Advance search

บ้านกุดรัง

พื้นที่จุดเริ่มต้นของผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากซึ่งลายผ้าประจำจังหวัดมหาสารคาม

หมู่ 1 หมู่ 16 ถนนโกสุม-กุดรัง
กุดรัง
กุดรัง
กุดรัง
มหาสารคาม
ไกรวิทย์ นรสาร
24 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 เม.ย. 2023
ไกรวิทย์ นรสาร
29 เม.ย. 2023
บ้านกุดรัง

ชุมชนกุดรังตั้งชุมชนขึ้นโดยได้อธิบายมูลเหตุที่มาของชื่อชุมชนมาจากตำนานท้องถิ่นเรื่อง ตำนานจระเข้กินลูกสาวเจ้าเมืองท่าขอนยางว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองท่าขอนยาง มีธิดาองค์หนึ่งเป็นที่รักและโปรดปรานของเจ้าเมืองท่าขอนยางมาก ธิดาองค์นี้มีนิสัยโปรดปรานจระเข้เป็นพิเศษกระทั่งหาจระเข้เข้ามาเลี้ยงไว้ในสระหลวง อยู่มาวันหนึ่งขณะที่ธิดาเจ้าเมืองท่าขอนยางหยอกล้อกับจระเข้ จระเข้ได้คาบนางไปกินในน้ำลึกแล้วหนีไป เมื่อเจ้าเมืองท่าขอนยางทราบข่าวก็รู้สึกเสียใจและโกรธเป็นอันมาก จึงได้ประกาศหาหมอจระเข้ ให้จับจระเข้นี้ให้ได้ จระเข้ตัวดังกล่าวหนีตามลำน้ำมายังบึงใหญ่แห่งหนึ่ง บึงดังกล่าวมีจระเข้เป็นจำนวนมากชาวบ้านได้กลิ่นเหม็นสาบของจระเข้ในบึง จึงเรียกบึงแห่งนี้ว่า“บึงกุย” 

ปัจจุบันอยู่บริเวณทิศตะวันออกของอำเภอโกสุมพิสัย หมอปราบจระเข้ได้ติดตามรอยของจระเข้มาเรื่อย ๆ และได้พบขี้ของจระเข้ที่บริเวณห้วยแห่งหนึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียกห้วยนี้ว่า “ห้วยขี้แข้” จนกระทั่งพวกหมอปราบสามารถตามมาทันจระเข้ได้ในพื้นที่ปัจจุบันเรียกคือ “หมู่บ้านทัน” อยู่ในเขตอำเภอโกสุมพิสัย แต่ก็ยังไม่สามารถฆ่าจระเข้ตัวกล่าวได้  หมอปราบได้ไล่จระเข้ตัวนั้นจนกระทั่งมาถึงบริเวณห้วยกุดรังในปัจจุบัน แต่ก็ไม่พบเจอแต่เพียงรังหรือฮังของจระเข้ที่ทำอยู่บนกู่ เหตุดังกล่าวนี้เองคนในชุมชนกุดรังจึงได้นำมาอธิบายชื่อชุมชน โดยคำว่า กุด หมายถึง ลำน้ำปลายด้วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห้วยกุดรังในปัจจุบัน และ รัง มาจากคำว่า ฮัง อันหมายถึงฮังของจระเข้ในตำนานดังกล่าว


ชุมชนชนบท

พื้นที่จุดเริ่มต้นของผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากซึ่งลายผ้าประจำจังหวัดมหาสารคาม

กุดรัง
หมู่ 1 หมู่ 16 ถนนโกสุม-กุดรัง
กุดรัง
กุดรัง
มหาสารคาม
44130
วิสาหกิจชุมชน โทร. 0-4372-8259, อบต.กุดรัง โทร. 0-4375-0210
16.09468862
103.0102734
องค์การบริหารส่วนตำบลกุดรัง

กุดรังเป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดมหาสารคามเริ่มมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนราวปี พ.ศ. 2388

