ชุมชนที่ตั้งซ้อนทับอยู่บนเมืองโบราณนครจำปาศรี ปรากฏหลักฐานทางโบราณวัตถุสถานในวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี และวัฒนธรรมเขมร
ตั้งชื่อชุมชนตามโบราณสถานที่ปรากฏในชุมชน คำว่า กู่ หมายถึง คำที่ใช้เรียกสถูปหรือเจดีย์ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย บางท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้เรียกปราสาทขอม เช่น จังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เป็นต้น
ชุมชนที่ตั้งซ้อนทับอยู่บนเมืองโบราณนครจำปาศรี ปรากฏหลักฐานทางโบราณวัตถุสถานในวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี และวัฒนธรรมเขมร
ประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านกู่สามารถแบ่งเป็นมิติเวลาตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เป็นช่วงๆดังนี้
มิติเวลาที่ 1 ก่อนตั้งชุมชนบ้านกู่ - พ.ศ. 2416
พื้นที่บริเวณโดยรอบของชุมชนบ้านกู่และบ้านโนนเมือง เดิมเป็นอาณาบริเวณของเมืองโบราณ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณตำบลกู่สันตรัตน์ เรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า “นครจำปาศรี” ตามความเข้าใจของคนในชุมชน เมืองแห่งนี้มีอายุอยู่ในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 จากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. 2533 – 2534 ทำให้ทราบว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาต้นแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยจากหลักฐานทางด้านโบราณคดี เช่น การพบหลักฐานทางด้านโลหะกรรม และการฝังศพครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
นอกจากหลักฐานดังกล่าวที่แสดงให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านกู่มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ยังพบหลักฐานที่แสดงให้ทราบว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความเจริญมาถึงช่วงสมัยทวารวดี คือราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ปรากฏร่องรอยคูน้ำคันดินรูปไข่สองชั้นล้อมรอบเมืองปัจจุบันคือ กุดทอง กุดฮีเหนือ กุดฮีใต้ หนองกุดกลาง หนองกุดอ้อ สระบัว เป็นต้น ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนในนครจำปาศรีนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักเนื่องจากได้พบซากโบราณสถานในพุทธศาสนา อยู่บริเวณบ้านสระบัว และที่ทำให้ทราบได้อย่างแน่ชัดว่าเมืองคือการขุดค้นในปี 2522 ที่มีผู้พบพระพิมพ์ในวัฒนธรรมแบบทวารวดีเป็นจำนวนมากรวมไปถึงการพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเทียบเคียงรุปแบบทางศิลปะตรงกับสถูปที่สลักลงในใบเสมาในวัฒนธรรมแบบทวารวดี นักโบราณคดีเชื่อว่าโบราณวัตถุที่พบมีอายุใกล้เคียงกับเมืองฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เมื่อวัฒนธรรมแบบทวารวดีเริ่มเสื่อมอำนาจลง วัฒนธรรมเขมรที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรพระนครได้แพร่ขยายเข้ามาทำให้นครจำปาศรีเกิดการปรับตัวและในที่สุดก็มีการรับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามาในดินแดน หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมดังกล่าวคือ โบราณสถานเช่น กู่น้อย ศาลานางขาว(ซึ่งอาจจะเปลี่ยนศาสนสถานเดิมเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมแบบเขมร) กู่สันตรัตน์ โบราณวัตถุต่างๆ เช่น จารึก(ศาลานางขาว) รูปเคารพในศาสนา และการพบภาชนะเคลือบสีน้ำตาล ในช่วงเริ่มแรกศาสนาหรือความเชื่อในวัฒนธรรมเขมรที่เข้ามาก่อนคงจะเป็นความเชื่อในศาสนาฮินดู