Advance search

บางปลาสร้อย

ชุมชนบางปลาสร้อยเป็นย่านการค้าที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้คนในชุมชนยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมไว้

บางปลาสร้อย
เมืองชลบุรี
ชลบุรี
ศิริลักษณ์ นาโม
10 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
10 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
บางปลาสร้อย

บางปลาสร้อย มาจากในพื้นที่ชุมชนมีคลอง ๆ หนึ่งที่มีภายในคลองจะมีปลาชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "ปลาสร้อย" เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านบางปลาสร้อย" ซึ่งคำว่า "บาง" หมายถึง หมู่บ้านนั่นเอง


ชุมชนบางปลาสร้อยเป็นย่านการค้าที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้คนในชุมชนยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมไว้

บางปลาสร้อย
เมืองชลบุรี
ชลบุรี
20000
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-0095-9995, เทศบาลเมืองชลบุรี โทร. 0-3828-3449
13.3696367067
100.983359381
เทศบาลเมืองชลบุรี

ชุมชนบางปลาสร้อย เป็นชุมชนเมืองชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย เป็นสถานที่ตั้งของเมืองชลบุรีในปัจจุบัน แต่ก่อนชาวบ้านในพื้นที่และคนต่างถิ่นเรียกพื้นที่นี้กันว่าบางปลาสร้อย คนจีนเรียก “มั่งก้ะส่วย” โดยชุมชนบางปลาสร้อยเกิดขึ้นเมื่อใดไม่มีการปรากฏปีที่แน่ชัด การที่ชุมชนมีที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ทำให้ชุมชนมีความหลากหลายทั้งด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมของชาวไทยและชาวจีน

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนบางปลาสร้อยปรากฏนามอยู่ในแผนที่ไตรภูมิสมัยอยุธยา เป็นชุมชนที่พัฒนาขึ้นกลายมาเป็นเมืองท่าภายหลังจากเมืองศรีพโล ที่เป็นเมืองท่าจอดพักเรือสินค้าทางทะเล บนเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างอาณาจักรอยุธยากับนานาชาติ หลังจากชายฝั่งทะเลของเมืองศรีพโล ถูกโคลนเลนพัดพาจากปากน้ำบางปะกงทับถมจนตื้นเขิน เรือไม่สามารถจอดเทียบท่าได้เหมือนแต่เดิม ท่าจอดพักขนถ่ายสินค้าจึงถูกเลื่อนตัวมาที่ชุมชนบางปลาสร้อยแทน ซึ่งในสมัยอยุธยาการค้ากับชาวต่างชาติเฟื่องฟูมาก เมืองบางปลาสร้อยจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาทำการค้าขาย จากการที่มีเรือสินค้าของนานาประเทศมาจอดพักขนถ่ายสินค้า ซื้อเสบียงอุปโภค บริโภค และซ่อมบำรุงเรือทั้งขาเข้าและขาออกจากอาณาจักรอยุธยา บางปลาสร้อยจึงเกิดความมั่งคั่งและมีความหลากหลายของผู้คนจากหลายเชื้อชาติทั้งชาวไทย ชาวอินเดีย และชาวจีน

ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีได้มีการแต่งตั้งให้พระชลบุรีศรีมหาสุมทร (หวัง สมุทรานนท์) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองชลบุรี ระหว่างการปกครองเมืองชลบุรีด้วยความสามารถ ทำให้ชลบุรีเป็นหัวเมืองชายทะเลที่มีชื่อในสมัยนั้น ประกอบกับการค้าระหว่างไทย จีน มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ทำให้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนบริเวณบางปลาสร้อยเป็นจำนวนมาก โดยจะมีการสร้างที่อยู่อาศัยติดอยู่กับบริเวณริมชายฝั่งทะเล เนื่องจากในช่วงเวลานี้บางปลาสร้อยยังมีสถานะเป็นเมืองท่า ขนถ่ายสินค้าที่จอดพักเรือของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าระหว่างประเทศ