โดยกลุ่มคนจากบ้านผำใหญ่ เมืองสุวรรณภูมิ(อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน) ผู้นำที่พามาตั้งชุมชนคือหลวงพ่อสำเร็จลุน ก่อนปีพ.ศ.2388 หลวงพ่อสำเร็จลุนได้เดินธุดงค์มาถึงพื้นที่โคกบักแกว(บริเวณทิศใต้ของปรางค์กู่กุดรัง) แล้วเกิดอาพาธท่านจึงพักจำพรรษาอยู่ ณ บริเวณนั้นท่านเห็นว่าบริเวณโคกบักแกวมีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งน้ำและเป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก เมื่อท่านหายจากอาการอาพาธจึงเดินทางกลับไปบ้านผำใหญ่แล้วชักชวนลูกหลานให้โยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านอยู่บริเวณโคกบักแกว ในขณะนั้นก็ยังมีกลุ่มคนจากเมืองชนบทย้ายเข้าตั้งถิ่นฐานร่วมด้วยอยู่บริเวณโคกบักเค็งด้วย ลักษณะชุมชนเริ่มแรกจะอยู่ตามที่นาของตน ชุมชนในขณะนั้นมีประมาณ 10 หลังคาเรือน อยู่ได้ไม่นานนักเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนทั้งสองกลุ่มย้ายถิ่นฐานไปตั้งบ้านอยู่บริเวณ หนองคูไซ (พื้นที่ทางทิศใต้ บ้านหัวช้าง ตำบลกุดรังในปัจจุบัน) อยู่บริเวณหนองคูไวได้สักระยะหนึ่งเกิดโรคระบาดขึ้นอีกครั้งทำให้ต้องมีการอพยพหนีโรคระบาดอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มหนึ่งหนีไปตั้งบ้านอยู่บริเวณบ้านหนองบัว ตำบลกุดรังในปัจจุบัน และคนอีกกลุ่มได้มาตั้งบ้านอยู่บริเวณชุมชนกุดรังในปัจจุบัน ราว ปี พ.ศ. 2411

การอพยพเข้ามาตั้งในบริเวณที่เรียกว่าดอนหันนี้อพยพเข้ามาโดยการนำของกลุ่มสายตระกูลมัชฌิมา  และตระกูลศรีหนองโคตร ซึ่งพาชาวบ้านประมาณ 20 หลังคาเรือนเข้ามาจับจองพื้นที่อยู่อาศัย โดยการชักชวนชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณแห่งนี้เนื่องจากเห็นว่าบริเวณนี้มีพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นเนินสูงเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นในบริเวณนี้ และเรียกบริเวณใหม่นี้ว่า บ้านกุดรัง ซึ่งที่มาของคำว่ากุดรัง มาจากสิ่งแรกที่ชาวบ้านเห็นภายในหมู่บ้าน ซึ่งก็คือบริเวณแม่น้ำที่มีลักษณะเป็นกุดที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีรังของจระเข้อยู่  เมื่ออพยพเข้ามาชาวบ้านต่างก็จับจองพื้นที่ในการตั้งบ้านเรือนของตนเอง  การตั้งบ้านเรือนในระยะแรกนั้น เป็นการตั้งบ้านเรือนแบบกระจัดกระจายกันอยู่ตามที่ดินที่ตนจับจอง โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะยึดบริเวณใกล้หนองน้ำเป็นหลัก  ซึ่งการก่อสร้างบ้านเรือนในระยะแรกนั้นเป็นลักษณะคล้ายกับบ้านอีสานโดยทั่วไป โดยมีลักษณะเป็นบ้านยกพื้นสูงจากพื้นดิน ใต้ถุนบ้านจะปล่อยโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทั้งยังช่วยป้องกันน้ำท่วม อีกด้วยและใต้ถุนบ้านยังสามารถใช้สำหรับนั่งเล่นใช้เป็นคอกเลี้ยงโค กระบือ หรือทอผ้า การสร้างบ้านเรือนก็จะใช้วัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นหลังคาก็ทำจากหญ้าคา ฝาผนังของบ้านก็ทำจากไม้ ห้องน้ำจะสร้างแยกออกจากตัวบ้าน มียุ้งฉางข้าวอยู่บริเวณใกล้บ้าน ซึ่งจะเห็นได้ว่าบ้านเรือนสมัยก่อนจะใช้ไม้เป็นการสร้างตัวบ้านแทบทั้งหมด เมื่อการตั้งบ้านเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านมีความเห็นร่วมกันว่าภายในหมู่บ้านจะต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครองหมู่บ้าน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2436 ชาวบ้านจึงเกณฑ์แรงงานผู้ชายมาช่วยกันก่อสร้างวัด ซึ่งเป็นวัดแรกภายในชุมชนโดยให้ใช้ชื่อว่า  วัดกลางกุดรัง วัดแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของชาวบ้านในการยึดเหนียวจิตใจ และเป็นสถานที่ในการนัดประชุม ปรึกษาหารือของคนในหมู่บ้าน อีกทั้งวัดยังเป็นสถานที่ศึกษาให้กับเด็กๆ เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้น ชาวบ้านจึงต้องส่งลูกหลานไปเรียนที่วัด 

การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเป็นแบบเรียบง่าย มีการพึ่งพาอาศัยกันภายในชุมชนการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านอาศัยพึ่งพาธรรมชาติ ชาวบ้านมีอาชีพทำนาเป็นหลัก เพราะข้าวคือปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต ซึ่งนาในสมัยก่อนเป็นนาดำ วิธีการทำนามีลักษณะล้าหลังมาก ต้องอาศัยแรงงานคน  สัตว์ จอบ  คราด และน้ำฝนเป็นหลัก เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะไปบอกกล่าวให้เพื่อนบ้านมาลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยกัน ในสมัยก่อนยังไม่มีโรงสี  ชาวบ้านจะใช้วิธีฟาดข้าว เมื่อได้ข้าวมาชาวบ้านก็จะนำข้าวไปเก็บไว้ในเล้าข้าวเวลาจะนำมาหุงก็จะใช้วิธีตำข้าว และฝัดข้าว

ชุมชนกุดรังได้เกิดการขยายครอบครัวเพิ่มมากขึ้นด้วยการแต่งงาน  โดยการแยกออกมาสร้างครอบครัวใหม่ นอกจากนี้คนภายนอกชุมชนเห็นว่าบริเวณที่ตั้งนี้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จึงได้พากันอพยพเข้ามาทีละเล็กทีละน้อย  จึงทำให้เกิดเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลทำให้ประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปรากฏว่ามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นถึง 100 กว่าหลังคาเรือน เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชุมชนเกิดความแออัด เนื่องจากพื้นที่ที่มีความหนาแน่น ส่งผลทำให้ที่ดินไม่เพียงพอแก่การทำมาหากิน  ประชาชนบางส่วนจึงขยายกันออกไปแสวงหาพื้นที่ทำมาหากินแห่งใหม่ที่มีพื้นที่กว้างขวางกว่าเดิม มีผลทำให้เกิดหมู่บ้านใหม่ คือบ้านหัวช้าง และบ้านหนองบัวเมื่อจากหมู่บ้านเล็กๆได้ขยายเป็นหมู่บ้านใหญ่ ต่อมา ในปีพ.ศ.2457 มีการพัฒนาทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาสู่ชุมชน การแพทย์สมัยใหม่นี้ที่มีการรักษาได้ตรงกับโรค ทำให้ลดอัตราการตายของประชากรลงเป็นอย่างมาก และยังมีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้บ้านกุดรังมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดการขยายตัวของชุมชนและพื้นที่การทำมาหากินเพื่อรองรับการเพิ่มอย่างต่อเนื่องของคนในชุมชน เมื่อประชากรเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ทำให้มีหมู่บ้านเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 10 หมู่บ้าน จึงได้รวมหมู่บ้านทั้งหลายนี้เข้ามาไว้ในตำบลกุดรัง   เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง ดังนั้นบ้านกุดรังจึงมีสภาพเป็นเสมือนหมู่บ้านแม่ โดยการยุบรวมหมู่บ้านนั้นมีส่วนจากโครงการการปฎิรูปตามการแบ่งเขตการปกครองของรัชกาลที่5 เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง และการจัดสรรเรื่องงบประมาณการพัฒนาให้กับหมู่บ้านจากการปฏิรูปการปกครองนั้น จำเป็นต้องมีการเลือกผู้นำขึ้น  ดังนั้นในปี พ.ศ. 2457 ชาวบ้านได้เลือกให้นายสิมมา มัชฌิมา เป็นกำนันคนแรกเนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ หลังจากการขยายตัวของชุมชนเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ.2458 ชาวบ้านได้ช่วยกันย้ายวัดกลางกุดรัง ซึ่งเดิมตั้งอยู่กลางหมู่บ้านออกมาตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของหมู่บ้าน เนื่องจากจำนวนเด็กนักเรียนได้เพิ่มมากขึ้น จึงได้ใช้สถานที่ตั้งของวัดกุดรังเดิมเปลี่ยนมาสร้างเป็นโรงเรียนชื่อว่าโรงเรียนบ้านกุดรัง 