โดยหลักฐาน กู่น้อย กล่าวคือบริเวณกู่น้อย มีการขุดคูน้ำเป็นรูปเกือกม้า และรูปเคารพแบบศิลปะแบบบาปวนซึ่งนิยมทำกันในวัฒนธรรมเขมรราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 (ศุภชัย นวการพิศุทธิ์, 2535)วัฒนธรรมความเชื่อแบบฮินดูเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 17- 18 ความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบมหายานได้แพร่เข้ามาแทนที่ศาสนาฮินดูที่เจริญรุ่งเรือง ทำให้เกิดศาสนสถานในความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบมหายานขึ้นในนครจำปาศรี คือกู่สันตรัตน์ ซึ่งเป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาลในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างตามเส้นทางไปยังเมืองสำคัญของราชอาณาจักรของพระองค์
จากหลักฐานดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทำให้ทราบได้ว่าพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านกู่มีความสำคัญและมีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ครั้นสมัยก่อนประวัติศาสตร์และอยู่เรื่อยมาจนถึงวัฒนธรรมเขมรจนเมื่ออาณาจักรกัมพูชาเริ่มเสื่อมอำนาจลงจากการทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา ทำให้ดินแดนบริเวณดังกล่าวถูกทิ้งให้รกร้าง เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางในการส่งเครื่องใช้ประจำปีมาให้ และคงจะเป็นเพราะปัจจัยที่ทำให้ผู้คนในเมืองโบราณนครจำปาศรีต้องทิ้งบ้านเมืองไปอยู่ที่อื่น ก่อนที่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-24 ผู้คนจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทำการอพยพเข้ามายังภาคอีสานทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองโดยกลุ่มวัฒนธรรมลาว ชุมชนบ้านกู่ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ผู้คนได้ทำการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น ณ บริเวณดังกล่าว
เมื่อผู้คนจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเคลื่อนย้ายเข้ามายังดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดเมืองสำคัญๆ หลายเมืองเกิดขึ้น เช่น เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองยโสธร เมืองอุบลราชธานี ฯลฯ ผู้คนจากเมืองใหญ่เหล่านั้น ในบางครั้งก็ต้องการแสวงหาที่ทำมาหากินใหม่ บรรพบุรุษของชุมชนบ้านกู่นั้น อพยพมาจากเมืองสุวรรณภูมิ และเมืองเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระธุดงจากเมืองสุวรรณภูมิ เดินทางมาปักกรดในบริเวณที่ตั้งบ้านเมื่อครั้งเริ่มแรกท่านเห็นว่าพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ใกล้แหล่งน้ำเหมาะแก่การอยู่อาศัยทำเกษตรกรรม ท่านเดินทางกลับจึงไปบอกให้แก่ญาติพี่น้องให้รู้จึงได้พากันย้ายมาตั้งบ้านเรือนในที่ทำกินใหม่ ณ บ้านโนนสูง หรือ เนินบ้านเก่า (อยู่ห่างจากที่ตั้งของชุมชนไปทางด้านทิศเหนือราว 1 กิโลเมตร) เหตุที่ชื่อว่า บ้านโนนสูง เพราะ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่ามีลักษณะเป็นเนินสูงและมีพื้นที่ลาดเหมาะแก่การทำการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ บ้านผู้คนตั้งอยู่บนเนินจึงให้ชื่อว่า “บ้านโนนสูง”
