Advance search

ชุมชนไทยวนที่มีอายุ 200 กว่าปี ซึ่งชุมชนแห่งนี้ยังคงอนุรักษ์และรักษาวิถีชีวิตแบบชาวไทยวนเอาไว้ ภายในชุมชนมีหอวัฒนธรรมที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้หายากของชาวไทยวนในอดีตเพื่อเป็นการเรียนรู้แก่คนภายนอกและคนรุ่นใหม่ในชุมชน ทั้งนี้ภายในชุมชนต้นตาลยังโดดเด่นในด้านการทอผ้า ซึ่งผ้าทอชาวยวนที่ผลิตที่บ้านต้นตาลถือว่ามีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ต้นตาล
เสาไห้
สระบุรี
วีรวรรณ สาคร
17 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
วีรวรรณ สาคร
29 เม.ย. 2023
บ้านต้นตาล

บ้านต้นตาลตั้งมาจากการที่พื้นที่บริเวณที่ตั้งของชุมชนแต่เดิมมีต้นตาลขึ้นจำนวนมาก


ชุมชนไทยวนที่มีอายุ 200 กว่าปี ซึ่งชุมชนแห่งนี้ยังคงอนุรักษ์และรักษาวิถีชีวิตแบบชาวไทยวนเอาไว้ ภายในชุมชนมีหอวัฒนธรรมที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้หายากของชาวไทยวนในอดีตเพื่อเป็นการเรียนรู้แก่คนภายนอกและคนรุ่นใหม่ในชุมชน ทั้งนี้ภายในชุมชนต้นตาลยังโดดเด่นในด้านการทอผ้า ซึ่งผ้าทอชาวยวนที่ผลิตที่บ้านต้นตาลถือว่ามีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ต้นตาล
เสาไห้
สระบุรี
18160
14.551642475284867
100.88018175478847
เทศบาลตำบลต้นตาล-พระยาทด

ภายในชุมชนบ้านต้นตาล ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนที่มีอายุกว่า 200 ปี โดยชาวไทยชาวไทยวน อ่านว่า ไท - ยวน หรือ ไตยวน อ่านว่า ไต - ยวน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษา ไท - กะได ซึ่งมีถิ่นฐานแต่เดิมอยู่ในบริเวณทางตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งชาวไทยวนที่ชุมชนบ้านต้นตาลเป็นชาวยวนล้านนาหรือชาวโยนกที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน (บริเวณอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) ในช่วง พ.ศ. 2347 ตรงกับสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ซึ่งในอดีตสมัยกรุงธนบุรีดินแดนล้านนาอยู่ในการยึดครองของพม่า จนกระทั่งในช่วงปลายสมัยกรุงธนบุรีเจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้าเมืองลำปางได้ร่วมมือกับพระเจ้ากรุงธนบุรีทำการต่อต้านพม่า ทำให้ช่วงกรุงธนบุรีพม่าได้ออกจากล้านนาในหลายพื้นที่แต่ทว่ากลุ่มเมืองเชียงแสนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์พม่ายังคงปกครองอยู่ ทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ยกทัพร่วมกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทร์ เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ เจ้านครน่าน เจ้านครลำปางเข้าไปตีเมืองเชียงแสนจนได้เมือง หลังจากนั้นจึงเผาทำลายเมืองเพื่อไม่ให้เป็นที่มั่นแก่พม่าได้อีก จากนั้นจึงอพยพชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยวนประมาณ 23,000 คน จัดแบ่งเป็น 5 ส่วน แยกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในการปกครองของสยาม ได้แก่ เมืองเวียงจันทร์ 1 ส่วน เมืองเชียงใหม่ 1 ส่วน เมืองลำปาง 1 ส่วน เมืองน่าน 1 ส่วน และอีก 1 ส่วน โปรดให้ลงมากรุงเทพก่อนที่ส่วนหนึ่งจะให้ไปตั้งบ้านเรือนที่สระบุรี แต่ก็มีบางส่วนที่เลยไปตั้งถิ่นฐานที่ราชบุรี (บริเวณตำบลคูบัว อำเภอเมือง)