ถนนที่ใช้ภายในหมู่บ้านนั้นเป็นเส้นทางสัญจรที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างสักเท่าไร เป็นแค่เส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินเท้าไปมาเท่านั้น ลักษณะทางเดิน เป็น ทรายบ้าง โคลนตมบ้าง ดินเหนียวบ้าง แปรสภาพไปตามฤดูกาล ซึ่งการเดินทางในขณะนั้นยากลำบากและยังไม่มียานพาหนะใช้ ยังใช้สัตว์และเท้าเดินทางอยู่หรือใช้เกวียนในการเดินทาง หรือหรือเกวียนสำหรับบรรทุกสิ่งของ ถนนที่ใช้สัญจรในขณะนั้น แต่จะมีถนนอยู่เส้นหนึ่งถนนเส้นแรกภายในหมู่บ้านคือเส้นจากบ้านกุดรังไปอำเภอชลบท จังหวัดขอนแก่น และเป็นเส้นกุดรังไปอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยเป็นเส้นทางที่ใช้เพื่อติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียงและไปค้าขายเล็กๆน้อยๆเท่านั้น

บ้านกุดรังได้รับการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคจากรัฐ เช่น ถนน ไฟฟ้า จึงทำให้การติดต่อซื้อขายระหว่างหมู่บ้านกับ อำเภอโกสุม บรบือ บ้านไผ่ มีความสะดวกสบาย  ร้านค้าในหมู่บ้านเกิดขึ้นมาหลายร้าน อาชีพอิสระเกี่ยวกับการค้าการบริการและเทคโนโลยีได้ขยายเข้าสู่หมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น  เรียกได้ว่าเป็นยุคที่เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อขาย โดยมีปอเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่เข้ามา ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านกุดรังพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การปรับตัวบางครั้งก็ไม่ได้มีความสมดุลกับสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนในอดีตแบบพื้นบ้าน 

อาชีพหลักของชาวบ้านรายได้หลักขึ้นอยู่กับการทำนา เมื่อก่อนการทำนาต้องใช้ทั้งแรงงานคน และแรงงานสัตว์  แต่ในปี พ.ศ. 2494 มีการนำรถไถเข้ามาในหมู่บ้านโดยนายคุณ รัชชุรี ซื้อมาจากอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการทุ่นแรงในการทำนาเมื่อชาวบ้านเห็นว่ารถไถย่นระยะเวลาในการทำนาได้  จึงนำวัวควายของตนที่เลี้ยงไว้นั้นไปขายเพื่อซื้อรถไถ แต่เมื่อพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่เข้ามา ชาวบ้านก็หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนั้นมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของบ้านกุดรังเริ่มจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ปอ ชาวบ้านได้เริ่มปลูกปอกันอย่างกว้างขวาง ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2495- 2500 ซึ่งปลูกเป็นเวลา5 ปี จะเห็นได้ว่าอาชีพหลักของคนในหมู่บ้าน คือการทำนา และอาชีพเสริมของคนในหมู่บ้านคือ การปลูกปอแก้ว ซึ่งเมื่อนำปอมาแช่น้ำจะสามารถนำมาทำเชือกและเย็บทำเป็นกระสอบได้ การผลิตเพื่อการขายของชาวบ้านกุดรังจึงได้เริ่มขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. 2494 โดยมีนายนวล มัชชิมา ได้ทำการรับซื้อปอจากคนในหมู่บ้านเพื่อนำไปขายต่อให้พ่อค้าที่อำเภอบ้านไผ่  โดยปอที่รับซื้อในช่วงนั้นยังไม่ได้แช่น้ำราคากิโลกรัมละ 25 สตางค์ เมื่อชาวบ้านเห็นว่าปอสามารถทำรายได้ให้แก่ครอบครัว จึงเริ่มนิยมปลูกกันมากขึ้น  มีการนำปอพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาปลูก เช่น ปอจีน ปอเขียวใหญ่ ปอกระเจา การปลูกปอของชาวบ้านในช่วงนี้ปรากฏว่าปอจีนและปอเขียวใหญ่เป็นปอที่เติบโตได้ดี  ส่วนปอกระเจาเป็นปอที่ขายได้ราคาดีเพราะเป็นปอที่ปลูกยากและทำการลอกลำบาก สำหรับปอแก้วที่ปลูกกันมาตั้งแต่เริ่มปลูกใหม่ ๆ ในหมู่บ้านชาวบ้านยังคงนิยมปลูกกันมากที่สุด พืชชนิดนี้ได้ทำให้ชาวบ้านกุดรังเริ่มทำการเกษตรเพื่อการขาย ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีรายได้กันมากขึ้น นอกจากรับซื้อปอแล้วนั้น  นายนวล มัชชิมา ยังเป็นผู้นำเครื่องสีข้าวมาติดตั้งภายในหมู่บ้านด้วย ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ชาวบ้านประหยัดเวลาและทุ่มเทไปกับการปลูกปอได้มากยิ่งขึ้น 

