Advance search

ตลาดชุมชนจีนโบราณบ้านชากแง้ว

ตลาดจีนโบราณชากแง้ว, ตลาดจีนชากแง้ว, บ้านหนองชากแง้ว

ชุมชนที่คงความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมร่วมไทย-จีน ผ่านสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตแบบจีนโบราณ

หมู่ที่ 10
บ้านหนองชากแง้ว
ห้วยใหญ่
บางละมุง
ชลบุรี
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
12 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
ตลาดชุมชนจีนโบราณบ้านชากแง้ว
ตลาดจีนโบราณชากแง้ว, ตลาดจีนชากแง้ว, บ้านหนองชากแง้ว

คำว่า “ชากแง้ว” เป็นการเพี้ยนเสียงมาจากชื่อเดิมของ “หนองชะแง้ว” ตามหลักฐานที่พบในนิราศเมืองแกลงที่สุนทรภู่ได้เขียนไว้ระหว่างการเดินทางจากพระนครกลับมาบ้านเกิดที่อำเภอแกลงในปี พ.ศ. 2350


ชุมชนที่คงความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมร่วมไทย-จีน ผ่านสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตแบบจีนโบราณ

บ้านหนองชากแง้ว
หมู่ที่ 10
ห้วยใหญ่
บางละมุง
ชลบุรี
20150
ชุมชนตลาดชุมชนจีนโบราณบ้านชากแง้ว โทร. 08-7984-9360, เทศบาลห้วยใหญ่โทร. 0-3823-9439
12.833333
100.965629
เมืองพัทยา

ตลาดชุมชนจีนโบราณบ้านชากแง้วหรือตลาดจีนชากแง้ว เป็นชุมชนชาวจีนแต้จิ๋วแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาเมื่อร้อยกว่าปีแล้ว คำว่า “ชากแง้ว” เป็นการเพี้ยนเสียงมาจากชื่อเดิมของ “หนองชะแง้ว” ตามหลักฐานที่พบในนิราศเมืองแกลงที่สุนทรภู่ได้เขียนไว้ระหว่างการเดินทางจากพระนครกลับมาบ้านเกิดที่อำเภอแกลงในปีพ.ศ. 2350 ความว่า “ถึงปากช่องหนองชะแง้วเข้าแผ้วถาง แม้นค่ำค้างอรัญวาได้อาศัย” คำว่าชากแง้ว ถูกสันนิษฐานคาดเดาว่ามาจากคำว่า ชะแง้ แต่บ้างก็ว่ามาจาก ชากงิ้ว เพราะละแวกนั้นมีต้นงิ้วขึ้นเป็นป่า แต่คนจีนออกเสียงเพี้ยนเป็นชากแง้ว

ตลาดจีนชากแง้ว ในอดีตพื้นที่ตลาดจีนชากแง้วเต็มไปด้วยป่าและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ช่วงก่อนปีพ.ศ. 2450 เริ่มมีคนไทยเข้าแผ้วถางป่าและจับจองพื้นที่เพื่อทำการเกษตรปลูกมันสำปะหลัง อ้อย และพืชอื่น ๆ เป็นวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม ต่อมาช่วง ปีพ.ศ. 2450 - 2460 เริ่มมีคนไทยจากจังหวัดใกล้เคียงและจังหวัดอื่น ๆ เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่มากขึ้น โดยกลุ่มคนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ทั้งที่อาศัยอยู่ในบริเวณบางละมุงอยู่ก่อนแล้ว และ ที่อพยพมาจากจีนแผ่นใหญ่ ทำให้เกิดการตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชน และเริ่มมีการตั้งโรงงานโม่แป้งมันสำปะหลังขึ้น ในปีพ.ศ. 2480 มีการตั้งโรงเลื่อยเพื่อแปรรูปไม้ และมีการเพิ่มจำนวนของโรงงานโม่แป้งมันสำปะหลังอีกหลายแห่งในพื้นที่ชุมชน บริเวณชุมชนจึงมีผู้คนเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก และมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันในภายชุมชน เช่น โรงหนัง ศาลเจ้า โรงเรียน และตลาดสด เนื่องจากการคมนาคมเข้าถึงชุมชนในสมัยนั้นยังมีความยากลำบาก