ชาวเมืองที่อพยพมาสระบุรีได้ตั้งบ้านเรือนบริเวณตำบลสวนดอกเป็นที่แรก โดยมีหัวหน้านำชื่อ ปู่คัมภีระ ปู่เจ้าฟ้าและหนานสิบต๊ะ ทั้งนี้ต่อมาไม่นานเนื่องด้วยประชากรเพิ่มขึ้นพื้นที่ไม่พออยู่อาศัยและทำกินชาวยวนจึงได้ขยายบ้านเรือนออกมาจนถึงตำบลต้นตาล และตำบลอื่น ๆ ในอำเภอเสาไห้ ซึ่งบริเวณชุมชนบ้านต้นตาลไม่ได้มีหลักฐานการก่อตั้งเมื่อใดแต่คาดการณ์ว่าชาวไทยยวนเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ไม่ต่ำกว่า 200 ปี หลังจากการอพยพจากตำบลสวนดอก ซึ่งบริเวณที่ตั้งเริ่มแรกของชาวชุมชนบ้านต้นตาลในตำบลต้นตาลตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 3 ปัจจุบัน ก่อนที่จะเพิ่มขยายไปยัง หมู่ 5, 6, 1, 2, 7, 8 ซึ่งพื้นที่หมู่ 3 จะเป็นพื้นที่หนาแน่นเข้มข้นที่สุดของชุมชนโดยแต่เดิมพื้นที่นี้เคยมีคนโบราณอาศัยอยู่ก่อนในช่วงสมัยยุคขอมเรืองอำนาจเพราะพบหลักฐานในบริเวณวัดต้นตาลเกี่ยวกับขอมแต่ไม่แน่ชัดว่ากลุ่มใดก่อนที่น่าจะทิ้งร้างในช่วงขอมเสื่อมอำนาจ ทั้งนี้สาเหตุการเรียกชุมชนนี้ว่าบ้านต้นตาลมาจากบริเวณนี้มีต้นตาลขึ้นจำนวนมากชาวบ้านที่ย้ายมาจึงเรียกกันว่าบ้านต้นตาล คนยวนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านต้นตาลมักจะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก โดยการตั้งบ้านเรือนของชาวยวนบ้านต้นตาลจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเครือญาติมีวิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบยังชีพ 

ในช่วงนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงก่อน พ.ศ. 2524 ช่วงนี้ถือเป็นยุคแห่งการกลืนกลายของวัฒนธรรม โดยในช่วงนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการพัฒนาคมนาคมขนส่งทางน้ำมาเป็นทางบก ทำให้ในพื้นที่สระบุรีเป็นทางผ่านไปยังมณฑลต่าง ๆ ในเขตอีสานและมณฑณพายัพ อีกทั้งในพื้นที่มีรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาที่สร้างมาก่อนในช่วง พ.ศ. 2443 การคมนาคมทางบกที่เปลี่ยนได้ทำให้ชาวยวนในสระบุรีรับเอาวัฒนธรรมส่วนกลางเข้าไปมีบทบาทในชุมชน ส่งผลให้การดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่มีมาถูกกลืนกลายจากกระแสความทันสมัยของส่วนกลาง นอกจากนี้นโยบายการสร้างรัฐชาติจากส่วนกลางก็ยังทำให้เกิดการกลืนกลายวัฒนธรรมขึ้นภายใต้ความเป็นรัฐชาติ ทำให้ช่วงเวลานี้อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมของชาวยวนเริ่มจางหายและซบเซาลงไป ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลืนกลายได้ง่ายเพราะชาวยวนที่สระบุรีนี้เป็นกลุ่มที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่วัฒนธรรมอื่นเรียกว่า วัฒนธรรมพลัดถิ่น ที่ไม่ใช่พื้นที่เข้มข้นด้วยวัฒนธรรมของตนเองทำให้เมื่อช่วงเวลาเปลี่ยนไปจึงถูกกลืนทางวัฒนธรรมได้โดยง่าย อย่างไรก็ดีแม้บางชุมชนจะถูกกลืนกลายแต่พบว่าวัฒนธรรมชุมชนบ้านต้นตาลถือเป็นที่หนึ่งที่แม้วัฒนธรรมจะซบเซาลงแต่ก็ยังสามารถคงวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่สืบทอดมาไว้ได้ผ่านกิจวัตรประจำวันไม่ได้ถูกกลืนกลายวัฒนธรรมจนหายไป

ในช่วงปี พ.ศ. 2525 พื้นที่บริเวณชุมชนบ้านต้นตาลมีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและความเจริญต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นก็ในพื้นที่ชุมชน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า การตัดถนน ทั้งนี้มีการก่อตั้งโรงเรียน สถานีอนามัยภายในชุมชน และในช่วงเวลานี้เอง นายสมจิตต์ ยะกุล กำนันในขณะนั้นได้เริ่มมองเห็นถึงวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชุมชน เช่น การทอผ้า จึงมีการตั้งศูนย์ทอผ้าภายในชุมบ้านต้นตาลขึ้นมาอันเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน

พบว่าจากการก่อตั้งศูนย์ทอผ้าปี พ.ศ. 2525 ได้ทำให้การท่องเที่ยวเริ่มเข้าสู่ภายในชุมชน แต่อย่างไรก็ตามระยะนี้นักท่องเที่ยวยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีมีนโยบายให้ข้าราชการแต่งตัวด้วยผ้าทอมือ ทำให้ข้าราชการในและนอกพื้นที่ต่างเข้ามาในชุมชนบ้านต้นตาลเพื่อสั่งผ้าทอที่นี้ จุดนี้ทำให้พื้นที่นี้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะนอกจากผ้าทอที่สวยภายในชุมชนก็มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจคนเดินทางมาท่องเที่ยว ในชุมชนขยายตัวเริ่มมีคนภายนอกมาพักในชุมชนอาศัยกับชาวบ้านเพื่อศึกษาวิถีชีวิต ดูงานด้านการทอผ้าและวัฒนธรรม ทำให้ชุมชนบ้านต้นตาลค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2530 ชุมชนจึงได้รับรางวัลหมู่บ้านวัฒนธรรมดีเด่น โดยผลของรางวัลนี้ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก

ปี พ.ศ. 2536 ได้มีการก่อตั้งชมรมไทยวนสระบุรีและก่อตั้งหอวัฒนธรรมไทยวนสระบุรีขึ้นโดยอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ส่งผลให้เกิดกระบวนการทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น การรื้อวัฒนธรรมที่สูญหายไปให้กลับขึ้นมาใหม่ การอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิม การประดิษฐ์ประเพณีวัฒนธรรมใหม่ ๆ การปรับเปลี่ยนประเพณีให้สอดคล้องกับปัจจุบัน รวมถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมในชุมชน จุดนี้ทำให้คนรู้จักชุมชนบ้านต้นตาลมากขึ้นมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาในพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้การที่ก่อตั้งชมรมไทยวนและหอวัฒนพรรมไทยวนยังทำให้เกิดกลุ่มต่าง ๆ ของชาวบ้านในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว เช่น กลุ่มรำโทน กลุ่มฟ้อนรำ กลุ่มทำขันโตก เป็นต้น ถือได้ว่านับแต่ปี พ.ศ. 2536 ชุมชนบ้านต้นตาลได้เข้าสู่การเป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างเต็มตัวจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภายในชุมชนบ้านต้นตาลมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีมีแหล่งเรียนรู้จัดแสดงต่าง ๆ การอนุรักษ์สถานที่สำคัญของชุมชน การมีผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาวางขาย ทั้งหมดเพื่อตอบสนองต่อการที่ชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั่นเอง

ชุมชนบ้านต้นตาลอยู่ในบริเวณของตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี โดยบริเวณตำบลต้นตาลเป็นตำบลหนึ่งใน 12 ตำบลของอำเภอเสาไห้ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอและตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งตำบลต้นตาลมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 6,399 ไร่ หรือประมาณ 10.24 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ตำบลต้นตาลอยู่ห่างจากอำเภอเสาไห้ ประมาณ 3 กิโลเมตรและยังห่างจากศาลากลางจังหวัดสระบุรี ประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางไปบริเวณตำบลต้นตาลสามารถเดินทางได้ทางรถส่วนตัวและทางรถโดยสารประจำทางที่ผ่านชุมชน 2 สาย คือ สายสระบุรี-ท่าลาน และ สายสระบุรี-ปากบาง 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีและติดกับแม่น้ำป่าสัก
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลดาวเรือง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลพระทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ชุมชนบ้านต้นตาลมีพื้นที่ส่วนมากเป็นลักษณะที่ราบลุ่มลักษณะของดินเป็นดินอุ้มน้ำ ในทางตอนใต้ของหมู่บ้านมีแม่น้ำป่าสักไหลผ่านพื้นที่ และยังมีคลองห้วยแร่ซึ่งเป็นลำห้วยธรรมชาติที่ไหลผ่านหมู่บ้าน การมีแม่น้ำลำคลองทำให้พื้นที่บริเวณชุมชนอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตรทั้งปี ทำให้ภายในชุมชนมีการทำเกษตรกรรมปลูกพืชผักมีการทำนาทั้งนาปีและนาปรังอันนำมาซึ่งการดำรงวิถีชีวิตของชาวชุมชนได้

จากข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลต้นตาล-พระยาทด พบว่าภายในตำบลต้นตาลมีประชากรประมาณ 2,091 คน เป็นชาย 933 คน เป็นหญิง 1,098 คน โดยมีจำนวนครัวเรือน 831 หลังคาเรือน ส่วนมากคนที่ตั้งถิ่นฐานในชุมชนเป็นชาวไทยยวนเกือบทั้งหมดโดยคิดค่าเฉลี่ยการสืบเชื้อสายเป็น 2 ส่วน ส่วนที่มีเชื้อสายมาจากเชียงใหม่คิดเป็น 73% และ ส่วนเชื้อสายจากเชียงราย 27% โดยรวมสืบเชื้อสายจากภาคเหนือของไทยซึ่งสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่มีมาของพื้นที่