โดยกลุ่มของนายจานดี มาตั้งถิ่นฐานอยู่แถบนี้เป็นครอบครัวแรกๆ และมีครอบครัวอื่นๆตามมาอยู่เรื่อย ๆ อยู่ต่อมาได้ประมาณ 30 ปี กว่า ๆ เกิดโรคห่าระบาด ทำให้เกิดการแตกบ้าน อพยพหนีโรคระบาดในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2416 ซึ่งกลุ่มหนึ่งได้อพยพลงมาทางใต้ นำโดย ขุนพันนา พาลูกบ้านมาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ๆกู่ มีลักษณะเป็นเนินเมืองเก่า เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และห่างไกลพอที่จะหนีโรคระบาดได้ เมื่อตั้งหมู่บ้านจึงเรียกชื่อบ้านตามโบราณสถาน โดยชื่อว่า บ้านกู่ (ในปัจจุบันพื้นที่บ้านโนนสูงเป็นป่ารกเรียกกันอย่างเข้าใจง่ายๆว่าเนินบ้านเก่า)และกลุ่มทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ห่างจากบ้านกู่ประมาณ 500 เมตร เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นเนินสูงๆ นำโดยนายจ่า และนายจ่อ เเยกตัวออกไปตั้งบ้าน เป็นคุ้มบ้านเล็กๆ โดยเรียกว่าคุ้มโนนเหมียดแอ่ ซึ่งเป็นคุ้มน้อย ในเรื่องของการปกครองนั้นจะต้องขึ้นตรงกับคุ้มใหญ่หรือบ้านกู่ เพราะถึงแม้ทั้งสองคุ้มจะแยกเป็นกันอยู่ แต่ทั้งหมดคือหมู่บ้านเดียวกันนั้นเอง(ซึ่งต่อมาจะแยกออกเป็นบ้านโนนเมืองในปัจจุบัน)
มิติเวลาที่ 2 ตั้งชุมชนบ้านกู่ 2417 -2514
หลังจากที่ผู้คนได้อพยพหนีโรคระบาดจึงทำให้ชาวบ้านโนนสูงแยกออกเป็นหลายกลุ่มหลายหมู่บ้าน หมู่บ้านใหญ่ๆที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น บ้านสระบัว บ้านยางอีลัย(อิไล) และบ้านกู่ สำหรับบ้านกู่อพยพผู้คนจากบ้านโนนสูงลงมาทางทิศใต้ โดยการนำของ ขุนพันนา พาชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตรงบริเวณ กู่สันตรัตน์ และตั้งหมู่บ้านขึ้น ในปี พ.ศ. 2417 การปกครองของบ้านกู่ แบ่งออกเป็น 2 คุ้ม คือ คุ้มใหญ่อยู่บ้านกู่ กับคุ้มน้อย หรือ คุ้มเหมียดแอ่ อยู่ห่างจากคุ้มใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 500 เมตร ต่อมาได้แยกเป็นโนนเมืองในปัจจุบัน ผู้คนในช่วงนี้ใช้วิธการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายคือ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการหาเลี้ยงชีพ เช่น หาของป่าจากป่าชุมชนบริเวณกู่ และหาปลาจากคูน้ำโบราณ หรือ กุดทอง กุดฮีใต้ หนองกุดกลาง หนองกุดอ้อ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างชุมชน เช่น บ้านกู่เอาของป่าไปแลกข้าวที่บ้านสระบัว เอาเกลือไปแลกปลากับบ้านหนองเปื่อยน้อย การช่วยเหลือเกื้อกูลกันนี้มีรากฐานสำคัญอยู่ที่วัฒนธรรมเสี่ยว (มิตรสหาย) และการนับถือผีตัวเดียวกัน คือปู่เจ้าโฮงแดง ผีบรรพบุรุษซึ่งสถิตอยู่ที่กู่สันตรัตน์ชีวิตในช่วงนี้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และมีการขยายตัวของชุมชนออกจากบ้านกู่ เพราะพื้นที่ในการอยู่อาศัย แอร์อัดจนเกินไป อีกทั้งบางส่วนต้องการไปอยุ่ตามที่ไร่ที่สวนของตนจึงได้แยกการปกครอง เช่น บ้านดงสวรรค์ ปี พ.ศ 2499 บ้านหนองแคนน้อย ปี พ.ศ. 2454
ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมของชุมชนบ้านกู่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนกู่สันตรัตน์ทำให้พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งทรัพยากรของชุมชนถูกปรับแต่งจากที่เคยเป็นป่ารกทึบก็เริ่มสะอาดตาและหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จกลับ กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจ ศึกษา และทำการบูรณะมีการปรับภูมิทัศน์ให้ร่มรื่น สวยงาม และเกิดการจ้างงานคนในชุมชนในการเป็นแรงงานในการขุดแต่งโบราณสถาน โดยกรมศิลปากรจะจ้างคนในชุมชนขุดหลุมโดยให้ค่าจ้างวันละ 10 บาทต่อคน ทำให้ชุมชนเริ่มมีรายได้เข้ามาในชุมชน ผลจากข้อนี้เองส่งผลให้ชุมชนที่เคยใช้การพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเมื่อถูกปรับแต่งภูมิทัศน์บ้างส่วนทำให้ทรัพยากรที่ใช้ในการดำรงชีพเริ่มลดน้อยลง และ การจ้างงานของกรมศิลป์ทำให้ผู้คนในชุมชนบ้านกู่เกิดรายได้ เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน
มิติเวลาที่ 3 การพัฒนาและสร้างตัวตน 2514 – 2537
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 เสด็จกู่สันตรัตน์ทำให้กู่สันตรัตน์เริ่มได้รับความสำคัญจากส่วนราชการมากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนบ้านกู่เริ่มได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆด้วยเช่นกัน เช่นเส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า ระบบสาธาณูปโภค ต่างๆ รวมไปถึงการรับรู้ความสำคัญของพื้นที่ของตนเองจากการเริ่มขุดค้นทางด้านโบราณคดี ในปี 2516 เพราะคนแรงงานที่ใช้ในการขุดค้นส่วนใหญ่เป็นผู้คนในชุมชนซึ่งกรมศิลปากรได้จ้างงานวันละ 10 บาทต่อคน จึงทำให้ชุมชนเกิดรายได้และรวมไปถึงการรับรู้ถึงความสำคัญของพื้นที่เมืองโบราณจำปาศรีด้วย การขุดแต่งในปีนั้น ได้ทำการขุดแต่งที่กู่สันตรัตน์ พบหลักฐานพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย(จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น) กู่น้อยพบรูปสลักหินทรายพระวิษณุ รูปทวารบาล?(พระอิศวร) ศาลานางขาวพบรูปสลักหิน และจารึกศาลานางขาว ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการนำวัตถุที่พบในครั้งนั้นไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น (นายใจ ปัสติ,2565,สัมภาษณ์) จากการขุดค้นครั้งดังกล่าวส่งผลให้คนในชุมชนบ้านกู่ และคนในตำบลสันตรัตน์ ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ของตน
ราว พ.ศ. 2517-2518 ชุมชนบ้านกู่ จึงได้ย้ายวัดไปตั้งยังพื้นที่ปัจจุบันซึ่งใกล้กับกู่สันตรัตน์ ในส่วนนี้สันนิษฐานได้ หลายประการ ประการแรกคือชุมชนต้องการจะแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ต่อโบราณสถานกู่สันตรัตน์ ประการที่สองคือป้องกันการขุดหาสิ่งมีค่าภายในพื้นที่ และประการที่สาม หลังจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจราวปี 2500 คนในชุมชนบ้านกู่เริ่มปลูกพืชที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกเช่น ปอ มันสันปะหลัง ทำให้ต้องการพื้นที่ในการปลูกมากขึ้นจึงทำการย้ายวัดกู่ใต้ไปอยู่ใกล้ๆกู่เพื่อเป็นการจัดการอำนาจเหนือธรรมชาติ (ปู่ขุนศรี) เพื่อจะได้ทำการใช้พื้นที่กู่เดิมที่เป็นพื้นที่รกร้าง เป็นป่าชุมชนในการปลูกพืชนั้นๆ แต่จะด้วยเหตุผลประการในก็แล้วแต่ ส่งผลให้คนในชุมชนเริ่มขยับขยายพื้นที่ และมีการทำการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่ได้รอแต่เฉพาะการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว
ปี 2522 ได้มีการขุดพบพระพิมพ์ดินเผาและพระบรมสารีริกธาตุในบริเวณเนินเจดีย์ร้างกลางทุ่งนา ทำให้เกิดการตื่นตัวของทางส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ปัญญาชน ร่วมไปถึงคนในชุมชนเกี่ยวกับเรื่องของ เมืองโบราณ “นครจำปาศรี” สันนิษฐานว่า ชื่อ นครจำปาศรี อาจจะปรากฏในช่วงนี้ ด้วยเหตุว่าจากหนังสือพิมพ์แจกในงานกฐิน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม โดย พระอริยานุวัตร เขมจารี เขียนว่าท่านได้อ่านในหนังสือผูกที่เขียนถึงชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ว่า นครจำปาศรี แต่หนังสือผูกฉบับนั้นได้สูญหายไปแล้ว เป็นไปได้ว่าช่วงนี้หรือหลังจากนี้ไม่นานมาก จะมากการแต่งนิทานเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้
มิติเวลาที่ 4 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและประดิษฐ์ประเพณี พ.ศ. 2538 – 2565
