Advance search

บ้านสีแก้ว

พระธาตุสีแก้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับตำนานอุรังคธาตุและวรรณกรรมผาแดงนางไอ่

หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่5
สีแก้ว
สีแก้ว
เมืองร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ด
วุฒิกร กะตะสีลา
7 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
25 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
29 เม.ย. 2023
บ้านสีแก้ว

ชื่อของบ้านสีแก้วมาจากตำนานและวรรณกรรมท้องถิ่นทั้งตำนานอุรังคธาตุที่กล่าวถึงเมืองสีแก้ว และวรรณกรรมผาแดงนางไอ่ทางกล่าวถึงเมืองสีแก้ว


ชุมชนชนบท

พระธาตุสีแก้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับตำนานอุรังคธาตุและวรรณกรรมผาแดงนางไอ่

สีแก้ว
หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่5
สีแก้ว
เมืองร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ด
45000
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-8549-1315, เทศบาลตำบลสีแก้ว โทร. 0-4365-4722
16.14362647
103.543679
เทศบาลตำบลสีแก้ว

ชุมชน  “บ้านสีแก้ว”  มีความเป็นมาอย่างไรไม่มีใครที่สามารถให้ข้อมูลได้  หากแต่สันนิษฐานจากหลักฐาน  จากการศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเขต   จังวัดร้อยเอ็ดของ  คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ วัฒนธรรม  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา  จังหวัดร้อยเอ็ด, (2542 : 78-80 ) พบว่าชุมชน  ชุมชน“บ้านสีแก้ว”  เป็นชุมชนโบราณที่เคยเจริญรุ่งเรื่องมาก่อน  โดยพบว่าเป็นชุมชนที่เคยประกอบอาชีพแบบเกษตรกรรมที่รู้จักการปลูกพืช  เลี้ยงสัตว์  ผลิตภาชนะดินเผ่าไว้ใช้เองภายในครัวเรือน  นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบโครงกระดูกกับเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะสำริด  อีกทั้งยังพบร่องรอยของเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ  ซึ่งพอจะบอกได้ว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีอายุประมาณ  1,800 - 2,500  ปี  จากหลักฐานที่พบภายในชุมชนบ้านสีแก้วสามารถนำมาสรุปเป็นยุค ได้ดังต่อนี้

  • ยุคก่อนประวัติศาสตร์  มีอายุประมาณ  2,500  ปี  หลักฐานที่นำอ้างอิงได้คือ  การขุดค้นพบโครงกระดูก (คนแปดศอก)

  • ยุคทวารวดีมีอายุประมาณ  พุทธศตวรรษที่  14-12  หลักฐานที่มีการค้นพบแล้วนำมาอ้างอิงได้คือ  คูนำคันดินที่ยังปรากฏร่องรอยให้เห็น

  • ยุคของการเข้ามาของวัฒนธรรมไทย – ลาว โดยเริ่มเข้ามาในพุทธศตวรรษที่  23 – 24  กล่าวคือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันที่มีการอพยพมาจากนครจำปาศักดิ์

 ชุมชนบ้านสีแก้ว  ตำบลสีแก้ว  อำเภอเมืองร้อยเอ็ด  จังหวัดร้อยเอ็ด  เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานที่ยาวนานหลายชั่วอายุคน ประกอบด้วย  4  หมู่บ้าน  มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ  2,411 คน   มีระยะทางห่างจากตัวเมืองร้อยเอ็ดประมาณ  15  กิโลเมตร  ชุมชนบ้านสีแก้วถือได้ว่าเป็นชุมชนโบราณที่ผู้คนภายในท้องถิ่นเชื่อว่าในอดีต คือ  “เมืองศรีแก้ว” ที่ปรากฏชื่ออยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นสำคัญของชาวอีสานเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่”  “เมืองศรีแก้ว”  หรือสีแก้ว  ยังปรากฏชื่อในตำนาน อุรังคธาตุ  หรือตำนานของพระธาตุพนมเป็นหนังสือใบลานที่จาร(เขียน)  ด้วยอักษรไทยน้อยจากหอไตรวัดหลวง เมืองหลวงพระบางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบันกล่าวถึง  “เมืองศรีแก้ว”  ในฐานะเมืองหนึ่งในสิบเอ็ดหัวเมืองในขอบขันธสีมาของ “เมืองสาเกตุนคร”(จังหวัดร้อยเอ็ด)  อันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรกุลุนทะในช่วงเวลาราวต้นพุทธกาล