เมื่อชาวบ้านมีรายได้ จึงเกิดธุรกิจภายในครอบครัวขึ้น นั่นก็คือการค้าขาย ร้านค้าร้านแรก เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2498 เป็นของนายพินิจ ปะหะกิจ ซึ่งขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไปให้แก่ชาวบ้าน ในปี พ.ศ. 2500  มีการนำเอาจักรยานและมอเตอร์ไซค์เข้ามาในหมู่บ้าน โดยจักรยานคันแรกเป็นของ นายทองใบ อินทวัน  และรถมอเตอร์ไซด์คันแรกเป็นของ นายสมบูรณ์ บัวลาย ทำให้การเดินทางของชาวบ้านเปลี่ยนจากที่เคยเดินทางด้วยการเดินเท้าและใช้เกวียนเป็นพาหนะ ได้เริ่มเปลี่ยนหันมาใช้จักรยานและมอเตอร์ไซค์ ในปี พ.ศ.2501 นายนวล มัชฌิมา และนายจันทร์ บัวเผื่อน ได้นำรถยนต์บรรทุกคันแรกเข้ามาในหมู่บ้านพร้อมกัน เพื่อรับจ้างบรรทุกผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านไปขายยังตลาด แต่การขนส่งในขณะนั้นใช้เวลานานพอสมควร เพราะถนนมีสภาพเป็นทางเกรียนที่เต็มไปด้วยดินทราย ในปี พ.ศ.2504 -2508 เริ่มมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาให้ชาวบ้านได้ทดลองใช้  เช่น  มีการนำปุ๋ยวิทยาศาสตร์เข้ามาทดลองใช้ในหมู่บ้าน โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่วนราชการและพ่อค้าในตลาด ทำให้ชาวบ้านที่ไม่เคยใช้เกิดความสนใจจึงซื้อมาใช้บ้าง ต่อมาได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และในปี พ.ศ.2508 ได้เกิดสถานที่ราชการขึ้นในหมู่บ้าน 2 แห่ง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรตำบลกุดรัง และสถานีอนามัยตำบลกุดรัง เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองได้เข้ามามีส่วนรวมทำงานกับบรรดาผู้นำหมู่บ้านรวมทั้งชาวบ้านกุดรังด้วย ส่วนผู้สูงอายุหรือปราชญ์ชาวบ้านบางคนที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำถูกเปลี่ยนให้เป็นผู้นำทางพิธีกรรมและกิจกรรมทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเจ้าอาวาสวัดกลางกุดรังซึ่งขณะนั้นคือ พระครูพิพัฒน์ศีลคุณ เป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของชาวบ้าน ฉะนั้นเมื่อมีการประชุมวางแผนหรือกิจกรรมต่าง ที่เกี่ยวข้องกับงานส่วนรวมของหมู่บ้าน ส่วนมากได้ประสานงานกับเจ้าอาวาสวัดกลางกุดรังมาโดยตลอด