หลังจากปี 2522 ที่มีการขุดพบพระพิมพ์ดินเผาและพระบรมสารีริกธาตุ ทำให้เกิดการตื่นตัวของทางส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ปัญญาชน ร่วมไปถึงคนในชุมชนเกี่ยวกับความเป็นเมืองโบราณ ราว ทศวรรษที่ 2530-40 หลังจากที่พระธาตุนาดูนสร้างแล้วเสร็จ กรอปกับในช่วงเวลานั้นประเทศไทยได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของส่วนราชการท้องถิ่น ทำให้กู่สันตรัตน์ ที่อยู่ในพื้นที่บ้านกู่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวด้วย จึงมีการปรับปรุงภูมิทัศน์รองรับนักท่องเที่ยว และมีการทำถนนคอนกรีต เพื่อให้สะดวกต่อนักท่องเที่ยวในการเที่ยวชมโบราณสถาน
ปี พ.ศ.2539 คุ้มโนนเหมียดแอ่จึงได้ขอขึ้นทะเบียนตั้งเป็นหมู่บ้านโนนเมือง ที่มีชื่อบ้านโนนเมืองนั้นบริเวณนั้นเป็นที่สูงติดกับคูเมืองเก่า โดยมีพ่อใหญ่บ้านนนท์ เลิศล้ำ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก แต่ทรัพยากรส่วนใหญ่ วัดและป่าชุมชน กู่สัตนรัตน์ก็ยังคงใช้กับบ้านกู่ เพียงแต่ขอแยกการปกครองไปเท่านั้นด้วยเหตุผลอันมาจากงบประมาณในการปกครองของชุมชน (สัมภาษณ์นางสุกัญญา ปะวินทะ.2564)
นอกจากประเพณีการสรงกู่ที่จัดขึ้นในทุกๆปีแล้ว ราว ทศวรรษที่ 2530-40 ได้เกิดการสร้างประเพณีเกิดขึ้นใหม่ คือ งานบวงสรวงกู่สันตรัตน์ โดยจุดประสงค์ของการจัดงานนี้ เพื่อเป็นการบวงสรวงเจ้าเมืองนครจำปาศรี ที่เคยอยู่นะพื้นที่นี้ได้รับรู้ว่าจะจัดงาน นมัสการพระธาตุนาดูนขึ้น โดยงานดังกล่าวนี้ จะจัดขึ้นในช่วงเดือนสาม(เดือนกุมพาพันธ์ของทุกๆปีด้วย) นอกจากจะสร้างความพึงพอใจให้แก่เจ้าปู่ขุนศรีและบรรพชนของนครจำปาศรีให้งานนมัสการพระธาตุเป็นไปด้วยราบรื่นแล้ว นัยยะหนึ่งก็คือเป็นการเชิญให้คนจากภายนอกเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนของตน ส่งผลให้ร้านค้ามีเพิ่มมาขึ้นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนช่วงเทศกาลนี้ด้วย ร่วมไปถึงการเกิดประดิษฐ์การฟ้อนรำใหม่ ชื่อว่า ระบำสันตรัตน์ ซึ่งจะใช้ในงานบวงสรวงกู่สันตรัตน์เท่านั้น โดยนัยยะแล้วคือเป็นการช่วงชิงความเป็นเมืองโบราณกับงานนมัสการพระธาตุด้วย
หลังจากเกิดกระแสการท่องเที่ยวโบราณสถานในนครจำปาศรีส่งผลให้ใน พ.ศ.2547 กู่สันตรัตน์ได้รับการบูรณะอีกครั้ง โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 โดยวิธีการแบบอนัสติโลซิส (วิโรจน์ ชีวาสุขถาวร, 2553)การบูรณะแบบอนัสติโลซีส คือ เทคนิคการศึกษารูปแบบปราสาท แล้วรื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสหรือหมายเลขกำกับไว้ จากนั้นทำเสริมฐานรากใหม่ให้แข็งแรงเช่น ปูนซีเมนต์ เป็นต้น แล้วนำชิ้นส่วนที่กลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย เทคนิควิธีนี้จะไม่สามารถใช้ได้กับปราสาทที่ทำด้วยอิฐ เพราะว่าเปราะบางแตกง่าย แต่จะทำได้เฉพาะหินที่มีลักษณะเป็นก้อน ทำให้ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะได้ปราสาทกลับมา 1 ปราสาท ซึ่งทำให้กู่สันตรัตน์มีความสมบูรณ์มากยิ่งกว่าแต่ก่อนส่งผลให้กู่สันตรัตน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งการเรียนรู้ของคนในจังหวัดมหาสารคาม
