Advance search

ศาลาแดงเหนือ

เภี่ยปราน

ชุมชนชาวมอญที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ภายในหมู่บ้านมีบ้านเรือนไม้ชาวมอญที่ปลูกเรียงกันอย่างโดดเด่น มีวัดศาลาแดงเหนือที่มีสถาปัตยกรรมรูปแบบผสมผสานหลายเชื้อชาติสวยงามหลายจุด นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบชาวมอญให้ผู้คนภายนอกได้ศึกษาและเรียนรู้ กล่าวได้ว่าชุมชนศาลาแดงเหนือถือเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมแบบมอญที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี

หมู่ 2
ศาลาแดง
เชียงรากน้อย
สามโคก
ปทุมธานี
วีรวรรณ สาคร
18 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
วีรวรรณ สาคร
29 เม.ย. 2023
ศาลาแดงเหนือ
เภี่ยปราน

ชุมชนศาลาแดงเหนือ แต่เดิมภาษามอญตั้งตามชื่อของชุมชนเดิมของชาวมอญในเมืองเมาะตะมะ ที่ชื่อว่า "เภี่ยปราน" หมายถึง ชุมชนไม้แดง ต่อมาสันนิษฐานว่าหน่วยงานราชการไทยไม่สามารถถอดเสียงภาษามอญเป็นอักษรไทย จึงตั้งตามสิ่งที่มีในชุมชน คือ ศาลาริมน้ำบริเวณวัดในชุมชน ทำให้เมื่อเรียกเป็นภาษาไทยจึงชื่อว่า ชุมชนศาลาแดงเหนือ หรืออีกข้อสันนิษฐานคือวัดศาลาแดงเหนือนี้อาจเป็นชื่อที่มีมาแต่เดิมเพราะในอดีตเคยมีวัดศาลาแดงใต้อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงใต้คลองเชียงรากใหญ่


ชุมชนชาวมอญที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ภายในหมู่บ้านมีบ้านเรือนไม้ชาวมอญที่ปลูกเรียงกันอย่างโดดเด่น มีวัดศาลาแดงเหนือที่มีสถาปัตยกรรมรูปแบบผสมผสานหลายเชื้อชาติสวยงามหลายจุด นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบชาวมอญให้ผู้คนภายนอกได้ศึกษาและเรียนรู้ กล่าวได้ว่าชุมชนศาลาแดงเหนือถือเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมแบบมอญที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี

ศาลาแดง
หมู่ 2
เชียงรากน้อย
สามโคก
ปทุมธานี
12160
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-9423-1787, อบต.เชียงราก โทร. 0-2593-7042
14.094715058185251
100.54488765824863
องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากน้อย

ชุมชนศาลาแดงเหนือ มีประชากรอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ร้อยละ 90% เป็นชาติพันธุ์ชาวมอญ โดยการเข้ามาของชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะมาสู่ในประเทศไทยพบว่ามีการเข้ามาเป็นระยะหลายครั้ง ซึ่งครั้งที่สำคัญมากสุดคือในช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2 ) โดยสาเหตุการอพยพของชาวมอญมาจากการถูกกดขี่ข่มเหงและการเบียดเบียน รวมถึงถูกทารุณจากชาวพม่าที่ปกครอง อีกทั้งขณะนั้นพระเจ้าปดุงได้เกณฑ์แรงงานคนมอญและเมืองประเทศราชให้ไปสร้างพระมหาธาตุที่เมืองเมกุน ผู้คนมอญจึงเดือดร้อนอย่างมากเพราะไม่มีเวลาประกอบอาชีพ การถูกกดขี่อย่างหนักได้ทำให้ในปี พ.ศ. 2358 ชาวมอญรวมตัวกันก่อกบฏที่เมืองเมาะตะมะและจับพม่าที่ข่มเหงฆ่า จากนั้นจึงพากันอพยพเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากโดยเข้ามาหลายทาง เช่น มาทางเมืองตาก เมืองอุทัยธานี ทางด่านเจดีย์สามองค์และทางแขวงเมืองกาญจนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อพระองค์ทรงทราบก็จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปรับครอบครัวมอญจากที่ต่าง ๆ แล้วให้ไปตั้งบ้านเรือนในแขวงปทุมธานี เมืองนนทบุรี เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) โดยมีการแต่งตั้งสมิงสอดเบา (ผู้นำการอพยพ) เป็นพระยารัตนจักรทำหน้าที่ควบคุมดูแลชาวมอญเหล่านี้

จากการอพยพมาของชาวมอญในช่วงเวลานี้ทำให้มีชาวมอญมาตั้งรกรากที่ปทุมธานี โดยเฉพาะพื้นที่ต่าง ๆ ในบริเวณอำเภอสามโคก ซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวมอญส่วนหนึ่งได้ตั้งชุมชนขึ้นบริเวณนี้ มีการสร้างบ้านเป็นบ้านทรงไทยที่มีใต้ถุนสูงทั้งชุมชนและมีการสร้างวัดขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ทั้งนี้ชาวชุมชนได้ตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อเดิมตามชื่อที่เมืองมอญ (ชุมชนเดิมชื่อว่า เภี่ยปราน เมืองเมาะตะมะ) เพื่อเป็นการรําลึกถึงหมูบ้านเก่าว่า “เภี่ยปราน” ที่มีความหมายว่า “หมู่บ้านไม้แดง” ทั้งนี้การเรียกชุมชนเป็นภาษาไทยว่าศาลาแดงเหนือ พบว่ามีข้อสันนิษฐาน 2 ประการ ประการแรกคือหน่วยงานราชการไทยไม่สามารถถอดเสียงภาษามอญเป็นอักษรไทยได้จึงนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน คือ ศาลาริมน้ำหน้าวัดมาตั้งชื่อผสมกับคำแปลมอญอย่างไม้แดงหรืออีกข้อสันนิษฐานคือในอดีตเคยมีวัดศาลาแดงใต้ (ปัจจุบันถูกยุบไปแล้ว) อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงใต้คลองเชียงรากใหญ่เหนือวัดเกรินดังนั้นเมื่อสร้างวัดจึงเปลี่ยนเป็นฝั่งเหนือแทน

