุญออกพรรษา
เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
กลุ่มอาชีพของชุมชนที่มีหลากหลากส่งผลให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพเสริมในช่วงหลังฤดูการเก็บเกี่ยว
ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร
การทอผ้าของกลุ่มทอผ้าบ้านงัวบา.(2561).การทอผ้าของกลุ่มทอผ้าบ้านงัวบา.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/nguaba.msk/photos/pb.100063671941866.-2207520000./245125703017043/?type=3&locale=th_TH
ผลิตภัณฑ์ของชุมชน.(2562).ผลิตภัณฑ์ของชุมชน.ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/nguaba.msk/photos/pb.100063671941866.-2207520000./491400908389520/?type=3&locale=th_TH
พิมชนก บุ้งทอง.(2555).ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนบ้านงัวบา ตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. 2406–2555.งานวิจัยในรายวิชาสัมมนาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,2555