Advance search

หมู่บ้านไทรใหญ่พื้นที่ริมคลองท่าฉาง หมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนมาเป็นเวลานานกว่าสิบทศวรรษ

บ้านไทรใหญ่
เขาถ่าน
ท่าฉาง
สุราษฎร์ธานี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
บ้านไทรใหญ่

พื้นที่บริเวณชุมชนเคยมีต้นไทรอยู่มากมาย และแต่ละต้นล้วนมีขนาดใหญ่


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านไทรใหญ่พื้นที่ริมคลองท่าฉาง หมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนมาเป็นเวลานานกว่าสิบทศวรรษ

บ้านไทรใหญ่
เขาถ่าน
ท่าฉาง
สุราษฎร์ธานี
84150
9.27558223
99.19631333
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาถ่าน

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนบ้านไทรใหญ่เล่าว่า บ้านไทรใหญ่มีการก่อตั้งเป็นชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 โดยในขณะนั้นมีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างแบบกั้นฝาสาน ตั้งอยู่เพียง 10 ครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทํานาและทําไร่ (ข้าวทุ่ง) วิธีการคือ ใช้ไม้ทิ่มลงในดินทําเป็นหลุม แล้วนำต้นกล้าข้าวลงปลูก ต่อจากนั้นจะกลบดินปิดครึ่งหลุม เดิมพื้นที่บ้านไทรใหญ่อยู่ในความดูแลของ หมู่ที่ 4 บ้านน้ำพุ ตําบลเขาถ่าน ต่อมาปี พ.ศ. 2525 ได้แยกออกมาเป็นหมู่ที่ 6 บ้านไทรใหญ่ ตําบลเขาถ่าน

ในอดีต พื้นที่บริเวณนี้จะมีต้นไทรอยู่มากมาย แต่ละต้นล้วนมีขนาดใหญ่และมีอายุหลายสิบปี ต่อมาไม่ทราบแน่ชัดว่าต้นไทรใหญ่เหล่านี้ถูกทําลายโดยมนุษย์หรือล้มตายไปตามกาลเวลา ปัจจุบันภายในชุมชนมีปรากฏก็ต้นไทรที่ว่ากันว่ามีอายุตั้งแต่รุ่นทวด ชาวบ้านที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ จึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านไทรใหญ่” สืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน 

ลักษณะภูมิประเทศบ้านไทรใหญ่มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ทิศใต้ติดกับคลองท่าฉาง ทิศตะวันออกติดกับคลองถ่าน ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ 20 ไร่ ยาวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายหนอง เรียกว่า หนองเหมา ลักษณะเป็นป่าพรุค้อ และหนองขวด (ซึ่งปัจจุบันพื้นที่หนองเหล่านี้ไม่มีแล้ว) ทําให้สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของดินในหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะแก่การทําเกษตรกรรม ได้แก่ การทํา สวนยางพารา และการทําการสวนปาล์มน้ำมัน ส่วนพื้นที่ที่เป็นที่ที่ลุ่ม คลอง หรือพื้นที่ที่ติดกับอ่าวบ้านดอน ชาวบ้านจะทําประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก เช่น การทอดแห ดักอวน ดักไทร โดยใช้เครื่องมือที่สามารถประดิษฐ์ได้ภายในชุมชน

ข้อมูลจากองค์การบริการส่วนตำบลเขาถ่าน ระบุว่า ปัจจุบันบ้านไทรใหญ่มีประชากรจำนวน 920 คน ความสัมพันธ์ของคนหมู่บ้าน มีทั้งความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติที่เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในหมู่บ้านมีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มเลี้ยงปลากะพงขาว กลุ่มออมทรัพย์ ผลจากการดําเนินกิจกรรมร่วมกันทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ทําให้เกิดกระบวนการคิดแก้ปัญหาของคนในหมู่บ้านและร่วมกันแก้ปัญหา พร้อมทั้งวางแผนการพัฒนาหมู่บ้านให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และหากมีข้อพิพาทระหว่างลูกบ้านภายในหมู่บ้าน จะใช้วิธีการเจรจาโดยผู้ใหญ่บ้าน แต่หากการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยผู้ใหญ่บ้านไม่เป็นผลสำเร็จก็จะส่งต่อให้ทางการ 