ทั้งนี้ภายในชุมชนเมื่อชาวมอญก่อตั้งชุมชนหมู่บ้านศาลาแดงแล้ว ได้แบ่งพื้นที่เป็น 4 เขต และตั้งชื่อตามภาษามอญ โดย 1) อุมจ้างเภีย แปลว่า คุ้มข้างวัด 2) อุมเกาะฮะนัด แปลว่า คุ้มเกาะสับปะรด 3) อุมตา แปลว่า คุ้มต้นตาล และ 4) อุมกะเตอ แปลว่า คุ้มกะเตอ แต่ปัจจุบันเขตอุมเกาะฮะนัดได้หายไปแล้ว จึงเหลือเขตในหมู่บ้านศาลาแดงเหนือเพียงแค่ 3 เขตเท่านั้น ทั้งนี้คนในหมู่บ้านยังมีการแบ่งโซนตามลักษณะที่อยู่อาศัย สามารถแบ่งได้เป็น 3 เขต คือ เขตวัด เขตบ้านเก่า เขตบ้านที่อยู่ติดกับริมน้ำ 

หลังการสร้างชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือ ชาวมอญที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมภายในชุมชนหลายประการ เช่น วัฒนธรรมการดำเนินชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมด้านภาษา วัฒนธรรมด้านศาสนาของชาวมอญ วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ดีเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศเข้ามาสู่ชุมชนได้ทำให้การดำรงวัฒนธรรมของชาวมอญในชุมชนขาดหายไป คนรุ่นใหม่เริ่มทิ้งวัฒนธรรมที่มีมาแล้วรับวัฒนธรรมภายนอก เกิดการกลืนวัฒนธรรมของคนในชุมชน ทั้งนี้แม้วัฒนธรรมมอญจะหายไปแต่ก็ยังมีกลุ่มคนในชุมชนสามารถรักษาวัฒนธรรมไว้ได้ กลุ่มนั้นคือผู้สูงอายุที่มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและบรรพบุรุษ ทำให้ยังคงรักษาประเพณีที่มีมาของชุมชน ทั้งนี้วัฒนธรรมชาวมอญในชุมชนศาลาแดงเหนือเริ่มฟื้นฟูอีกครั้งเมื่อได้รับการสนับสนุนจากการก่อตั้งสมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญจังหวัดปทุมธานี ซึ่งรวมตัวจากชาวมอญผู้ซึ่งรักและหวงแหนวัฒนธรรมมอญ การก่อตั้งสมาพันธ์นี้รวมถึงการร่วมมือของภาครัฐ  ภาคเอกชน และชาวชุมชนที่ยังหวงแหนวัฒนธรรมได้ทำให้วัฒนธรรมมอญในพื้นที่ชุมชนศาลาแดงถูกฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง วัฒนธรรมชาวมอญที่เคยจางหายลงถูกปลุกขึ้นมา คนรุ่นใหม่กลับมาเรียนรู้สืบทอดวัฒนธรรมชาวมอญในชุมชน ทำให้วัฒนธรรมชาวมอญในชุมชนศาลาแดงเหนือสามารถดำรงอยู่ได้ในปัจจุบัน การฟื้นฟูวัฒนธรรมของชุมชนศาลาแดงเหนือ ทำให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชาวมอญและแหล่งท่องเที่ยวมอญแห่งหนึ่งในปทุมธานี

ชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือ ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นชุมชนของคนเชื้อสายมอญ มีเนื้อที่ประมาณ 1,340 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 200 ไร่ พื้นที่การเกษตร 1,085 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 45 ไร่ ชุมชนนี้อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากน้อย ชุมชนนี้อยู่เยื้องกับองค์การบริหารส่วนตําบล ห่างจากที่ว่าการอําเภอสามโคกประมาณ 16 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที ทั้งนี้การเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านนี้สามารถเดินทางได้ 2 วิธี

  • การเดินทางทางบก หมู่บ้านศาลาแดงเหนืออยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามโคก ประมาณ 16 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยประมาณ 40 นาที ซึ่งหมู่บ้านศาลาแดงเหนือตั้งอยู่ริมทางหลวง หมายเลข 3309 สายศูนย์ศิลปาชีพปาไทร - อำเภอเมืองปทุมธานี สามารถเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 347 สายอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสามารถขึ้นรถประจำทางสายปทุมธานี – เชียงรากน้อยเข้าในหมู่บ้านได้
  • การเดินทางทางน้ำ เนื่องจากหมู่บ้านศาลาแดงเหนือเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงสามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าวัดสุราษฎร์รังสรรค์หรือวัดดอน อำเภอสามโคก มาขึ้นที่ท่าวัดศาลา แดงเหนือได้ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาที

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่บ้านวัดพลับ
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่บ้านสมัคร
  • ทิศตะวันออก ติดกับ เขตบ้านงิ้ว
  • ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำเจ้าพระยา

หมู่บ้านศาลาแดงเหนือมีบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ราบลุ่มใหญ่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาในทางทิศตะวันตก ทำให้พื้นดินเหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งสภาพดินเป็นดินเหนียวปนทราย ซึ่งเมื่อนําไปเผาแล้วจะมีคุณภาพแข็งแกร่งและทนทาน จึงมีคุณลักษณะเหมาะนําไปทำเครื่องปั้นดินเผาและอิฐเกิดเป็นอุตสาหกรรมในท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้การตั้งบ้านเรือนของคนในชุมชนจะกระจุกตัวหนาแน่นบริเวณศูนย์กลางของชุมชน นอกจากนี้ยังมีการกระจุกตัวบริเวณที่มีถนนเข้าถึงสะดวก ทั้งนี้ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนศาลาแดงเหนือมักมีการสร้างบ้านลักษณะยาวตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากบริเวณวัดศาลาแดงเหนือขยายต่อเนื่องกันไปเป็นแนวยาวจรดคลองโคกตาเขียว