ไทยวน

กลุ่มอาชีพ พบว่าภายในชุมชนบ้านต้นตาลมีการรวมกลุ่มแบบกลุ่มอาชีพจำนวนมากหลังการที่ชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งการรวมกลุ่มก็เพื่อนำเสนอ อนุรักษ์ดูแลและควบคุมและสืบสานของอาชีพแต่ละอาชีพภายในชุมชม ซึ่งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ของชุมชนบ้านต้นตาลมีดังนี้

กลุ่มสตรีทอผ้า ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 โดยใช้พื้นที่บริเวณใต้ถุนบ้านของกำนันสมจิตต์ ยะกุล เป็นพื้นที่ทอผ้าก่อนที่ต่อมาเมื่อกลุ่มนี้เจริญขึ้นจึงได้มีการสร้างศูนย์ทอผ้าบ้านต้นตาลขึ้นที่หมู่ 3 บ้านต้นตาลและหมู่ 8 ตามลำดับ โดยตอนเริ่มก่อตั้งมีประธานกลุ่มคนแรกคือ นางวงเดือน ยะกุล และมีสมาชิกประมาณ 30 คน ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะขยายจำนวนสมาชิกมากขึ้น กลุ่มนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้แก่สตรีในตำบลต้นตาลโดยอาศัยความรู้ความสามารถในการทอผ้าที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษของคนในชุมชน กลุ่มนี้มีบทบาทภายในชุมชนอย่างมากเพราะเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้าที่มีชื่อที่สุดของชุมชน โดยนอกจากกลุ่มนี้จะขายสินค้าแล้วยังเป็นกลุ่มที่ให้ความรู้ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแก่นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการและบุคคลทั่วไปอีกด้วย

กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2529 โดยที่ชาวบ้านในชุมชนชนไม่รู้ว่าคือโฮมสเตย์ โดยครั้งแรกมาจากการที่นักเรียนนายร้อยต้องการเข้าพักเพื่อศึกษาวิถีชีวิตซึ่งชุมชนต้นตาลได้รับนักเรียนนายร้อยเหล่านี้มาเข้าพักทำให้เกิดรูปแบบโฮมสเตย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 กลุ่มโฮมสเตย์จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามีการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการของคนที่จะรับเปิดเป็นโฮมสเตย์ โดยนักท่องเที่ยวที่จะเข้าพักที่ชุมชนบ้านต้นตาลจะต้องติดต่อกับกลุ่มล่วงหน้าก่อนเข้าพักเพื่อให้กลุ่มจัดเตรียมที่พัก อาหารและกิจกรรมให้

กลุ่มขันโตก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 ตั้งขึ้นเพื่อทำอาหารขันโตกซึ่งเป็นอาหารถิ่นบริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการลิ้มลองวิถีชีวิต กลุ่มนี้เริ่มก่อนตั้งจากนางวงเดือน ยะกุล ต่อมาส่งต่อให้นางยุพินและนางแวมชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มนี้หลังนางวงเดือนเลิกทำได้แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนางแวมมีสมาชิกประมาณ 5 คน กลุ่มสองนางยุพิน (หมู่8) มีสมาชิกประมาณ 8 คน โดยกลุ่มเหล่านี้จะทำขันโตกบริการส่งให้หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนและทำให้กับโฮมสเตย์ นอกจากส่งแล้วยังให้บริการโดยตรงที่พื้นที่ทำขันโตกงานเลี้ยงขันโตกท่าน้ำบ้านต้นตาล

กลุ่มการแสดงทางวัฒนธรรม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มการแสดงฟ้อนรำของเยาวชนยวนตำบลต้นตาลก่อตั้งในปี พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่ออนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่ พัฒนาวัฒนธรรมการรำของชาวยวนและเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะการร่ายรำแบบชาวยวนของคนในชุมชนและบุคคลทั่ว ช่วงแรกที่ก่อตั้งเป็นการรวมตัวของชาวบ้านที่รู้จักกันในตำบลที่มีความสามารถในด้านการรำโทนและตีกลอง จนในปี พ.ศ. 2541 จึงได้ถ่ายทอดศิลปะเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังซึ่งคือกลุ่มนักแสดงในปัจจุบัน 

