Advance search

หมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวมอญมากว่า 200 ปี 

พระเพลิง
นกออก
ปักธงชัย
นครราชสีมา
เทศบาลนกออก โทร. 0-4444-2597
วิไลวรรณ เดชดอนบม
29 พ.ย. 2022
วิไลวรรณ เดชดอนบม
28 ก.พ. 2023
บ้านพระเพลิง

สันนิษฐานว่าแต่เดิมเรียก “บ้านพระเพิง” มาจาก เพิงพักชั่วคราว ก่อนกลายเป็นชื่อเรียกทางราชการว่า “บ้านพระเพลิง” 


หมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวมอญมากว่า 200 ปี 

พระเพลิง
นกออก
ปักธงชัย
นครราชสีมา
30150
14.69388
102.04877
เทศบาลตำบลนกออก

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าชาวมอญอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านพระเพลิง 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานครัวมอญให้เป็นรางวัลตอบแทนความดีความชอบแก่เจ้าเมืองนครราชสีมาในการทำศึกกับพม่า โดยมีพระราชรามัญหัวหน้ากองส่วยทองเป็นผู้นำชาวมอญมาตั้งรกรากสองกลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ที่บ้านพระเพลิง และอีกหนึ่งกลุ่มอยู่ที่บ้านพลับเพลา การอพยพครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์ กองทหารมอญซึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลังเสริมมาช่วยรบเดินทางกลับกรุงเทพฯ ระหว่างเดินทางผ่านเมืองปักธงชัย พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีชาวมอญอาศัยอยู่แต่เดิม กองกำลังมอญจึงตกลงปลงใจตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านพระเพลิงมาจนปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 200 ปี 

สภาพแวดล้อม

หมู่บ้านพระเพลิงตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของลำน้ำพระเพลิง ซึ่งพาดผ่านกลางหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นลำน้ำสายหลักทอดยาวตลอดแนวให้ชาวชุมชนมอญบ้านพระเพลิงใช้อุปโภค บริโภค และทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่โบราณ ส่วนพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านถูกล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ และพื้นที่ราบลุ่มสำหรับประกอบเกษตรกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ซึ่งทำปีละ 2 ครั้ง คือ นาปี (การทำนาในช่วงฤดูกาลการเพาะปลูก หรือฤดูฝน ซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลักสำหรับการเพาะปลูก) และนาปรัง (การทำนานอกฤดูกาลการผลิต หรือการทำนาในช่วงหน้าแล้ง อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำ และชลประทานเป็นหลักสำหรับการเพาะปลูก) การทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชหมุนเวียน และเลี้ยงสัตว์ 

การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย

การสร้างบ้านของชาวบ้านพระเพลิง ส่วนมากจะสร้างตามแบบฉบับของบ้านเรือนไทยทรงอีสาน คือสร้างบ้านยกสูง ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีเนื้อที่ว่างใต้ถุนบ้านสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อให้มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรของชาวบ้านพระเพลิง โดยใช้เป็นพื้นที่เก็บเครื่องมือทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม ฯลฯ หรือทำเป็นคอกสัตว์ จำพวก วัว ควาย ฯลฯ บางหลังก็ใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านทำเป็นยุ้งเก็บข้าว ในกรณีที่ไม่ได้สร้างยุ้งฉางแยกต่างหากจากตัวบ้าน 

สถานที่สำคัญ

1. วัดหงส์ธรรมรักขิตาราม  

วัดหงส์ธรรมรักขิตาราม (วัดพระเพลิง) หรือที่ชาวบ้านเรียก “วัดหงส์” เนื่องจากมีรูปหงส์ขนาดใหญ่หล่อด้วยสำริดตั้งประดับอยู่บนเสาสูงหน้าวัด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านมอญ และมีนัยเพื่อระลึกถึงเมืองหงสาวดีบ้านเกิดเมืองนอนของชาวมอญ 

วัดพระเพลิงหรือวัดหงส์ ถือเป็นศาสนสถานสำคัญของชุมชนชาวมอญบ้านพระเพลิง ด้วยเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนชาวมอญบ้านพระเพลิงใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาตลอดทั้งปี ภายในบริเวณวัดมีหอระฆัง ศาลาการเปรียญ เสาหงส์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบมอญ นอกจากนี้ยังมีตู้พระธรรมและคัมภีร์โบราณจารึกอักขระมอญและขอม ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในศาลาการเปรียญของวัดอีกด้วย 

2. ศาลปู่ตา (พ่อใหญ่จอมทอง แม่ละอองสำลี) 

ศาลปู่ตา (ศาลพ่อใหญ่จอมทอง แม่ละอองสำลี) เป็นศาลผีบ้านประจำหมู่บ้านพระเพลิง ที่ชาวบ้านในชุมชนให้ความเคารพนับถือ ซึ่งชาวมอญบ้านพระเพลิงจะจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาเพื่อเป็นการสักการะบูชา สร้างสิริมงคล และอ้อนวอนให้ผีปู่ตาปกป้องดูแลผู้คนในชุมชน พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตานี้จะถูกจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนหกของทุกปี ตามฮีตสิบสองของชาวมอญ 