ช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 4 ได้มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง เป็นสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศอังกฤษ ทำให้ไทยต้องมีการเปิดเสรีทางการค้าและมีการเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพแลกเปลี่ยนสินค้ามาเป็นการผลิตเพื่อการค้า เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น และยังส่งให้ประเทศมีการพัฒนาทางด้านสังคมหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการขุดคลองเชื่อมพื้นที่ทางการเกษตรและการคมนาคมระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองที่สำคัญต่าง ๆ การขุดคลองทำให้เกิดการจ้างแรงงานจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่มีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากขึ้นนี้ ส่งผลชุมชนบางปลาสร้อยที่มีสถานะเป็นเมืองท่าอยู่นั้น เกิดการหลั่งไหลเขามาของผู้คนเป็นจำนวนมากที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนและชาวจีนแต้จิ๋ว ที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขาย และมีบางส่วนที่ประกอบอาชีพทำประมงเช่นเดียวกับชาวไทยในท้องถิ่น รวมทั้งเริ่มมีการปลูกอ้อยทำน้ำตาล และโรงงานทำน้ำปลาในชุมชน

การหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มชาวจีน ทำให้ชุมชนเกิดการขยายตัว จากเดิมที่ชาวบ้านจะมีการสร้างบ้านเรือนอยู่แค่บริเวณริมชายฝั่งทะเล เริ่มมีการสร้างบ้านเรือนลงไปในพื้นที่ทะเล โดยจะมีการสร้างสะพานต่อ ๆ กันลงไปในทะเล เหตุผลที่มีการสร้างบ้านเรือนในลักษณะแบบนี้ เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนบางปลาสร้อยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และในบริเวณพื้นที่นี้น้ำทะเลจะขึ้นลงวันละ 2 ครั้ง จึงต้องมีการสร้างบ้านเรือนที่สามารถนำเรือเข้าออกได้อย่างสะดวกในการประกอบอาชีพ อีกทั้งในสมัยนั้นยังมีเพียงถนนวชิรปราการที่เป็นถนนริมชายหาดทะเลเพียงสายเดียว ยังไม่มีถนนอื่น ๆ ที่สามารถเดินทางติดต่อกับพื้นที่ต่างถิ่นได้ การค้าขายและการคมนาคมมีเส้นทางเดียวคือทางทะเล

เมื่อการสร้างเส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีการสร้างเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ถึงฉะเชิงเทรา เส้นทางดังกล่าวดำเนินการสร้างในปี พ.ศ. 2448 แล้วเสร็จและเปิดทำการเดินรถครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 ต่อมาได้มีการก่อสร้างต่อจากฉะเชิงเทราไปจนถึงอรัญประเทศ ในปี พ.ศ. 2462 เปิดทำการเดินรถในปี พ.ศ. 2464 ทำให้มีการเดินทางในภาคตะวันออกตอนบนมีความสะดวกสะบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีการเดินทางที่ยังใช้ทางทะเลอยู่ ในช่วงนี้เริ่มมีการใช้เรือกลไฟเล็กเป็นเรือข้ามฟากไปยังชุมชนใกล้เคียงหรือตามจังหวัดใกล้เคียงกัน โดยมีเรือกลไฟเล็กจากฉะเชิงเทรามายังท่าเรือที่ชุมชนบางปลาสร้อย จึงให้บทบาทของชุมชนบางปลาสร้อยนอกจากเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า ยังเป็นท่าเรือที่ชาวบ้านในชุมชนและต่างถิ่นใช้เป็นท่าเรือเพื่อเดินทางไปยังชุมชนต่างถิ่น

ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างถนนสุขุมวิทเชื่อมพื้นที่ภาคตะวันออกกับกรุงเทพฯ ทำให้เส้นทางการเดินทางสัญจรทางบกเริ่มมีบทบาทแทนทางสัญจรทางน้ำ ในช่วงปี พ.ศ. 2485 เริ่มมีการเปิดเส้นทางช่วงบางปะกงถึงชลบุรี ประกอบกับเริ่มมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ความสะดวกและย่นระยะทางง่ายต่อการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่ออาชีพการเดินเรือกลไฟและเรือฉลอมทะเลรับส่งผู้โดยสารและสินค้าค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญและหมดลงในทศวรรษต่อมา เนื่องจากชาวบ้านหันไปให้ความสนใจในการเดินทางโดยรถรับส่งผู้โดยสารที่มีความสะดวกสบายกว่า