พื้นที่ชุมชนวัดศาลาแดงเหนือจากการสำรวจข้อมูลประชากร เป็นหมู่บ้านเชื้อสายชาวมอญ 90% ของพื้นที่ ที่มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 323 คน แบ่งเป็นชาย 151 คนและหญิง 172 คน และมีจำนวนครัวเรือน 136 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักดั้งเดิมคือ การทำนา ทำเครื่องปั้นดินเผา เผาอิฐมอญและการค้าขายทางเรือ แต่ทั้งนี้เนื่องด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ชาวบ้านศาลาแดงเหนือเลิกประกอบอาชีพการค้าขายทางเรือ ในปัจจุบันชาวบ้านศาลาแดงเหนือจึงมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เช่น รับราชการ ค้าขาย เกษตรกร รับจ้างและโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพพนักงานบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปในชุมชนมักเป็นกลุ่มที่ธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมอญมากที่สุดเพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมโดยตรงจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองมอญทำให้ผูกพันมากกว่าเด็กยุคหลัง

มอญ

กลุ่มที่เป็นทางการ

1. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกลุ่มเพื่อการผลิตบ้านศาลาแดงเหนือ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2531 ได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนในชุมชนรู้จักการออมมีความประหยัด เมื่อมีการออมเกิดขึ้นในชุมชนก็จะมีกองทุนที่รวบรวมเงินดังกล่าวไว้เป็นแหล่งเงินทุนของคนในชุมชน สามารถกู้ยืมไปใช้ในการประกอบอาชีพและเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้รวมทั้งเมื่อมีดอกผลจากการออมสามารถปันผลให้แก่สมาชิกและจัดสวัสดิการ จัดกิจกรรมในชุมชนได้ โดยการบริหารของกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนศาลาแดงเหนือ บริหารงานโดยคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 254 คน โดยเงินทุนของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านศาลาแดงเหนือ เช่น เงินสัจจะสะสม โดยสมาชิกมีหน้าที่ในการส่งเงินสัจจะสะสมประจําทุกเดือน ตามกําลังความสามารถของตนเองได้ไม่เกินเดือนละ 500 บาท และส่งเงินในจํานวนเท่ากันทุกเดือนจนครบปีบัญชี หากอยากเพิ่มวงเงินต้องส่งเพิ่มใหม่เดือนแรกในรอบบัญชีหน้า นอกจากนี้ยังมีเงินสัจจะสะสมพิเศษ ซึ่งเป็นเงินรับฝากจากสมาชิกที่มีเงินเหลือต้องการที่จะฝากเงินไว้กับกลุ่ม ซึ่งสามารถถอนเงินออกไปใช้จ่ายเมื่อจําเป็นและกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามระเบียบของกลุ่ม กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งช่วยจัดการออมของชาวบ้านได้

2. กลุ่มประปาหมู่บ้านศาลาแดงเหนือ ก่อตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2535 โดยแต่เดิมชาวบ้านในชุมชนไม่มีน้ำประปาใช้ในหมู่บ้าน โดยจะใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในการอุปโภคบริโภค จนเมื่อต่อมาใน พ.ศ.  2540 กรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อจัดทําระบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งบ้านศาลาแดงเหนือใช้รูปแบบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาชนบท พ.ศ. 2535 ที่ให้ประชาชนเป็นคณะกรรมการบริหารกิจการประปา และดำเนินการบริหารเองทั้งหมดทำให้เกิดการรวมตัวกัน ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่เป็นประทานคณะกรรมการ และมีชาวบ้านเป็นคณะกรรมการจำนวน 15 คน ทำหน้าที่ เช่น การบัญชีการบริหารจัดการการเงิน การซ่อมบํารุง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการรายงานเกี่ยวกับการบริหารกิจการประปาให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากน้อยทุกเดือน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

1. กลุ่มสตรีบ้านศาลาแดงเหนือ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นกลุ่มการรวมตัวของสตรีและผู้สูงอายุบ้านศาลาแดงเหนือในการร่วมผลิตหมี่กรอบและหางหงส์ โดยสมาชิกกลุ่มมีประมาณ 16 คน โดยในการผลิตหมี่กรอบของกลุ่มสตรีบ้านศาลาแดงเหนือ เริ่มต้นจากการศึกษาวิธีทำหมี่กรอบจากชาวบ้านในชุมชนที่นําหมี่กรอบมาร่วมทำบุญที่วัดศาลาแดงเหนือ จากนั้นคิดค้นสูตรและผลิตเพื่อจำหน่ายในชุมชนและจัดเลี้ยงในกิจกรรมต่าง ๆ โดยฐานลูกค้ามาจากนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวที่บ้านศาลาแดงเหนือ ส่วนหางหงส์กลุ่มสตรีบ้านศาลาแดงเหนือได้เรียนรู้วิธีการประดิษฐ์หางหงส์จากวัดจันทน์กะพ้อ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีมอญที่สำคัญเมื่อเรียนรู้จึงรวมตัวกันผลิตหางหงส์ขึ้น ช่วงแรกใช้ในประเพณีการแห่หางหงส์ต่อมาได้รับสั่งทำและจําหน่ายหางหงส์เพื่อใช้ในพิธีแห่หางหงส์และใช้ประดับบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลรวมถึงทำเป็นของที่ระลึกอีกด้วย ทั้งนี้นอกจากเป็นกลุ่มที่รวมตัวเพื่อจำหน่ายสินค้าแล้วยังเป็นกลุ่มที่ถ่ายทอดอนุรักษ์และเผยแพร่การประดิษฐ์หางหงส์หรือธงตะขาบแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจอีกด้วย