ชาวบ้านไทรใหญ่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ได้แก่ การทําสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปู เลี้ยงปลา เลี้ยงวัว ปลูกผักพื้นบ้าน ชาวบ้านที่อยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ มีอาชีพทําประมงชายฝั่ง เช่น เลี้ยงหอยแครง และประมงขนาดเล็ก เช่น วางลอบ ทอดแห วางอวน อาชีพรองได้แก่ ค้าขาย และรับจ้าง ผลผลิตที่ได้ในส่วนของยางพารา ปาล์มน้ำมัน จะนําขายส่งต่อให้กับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อภายในหมู่บ้าน ในส่วนของอาหารทะเลจะจําหน่ายกับแพในหมู่บ้าน ส่วนสัตว์น้ํบางชนิดที่จับได้ในปริมาณเล็กน้อยก็จะมีการแปรรูปเองในครัวเรือน เช่น กุ้งเคย หรือกุ้งขนาดเล็ก ชาวบ้านก็จะเก็บไว้ใช้ทํากะปิ ทํากุ้งแห้ง ปลาแห้ง ปลาร้าแห้ง น้ำปลา ส่วนปลาขนาดเล็กที่ติดมากับอวนก็จะนําไปทําปุ๋ย หรือนําไปเป็นอาหารให้สัตว์ชนิดอื่น ๆ อีก โดยชาวบ้านไทรใหญ่มีรายได้เฉลี่ย 46,559 บาท/คน/ปี

นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านบางส่วนเป็นลูกจ้างของโรงงานปาล์มน้ำมัน โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำไชน่า และโรงงานแปรรูปยางพารา

ชาวบ้านไทรใหญ่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจ มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผี และอำนาจเร้นลับต่าง ๆ โดยเฉพาะความเชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เช่น ผีไร่ ผีนา และความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพ เทวดาประจำต้นข้าวของชาวนา ฯลฯ

อาชีพประมง : ชาวบ้านที่ทําประมงจะนับถือแม่ย่านาง ทุกครั้งก่อนออกเรือ จะต้องมีการไหว้แม่ย่านางก่อนเสมอ มีของเซ่นไหว้ คือ ขนมซาลาเปาไส้แดง หรือขนมเปีย มีผ้าผูกหัวเรือสีขาว น้ำเงิน แดง (มีความหมายเป็นการให้รางวัลแก่แม่ย่านาง) หรือมีการแขวนพวงมาลัยด้วย

อาชีพทํานา : จะมีการผูกข้าว (ทําขวัญข้าว) ในตอนที่ข้าวใกล้สุกหรือก่อนการเก็บเกี่ยว โดยเจ้าของนาจะไปเชิญครูหมอมาเป็นคนทําพิธี อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในพิธี ได้แก่ ไม้ไผ่ที่ทำเป็นกระบวยคล้ายที่สอยมะม่วงเรียกว่า ตรอม ภายในบรรจุหมาก พลู ข้าวสวย ขนมโค ขนมขาว และจะมีการนำต้นอ้อย ต้นใบเงิน ต้นใบทอง เอามาผูกรวมกันในนาข้าว ภายหลังเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านจพอยกข้าวส่วนหนึ่งไว้บนกองข้าวส่วนบนสุด และเรียกข้าวส่วนนี้ที่เป็นขวัญข้าวว่า “แม่โพสพ”

อาชีพทำสวน : จะมีการไหว้สวน โดยเจ้าของสวนจะมีของมาเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ได้แก่ เหล้า ไก่ ขนมโค (แดง ขาว) ธูป เทียน หมาก พลู แล้วกล่าวออกชื่อเจ้าที่ในสวนให้ช่วยคุ้มครองในเรื่องของการทํามาหากินในสวน ให้บังเกิดและแคล้วคลาดจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ และหากปรารถนาอะไรก็ขอให้ได้ ตามปรารถนา โดยส่วนใหญ่จะทําในช่วงเดือน 6 ของทุกปี

อนึ่ง บ้านไทรใหญ่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ “ต้นยางหุ้น” คือ ยางที่มีลักษณะของต้นเป็นช่องว่างบริเวณตรงกลางลําต้น ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ห้ามไปทําสิ่งสกปรก หรือกระทําการที่ไม่ที่ไม่ดีในบริเวณต้นไม้ เนื่องจากหากลบหลู่อาจจะเกิดอันตรายได้ 