ชุมชนบางปลาสร้อยก็เป็นชุมชนที่ได้รับผลจากการสร้างถนนสุขุมวิทดังกล่าว ชาวบ้านในชุมชนบางส่วนเริ่มมีการย้ายบ้านจากริมชายฝั่งทะเล มาสร้างบ้านเรือนตามรินถนนที่เป็นพื้นที่ย่านตลาดจุดตัดของถนนแทน ยังมีบางกลุ่มที่อยู่อาศัยบริเวณริมชายฝั่งทะเลตั้งเดิม มีการเปลี่ยนแปลงจากสะพานไม้ที่เชื่อมชุมชนเป็นถมถนนเทคอนกรีตแทน การสร้างถนนสุขุมวิทยังก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขึ้นในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จึงทำให้มีชาวบ้านในชุมชนบางปลาสร้อยละทิ้งอาชีพเดิมของตนเองไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ในปัจจุบันชุมชนบางปลาสร้อยจึงเกิดการเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่ ผู้คนมีการประกอบอาชีพที่มีความหลากหลายทั้งการค้าขาย รับจ้าง และทำประมงพื้นบ้าน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรี ที่ให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีชีวิตและสถาปัตยกรรมแบบบ้านเรือนไทยในชุมชนบางปลาสร้อย

ตำบลบางปลาสร้อยตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมืองชลบุรี หอพระพุทธสิหิงค์ ศาลจังหวัด โรงเรียนอนุบาลชลบุรี และโรงเรียนชลกันยานุกูล เป็นต้น ชุมชนบางสร้อยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลมะขามหย่ง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านสวน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านสวน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ่าวไทยฝั่งตะวันตก

สภาพที่พื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนบางปลาสร้อย เป็นชุมชนเมืองชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ริมฝั่งเป็นที่ราบชายทะเล ลักษณะเว้าแหว่งและลุ่มต่ำ ไม่มีหาดทราย ทำให้น้ำทะเลสามารถท่วมถึงในเขตพื้นที่ชุมชน มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้นแบบมรสุม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม 2 กระแส คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมในช่วงฤดูหนาว และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมในช่วงฤดูฝน ส่วนลมมรสุมช่วงฤดูร้อนจะเป็นการเปลี่ยนจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมาลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนประชากรและครัวเรือนของชุมชนบางปลาสร้อย มีจำนวน 7,319 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 12,916 คน สามารถแบ่งเป็นประชากรเพศชาย จำนวน 6,089 คน และมีประชากรเพศหญิง จำนวน 6,827 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชาวบ้านในชุมชนบางปลาสร้อย การตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล โดยการสร้างบ้านเรือนจะใช้วิธีถมลงไปในทะเลหรือสร้างสะพานยื่นลงไปในทะเลแล้วปลูกบ้านเรือนอยู่ 2 ฟากของสะพาน แต่เมื่อเกิดการพัฒนาและสร้างถนนสุขุมวิท การสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านจึงมีการย้ายมาอยู่อาศัยบนชายฝั่งติดริมถนนมากขึ้น แต่ก็ยังมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในทะเลเหมือนเดิมยังคงมีวิถีชีวิตแบบเดิมและการปฏิบัติสืบทอดประเพณีดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน เช่น

  • ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีเก่าแก่ที่จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ใกล้กับช่วงวันออกพรรษาของทุกปี นับว่าเป็นประเพณีฉลองงานบุญอย่างหนึ่ง และถือเป็นการให้ควายได้พักผ่อนหลังจากการทำไร่ ทำนา ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ภายในงานชาวบ้านที่ประกอบอาชีพชาวนา ชาวสวนจะมีโอกาสพบปะสังสรรค์ โดยจัดประกวดควายสวยงามและวิ่งควาย เพื่อสร้างความสนุกสนาน นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่าถ้าชาวบ้านคนใดเกิดเจ็บป่วย เจ้าของควายจะบนบานศาลกล่าวด้วยการนำควายมาวิ่งแก้บน จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้
  • ประเพณีกินเจ เป็นประเพณีถือศีลเพื่อล้างบาปและให้หมดเคราะห์กรรมต่าง ๆ โดยจะมีการเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 เดือน 3 ของจีนทุกปี เป็นเวลา 10 วัน และการกินเจจะต้องมีการกินก่อนถึงพิธี 3 วัน เพื่อเป็นการล้างท้อง เมื่อเริ่มกินเจชาวบ้านจะมีการนุ่งขาวห่มขาวเป็นเวลา 13 วัน

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบางปลาสร้อย จะมีการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยเป็นการใช้เรือเล็กและเครื่องมือขนาดเล็กในการหาอาหารและสัตว์น้ำ นำขึ้นมาขายภายในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง มีการประกอบอาชีพค้าขาย เช่น ร้านขายเครื่องใช้ประจำวัน สินค้าเบ็ดเตล็ด ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอุปกรณ์การประมง ซึ่งจะเป็นในรูปแบบร้านค้าอาคารพาณิชยกรรม และยังมีชาวบ้านบางส่วนออกไปประกอบอาชีพทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ข้าราชการ และพนักงานบริษัท