2. กลุ่มทำสไบมอญ เป็นกลุ่มของหญิงชาวมอญในชุมชนศาลาแดงเหนือ โดยเป็นกลุ่มที่ทำสไบมอญซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญ โดยแต่เดิมกลุ่มสไบมอญจะทำการถักสไบเป็นรูปลายกุหลาบและข้าวหลามตัด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนมอญศาลาแดงเหนือแต่ต่อมาสภาวัฒนธรรมจังหวัดได้สนับสนุนให้คนมอญวัดบางหลวงมาสอนปักสไบมอญในรูปแบบสไบมอญน้ำเค็ม จังหวัดสมุทรสาคร คือปักเป็นลายดาวล้อมเดือนและดอกไม้ทั่วไป ในภายหลังกลุ่มสไบมอญบ้านศาลาแดงเหนือจึงนิยมทำการปักสไบมอญแบบมอญน้ำเค็มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์สไบที่ทำได้ของกลุ่มจะนำมารวมกันและขายในงานกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ

3. กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นกลุ่มที่ร่วมกันของคนในชุมชนศาลาแดงเหนือเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาให้คนในชุมชนมีน้ำสะอาดไว้สำหรับอุปโภค รวมไปถึงมีสุขอนามัยที่ดีซึ่งนําไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้คนในหมู่บ้านจะพยายามรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งสิ่งปฎิกูลลงแม่น้ำลำคลอง ชาวบ้านจะสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียหรือบ่อไขมันไว้ใช้ในครัวเรือน ซึ่งผู้ที่ริเริ่มทำ คือ นายอ๊อด ดอกพิกุล โดยบ่อดักไขมันนั้นจะทำไว้ใต้ถุนบ้านหรือบริเวณบ้านแล้วทำท่อรับน้ำจากครัว ไขมันจากการทําอาหารและเศษอาหารที่ถูกทิ้งจะลงมาที่บ่อดักไขมัน เศษอาหารและไขมันจะถูกดักกรองไว้ส่วนน้ำจะผ่านการกรองจากบ่อดักไขมัน ซึ่งมีการกรองหลายขั้นตอนก่อนจะเป็นน้ำดีในระดับหนึ่งจากนั้นจึงปล่อยไหลซึมลงดิน การคิดค้นนี้ถือเป็นภูมิปัญญาหนึ่งของคนในชุมชนทำให้ได้รับรางวัลมากมาย เช่น พ.ศ. 2541 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาดีเด่นกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2544 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณชุมชนที่รักษาแม่น้ำดีเด่น เป็นต้น

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีวันสงกรานต์ ภาษามอญเรียกว่า "กะต๊ะ" ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนกับไทย โดยสงกรานต์ของมอญจะจัดขึ้น 3 วัน ได้แก่ วันที่ 13 จนถึงวันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี โดยแต่ละวันจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป คือ วันที่ 13 เมษายน ชาวมอญเรียก “กะต๊ะจิ๊” แปลเป็นไทยว่าวันสุดท้ายของปีเก่า วันที่ 14 เมษายน ชาวมอญเรียก “กร๊าบนาม” แปลเป็นไทยว่าวันสิ้นปีเก่าและย่างเข้าปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายน ชาวมอญเรียก “กะต๊ะตอน” แปลเป็นไทยว่าวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ทั้งนี้ธรรมเนียมปฏิบัติของประเพณีสงกรานต์คือจะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าของวันสงกรานต์แต่ละครอบครัวจะนำข้าวแช่ถวายแก่พระสงฆ์ที่วัดศาลาแดงเหนือต่อมาจะเป็นการส่งข้าวแช่ให้กับญาติผู้ใหญ่ทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านเพื่อขอพรเป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้ให้และครอบครัว หลังเสร็จสิ้นพิธีส่งข้าวแช่และพิธีกรรมทางศาสนาทุกคนในหมู่บ้านจะเชิญกันมารับประทานข้าวแช่และมีกิจกรรมสนุกสนาน
  • ประเพณีแห่หางหงส์ จะทำในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ ชาวมอญจะมีการทำธงตะขาบและแห่หางหงส์ธงตะขาบจากท้ายหมู่บ้านแล้วเวียนรอบเจดีย์ที่วัด 3 รอบก่อนจะชักขึ้นสู่ยอดเสาเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า การถวายหางหงส์ธงตะขาบจะทำพิธีบริเวณเสาหงส์หน้าเจดีย์ เสาหงส์ที่วัดศาลาแดงเหนือชาวมอญเรียกเสาหงส์ว่า “เที่ยะหย่างโหน่”
  • การสรงน้ำพระ การสรงน้ำพระของชาวมอญอาจจะแตกต่างจากที่อื่น ๆ เรียกว่าการสรงน้ำรางคือการสร้างห้องสรงน้ำที่มีที่ปิดมิดชิดและมีรางน้ำยาวจากด้านนอกสู่ด้านในห้องเพื่อความสะดวกในการชำระร่างกายของพระสงฆ์ รวมทั้งเป็นการป้องกันสตรีไม่ให้ถูกต้องกายพระสงฆ์โดยมิตั้งใจ การสรงน้ำรางนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่พบเห็นได้ตามหมู่บ้านมอญทั่วไป ในปัจจุบันที่ชุมชนมอญศาลาแดงเหนือยังคงมีพิธีสรงน้ำพระอยู่เหมือนเช่นทุกปี
  • การทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ ชาวมอญมีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษเรียกว่า “แจ่กซอยจุ่ด” ซึ่งคือการทำพิธีบังสุกุลให้กับญาติมิตรและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยที่หมู่บ้านศาลาแดงเหนือจะมีการเก็บอัฐิของผู้ล่วงลับไว้ที่เดียวกันเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในหมู่บ้าน ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ในวันสงกรานต์ปัจจุบันได้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายนวันเดียว
  • ประเพณีแข่งลูกหนู ประเพณีดังกล่าวจะมีเนื่องในโอกาสงานฌาปนกิจศพของพระสงฆ์ชาวมอญ ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นการละเล่นเพื่อความรื่นเริงในงานฌาปนกิจของพระเถระและการละเล่นของชาวมอญ โดยประเพณีนี้เริ่มจากการทำตัวลูกหนูเขาทำด้วยลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ยาวประมาณสองปล้องครึ่งหรือบางทีก็ทำด้วยไม้เนื้อแข็งกลึงเป็นรูปทรงกระบอกเจาะข้างในให้กลวงข้างในกระบอกอัดดินปืนเข้าไปให้แน่น แล้วอุดหัวอุดท้ายด้วยดินเหนียวและเจาะรูตรงกลางให้พอดีสำหรับติดสายชนวน เมื่อจุดไฟยความแรงของดินระเบิดมันจะขับดันตัวกระบอกลูกหนูให้วิ่งไปข้างหน้าตามลวดสลิงที่ขึงไว้ตัวลูกหนูเขาผูกติดไว้กับลวดสลิง เมื่อลูกหนูวิ่งไปสุดลวดสลิงมันจะพุ่งเข้าชนปราสาท ซึ่งตั้งอยู่ห่างประมาณ 400 เมตร
  • บุญสลากภัต คือ ชาวบ้านจะจัดเตรียมสำรับภัตตาหารเพลและตะกร้าผลไม้มารวมกันที่โรงครัวของวัด โดยทั้งเจ้าของสำรับและพระ-เณรต่างจะจับสลากหมายเลขขึ้นมาหนึ่งหมายเลข แล้วนำสิ่งของไปถวายให้พระ-เณรที่มีหมายเลขตรงกัน ส่วนใหญ่ก็จะจัดทำสำรับอาหารมอญมาถวายพระสงฆ์ที่วัดเอง โดยมีการจับสลากหมายเลขแล้วนั่งรวมกันบนหอฉันตามหมายเลขที่จับได้ การทำบุญนี้ได้บุญมากเพราะไม่เลือกว่าจะทำบุญกับพระหรือเณรรูปใด
  • ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง จัดขึ้นช่วง 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีที่นำข้าวต้มมัดและน้้าผึ้งมาทำบุญถวายแก่พระสงฆ์เหตุที่ต้องเป็นน้ำผึ้งเพราะน้ำผึ้งสามารถเป็นได้ทั้งอาหารและยารักษาโรคได้ด้วย 
  • ประเพณีทำบุญวันสาทร จัดในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในภาษามอญเรียกว่า เซาะฮ์ปะวา(วันปรารณาออกพรรษา) การปฏิบัติเหมือนกับการทำบุญทั่วไปแต่ในวันนั้นจะมีการถวายขนมกระยาสารทเป็นส่วนมากกว่าขนมชนิดอื่นๆหลังจากที่ถวายอาหารทั้งคาวและหวานแด่พระสงฆ์เรียบร้อยแล้วชาวบ้านจะนำขนมกระสาทที่ตนทำมาแลกเปลี่ยนกันเหมือนเป็นการปันน้ำใจในแก่กัน โดยชาวมอญมีความเชื่อว่าถ้าใครไม่ทำบุญวันสาทรจะถือว่าคนนั้นขาดความกตัญญู

