Advance search

เกาะพิทักษ์

ชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว

เกาะพิทักษ์
บางน้ำจืด
หลังสวน
ชุมพร
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
เกาะพิทักษ์

ที่มาของชื่อมีความเป็นมาที่ไม่แน่ชัด มีเพียงคำบอกเล่าที่เล่าต่อกันมาซึ่งมีหลายตำนาน

ในอดีตชาวบ้านเรียกเกาะนี้ว่า "เกาะผีทัก" ตามคำบอกเล่าของชาวประมงผู้หนึ่งซึ่งได้ออกเรือหาปลาอยูบริเวณเกาะ เมื่อมองกลับมาที่ฝั่งพบว่ามีเงาคนกำลังโบกมือเรียก แต่เมื่อชาวบ้านจอดเรือและขึ้นไปยังเกาะกลับไม่พบว่ามีใครอยู่บนเกาะต่อมามีชาวบ้านเข้าไปอาศัยอยู่จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น "เกาะพิทักษ์"

อีกตำนานหนึ่ง กล่าวว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีนโยบายในการปราบปรามโจร จึงมีโจรหนีเข้ามาอยู่ที่เกาะพิทักษ์ จากชื่อที่มาจากผีทักเนื่องมาจากตระกูลแก้วสถิตได้หนีมาที่เกาะเช่นเดียวกับครอบครัวของปู่เดช โดยมีผู้คนบนเกาะเรียกให้เข้ามาเป็นจํานวนมาก แต่เมื่อเข้ามาที่เกาะกลับมีแต่ครอบครัวของปู่เดชเท่านั้น จึงเรียกเกาะนี้ว่า "เกาะผีทัก"

กระทั่งในปี พ.ศ. 2464 เกาะผีทักประกาศให้เป็นหมู่บ้าน เมื่อประกาศเป็นหมู่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้คนที่อยู่อาศัยจึงได้เรียก “เกาะพิทักษ์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ชุมชนชนบท

ชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว

เกาะพิทักษ์
บางน้ำจืด
หลังสวน
ชุมพร
86150
อบต.บางน้ำจืด โทร. 0-7755-1466
10.05107938
99.18521538
องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำจืด

บ้านเกาะพิทักษ์ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 14 ตําบลบางน้ำจืด อําเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เกาะพิทักษ์นั้นมีความเป็นมาที่ไม่แน่ชัด มีแต่เพียงการบอกเล่าต่อจากบรรพบุรุษที่เล่าต่อกันมา ซึ่งมีหลายตํานาน ในอดีตชาวบ้านเรียกเกาะนี้ว่า "เกาะผีทัก" ตามคําบอกเล่าของชาวประมงผู้หนึ่งซึ่งได้ออกเรือหาปลาอยู่บริเวณเกาะ เมื่อมองหันมาที่ฝั่งพบว่ามีเงาคนกําลังโบกมือเรียก แต่เมื่อชาวบ้านได้จอดเรือและขึ้นไปยังเกาะกลับไม่พบว่าไม่มีใครอยู่บนเกาะ ชาวประมงและชาวบ้านจึงเรียกเกาะนี้ว่าเป็นเกาะผีทัก ต่อมามีชาวบ้านเข้าไปอาศัยอยู่จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "เกาะพิทักษ์"