ในช่วงปีพ.ศ. 2490 - 2515 เป็นช่วงที่ชุมชนตลาดจีนชากแง้ว มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุด เพราะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำงานและทำการค้า ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้น     การขยายตัวของธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น โรงโม่แป้งมันสำปะหลัง โรงงานน้ำตาล โรงเลื่อย โรงทำเต้าหู้ โรงทำเส้นก๋วยเตี๋ยว โรงฝิ่น และโรงเตี๊ยมที่พักอาศัย เป็นต้น ต่อมาเมื่อ มีการสร้างถนนสุขุมวิท  การพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยรอบและการเริ่มพัฒนาพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การเดินทางที่สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานที่ทำงานในบริเวณชุมชนเริ่มโยกย้ายไปทำงานและอาศัยอยู่ที่อื่น ทำให้ชุมชนมีความซบเซา จนกระทั่งมีการปิดการใช้งานของโรงหนังชากแง้ว ในปีพ.ศ. 2525 บ้านเรือนบางหลังถูกปล่อยทิ้งร้าง ลูกหลานในชุมชนจึงออกไปเรียนและทำงานในเมืองหรือต่างจังหวัด ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนจึงมีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้น ชุมชนจึงซบเซาลงเป็นเวลาหลายสิบปี

ในปี พ.ศ. 2554 เป็นจุดเริ่มต้นเกิดการฟื้นฟูชุมชนตลาดจีนชากแง้ว เพื่อจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากจังหวัดชลบุรีกับเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ได้เลือกตลาดจีนชากแง้วให้เป็นหนึ่งในชุมชนเพื่อเข้าร่วมการจัดการท่องเที่ยว ชุมชนได้ตัดสินใจเข้าร่วม โดยชุมชนร่วมมือกับสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.3 และมีเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ร่วมให้การสนับสนุน ในระยะแรก ๆ ชุมชนมีการนำเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงชุมชน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถแสดงออกถึงเอกลักษณ์อันโดนเด่นของชุมชนออกมาได้ ช่วงปี พ.ศ. 2555 - 2557 ชุมชนตลาดจีนชากแง้วได้เลือกทดลองจัดงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยมีการแสดงงานประเพณีและการจำหน่ายสินค้าในลักษณะถนนคนเดิน มีหน่วยงานท้องถิ่นช่วยประชาสัมพันธ์ ผลการจัดงานพบว่ามีนักท่องเที่ยวมาเป็นจำนวนมากให้ความสนใจ ชุมชนจึงได้ทำการทดลองตลาดและจัดงานเทศกาลไหว้พระจันทร์จนถึงพ.ศ. 2557 รวมเป็นระยะเวลา 3 ปี ในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการเปิดตลาดถนนสายวัฒนธรรมไทย - จีนโบราณ หรือตลาดจีนโบราณบ้านชากแง้ว ในลักษณะถนนคนเดิน และได้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเฉพาะทุกวันเสาร์จนมาถึงปัจจุบัน

ตลาดจีนชากแง้ว ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่กว่า 10 ตารางกิโลเมตร มีคลองคล้ำไหลผ่านชุมชนทางทิศตะวันออก สามารถเข้าถึงชุมชนได้หลายเส้นทาง เช่น การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะสายชากแง้ว – นาเกลือ

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านหนองผักกูด หมู่ที่ 13
  • ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านเนินทราย หมู่ที่ 9
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านมาบฟักทอง หมู่ที่ 11
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านนอก หมู่ที่ 12