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

1. วัดศาลาแดงเหนือ เป็นศาสนสถานที่สำคัญอย่างมากในชุมชนเป็นวัดสังกัดคณะพระสงฆ์รามัญธรรมยุต สร้างขึ้นมาพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของชุมชนประมาณช่วงรัชกาลที่ 2 วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์รวมวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวบ้าน ในวัดศาลาแดงเหนือได้มีสถานที่สวยงาม เช่น ศาลาการเปรียญที่มีศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ มีหน้าบันไม้ฉลุลวดลายสวยงาม นอกจากนี้มีวิหารหลวงปู่บุนนาคเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะ และภาพถ่ายของพระอาจารย์บุนนาค ปทุโม เจ้าอาวาสรูปที่ 4 ของวัดศาลาแดงเหนือ ซึ่งท่านมีความสำคัญอย่างมากคนหนึ่งของวัดแห่งนี้ ในวัดยังมีหอพระไตรปิฎกซึ่งเอาไว้เก็บพระไตรปิฎกที่ใช้สอนหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากหลายเชื้อชาติคือจีน มอญและตะวันตก ในส่วนของกุฏิสงฆ์ทรงปั้นหยาเป็นกุฏิของหลวงปู่บุนนาคตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สวยงาม ทั้งนี้วัดแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมอญในหมู่บ้านต่างใช้ในการดำเนินวิถีชีวิตและประเพณี เมื่อถึงประเพณีสำคัญของชาวมอญชาวบ้านจะใช้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม

2. บ้านเรือนมอญ ในชุมชนศาลาแดงเหนือมีการตั้งบ้านเรือนที่โดดเด่นอยู่ติดริมน้ำเจ้าพระยา บ้านเรือนมอญถูกสร้างขึ้นให้เหมาะสมกับที่ตั้งมีลักษณะคล้ายกับเรือนไทยริมน้ำ โดยลักษณะของเรือนมอญจะเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงเพื่อให้พ้นจากน้ำท่วมถึงเมื่อน้ำหลากมาและใช้พื้นที่ในการเก็บเครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้เนื่องด้วยสภาพอากาศเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อนการทำใต้ถุนสูง จึงทำให้ระบายอากาศได้ดี ในส่วนหลังคาจะเป็นหลังคาทรงสูงโดยจะมุงหลังคาด้วยวัสดุธรรมชาติจะมีชานกว้างเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ปัจจุบันภายในหมู่บ้านศาลาแดงเหนือพบว่ายังคงมีบ้านเรือนมอญเก่าแก่ดั่งเดิมอายุ 150 ปี ที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง โดยเรือนหลังนี้ยังคงมีคนอาศัยอยู่