ในช่วงปี พ.ศ. 2511 – 2517 เป็นช่วงที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งนานติดต่อกันถึง 7 ปี ทำให้ไม่สามารถทำนา และทำการเกษตรได้ ชาวบ้านจึงพากันออกไปรับจ้างหารายได้นอกหมู่บ้าน บางกลุ่มไปรับจ้างก่อสร้างที่อำเภอโกสุมพิสัย บางกลุ่มไปรับจ้างหักข้าวโพดที่อำเภอปากช่อง จังหวัดโคราช(นครราชสีมา) นอกจากการไปรับจ้างนอกหมู่บ้านแล้ว ในช่วงที่ชาวบ้านประสบปัญหาภัยแล้งยังส่งผลให้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านจากที่เคยปลูกปอเป็นอาชีพที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ แต่เนื่องจากประสบภัยแล้งไม่มีน้ำมาปลูกปอ ชาวบ้านก็ได้เปลี่ยนจากที่เคยปลูกปอหันมาปลูกมันสำประหลังแทน

จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในตำบลกุดรัง ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น ระบบเงินตราเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการอุปโภคและบริโภคของชาวบ้านเมื่อระบบเงินตราเข้ามีบทบาทมากขึ้นนั้นทำให้ชาวบ้านเกิดความอยากได้อยากมีตามๆ กันไป เพราะเหตุนี้จึงทำให้คนในชุมชนต้องส่งลูกหลานออกไปหางานทำเพื่อนำรายได้ที่ได้จากการทำงานกลับเข้ามาพัฒนาบ้านของตนเองให้มีความเท่าเทียมกันกับบ้านหลังอื่นๆ

จากการเพิ่มของจำนวนประชากรในพื้นที่เขตการปกครองตำบลกุดรัง ตามมาตรา 64 และ 65 พระราชบัญญัติการปกครองส่วนท้องที่ ปี พ.ศ. 2457 ตามกระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีการแบ่งแยกเขตการปกครองเพื่อการดูแลการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง โดยในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2538 กุดรังได้แยกการปกครองเป็นกิ่งอำเภอกุดรัง และขึ้นตรงการปกครองต่ออำเภอบรบือสำนักงานกิ่งอำเภอกุดรัง ตั้งอยู่ที่ศูนย์พัฒนาที่ดินเขต 5 ในบริเวณพื้นที่บ้านกุดรัง มีนาย สังคม  อัตถากร เป็นหัวหน้าปลัดกิ่งอำเภอกุดรังคนแรก 

ในปีพ.ศ. 2540 มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้นที่บ้านกุดรังหมู่ที่ 1 มีอาจารย์จากอำเภอชนบท  จังหวัดขอนแก่นมาเป็นครูสอนให้ลายที่เป็นกลายมาเป็นเอกลักษณ์ผ้าไหมของบ้านกุดรัง ก็คือลายสร้อยดอกหมาก ซึ่งถือได้ว่ากลุ่มทอผ้าไหมบ้านกุดรังนี้เป็นจุดเริ่มต้นของผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากก็ว่าได้ นอกจากนี้ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากยังได้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดมหาสารคามด้วย ด้วยเหตุนี้ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมและเป็นอาชีพเสริมให้กับกลุ่มแม่บ้านในเขตตำบลกุรังด้วย ในปีเดียวกันนี้เองได้มีการสร้างตึกแถวตึกแรกขึ้นที่บ้านโสกขุ่น หมู่ที่ 10 คนที่เป็นเจ้าของตึกแห่งแรกคือ นางบุญหนา ชาสมบัติ ซึ่งได้ให้คนมาจากโกสุมมาสร้างตึกให้แต่สร้างไม่เสร็จก็ขายให้นายหน้าแล้วก็หายเงียบไปเลยทำให้เจ้าของที่มาซื้อมี่คืนและได้สร้างต่อเติมต่อ หลังจากที่ตึกแถวสร้างเสร็จก็มีผู้คนเข้ามาเช่าตึกแถวอยู่คนที่เข้ามาก็มาจากที่อื่นที่เข้ามาเช่าอยู่ เช่าไว้เปิดร้านขายของ ส่วนมากมีแต่คนจากทางอื่นเข้ามาอยู่ ส่วนคนในพื้นที่ก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้านพากันออกไปทำไร่ทำนา พอมีตึกแถวขึ้นก็มีการสร้างตึกอื่นๆขึ้นเรื่อยๆทำให้ชุมชนมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจชุมชน และผู้คนเข้ามาลงทุนมากๆทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เจริญและเป็นชุมชนที่ทันสมัยถึงปัจจุบัน