สภาพพื้นที่ทางกายภาพลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ส่วนใหญ่ในตำบลห้วยใหญ่เป็นที่ราบสลับเนินเขา มีลำห้วยสาธารณะกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ราบเหมาะแก่การทำการเกษตรกรรม เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง มะพร้าว อ้อย ยางพารา และข้าว สภาพภูมิอาการอบอุ่นตลาดทั้งปี ไม่หนาวมากในฤดูหนาว และไม่ร้อนมากในฤดูร้อน เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทย ฝนจะตกมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม และฝนตกน้อยที่สุด ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 เดือนมีนาคม ระบุจำนวนประชากรและครัวเรือนชุมชนตลาดจีนชากแง้ว จำนวน 1,891 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 4,241 คน แบ่งเป็นประชากรเพศชาย จำนวน 2,113 คน และประชากรเพศหญิงจำนวน 2,128 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว และรองลงมาเป็นกลุ่มคนไทย คนในชุมชนจะมีการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล มีน้ำใจ สามัคคีและมีความรู้สึกเป็นพี่น้องแซ่เดียวกัน

คนจีน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ได้มีคนจีนโพ้นทะเลจากอําเภอโผเน้ง มณฑลกวางเจา ประเทศจีน ซึ่งเป็นเชื้อสายจีนแต้จิ๋วอพยพย้ายเข้ามาอย่บริเวณบ้านชากแง้ว โดยมีการถากถางที่ดิน เพื่อประกอบอาชีพหลักด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกมันสําปะหลัง ซึ่งเกิดโรงโม่แป้ง จํานวนมาก ทําให้มีความต้องการด้านแรงงานขึ้นมากมาย นอกจากนั้นยังมีโรงเผาถ่านและ โรงเลื่อยขนาดใหญ่ ทําให้เกิดการจ้างแรงงานคนไทยจากต่างจังหวัดจํานวนมาก รวมถึงคนจีน ที่อพยพย้ายถิ่นมาจากแหล่งอื่นเพิ่มมากขึ้น ทําให้บ้านชากแง้วเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความเจริญ ร่งเรืองเป็นอย่างมาก เกิดสถาปัตยกรรมในชุมชนและประเพณีอันเก่าแก่จากรุ่นสู่รุ่น

จีน

ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหนองชากแง้ว

เป็นกลุ่มการบริหารจัดการกลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นคณะกรรมการชุมชน โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนร่วมกันพัฒนาตลาดควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกบ้านจะมีกฎกติกาเรื่องการเก็บขยะหน้าร้านหลังตลาดเลิก ทำให้ตลาดสะอาด จนกระทั่งคนชุมชนเกิดความสมัครใจและเต็มใจเห็นความสำคัญ ในการจัดการการท่องเที่ยวมากขึ้น ความเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมจีน ถูกถ่ายทอดและต่อยอดโดยคนในชุมชนสร้างอัตลักษณ์ เพื่อสร้างความโดดเด่นและมีความแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวที่อื่น เป็นการดึงดูดและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ชุมชนแห่งนี้ได้เริ่มต้นทำเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้จดจําเช่นวันที่ตลาดเปิดทุกคนจะแต่งกายด้วยชุดกี่เพ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของคนจีนในสมัยโบราณ อาหารท้องถิ่นที่จําหน่ายเป็นอาหารที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตกแต่งร้านค้าด้วยโคมไฟสีแดง มีงานประจำปีที่โดดเด่นคือเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั้นชุมชนได้มีการพัฒนาและบูรณาการร่วมกับภาครัฐ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านห้วยใหญ่ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้เข้ามาส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ตลาดแห่งนี้ ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายโฆษณา โบว์ชัวร์ และประกาศเสียงตามสาย

วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนตลาดจีนชากแง้ว จะมีลักษณะวีถีชีวิตตามหลักประเพณีวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว โดยยืดถือปฏิทินจีนเป็นหลักและนำมาประกอบกับปฏิทินสากล ภายในชุมชนจะมีกิจกรรมที่จัดเป็นงานประจำปีที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย หรือ เทศกาลตังโจ่ย คำว่า ตังโจ่ย มีความหมายถึง วันเหมายัน คือ วันที่พระอาทิตย์จะส่องแสงสั้นที่สุดหรือเป็นวันที่เป็นจุดสูงสุดในฤดูหนาว ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ของทุกปี ในช่วงฤดูหนาว โดยชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีการทำและทานขนมบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลม ๆ ต้มกับน้ำเชื่อม มีลักษณะคล้ายขนมบัวลอยของไทย มาไหว้ฟ้าดิน เพื่อขอบคุณที่ช่วยให้การดำรงชีวิตของสมาชิกในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นตลอดปีที่ผ่านมา และขอพรให้ช่วยคุ้มครองคนในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าเมื่อรับประทานขนมบัวลอยแล้วคนในครอบครัวจะรักและผูกพันกันยิ่งขึ้น
  • เทศกาลไหว้เจ้าแม่ทับทิม เจ้าแม่ทับทิมถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในชุมชนตลาดจีนชากแง้ว จะมีการงานเทศกาลจัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 12 - 15 วัน จัดงานแบบ 3 วัน 3 คืน ภายในงานจะมีการแสดงงิ้วและการประมูลของ
  • เทศกาลไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินของจีน เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อไหว้ขอบคุณพระจันทร์ ที่ให้ผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ลักษณะของพระจันทร์เต็มดวง สามารถสื่อความหมายถึงความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวของคนในครอบครัว ชาวไทยเชื้อสายจีนจึงนิยมใช้เวลาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว โดยเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชุมชนตลาดจีนชากแง้ มีการประกวดโต๊ะไหว้พระจันทร์ของชาวบ้านในชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณีเอาไว้ และยังมีการฉายภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์เก่าชากแง้วราม่า

ปฏิทินประเพณี

  • ธันวาคม = เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย หรือ เทศกาลตังโจ่ย
  • กุมภาพันธ์ = เทศกาลตรุษจีน
  • มีนาคม-เมษายน = เทศกาลเช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษ
  • มิถุนายน = เทศกาลบ๊ะจ่าง
  • สิงหาคม = เทศกาลสารทจีน
  • กันยายน = เทศกาลไหว้พระจันทร์

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนตลาดจีนชากแง้ว ในอดีตชาวบ้านจะมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และมีการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง โรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในตัวชุมชนและบริเวณใกล้เคียงชุมชน ต่อมาเมื่อความเจริญย้ายไปยังพัทยา ชาวบ้านบางส่วนมีการย้ายออกไปประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง หรือ มีการส่งลูกหลานไปศึกษาในการศึกษาระดับสูง เพื่อประกอบอาชีพต่าง ๆ ในระบบการจ้างงาน และมีชาวบ้านประกอบอาชีพค้าขายในตลาดจีนโบราณบ้านชากแง้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางเรื่องราวประวัติความเป็นมา

ชาวจีนในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาสู่สมัยรัตนโกสินทร์จากผู้อพยพกลายเป็นตระกูลแซ่ที่มีอิทธิพลและพลังต่อสังคมไทยในหลาย ๆ ด้านประวัติความเป็นมาของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน จึงเป็นเรื่องราวประวัติที่น่าสนใจ ชุมชนบ้านชากแง้วเป็นชุมชนหนึ่งในประเทศไทยที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ซึ่งเป็นชุมชนจีนโบราณที่มีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี ความเจริญในช่วงเวลาปี พ.ศ. 2510 สามารถกล่าวได้ว่า “ตัวเมืองมีอะไร ซากแง้วมีหมด” จึงทำให้ชากแง้วเคยเป็นชุมชนจีนที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณพัทยา หลักฐานอยู่ในพื้นที่มีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบทกวีนิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) ที่ท่านสนทรภู่ได้แต่งและบรรยายถึงสภาพ พื้นที่ ชากแง้วแล้วเมื่อเวลาที่เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านบิดาที่บ้านกล่ำ (จังหวัดระยอง) ผ่านพื้นที่บริเวณชากแง้ว คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน หรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ยังคงสภาพแบบโบราณ เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม โรงหนัง โรงฝิ่น ฯลฯ ยังสามารถเห็นร่องรอยทั้งสมัยรุ่งเรืองและสมัยซบเซา อย่างไรก็ตามชุมชนบ้านชากแง้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่มีศักยภาพ จุดเด่นในการสร้างแรงตึงดูดใจแก่นักท่องเที่ยว เพราะประวัติศาสตร์ของชุมชนมิใช่เพียงแค่เห็นจากร่องรอยต่าง ๆ ในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวาด้วยเหตุที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ในฐานะผู้สร้างและเป็นเจ้าของของประวัติศาสตร์ เวลาเล่าอดีตจะมีความเข้าใจในความเป็นมาของวิถีชีวิตของตนอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ “เล่าอดีต” ภายใต้ความภาคภูมิใจของตนเองยังเป็นพลังที่เข้มแข็งให้ชาวบ้านขากแง้วสามารถฟื้นฟูชีวิตได้ ตังนั้นเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชากแง้วจึงเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งที่สามารถพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนได้