และอีกหนึ่งตํานานคือ เมื่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีนโยบายให้มีการปราบโจร จึงได้มีโจรมาจากเกาะสมุยหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจเข้ามาอยู่ที่เกาะพิทักษ์ โดยมีพ่อปู่เดชเป็นคนแรกที่ได้ขึ้นมาบนเกาะ รอดพ้นคดีจึงได้นําครอบครัวมาอยู่ด้วย จากชื่อที่มาจากผีทักเนื่องมาจากตระกูลแก้วสถิตได้หนีมาที่เกาะเช่นกัน โดยมีผู้คนบนเกาะเรียกให้เข้ามาเป็นจํานวนมาก แต่เมื่อเข้ามาที่เกาะกลับมีแต่ครอบครัวของปู่เดชเท่านั้น จึงเรียกเกาะนี้ว่า "เกาะผีทัก" และหากเมื่อมีพายุในทุกครั้งชาวบ้านที่อยู่บริเวณเกาะพิทักษ์ก็จะถูกเรียกให้เข้ามาพักที่เกาะแห่งนี้ จากเพียงไม่กี่คนจึงกลายเป็นชุมชนขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 เกาะผีทักประกาศให้เป็นหมู่บ้าน โดยมีนายนุ้ย เดชาฤทธิ์ เป็นลูกชายของพ่อปู่เดช รับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านของเกาะผีทักคนแรก เมื่อประกาศเป็นหมู่บ้านจากเดิมที่เคยเรียกว่า “เกาะผีทัก” เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้คนที่อยู่อาศัยในเกาะให้ได้รับการปกป้องรักษาให้รอดพ้นจากสิ่งชั่วร้าย จึงได้เรียก “เกาะพิทักษ์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

บ้านเกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตําบลบางน้ำจืด อําเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ห่างจากอําเภอหลังสวน 18 กิโลเมตร เป็นเกาะที่มีขนาดเล็กสุดในจังหวัดชุมพร การเดินทางมายังเกาะพิทักษ์สามารถทำได้โดยการขึ้นเรือข้ามฟาก สังเกตป้ายบอกทาง ซึ่งเส้นทางมายังเกาะพิทักษ์จะมีป้ายบอกทางตลอดสาย ทำให้การเดินทางค่อนข้างง่ายและไม่วุ่นวาย หากเป็นช่วงเวลาน้ำลดบริเวณนี้จะเป็นถนนทรายขาว ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน สามารถเดินข้ามมายังเกาะได้เลย นอกจากนี้เกาะพิทักษ์ในช่วงน้ํลง น้ำทะเลจะแห้งทําให้เกิดเป็นสันทรายขาย ที่เรียกว่า ถนนน้ำ จึงทําให้เกิดการจัดกิจกรรม “ประเพณีวิ่งแหวกทะเล” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการ ตอบรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เข้าร่วมการแข่งขัน โดยจะจัดในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายนเป็นประจำทุกปี

เกาะพิทักษ์มีได้นำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามและอุดมสมบูรณ์มาบูรณาการเข้ากับรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง เช่น ทางด้านทิศตะวันออกมาชายหาดที่เงียบสงบชายหาด ทิศเหนือมีจุดชมวิวระยะทาง 200 เมตร มีศาลาให้นั่งพักและชมวิวซึ่งสามารถมองเห็นวิวได้รอบเกาะ ในเดือนมกราคมนักท่องเที่ยวสามารถชมปลาโลมาสีชมพูได้ นอกจากนี้ เกาะพิทักษ์ยังได้มีการนำเสนอถ่ายทอดเรื่องราวถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมง การทําอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ กรรมวิธีเผามะพร้าวนําส่งฝั่งเพื่อนําไปทําน้ำมะพร้าว เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่โดยรอบเกาะพิทักษ์เป็นพื้นที่ของสวนมะพร้าว

บนเกาะพิทักษ์มีเพียงบ้านเรือนของชาวบ้าน ไม่มีวัด โรงเรียน หรือสถานที่ราชการ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้สถานที่ดังกล่าว จึงทําให้ต้องเดินทางโดยเรือเพื่อเข้าไปยังอําเภอ ซึ่งก็ไกลจากเกาะพิทักษ์ไม่มากนัก หากเป็นหน้ามรสุมที่ทําให้มีลมพัดและมีคลื่นแรงเกิดพายุ การเดินทางของชาวบ้านไม่อาจทําได้ ผู้ใหญ่บ้านจะประกาศให้ทุกคนขึ้นฝั่งไปอยู่กับญาติก่อนที่ฝั่งก่อน เมื่อลมสงบค่อยกับมา