หลังจากปี 2547 ที่กู่สันตรัตน์ได้รับการบูรณะทำให้ผู้คนในจังหวัดมหาสารคาม นักเรียน นักศึกษาจากพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้าไปศึกษาหาความรู้โดยใช้กู่สันตรัตน์เป็นแหล่งศึกษา ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ทางความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่มีแต่สถานที่ จากพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งการศึกษาเรียนรู้และยังเป็นพื้นที่ในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนรวมไปถึงผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้เมื่อปี 2556 องค์การบริหารส่วนตำบลกู่สันตรัตน์ได้จัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นทางด้านทิศใต้ของกู่เพื่อจะได้เป็นแหล่งการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับกู่สันตรัตน์ด้วยในช่วงนี้คนในชุมชนบ้านกู่จึงเป็นเสมือนผู้ให้ข้อมูลกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่สนใจ เกี่ยวกับความเป็นเมืองโบราณ โบราณสถาน ประเพณีพิธีกรรมต่างๆเพื่อเผยแพร่เรื่องราวของชุมชนของตนสู่สาธารณชน
ชุมชนบ้านกู่ เป็นชุมชนที่ต้องทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่มาตั้งแต่วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ,ทวารวดี, เขมร คนในชุมชนแต่เดิมมาจากเมืองสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน คนที่มาใหม่กลุ่มนี้เองที่มีความสัมพันธ์กับกู่สันตรัตน์ โดยเชื่อว่าโบราณสถานดังกล่าวเป็นที่สถิตของผีบรรพบุรุษ เหตุนี้เองที่ทำให้ชุมชนมีความสัมพันธ์กับกู่ นอกเหนือจากนนำบริบทดังกล่าวมาตั้งเป็นชื่อบ้านนามเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบ เช่น รัฐเข้ามาพัฒนา หรือเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของชุมชน ปัจจุบันนี้ชุมชนทั้งสองเป็นเสมือนคลังความรู้ของนักเรียน นักศึกษานิสิต ทั้งในจังหวัดมหาสารคามและผู้คนที่สนใจในการให้ความรู้ความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ของเมืองโบราณจำปาศรี
บ้านกู่ ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอนาดูน ห่างจากอำเภอนาดูนประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านต่างๆ ดังนี้ ด้านทิศตะวันออก มีอาเขตติดต่อกับบ้านโนนเมือง ตำบลกู่สันตรัตน์ และบ้านหนองไผ่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอนาดูน ด้านทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านดงสวรรค์และบ้านดงน้อย ตำบลกู่สันตรัตน์ ด้านทิศเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านสระบัว ตำบลกู่สันตรัตน์ ด้านทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับบ้านโพธิ์ทองและบ้านหนองเปือย ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม บ้านกู่มีที่ราบสูงมีลักษณะเป็นที่สูงทางทิศตะวันตกและราบเอียงไปทางทิศตะวันออก ซึ่งพื้นทั้งหมู่บ้านจะเป็นบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงประมาณ 60% และที่ราบน้ำท่วมถึงประมาณ 40% พื้นที่ส่วนนี้เหมาะแก่การทำนา ซึ่งอาศัยน้ำจากธรรมชาติ เพราะน้ำใต้ดินมีรสเค็มมาก ลักษณะดินในบ้านกู่เป็นดินร่วน ดินทราย ดินเหนียว แต่ดินมักมีปัญหา เนื่องจากดินบริเวณนี้เป็นดินเค็มกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทำการเกษตร และปัญหาพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ หรือบางคนต้องเช่าที่ดินเพราะตนไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง
ปัจจุบันจำนวนประชากรบ้านกู่มีทั้งหมด 191 คน ประชากรส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธ์ลาวอีสาน
ชุมชนบ้านกู่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำนาเป็นอาชีพหลักโดยจะทำนาในช่วงเดือน พฤษภาคม - ตุลาคม โดยจะอาศัยน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติในการเพาะปลูก ประเพณีที่สำคัญของชุมชนบ้านกู่คือ ประเพณีสรงกู่สันตรัตน์ เป็นประเพณีเพื่อขอพรให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข และ เพื่อเสียงทายฟ้าฝนในการทำนาในปีนั้นๆตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น โดยจะจัดงานในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