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีขันข้าว (ตานขันข้าว) เป็นประเพณีชาวยวนที่จะทำวันใดก็ได้ไม่จำกัดวัน โดยชาวยวนจะมีการนำอาหารใส่ถ้วยวางบนสำรับ (ถาด) นำไปถวายภิกษุ จากนั้นให้บอกพระว่าต้องการอุทิศกุศลนี้ไปให้แก่ใคร โดยหลังจากพระภิกษุรับประเคนแล้วก็จะกล่าวถ้อยคำเป็นการบอกให้วิญญาณผู้นั้นทราบว่ามีใครนำอาหารมาให้และให้มารับส่วนกุศลนี้ ซึ่งคำกล่าวของพระจะมีทำนองจังหวะที่ไพเราะคล้องจองกัน
  • ประเพณีเวนทาน เป็นประเพณีของชาวยวนที่ต้องการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย โดยจะทำเมื่อมีการทำบุญเจ็ดวันหรือร้อยวันของผู้วายชนม์ มีการนิมนต์พระมาสวนพุทธมนต์บอกญาติมิตรใส่บาตรร่วมกัน เมื่อพระสวดถวายพรพระเสร็จเจ้าภาพจะนำผ้าขาวมาปูลาดให้ยาวตลอดแถวที่พระภิกษุนั่ง จากนั้นจะนำอาหารมาวางบนผ้าขาววางรวมกันเป็นสำรับญาติหรือเจ้าภาพจะนั่งรวมกันหน้าอาสนสงฆ์ที่มีอาหารวางอยู่ แล้วสวดคำเวนทานด้วยสำเนียงไทยวนที่มีความไพเราะเมื่อสวดจบพระจะรับประเคนอาหารและฉันอาหารที่นำมาถวาย
  • ประเพณีจุดประทีปตีนกา เป็นประเพณีที่ทำกันในวันเพ็ญเดือน 12 โดยช่วงเย็นของวันนี้ชาวไทยวนจะรวมตัวกันที่วัด เมี่อถึงเวลาอันสมควรพระก็จะเทศน์เรื่อง พญากาเอก โดยเมื่อพระเริ่มเทศน์ผู้คนชาวยวนก็จะทำการจุดประทีปตีนกาเพื่อถวายบูชาพระธรรม ซึ่งประทีปชาวบ้านจะเอาด้ายมาทำเป็นรูปตีนกาวางลงในถ้วยที่มีน้ำมันแช่อยู่ ทั้งนี้มาของประทีปนี้สอดคล้องกับตำนานของล้านนาเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาที่ชาวไทยวนชุมชนบ้านต้นตาลสืบทอดมา
  • ประเพณีสลากภัตหรือกิ๋นข้าวสลาก คือ ประเพณีถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์ด้วยวิธีการจับสลาก เป็นบุญที่มำโดยมิได้เจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดถือว่าได้บุญมากกว่าการเจาะจง มักทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและทำบุญเพื่อปรารถนาความสุขในชาติหน้า เชื่อกันว่าอานิสงฆ์ของการถวายสลากภัต เกิดชาติหน้าจะมีร่างกายสวยงาม สมบูรณ์แข็งแรง บริบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์ มีชีวิตที่อยู่ดีกินดีมีสุข
  • ประเพณีปอยข้าวสังฆ์ คือ ประเพณีการทำบุญถวายข้าวแก่พระสงฆ์ คนยวนเรียกข้าวที่ถวายพระสงฆ์ว่า ข้าวสังฆ์ วัตถุประสงค์ของประเพณีนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว พิธีจะเริ่มโดยการนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์เย็นที่บ้านรุ่งเช้าก็จะถวายภัตตาหารพระ บางงานอาจถวายก๋วย(ชะลอม)ที่ใส่ของถวายพระเป็นอันเสร็จพิธี งานนี้นิยมเชิญญาติพี่น้องมาร่วมเป็นงานใหญ่โต
  • การทำบุญสำรวมธาตุ การทำบุญนี้ถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผู้ที่ทำบุญจะได้บุญใหญ่ ชาวบ้านที่จะทำบุญสำรวมธาตุต้องอาศัยผู้รู้พิธีทำนา โดยการตะเตรียมพิธีค่อนข้างมีขั้นตอนมากซึ่งการมีขั้นตอนมากชาวยวนเชื่อว่าจะได้บุญครั้งใหญ่

1. อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล เป็นชาวไทยวนท้องถิ่นในชุมชนบ้านต้นตาลผู้ซึ่งนำชุมชนบ้านต้นตาลมาสู่การฟื้นฟูอนุรักษ์และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยอาจารย์ทรงชัยเริ่มเห็นถึงการอนุรักษ์มาจากความชอบสะสมของเก่าหรือวัตถุโบราณในอดีตตั้งแต่อายุ 19 ปี อาจารย์ทรงชัยเริ่มมีบทบาทในชุมชนไทยวนสระบุรีจากการที่ริเริ่มรวบรวมเรื่องราวของชาวไทยวนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดยศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ของชาวไทยวนในพื้นที่ ทำให้ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 อาจารย์ได้ร่วมกับชาวบ้านและคนสำคัญในชุมชนก่อตั้งชมรมไทยวนขึ้นมามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมที่หายไปของชาวไทยวนในชุมชนบ้านต้นตาล อีกทั้งอาจารย์ยังได้ก่อตั้งหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนขึ้นมาในชุมชนอันเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนใน จังหวัดสระบุรี นอกจากนี้อาจารย์ทรงชัยยังมีบทบาทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวไทยวนในพื้นที่ชุมชนบ้านต้นตาลอีกด้วย ซึ่งจากการพยายามฟื้นฟูและอนุรักษ์ของอาจารย์ทรงชัยได้ทำให้ชุมชนบ้านต้นตาลกลายเป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมยวนที่อพยพมาจากตอนเหนือของไทยเมื่อ 200 ปีก่อน อีกทั้งยังทำให้ชุมชนบ้านต้นตาลกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน

ทุนทางวัฒนธรรม

1. หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยยวน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 ในพื้นที่ส่วนตัวริมแม่น้ำของอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ด้วยงบส่วนตัวของอาจารย์ทรงชัย โดยหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยยวนนี้อาจารย์และครอบครัวเป็นผู้ดูแล แต่ก็มีชาวบ้านยวนบางกลุ่มเข้าร่วมทำงานด้านวัฒนธรรมกับอาจารย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยยวนมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และรักษาวัฒนธรรมของชาวยวน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของนักเรียนนักศึกษาและบุคคลทั่วไป รวมถึงรวบรวมวัตถุสิ่งของทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่หายากอันเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวยวนไว้ ปัจจุบันหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยยวนตั้งอยู่ที่ 48 หมู่ 6 ตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันแก่คนทั่วไป

2. ผ้าทอชาวยวน ผ้าทอชาวยวนเป็นจุดเด่นหนึ่งของชุมชนบ้านต้นตาล โดยมาจากแต่เดิมผู้หญิงชาวยวนในพื้นที่มักนิยมทอผ้าใช้เอง โดยการทอลายต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละคน โดยลักษณะเด่นการทอของชาวยวนในชุมชนบ้านต้นตาลสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ ผ้าพื้นไม่มีลายโดยจะใช้ด้ายเส้นเดียวสีเดียวกัน เช่น ฝ้าย ไหม ในการทอเป็นลายขัดธรรมดา ประเภทต่อมาคือผ้ามีลาย เช่น ผ้าลายขิด ผ้าจก ผ้ามุก ผ้าโสร่ง ผ้าหลาบ ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าทอจะอยู่ตรง "เล็บ" ด้านล่างสุดของชายผ้า จะเก็บเป็นสีเหลืองเรียบร้อย แสดงออกถึงความประณีตในการทอ

3. การฟ้อนรำยวน พบว่าชาวไทยวนชุมชนบ้านต้นตาลมีการฟ้อนรำรูปแบบรำยวนหรือแบบล้านนา โดยการฟ้อนรำของชาวยวนจะมีลักษณะ เชื่องช้า อ่อนช้อย สวยงาม ดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนจะเป็นดนตรีสะล้อซอซึงแบบภาคเหนือ โดยชาวบ้านมักไม่นิยมนำการฟ้อนรำยวนมาเล่นฟ้อนกันในงานประเพณีแต่จะนำมาฟ้อนเพื่อแสดงโชว์บนเวทีหรือเพื่อแสดงในงานสำคัญตามมากกว่าเพื่อสร้างบรรยากาศในงานให้มีความน่าสนใจ