บ้านพระเพลิง ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่มีชาวมอญอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานนานกว่า 200 ปี ปัจจุบันมีจำนวนประชากรราว 1,000 คน จำนวนครัวเรือนกว่า 200 ครัวเรือน แต่หากเทียบร้อยละต่อจำนวนประชากรหลากชาติพันธุ์ทั้งหมดในจังหวัดนครราชสีมา ชาวมอญบ้านพระเพลิงนั้นนับว่าเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย เนื่องมาจากชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมามีอยู่ 2 กลุ่ม คือ ชาวไทยโคราช และชาวลาว (ไทยอีสาน)  

มอญ

โครงสร้างทางสังคม

ชุมชนชาวมอญบ้านพระเพลิง ปกครองโดยผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกในชุมชน มีหน้าที่ดูแล ช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนให้อยู่ร่วมกันในชุมชนได้อย่างสันติสุข แต่ด้านความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวและชุมชนนั้น ปัจจุบันความใกล้ชิดของคนภายในครอบครัวและชุมชนไม่ได้เหนียวแน่นดังเดิม เนื่องจากวัยรุ่นหนุ่มสาวยุคใหม่ เลือกเดินทางไปทำงานในชุมชนเมืองแทนการประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่ที่บรรพบุรุษในชุมชนดำเนินแบบแผนมา อีกทั้งบางส่วนยังเลือกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในชุมชนอื่น ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในชุมชนและครอบครัวเกิดความห่างเหินออกไปเรื่อย ๆ ตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกาภิวัตน์ ที่นำพาให้วิถีชีวิตวัยรุ่นหนุ่มสาวในชุมชนแปรเปลี่ยนไป 

การประกอบอาชีพ

ปัจจุบันชาวมอญบ้านพระเพลิงประกอบอาชีพการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งการทำเกษตรกรรมดังกล่าวเป็นไปเพื่อเหตุผลหลัก 2 ประการ ประการแรกเพื่อเลี้ยงชีพ และประการที่สองเพื่ออุตสาหกรรมการส่งออกทั้งในและนอกชุมชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านหมู่บ้านพระเพลิง แต่ในปัจจุบันหนุ่มสาวรุ่นใหม่เริ่มขวนขวายหาทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพโดยการเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรืองานอื่น ๆ ในชุมชนเมือง ดังนั้น การทำเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพที่มีเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ยังคงดำเนินแบบแผนวิถีเกษตรกรอยู่ 

วิถีชีวิต

วิถีชีวิตโดยทั่วไปของชาวมอญบ้านพระเพลิงเป็นสังคมเกษตรกรรม ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ หมุนเวียนไปตามฤดูกาล โดยยึดเอาวิถีการทำเกษตรดั้งเดิมเป็นแนวทางร่วมกับการใช้เครื่องมือทางการเกษตรสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันชาวบ้านวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่เดินทางเข้าไปทำงานในชุมชนเมือง หรือในท้องถิ่นอื่น งานด้านเกษตรกรรมในชุมชนจึงมีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่ยังคงวิถีชีวิตและประกอบอาชีพนี้อยู่ 

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม 

บ้านพระเพลิงเป็นชุมชนที่ประชาชนในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ และยึดมั่นในพระพุทธศาสนา โดยมีรูปปั้นหงส์หล่อสำริดตั้งประจำเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญบ้านพระเพลิงอยู่ที่เสาสูงหน้าวัดหงส์ (วัดประจำหมู่บ้าน) ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของชาวบ้านพระเพลิงสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ 

ปัจจุบันชาวมอญบ้านพระเพลิงยังคงดำรงไว้ซึ่งความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมดั้งเดิมตามแบบแผนของชาวมอญ และปฏิบัติสืบทอดกันมาโดยตลอด เช่น ประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวมอญ ทั้งประเพณีการเกิด การบวช การแต่งงาน และการตาย รวมไปถึงประเพณีการเลี้ยงผีมอญ (ผีปู่ตา) ซึ่งชาวมอญยกย่องนับถือเป็นผีบรรพบุรุษ ฉะนั้นแล้วชาวมอญจึงต้องประกอบประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ให้ถูกใจผีบรรพบุรุษ และให้สอดคล้องกับคติทางพระพุทธศาสนาเพื่อป้องกันไม่ให้ผีเข้ามาทำร้ายตนเอง นับเป็นการผสานรวมระหว่างความเชื่อเรื่องผีกับคติธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน หรืออาจจะกล่าวได้ว่าชาวมอญเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ “เชื่อแบบผี แต่ทำแบบพุทธ” ก็ว่าได้ 