พื้นที่ตั้งของชุมชนบ้านกู่ในอดีตเคยเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีเรื่อยมาจนถึงวัฒนธรรมเขมร จึงปรากฏร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีประเภทโบราณวัตถุ โบราณสถาน ภายในชุมชนสิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างเป็นจุดขายในด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนได้ อันได้แก่ กู่สันตรัตน์, ศาลานางขาว, คูน้ำคันดินโบราณ เป็นต้ปต่อยอดเพื่อสร้างเป็นจุดขายในด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนได้ อันได้แก่ กู่สันตรัตน์, ศาลานางขาว, คูน้ำคันดินโบราณ เป็นต้น
ใช้ภาษาลาวอีสานเป็นภาษาพูด และสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน
ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมของชุมชนบ้านกู่โนนเมืองเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนกู่สันตรัตน์ทำให้พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งทรัพยากรของชุมชนถูกปรับแต่งจากที่เคยเป็นป่ารกทึบก็เริ่มสะอาดตาและหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับ กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจ ศึกษา และทำการบูรณะมีการปรับภูมิทัศน์ให้ร่มรื่น สวยงาม และเกิดการจ้างงานคนในชุมชนในการเป็นแรงงานในการขุดแต่งโบราณสถาน โดยกรมศิลปากรจะจ้างคนในชุมชนขุดหลุมโดยให้ค่าจ้างวันละ 10 บาทต่อคน ทำให้ชุมชนเริ่มมีรายได้เข้ามาในชุมชน
ราว พ.ศ. 2517-2518 ชุมชนบ้านกู่โนนเมือง จึงได้ย้ายวัดไปตั้งยังพื้นที่ปัจจุบันซึ่งใกล้กับกู่สันตรัตน์ ในส่วนนี้สันนิษฐานได้ หลายประการ ประการแรกคือชุมชนต้องการจะแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ต่อโบราณสถานกู่สันตรัตน์ ประการที่สองคือป้องกันการขุดหาสิ่งมีค่าภายในพื้นที่ และประการที่สาม หลังจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจราวปี 2500 คนในชุมชนบ้านกู่โนนเมืองเริ่มปลูกพืชที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกเช่น ปอ มันสันปะหลัง ทำให้ต้องการพื้นที่ในการปลูกมากขึ้นจึงทำการย้ายวัดกู่ใต้ไปอยู่ใกล้ๆกู่เพื่อเป็นการจัดการอำนาจเหนือธรรมชาติ (ปู่ขุนศรี) เพื่อจะได้ทำการใช้พื้นที่กู่เดิมที่เป็นพื้นที่รกร้าง เป็นป่าชุมชนในการปลูกพืชนั้นๆ แต่จะด้วยเหตุผลประการในก็แล้วแต่ ส่งผลให้คนในชุมชนเริ่มขยับขยายพื้นที่ และมีการทำการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่ได้รอแต่เฉพาะการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว
ปี 2522 ที่มีการขุดพบพระพิมพ์ดินเผาและพระบรมสารีริกธาตุ ทำให้เกิดการตื่นตัวของทางส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ปัญญาชน ร่วมไปถึงคนในชุมชนเกี่ยวกับความเป็นเมืองโบราณ ราว ทศวรรษที่ 2530-40 หลังจากที่พระธาตุนาดูนสร้างแล้วเสร็จ กรอปกับในช่วงเวลานั้นประเทศไทยได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของส่วนราชการท้องถิ่น ทำให้กู่สันตรัตน์ ที่อยู่ในพื้นที่บ้านกู่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวด้วย จึงมีการปรับปรุงภูมิทัศน์รองรับนักท่องเที่ยว และมีการทำถนนคอนกรีต เพื่อให้สะดวกต่อนักท่องเที่ยวในการเที่ยวชมโบราณสถาน
ภาพถ่ายทางอากาศนครจำปาศรี.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: www.GoogleEarth.com.