บ้านสีแก้ว ตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหมู่บ้านที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดร้อยเอ็ด ลักษณะพื้นที่ของตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเนินดินสูงทางด้านทิศตะวันตกลาดเอียงลงไปทางด้านทิศตะวันออก  โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ    ติดกับ   บ้านอนามัย              

  • ทิศใต้     ติดกับ   บ้านหัวหนอง      

  • ทิศตะวันออก    ติดกับ   บ้านโนนสะอาด  

  • ทิศตะวันตก     ติกับ     บ้านเหล่าตำแย

  • ชุมชนบ้านสีแก้วมีภูมิประเทศด้านทิศตะวันตกเป็นเนินสูงและเป็นที่ลุ่มๆดอนลาดเอียงมา

ทางด้านทิศตะวันออกของชุมชน  ส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศใต้พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งมีหนองน้ำต่างๆอยู่รอบๆชุมชนได้แก่   หนองยาง  หนองยา  หนองใหญ่(บึงสีแก้ว)  หนองแวง  ลำห้วยแคน  เมื่อครั้งในอดีตหนองยาและหนองยางเชื่อมต่อกันเป็นคลองน้ำที่ชุมชนขุดไว้รอบๆหมู่บ้าน  เมื่อกาลเวลาผ่านไปคลองน้ำจึงเกิดการทับถมทำให้ตื้นเขิน ส่วนหนองใหญ่(บึงสีแก้ว) ในอดีตมีเนื้อที่กว่า  200  ไร่  ชาวบ้านสีแก้ว  และชุมชนใกล้เคียง  เช่น  บ้านสังข์  บ้านโนน  บ้านเหล่าและบ้านคานหักเข้ามาหาปลาเพื่อเป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี   ต่อมาเมื่อประมาณปี 2520 – 2521 ซึ่งความเจริญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามา  มีการขุดคลองชลประทานผ่านหนองใหญ่เพื่อใช้ในการเกษตร  จึงทำให้หนองใหญ่หมดความสำคัญลง

บ้านสีแก้วมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ 7  แห่ง แบ่งเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ 6 แหล่งและเป็นคลองชลประทานอีก 1 แหล่ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • “ หนองใหญ่”   เป็นหนองน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน  บริเวณหนองใหญ่เดิมเป็นที่นาของชาวบ้าน แต่เนื่องจากว่าเป็นที่ลุ่ม ปีไหนฝนดีน้ำจะท่วมขัง เอ่อล้นเป็นบริเวณกว้าง เจ้าของนาไม่สามารถทำนาได้ จึงปล่อยให้ชาวบ้านคนอื่นๆใช้ประโยชน์ในการจับปลา นอกจากนี้หมู่บ้านข้างเคียงยังมาทำการจับปลาในบริเวณหนองใหญ่นี้อีกด้วย

  • “ หนองยาง”   เป็นแหล่งน้ำที่เกิดจากการขุดคูเมืองในสมัยโบราณ ใกล้ๆ กับหนองแวงจะมองเห็นคันดินกว้างประมาณ 10 เมตร สูงประมาณ 3 เมตรและยาวประมาณ  200 เมตร ความยาวขนานกับหนองแวง แหล่งน้ำนี้มีน้ำตลอดปี

  • “ หนองยา”  เป็นแหล่งน้ำต่อจากหนองยางไปทางทิศตะวันตก หนองยานี้มีลักษณะเช่นเดียวกับหนองยาง คือเป็นคูเมืองเก่า เดิมน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของหนองยาง แต่ปัจจุบันชาวบ้านตัดถนนเข้าหมู่บ้านผ่านระหว่างกลาง จึงแบ่งหนองยางออกเป็นสองส่วนและมีชื่อดังกล่าว ปัจจุบันหนองยาตื้นเขินมีน้ำเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น