บ้านกุดรัง หมู่ที่ 1 ,16  ตำบลกุดรัง อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม อยู่ห่างจากตัวอำเภอกุดรังประมาณ  3 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มสลับที่ดอนเป็นลูกคลื่น มีป่าโปร่งและป่าละเมาะ ลักษณะของดินเป็นดินร่วนปนทราย ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การทำไร่อ้อย มันสำปะหลังและข้าวนาปี และมีอาชีพเสริมคือการทอผ้าเพื่อจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ของครัวเรือน บ้านกุดรังมีพื้นที่ 

ปัจจุบันจำนวนประชากรบ้านกุดรังทั้ง 2 หมู่ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 449 คน 

 กลุ่มทอผ้าไหม : บ้านกุดรัง หมู่ 1 และ หมู่ 16

ชาวบ้านกุดรังมีประเพณีที่คนในหมู่บ้านได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือ ฮีตสิบสอง แปลว่าประเพณีทั้ง 12 เดือนของสังคมอีสาน นอกจากบุญทั้ง 12 เดือนที่คนในชุมชนกุดรังปฏิบัติกันแล้ว บุญหรือประเพณีที่ชุมชนทำกันในทุกๆปี คือ ประเพณีสรงน้ำปรางค์กุดรัง ที่จะทำขึ้นใน วันที่ 20 เมษายน ของทุกปี โดยความเชื่อของคนในชุมชนกุดรังและคนในชุมชนใกล้เคียงเชื่อว่า ปรางค์กู่กุดรัง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์การสรงน้ำปรางค์กู่กุดรังก็เพื่อเป็นการขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองคนในชุมชนและสัตว์เลี้ยงให้ปราศจากอันตรายที่จะเข้ามารบกวนและยังให้ช่วยคุ้มครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขอีกด้วย

  • นางไพเราะ ชินสุทธิ์  : ปราชญ์ชุมชนด้านการทอผ้าไหม

  • แหล่งทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก แห่งแรกของจังหวัดมหาสารคาม
  • ประเพณีสรงปรางค์กู่กุดรัง

คนในชุมชนกุดรังใช้ภาษาลาว (ภาษาอีสาน) ในการพูดสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้ติดต่อราชการ 


การเปลี่ยนแปลงของบ้านกุดรังเริ่มจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ปอ ชาวบ้านได้เริ่มปลูกปอกันอย่างกว้างขวาง ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2495- 2500  ซึ่งปลูกเป็นเวลา 5 ปี จะเห็นได้ว่าอาชีพหลักของคนในหมู่บ้าน คือการทำนา และอาชีพเสริมของคนในหมู่บ้านคือ การปลูกปอแก้ว ซึ่งเมื่อนำปอมาแช่น้ำจะสามารถนำมาทำเชือกและเย็บทำเป็นกระสอบได้

ปีพ.ศ. 2540 มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้นที่บ้านกุดรังหมู่ที่ 1 มีอาจารย์จากอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นมาเป็นครูสอนให้ลายที่เป็นกลายมาเป็นเอกลักษณ์ผ้าไหมของบ้านกุดรัง ก็คือ ลายสร้อยดอกหมาก ซึ่งถือได้ว่ากลุ่มทอผ้าไหมบ้านกุดรังนี้เป็นจุดเริ่มต้นของผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากก็ว่าได้  นอกจากนี้ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากยังได้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดมหาสารคามด้วย ด้วยเหตุนี้ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมและเป็นอาชีพเสริมให้กับกลุ่มแม่บ้านในเขตตำบลกุรัง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาพป้ายศูนย์ทอผ้าไหม บ้านกุดรัง.(2565).ชุมชนท่องเที่ยว บ้านกุดรัง หมู่1ตำบลกุดรัง อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566. จาก, https://www.facebook.com/photo/?fbid=4264400253663238&set=pcb.4264415363661727

ภาพจุดเช็คอินบ้านกุดรัง.(2565).ชุมชนท่องเที่ยว บ้านกุดรัง หมู่1ตำบลกุดรัง อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566. จาก, https://www.facebook.com/photo/?fbid=4002703806499552&set=pcb.4002706826499250