1. นายยุคล ส้มนิ่ม  หมอพื้นบ้านเชี่ยวชาญด้านการจับเส้น โดยหากชาวบ้านคนใดปวดเมื่อย จะไปขอให้หมอจับเส้นช่วยบีบนวดเป็นเวลา 3 วัน โดยในระหว่างที่รักษาจะห้ามไม่ให้ผู้ป่วยกินปลาที่ไม่มีเกล็ด หมอจับเส้นจะไม่รับค่าตอบแทน แต่หากรักษาหาย ผู้ป่วยจะต้องนํากล้วยน้ำว้า 1 หวี และข้าวสวย 1 ขัน มาใส่บาตร

2. นายเลื่อน พุ่มเพชร  หมอพื้นบ้านมีความรู้ในเรื่องการ “ปัดซาง” แต่ปัจจุบันนายเลื่อนได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่มีนายเขียน เนื่องสุนทร ซึ่งเป็นญาติ ทำหน้าที่รักษาแทน โดยหมอจะใช้ก้านมะพร้าวมากวาดผ่านตัวผู้ป่วย แล้วนำมาเคาะบนใบตองที่เตรียมไว้ ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 วัน วันละ 3 เวลา

3. นางสงบ รัตนศิลป์  หมอพื้นบ้านมีความรู้ด้านการปัดเริ่ม มีลักษณะเป็นผื่นน้ำเม็ดเล็ก ๆ  กระจุกตัวเป็นแนวยาว และหากน้ำเหลืองแตกจะขยายลามไปเรื่อย ๆ ผู้รักษาจะมีการว่าคาถาระหว่างที่เคี้ยวคําหมาก และจะใช้น้ำหมากพ่นไปในบริเวณที่เป็นเริ่ม โดยผู้รักษาต้องมาให้พ่นติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ไม่มีการรับเงินหากรักษาหาย

4. นางเกียรติ สิทธิสุทธิ์  หมอพื้นบ้านมีความรู้ด้านการปัดหนอย (บาดทะยัก) ซึ่งความรู้ในการรักษาเกิดจากตําราผีบอก (ไม่สามารถบอกใคร จะทําให้คาถาเสื่อม) ส่วนใหญ่ ผู้ที่มารักษาจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผลอย่างรุนแรง เมื่อมาหาหมอและดูอาการ หมอจะเดินไปหยิบต้นหญ้าบริเวณใกล้ตัว ในพื้นที่มาทําตามสัดส่วน แล้วนํามาพอกในบริเวณแผล ซึ่งผู้มารักษาจะรู้สึกดีขึ้น ทันทีที่ได้พอกแผล โดยจะต้องมารับการรักษาเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน

5. นายนิพัฒน์ ชาติรักษา  อายุ 43 ปี มีความชํานาญในเรื่องพิธีกรรมทางพระ โดยจะได้รับเชิญจากชาวบ้านทั้งในและนอกหมู่บ้านให้เป็นผู้กล่าวนำและจัดการเกี่ยวกับพิธีการต่าง ๆ ของสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นงานวัด งานบวช งานแต่ง งานศพ เป็นต้น

6. นางเอื้อม ชาติรักษา  มีความชำนาญในเรื่องการจัดขันหมากในพิธีแต่งงาน 

7. นายจํานง ทองมีศรี  มีความชำนาญในเรื่องการจัดขันหมากในพิธีแต่งงาน 

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บ้านไทรใหญ่มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ป่าชุมชนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าพรุที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งแหล่งรายได้ และแหล่งอาหารแก่คนชาวบ้านไทรใหญ่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าดังกล่าวมีเนื้อที่เหลือเพียง 20 ไร่เท่านั้น และไร้ซึ่งสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นแปลงปลูกสวนปาล์มน้ำมันของนายทุนที่เข้ามาทำการกว้านซื้อที่ดินภายในชุมชน โดยไม่มีชาวบ้านหรือหน่วยงานรัฐเข้ามาคัดค้านเรื่องกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน พื้นที่แห่งบริเวณป่าชุมชนบ้านไทรใหญ่ปัจจุบันจึงตกเป็นของเอกชนมากกว่าครึ่ง เหตุการณ์ดังที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นการสูญเสียทุนทางทรัพยากรธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่ของชาวชุมชนบ้านไทรใหญ่

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ขจร รักษ์พรหมณ์ และคณะ. (2553). แนวทางการฟื้นฟู อนุรักษ์คลองท่าฉางโดยชุมชนบ้านไทรใหญ่ หมู่ที่ 6 ตำบลเขาถ่าน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.