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

  • วัดใหญ่อินทาราม มีอายุเก่าแก่นานร่วม 600 ปี เป็นวัดพระอารามหลวงคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรม ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถส่วนใหญ่เขียนขึ้นใหม่ภายหลังการซ่อมแซม ภาพเดิมที่คงเหลือถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เช่น ภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดก เรื่องไตรภูมิ มีแผนภูมิจักรวาล ป่าหิมพานต์ นรกภูมิ และพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังภาพเขียนเกี่ยวการกอบกู้อิสรภาพและการตั้งทัพที่วัดใหญ่อินทารามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และมีภาพวิถีชีวิตประเพณีของชาวเมืองชล รวมถึงประเพณีวิ่งควาย
  • หอพระพุทธสิหิงค์ มีการประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลองที่ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ มีขนาดเท่าองค์จริงทุกประการ พระพุทธสิหิงค์องค์ได้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 ชาวชลบุรีให้ความเคารพและศรัทธาเป็นอย่างมาก โดยในประเพณีสงกรานต์ของทุกปีจะมีการอัญเชิญองค์พระแห่รอบเมือง เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับประชาชน
  • วัดสวนตาล วัดร้างอยู่ในความดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ถนนวชิรปราการ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มีเนื้อที่ 1 ไร่ 65 ตารางวามีโบสถ์สถาปัตยกรรมจีน 1 หลัง มีพระพุทธรูปบรรจุอยู่ในโบสถ์ 18 องค์ตำนานเล่าว่า “โบสถ์และพระพุทธรูปในโบสถ์สร้างในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช จึงเป็นสถานที่ศักดิ์ศักดิ์แห่งหนึ่งของชลบุรี” วัดสวนตาลแสดงให้เห็นการตั้งชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เมื่อมีการก่อสร้างถนนสุขุมวิทเชื่อมพื้นที่ภาคตะวันออกกับกรุงเทพฯ ทำให้เส้นทางการเดินทางสัญจรทางบกเริ่มมีบทบาทแทนทางสัญจรทางน้ำ ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ความสะดวกและย่นระยะทางง่ายต่อการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น ชุมชนบางปลาสร้อยก็เป็นชุมชนที่ได้รับผลจากการสร้างถนนสุขุมวิทดังกล่าว ชาวบ้านในชุมชนบางส่วนเริ่มมีการย้ายบ้านจากริมชายฝั่งทะเล มาสร้างบ้านเรือนตามรินถนนที่เป็นพื้นที่ย่านตลาดจุดตัดของถนนแทน ยังมีบางกลุ่มที่อยู่อาศัยบริเวณริมชายฝั่งทะเลดั้งเดิม มีการเปลี่ยนแปลงจากสะพานไม้ที่เชื่อมชุมชนเป็นถมถนนเทคอนกรีตแทน การสร้างถนนสุขุมวิทยังก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขึ้นในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จึงทำให้มีชาวบ้านในชุมชนบางปลาสร้อยละทิ้งอาชีพเดิมของตนเองไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ในปัจจุบันชุมชนบางปลาสร้อยจึงเกิดการเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่ ผู้คนมีการประกอบอาชีพที่มีความหลากหลายทั้งการค้าขาย รับจ้าง และทำประมงพื้นบ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป). หอพระพุทธสิหิงค์. (ออนไลน์). สืบค้น 30 มีนาคม 2566, จาก: https://thai.tourismthailand.org/

กรมการปกครอง. (2566). สถิติจำนวนประชากรพื้นที่จังหวัดชลบุรี ท้องถิ่นเทศบาลเมืองชลบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก: https://stat.bora.dopa.go.th/

ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองชลบุรี. (ม.ป.ป). ข้อมูลตำบล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566 , จาก: https://www.muangchon.go.th/

ภารดี มหาขันธ์ และนันท์ชญา มหาขันธ์. (2561). ความหลากหลายทางนิเวศวัฒนธรรมบางปลาสร้อยรากฐานและภูมิพลังของจังหวัดชลบุรี. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 26(50), หน้า 1-21.

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดชลบุรี. (ม.ป.ป). วัดใหญ่อินทาราม พระอารามหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก: https://cbi.onab.go.th/

อำพิกา สวัสดิ์วงศ์. (2558). ถนนสุชุมวิทกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตะวันออกของประเทศไทยช่วงทศวรรษ 2480 - 2520. วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 2(1), หน้า 13-63.