3. การแต่งกาย การแต่งกายของคนมอญในชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือมีการแต่งตัวเป็นเอกลักษณ์เดียวกับชาวมอญทั่วไปในเมืองปทุมธานี คือ ผู้ชายนิยมแต่งใส่เสื้อคอกลมผ่าอก แขวนทรงกระบอก และนุ่งโสร่ง ส่วนผู้หญิงนิยมใส่เสื้อตัวในเป็นคอกลม แขนกุด สั้นแค่เอว และสวมทับด้วยเสื้อลูกไม้แขนยาวทรงกระบอก หากยังไม่แต่งงานแขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ หากแต่งงานแล้วแขนเสื้อจะเป็นสามส่วนและสวมผ้าซิ่นและทั้งหญิงและชาย ทั้งแต่งงานและไม่แต่งงานต่างล้วนห่มสไบทั้งหมด การแต่งกายของชาวมอญนี้นิยมแต่งในวันที่มีพิธีทางศาสนาหรือประเพณีที่สำคัญ

ทุนทางกายภาพ

ชุมชนศาลาแดงเหนือถือเป็นชุมชนที่ลักษณะทางกายภาพอยู่ในพื้นที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยพื้นที่ดินและแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ทําให้ประชาชนในหมู่บ้านสามารถพึ่งทรัพยากรดํารงชีพได้ เช่น แหล่งน้ำพื้นที่นี้อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาทำให้พื้นที่นี้มีปลา มีกุ้ง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ก็จะจับปลาและกุ้งมาประกอบอาหารในครัวเรือน นอกจากนี้ยังแบ่งขายสร้างรายได้ส่วนหนึ่งนำมาสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือเป็นผลผลิตของวิสาหกิจชุมชน เช่น การทำกะปิ ปลาร้า เป็นต้น นอกจากนี้การที่พื้นชุมชนมีแม่น้ำผ่านยังทำให้พื้นที่ดินของชุมชนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์สภาพดินดีเหมาะที่จะทำการเพาะปลูกทำให้ในพื้นที่มีการเพาะปลูกพื้นผักต่างๆ

ทุนมนุษย์

ภายในชุมชนศาลาแดงเหนือมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญส่งผลให้ชุมชนสามารถพื้นวัฒนธรรมกลับขึ้นมาได้คือบุคคลในชุมชน พบว่าชุมชนมีผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ ทั้งในด้านศาสนา พิธีกรรม วัฒนธรรม รวมถึงการประกอบอาชีพ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักเป็นผู้สูงอายุในชุมชนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ทั้งผู้นำชุมชนยังเป็นผู้ที่สามารถรวมกลุ่มของสมาชิกชุมชนและสร้างความเข้มแข็งจนพัฒนาสิ่งต่างๆได้ ดังนั้นทุนมนุษย์ในพื้นที่สำคัญกับการฟื้นฟูวัฒนธรรมเพราะเมื่อมีการฟื้นฟูจากการรวมกลุ่มสมาพันธ์เชื้อสายรามัญ มีการช่วยของภาครัฐและเอกชน สิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อต้องฟื้นฟูวัฒนธรรมให้สำเร็จในชุมชนก็คือผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรม ซึ่งในชุมชนศาลาแดงเหนือพร้อมต่อการฟื้นฟูเนื่องจากมีผู้มีความสามารถและมีความรู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในชุมชน ผู้สูงอายุความสามารถและเป็นผู้ที่สืบทอดองค์ความรู้จากบรรพบุรุษอพยพจากมอญโดยตรง กลุ่มคนเหล่านี้จะถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้สืบทอดวัฒนธรรมได้ ยิ่งเมื่อมารวมกับผู้นำที่มีความสามารถของชุมชนสามารถรวมคนในชุมชนให้ทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ทั้งหมดทำให้วัฒนธรรมของชุมชนอันเนื่องมาจากส่วนช่วยของทุนมนุษย์จึงฟื้นกลับมาอีกครั้ง

ภาษามอญ

ภาษามอญ จัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลมอญ-เขมรหรือเรียกว่าภาษาในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกที่พูดโดยชาวมอญที่อาศัยอยู่ในพม่าและไทย ซึ่งพบว่าในชุมชนศาลาแดงเหนือยังคงมีการใช้ภาษามอญอยู่แต่เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่เขียนภาษามอญได้จะมีเพียงแต่ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ชายที่เคยบวชเรียนเท่านั้น โดยภาษามอญในอดีตจะมีการเรียนการสอนที่วัดศาลาแดงเหนือ อย่างไรก็ดีเมื่อการเรียนการสอนแบบใหม่เข้ามาทำให้คนรุ่นใหม่รับการศึกษาที่โรงเรียนส่งผลให้ในปัจจุบันภาษามอญถูกลดบทบาทลง คนรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยเป็นส่วนมากในการสื่อสารทั้งพูดและเขียนภาษามอญจึงค่อยๆหายไปในชุมชน


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนพบว่าปรากฏเห็นได้ชัดในด้านวัฒนธรรม ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้ 

การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การฟื้นฟูวัฒนธรรมในชุมชน ชุมชนศาลาแดงเหนือเริ่มพบความซบเซาลงหลังการเจริญขึ้นของความทันสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสังคมอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงภาครัฐเริ่มใช้นโยบายรัฐชาติสร้างความเป็นไทย ยิ่งประกอบกับการที่การศึกษาแบบสมัยใหม่เข้ามาในชุมชน ส่งผลทำให้ภาษาและวัฒนธรรมแบบคนมอญถูกลดบทบาทไปเป็นแบบไทยจนเข้าสู่วัฒนธรรมชาวมอญจางหายไปในชุมชน กล่าวคือชุมชนศาลาแดงเหนือในอดีตชาวชุมชนสามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์มอญเอาไว้ได้เพราะการรวมกลุ่มยังค่อนข้างโดดเดี่ยวจากสังคมภายนอก การพัฒนาคมนาคมยังไม่สามารถเชื่อมสังคมอื่นมาสู่ชุมชนได้ทำให้การรักษาวัฒนธรรมยังดำรงไว้ได้ แต่ต่อมาเมื่อภาครัฐมีการพัฒนาคมนาคมขึ้นมาทำให้วัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนจึงเริ่มถูกกลืนกลายด้วยสังคมสมัยใหม่ที่เข้ามาเพราะด้วยพื้นที่ชุมชนอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจังหวัดปริมณฑลที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางความเจริญของกรุงเทพฯ พื้นที่นี้จึงเริ่มติดต่อกับสังคมภายนอกรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาทำให้สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมือง คนรุ่นใหม่หันหลังให้กับวัฒนธรรมเดิมของตน ยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับการที่ภาครัฐใช้นโยบายรัฐชาติเสริมสร้างความเป็นไทยและความเป็นหนึ่งเดียวของชาติและพยายามกีดกันความเป็นอื่น ได้ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบชาวมอญถูกกลืนกลายและถูกแทนที่ด้วยความเป็นไทยแทน ทั้งนี้การศึกษาระบบแผนการศึกษาแบบใหม่ก็ยังทำให้วัฒนธรรมมอญถูกลดอย่างรวดเร็ว ภาษามอญถูกลดความสำคัญและบทบาทลงเพราะการศึกษาที่โรงเรียนจะเป็นระบบภาษาไทยทำให้การสื่อสารและการเขียนจึงต้องเป็นภาษาไทย อีกทั้งการที่มีโรงเรียนเกิดขึ้นมาวัดที่เคยเป็นสถานที่สอนภาษามอญรวมถึงสอนวัฒนธรรมมอญก็ถูกลดความสำคัญไปด้วย เด็กรุ่นใหม่จึงเรียนรู้หรือสื่อสารภาษามอญไม่ได้ ความผูกพันธ์กับความเป็นมอญลดน้อยลงแทนที่ด้วยความเป็นไทย ทั้งนี้การที่เศรษฐกิจภายในสังคมเปลี่ยนก็เป็นส่วนผลักดันให้ผู้คนรุ่นใหม่เมื่อมีความรู้ก็จะไปประกอบอาชีพที่อื่นแทนการดำรงชีพแบบวิถีชีวิตเดิมอย่างการค้าขายหรือทำเกษตรกรรม มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานทั้งประกอบอาชีพรับราชการ ทำงานในภาคธุรกิจเอกชน การทำงานด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น การสืบทอดทางวัฒนธรรมจึงไม่มีผู้สืบทอด ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลานี้จึงเกิดระบบความคิดแปรเปลี่ยน วัฒนธรรมถูกกลืนกลายและเกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับความเชื่อของชุมชนและวัฒนธรรม ประเพณี ทำให้ไม่มีการสืบทอดวัฒนธรรมขาดช่วง วัฒนธรรมจึงซบเซาลงพร้อมๆกับการเจริญของกระแสโลกาภิวัตน์

อย่างไรก็ดียังมีคนส่วนหนึ่งที่ยังคงหวงแหนวัฒนธรรมเดิมของชุมชนของตน คนเหล่านี้คือกลุ่มเหล่าผู้สูงอายุที่สืบทอดความเป็นมอญมาจากบรรพบุรุษชาวมอญที่อพยพมาโดยตรง ทำให้ยังเคารพต่อบรรพบุรุษของตนและการที่คนเหล่านี้ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามากจึงยังอยากรักษาประเพณีที่แสดงความเคารพต่อพระพุทธศาสนาไว้ทำให้จึงอยากธำรงความเป็นมอญไว้มากที่สุด กลุ่มคนชาวบ้านเหล่านี้เมื่อมาประกอบเข้ากับการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการสนับสนุนจากกลุ่มสมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญที่ชาวมอญจังหวัดปทุมธานีได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อพ.ศ.2553 ทำหน้าที่ส่งเสริม อนุรักษ์ สนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญ ทำให้การฟื้นฟูวัฒนธรรมของชุมชนศาลาแดงเหนือจึงเกิดขึ้นมา โดยพบว่าทางด้านหน่วยงานภาครัฐได้มีสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมของมอญชุมชนศาลาแดงเหนือ รวมถึงสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางวัฒนธรรมของมอญศาลาแดงเหนือ ทั้งยังส่งเสริมให้คนมอญชุมชนศาลาแดงเหนือปักผ้าสไบมอญและฝึกภาษามอญ ซึ่งการส่งเสริมการปักสไบมอญทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีได้ให้คนมอญทางชุมชนวัดบางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี มาสอนสมาชิกกลุ่มถักสไบมอญชุมชนศาลาแดงเหนือในการทำสไบมอญ ซึ่งรูปแบบจะเป็นสไบมอญสีพื้นยาว 2 เมตร แล้วปักเป็นลาย เช่น ดาวล้อมเดือน หรือ ดอกไม้ทั่วไป นอกจากนี้ทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานียังร่วมส่งเสริมให้เยาวชนคนมอญศาลาแดงเหนือรู้จักและเรียนรู้ภาษามอญโดยมีการนำวิทยากรชาวมอญจากลพบุรีมาสอนการอ่านและเขียนภาษามอญให้กับเยาวชน ทั้งนี้สภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ยังร่วมกับภาคเอกชนอย่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพและธนาคารไทยพาณิชย์จ้ากัด (มหาชน) จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อสืบทอดมรดกวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งคือกิจกรรม“ห้องเรียนภูมิปัญญา” อยู่ภายใต้โครงการ “มอญซ่อนภูมิ” ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้เยาวชนในชุมชนศาลาแดงเหนือได้รู้จักภาษามอญ อาหารมอญและวัฒนธรรมมอญด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมในชุมชน นอกจากนี้สภาวัฒนธรรมจังหวัดยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชุมชนศาลาแดงเหนือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแก่บุคคลภายนอกอีกด้วย ดังที่กล่าวข้างต้นว่าภาคเอกชนมีส่วนร่วมด้วยอย่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งกล่าวว่าคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เข้ามาจัดกิจกรรมโครงการ “มอญซ่อนภูมิ” ในชุมชน โดยการจัดโครงการนี้ถือเป็นโครงการสำคัญที่ทำให้ชุมชนศาลาแดงเหนือเกิดการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชาวมอญในพื้นที่ชุมชนศาลาแดงเหนือ และเป็นการกระตุ้นความเป็นมอญของคนในชุมชนให้เกิดรู้ รักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของตนเอง อีกทั้งโครงการนี้ยังทำให้เกิดการเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมของชุมชนให้แก่ภายนอก ซึ่งจากโครงการนี้เองจึงนำมาสู่การรวมกลุ่มเยาวชนมอญศาลาแดงเหนือขึ้นในการร่วมทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ทั้งนี้ในส่วนนอกจากภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาฟื้นฟูวัฒนธรรมยังได้สมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญจังหวัดปทุมธานีเข้ามาร่วมดำเนินกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมทั้งอนุรักษ์ สนับสนุน ส่งเสริมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญในชุมชนจังหวัดปทุมธานีร่วมกับพี่น้องมอญในจังหวัดอื่นๆ สิ่งที่เห็นชัดที่เข้ามาทำในชุมชนศาลาแดงคือการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการสวดมนต์ทำวัตรเย็นภาษามอญ ซึ่งเป็นกิจวัตรสำคัญของชาวมอญในศาลาแดงที่เคยมีมาในอดีต โดยมีการจัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์ภาษามอญให้กับชาวบ้าน รวมถึงเชิญชวนชาวบ้านทั้งในชุมชนและภายนอกเข้ามาที่วัดศาลาแดงในการสวดมนต์ จึงถือว่ากลุ่มเป็นส่วนอย่างยิ่งให้เกิดการสืบสารรูปแบบวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวชุมชนศาลาแดง

โดยการสนับสนุนทั้งหมดทั้งมวลจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและกลุ่มสมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญจังหวัดปทุมธานี เมื่อมารวมกับชาวบ้านที่มีความหวงแหนพยายามอนุรักษ์ความเป็นมอญในชุมชนของตนให้ธำรงอยู่ต่อไป จึงทำให้เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมมอญในชุมชนศาลาแดงเหนือ วัฒนธรรมที่เคยจางหายไปเริ่มกลับมา อีกทั้งคนรุ่นใหม่เยาวชนก็กลับมาสนใจและสืบทอดวัฒนธรรมมากขึ้น มีการรวมกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่บ้านศาลาแดงเหนือเพื่อต้องการร่วมดำเนินและสืบทอดกิจกรรมของชุมชน

ทั้งนี้เมื่อวัฒนธรรมความเป็นมอญฟื้นตัวกลับมา ชาวชุมชนจึงพยายามนำเสนอความเป็นมอญแก่ภายนอกจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมแก่คนภายนอก ส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดรายได้แก่คนในพื้นที่เมื่อมีรายได้การอนุรักษ์ก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ในชุมชนจึงมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดศาลาแดงเหนือเพื่อนำเสนอเรื่องราวความเป็นมอญศาลาแดงเหนือของคนมอญในชุมชน เช่น ประวัติความเป็นมา ประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนเรื่องทางวัฒนธรรมทั้งภาษา อาหาร การแต่งกาย ภูมิปัญญา ฯลฯ ให้แก่คนภายนอก มีการร่วมกลุ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวมอญให้นักท่องเที่ยวได้ลองเรียนรู้ มีการรวมกลุ่มอาชีพคนมอญชุมชนศาลาแดงเหนือเพื่อผลิตสินค้าในการจัดจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าพื้นที่ชุมชนในปัจจุบันจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมมอญแห่งหนึ่งของจังหวัดปทุมธานีนั่นเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกียรติศักดิ์ จันทร์หอม. (2560). ประสิทธิผลของนโยบายหมู่บ้านศีล 5 ของหมู่บ้านศาลาแดงเหนือตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

จุรีมาศ ดีอำมาตย์. (2562). การศึกษาตำรับข้าวสงกรานต์ชาวมอญชุมชนศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, 8(2), 265-276.

จุรีมาศ ดีอำมาตย์. (2564). บทบาทของวัดศาลาแดงเหนือต่อวิถีชีวิตชุมชนไทย-มอญ บ้านศาลาแดงเหนือในอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วารสารวิวิธวรรณสาร, 5(2), 135-161.

ฐิติกาล ตาคำรุ้ง. (2559). การจัดการความรู้ชุมชน กรณีศึกษาเรื่องหมี่กรอบ ชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

ดาฬิยา เลดี. (2559). แนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของกลุ่มอาชีพ บ้านศาลาแดงเหนือ ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

นฤพนธ์ ไชยยศและคณะ. (2553). ผังแม่บทที่พักนักท่องเที่ยวบ้านศาลาแดงเหนือ ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. (รายงานการวิจัย). ปทุมธานี: สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิต.

น้ำผึ้ง พลับนิล. (2557). การธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมกับการเสริมสร้างพลังชุมชน : กรณีศึกษาสมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญ จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พัชรินทร์ ม่วงงาม. (2547). การธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมอญ : กรณีศึกษาหมู่บ้านศาลาแดงเหนือ จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

พัลลภ สุริยกุล ณ อยุธยา. (2542). เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวมอญ : ศึกษากรณีหมู่บ้านเจดีย์ทอง ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์มานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พิชามญชุ์ ก้อนทอง. (2559). การจัดสวัสดิการชุมชนโดยใช้ทุนทางสังคมของชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ ตําบลเชียงรากน้อย อําเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารและนโยบายสวัสดิการสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ภดารี กิตติวัฒนวณิช. (2556). วิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมและแนวทางการออกแบบที่เหมาะสมในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ชุมชนกรณีศึกษา: ชุมชนมอญวัดศาลาแดงเหนือ ตําบลเชียงรากน้อย อําเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

รัฐติพล เรืองแสน. (2559). รูปแบบการพัฒนาชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือ ตําบลเชียงรากน้อย. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

ศุภาพิชญ์ พรมจันทร. (2559). การจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือ ตําบลเชียงรากน้อย อําเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

สถาพร โสภาศรี. (2559). การจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ชุมชนศาลาแดงเหนือ อําเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ. (2558). มรดกทางวัฒนธรรม: การสร้างตัวตนคนมอญสามโคก จังหวัดปทุมธานี. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.