  • “ หนองแวง ”   เป็นหนองน้ำที่ใหญ่ลองลงมาจากหนองใหญ่ มีน้ำขังตลอดปี อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน อยู่ด้านทิศใต้ของโรงเรียน และได้รับการขุดปรับปรุงใหม่จากหน่วย ร.พ.ช. เมื่อปีพุทธศักราช 2529

  • “ หนองสิม ”  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ตั้งอยู่ใกล้บริเวณบ้าน  สีแก้ว มีลักษณะเป็นคูเมืองเก่า ปัจจุบันตื้นเขินไม่มีน้ำขังในฤดูแล้ง 

  • “ ห้วยละว้า”   อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านสีแก้ว เป็นลำห้วยที่มีน้ำขังตลอดปี ใช้ในการเกษตรและเลี้ยงสัตว์  นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งประมงของหมู่บ้าน

  • “ คลองชลประทาน”  เป็นคลองส่งน้ำขนาดกลาง อยู่ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน  ตัดผ่านหนองใหญ่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี ชาวบ้านที่มีนาอยู่บริเวณคลองชลประทานไหลผ่าน สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง

ประชากรของหมู่บ้านสีแก้วทั้งหมดเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ลักษณะการปกครองของหมู่บ้าน แบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่ ได้แก่หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ซึ่งมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น  2,209   คน  

ลักษณะโครงสร้างทางสังคมของชุมชนบ้านสีแก้ว เป็นลักษณะสังคมแบบเครือญาติมีความใกล้ชิดกันทางสายเลือด นับถือสายสกุลทางบิดา สภาพสังคมเป็นแบบสังคมชนบท ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมเก่าๆเอาไว้เป็นอย่างดี เช่น ประเพณีการเกิด การสู่ขอแต่งงาน การบวช การตาย มีความเคารพยำเกรงผู้สูงอายุและยึดเหนี่ยวศาสนาเป็นแนวปฏิบัติของชีวิต โดยเฉพาะเทศกาลเข้าพรรษาจะมีการรวมกลุ่มเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีลและฝึกสมาธิเป็นประจำสืบเนื่องต่อมาทุกปี ในด้านการศึกษามีโรงเรียนระดับประถมศึกษาประจำหมู่บ้าน เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชาวบ้านมีความใส่ใจและเห็นคุณค่าในการศึกษา หลังจากที่บุตร ธิดาสำเร็จการศึกษาระดับประถมแล้ว มีการส่งบุตรธิดาเข้าไปศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา ในตัวจังหวัดอีกเป็นจำนวนมาก

ชาวบ้าน บ้านสีแก้ว ยึดถือปฏิบัติตามประเพณี  ฮีต 12 คอง 14  โดยที่ 1 ปี จะมีการทำบุญทั้ง 12  เดือนคล้ายๆกับชาวอีสานทั่วไป   ดังนี้คือ  

  • เดือนเจียง (เดือนอ้าย)  “นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรม” ชาวบ้านเลี้ยงผีแถน และผีต่างๆ (บรรพบุรุษหรือวีรบุรุษผู้ล่วงลับ) การนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาปริวาสกรรม หรือเข้ากรรมนั้น เป็นพิธีกรรมเพื่อให้พระภิกษุผู้กระทำความผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกความรู้สึกสำนึกวิจัยความผิดบกพร่องของตัว 

  • เดือนสอง (เดือนยี่) ทำบุญ "คูนข้าว" มีพระสวดมนต์ฉันข้าวเช้า เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว (ทำขวัญหรือสูตรขวัญข้าว) นอกจากนั้นในเดือนนี้ชาวบ้านจะต้องตระเตรียมสะสมเชื้อเพลิงหาฟืนและถ่านมาไว้ในบ้าน (หมายเหตุ ชาวบ้านได้เลิกกระทำกันแล้ว )