4. การแต่งกาย พบว่าชาวยวนในชุมชนมีเอกลักษณ์ในการแต่งกายมากมีรูปแบบการแต่งกายเป็นของตนเอง ซึ่งมักมีการแต่งกายแบบชาวยวนในวันพิเศษหรือวันสำคัญ คือ ผู้หญิงวัยประมาณ 30 ปีขึ้นไปจะนุ่งซิ่นยวนลายขวางชายซิ่นมีจกหรือยกมุกทั้งผืนก็ได้ขึ้นอยู่กับฐานะ สวมเสื้อคอกลมผ่าหน้าติดกระดุมหรือผูกเชือก เสื้อสามารถใส่ได้ทั้งแขนสั้นและแขนยาว ตัวเสื้อจะยาวแค่ระดับเอว ซึ่งชาวยวนเรียก เสื้อแอ้ว มีการเกล้าผมมวยสูงติดปิ่นดอกไม้ไหวหรือทัดดอกไม้ ส่วนผู้ชายอายุ 30 ปีขึ้นไป จะใส่กางเกงขายาว เสื้อคอกลมผ่าหน้าติดกระดุมหรือผูกเชือก เสื้ออาจเป็นแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ ในวัยรุ่นทั้งชายและหญิงจะสวมเสื้อคอกลมผ่าหน้าแขนสั้นหรือแขนยาว นุ่งสะดอ(กางเกงของภาคเหนือ) หรือผู้หญิงบางคนอาจนุ่งซิ่นก็ได้ ทั้งนี้ในวันปกติชาวยวนที่อยู่ในวัยชราจะแต่งตัวนุ่งซิ่นลายขวางกับเสื้อคอกลมแขนกระบอกผ่าหน้า ส่วนวัยอื่น ๆ มักจะแต่งกายแบบปัจจุบันธรรมดา

5. อาหาร พบว่าชาวยวนนิยมกินอาหารที่ใส่ภาชนะเป็นขันโตก มีข้าวเหนียวจิ้มกับกับข้าว โดยอาหารที่นิยมรับประทาน เช่น ลาบคั่ว แกงอ่อม ไส้อั่ว แคบหมู แกงฮังเล น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่องพร้อมผัก มีขนมหวานแกมในขันโตก เช่น ข้าวแต๋น ขนมกงยวน เป็นต้น 

คนยวนบ้านต้นตาลมีภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์คือภาษาไทยวน ซึ่งภาษาไทยยวนหรือภาษาล้านนาไทย เป็นภาษาถิ่นที่จัดอยู่ในภาษาตระกูลไทยที่คนส่วนใหญ่ 8 พื้นที่ทางจังหวัดภาคเหนือใช้พูดกัน ซึ่งภาษายวนในพื้นที่ชุมชนบ้านต้นตาลที่อยู่ในอำเภอเสาไห้จะมีน้ำเสียงที่แข็งกว่าและห้วนกว่าชาวยวนในภาคเหนือ นอกจากนี้อาจมีคำศัพท์บางคำแตกต่างจากยวนภาคเหนือไปบ้าง เช่น ยวนเหนือจะใช้ คำว่า "อู้ยวน" ชุมชนบ้านต้นตาลจะใช้คำว่า "ฟู้" เป็นต้น คนในชุมชนบ้านต้นตาลเกือบทุกเพศทุกวัยสามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษายวน โดยจะพูดยวนกับคนในท้องถิ่นตนและพูดไทยกับนักท่องเที่ยวหรือคนภายนอก

ส่วนในด้านภาษาเขียนพบว่าเสียงพยัญชนะของชาวยวนมีทั้งหมด 20 เสียง โดยถ้าเปรียบเทียบภาษาไทยมาตรฐานแล้วมีบางพยัญชนะหรือเสียงพยัญชนะของชาวยวนจะออกเสียงทับกับของไทย เช่น เสียง ป แทน พ ,เสียง ต แทน ท ,เสียง จ แทน ช ,เสียง ก แทน ค ,เสียง ห และฮ แทน ร ส่วนสระอึ จะออกเสียงเป็น สระเออในภาษายวน ทั้งนี้ในชุมชนบ้านต้นตาลยังพบว่าได้มีร่องรอยของอักษรล้านนาปรากฏอยู่ในใบล้านและพับสาหรือสมุดข่อย ซึ่งถูกห่ออย่างดีด้วยผ้าทอยวนอันสื่อถึงการใช้ภาษาล้านนาแต่เดิมด้วยแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้ใช้แล้วก็ตาม 


จากการรวมกลุ่มอาชีพทางวัฒนธรรมของคนในชุมชน เกิดเป็นการนำเอาวัฒนธรรมในชุมชนมาทำธุรกิจท่องเที่ยวหรือขายสินค้า ผลิตภัณฑ์แก่นักท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านสามารถหารายได้จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนเพิ่มขึ้น จุดนี้จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในชุมชนที่เจริญขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ยิ่งมีตลาดเกิดขึ้นในชุมชน (ตลาดท่าน้ำโบราณบ้านต้นตาล) ซึ่งมาจากการที่ชุมชนเปลี่ยนสภาพสังคมเป็นชุมชนท่องเที่ยว ยังทำให้ชาวบ้านสามารถนำสินค้าที่ผลิตได้จากภายในชุมชนมาขาย ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคขายให้แก่นักท่องเที่ยวอันเป็นการสร้างรายได้แก่คนในชุมชน ชาวบ้านส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรหรืออาชีพอื่นแล้วหันมามาค้าขายสินค้าในชุมชนแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน


การเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชนเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าขึ้นในชุมชนกลุ่มนี้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวยวนในชุมชนขึ้นมาโดยนอกจากความรู้ของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาแล้ว กลุ่มนี้ยังได้ดูงานศึกษาลายผ้าชาวยวนดั้งเดิมในพื้นที่ภาคเหนือของไทยที่กลุ่มชาวบวนอพยพมา จากการฟื้นฟูการทอผ้าทำให้พื้นที่นี้มีลายผ้าชาวยวนที่โดดเด่นอันนำไปสู่การที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนเพื่อซื้อผ้าทอของชุมชนบ้านต้นตาล ผู้คนภายนอกที่เข้ามานอกจากซื้อสินค้าแล้วก็เริ่มรู้จักชุมชนมากขึ้นเห็นถึงวิถีชีวิตทำให้เริ่มอยากศึกษาและท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น สภาพสังคมในชุมชนจึงเริ่มปรับเปลี่ยนสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงแรกแม้การเปลี่ยนแปลงยังไม่มากนักแต่ก็เริ่มเห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงในสังคมของชุมชนแล้ว ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมในชุมชนเริ่มเห็นได้ชัดมากยิ่งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นไป เพราะในช่วงเวลานี้เหล่าผู้นำชุมชนและชาวบ้านบางส่วนมีการศึกษาถึงความเป็นมา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชนและเริ่มที่จะฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนอย่างจริงจัง ช่วงเวลานี้เองได้มีการก่อตั้งชมรมไทยยวน และก่อตั้งหอพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยยวนขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นฟู เรียนรู้และอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำให้ผู้คนนักท่องเที่ยวต่างรู้จักชุมชนบ้านต้นตาลนี้เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชนเกิดการขยายตัว สภาพสังคมช่วงนี้คือชุมชนเปลี่ยนสภาพจากชุมชนชาติพันธุ์ธรรมดาเป็นชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับตัวทางวิถีชีวิตเพื่อตอบสนองกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว เช่น เกิดการรวมกลุ่มอาชีพทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนเพื่อนำเอาวัฒนธรรมมาเป็นอาชีพหรือชาวบ้านเปลี่ยนมาทำธุรกิจท่องเที่ยวหรือขายสินค้า ผลิตภัณฑ์แก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น 

ภายในชุมชนบ้านต้นตาลได้มีวัดต้นตาลตั้งอยู่โดยวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 โดยเอกลักษณ์ของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างด้วยกระเบื้องเผาทั้งหลัง ซึ่งตามกระเบื้องก็จะมีลวดลายที่สวยงาม

จิราพรรณ ไตรรัตน์. (2554). การพัฒนาชุมชนตลาดต้าน้ำบ้านต้นตาล ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ชิดพล ยชุรเวชคุณากร. (2558). การอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยวนในบริบทของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม : กรณีศึกษาชุมชนบ้านต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ดวงกมล เวชวงศ์. (2553). กระบวนการนำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ยวนในบริบทของการท่องเที่ยวผ่านหอวัฒนธรรมพื้นบ้านและตลาดท่าน้ำ : ศึกษากรณีชุมชนยวน ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี. วิทยานิพนธ์มนุษย์วิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ทินารมภ์ เรืองสุขดีและอิสราภรณ์ ทนุผล. (2561). ระดับการรับรู้ภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษาตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี. ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการบริหารปกครองของภูมิภาค รัฐ ชุมชน ท้องถิ่นในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค Thailand 4.0. (น. 300-313). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

นราธิป ทับทันและชินศักดิ์ จัณฑิกุล. (2560). ภูมิหลังการเคลื่อนย้ายประชากรชาวยวนเชียงแสนและการตั้งถิ่นฐานในบริเวณตอนกลางของประเทศไทย. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 8, 10-34.

พิศมัย วรรณชนะ. (2558). ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประสมทางการตลาดกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวชาวไทยในตลาดต้าน้ำบ้านต้นตาล จังหวัดสระบุรี. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์.

วราภรณ์ เชิดชูและคณะ. (2563). อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทยวน: แนวทางการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์. วารสารอารยธธรรมศึกษาโขง-สาละวิน, 11(2), 200-222.

ศุภชัย เขื่อนแก้ว. (2563). การศึกษาวัฒนธรรมดนตรีไทยยวน อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยดุริยางควิทยา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

อารีย์ ขำสว่าง. (2558). ภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์.