 บ้านเกาะพิทักษ์เป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีจำนวนครัวเรือนเพียง 50 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากรเพียง 147 คน แยกเป็นประชากรชาย 73 คน และประชากรหญิง 74 คน ทว่า นอกเหนือจากประชากรซึ่งเป็นประชากรในพื้นที่ชุมชนแล้ว ยังมีประชากรที่เป็นกลุ่มประชากรแฝง ทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ที่เข้ามาทำการค้าขาย หรือประกอบอาชีพในชุมชนเกาะพิทักษ์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ และมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนเกาะพิทักษ์ให้มีความครึกครื้น 

การประกอบอาชีพ

การประกอบอาชีพของชาวบ้านเกาะพิทักษ์นั้นนับได้ว่าค่อนข้างมีความหลากหลาย ทั้งการทำประมงชายฝั่ง ทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา และอาชีพค้าขายซึ่งเติบตจากการท่องเที่ยวของชุมชน แต่อาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ คือ การทำประมง ออกจับปลา จับปู ปลาหมึก หอย ฯลฯ โดยใช้เครื่องจับปลาแบบดั้งเดิม คือ อวนและลอบ เมื่อได้จับได้จะนําไปขายบนฝั่งทุกวันตอนเช้า แต่ในปัจจุบันเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังเกาะพิทักษ์ ชาวบ้านสามารถนำปลาหรือสัตว์ที่ที่จับได้ไปขายให้กับบ้านที่ทําโฮมสเตย์ เพื่อทําอาหารให้กับนักท่องเที่ยว บ้างก็ขายให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเอากลับบ้าน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาออกไปขายบนชายฝั่ง อีกทั้งยังมีรายได้ดีอีกด้วย

ปัจจุบันนอกจากอาชีพประมงที่เป็นอาชีพหลักของชาวบ้านแล้ว การแปรสภาพชุมชนให้มีรูปแบบเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยังทําให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม โดยเฉพาะแม่บ้านที่โดยปกติจะอยู่บ้านเลี้ยงลูก เมื่อมีการท่องเที่ยวเข้ามา จึงทําให้เกิดการรวมกลุ่มของแม่บ้าน คือ กลุ่มแม่บ้านแปรรูปอาหารทะเล ร่วมกันนําอาหารทะเลที่ได้มานํามาแปรรูปต่าง ๆ เพื่อเป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับไป เช่น ปลาหมึกแห้ง ปลาเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปเหล่านี้นอกจากจะขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวแล้ว กลุ่มแม่บ้านยังนําไปขายตามจุดต่าง ๆ ในอําเภอหลังสวนอีกด้วย

นอกจากจะแปรรูปอาหารทะเลเพื่อขายแล้ว ยังมีการทําสินค้าที่ระลึกและของใช้ในครัวเรือน เช่น สินค้าตกแต่งบ้านที่ทํามาจากเปลือกหอย ผลิตภัณฑ์เทียนเจลสวยงาม แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจานโดยใช้สัปปะรดล้างสะอาดแล้วต้ม เสร็จแล้วนํามากรองน้ำ ผสมเกลือ และ N70 ตามสูตร อีกทั้งยังมีการขายเสื้อยืดสกรีนลายเกาะพิทักษ์ ซึ่งเป็นเสื้อที่นักท่องเที่ยวที่ได้เข้ามาจะซื้อใส่กันทุกคน เพื่อเป็นของที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยมาเที่ยวเกาะพิทักษ์