  •  เดือนสาม มื้อเพ็ง  “บุญข้าวจี่”  และบุญมาฆะบูชา เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อยนำไปปิ้งหรือจี่พอเกรียม แล้วชุบด้วยไข่ ลนไฟจนสุกแล้วใส่ภาชนะไปตั้งไว้ในหัวแจก(ศาลาวัด) นิมนต์พระรับศีลแล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตร นำถวายแด่พระสงฆ์พร้อมด้วยอาหารอื่น เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ข้าวจี่ที่เหลือจากพระฉันแล้วแบ่งกันรับประทานถือว่าจะมีโชคดี

  • เดือน สี่  “บุญพระเวส  ฟังเทศมหาชาติ”  มูลเหตุเนื่องมาจากพระคัมภีร์มาลัยหมื่น และมาลัยแสนว่า ถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะได้พบพระศรีอริยะเมตไตร หรือเข้าถึงศาสนาพระพุทธองค์แล้ว จงอย่าฆ่าบิดามารดา สมณพราหมณาจารย์  อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกสามัคคีกัน กับให้อุตส่าห์ฟัง พระธรรมเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียวเป็นต้น ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระซึ่งเรียกว่า "กัณฑ์หลอน " หรือถ้าเจาะจงจะถวายเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาก็เรียกว่า "กัณฑ์จอบ" เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อน
  • เดือน ห้า  “ทำบุญขึ้นปีใหม่ไทยหรือตรุษสงกรานต์”  สรงน้ำพระพุทธรูป ไปเก็บดอกไม้มาบูชาพระ ในระหว่างบุญนี้ทุกคนจะหยุดงานธุรกิจประจำวัน โดยเฉพาะ มีวันสำคัญดังนี้ วันสังขารล่วงเป็นวันแรกของงานจะนำพระพุทธรูปลงมาทำความสะอาดและตั้งไว้ ณ สถานที่อันสมควรแล้วพากันสรงพระด้วยน้ำหอม วันสังขารเน่า เป็นวันที่สองของงาน พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดามารดา และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว วันสังขารขึ้น เป็นวันที่สามของงานทำบุญตักบาตรถวายภัตตราหารแด่พระ-เณร แล้วทำการคารวะแก่บิดามารดาและคนแก่ ส่งท้ายด้วยมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ แล้วใช้น้ำที่เหลือจากการรดน้ำให้ผู้ใหญ่ นำมารดน้ำให้แก่ผู้มาร่วมงานภายหลังจึงแผลงมาเป็นวิ่งไล่สาดน้ำทาแป้ง กลั่นแกล้งกัน
  •  เดือนหก ทำบุญ  “วันวิสาขบูชา” มีการเทศน์ตลอดวันตอนกลางคืนมีการเวียนเทียน ในเดือนนี้มีงานบุญสำคัญอีกคือบุญสัจจะก่อนจะลงมือทำนาซึ่งเป็นงานหนักประจำปี นอกจากนี้ก็จะมีการบวชนาคพร้อมกันไปด้วย มีการทำบุญบั้งไฟ แสน (หมายเหตุ ปัจจุบันไม่มีการบวชนาคพร้อมกันและไม่มีบุญบั้งไฟแล้ว เปลี่ยนเป็นบุญสงกรานต์)

  •  เดือนเจ็ด ทำบุญ “บูชาเทวดาอารักษ์ หลักเมือง” (วีรบุรุษ) ทำการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ผีพ่อแม่ ผีปู่ตา ผีเมือง(บรรพบุรุษ) ผีตาแฮก(เทวดารักษาไร่นา)ทำนองเดียวกับแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีกรรมก่อนจะมีกิจกรรมทำนา สรุปแล้วคือให้รู้จักคุณของผู้มีคุณ และสิ่งที่มีคุณจึงเจริญ
  •  เดือนแปด “ทำบุญเข้าพรรษา”  ทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารเช้าและเพลแก่พระสงฆ์ บ่ายมีการฟังพระธรรมเทศนา กับมีการป่าวร้องให้ชาวบ้านนำขี้ผึ่งมาหล่อเทียนใหญ่น้อย สำหรับจุดไว้ในโบสถ์เป็นพุทธบูชาตลอดฤดูกาลเข้าพรรษา ในเมืองหลวงมีการถวาย "เทียนจำ" แก่อารามสำคัญ