ทุนทางความเชื่อพิธีกรรมและวัฒนธรรมประเพณี

ความเชื่อความศรัทธาในศาสนาของชาวจีน สะท้อนออกมาให้เห็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมคือการสร้างศาลเจ้าจีนสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรม คือ เทศกาล และการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อคนไทยเชื้อสายจีนในแผ่นดินไทยยังใช้คำนิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ เป็นแนวทางในการดำรงวิถีชีวิต แม้บางอย่างอาจจะเจริญขึ้นหรือสูญหาย บางอย่าง อาจจะเปลี่ยนแปลงไปข้างหรือเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเพณีจะเป็นวิถีชีวิตที่มีการสืบทอด ปรับปรุง กลมกลืน และสร้างขึ้นใหม่อยู่สมอ ด้วยความศรัทธาในการนับถือ เจ้าแม่ทับทิม ชุมชนบ้านซากแง้วจะจัดงานประเพณีศาลเจ้าแม่ทับทิมปีละ 3 ครั้ง ได้แก่ งานฉลองวันเกิดเจ้าแม่ งานฉลองโรงงิ้ว และงานไหว้พระเจ้า นอกจากงานประเพณีที่เกี่ยวกับศาลเจ้าแม่ทับทิม ยังมีงานไหว้พระจันทร์ งานไหว้เจ้าแม่กวนอิม งานออกพรรษา และงานปิดทองหลวงพ่อพลที่จัดขึ้นเป็นงานประเพณีสำคัญ ส่วนท้องถิ่น แม้ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีจีนดั้งเดิมในชุมชนบ้านชากแง้ว อาจกลมกลืนกับวัฒนธรรมไทยไปบ้างตามกาลเวลา แต่ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้ยังเป็นเกลักษณ์ส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นความเป็นจีน

ทุนทางสถาปัตยกรรมที่มีความเฉพาะทางกายภาพ

ลักษณะอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของชุมชน ประกอบด้วยอาคารเรือนแถว ห้องแถวไม้บริเวณซอยโรงเจ ศาลเจ้าแม่ทับทิม โรงเจซึ่งเป็นอาคารทางศาสนา โรงหนังเก่า โรงงานโม่แป้ง ซึ่งเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ลักษณะอาคารของชุมชนบ้านชากแง้ว มีลักษณะอาคารที่พักอาศัยเป็นประเภทห้องแถวและตึกแถวที่มีการใช้วัสดุก่อสร้างที่ใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่หรือครึ่งตึกครึ่งไม้ และมีตึกแถวที่ใช้คอนรีตแม้มีบงอาคารปล่อยทิ้งร้างและรื้อสร้างใหม่ แต่อาคารของชุมชนในปัจจุบันยังคงสภาพดั้งเดิม รตพร ปัทมเจริญ (2544) ได้กล่าวว่า “สิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นความเชื่อของชาวจีนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี คือ ศาลเจ้าจีน ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวจีน และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนภายในชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน” ศาลเจ้าและโรงเจในชุมชนเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนที่มีเอกลักษณ์ ไม่ว่าส่วนฐาน ตัวอาคาร และในส่วนของหลังคา รวมไปถึงลวดลายประดับต่าง (ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับความเชื่อของชาวจีน ดังนั้นสถาปัตยกรรมเหล่านี้จึงเป็นตันทุนส่วนหนึ่งของชุมชนบ้านชากแง้ว)