อนึ่ง ชาวมอญบ้านพระเพลิงยังมีประเพณีพิธีกรรมฮีตสิบสองที่ถือคองมาจนปัจจุบันเช่นเดียวกับชาวอีสาน แต่ด้วยฮีตสิบสองของชาวมอญที่ตรงกับฮีตสิบสองของอีสานนั้นมีเพียง 6 ประเพณีเท่านั้น ชาวมอญบ้านพระเพลิงจึงจะเริ่มประกอบประเพณีพิธีกรรมดังกล่าวตั้งแต่เดือนห้าเป็นต้นไปเท่านั้น อันได้แก่ 

  • เดือนห้า : บุญสงกรานต์ 
  • เดือนหก : บุญเลี้ยงผีบ้านผีเรือน และผีบรรพบุรุษ 
  • เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา 
  • เดือนสิบ : บุญสารท 
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา และบุญเทศน์มหาชาติ 
  • เดือนสิบสอง : บุญกฐิน 

นอกจากนี้ เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ชาวมอญยังมีพิธีกรรมรำผีโรง พิธีกรรมที่ประกอบขึ้นเมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งเชื่อว่าเป็นการผิดผี แต่ในปัจจุบันเมื่อผู้คนในชุมชนเริ่มเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการทางการแพทย์ พิธีกรรมรำผีโรงก็เริ่มสูญหายไปพร้อมกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ลาลับ คงไว้เพียงการแสดงรำผีโรงในเทศกาลประจำปีของเมืองปักธงชัยเท่านั้น

1. ยายน้อม ครุฑสระน้อย : ชาวมอญบ้านพระเพลิงเพียงคนเดียวที่ยังคงพูดภาษามอญได้ 

2. หลวงปู่ฉิม (พระครูทักษิณ รามัญ) : พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ผู้ลือเลื่องด้านคาถาวิชาอาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเพลิง (วัดหงส์ธรรมรักขิตาราม หรือวัดหงส์) ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ชาวมอญบ้านบ้านพระเพลิง รวมถึงชาวบ้านชุมชนใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษามอญ (พบในชาวมอญบ้านพระเพลิงที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป) ภาษาไทยโคราช (สำเนียงมอญบ้านพระเพลิง) และภาษาไทยกลาง 

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง 


จากกระแสความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและสังคมโลกาภิวัตน์ กำลังพัดพาเอาคติความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และวิถีชีวิตของชาวมอญบ้านพระเพลิงให้สูญหาย ความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องภาษา ที่พบว่าในปัจจุบันชุมชนบ้านพระเพลิงมีสมาชิกในชุมชนเพียงคนเดียวที่ยังคงพูดภาษามอญได้ คือ คุณยายน้อม ครุฑสระน้อย ซึ่งปัจจุบันก็นับเป็นผู้อาวุโสในชุมชนมอญบ้านพระเพลิง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อชุมชนชาวมอญบ้านพระเพลิงว่า ในอนาคตหากคุณยายน้อมสิ้นบุญไป ภายในชุมชนจะยังคงมีใครที่สามารถพูดภาษามอญ หรือชุมชนมีวิธีการหรือนโยบายที่จะสืบทอดอนุรักษ์ภาษามอญ ซึ่งเป็นภาษาเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่ อย่างไร

วิถีชีวิตของชาวมอญบ้านพระเพลิงเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงเด่นชัดไม่น้อยไปกว่าภาษา จะเห็นว่าปัจจุบันพฤติกรรมและวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ มิได้มีจุดมุ่งหวังเพื่อดำเนินตามรอยแบบแผนของบรรพบุรุษ แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะดำเนินชีวิตตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ค่านิยม และวัฒนธรรม เช่น การออกไปทำงานในชุมชนเมือง และสร้างรากฐานครอบครัวใหม่ ในชุมชนใหม่ ประเด็นนี้มีความเกี่ยวโยงกับความเปลี่ยนแปลงขนาดของพื้นที่ในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย เมื่อสมาชิกในครอบครัวที่เคยอาศัยร่วมกันเกิดการแยกจาก ไม่ว่าจะด้วยหน้าที่การงาน หรือเหตุผลใดก็ตาม ทำให้ต้องมีการแบ่งกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินแก่สมาชิกในครอบครัว หรือรื้อถอนบางส่วนในเรือนสำหรับพื้นที่เปล่าในการปลูกสร้างเรือนหลังใหม่ ด้วยวัสดุใหม่ที่มีความทันสมัย และคงทนมากกว่าการสร้างบ้านจากไม้แบบโบราณ เช่น ปูน คอนกรีต เป็นต้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จารุวัฒน์ นนทชัย. (2556). ยุ้งข้าว: รูปแบบและสื่อสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม. (ม.ป.ป.). วัดพระเพลิง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565]. 

ศราวุธ แคพิมาย. (2558). เรือนมอญภายใต้รูปลักษณ์เรือนไทยโคราช กรณีศึกษาบ้านพระเพลิง ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

เทศบาลนกออก โทร. 0-4444-2597