  •  เดือนเก้า  “ทำบุญข้าวประดับดิน” โดยนำข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมทั้งหมากพลูบุหรี่ห่อด้วยใบตองกล้วยแล้วนำไปไว้ตามต้นไม้และพื้นหญ้า เพื่ออุทิศให้แก่บรรดาญาติผู้ล่วงลับไปแล้วโดยกำหนดทำในวันแรมสิบสี่ค่ำเดือนเก้าต่อมาภายหลังนิยมถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์สามเณร แล้วอุทิศให้แก่ผู้ตายด้วยการหยาดน้ำ(กรวดน้ำ) ทั้งนี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานชาดก และเป็นที่มาของการทำบุญ "แจกข้าว" ด้วย

  • เดือนสิบ  “ทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก”  (สลากภัตร) ในวันเพ็ญ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน โดยมีเวลาห่างกัน 15 วัน เป็นระยะเวลาที่พวกเปรตจะต้องกลับไปเมืองนรก (ตามนิทานชาดก) โดยผู้ที่จะถวายทานเขียนชื่อของตนไว้ที่ภาชนะที่ใส่ของทานไว้ แล้วเขียนชื่อของตนใส่กระดาษอีกนำไปใส่ลงในบาตร เมื่อภิกษุสามเณรรูปใดจับได้สลากของผู้ใดก็จะเรียกให้เจ้าของสลากนำเอาของถวาย ครั้นพระเณรฉันแล้วก็ประชุมกันฟังเทศน์ บรรยายนิทานวัตถุและภาษิตต่างๆ ทั้งอานิสงส์สลากภัตรด้วย ชั่ววันกับคืนหนึ่งจึงเลิก

  • เดือนสิบเอ็ด  “บุญออกพรรษา”   หรือสังฆเจ้าออกวัสสาปวารณาฯ มีการตามประทีปโคมไฟเรียกว่าทำบุญจุดประทีป ถ้าไม่ใช้โคมแก้วโคมกระดาษก็มักขูดเปลือกลูกตูมกาให้ใส่ หรือขูดเปลือกลูกฟักทองให้ใสบางใช้น้ำมันมะเยาหรือมะพร้าวมีไส้ลอยอยู่หรือมะพร้าวมีไส้ลอยอยู่มีหูหิ้วแล้วนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้เต็มวัด     นอกจากนั้นบางหมู่ก็ทำรั้วลดเลี้ยวไปเรียกว่าคิรีวงกฏ และมีการทำปราสาทผึ้งถวายพระด้วย

  •  เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม มีการทำ  “บุญกองกฐิน”  ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบส่งแต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่าเป็นบุญเดือนสิบสอง มีทั้งมหากฐิน(กองใหญ่) และบุญจุลกฐิน(กองเล็ก)ซึ่งทำกันโดยรีบด่วน อัฎฐะบริขารที่จำเป็นต้องทอดเป็นองค์กฐินจะขาดมิได้คือบาตร สังฆาฏิจีวร สบง มีดโกนหรือมีออตัดเล็บ สายรัดประคดผ้ากรองน้ำ และเข็ม นอกจากนั้นเพียงเป็นองค์ประกอบ