การรวมกลุ่มชุมชน

การรวมกลุ่มและการก่อตั้งองค์กรชุมชนต่าง ๆ ภายในเกาะพิทักษ์ มีเหตุผลมาจากความต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในพื้นที่เกาะ จึงมีการรวมตัวของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น สมาชิกโฮมสเตย์ สมาชิกกลางสัตว์น้ำ สมาชิกกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้าน โดยทุกคนในชุมชนเกาะพิทักษ์จะมีส่วนร่วมในการบริหารและดูแลความเป็นไปของชุมชนด้วยตนเองทําให้ทราบว่าชุมชนมีศักยภาพเพียงใด การท่องเที่ยวทําให้ชาวบ้านได้มีงานทําโดยมีอาชีพจากการท่องเที่ยวตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเพิ่มความสามัคคีในชุมชนซึ่งเกิดการรวมตัวของกลุ่มยุวชนเกาะพิทักษ์ตามมา ซึ่งมีการส่งส่งเสริมการบ้านเกิดและไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ทําให้เยาวชนได้มีโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการกําจัดขยะ มีการให้เยาวชนคิดค้นการกําจัดขยะ เนื่องจากชุมชนเกาะพิทักษ์กำลังประสบปัญหาขยะที่มาจากนักท่องเที่ยว โครงการทําป้ายบอกเส้นทางบนเกาะพิทักษ์และป้ายต้อนรับเข้าสู่เกาะพิทักษ์ โดยยุวชนเกาะพิทักษ์จะมีการวมกลุ่มกันหลังจากกลับมาจากโรงเรียนที่บ้านผู้ใหญ่โดยมีผู้ใหญ่บ้านและกรรมการชาวบ้านเป็นส่วนที่ให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ชุมชนเกาะพิทักษ์ยังเคยได้รับรางวัลเกาะปลอดยาเสพติด จากสํานักงานตํารวจแห่งชาติกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย

การดํารงชีวิตของชาวบ้านในเกาะพิทักษ์นั้นจะคํานึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยมีโครงการของชุมชนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการปลูกป่าชายเลน โครงการปลูกสมุนไพรเพื่อการเรียนรู้ โดยต้นไม้นั้นจะตั้งชื่อตามชื่อของเจ้าของที่ปลูก ส่งเสริมทําให้เกิดการหวงแหนร่วมกัน อีกทั้งยังมีโครงการทําจุลินทรีย์บอลเพื่อนําไปทิ้งลงในน้ำทะเล สำหรับใช้ในการปรับสภาพน้ำทะเลให้ใสสะอาด และมีการปลูกป่าโกงกางบริเวณป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำโครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่ทะเล โครงการเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในเกาะพิทักษ์ โดยทุกคนนั้นล้วนมีจิตสํานึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยตนเอง ไม่ได้มาจากการชักชวนจากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน ปัจจุบันชุมชนเกาะพิทักษ์ยังเป็นศูนย์กลางของการการอนุรักษ์หอยมือเสือและปะการังต่าง ๆ ดังนั้น เกาะพิทักษ์จึงเหมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างดี เพราะชาวชุมชนเกาะพิทักษ์มีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ความสวยงามเหล่านี้ให้คงอยู่จนถึงรุ่นลูกหลานสืบไป

รูปแบบการดำเนินชีวิต

เกาะพิทักษ์เป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและอยู่ไม่ไกลจากฝั่งมาก การตั้งถิ่นฐานทํามาหากินของผู้คนจึงเกิดขึ้นบนเกาะเล็ก ๆ และได้สร้างสังคมบนพื้นฐาน ความเชื่อดั้งเดิม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนเกาะพิทักษ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของบ้านเรือนที่มีการบ้านทุกหลังบนเกาะด้วยไม้ และมีลักษณะที่ยกพื้นสูง มีระเบียงด้านหน้ายื่นออกรับลมเย็น ๆ จึงทําให้บนเกาะพิทักษ์แทบไม่ได้ใช้พัดลม การใช้ชีวิตของชาวบ้านแสดงถึงความเรียบง่ายทั้งด้านความเป็นอยู่และการกิน โดยการทําอาหารในแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่จะรวมกลุ่มกันในตอนเย็นมาทําการปรุงอาหารที่บ้านของผู้ใหญ่ เสร็จแล้วก็จะแยกย้ายเอากลับไปกินที่บ้าน

ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเกาะพิทักษ์มีความเรียบง่ายบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ กันอย่างแบบพี่น้อง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะเห็นได้จากการทําผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนโดยไม่ต้องซื้อ การร่วมกันทํากิจกรรมต่าง ๆ อย่างพร้อมเพียงกัน เช่น การร่วมกิจกรรมปล่อยปลา ปลูกต้นไม้โกงกางรอบเกาะร่วมกัน และในหน้าที่ลมมรสุมพัดผ่านไปแล้ว บนเกาะจะเต็มไปด้วยขยะเป็นจํานวนมาก ซึ่งขยะเหล่านี้มาจากกระแสน้ำพัดเข้ายังเกาะ ทําให้ในทุก ๆ ปี ชาวบ้านจะมีการกำหนดวันเพื่อร่วมกันทำความสะอาดเกาะ โดยจะทํากันตั้งแต่เช้าจนเย็น ส่วนชาวบ้านที่ไม่สามารถไปได้เนื่องจากเจ็บป่วยหรืออายุมากแล้ว ก็จะทําอาหารที่บ้านผู้ใหญ่เพื่อรอให้ทุกคนกลับมารับประทานอาหารร่วมกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า บ้านทุกหลังบนเกาะพิทักษ์นี้ไม่มีกุญแจสําหรับล็อคประตูบ้าน บ้านทุกหลังจะมีการเปิดประตูไว้อยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ได้เป็นกฎของของชุมชน แต่เป็นการปฏิบัติกันมานานโดยที่ทุกคนรู้สึกไว้ใจกันและกัน ถึงกระนั้น ตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบันไม่เคยมีโจรหรือมีของหายแม้ครั้งเดียว

ประเพณีและพิธีกรรมชุมชน

ชาวบ้านในชุมชนเกิทักษ์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเกือบทั้งหมด ประเพณีและพิธีกรรมส่วนใหญ่จะคล้ายชาวพุทธทั่ว ๆ ไป มีการตักบาตรทําบุญในวันสําคัญของทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา โดยจะนั่งเรือข้ามฟากเดินทางไปทำบุญทั่กในตําบลบางน้ำจืด นอกจากนี้ เกาะพิทักษ์ยังเป็นชุมชนที่มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชน เช่น ประเพณีสวดกลางบ้าน ซึ่งจะจัดในเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยทุกคนในชุมชนจะทําอาหารร่วมกันและจะนั่งเรือข้ามฝั่งไปวัดเพื่อทําบุญตักบาตร ประเพณีวันสงกานต์ งานผู้สูงอายุในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นวันรวมญาติของชาวบ้านเกาะพิทักษ์ ประเพณีรับส่งตายายในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งจะทําเป็นประจำทุกปีเพื่อไปทําบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หลังจากที่ทําบุญจะมีการรับประทานอาหาร

อนึ่ง เกาะพิทักษ์มีงานประเพณีสำคัญชุมชนที่จัดขึ้นเป็นประจําทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 50 ปี คือ ประเพณีสวดหาดลอยแพ ในเดือนสิงหาคมของทุกปี เมื่อถึงวันงานชาวบ้านจะร่วมกันทําแพซึ่งแพนั้นจะมีหลังคา ตอนเย็นจะมีการนิมนต์พระนั่งเรือเข้ามายังเกาะเพื่อทําพิธีสวดภาณยักษ์ การทําพิธีนี้ ชาวบ้านในชุมชนจะต้องนําแป้งมาปั้นเป็นตุ๊กตาเพื่อนําไปใส่กล่องหรือตะกร้าของแต่ละ ครอบครัวที่เตรียมมา จากนั้นใส่ดอกไม่ธูปเทียน อาหาร น้ำดื่ม พริก ข้าวสาร กระเทียม หัวหอม อีกทั้งมีการตัดเล็บ ตัดผม ใส่ลงไปในกล่องเพื่อไว้ในแพ โดยการทําพิธีนั้นจะมีผู้อาวุโสของเกาะพิทักษ์เป็นผู้ทําพิธี จากนั้นผู้ชายในหมู่บ้านจะยกแพขึ้นเรือเพื่อนําไปลอยที่กลางทะเล การทําพิธีสวดหาดลอยแพนั้นเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากเกาะพิทักษ์ อีกทั้งเป็นการขอขมาท้องทะเลด้วย