ทุนทางภูมิปัญญาต้านอาหารการกิน

“จีนเป็นชนชาติที่ได้ชื่อว่ามีภูมิปัญญาด้านอาหารที่ยิ่งใหญ่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก อาหารจีนทางภาคใต้โดยเฉพาะแถบมณฑลกวางตุ้งมีความหลากหลายในด้านคุณภาพและคุณสมบัติในด้านโภชนาการอาหารแต้จิ๋วมีชื่อเสียงเป็นหนึ่งในอาหารอร่อยของจีน ซึ่งมีพัฒนาการมายาวนาน รวมเอาข้อดีเด่นของอาหารกวางตุ้งและอาหารจีนถิ่นอื่นไว้ด้วยจนกลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น” ในชุมชนบ้านชากแง้วมีอาหารหลายชนิดที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ “ความเป็นชุมชนไทย - จีน (แต้จิ๋ว)” ซึ่งคนภายนอกรู้จักและมีการสั่งซื้อเพื่อนำไปรับประทานหรือเป็นของฝาก โดยมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หอยจ๊อ ขนมกุยช่าย ขนมเปี๊ยะ หมูหย็อง เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะทำใหม่ทุกวันทุกครั้ง ส่วนใหญ่จะทำตามรายการสั่งของลูกค้า หรือทำเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ดังนั้นอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของชุมชนบ้านชากแง้วซึ่งเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว จึงเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของชุมชน

ทุนทางความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

ชุมชนบ้านชากแง้วมีการจัดระเบียบสังคมเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแลหมู่บ้าน และมีคณะกรรมการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน แม้พันธุกรรม วัฒนธรรมและด้านอื่น ๆ จะกลมกลืนผสมผสานเข้ากับสังคมไทย แต่ชาวบ้านชากแง้วยังสืบทอดคุณธรรมอันประเสริฐสุดของชาวจีนไว้ การมีความรักภักดีผูกพันอย่างลึกซึ้งแน่นแฟ้นต่อครอบครัวและทุ่มเทชีวิตจิตใจ เพื่อครอบครัว การมีความกตัญญูรู้คุณและให้ความเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส การมีความคารพและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์จารีต การมีความไว้วางใจเกิดความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์กันในครอบครัวและเครือญาติ การจัดระเบียบทางสังคมแบบนี้ทำให้ชุมชนบ้านชากแง้วเป็นชุมชนที่สงบสุข

ชาวบ้านตลาดจีนชากแง้วมีการใช้ทั้งภาษาไทยในการติดต่อสื่อสาร และใช้ภาษาจีนแต้จิ๋วอยู่ในบางครอบครัว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชวลีย์ ณ ถลาง, ผกามาศ ชัยรัตน์ และ เกริกกิต ชัยรัตน์. (ม.ป.ป.). การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตลาดจีนบ้านชากแง้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี. วารสารบัณฑิตศึกษา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

เทศบาลตำบลห้วยใหญ่. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2566, จาก http://www.huayyai.go.th/

บุญเชิด หนูอิ่ม.(2560). ชุมชนบ้านชากแง้ว การฟื้นฟูและการดำรงอยู่ (พ.ศ. 2552-2558). วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 25(48). หน้า 103 - 126.

พรจิต พีระพัฒนกุล.(2560). การบริหารจัดการมรดกภูมิทัศน์วัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ชุมชนชากแง้ว จังหวัดชลบุรี. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช).

วันดี พินิจรสิน, เพกา เสนาะเมือง, ปฏิพล ยอดสุรางค์ และคณะ. (2565). การถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรมผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะในตลาดจีนโบราณบ้านชากแง้ว. วารสารหน้าจั่ว. 19(1), หน้า 260-289.

สำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (ม.ป.ป.). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

TNN Online. (2565, 22 ธันวาคม). วันนี้วันอะไร 22 ธันวาคม ตรงกับ “วันเทศกาลตังโจ่ย”.[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2566, จาก https://www.tnnthailand.com/