หลังจากวันเพ็งเดือนสิบสองแล้ว จะถอดกฐินอีกไม่ได้ จึงต้องทำบุญกองบัง(บังสุกุลหรือทอดผ้าป่า) และทำบุญกองอัฎฐะ  คือการถวายอัฎฐะบริขารแปดอย่างแก่พระสงฆ์   บุญเดือนสิบสองที่สำคัญสำหรับชาวชุมชน ที่อยู่ริมแม่น้ำคือการ "ซ่วงเฮือ" (แข่งเรือ)เพื่อบูชาอุชุพญานาค15 ตระกูล รำลึกถึงพระยาฟ้างุ้มที่นำพระไตรปิฎกขึ้นมาแต่เมืองอินท์ปัดถะนคร(เขมร)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • พระธาตุสีแก้วสิ่งศักดิ์ของชุมชนฃ
  • ภูมิปัญญาการทำแคนบ้านศรีแก้วภูมิปัญญาการทำแคนบ้านศรีแก้ว

คนในชุมชนบ้านศรีแก้วใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานในการสื่อสาร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านสีแก้วกับตำนานอุรังคธาตุ

จากการศึกษาค้นคว้าเอกสารจากตำนานและประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งเมืองร้อยเอ็ด โดยเรียบเรียงขึ้นจากตำนาน “อุรังคธาตุ”ซึ่งเป็นหนังสือใบลานจารึกด้วยตัวอักษรไทยน้อย ได้มาจากหอไตร วัดหลวง เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเจ้าคุณพนมเจติยานุรักษ์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี  พ.ศ. 2479  โดยมีข้อความเกี่ยวกับบ้านสีแก้ว  หรือ  “เมืองสีแก้ว”  โดยสังเขป คือ ตำนาน “อุรังคธาตุ” กล่าวถึงประชาชนในอาณาจักรที่มีส่วนร่วมในการสร้างพระธาตุพนม  ซึ่งในช่วงนั้นประกอบไปด้วยนครและรัฐต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานเพื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ในสมัยอดีตของเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน นครหนองหารหลวง อยู่บริเวณหนองหารสกลนคร มีพระยาสุวรรณคิงคารเป็นผู้ครองนคร ได้สร้างพระธาตุเชิงชุมสวมรอยพระพุทธบาทและพระมเหสีนามว่าพระณารายณ์เจงเวง ได้สร้างพระกุดนาเวงบรรจุพระอังคารนครหนองหารน้อย ตั้งอยู่ถัดจากหนองหารหลวงไป ได้แก่ หนองหารกุมภวาปีที่พระยาดำแดง เป็นลูกพี่ลูกน้องกับผู้ครองหนองหารหลวง ทั้งสองนครนี้ได้ต้อนรับขบวนนำพระบรมธาตุมาครั้งแรก และได้ร่วมก่อสร้างจนสำเร็จ ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่จนหนองหารทั้งสองลัดถึงกันประชาชนอพยพไปอยู่ที่ เวียงจันทน์ นครศรีโคตรบูรณ์ เป็นแคว้นที่ประดิษฐ์พระอุรังคธาตุ เดิมตั้งอยู่ใต้ปากเซ บั้งไฟซึ่งไหลตกแม่น้ำโขงตรงข้ามพระธาตุพนม ครั้งพระเจ้าศรีโคตรบูรณ์ล่วงลับไปแล้ว พระยานันแสน พระอนุชาขึ้นครองนครแทน ต่อมาเป็นเวลา 13 ปี พระองค์ได้ร่วมสร้างพระอุรังคธาตุครั้งแรก เมื่อทิวงคต แล้วมีการย้ายนครไปตั้งอยู่ทางเหนือพระธาตุชื่อมรุกขนคร นครสาเกตุ หรือ 101 ประตู (สิบเอ็ดประตู) อยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีพระยาสุริวงศาครอง

อย่างไรก็ตามเมืองสาเกต ( เมืองร้อยเอ็ด ) หรือ สิบเอ็ดประตูนั้น ครั้นหมดสมัยพญาสุริยวงศา  แล้วบรรดาเมืองร้อยเอ็ดหัวเมืองที่ขึ้นอยู่ ก็พากันแข็งเมืองและเกิดรบฟันกัน จนตกเป็นเมืองขึ้นของเหล่าบรรดาพ่อเลี้ยงนางนมได้นำเจ้าสังขริชากุมารราชบุตรหลบซ่อนไปอยู่เมืองหนองคายพึ่งบุญบารมีพญาจันทบุรี และมรุกขนคร ครั้นต่อมา พญาสุมิตรธรรมได้ครองเมืองร้อยเอ็ดประตูจนตลอดอายุขัย ( ประวัติย่อพระธาตุพนม พระเทพรัตนโมลี , 2537 : 19 )