เกาะพิทักษ์มีศาลประจำชุมชน คือ ศาลพ่อตาเกาะพิทักษ์ อันเป็นที่เคารพของชาวบ้านเกาะพิทักษ์มาตั้งแต่ครั้งแรกก่อตั้งหมู่บ้าน โดยทุกครั้งก่อนที่ชาวประมงจะออกหาปลา มักจะมาไหว้และบนบานศาลกล่าวและเมื่อกลับมาปลอดภัยก็มีการแก้บน จุดประทัด ถวายอาหาร เป็นต้น

นอกจากชุมชนเกาะพิทักษ์จะมีประเพณีและพิธีกรรมที่สอดคล้องกับพุทธศาสนาแล้ว เกาะยังมีประเพณีสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกาะมีชื่อเสียงมากขึ้น โดยในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน น้ำทะเลจะแห้ง ปรากฏถนนทรายซึ่งเป็นลักษณะถนนที่ทอดยาว จึงทําให้มีการจัดกิจกรรม “ประเพณีวิ่งแหวกทะเล” มีการจัดการแข่งขันวิ่งแข่งบนถนนทรายที่มีความยาวถึง 14 กิโลเมตร ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ประเพณีวิ่งแหวกทะเลนี้ นอกจากจะเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่งเที่ยวชุมชนเกาะพิทักษ์ให้เป็นที่รู้จักแล้ว ยังมีนัยแฝงทางความเชื่อ หมายถึงการไหว้ขอบคุณทะเล 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปลาเค็มฝังทราย

ปลาเค็มฝังทราย เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปชนิดหนึ่งของเกาะพิทักษืที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวบนเกาะ ปลาเค็มฝังทราย คือ การนําปลาทะเลสดที่ยังไม่ผ่านการแช่น้ำแข็งมาล้างให้สะอาด ผสมกับเกลือและห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกอย่างดี ผูกด้วยเชือกปอหรือยางวง จากนั้นทําการขุดหลุมทรายลึกประมาณ 60–70 เซนติเมตร แล้วนําปลาที่หุ้มด้วยถุงพลาสติกเรียบร้อยแล้วลงฝังในหลุมที่ขุดแล้วเอาทรายกลบให้ท่วมตัวปลา ระยะเวลาในการฝังประมาณ 15 วัน จากนั้นฆเมื่อครบ 15 วัน ให้นําปลาออกมาจากหลุมแล้วแกะ พลาสติกที่ห่อ นำไปล้างน้ำสะอาดและนําไปตากแดดในลักษณะห้อยหัวให้แห้งสนิท จากนั้นสามารถนําไปทอดรับประทานได้

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ปัญหาขยะมูลฝอย เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในชุมชนเกาะพิทักษ์มาอย่างยาวนาน เนื่องจากกระแสลมที่พัดพาขยะจากที่อื่นเข้าสู่เกาะพิทักษ์ ทั้งกิ่งไม้ ขวด กระเบื้อง พลาสติก เศษอาหาร ทำให้เกิดขยะมูลฝอยและภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการเป็นชุมชนแหล่งท่องเที่ยว และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนเกาะพิทักษ์มีลักษณะเป็นเกาะ ทำให้ยากต่อการจัดการกับขยะมูลฝอยเหล่านี้ ชาวบ้านในชุมชนจึงมีความคาชดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยจัดหาถังขยะมาวางในชุมชนเกาะพิทักษ์ และหาวิธีจัดการกับขยะให้ชาวบ้านได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภัทราพร ทิพย์มงคล. (2554). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กรณีศึกษา เกาะพิทักษ์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร.

เกาะพิทักษ์. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thai.tourismthailand.org [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].