ในขณะนั้นเองได้มีการสันนิฐานว่า พญาสุมิตรธรรมได้ส่งกลุ่มคนนายทหารต่าง ๆ ออกไปครอบครองหรือกินหัวเมือง ซึ่งได้แก่

  • เมืองเชียงเหียน ( อยู่แขวงจังหวัดมหาสารคาม)
  • เมืองสีแก้ว ( บ้านสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด )
  • เมืองฟ้าแดด ( บ้านฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์)
  • เมืองเปือย ( บ้านเปือย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด )
  • เมืองทอง ( บ้านเมืองทอง จังหวัดร้อยเอ็ด )
  • เมืองหงส์ ( บ้านเมืองหงส์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน )
  • เมืองบัว ( แขวงเกษตรวิสัย )
  • เมืองคอง ( แขวงอำเภอเสลภูมิ )
  • เมืองเชียงของ ( บ้านจาน แขวงอำเภอธวัชบุรี )
  • เมืองเชียงดี ( บ้านหัวโน แขวงอำเภอธวัชบุรี )
  • เมืองไพ ( บ้านเมืองไพร แขวงอำเภอธวัชบุรี )

ทั้ง  11 หัวเมืองเป็นประตูของเมืองสาเกตนคร (ร้อยเอ็ด)ตามทิศต่างๆดังนี้

  •  ทิศเหนือ           คือประตูเมืองเชียงเหียน   เมืองสีแก้ว    เมืองฟ้าแดด
  • ทิศตะวันออก    คือประตูเมืองเปือย   เมืองทอง    เมืองหงส์
  • ทิศใต้              คือประตูเมืองบัว  เมืองคอง
  • ทิศตะวันตก      คือประตูเมืองเชียงของ เมืองเชียงดี เมืองไพ

บ้านสีแก้วกับตำนานท้าวผาแดงนางไอ่

วรรณกรรมเรื่องท้าวผาแดง นางไอ่ เป็นเรื่องราวของการจัดงานมหกรรมบุญบั้งไฟแสนของพระยาขอม โดยมีนางไอ่ ราชบุตรีเป็นเดิมพัน ผลการแข่งขันปรากฏว่าบั้งไฟของหลายเมืองต่างก็ขึ้นสูง ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีชื่อ “เมืองสีแก้ว”  ร่วมอยู่ด้วย ดังข้อความตอนหนึ่งที่ว่า

      “อันว่า บั้งไฟสีแก้ว          น้องพี่เชียงเหียน

       ทั้งเมืองหงส์ เมืองทอง      ดังเดียวกันแท้

       ขึ้นไปเหนือฟ้า               เทวาสะดุ้งตื่น

       คือดั่งแถนแตกเมืองม้าง     แมนฟ้าหลากก็ใจ แท้แล้ว

        พอฮอดสามวันได้           โอ้อวายลงดิน

        ไปตกทางหนองแสง        ฝั่งฮิมทีน้ำ ( พระยาอริยานุวัตร เขมจารี . 2524 : 78 )

พระธาตสีแก้ว.(2564).พระธาตุสีแก้ว.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566.เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/CHARUMUANG/photos/pcb.2344889038975280/2344888962308621

พระธาตุสีแก้ว บ้านสีแก้ว.(2558).พระธาตุสีแก้ว บ้านสีแก้ว.ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566.เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/photo/?fbid=951498841527242&set=a.951496091527517.1073741840.950671691609957

นราวิทย์ ดาวเรือง.(2557).การศึกษาประวัติศาสตร์ ตำนานความเชื่อต่อองค์พระธาตุสีแก้วเพื่อสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนบ้านสีแก้วอย่างมีส่วนร่วม.วารสารวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่:ปีที่6ฉบับที่6,2557